ประวัติผู้วิจัย

หัวหน้าโครงการ

อาจารย์อัญชลี  ชัยวรพร

532713_410770995632015_2133205975_n

อาจารย์อัญชลี  ชัยวรพร

อาจารย์อัญชลี  ชัยวรพร  สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต  สาขาภาษาอังกฤษ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และศึกษาต่อ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยได้รับปริญญานิเทศศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาวิชาการหนังสือพิมพ์  จากนั้นได้ไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ และได้รับ Master of Arts in Film Studies จาก Southampton University

อาจารย์อัญชลีมีประสบการณ์ทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพอันกว้างขวาง  เคยปฏิบัติงานในฐานะนักหนังสือพิมพ์ (The Nation) และเคยรับราชการเป็นอาจารย์ที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล  ก่อนที่จะลาออกมาประกอบอาชีพอิสระ  โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยงานด้านภาพยนตร์และงานวิจารณ์ภาพยนตร์  ทั้งนี้มีผลงานที่เขียนเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ได้รับการตีพิมพ์ในประเทศและต่างประเทศ  ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ อาทิ ฝรั่งเศส สเปน  อิตาเลียน ญี่ปุ่น และ เกาหลี

อาจารย์อัญชลีมีประสบการณ์ในด้านการวิจัยมาอย่างต่อเนื่อง  โดยได้รับทุนจากองค์กรต่างประเทศด้วย  อีกทั้งยังเป็นสมาชิกของสหพันธ์นักวิจารณ์นานาชาติ (International Federation of Film Critics) นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลบทวิจารณ์ภาพยนตร์ดีเด่น จากกองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ  เทพยสุวรรณ  เมื่อปี 2543 และได้รับเชิญให้เป็นกรรมการตัดสินภาพยนตร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

 

ที่ปรึกษาอาวุโส

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ

 

49704_539395682_6011_n

 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เจตนา นาควัชระ

 

ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา  นาควัชระ จบมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยสอบได้เป็นที่ 1 ของประเทศในแผนกอักษรศาสตร์ จากนั้นเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นปีที่ 1 แล้วได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ จบปริญญา B.A Honours สาขา Modern Languages จากมหาวิทยาลัย  Cambridge  และศึกษาต่อในเยอรมนี ณ มหาวิทยาลัย Tübingen จบปริญญา Dr.phil. (เกียรตินิยมดีมาก) สาขา Comparative Literature

 

อาจารย์เจตนาเข้ารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นย้ายไปเป็นอาจารย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์  และเคยตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนา  ตามลำดับ   อาจารย์เจตนารับราชการในมหาวิทยาลัยนี้จนเกษียณอายุ ในตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ11ภาควิชาภาษาเยอรมัน  ในระหว่างที่รับราชการ ระหว่าง พ.ศ. 2514-2519 อาจารย์ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานในองค์การ SEAMEO ตำแหน่งล่าสุดเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ

 

อาจารย์เจตนาสอนและวิจัยมาตลอดในสายอักษรศาสตร์ ด้านวรรณคดีศึกษา ทั้งไทยและตะวันตก นอกจากนั้นยังสนใจเขียนงานวิจารณ์ในสาขาการละครและดนตรี ในด้านการวิจัยมีผลงานตีพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศส ได้รับแต่งตั้งเป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เมื่อพ.ศ.2538 และได้รับทุนวิจัย สกว. ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

 

สาขาทัศนศิลป์

อาจารย์วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร

 

อาจารย์วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต สาขา ประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมัน และได้รับ Diplom Freie Kunst และ Meisterschueler จาก University of the Arts

 

อาจารย์วันทนีย์มีประสบการณ์การทำงานเป็นอาจารย์พิเศษ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะสถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งได้รับราชการเป็นอาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งภาพวิชาสื่อผสม คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน

 

อาจารย์วันทนีย์มีผลงานในฐานะศิลปินที่ได้แสดงนิทรรศการทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

 สาขาศิลปะการแสดง

อาจารย์ภัทร ด่านอุตรา

 

DSC_0159

อาจารย์ภัทร ด่านอุตรา

อาจารย์ภัทร ด่านอุตรา สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต(ศิลปะการละคร) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับ Master of Arts (Theatre) จาก Hunter College City University of New York

 

อดีตนักเขียนด้านศิลปะวัฒนธรรม ประจำคอลัมน์ Outlook ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post และนักเขียนรับเชิญให้กับสิ่งพิมพ์อีกหลายฉบับ และอาจารย์ภัทรยังเคยเป็นอาจารย์สาขาสื่อสารการแสดงที่คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

สาขาวรรณศิลป์

อรพินท์ คำสอน

 

คุณอรพินท์ คำสอน สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต (ภาษาเยอรมัน) คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และศึกษาต่อและได้รับปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

คุณอรพินท์มีประสบการณ์เป็นผู้ช่วยวิจัย ผู้วิจัย และหัวหน้าสำนักงาน ของโครงการวิจัย สกว.  ที่เกี่ยวข้อกับการวิจารณ์สาขาวรรณศิลป์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน  อันได้แก่ โครงการวิจัย “กวีนิพนธ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย: ประสบการณ์จากกวีนิพนธ์ไทย อังกฤษ-อเมริกัน  ฝรั่งเศส และเยอรมัน” โครงการวิจัย  “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย”  โครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์”  และ โครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมลายลักษณ์กับวัฒนธรรมเสมือนจริง”  นอกจากนี้ยังเป็นผู้วิจัยของโครงการ “๑๐๐ เอกสารสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย” และ โครงการวิจัย “ปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อีกด้วย

 

สาขาสังคีตศิลป์

อาจารย์ไอยเรศ บุญฤทธิ์

 

iyares

 

อาจารย์ไอยเรศ บุญฤทธิ์

ไอยเรศ บุญฤทธิ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (เกียรตินิยมอันดับ 2) สาขาการสอนวิชาเฉพาะ (ดนตรีไทย) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขามานุษยวิทยาการดนตรี สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้รับทุนจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในโครงการ “ส่งเสริมการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย” ณ วัดวชิรธรรมปทีป นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี หลังจากกลับมา ได้เข้าเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาปฏิบัติและทฤษฎีดนตรีไทยในสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา ในขณะนั้นเอง ได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับดนตรีกาเมลัน โดยเข้ารับการฝึกอบรมโดยสถานกงสุลประเทศอินโดนีเซียประจำประเทศไทย และมีโอกาสเข้าร่วมแสดงดนตรีกาเมลันหลายครั้ง

ในปี พ.ศ. 2552 ได้เข้าร่วมเป็นผู้ช่วยวิจัยสาขาสังคีตศิลป์ ในโครงการ “การวิจารณ์ ในฐานะพลังทางปัญญาในสังคมไทยร่วมสมัย” และ ปี พ.ศ.2553 ได้เข้าเป็นนักวิจัยในสาขาสังคีตศิลป์ ในโครงการวิจัย “การวิจารณ์ศิลปะ: รอยต่อระหว่างวัฒนธรรมลายลักษณ์กับวัฒนธรรมเสมือนจริง” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ปัจจุบัน ทำงานในตำแหน่งผู้ประสานงานโครงการเมธีวิจัยอาวุโส “ชาติพันธุ์: กระบวนทัศน์ใหม่ในการสืบสานภาษาและวัฒนธรรม” และทำหน้าที่นักวิจัยในประเด็น “การธำรงวัฒนธรรมไทยโซ่ง: ภาพสะท้อนผ่านเพลงขับสายแปง” สังกัดสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *