ml-bg
ภาควิชา
สังคมศาสตร์

ประวัติภาควิชาสังคมศาสตร์

 การเรียนการสอนสาขาสังคมศาสตร์ในคณะอักษรศาสตร์เริ่มดำเนินการครั้งแรกด้วยการเปิดสอนในภาควิชาประวัติศาสตร์ในปีพ.ศ.๒๕๑๕ สมัยที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูสิริ  จามรมานเป็นหัวหน้าภาควิชา จากนั้นก็ได้พัฒนาไปเป็นหมวดวิชาสังคมศาสตร์ โดยเปิดสอนใน ๓ สาขาวิชาคือ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในปีการศึกษา ๒๕๑๗


          ต่อมา คณะอักษรศาสตร์ได้ตระหนักเห็นความสำคัญของสาขาสังคมศาสตร์ ทั้งในฐานะของความเป็นศาสตร์ในตัวของมันเอง และในแง่การช่วยเสริมกระตุ้นวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ในเชิงสหวิทยาการ ดังนั้นจึงดำริที่จะให้ขยายสาขาวิชาดังกล่าวไปเป็นวิชาเอก ทว่ารัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายไม่สนับสนุนการผลิตบัณฑิตสาขาดังกล่าวอย่างเป็นเอกเทศ ด้วยพิจารณาเห็นว่าบัณฑิตที่จบสาขาดังกล่าวมีจำนวนมากแล้ว เหตุนี้จึงทำให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจตนา  นาควัชระ คณบดีในขณะนั้นได้ให้การสนับสนุนให้จัดตั้งภาควิชาสังคมศาสตร์ขึ้นในปีพ.ศ.๒๕๒๖ โดยเน้นหนักไปในสาขาการพัฒนาที่มีการผนวกรวมสาขาหลักทั้ง 3 เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ยังคงเปิดการสอนสาขาวิชาโทแบบเดิมควบคู่กันไป


          จุดมุ่งหมายสำคัญของหลักสูตรดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในการบูรณาการ  วิชาการที่เกี่ยวข้องในด้านการเรียนการสอน และการศึกษาวิจัยเชิงวิชาการแบบสหวิชาการ  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสังคมไทยในขณะนั้นยังประสบปัญหาด้านการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในภาคชนบทที่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร  ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของหลักสูตรในระยะแรกจึงมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ออกไปศึกษาเรียนรู้ในภาคสนามเพื่อการศึกษาชุมชน โดยการพักค้างกับชาวบ้านในหมู่บ้าน  ทั้งนี้โดยหวังว่านักศึกษาจะได้มีโอกาสเรียนรู้ ปรับตัวและสามารถฝึกฝนการศึกษาปัญหาการพัฒนาชนบทเป็นรายกรณีใน  ปีการศึกษาสุดท้ายของแต่ละรุ่น


          หลังจากที่ได้ใช้หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์การพัฒนาฉบับปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นฉบับแรก ต่อมาได้ปรับปรุงเป็นฉบับปี ๒๕๓๖ และ ฉบับพ.ศ.๒๕๔๕ ตามลำดับ โดยการปรับปรุงแต่ละครั้งได้จัดให้มีการประเมินผลหลักสูตรและการผลิตบัณฑิตที่ผ่านมา  โดยมีการเชิญนักวิชาการและนักพัฒนาด้านสังคมศาสตร์การพัฒนามาเป็นวิทยากรร่วมกับคณาจารย์และอดีตนักศึกษาของภาควิชาฯ เนื้อหาสาระสำคัญของหลักสูตรปีพ.ศ.๒๕๔๕ เน้นหนักไปที่การเสริมสร้างความรู้ความสามารถของนักศึกษาในด้านการพัฒนามิติต่างๆอย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็มีการเปิดสอนวิชาเลือกเสริมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประยุกต์ในการศึกษาต่อ และประกอบวิชาชีพด้านต่างๆได้ อาทิ ด้านสื่อสารมวลชน การพัฒนาองค์กร สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ฯลฯ


          อย่างไรก็ตาม หลังจากใช้หลักสูตรดังกล่าวมาจนครบระยะ ๕ ปีในปีพ.ศ.๒๕๕๐ ภาควิชาสังคมศาสตร์จึงได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรอีกครั้งเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสังคมและประเทศในขณะนี้

ปรัชญาภาควิชา

มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ด้านสังคมศาสตร์การพัฒนาในลักษณะสหวิทยาการ และสามารถบูรณาการความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสังคมอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจแนวความคิด ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์การพัฒนา และสามารถนำไปประยุกต์ใช้
  2. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวสังคมไทยในบริบทโลก
  3. เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยง ประเด็นปัญหาการพัฒนาได้อย่างลึกซึ้ง
  4. เพื่อฝึกให้นักศึกษามีความเป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพที่มีจิตสำนึกสาธารณะ

คุณธรรม จริยธรรมของนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร

  1. มีวินัย เคารพกฎระเบียบ
  2. ตรงต่อเวลาและมีความรับผิดชอบ
  3. มีความซื่อสัตย์สุจริต
  4. มีความสำนึกในตน เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจโลก
  5. มีความเสียสละ และมีจิตสาธารณะ
  6. สามารถแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี โดยยึดหลักคุณธรรม และจริยธรรม