ครูสุดจิตต์ ดุริยประณีต : เสาหลักแห่งวัฒนธรรมระนาดทุ้ม

เจตนา  นาควัชระ

 

          เป็นเวลาร่วม 40 ปีที่อาจารย์สุดจิตต์นั่งรถจากกรุงเทพฯ ไปนครปฐมอาทิตย์ละครั้ง  เพื่อสอนดนตรีไทย  โดยเฉพาะการขับร้อง ให้แก่นักศึกษา คณะอักษรศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร  เรามิใช่สถาบันผลิตศิลปิน  แต่เป็นคนอักษรศาสตร์ที่มีความสนใจทางศิลปะ และมาตรฐานของเราก็คงยังไม่ถึงระดับของผู้ที่เล่าเรียนศิลปะเชิงปฏิบัติอย่างเต็มรูป  แต่ผมไม่เคยได้ยินอาจารย์สุดจิตต์บ่นว่าแม้แต่ครั้งเดียวว่าเด็กอักษรศาสตร์  ศิลปากร ใช้ไม่ได้  พวกเราไม่เคยลืมน้ำใจของท่าน  ศิลปินที่แท้จริง  มิใช่แต่จะโดดเด่นในทางปฏิบัติเท่านั้น แต่ย่อมใส่ใจในการถ่ายทอดวิชา  เพราะท่านเป็นผู้มีวิชา

วันหนึ่งในฤดูร้อนตอนบ่ายๆ หลายปีมาแล้ว ผมเดินจากบางลำพูจะไปลงเรือด่วนที่ท่าพระอาทิตย์  ผ่านสวนสันติชัยปราการ  มองเห็นอาจารย์สุดจิตต์แต่ไกล นั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่  กำลังสอนระนาดให้แก่ศิษย์คนหนึ่ง  ซึ่งดูจะเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว  พอผมเดินเข้าไปใกล้จึงพบว่า  ศิลปินที่ข้ามแม่น้ำมาจากวัดระฆังฯ ผู้นั้นหาใช่ใครอื่นไม่ คือ คุณภัทราวดี  มีชูธน นั่นเอง  ครูสุดจิตต์เปิดสอนดนตรีไทยในบ่ายวันเสาร์ให้ฟรีกับผู้เรียนทุกคนที่สนใจ ภาพที่ผมเห็นประทับใจผมเป็นอย่างยิ่ง  ในอดีตกาลเราคงจะถ่ายทอดวิชากันในลักษณะที่เรียกได้ว่า “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเล่น” หรือ “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเรียน”

อันที่จริง  ผมได้รู้จักท่านอาจารย์สุดจิตต์มาตั้งแต่ครั้งที่ผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยม  เพราะในตอนนั้นพ่อผม ซึ่งเคยเป็นครูใหญ่โรงเรียนมัธยมอยู่สามแห่งในกรุงเทพฯ และเข้ามารับราชการอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ  ในตอนหลังได้อาสาตั้งชมรมดนตรีไทยขึ้น  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของคุรุสภา  และได้ขอความช่วยเหลือจากครูดนตรีไทยสำนักต่างๆ ให้มาช่วยกันฟื้นฟูดนตรีไทยซึ่งถูกทอดทิ้งไปนาน  แน่นอนที่สุดว่า  สำนักดุริยประณีตเป็นหนึ่งในเสาหลักที่ช่วยให้กิจดังกล่าวดำเนินไปได้  พ่อผมซึ่งมิใช่นักดนตรีอาชีพ  เป็นแต่เพียงผู้รักสมัครเล่นเช่นเดียวกับผม  ได้รับแรงบันดาลใจจากท่านผู้มีวิชาเหล่านี้  จนถึงกับขันอาสาแต่งเนื้อเพลงเข้าทำนอง “แขกสาหร่าย” จนเป็นที่รู้จักกันดี  เริ่มต้นด้วยวรรคที่ว่า “อันเพลงไทยใช่จะไร้ในคุณค่า…”

ผมกับภรรยาไปงานสวดพระอภิธรรมอาจารย์สุดจิตต์ในคืนแรก  เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2555 และก็คิดเอาไว้แล้วว่า  คงจะมีการแสดงเพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์สุดจิตต์ผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างแน่นอน  ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดไว้  วงดนตรีจากบ้านดุริยประณีตในขั้นแรกก็ทำหน้าที่บรรเลงเพลงอันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการ  หลังจากที่มีการแสดงพระธรรมเทศนาและการสวดพระอภิธรรมแล้ว  ก็มีการแสดงนาฏศิลป์ไทยเป็นช่วงสั้นๆ  แต่วงดนตรีไม่ยอมขนเครื่องกลับ  ถ้าเป็นวัดอื่นที่มีความเจนจัดเชิงธุรกิจก็คงจะเชิญให้วงดนตรีกลับบ้านไปแล้ว  แต่บังเอิญวัดชนะสงครามเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบางลำพู  นักดนตรีจึงบรรเลงต่อไป  ซึ่งการบรรเลงในช่วงหลังนี้ มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมอีกต่อไปแล้ว  แต่เป็นการแสดงออกซึ่งวิชาดนตรีชั้นสูง  ซึ่งยืนยัน “ทฤษฎีระนาดทุ้ม” ที่ผมได้คิดขึ้นจากการสนทนากับเพื่อนร่วมงาน คือ ศาสตราจารย์อุดม  อรุณรัตน์  ผู้ล่วงลับไปแล้ว  สิ่งที่เขียนขึ้นเป็นทฤษฎีได้รับการยืนยันอย่างเป็นรูปธรรม ณ วัดชนะสงครามในคืนวันนั้น  นั่นก็คือว่า  ครูผู้เจนจัดในวิชาดนตรีจะแสดงความเป็นผู้นำด้วยระนาดทุ้ม  โดยปล่อยให้ศิษย์ฝีมือเอกแสดงความสามารถของตนด้วยการบรรเลงระนาดเอก  นานๆ ครั้งจะได้มีโอกาสฟังระนาดทุ้มปล่อยฝีมือแบบสุดๆ ดังเช่นในครั้งนี้  ซึ่งทำให้ผมเกิดทั้งความอบอุ่นใจและทั้งความมั่นใจว่า  สิ่งที่ผมเรียกว่า “วัฒนธรรมระนาดทุ้ม” นั้น  มิใช่ผลผลิตจากจิตนาการของผม  แต่เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่ามีอยู่จริง  ในโลกแห่งความเป็นจริง  และแต่ดั้งเดิมมาก็เป็นวิถีชีวิตที่แทรกซึมอยู่ในวัฒนธรรมอันสูงส่งของเรา  ซึ่งคนรุ่นใหม่กำลังจะสลัดทิ้งไปด้วยความไม่รู้ และด้วยความโง่เขลาเบาปัญญา  ถ้ายังรักษา “วัฒนธรรมระนาดทุ้ม” เอาไว้ได้  เราคงจะไม่กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว (failed state) ดังเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน  ผมคิดถึงอาจารย์สุดจิตต์ในฐานะเสาหลักแห่งวัฒนธรรมระนาดทุ้ม  และท่านก็คงจะได้ทิ้งมรดกทางดนตรีเอาไว้  ที่มีความหนักแน่น   ทั้งในเชิงศิลปะและในเชิงภูมิปัญญา  พอที่จะช่วยคืนชีวิตให้แก่รัฐที่ล้มเหลวผู้น่าสงสารของเรา

 

————————-

 

 

 

One comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *