เกี่ยวกับ

 

 

 

 

72751_157110687664715_1581884_n

โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต”

 ประวัติโครงการ

                โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต”  เป็นโครงการระยะที่ 2 ต่อจากโครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมลายลักษณ์กับวัฒนธรรมเสมือนจริง” ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555   โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุกการวิจัย (สกว.) และดำเนินการวิจัย 18 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2555 ถึง 14 มีนาคม 2557

โครงการวิจัยนี้ไม่ได้เป็น “น้องใหม่ถอดด้าม” ที่เริ่มต้นจากศูนย์  แต่เป็นโครงการต่อเนื่องที่สืบทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการ วิจารณ์ศิลปะที่ดำเนินวิจัยต่อเนื่องมาเกือบ 17 ปี  จากโครงการวิจัย  4  โครงการที่ผ่านมา  อันได้แก่

 

1.                   โครงการวิจัย “กวีนิพนธ์ ในฐานะพลังปัญญาของสังคมร่วมสมัย : ประสบการณ์จากวรรณคดีไทย  อังกฤษ  อเมริกัน  ฝรั่งเศส และเยอรมัน” (1 ตุลาคม 2538 – 30 กันยายน 2541)  ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ หัวหน้าโครงการ

ผลการวิจัยพิสูจน์ให้เห็นว่า ในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ที่สื่อต่างๆแผ่อิทธิพลเข้ามาครอบงำคนส่วนใหญ่ กวีนิพนธ์ในฐานะที่เป็นงานวรรณศิลป์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกยังดำรงอยู่ได้ และทำหน้าที่เป็นเสาหลักทางภูมิปัญญาให้แก่สังคมร่วมสมัยได้  เนื่องจากกวีร่วมสมัยของชาติต่างๆ มุ่งเน้นความสามารถที่จะรู้จักตนเอง และมองโลก ธรรมชาติ สังคม ได้อย่างเฉียบคม นอกจากนั้น ความสำนึกในเอกภาพระหว่างมนุษย์กับโลก ความยึดมั่นในอุดมคติที่จะต่อสู้ กับความหมกมุ่นในวัตถุและสัญชาตญาณใฝ่ต่ำในตัวมนุษย์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้กวีนิพนธ์ทำหน้าที่เป็นเสียงแห่งมโนธรรม และในบางบริบทก็ทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดการฟื้นตัวทางจริยธรรมได้อีกด้วย

ผลงานโครงการ

  1.  กวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์
  2. กวีนิพนธ์อเมริกันร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์
  3. กวีนิพนธ์ฝรั่งเศสร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์
  4. กวีนิพนธ์อังกฤษ-อเมริกันร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์ (เอกสารถ่ายสำเนา)
  5. กวีนิพนธ์เยอรมันร่วมสมัย : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์ (เอกสารถ่ายสำเนา)

 

2.                   โครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังปัญญาของสังคมร่วมสมัย ภาค 1  (4 มกราคม 2542 ถึง 3 มกราคม 2545) และภาค 2 ( 1 กรกฎาคม 2545 ถึง 30 มิถุนายน 2548)ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ  หัวหน้าโครงการ

การทำวิจัยครั้งนี้ศึกษางานศิลปะใน 4 สาขา คือ วรรณศิลป์  ทัศนศิลป์  ศิลปะการละคร และสังคีตศิลป์ (ดนตรีไทยและดนตรีคลาสสิกตะวันตก)  ซึ่งผลการวิจัยให้ความกระจ่างในด้านของภาวะการรับงานวิจารณ์ในยุคปัจจุบัน  อันบ่งชี้ถึงข้อด้อยและข้อดี ที่อาจมีนัยเกินเลยจากกรอบของการวิจารณ์ศิลปะและให้ภาพทั่วๆไปของสังคมร่วม สมัยได้  ปัญหาการรับการวิจารณ์ส่วนหนึ่งมาจากที่ผู้รับจำนวนมากขาดโอกาสที่จะสัมผัส กับงานศิลปะโดยตรง  จึงขาดโอกาสที่จะแสดงทัศนะวิจารณ์ไปด้วย  นอกจากนั้นวัฒนธรรมการอ่านโดยทั่วไปก็ถดถอยลง  แม้จะยังมีผู้รับจำนวนหนึ่งที่รักษาความสามารถในการอ่านความเรียงเชิง วิจารณ์เอาไว้ได้  ในขณะเดียวกันผู้รับที่เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการ วิจารณ์และเรียกร้องให้นักวิจารณ์มุ่งมั่นสร้างงานวิจารณ์ต่อไปเพื่อ ประโยชน์ของสังคม  นอกจากนี้ผลการวิจัยของโครงการวิจัยภาค 2 ยังยืนยันข้อสรุปของโครงการภาคแรกว่า ทั้งสื่อและทั้งระบบการศึกษาที่เป็นทางการไม่เอื้อต่อการพัฒนาการวิจารณ์ เท่าที่ควร

ผลงาน

  1. พลังการวิจารณ์ : บทสังเคราะห์ / Criticism as an Intellectual Force in Contemporary Society: Summary Report
  2. พลังการวิจารณ์: วรรณศิลป์
  3. พลังการวิจารณ์: ทัศนศิลป์
  4. พลังการวิจารณ์: ศิลปะการละคร
  5. พลังการวิจารณ์: สังคีตศิลป์
  6. พลังการวิจารณ์: รวมบทวิจารณ์ร่วมสมัย
  7. มองข้ามบ่านักเขียน: เรื่องสั้นไทยในทัศนะนักวิจารณ์
  8. Fervently Mediating: Criticism from a Thai Perspective
  9. ศิลป์ส่องทาง
  10. กวีนิพนธ์นานาชาติ: การวิจารณ์เชิงวิจารณ์
  11. เบิกฟ้า  มัณฑนา  โมรากุล
  12. ทางสายใหม่แห่งวรรณกรรมไทย: ทัศนะวิจารณ์ต่อนวนิยายยุคแรก
  13. จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินเอน: รวมบทความวิชาการและบทวิจารณ์
  14. Criticism as Cross-Cultural Encounter
  15. วิถีแห่งการวิจารณ์: ประสบการณ์จากสามทศวรรษ
  16. เพ็ญศรี  พุ่มชูศรี คีตศิลปิน
  17. ลายลักษณ์แห่งการวิจารณ์: รวมบทวิจารณ์ร่วมสมัย เล่ม 2
  18. จากศิลปะสู่การวิจารณ์: รายงานการวิจัย / From Work of Art to Critical Arena: Summary Report
  19. จากเวทีละครสู่การวิจารณ์: รวมบทความวิชาการ
  20. การวิจารณ์ทัศนศิลป์: ข้อคิดของนักวิชาการไทย
  21. เก่ากับใหม่อะไรไหนดี:  มนุษยศาสตร์ไทยในกระแสของความเปลี่ยนแปลง
  22. ตามใจฉัน-ตามใจท่าน: ว่าด้วยการวิจารณ์และการวิจัย

 

3.                   โครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์  ภาค 1 (1 เมษายน 2549 – 30 กันยายน 2550) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระ  นุชเปี่ยม หัวหน้าโครงการ และ ภาค 2  (1 เมษายน 2551- 30 กันยายน 2552) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์  หัวหน้าโครงการ

การทำวิจัยครั้งนี้ศึกษางานศิลปะใน 4 สาขา คือ วรรณศิลป์ (ทั้งงานในสื่อลายลักษณ์และสื่ออินเทอร์เน็ต) ทัศนศิลป์  ศิลปะการละคร และสังคีตศิลป์ (ดนตรีไทย)  ผลการวิจัยภาคแรกชี้ให้เห็นว่ายุคโลกาภิวัตน์เป็นยุคที่ต้องการความสามารถใน การวิจารณ์ อันเป็นพลังทางปัญญาที่จะช่วยให้สังคมดำรงอยู่ในประชาคมนานาชาติด้วยความ มั่นใจ การวิจารณ์ศิลปะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมแห่งการ วิจารณ์ในระดับที่กว้างออกไป  ขณะเดียวกันยังพบว่าการวิจารณ์ยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมลายลักษณ์อย่างเต็มรูปในสังคมไทย  ศิลปินผู้สร้างสรรค์งานจำนวนหนึ่งยังชอบที่จะรับฟังข้อวิจารณ์ในระบบมุขปาฐะ มากกว่าลายลักษณ์   สถาบันทางสังคม 2 สถาบันที่อ่อนแอในด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมการวิจารณ์ คือ สื่อ และสถาบันการศึกษา  ในส่วนของข้อสรุปในเชิงทฤษฎีพบว่าสังคมไทยมีศักยภาพที่จะกระตุ้นให้เกิดการ พัฒนาทางปัญญาความคิดและทางสังคมได้  อาทิ  ศักยภาพในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่กันระหว่างการวิจารณ์สาขาต่างๆ  หลักการทางศิลปะที่ผูกอยู่กับชีวิตชุมชน  และการวิจารณ์ที่ไม่จำเป็นต้องสื่อด้วยภาษา (non-verbal criticism)  และยังมีนักวิจารณ์กลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานวิจารณ์อย่างจริงจัง  โดยมีความสำนึกว่าการวิจารณ์เป็นกลไกในการประเมินคุณค่าและเป็นเสียง แห่งมโนธรรมให้แก่สังคมได้

ขณะที่ผลการวิจัยภาค 2 นัยทางการศึกษาที่สำคัญมีหลายประเด็น  เช่น  ความอ่อนแอของระบบการศึกษาเป็นทางการหรือการศึกษาในชั้นเรียน ที่ส่งผลต่อความถดถอยของวัฒนธรรมการอ่านและการวิจารณ์  รวมทั้งการขาดองค์ความรู้สำคัญของงาน (canon) และขาดการสั่งสมองค์ความรู้ทั้งในส่วนของความรู้ตามขนบเดิมและความรู้ที่ เกิดขึ้นในบริบทใหม่   สถาบันการศึกษาจึงมีบทบาทน้อยกว่าสถาบันครอบครัว ที่ยังสามารถสร้างนิสัยรักการอ่านและสร้างความคุ้นเคยของการมีทวิวัจน์ ระหว่างบุคคลในครอบครัว ที่เกิดจากการอ่านนิตยสารหรือหนังสือเล่มเดียวกัน  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ขาดไปจากระบบการศึกษา   นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่ามหาชนต้องการที่จะรับความรู้ ทั้งในรูปที่สามารถประยุกต์เข้ากับปรากฏการณ์ร่วมสมัย และความรู้ในรูปของหลักวิชาการโดยตรง  การให้การศึกษาทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอาจจะต้องอาศัยกระบวนการสนับสนุนของภาค รัฐ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพิจารณาให้เหมาะสม เพราะการที่รัฐจะเข้ามามีส่วนสำคัญในด้านการสร้างและการวิจารณ์ศิลปะนั้น อาจไม่ได้ส่งผลที่ตรงความต้องการของสังคมเสมอไป

 

ผลงาน

  1. การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ
  2. รวงทองส่องทางศิลป์
  3. พิเชษฐ  กลั่นชื่น: ทางไปสู่การอภิวัฒน์นาฏศิลป์ไทย
  4. ลักษณะร่วมสมัยในงานศิลปะแขนงต่างๆ: ทัศนะของศิลปะ
  5. ๒๕ ปี การวิจารณ์ “คำพิพากษา”
  6. ๘๐ ปี อังคาร  กัลยาณพงศ์
  7. ปัญญา  วิจินธนสาร:  ปรากฏการณ์ศิลปะไทยร่วมสมัย
  8. รายงาน การวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัย “การวิจารณ์งานฐานะปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคม ศาสตร์การวิจารณ์” (E-Book)

 

4.                   โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมลายลักษณ์กับวัฒนธรรมเสมือนจริง” (1 ตุลาคม 2553 – 31 กรกฎาคม 2555)  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปาริชาติ  จึงวิวัฒนาภรณ์  หัวหน้าโครงการ

ผลการวิจัยชี้ว่าหลักฐานของการวิจารณ์เชิงลายลักษณ์นั้น ผูกติดอยู่กับ “ธรรมชาติ” ในการแสดงออกของแต่ละสาขาด้วย กล่าวคือสาขาที่มีการแสดงออกเชิงลายลักษณ์อยู่แล้ว ก็มีแนวโน้มว่าจะมีการวิจารณ์เชิงลายลักษณ์มากกว่าสาขาที่ไม่นิยมแสดงออก ด้วยลายลักษณ์ ทั้งนี้ ก็มิได้หมายความว่า สาขาที่ไม่เขียนบทวิจารณ์นั้นจะไม่นิยมการแสดงความคิดเห็น ในทางตรงกันข้าม เช่น สาขาทัศนศิลป์ และสังคีตศิลป์กลับสามารถแสดงทัศนะเชิงวิจารณ์ได้อย่างน่าสนใจภายใต้ วัฒนธรรมมุขปาฐะ  ขณะที่โลกเสมือนจริงมีศักยภาพสูงมากต่อการวิจารณ์เชิงลายลักษณ์และเชิงมุข ปาฐะเพราะนอกจากโลกเสมือนจริงจะสามารถทำหน้าที่เสมือน “คลัง” ข้อมูลแล้ว ยังสามารถลดข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ พื้นที่และเวลา ตลอดจนสามารถถ่ายทอดสด หรือจัดเก็บภาพเคลื่อนไหวและเสียงได้ ทำให้เกิดพื้นที่สำหรับการวิจารณ์ในเชิงมุขปาฐะด้วย คณะผู้วิจัยพบว่า ปัญหาในด้านคุณภาพที่พบในผลงานการวิจารณ์ในสื่ออินเทอร์เน็ตนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการวิจารณ์ศิลปะ อย่างสร้างสรรค์ หรือการตามไม่ทันความก้าวหน้าทางความคิดและวิธีการของศิลปิน หรืออาจเป็นเพราะการขาดแคลนการ “สมัครเข้ามาเล่น” ของผู้รู้รุ่นอาวุโส ซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่ถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

 

5.                    โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมสื่อสิ่งพิมพ์กับสื่ออินเทอร์เน็ต” (15 กันยายน 2555 – 14 มีนาคม 2557)  คุณอัญชลี  ชัยวรพร  หัวหน้าโครงการ

โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการปัจจุบันที่กำลังดำเนินการอยู่  โดยมุ่งที่จะวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์และ สื่ออินเทอร์เน็ต  รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ระหว่างสื่อทั้งสองประเภท ซึ่งถือได้ว่าเป็นการดำรงอยู่ร่วมกันและสร้างความมั่งคั่งให้แก่กัน  ในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่จะต้องพยายามตอบคำถามที่ว่า  ปัจจัยอันใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการวิจารณ์ในสื่ออินเทอร์เน็ต และลักษณะเชิงสร้างสรรค์ของการวิจารณ์ในสื่อใหม่นี้เป็นอย่างไร

โครงการวิจัยไม่อาจดำเนินการได้ถ้าขาดผู้สนับสนุนที่เข้าใจและเปิดโอกาส ให้มีการวิจัยต่อเนื่องดังเช่นที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  เปิดโอกาสให้  เพราะการสนับสนุนทุนวิจัยขององค์กรอื่นๆ ส่วนใหญ่มักจะให้เป็นทุนระยะสั้น เช่น 1 ปี  ซึ่งเมื่อจบโครงการวิจัยหนึ่งๆ แล้วก็เปลี่ยนไปสนับสนุนโครงการวิจัยใหม่ๆ ต่อไป     แต่การวิจัยโดยเฉพาะการวิจัยทางด้านศิลปะ และการวิจารณ์ศิลปะจำเป็นต้องอาศัยเวลาเพื่อที่จะศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ ที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมและเชื่อถือได้  เมื่อ สกว.  ให้โอกาสโครงการฯได้ทำงานต่อเนื่องยาวนานมาเป็นเวลาเกือบ 17 ปี  จึงทำให้โครงการฯสามารถรวบรวมและสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการวิจารณ์ ศิลปะของสังคมไทยขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง  ขณะเดียวกันในระหว่างคณะผู้วิจัยก็ได้มีการถ่ายโอนความรู้และเรียนรู้ร่วม กันระหว่างรุ่นสู่รุ่น   ในปัจจุบันนักวิจัยส่วนใหญ่จัดได้ว่าเป็นรุ่นที่สาม  ซึ่งถือว่าเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ของโครงการฯ  ส่วนนักวิจัยรุ่นอาวุโส และนักวิจัยรุ่นกลางที่เคยเป็นผู้วิจัยโครงการฯรุ่นแรกๆ ก็ผันตัวเป็นที่ปรึกษาสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่นี้ด้วย  ท่านที่สนใจจะรับทราบบรรยากาศของการวิจัยในหมู่นักวิจัยที่ได้ทั้งความสนุก สนานและความรู้ทางวิชาการ  โปรดดูหนังสือ คุณปู่แว่นตาโต  ของ ชมัยภร  แสงกระจ่าง  ยิ่งไปกว่านั้น  วิชามนุษยศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องคิดลึก  คิดนาน คิดต่อเนื่อง  แต่ถ้าจะให้ดีจะต้องมีการคิดร่วม  คณะผู้วิจัยจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการฯ  โดยเราจะใช้พื้นที่นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์  โดยจะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ให้โอกาสเราได้ออกจากโลกเสมือนจริงมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง   ด้วยการพบปะสังสรรค์กันในรูปของ “มนุษย์สัมผัสมนุษย์”

ประวัติผู้วิจัย

หัวหน้าโครงการ

อาจารย์อัญชลี  ชัยวรพร

532713_410770995632015_2133205975_n

อาจารย์อัญชลี  ชัยวรพร

อาจารย์อัญชลี  ชัยวรพร  สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต  สาขาภาษาอังกฤษ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และศึกษาต่อ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยได้รับปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการหนังสือพิมพ์  จากนั้นได้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ และได้รับ Master of Arts in Film Studies จาก Southampton University

อาจารย์อัญชลีมีประสบการณ์ทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพอันกว้างขวาง  เคยปฏิบัติงานในฐานะนักหนังสือพิมพ์ (The Nation) และเคยรับราชการเป็นอาจารย์ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล  ก่อนที่จะลาออกมาประกอบอาชีพอิสระ  โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยงานด้านภาพยนตร์และงานวิจารณ์ภาพยนตร์  ทั้งนี้มีผลงานที่เขียนเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ได้รับการตีพิมพ์ใน ประเทศและต่างประเทศ  ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ฝรั่งเศส สเปน  อิตาเลียน ญี่ปุ่น และ เกาหลี

อาจารย์อัญชลีมีประสบการณ์ในด้านการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง  โดยได้รับทุนจากองค์กรต่างประเทศด้วย  อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของสหพันธ์นักวิจารณ์นานาชาติ (International Federation of Film Critics) นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลบทวิจารณ์ภาพยนตร์ดีเด่น จากกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ  เทพยสุวรรณ  เมื่อปี 2543 และได้รับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินภาพยนตร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

 

ที่ปรึกษาอาวุโส

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ

 

49704_539395682_6011_n

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ

 

ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา  นาควัชระ จบมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยสอบได้เป็นที่ 1 ของประเทศในแผนกอักษรศาสตร์ จากนั้นเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นปีที่ 1 แล้วได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ จบปริญญา B.A Honours สาขา Modern Languages จากมหาวิทยาลัย  Cambridge  และศึกษาต่อในเยอรมนี ณ มหาวิทยาลัย Tübingen จบปริญญา Dr.phil. (เกียรตินิยมดีมาก) สาขา Comparative Literature

 

อาจารย์เจตนาเข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นย้ายไปเป็นอาจารย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์  และเคยตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนา  ตามลำดับ   อาจารย์เจตนารับราชการในมหาวิทยาลัยนี้จนเกษียณอายุ ในตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ11ภาควิชาภาษาเยอรมัน  ในระหว่างที่รับราชการ ระหว่าง พ.ศ. 2514-2519 อาจารย์ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานในองค์การ SEAMEO ตำแหน่งล่าสุดเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ

 

อาจารย์เจตนาสอนและวิจัยมาตลอดในสายอักษรศาสตร์ ด้านวรรณคดีศึกษา ทั้งไทยและตะวันตก นอกจากนั้นยังสนใจเขียนงานวิจารณ์ในสาขาการละครและดนตรี ในด้านการวิจัยมีผลงานตีพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เมื่อพ.ศ.2538 และได้รับทุนวิจัย สกว. ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

 

สาขาทัศนศิลป์

อาจารย์วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร

 

อาจารย์วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต สาขา ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมัน และได้รับ Diplom Freie Kunst และ Meisterschueler จาก University of the Arts

 

อาจารย์วันทนีย์มีประสบการณ์การทำงานเป็นอาจารย์พิเศษ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งได้รับราชการเป็นอาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งภาพวิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน

 

อาจารย์วันทนีย์มีผลงานในฐานะศิลปินที่ได้แสดงนิทรรศการทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

 สาขาศิลปะการแสดง

อาจารย์ภัทร ด่านอุตรา

 

DSC_0159

อาจารย์ภัทร ด่านอุตรา

 

อาจารย์ภัทร ด่านอุตรา สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต(ศิลปะการละคร) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับ Master of Arts (Theatre) จาก Hunter College City University of New York

 

อดีตนักเขียนด้านศิลปะวัฒนธรรม ประจำคอลัมน์ Outlook ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post และนักเขียนรับเชิญให้กับสิ่งพิมพ์อีกหลายฉบับ และอาจารย์ภัทรยังเคยเป็นอาจารย์สาขาสื่อสารการแสดงที่คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

สาขาวรรณศิลป์

อรพินท์ คำสอน

 

คุณอรพินท์ คำสอน สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต (ภาษาเยอรมัน) คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อและได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

คุณอรพินท์มีประสบการณ์เป็นผู้ช่วยวิจัย ผู้วิจัย และหัวหน้าสำนักงาน ของโครงการวิจัย สกว.  ที่เกี่ยวข้อกับการวิจารณ์สาขาวรรณศิลป์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน  อันได้แก่ โครงการวิจัย “กวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย: ประสบการณ์จากกวีนิพนธ์ไทย อังกฤษ-อเมริกัน  ฝรั่งเศส และเยอรมัน” โครงการวิจัย  “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย”  โครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิ จารณ์”  และ โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมลายลักษณ์กับวัฒนธรรมเสมือนจริง”  นอกจากนี้ยังเป็นผู้วิจัยของโครงการ “๑๐๐ เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย” และ โครงการวิจัย “ปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อีกด้วย

 

สาขาสังคีตศิลป์

อาจารย์ไอยเรศ บุญฤทธิ์

 

iyares

 

อาจารย์ไอยเรศ บุญฤทธิ์

ไอยเรศ บุญฤทธิ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 2) สาขาการสอนวิชาเฉพาะ (ดนตรีไทย) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขามานุษยวิทยาการดนตรี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับทุนจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในโครงการ “ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย” ณ วัดวชิรธรรมปทีป นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี หลังจากกลับมา ได้เข้าเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาปฏิบัติและทฤษฎีดนตรีไทยในสาขาวิชาดุริยางค ศาสตร์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา ในขณะนั้นเอง ได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับดนตรีกาเมลัน โดยเข้ารับการฝึกอบรมโดยสถานกงสุลประเทศอินโดนีเซียประจำประเทศไทย และมีโอกาสเข้าร่วมแสดงดนตรีกาเมลันหลายครั้ง

ในปี พ.ศ. 2552 ได้เข้าร่วมเป็นผู้ช่วยวิจัยสาขาสังคีตศิลป์ ในโครงการ “การวิจารณ์ ในฐานะพลังทางปัญญาในสังคมไทยร่วมสมัย” และ ปี พ.ศ.2553 ได้เข้าเป็นนักวิจัยในสาขาสังคีตศิลป์ ในโครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมลายลักษณ์กับวัฒนธรรมเสมือนจริง” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ปัจจุบัน ทำงานในตำแหน่งผู้ประสานงานโครงการเมธีวิจัยอาวุโส “ชาติพันธุ์: กระบวนทัศน์ใหม่ในการสืบสานภาษาและวัฒนธรรม” และทำหน้าที่นักวิจัยในประเด็น “การธำรงวัฒนธรรมไทยโซ่ง: ภาพสะท้อนผ่านเพลงขับสายแปง” สังกัดสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *