“Boonlua’s wisdom and thoughts were her own and we are all the poorer for their loss”
Dr. R.J. Owens
ข่าวและกิจกรรม
ประวัติชีวิตหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ถือกำเนิดในราชสกุลกุญชร เป็นบุตรคนสุดท้ายของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) กับหม่อมนวล เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2454 และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2525 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเซนโยเซฟคอนแวนต์ ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนคอนแวนต์ในปีนัง และระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2481 ได้เข้ารับราชการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสอนพิเศษในโรงเรียนมาแตร์เดอีจากนั้นได้รับทุนไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมินเนโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาได้รับราชการ โดยทำงานด้านการศึกษาและเป็นผู้บริหารหลายตำแหน่งในกระทรวงศึกษาธิการและทบวงมหาวิทยาลัย
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้สมรสกับนายแพทย์ชม เทพยสุวรรณ ซึ่งต่อมาดำรงตำแหน่งอธิบดีคนแรกของกรมควบคุมโรคติดต่อกระทรวงสาธารณสุขชีวิตและงานของม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้มีนักศึกษาและนักแปลชาวอเมริกัน ชื่อซูซาน เคพเนอร์ นำไปศึกษาอย่างลึกซึ้ง และนำเสนอเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียร์ ณ เมืองเบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกาในสาขาวัฒนธรรม และมานุษยวิทยา
ผลงานและเกียรติประวัติ
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ เป็นผู้มีคุณูปการสำคัญแก่วงการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการขยายโอกาสและปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ทั้งในระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา การฝึกหัดครู การอนุรักษ์ภาษาไทย การส่งเสริมการสอนภาษาและวรรณคดีไทย การวิจารณ์วรรณคดี การส่งเสริมการสอนภาษาและวรรณคดีอังกฤษ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ตลอดจนการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่าง นอกจากนั้น ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ยังเป็นนักเขียนที่สร้างผลงานอันก่อให้เกิดความตระหนักในบทบาทอันสำคัญทางสังคมของสตรีไทย และความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง
ผลงานของ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ จำแนกได้ตามประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ มีส่วนสำคัญในพัฒนาการศึกษาและเป็นผู้บริหารหน่วยงานด้านการศึกษา
- ร่วมก่อตั้งหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา และเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์
- ร่วมก่อตั้งกิจการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา และเป็นรองประธานคณะกรรมการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา
- ร่วมวางพื้นฐานก่อตั้งวิทยาลัยการศึกษาบางแสน และเคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี
- ร่วมก่อตั้งคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว เป็นผู้วางหลักสูตรและดำรงตำแหน่งคณบดีเป็นคนแรก ม.ล.บุญ เหลือ เทพยสุวรรณ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ในด้านการศึกษา และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อีกด้วย
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ เป็นบุคคลสำคัญในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนและอนุรักษ์ภาษาไทย
- มีส่วนร่วมในการก่อตั้งชมรมภาษาไทยและเคยเป็นรองประธานชมรมภาษาไทยของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เคยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้าฯ และร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการใช้คำภาษาไทยในยุคใหม่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปทรงร่วมประชุมกับชมรมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2505
- เป็นประธานคณะกรรมการร่างและจัดทำตำราเรียนภาษาไทยระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายให้กระทรวงศึกษาธิการ
- ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นประธานคณะกรรมการแห่งชาติ เพื่อความร่วมมือในด้านการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ โดยผ่านองค์การ SEMEO RELC
- เป็นผู้ประสานติดต่อร่วมมือกับองค์การต่างๆ อาทิ British Council, Fulbright, East-West Center และหน่วยงานอื่นๆอีกหลายแห่ง เกี่ยวกับการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษา เพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างชาติที่กว้างขวางลุ่มลึกยิ่งขึ้น
- เป็นผู้ริเริ่มและมีส่วนผลักดันให้ก่อตั้งสถาบันภาษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ เป็นสตรีที่มีความคิดก้าวหน้าในเชิงการวิเคราะห์และวิจารณ์ได้เขียนตำราวรรณคดีและหนังสือวิเคราะห์วิจารณ์วรรณคดีไว้หลายเล่ม หนึ่งในจำนวนนี้คือ เรื่อง หัวเลี้ยวของวรรณคดีไทย ซึ่งได้รับการยกย่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยให้อยู่ในรายการหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน และเป็นหนังสือที่มหาวิทยาลัยลอนดอนใช้เป็นหนังสือประกอบการศึกษาวรรณคดีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งใช้เป็นตำราในการศึกษาและการวิจารณ์วรรณคดี คือหนังสือ วิเคราะห์รสวรรณคดี
- ป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมสภาสตรีระหว่างประเทศ ในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน
- เป็นผู้แทนของกระทรวงศึกษาธิการในการประชุมของ Southeast Asian Study Group เกี่ยวกับ Cultural Relations for the Future
- ได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายให้กับนักศึกษาหน่วยสันติภาพ เพื่อความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในประเทศไทยและได้เขียนหนังสือ Meet The Thai People of Thailand เพื่อให้นักศึกษาหน่วยสันติภาพเข้าใจวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยได้ดียิ่งขึ้น
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ มีผลงานแปล คือ
- นิยายเรื่อง ศิลาถรรพ์ จากบทประพันธ์เรื่อง The Talisman ของ Sir Walter Scott
- เรื่องสั้นหลายเรื่องรวมอยู่ในหนังสือ หน้านี้ของคุณหนู ซึ่ง ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ได้เขียนให้ในโอกาสร่วมฉลองปีเด็กสากล
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ นอกจากจะเป็นนักการศึกษาและผู้บริหารด้านการศึกษาแล้วยังเป็นผู้มีความสามารถในการเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นอีกด้วย นวนิยายบางเรื่องของ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณยังได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ และได้ใช้เป็นหนังสือนอกเวลาสำหรับนักศึกษาในต่างประเทศเกี่ยวกับ Thai Studies ตัวอย่างงานเขียนของ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ มีดังนี้
นวนิยาย
- ทุติยะวิเศษ เป็นนวนิยายเกี่ยวกับช่วงรอยต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และวิถีชีวิตของสังคมไทยในยุคนั้นมีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว กำลังจะพิมพ์เป็นรูปเล่มและเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์
- สะใภ้แหม่ม เป็นนวนิยายเกี่ยวกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
- สุรัตนารี เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงสถานภาพ บทบาทและความสัมพันธ์ รวมทั้งความรับผิดชอบของเพศชายและเพศหญิง
- ดร.ลูกทุ่ง
- ตกหลุมตกร่องแล้ว ใดใดก็ดี
เรื่องสั้น
- ฉากหนึ่งในชีวิต เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นหลายเรื่อง
- คนถูกคนผิด ใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ใน The School of Oriental and African Studies (SOAS), University of London
- เสน่ห์ปลายจวัก ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย Herbert Phillips มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ณ เมืองเบิร์กลีย์ อยู่ในหนังสือ Modern Thai Literature
- ช้างพลายมงคลผู้อาภัพ
- หน้านี้ของคุณหนู รวมเรื่องสั้นสำหรับเด็กและเยาวชน
หนังสือที่เขียนในโอกาสพิเศษ
- ความสำเร็จและความล้มเหลว
- ความสุขของสตรี
กองทุน ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ เป็นผู้มีคุณูปการสำคัญแก่วงการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการขยายโอกาสและปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ทั้งในระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา การฝึกหัดครู การอนุรักษ์ภาษาไทย การส่งเสริมการสอนภาษาและวรรณคดีไทย การวิจารณ์วรรณคดี การส่งเสริมการสอนภาษาและวรรณคดีอังกฤษ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ตลอดจนการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่าง นอกจากนั้น ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ยังเป็นนักเขียนที่สร้างผลงานอันก่อให้เกิดความตระหนักในบทบาทอันสำคัญทางสังคมของสตรีไทย และความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง
- ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีผลการเรียนดีเด่นในสาขาวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
- ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์
- จัดประกวดบทความวิจารณ์วรรณกรรม ละครเวที และภาพยนตร์
- สนับสนุนศิลปะการแสดงของไทย