วันสุดสัปดาห์ของสังคีตศาลา

วันสุดสัปดาห์ของสังคีตศาลา

 

ทองเบิ้ม บ้านด่าน

 

ปกติแล้วรายการของสังคีตศาลา กรมศิลปากร จะเริ่มออกโรงราวๆ เดือนพฤศจิกายนของทุกปี แล้วจะไปสิ้นสุดเอาหลังเมษายนก่อนที่ฝนจะบรรเลงลงมา

แต่หลัง 14 ตุลาคม 2516 กรมศิลปากรไม่กล้าจัดการสังคีตศาลา ดังนั้นรายการนี้จึงงดไปหนึ่งปี ทำเอานักเลงสังคีตศาลากระอักกระอ่วนไปตามๆ กัน

ปีนี้เพิ่งเริ่มรายการไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานี้เอง โดยนายเกรียง กีรติกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนาวาเอกสมภพ ภิรมย์ รน. อธิบดีกรมศิลปากรเจ้าของสถานที่ร่วมกันเปิดงานตามธรรมเนียมอันดีของข้าราชการไทย

 

“ไม่สนุก” นักสังคีตศาลาคนหนึ่งพูดกับผมเมื่อพบกันที่ห้องน้ำชาย หลังเวทีสังคีตศาลา         “นอกจากประชาสัมพันธ์ไม่ดีแล้ว รายการวันเปิดนี้ก็ไม่เข้าท่า หรืออาจจะเป็นเพราะรายการไม่ค่อยเข้าท่าก็ไม่รู้ ประชาสัมพันธ์จึงไม่ค่อยเข้าเรื่อง”

 

“คิดถึง คุณธนิตแก” หนุ่มใหญ่อีกคนหนึ่งที่รอเข้าห้องน้ำรำพึงขึ้นมา “สังคีตศาลานี่เป็นความคิดของแกที่บริการประชาชนรายได้น้อย รายการเปิดงานของแกมโหฬารทุกครั้ง เพราะแกเกณฑ์ศิลปินมาหมดไม่ว่ารุ่นไหน ๆ ว่ากันตั้งแต่รายการพื้นบ้าน เต้นกำรำเคียวมาจนกลองยาวฉาวโฉ่ ตลอดไปจนถึงโขนละครปิดท้ายรายการ”

 

“ใช่ ผมจำได้ มีอยู่ปีหนึ่งคนเข้ามาดูแน่นไปหมด หาที่นั่งยังไม่ได้เลย รู้สึกว่าปีนั้นคุณยอแสง ภักดีเทวา กับคุณเสรี หวังในธรรม สองคนนี้แหละทำเอาคุณพี่คุณน้าคุณป้าคุณยายหัวร่อน้ำลายหกไปทีเดียว” นักเลงสังคีตศาลาคนแรกสนับสนุนความเห็น

 

ผมมาทบทวนความจำก็นึกขึ้นออกว่าปีก่อนๆนั้น วันเปิดรายการของสังคีตศาลามโหฬารกึกก้องจริงๆ แต่ปีนี้เหงามาก

นอกจากจะเหงาแล้วยังหงอยๆพิกลอยู่ อาจจะเป็นเพราะอธิบดีกรมศิลปากรคนนี้กระเดียดจะคิดอะไรเป็นฝรั่งๆ อยู่มากไปหน่อย เพราะฉะนั้นรายการวันเปิดจึงออกมาเป็นมังกุท้ายมังกร

เปิดรายการโดยวงโยธวาทิตของกองทัพบก

ว่ากันที่จริงแล้วผมเองก็รักที่จะฟังโยธวาทิตมากทีเดียว เพราะลีลาของโยธวาทิตนั้น สนุกสนานและครึ้มอกครึ้มใจดี ยิ่งวงโยธวาทิตกองทัพบกกับตำรวจแล้วเหลือเกินจริงๆ การบรรเลงของสองวงนี้ถึงใจพระเดชพระคุณมาก โดยเฉพาะออกพม่าห้าท่อนด้วย ก็ยิ่งมันยกร่องกันไปใหญ่

ใครๆก็รู้กันว่า ร.ท.วิชิต โห้ไทย ผู้อำนวยการเพลงของ วงโยธวาทิตตำรวจนั้น ฝีไม้ลายมือขนาดไหน เพราะฉะนั้นจึงไม่ผิดหวัง

 

แต่เสียเส้นตรงนาฏศิลป์ ออกมาจับระบำเพลงแรกและเพลงท้ายเท่านั้นเอง

ทำไมถึงว่าเสียเส้น?

ปู้โธ่-ก็จะเป็นฝรั่งก็ไม่เป็น จะเป็นไทยก็ไม่เป็น ถ้าหากจะรำไทยก็ต้องปี่พาทย์ ราดตะโพน ถ้าหากวงฝรั่งก็ควรจะเป็นเรื่องของฝรั่งออกดานซ์อะไรต่อมิอะไรไป

หรือจะถือว่าเป็นการสร้างสรรค์?

ถ้าหากว่าสร้างสรรค์อย่างนี้เห็นจะรับไม่ค่อยไหว เพราะการสร้างสรรค์งานนาฏศิลป์อย่างนี้ควรจะดูเขมรเป็นตัวอย่าง – งานสร้างสรรค์การละเล่นพื้นบ้านของเขมรหมดทุกชุด นับเป็นงานสร้างสรรค์ที่ดีมาก เหมาะสมที่สุด สวยงามที่สุด และมีเนื้อมีหนังมากที่สุด

ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า ถ้าหากอะไรมันเป็นคลาสสิกแล้วต่อไม่ออกหรอก ต้องหยุดอยู่แค่นั้น ต้องวนอยู่ใน “กรอบ” อันนั้นไปไม่มีทางออก และไม่ต้องหาทางออกเพราะไม่มี

เพราะฉะนั้น ระบำกับดนตรี ที่ทำออกมาในวันแรกเปิดสังคีตศาลา จึงดูไม่งาม

“มีอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่เป็นกันเอง”

“อะไร”

“ค่าผ่านประตูน่ะซี่ แต่ก่อนสามบาท ตอนนี้ขึ้นเป็นห้าบาท ทารุณเป็นบ้า“

“อาจจะเป็นเพราะน้ำมันขึ้นราคา”

“บ้า” ชายหนุ่มคนนั้นหันไปทางหญิงสาวที่นั่งพับเพียบเปิดหัวเข่าดำๆกล่าวขึ้น “สังคีตศาลาเป็นสถานที่บริการประชาชนสตางค์น้อย กรมศิลปากรมีรายได้จากโรงละคอนคราวสองคราวนี้ตั้งมากมาย ตามคำโฆษณาของคุณทวีศักดิ์ ที่ว่าโขนเงินล้านบ้างละ ละครเงินล้านบ้างละ ก็ทำไมจะต้องมาเอาสังคีตเงินล้านด้วยก็ไม่รู้”

“เห็นด้วย“ หญิงสาวหัวเข่าดำพูดขึ้น “แต่ที่น่าขำก็คือ อธิบดีกรมศิลป์ จะเอาหลักปักสูงเพื่อขึงผ้าขาวบังแดดที่ส่องมาทางด้านธรรมศาสตร์ตอนพระอาทิตย์ตกดิน – เชยเป็นบ้า”

“จริงหรือเล่นนี่”

“ก็ไม่ทราบได้ เห็นคนกรมศิลป์เขาพูดกัน คุณทวีศักดิ์เองก็รับครับกระผมนี่“

“กูจะเดินขบวนเรียกร้องให้เอาออก – ถ้าหากกรมศิลป์ทำอย่างนั้น” นักเลงสังคีตคนที่ผมพบในห้องน้ำพูดขึ้นกับเพื่อน “มีอย่างที่ไหน ตอนเย็นแดดอ่อนจะตายไป แล้วมุมตรงด้านโรงราชรถ ก็สวยที่สุด นั่งกินเหล้าไป ฟังดนตรีไป มองข้ามเข้าพิพิธภัณฑ์ เห็นหลังคากระเบื้องเก่าๆ งดงาม ต้นไม้ลออตา สุขเป็นบ้า”

นั่น-เป็นถ้อยสนทนาในวันเสาร์

รุ่งขึ้นวันอาทิตย์เป็นรายการมโหรีเครื่องใหญ่ของกรมศิลปากรเอง โดยมีพ่อแจ้ง คล้ายสีทอง ออกมาร้องนำวง

เป็นวันอาทิตย์ที่แปลกที่สุด เพราะที่ธรรมศาสตร์ มีรายการธรรมศาสตร์สังคีตตอนบ่ายสองโมง ที่โรงละคอนก็มีละครพระอภัยมณีตรงกลางคืน สังคีตศาลารับช่วงมโหรีตอนเย็น

ไม่มีอะไรจะพูดถึง เพราะขึ้นชื่อว่ามโหรีแล้วก็งามไปหมดทุกอย่าง (นี่-พูดตามประสาคนรุ่นเก่าเก๋ากึ้ก)

ข้อตำหนิติชมตรงนี้มีอยู่เพียงว่า ระบบเสียงใช้ไม่ได้เท่านั้นเอง อันนี้เป็นปัญหาทางด้านเทคนิค ซึ่งผมไม่รู้เรื่อง

 

สังคีตศาลา – ยังเป็นขวัญใจของคนสตางค์น้อยในกรุงเทพฯ ที่ไม่ต้องการความบันเทิงหรูหราฟู่ฟ่า

แต่ข้อเสนอย้ำที่ผมเคยเสนอไปแล้วหลายหนก็คือ ไม่ควรเอาวงดนตรีวัยรุ่น เข้ามาแสดงเหมือนอย่างที่เคยมี ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า รังเกียจดนตรีฝรั่ง หากเพื่อป้องกันมิให้วัยรุ่นปะทะกันในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาสมบัติวัฒนธรรมของชาติ

ชะดีชะร้ายโยนระเบิดกันขึ้นมาแล้ว โรงรถอาจจะพังเป็นแถบๆ ไปก็ได้

อนึ่ง บรรดาดนตรีสากลทั่วไปนั้น หาดูได้ง่ายๆ ทั้งทางโทรทัศน์และตามรายการต่างๆทั่วกรุงเทพฯ แต่รายการดนตรีไทยหรือรายการไทยๆ ต่างหากที่หาดูไม่ใคร่ได้ นอกจากจะรอวันอาทิตย์ของสังคีตศาลาเท่านั้น

อย่าลืม รายการพื้นบ้านพื้นเมืองที่น่าจะสร้างสรรค์ (ให้ได้เท่าเขมร)

 

 

 

ที่มา:      ทองเบิ้ม บ้านด่าน. “วันสุดสัปดาห์ของสังคีตศาลา” ประชาชาติรายวัน (พุธที่ 25 ธันวาคม 2517), หน้า 10.

 


บทวิเคราะห์

 

 

บทความชิ้นนี้ดูเหมือนจะเป็นการเล่าถึงบรรยากาศของสังคีตศาลา โดยอาศัยบทสนทนาต่างๆ ของผู้ที่เรียกว่า นักเลงสังคีตศาลา ซึ่งบทสนทนาเหล่านั้นแสดงถึง นัยบางประการที่มีต่อ  การวิจารณ์ศิลปวัฒนธรรม และการจัดการที่เกี่ยวข้องกับรายการแสดงของสังคีตศาลา นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทของกรมศิลปากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อรายการทั้งหลายที่จะนำขึ้นเสนอบนเวทีสังคีตศาลา รวมทั้งความต้องการของประชาชนที่มีความหวังว่า สังคีตศาลาเป็นเวทีศิลปวัฒนธรรมและความบันเทิงสำหรับประชาชนอย่างแท้จริง

สิ่งที่แสดงได้ชัดเจนมากจากบทวิจารณ์นี้ น่าจะเป็นประเด็นที่แสดงให้รับรู้ว่า ประชาชนเป็นผู้รับสาระการนำเสนออย่างมีส่วนร่วมและมีบทบาทในฐานะผู้เข้าใจและเป็นเจ้าของร่วมในวัฒนธรรม นอกเหนือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบที่เป็นต้นสังกัดของศิลปิน และเจ้าของสถานที่แห่งนั้น ดังนั้น  ข้อคิดเห็นต่างๆ จากบทสนทนา ย่อมแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อการแสดงที่อาจมีการประเมินค่าได้ แม้อาจจะเป็นไปตามรสนิยมเฉพาะตน แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า หากความต้องการของประชาชนกับความคิดเห็นของผู้มีหน้าที่ในการเสนอศิลปะนั้น ดำเนินไปในแนวทางเดียวกัน หรือมีกลวิธีในการนำเสนอที่ลุ่มลึก รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่นำเสนอกับประชาชน ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะบำรุงรักษาศิลปะของชาติ หรือเปิดหูเปิดตาให้ประชาชนได้รับสาระจากการแสดงได้มากขึ้น

หากพิจารณาถึงถ้อยความในตอนท้าย คงจะทำให้เข้าใจได้ว่า ในยุคสมัยนั้นมีบรรยากาศของการแสดงที่หลากหลาย และประชาชนได้มีโอกาสในการสัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมมากซึ่งทำให้ความเป็นผู้มีรสนิยมทางศิลปะได้กระจายไปทั่วถึง แม้อาจจะในระดับสมัครเล่นหรือไม่ก็ตาม จึงนับได้ว่าเวทีสังคีตศาลาแห่งนี้ เป็นเวทีที่ให้โอกาสทั้งผู้แสดงและผู้ชมได้มีการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ทั้งการแสดงและการชื่นชมต่อศิลปะได้มาก จนเกิดความรู้สึกว่าประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของเวทีแห่งนั้น และมีส่วนในการร่วมพิจารณาความเหมาะสมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเวทีนั้นด้วย

จากบทสนทนาพื้นๆที่ดูเรียบง่ายจริงใจ น่าจะสะท้อนและเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเวทีแห่งนี้ หรืออาจจะมีเวทีลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีกหลายแห่ง ได้คำนึงถึงความมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้จัดและผู้ชม อีกทั้งทำให้เป็นเวทีของศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ที่อาจเป็น “เวทีทางเลือก”  สำหรับประชาชนในยุคที่ดนตรีไทย หรือรายการไทยๆหาดูยากขึ้น นอกจากวันอาทิตย์ของสังคีตศาลา

 

รังสิพันธุ์ แข็งขัน: ผู้วิเคราะห์

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาสังคีตศิลป์

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *