วงการดนตรีอยู่ได้ด้วยผู้รักสมัครเล่น: กรณีตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วงการดนตรีอยู่ได้ด้วยผู้รักสมัครเล่น: กรณีตัวอย่างจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วฤธ วงศ์สุบรรณ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคณะที่สอนวิชาทางดนตรีเป็นวิชาเอก ไม่ว่าจะเป็นด้านการแสดงดนตรีหรือวิชาการดนตรี ดังนั้น จึงไม่มีนักศึกษาที่เข้ามาเรียนเพื่อฝึกฝนเป็นนักดนตรีโดยตรง หากแต่มีคนที่รักดนตรีและอยากเล่นดนตรีจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีพื้นฐานทางด้านดนตรีมาบ้างไม่มากก็น้อย มาทำกิจกรรมทางดนตรีร่วมกัน ในอดีตเคยมีการจัดหาอาจารย์ทางดนตรีที่มีความสามารถสูงมากมารับงานประจำในการฝึกผู้รักสมัครเล่นเหล่านี้อย่างจริงจัง ผู้ที่โด่งดังที่สุดคือ อาจารย์สังข์ อสัตถวาสี เพื่อนร่วมรุ่นของครูเอื้อ สุนทรสนาน กลุ่มที่เป็นที่รู้จักกันค่อนข้างกว้างขวางในปัจจุบัน ได้แก่ ชุมนุม TU Band, TU Chorus และ TU Folk Song ล่าสุดได้มีการจัดตั้งชุมนุม TU Symphony Orchestra (TUSO) ขึ้น จากกลุ่มนักศึกษาที่มีใจรักด้านดนตรีคลาสสิกและอยากเล่นดนตรีคลาสสิก เพื่อให้ผู้ฟังที่สนใจได้รับรสของเพลงคลาสสิกร่วมกัน ผมเองในฐานะศิษย์เก่าเมื่อได้ทราบว่ามีวงออร์เคสตราแห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (ซึ่งไม่มีคณะดุริยางค์ฯ) ก็ย่อมรู้สึกตื่นเต้นมากเป็นพิเศษ และติดตามข่าวสารของวงอยู่อย่างเสมอ และพยายามที่จะหาโอกาสไปฟังของจริงให้ได้ เพราะเท่าที่ฟังใน YouTube การบรรเลงของปีก่อนๆ ก็รู้สึกว่าอัดเสียงไว้ไม่ค่อยดีนัก
การแสดงของวง TUSO มีขึ้นเมื่อคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ณ อาคารบรรยายรวม 4 (บร.4) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ใช้ชื่อว่า Oboe’s Night Concert เป็นคอนเสิร์ตแรกของปีการศึกษา 2558 ผู้ฟังค่อนข้างมากพอสมควร (ประเมินด้วยสายตาน่าจะราวๆ 200-300 คน) แบ่งการแสดงออกเป็น 2 ช่วง โดยครึ่งแรกจะเป็นกลุ่มเครื่องสาย (string ensemble) บรรเลงเพลงที่ค่อนข้างไม่ยากนัก ตามมาด้วยกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ในรูปแบบต่างๆ เช่น flute quartet, woodwind ensemble และต่อด้วยกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลือง (brass ensemble) แล้วปิดท้ายครึ่งแรกด้วยวงผสมเครื่องเป่ากับเครื่องกระทบ (percussion) ส่วนในครึ่งหลังเป็นการเล่นเป็นวง string orchestra (โดยเป็นนักดนตรีคนละกลุ่มกับ string ensemble ในครึ่งแรก) ซึ่งสังเกตว่าการจัดวงเช่นนี้ น่าจะมาจากนักดนตรีในแต่ละกลุ่มฝีมือไม่ทัดเทียมกัน หรือมีจำนวนเครื่องที่ไม่สมดุลกัน ทำให้ไม่สามารถรวมเป็นวงดนตรีที่ครบเครื่องได้
ในครึ่งแรกนั้น วง string ensemble บรรเลงเพลง Eyes on Me (Nobuo Uematsu), Theme from Symphony No.9 (4th movement): Ode to Joy (L.v. Beethoven) ถัดมาเป็น woodwind ensemble ได้แก่ Minuetto from Divertimento No.3และ Rondo Capriccioso for 3 Flutes (W.A. Mozart) (บรรเลงโดยกลุ่ม flute quartet), String Quartet No.3 in C major, 2nd movement (F.J. Haydn) (บรรเลงโดยกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ 4 ชิ้น) ตามมาด้วยการบรรเลงของ brass ensemble ในบทเพลง Grand March from “Aida” (Giuseppe Verdi) และ Moon River (Henry Mancini) ปิดท้ายครึ่งแรกด้วยFlorentiner March (Julius Fučík) โดยกลุ่มbrass, woodwind and percussion
ครึ่งหลังเป็นวง string orchestra บรรเลงเพลง Brandenburg Concerto No.3, 1st movement (J.S. Bach), Student Quartet (Joe Hisashi), Oboe Concerto No.2 in D minor, 1st movement (TomasoAlbinoni) Thai Music Medley, Elegy in Memory of I.V. Samarin (P.I. Tchaikovsky), Japanese Folk Tune – Moon Over the Ruined Castle (Taki Rentaro), Libertango (Astor Piazzolla) และ St. Paul’s Suite (Gustav Holst) (ผมใส่ชื่อเพลงไว้ให้ทุกเพลงนั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถค้นหาบทเพลงเหล่านี้มาฟังได้จากอินเตอร์เน็ต)
ผมขออภิปรายในภาพรวม เนื่องจากมีเพลงค่อนข้างมาก หากเจาะรายละเอียดทีละเพลงคงจะยาวเกินควร ขอเริ่มที่แขกรับเชิญก่อน โดยคอนเสิร์ตในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า Oboe’s Night เนื่องจากแขกรับเชิญคนสำคัญคือนักโอโบรุ่นใหม่ไฟแรง ธนวรรณ ธวัชวิบูลย์ (ซึ่งปัจจุบันเป็นนักศึกษาวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเพื่อนบ้านของธรรมศาสตร์นั่นเอง และยังเล่นอยู่ในวง Siam Sinfonietta และวงเยาวชนสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา [PYO] อีกด้วย) มาบรรเลงเพลง Oboe Concerto No.2 in D minor(เฉพาะกระบวนแรก) ของ Albinoni ่) ๗ ของผมเองเคยฟังธนวรรณเดี่ยวโอโบ เพลง Oboe Concerto ของ Marcello ที่มหาวิทยาลัยรังสิตเมื่อราวๆ ครึ่งปีก่อน เมื่อเทียบกันแล้วการแสดงในคืนนี้ผมคิดว่าเธอมีความมั่นใจและ “นิ่ง” มากขึ้นกว่าเดิม จัดการกับความประหม่าได้ดี บรรเลงได้อย่างมีสมาธิ เสียงโอโบของเธอมีทั้งความอ่อนหวานไพเราะและมีพลัง เมื่อร่วมกับการบรรเลงของวงที่ดูสดชื่นมีชีวิตชีวา ทำให้รู้สึกว่าทั้งวงและนักแสดงเดี่ยวสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันได้ ทำให้การบรรเลงเพลงนี้ทำได้ดีเป็นพิเศษ ไพเราะน่าฟัง และกลายเป็นเพลงเอกของคอนเสิร์ตนี้สมดังชื่องาน
ในส่วนของกลุ่ม string ensemble นั้น ผมคิดว่ากลุ่มนี้น่าจะถือว่าเป็นกลุ่มนักเรียนเครื่องสายระดับเบื้องต้นถึงระดับกลาง เพลงที่เล่นยังไม่ยากนัก ซึ่งก็น่าชื่นชมในความพยายามและมุ่งมั่นในการเล่นดนตรี และหวังว่าจะพัฒนาฝีมือก้าวเข้าสู่วงใหญ่ได้ในเร็ววัน ในส่วนของเครื่องเป่าลมไม้และเครื่องเป่าทองเหลืองเท่าที่ฟังดูน่าจะเป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานแน่นอยู่พอสมควร (คาดว่าเป็นผลผลิตของวงโยธวาทิตระดับมัธยม) สามารถเล่นเพลงที่ยากได้ แม้ว่าจะมีจุดบกพร่องบางประการอยู่บ้าง แต่ก็อยู่ในระดับที่สามารถปรับปรุงและฝึกฝนเพิ่มเติมได้ ส่วนวง string orchestra นั้น ถือว่าดีใช้ได้ แม้ว่าจะเป็นมือสมัครเล่นเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม ในบางเพลงเล่นได้ค่อนข้างน่าประทับใจ แต่ในบางช่วงที่มีเสียงสูงๆ (ซึ่งในการเล่นเครื่องสายจะพลาดได้ง่ายมาก) ก็ยังมีเพี้ยนอยู่บ้าง ซึ่งก็น่าเห็นใจเพราะเครื่องสายของบ้านเรานี้ก็ยังขาดนักดนตรีและครูอยู่อีกมาก (วงเครื่องสายของบางมหาวิทยาลัยที่มีคณะดุริยางค์ฯ ก็ใช่ว่าจะดีกว่านี้มากนัก) ผมคิดว่าได้ระดับนี้ก็ถือว่าดีพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังหวังว่าจะฝึกฝนให้สามารถเล่นได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
อีกส่วนหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึงคือบทบาทของวาทยกร ซึ่งวง TUSO นี้ มีอยู่ 2 คน คนแรกคือ วชิรวิชญ์ ปัญญาลักษณ์ ผู้อำนวยการดนตรีของวง อีกคนหนึ่งคือ สุทธิพงษ์ ตันติวาณิชกิจ วาทยกรผู้ช่วย (assistant conductor) สังเกตได้จากเสียงของวงและการให้จังหวะ ผมคิดว่าเมื่อวงเล่นกับวชิรวิชญ์ (ซึ่งจบดนตรีมาโดยตรงและฝึกฝนการควบคุมวงมาอย่างเข้มข้นนับสิบปี) จะมีเสียงที่หนักแน่นและจังหวะที่แม่นยำ สำหรับสุทธิพงษ์ ผมคิดว่าถ้าเขามีประสบการณ์ในการควบคุมวงมากกว่านี้ก็อาจจะพัฒนาฝีมือให้สูงขึ้นไปได้ แต่โดยรวมแล้ววง TUSO สามารถเล่นเพลงคลาสสิกระดับที่ไม่ยากนักและเพลงสมัยนิยมที่เรียบเรียงมาให้วงออร์เคสตราได้ค่อนข้างดี สามารถออกงานต่างๆ ในฐานะวงสมัครเล่นชั้นดีได้
ที่กล่าวมานั้น มิได้หมายความว่าการเป็นวงสมัครเล่นนั้นไม่ดี ที่จริงผมกลับมองว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ด้วยซ้ำสำหรับมหาวิทยาลัยที่ไม่มีคณะดุริงยางค์ฯ แต่สามารถมีวงออร์เคสตราเป็นของตัวเองได้ ทั้งนี้ได้รับข้อมูลมาว่านักดนตรีในวงเป็นศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของธรรมศาสตร์ประมาณครึ่งวง อีกครึ่งหนึ่งเป็นนักดนตรีสมทบจากภายนอก ทั้งที่เรียนเอกดนตรีและไม่ได้เรียนเอกดนตรีแต่มีใจรัก ซึ่งผมคิดว่าก็ไม่เสียหายอะไร เพราะวงที่ใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัย” อื่นๆ ก็ทำกันเช่นนี้อยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในการเชิญนักดนตรีจากเหล่าทัพมาช่วงพยุงวงเอาไว้ก็มีไม่น้อย เพราะอย่างน้อยก็ถือว่าเป็นเวทีที่ให้ผู้ที่ “รักสมัครเล่น” ได้เล่นดนตรีร่วมกัน สำหรับผู้ที่สนใจแต่ไม่มีทักษะด้านดนตรี ทางวงก็มีการสอนการเล่นเครื่องดนตรีให้ (ทั้งจากรุ่นพี่และอาจารย์ภายนอก) เพื่อให้เป็นกำลังวงต่อไป (ซึ่งผมคิดว่ากลุ่ม string ensemble กลุ่มแรกนั้นคือผลผลิตจากการสอนดนตรีของวง) ในฐานะผู้รักดนตรีด้วยกันนั้นผมค่อนข้างชื่นชมวง TUSO และอยากให้พวกเขามีพัฒนาการในการเล่นดนตรีที่ยิ่งขึ้นต่อไป โปรดอย่าคิดว่าเป็นวงสมัครเล่น จะเล่นดีหรือเล่นอ่อนอย่างไรก็ได้ แต่ต้องทำให้สังคมรู้จักในฐานะวงดนตรีที่ดีมีฝีมือ การแสดงของวงเป็นที่ยอมรับของผู้ฟัง และพยายามยกระดับฝีมือของวงให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าทำได้เช่นนั้นไม่แน่ว่าผลผลิตของวงอาจจะก้าวขึ้นไปเป็นนักดนตรีคลาสสิกอาชีพต่อไปก็ได้
เป็นกำลังใจให้กับวงการดนตรีคลาสสิคในไทยเช่นกันครับ^^
Pingback: เมื่อวงซิมโฟนีธรรมศาสตร์ สร้างความน่าทึ่งในด้านสังคีตศิลป์ – TRF Criticism Project