ml-bg
ภาควิชา
ประวัติศาสตร์

ประวัติภาควิชาประวัติศาสตร์

          ภาควิชาประวัติศาสตร์เป็นภาควิชาที่เกิดขึ้นพร้อมกับคณะอักษรศาสตร์ในพ.ศ. 2511 และเป็นสาขาวิชาแรกในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตที่ได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัย  เปิดสอนทั้งวิชาเอกและวิชาโท  มีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาสาขาวิชาเอกและวิชาโทเป็นรุ่นแรกในปีการศึกษา 2514 จำนวน 36 คน และ 22 คนตามลำดับ  ในปีการศึกษา 2517 ได้เปิดสอนระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิตหลักสูตรแรกของคณะอักษรศาสตร์ และเป็นหลักสูตรด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลักสูตรแรกของประเทศไทย  ในปีการศึกษา 2520 มีผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รุ่นแรกจำนวน 4 คน ต่อมาในปีการศึกษา 2547 ภาควิชาฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญามหาบัณฑิตเพิ่มขึ้นอีกสาขา คือ สาขาประวัติศาสตร์ศึกษา  นอกจากนี้ ภาควิชาฯ ได้เปิดสอนหลักสูตรอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์

ปรัชญาภาควิชา

ประวัติศาสตร์คือรากฐานแห่งปัญญา เพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจตนเอง และสังคม

ปณิธานของภาควิชา

          ภาควิชาประวัติศาสตร์มีปณิธานสำคัญในการให้การศึกษา ทำการวิจัย เสริมสร้างและถ่ายทอดความรู้และความเข้าใจทางประวัติศาสตร์โดยการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทซึ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีพื้นฐานความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่แม่นยำและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ มีการพัฒนาความสามารถในการคิด วิเคราะห์ วิจัย และการประยุกต์ใช้วิชาประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐานในการศึกษาศาสตร์แขนงอื่นๆ ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านประวัติศาสตร์เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์แก่การเรียนการสอนและเพื่อเผยแพร่ต่อวงวิชาการและสาธารณชนต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. พัฒนาการผลิตบัณฑิตทางประวัติศาสตร์ทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโทให้มีความรู้เนื้อหาลุ่มลึก มีความสามารถในการวิเคราะห์และวิจัยทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นการสืบสานความรู้เดิมและสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยเน้นการค้นคว้าและสืบค้นความรู้ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลใหม่ทางวิชาการ การเรียบเรียงและนำเสนอผลงาน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์กับสาขาวิชาการแขนงอื่น
  2. สนับสนุนให้คณาจารย์สร้างความรู้ โดยการส่งเสริมการทำงานวิจัยและผลงานทางวิชาการ การจัดสรรภาระงานระหว่างงานสอนกับการวิจัยให้เหมาะสม และสนับสนุนให้มีโอกาสเผยแพร่ผลงานโดยการตีพิมพ์เผยแพร่ การจัดประชุม และการสัมมนาทางวิชาการ
  3. บริการสังคม โดยการกำหนดกิจกรรมทางวิชาการที่เปิดต่อสาธารณชน