สลากภัต คือ การถวายข้าวสารอาหารแห้งแก่พระภิกษุสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษา เนื่องจากเป็นฤดูฝน ชาวนาเริ่มทำนา การเดินทางไปมาหาสู่กันของพระภิกษุสงฆ์จะทำให้เหยียบข้าวกล้าของชาวนาได้รับความเสียหาย พระพุทธองค์จึงได้บัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาในช่วงเข้าพรรษา เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือน 8 ถึง เดือน 11 พระภิกษุสงฆ์ออกบิณฑบาตในวันที่ฝนตกหนักในตอนเช้าไม่สะดวก ทำให้เกิดแนวคิดที่จะจัดเครื่องอาหารสด อาหารแห้งที่สามารถเก็บไว้ประกอบอาหารในวัด กรณีที่พระสงฆ์ไม่สามารถออกบิณฑบาตหรือบิณฑบาตได้น้อยไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของประเพณีถวายสลากภัต ประเพณีสลากภัตของจังหวัดเพชรบุรี ได้รับการสืบทอดกันมาและยังคงสืบสานต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดในเขตอำเภอเมืองและอำเภอบ้านลาด ด้านทิศตะวันตก ที่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีการถวายสลากภัตไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
การเล่นผีกระด้งในช่วงสงกรานต์เป็นประจำทุกปี โดยจะเล่นผีกระด้งในช่วงเย็น เล่นไปจนกระทั่งหมดแสงของวันก็เป็นอันยุติ จัดเพียงแค่ 3-4 วันในช่วงเทศกาลสงกรานต์เท่านั้น เมื่อถึงช่วงการเล่นผีกระด้งจะมี ผู้ทำหน้าที่สื่อกับผี จะประกอบพิธีไหว้บูชาเครื่องเล่นคือ นำกระด้ง 2 อันมาประกบกันให้เป็นอันเดียว แล้วต่อด้ามจับให้ถือสะดวกจากนั้นจะเชิญผี ให้เข้ามาในกระด้งที่ป่าช้าเก่าแก่ของหมู่บ้าน มีเครื่องเซ่นต่างๆอาทิ ข้าวสวย ปลาย่าง หวี แป้ง เหล้าขาวและหญ้าแพรกเป็นต้น คณะผู้ที่เชิญผี จะแห่กระด้งโดยมีคณะกลองยาวเดินนำหน้ามายังลานกลางหมู่บ้าน เพื่อรอคอยผู้ที่จะมาทำการ “วี” (พัด) กระด้งเพื่อเชิญผีมาให้เข้าสิงในร่างของตน
เมื่อผีเข้าสิงแล้วคนที่ถูกสิงจะมีอาการต่างๆ เช่นกระโดดไปมาหรือบางคนที่ไม่เคยกินเหล้าสูบบุหรี่ ก็ร้องขอให้นำมาให้ คณะผู้เชิญผีก็จะนำร่างทรงนั้น มาที่หน้ากลองยาวเพื่อให้ร่วมสนุกด้วยการร่ายรำ เป็นที่สนุกสนานทั้งคนและผีที่อยู่ในร่างทรงนั้น แต่บางร่างทรงก็ร้องไห้ก็ต้องช่วยกันปลอบเป็นการใหญ่ ผู้อาสาเชิญผีเข้าทรง บางคนก็อัญเชิญผีลงมาได้ แต่อีกหลายคนก็ไม่สามารถเชิญผีลงได้ เมื่อเล่นเป็นที่พอใจแล้วประสงค์จะให้ผีออก ก็จะนำกระด้งมาใส่มือ เมื่อเห็นว่าผู้เล่นเหนื่อยแล้ว ผู้เชิญผีจะร้องตะโกนใส่ที่ที่หูร่างทรงเพื่อให้ผีออก คนนั้นจะรู้สึกตัวเป็นปกติเมื่อผีออกจากร่าง
การขอฝนเป็นพิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การขอฝนด้วยการเล่นเพลงปรบไก่ ที่ตำบลลาดโพธิ์ อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เล่าสืบต่อกันมาว่า หมู่บ้านแถบนี้แห้งแล้งมาก ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อน ไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ และไม่มีน้ำทำนา ไม่ว่าจะใช้วิธีใดขอฝนอย่างไรก็ไม่ได้ผล จึงชักชวนกันมาบนบานขอฝนต่อศาลประจำหมู่บ้าน (เป็นศาลเก่าแก่ไม่ทราบว่ามีมาตั้งแต่ครั้งใด) โดยสัญญาว่าถ้าฝนตกจะบวงสรวงและเล่นเพลงปรบไก่ถวาย ปรากฏว่าฝนตกบริบูรณ์ดี ชาวบ้านจึงจัดการบวงสรวงและเล่นเพลงปรบไก่ถวายเป็นประจำทุกปี ถ้าปีใดไม่เล่นเพลงปรบไก่ถวายก็จะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา
การแข่งขันวัวเทียมเกวียนเป็นการเอาเกวียนที่เป็นเกวียนเก่าไม่ใช้งานแล้ว เอาสิ่งที่ไม่จำเป็นบางอย่างออก มาใช้แข่งวัวโดยมีวัวเทียมเกวียน 2 เล่ม แต่ละเล่มจะมีวัวเทียมอยู่ 2 ตัว วิ่งในลู่ทางตรงระยะทางประมาณ 100 เมตร (วิ่งจริงราว 62 เมตร) ครึ่งหนึ่งของทางวิ่งต้องทำรั้วเตี้ย ๆ กันไม่ให้วัววิ่งออกนอกลู่ เป็นรั้วทำง่าย ๆ ใช้เสากระบอกมีไม้ไผ่ผ่าซีกผูกไว้ 3 ชั้น หรือใช้ทางตาลทั้งทางปักห่าง ๆ เป็นแนว 2 ข้างทางวิ่ง สนามวัวเทียมเกวียนส่วนใหญ่เป็นสนามใช้ชั่วคราว อาจเลือกบริเวณชายทุ่ง ชายป่า หรือในนาข้าวที่ปรับพื้นดินให้เรียบ ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ
สถานที่จัด การแข่งขันวัวลานที่อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรีนั้น มักจะเล่นในเวลากลางคืน เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ทำงานในตอนกลางวัน จึงใช้เวลากลางวันมาทำการแข่งขัน การเล่นวัวลาน ได้มีวิวัฒนาการมาจากการใช้วัวนวดข้าว โดยใช้วัวผูกเดินหมุนวนเป็นรอบ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าข้าวจะหลุดออกจากรวงข้าวหมด แต่วัวตัวที่อยู่นอกสุดอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง ระยะทางที่ต้องหมุนจะยาวกว่า จึงต้องเลือกวัวตัวที่มีกำลังและฝีเท้าดี จึงเกิดความสนุกมีการแข่งวัวขึ้นมาจึงเป็นเหตุให้มีการแข่งวัวลาน ปัจจุบันนิยมเล่นในงานวัดเพื่อหารายได้ให้ทางวัด จะเริ่มเล่นกันประมาณเวลา 22.00-8.00 น. วัวทั้งหมดจะวิ่งเป็นวงกลมรอบ ๆ ลานมีเสาอยู่ตรงกลาง จะมีสองกลุ่มเรียกว่า วัวนอกกับ วัวคานทั้งหมดมี 19 ตัว
วัวคานจะมี 18 ตัว (ตัวที่ 18 เรียกว่า วัวรอง) นำวัวคาน 18 ตัว มาผูกแล้วก็นำวัวนอก (ตัวที่ 19) มาผูกวิ่งเป็นวงนอกสุดซึ่งมีระยะการวิ่งไกลมาก หลังจากนั้นก็ปล่อยให้มันวิ่ง แล้วก็ใช้เหล็กแหลมแทง (ปฏัก) มันเพื่อกระตุ้นพลัง การแพ้ชนะคือ วัวนอกหมดแรงหรือวัวคานเชือกหลุดหรือวัวรองถูกวัวนอกแซงแล้วเบียดเข้ามาข้างในแทนตำแหน่งที่ 18 หรือวัวนอก สามารถวิ่งครบจำนวนรอบก็ถือว่าชนะ เพราะสามารถวิ่งสู้วัวคานได้ครบจำนวนรอบอย่างน้อย ๆ ก็ 10 รอบ
เรือนไทยนั้นถือว่าเป็นงานหัตถกรรมที่แฝงอยู่ในงานสถาปัตยกรรมเพราะต้องลงมือทำทุกส่วนของบ้านสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ 1. เครื่องเรือนผูก ทำจากไม้ไผ่และใช้ตอกผูกมัดส่วนต่างๆเข้าด้วยกันมักมุงหลังคาจากหรือหญ้าคาเป็นเรือนชาวบ้าน 2. เรือนเครื่องสับ ที่ต้องสับหรือตัดไม้เนื้อแข็งมาสร้าง คนที่จะปลูกได้นั้นต้องมีฐานะดีเพราะต้องใช้ไม้จำนวนมากเพื่อทำเสาบ้าน คาน พื้น ฝา โครงหลังคา เมื่อทำแต่ละส่วนแล้วจึงนำมาปรุงคือมาประกอบกันให้ได้สัดส่วนพอเหมาะสวยงาม ดังนั้นจึงเรียกการปลูกเรือนไทยว่าการปรุงเรือน ช่างปรุงเรือนที่ดีมีฝีมือนั้นต้องสามารถกะจำนวนไม้ให้พอดีกับบ้าน เรือนไทยเมืองเพชรนั้นมีเอกลักษณ์โดยเฉพาะบริเวณปั้นลมจะมีทรวดทรงที่ดูหนักแน่นต่างกับเรือนอยุธยาที่ปั้นลมดูอ่อนหวานกว่า นอกจากนี้คนไทยเพชรบุรียังสร้างเรือนสองหลังคู่หรือเรือนแฝดเพราะนิยมปลูกเรือนสองห้อง คำว่า “ห้อง” ของเรือนไทยนั้นมีความกว้าง6 ศอก ยาว 6 ศอกหรือประมาณ 3x5 เมตรแล้วเพิ่มหอหน้าเข้าไปแทนระเบียงเพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอย
การปรุงเรือนไทยเมืองเพชร ช่างจะใช้ “ขื่อ” เป็นครูโดยใช้ความยาวของขื่อเป็นตัวตั้งแล้วคำนวณสัดส่วนต่างๆให้สมดุลสวยงาม บริเวณจั่วใต้ปั้นลมนิยมทำเป็นจั่วหน้าพรหมในกรอบสามเหลี่ยมจะเป็นเป็นสี่ชั้น ชั้นล่างมีสี่ช่องแล้วเป็นสาม สอง หนึ่งจากขื่อไปถึงหลังคาหมายถึงรูปพรหมที่มี 4 ชั้นแล้วจึงเบิกหน้าพรหมตรงกลางชั้นที่หนึ่ง ช่างฝีมือดีจะจัดจั่วได้สวยงามลักษณะคล้ายพระพุทธรูปซึ่งช่างต้องทำครอบครูมาก่อน ฝาก็มีหลายแบบทั้งฝาปะกนลูกฟัก ฝาสำหรวด ฝาสายบัว การทำเรือนไทยหลังหนึ่งใช้เวลาเกือบ 4 เดือนปีหนึ่งๆช่างสามารถรับงานได้มากที่สุดเพียงสามหลังเท่านั้น
ต้นตาลที่จะให้น้ำตาลได้ต้องมีอายุ 10 ปีขึ้นไป ผลผลิตจากตาลจะมีเพียง 4 เดือนคือ เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคมเท่านั้นซึ่งเป็น 4 เดือนที่ว่างเว้นจากการทำนา ทำสวน วัสดุอุปกรณ์ได้แก่ ต้นตาล มีดปาดตาล กระบอกไม้ไผ่สำหรับรองน้ำตาล กระทะขนาดใหญ่ ไม้กระหนวนหรือไม้กระแทก ไม้พะยอม ไม้คาบ ขั้นตอนการเคี่ยวน้ำตาลโตนดมีดังนี้
1) นำกระบอกไม้ไผ่ที่จะไปรองน้ำตาลสดมารมควันเพื่อฆ่าเชื้อแล้วนำมาร้อยเชือกเพื่อแขวนกระบอก จากนั้นนำไม้พะยอมใส่ในกระบอกครึ่งฝ่ามือเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลสดมีรสเปรี้ยว
2) เลือกต้นตาลที่ออกงวงเมื่อเลือกได้แล้วก็ปีนขึ้นไปเก็บน้ำตาลนวดทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน แล้วจึงใช้มีดปาดหน้าตาล การนวดและปาดตาลทุกวันเพื่อไม่ให้หน้าตาลแห้ง ตาลตัวผู้จะมีงวงซึ่งเมื่อใช้ไม้ทาบนวดแล้วจะต้องแช่หน้าตาลไว้ในน้ำเพื่อล่อน้ำตาลให้ออก การปาดหน้าตาลจะปาดทุกวันจนกว่างวงตาลจะหมดก็ถือว่าน้ำตาลหมดไปด้วย หากน้ำตาลหมดไปแต่งวงตาลยังมีอยู่ก็จะเลิกขึ้นต้นตาลต้นนี้
3) เมื่อได้น้ำตาลสดแล้วนำน้ำตาลสดที่ได้กรองอาไม้พะยอมออกด้วยผ้าขาวบางนำไปเคี่ยวให้เดือด ถ้าจำหน่ายในรูปน้ำตาลสดก็เคี่ยวพอให้เดือด ประมาณ 100 องศาเซลเซียส สามารถปรุงแต่งกลิ่นรสตามใจชอบ เช่นใส่ใบเตยหอม สารแต่งกลิ่นอื่นๆ สารกันเสียแล้วบรรจุขวดเพื่อจำหน่ายต่อไป
ไม้ตาลที่นำมากลึงเป็นของใช้นั้นต้องเป็นไม้แก่มีแก่นหรือเสี้ยนแน่น ไม้ตาลแต่ละต้นมีเสี้ยนต่างกันไป บางต้นมีเนื้อหยาบ บางต้นเสี้ยนเนื้อละเอียด แต่ไม่มีต้นไหนที่มีสองเนื้อในต้นเดียวกัน ถ้าจะทำของเล็กๆเช่นผอบ เชี่ยนหมากก็ต้องเลือกที่มีเนื้อละเอียด ถ้าทำครกทำถาดก็ต้องใช้เนื้อหยาบ ของกลึงที่ใหญ่ที่สุดคือถาดผลไม้ เล็กที่สุดคือผอบที่ใส่เชี่ยนหมาก หากจะทำเครื่องเรือนต้องเป็นไม้ตาลแก่อายุอย่างน้อย 70-80 ปีเพราะไม้จะมีคุณภาพดี เนื้อแข็งมีเสี้ยนแน่น สามารถใช้เนื้อไม้ได้ตั้งแต่บริเวณโคนตาลจนสูงขึ้นไปถึง 3 – 4 วา การทำหัตถกรรมจากไม้ตาลที่ทำยากคือการกลึงของเล็ก ๆ ที่ต้องใช้ความชำนาญเช่นผอบใส่เชี่ยนหมาก เวลากลึงจะต้องระวังไม่ให้เสี้ยนตำเพราะจะเอาออกยากต้องให้แพทย์ผ่าออก เมื่อกลึงเสร็จต้องนำไปผึ่งลมในที่ร่มให้แห้ง ห้ามตากแดดเพราะไม้จะแตกได้ จากนั้นจึงนำไปขัดแล้วผึ่งให้แห้งอีกครั้ง ใช้เวลาประมาณเกือบ 10 วัน จึงทาน้ำมันเคลือบและออกจำหน่ายได้
ประเพณีไทยดั้งเดิมให้ความหมายของกำไลข้อเท้ามากกว่าเครื่องประดับเพราะแฝงนัยว่าหญิงสาวคนนั้นยังไม่ออกเรือน แม้อายุมากก็ยังสวมกำไลข้อเท้าอยู่ ปัจจุบันเหลือแต่กลุ่มนักแสดงนาฏศิลป์ โขน ลิเกเท่านั้นที่ยังใช้กำไลข้อเท้า แต่ก่อนมีช่างทำกำไลข้อเท้ามากที่บ้านท่าวุ้ง ตำบลท่าเสน อำเภอบ้านลาดที่ชาวบ้านเรียกว่าย่านวัดป่าแป้นและที่ตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด ปัจจุบันเหลือแต่ที่ตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด