เว็บไซต์แผนที่ภาษาและวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรีจัดทำขึ้นจากโครงการวิจัย "ศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนของสังคมและชุมชน" ได้กำหนดพื้นที่วิจัยในเขตอำเภอบ้านลาด อำเภอชะอำ อำเภอเมืองเพชรบุรี มีวัถุประสงค์เพื่อแสดงการกระจายของศัพท์ ชุมชนภาษาและลักษณะทางวัฒนธรรมของจังหวัดเพชรบุรี

แผนที่ภาษาจังหวัดเพชรบุรี

       ผู้วิจัยใช้สร้างแบบสอบถาม 2 ชุด ชุดที่ 1 แบบสอบถามเพื่อจำแนกภาษาไทยกรุงเทพฯกับภาษาไทยเพชรบุรี จำนวน 30 หน่วยอรรถ ชุดที่ 2 แบบสอบถามเพื่อจำแนกภาษาไทยกับภาษาโซ่ง (ไทดำ) จำนวน 30 หน่วยอรรถ บริเวณที่ศึกษาคือ ทุกหมู่บ้านใน 3 อำเภอของจังหวัดเพชรบุรีได้แก่ อำเภอบ้านลาด อำเภอชะอำและอำเภอเมืองเพชรบุรี จำนวน 51 ตำบล 365 หมู่บ้าน

       วิธีการเก็บข้อมูล ผู้วิจัยใช้แบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์จากผู้บอกภาษา 3 ระดับอายุ หมู่บ้านละ 3 คนรวมแบบสอบถามทั้งสิ้น 1,095 ฉบับ จากนั้นหาค่าเฉลี่ยการใช้ศัพท์แต่ละหมู่บ้านสรุปเป็นแบบสอบถามจำนวน 365 ชุด แบบสอบถามดังกล่าวจะเป็นตัวแทนการใช้ศัพท์ระดับหมู่บ้านและจัดทำแผนที่ภาษาศาสตร์ (Linguistic maps ) แสดงการกระจายการใช้ศัพท์จากแบบสอบถามทั้ง 2 ชุดๆละ 30 แผ่น รวมแผนที่ 60 แผ่น เมื่อผู้วิจัยใช้เกณฑ์การคำนวณสัดส่วนการใช้ศัพท์แต่ละภาษาที่ปรากฏในแบบสอบถามแล้ว จึงสามารถตีความชุมชนภาษาและนำเสนอรูปของแผนที่ภาษา (Language map) ผลการวิจัยพบว่าจังหวัดเพชรบุรีมีชุมชนภาษาดังนี้

 
ชุมชนภาษาไทย

ชุมชนภาษาไทยถิ่นเพชรบุรี

ชุมชนภาษาไทย
ร่วมกับภาษาไทยถิ่นเพชรบุรี
ชุมชนภาษาโซ่ง/ไทดำ

 
ชุมชนภาษาไทย
ร่วมกับภาษาโซ่ง/ไทดำ

ชุมชนที่ไม่เข้าเกณฑ์


       จากแผนที่ภาษาจังหวัดเพชรบุรี สามารถแบ่งชุมชนออกเป็น 3 ประเภทได้ดังนี้

1. ชุมชนภาษาเดียว

       หมายถึง จุดเก็บข้อมูลที่ใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งในแบบสอบถามตั้งแต่ร้อยละ 60 ของจำนวนหน่วยอรรถทั้งหมดหรือมีจำนวนหน่วยอรรถตั้งแต่ 18 หน่วยอรรถขึ้นไป จัดเป็นจุดเก็บข้อมูลที่ใช้ภาษานั้น มีจำนวน 126 หมู่บ้าน แบ่งเป็น ชุมชนภาษาไทยกรุงเทพฯ จำนวน 4 หมู่บ้าน ชุมชนภาษาไทยเพชรบุรี จำนวน 113 หมู่บ้านและ ชุมชนภาษาโซ่ง จำนวน 9 หมู่บ้าน

2. ชุมชนสองภาษา

       หมายถึง จุดเก็บข้อมูลที่ใช้ศัพท์ 2 ภาษาปะปนกันในแบบสอบถามซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ร้อยละ 40 ของจำนวนหน่วยอรรถทั้งหมดหรือมีจำนวนหน่วยอรรถตั้งแต่ 12 หน่วยอรรถขึ้นไป มีจำนวน 230 หมู่บ้าน แบ่งเป็น ชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษาไทยเพชรบุรี จำนวน 220 หมู่บ้าน และชุมชนภาษาไทยร่วมกับภาษาโซ่ง/ไทดำ จำนวน 7 หมู่บ้าน

3. ชุมชนที่ไม่เข้าเกณฑ์

       หมายถึง หมู่บ้านที่ไม่สามารถตีความชุมชนภาษาได้เพราะจำนวนการใช้ศัพท์ไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ มีจำนวน 9 หมู่บ้าน

คณะผู้วิจัย


ร.ศ.สุวัฒนา เลี่ยมประวัติ

ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
sliamprawat@yahoo.com


อ.วิมลศิริ กลิ่นบุบผา

ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
iamairee@gmail.com


ผ.ศ.ตะวัน วรรณรัตน์

ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
wa_tawan@hotmail.com

อ.สกนธ์ ม่วงสุน

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
muangsun_s@silpakorn.edu