ผู้หญิงในจิตรกรรมฝาผนังไทย

ผู้หญิงในจิตรกรรมฝาผนังไทย

อเล็ค กอร์ดอน


…ความรักไม่จำเป็นต้องถูกแสดงด้วยภาพการร่วมประเวณีเสมอไป และการมีเพศสัมพันธ์อาจจะเป็นหรืออาจจะไม่ใช่เครื่องหมายของความรักก็ได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวนี้สามารถที่จะแยกแยะจากกันได้อย่างชัดเจนและมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงภาพของความรักได้อย่างแจ่มชัด ดังตัวอย่างจาก วัดคงคาราม จังหวัดเพชรบุรี (ประมาณ พ.ศ. 2323)* ที่สะดุดตาอย่างยิ่ง ภาพชายหญิงคู่หนึ่งถูกวาดปรากฏอยู่ในหมู่กองทัพของพญามารที่กำลังถูกพัดพาไปในกระแสน้ำที่ไหลท่วม พวกเขากำลังยึดเกาะกันและต่างฝ่ายต่างช่วยกันพยุงตัว ในท่ามกลางรูปที่เต็มไปด้วยความน่ากลัวดุร้าย  พวกเขากลับแสดงความเป็นมนุษย์ที่มีความอ่อนโยน  ในวัดเดียวกัน จิตรกรรมอีกภาพหนึ่งแสดงภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังเล้าโลมกันด้วยความรักอยู่ภายในบ้าน ส่วนอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความรักปรากฏอยู่ในภาพที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

บทความที่น่าสนใจบทหนึ่งโดย ประสิทธิ์ จิตรามาศ ชื่อ “เพศ : เส้นเลือดของศิลปะและกวีนิพนธ์” กล่าวถึง เพลง การร่ายรำ บทกวี และละคร1 แต่ไม่ได้อ้างถึงจิตรกรรมฝาผนังอย่างเฉพาะเจาะจง  อย่างไรก็ดี เนื้อหาของบทความดูเหมือนจะเข้ากันได้กับจิตรกรรมฝาผนังด้วย  เพราะในชีวิตจริงความสัมพันธ์ทางเพศมักจะถูกแสดงออกตามธรรมชาติและเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ฉากหนึ่งจากจิตรกรรมที่วัดเกาะบางพูด ในกรุงเทพฯ (ปลายพุทธศตวรรษที่ 24) นับเป็นตัวอย่างที่ดี  การบรรยายภาพในลักษณะที่คล้ายคลึงกันจำนวนมากก็มีปรากฏอยู่ในฉากชีวิตประจำวันในจิตรกรรมฝาผนังแห่งอื่นๆ  โดยมาก (แม้จะไม่เสมอไป) มักเป็นภาพที่บรรยายฉากที่เป็นเรื่องทางเพศอย่างมีอารมณ์ขัน ฉากเรื่องเพศดังกล่าวนี้ไม่สอดคล้องเสมอไปกับเนื้อเรื่องที่มีความเคร่งขรึมเป็นจริงเป็นจังซึ่งเป็นประธานของภาพ ภาพเหล่านี้กลมกลืนกันไปอย่างไม่เสแสร้งเหมือนเป็นส่วนหนึ่งในฉากของชีวิตจริงที่ปรกติจะอยู่ในส่วนพื้นที่ของภาพกาก**แต่ก็ไม่จำกัดเฉพาะในส่วนนี้เท่านั้น ภาพเหล่านี้ยังปรากฏอยู่ในบางฉากที่เป็นเรื่องของเจ้า และในฉากมารผจญเช่นเดียวกับจิตรกรรมของประเทศอื่นๆอีกมาก ความสัมพันธ์ทางเพศปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของฉากทั้งหมดในภาพ ซึ่งเราอาจอภิปรายกันถึงเรื่องนี้ได้โดยมิต้องเน้นจนเกินควร และโดยมิต้องยุ่งยากลำบากใจเหมือนกับว่ามันเป็นเช่น การหุงหาอาหาร

อย่างไรก็ตาม ผู้ทรงคุณวุฒิทางจิตรกรรมฝาผนังบางท่านเลี่ยงที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้อย่างธรรมดาสามัญด้วยการบิดเบือนเรื่องนี้  บางคนอาจถึงกับสงสัยว่ามีการสมยอมคบคิดกัน   โดยคนบางคนที่ทำให้มีการละเลยหรือถึงกับปฏิเสธการมีอยู่ของความสัมพันธ์ทางเพศในจิตรกรรม      ฝาผนัง หนังสือเล่มหนาและดีเยี่ยมของเวนค์ (Klaus Wenk) แทนที่จะระบุรายละเอียดทั่วไปของการอธิบายภาพที่แสดงฉากดังกล่าวในจิตรกรรมฝาผนังกลับกล่าวถึงเพียงแค่ว่าเป็นเรื่องเพศ2ริงกิส (Rita Ringis) ก็สนใจเฉพาะกับแง่มุมของทฤษฎีทางศาสนา3 ในหนังสือของโบเซอลิเย่ร์ (Jean Borssilier) เล่มที่เป็นหนังสือดีเยี่ยมในด้านอื่นๆได้ปล่อยให้การปรากฏอยู่ของเรื่องนี้หลุดไป เมื่อเขาอ้างว่า ฉากเกี่ยวกับเรื่องทางเพศที่เด่นชัดภาพหนึ่งในจิตรกรรมรัตนโกสินทร์ที่วัดหน้าพระธาตุ (ปักธงไชย) เป็นงานที่พิเศษยอดเยี่ยมต่างไปจากงานอื่นในประเพณีของจิตรกรรมฝาผนังไทย เขาให้ความเห็นว่า “ศิลปะไทยและวรรณคดีไม่ได้ยกเอาปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศมากล่าวถึง ยกเว้นแต่จะทำด้วยความสุขุมระมัดระวังอย่างยิ่ง” และพิจารณาเห็นว่า นี่เป็นตัวอย่าง “ที่น่าชมอย่างยิ่ง” ด้วยเหตุเช่นนี้4

มีงานเขียนระดับมาตรฐานเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาจำนวนน้อย เช่น ผลงานของ สันติ เล็กสุขุม  กมล ฉายาวัฒน์ และวรรณิภา ณ สงขลา  ยังดีที่ผลงานเหล่านี้ไม่บิดเบือนตามแบบดังกล่าวมา5 ผู้เขียนกลุ่มนี้แสดงภาพประกอบที่มีฉากเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็ทำโดยปราศจากการแสดงความคิดเห็น การเว้นไว้ซึ่งความคิดเห็นไม่ได้ช่วยแก้ไขการอธิบายที่ผิดของคนอื่นๆ ข้อเขียนชิ้นหนึ่งโดย สน สีมาตรัง ไม่ได้อภิปรายเรื่องเพศดังที่กล่าวมา  แต่ได้เขียนไว้สั้นจนเกินไป และปรากฏอยู่ในสิ่งตีพิมพ์ที่ไม่เป็นเอกสารวิชาการ (หมายความว่า นักวิชาการที่ต้องการอ้างอาจทิ้งเอกสารนี้ไปได้)6 ยิ่งกว่านั้น เขายังตั้งข้อสังเกตในบางกรณีที่ทำให้ผู้อ่านหลงทางได้ เช่น “ตำแหน่งของฉาก (เรื่องเพศ : ผู้แปล) ที่ปรากฏจะไม่เป็นการดึงความสนใจของผู้ชมไปจากเรื่องที่เป็นประธาน”7 ในหลายกรณี ข้อความนี้มีความถูกต้อง แต่ขณะเดียวกันก็มีตัวอย่างมากพอที่จะระบุว่าข้อความนี้ยังไม่ถูกต้องและไม่ใช่ข้อความที่ใช้อ้างได้โดยทั่วไปในทุกกรณี

การอธิบายบทบาทของเรื่องเพศหรือกามกิจในจิตรกรรมฝาผนังที่ถูกบิดเบือนไปเป็นสิ่งที่มีความหมาย เพราะนี่ไม่เพียงแต่จะสร้างความคลุมเครือแก่การแสดงความสัมพันธ์ทางเพศในรูปแบบต่างๆ (อาทิเช่น การเกี้ยวพา การบอกรัก การร่วมเพศ การค้าประเวณี และการข่มขืน)  แต่นี้ยังเป็นการกีดกั้นการศึกษาวิเคราะห์ในด้านที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคมของพฤติกรรมทางเพศ อาทิเช่น แบบแผนประพฤติปฏิบัติทางเพศบางประการที่กำหนดว่ามีความด่างพร้อยหรือมีมลทิน ซึ่งทำให้เกิดทัศนคติด้านลบที่นำไปสู่ความอยุติธรรมในการปฏิบัติต่อผู้หญิงและการลงโทษต่อผู้หญิง

ในขณะที่ฉากกิจกรรมทางเพศจำนวนมากถูกวาดหลบอยู่ในมุมต่างๆ แต่อีกจำนวนมากก็ค่อนข้างที่จะเห็นเด่นชัด  ข้าพเจ้าได้กล่าวบ้างแล้วถึงความขุ่นเคืองพระทัยของรัชกาลที่ 4 ที่ทรงมีต่อการดึงดูดความสนใจของภาพที่แสดงเรื่องทางเพศที่ปรากฏอย่างเด่นชัดอยู่ในวัดหลวงแห่ง หนึ่ง***  อีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน (ปัจจุบันลบเลือนไป) เป็นภาพขนาดใหญ่ของกลุ่มผู้หญิงในเรือนของเจ้าบ้านผู้สูงศักดิ์ที่วัดพุทไธสวรรค์ จังหวัดอยุธยา  แม้จะยังคงเห็นได้ด้วยการพินิจพิเคราะห์ แต่ภาพก็ถูกลบเลือนไปจนไม่อาจมองเห็นได้จากภาพถ่ายแล้วในขณะนี้

เราลองมาพิจารณาถึงตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดในจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาที่วัดช่องนนทรี ซึ่งได้อ้างถึงมาบ้างแล้ว แม้ว่าเรื่องที่เป็นประธานที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าจะเป็นภาพ วิรุณ บัณฑิต ถูกลักพาตัวไปโดยยักษ์ ปันถะ แต่อย่างน้อยก็มีภาพที่แสดงเรื่องเพศอยู่ 2 ภาพ ที่มีความโดดเด่นเท่าเทียมกันรวมอยู่ด้วย  ภาพที่อยู่ต่ำกว่าดูน่าขันมาก เป็นฉากการตำข้าวซึ่งแสดงถึงการเตรียมการที่จะเกี้ยวพาประกอบอยู่ด้วย  อารมณ์ขันนั้นค่อนข้างหยาบโลน แต่ก็แสดงถึงความผลิบานของความสัมพันธ์ทางเพศที่เต็มไปด้วยความรื่นรมย์และความเสน่หา แม้ว่าจะมีสิ่งรบกวนจากภายนอกในรูปของเด็กๆที่กำลังมาแกล้งแทรกเข้ามาเป็นการสร้างอารมณ์ขันก็ตาม  ส่วนภาพที่อยู่สูงขึ้นไปก็มีสีสันที่แตกต่างออกไป ภาพที่ปรากฏแสดงให้เห็นเป็นบางส่วนของฉากร่วมเพศกันเป็นหมู่  ชายหญิงที่เข้าร่วมด้วยคู่หนึ่งกำลังทำกิจอยู่ บางคนกำลังพัก บางคนกำลังเฝ้าชม ขณะที่หญิงคนหนึ่งดูเหมือนจะเหน็ดเหนื่อยและแสดงอาการท้อแท้ หดหู่ เสื้อผ้าที่ปกปิดบางส่วนหลุดลุ่ย และโซเซกระเซอะกระเซิงออกมาจากประตูของอีกห้องหนึ่ง หญิงสาวอีกคนที่แต่งกายอย่างประณีตกำลังชี้ไปที่เธออย่างตำหนิติเตียนในความประพฤติของหญิงผู้นั้น

หนังสือเล่มหนึ่งที่พิมพ์เผยแพร่ภาพที่วัดช่องนนทรีอย่างดีและมีภาพประกอบจำนวนมากอภิปรายถึงฉากนี้อย่างกว้างขวางด้วยคำอธิบายเพื่อช่วยให้เราเข้าใจถึงสถาปัตยกรรมสมัย อยุธยา8 มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และด้วยความอึกอักในท่าทีที่ค่อนข้างละอายที่จะยอมรับว่า มีฉากเรื่องเพศปรากฏอยู่ (ในภาพขยายใหญ่บนปกหน้าของหนังสือเล่มนี้ได้ตัดเอาฉากเรื่องเพศทั้งสองออกไป และในภาพขยายใหญ่หน้า 75 ของหนังสือก็ตัดบางส่วนของฉากด้านบนออก)  อาจจะเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่า ในประเทศอื่นๆก็ปฏิบัติกันเช่นนั้น หรือพูดว่านี้เป็นเรื่องปรกติที่ไม่ต้องการการแสดงความคิดเห็น อันที่จริงแล้ว อาจไม่มีความจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นใดๆต่อไปอีกหากในเบื้องต้นไม่มีความพยายามใดๆที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของเราออกไปจากเรื่องนี้  โดยทั่วไปแล้ว ดูเหมือนว่าเรื่องดังกล่าวนี้ผู้เขียนจำนวนมากจะสับสนและถูกจำกัดโดยทัศนคติส่วนตัวของเขาเองด้วยความกระดาก หรือด้วยความเขินอาย และด้วยทัศนคติหรือความเดียดฉันท์ของพวกเขาเช่นนี้จึงแทนที่จะใช้หลักเกณฑ์ทางวิชาการสุนทรียศาสตร์หรือการตัดสินทางประวัติศาสตร์เข้ามากำหนดการวิเคราะห์ของพวกเขา เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่ามันอาจเกิดขึ้นในคนรุ่นก่อน  แต่อย่างน้อยมันจะต้องถูกปฏิเสธในแง่ที่เป็นเรื่องทางวิชาการที่เลวและผิดทาง ส่วนในเรื่องที่ว่าเราหลงทางกันได้สักเพียงใดนั้นจะอภิปรายต่อไปว่า ฉากทางสังคมจากงานจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นภาพหนึ่งไม่อาจถูกยกขึ้นอภิปรายถกเถียงกันได้เลย หากเราไม่อาจยอมรับอย่างเปิดเผยถึงธรรมชาติทางเพศ (ที่มีอย่างโจ่งแจ้ง) บางประการที่เกิดขึ้น

มีความไม่เท่าเทียมที่กระทำต่อผู้หญิงในสังคมไทย ในด้านความแตกต่างของการลงโทษผู้ประพฤติผิดทางเพศที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างชัดเจนจนเป็นข้อเท็จจริง  ข้อเท็จจริงดังกล่าวแทรกซึมอยู่ในจิตสำนึกอย่างกว้างขวางเพียงใดนั้น เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังน้อยมาก  ฉะนั้น งานจิตรกรรมที่น่าสนใจภาพหนึ่งที่วัดคงคาราม (บางส่วนถูกวาดทับภายหลัง) จึงเหมาะแก่การศึกษาอย่างละเอียด ฉากที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าเป็นตอนหนึ่งในมโหสถชาดก เรื่องดำเนินไปจากฉากกองทัพบุกตีเมืองของพระเจ้าจุฬามณีซึ่งเป็นฉากที่รู้จักกันดี ภาพที่เห็นแม้ส่วนมากจะถูกทำลายหรือลบเลือนไป แต่ตามเรื่องดูเหมือนว่าภาพที่เหลือจะเป็นฉากครอบครัวของพระเจ้าจุฬามณีกำลังหลบหนีเข้าไปในอุโมงค์  อย่างไรก็ตาม ภาพที่ดีเยี่ยมที่สุดของฉากนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับท้องเรื่อง

เราจะเห็นภาพบรรยายถึงหญิงชาววัง 2 คน (หรืออาจจะมากกว่า) แต่ไม่ใช่เจ้าหญิงถูกชักลอยขึ้นไปแขวนอยู่ในสาแหรก  ข้าพเจ้าไม่อาจยอมรับการตีความของ น.ณ ปากน้ำ ในการแสดงความเห็นสั้นๆต่อภาพที่มีขนาดใหญ่ และเป็นภาพที่แสดงกลุ่มเรื่องต่างๆอย่างมากในวัดแห่งนี้ ดังที่ว่า “ทหาร 2 คน กำลังตระกองเหล่านางสนม นางกำนัลออกจากประสาท”9 แต่อันที่จริง ลำดับของเหตุการณ์ที่ถูกวาดปรากฏเป็น 4 ขั้น อย่างชัดเจน ดังนี้

  1. เหล่านางกำนัลถูกฉุดคร่าออกจากพระราชวังโดยทหาร 4 นาย

2. ในมุมเงียบด้านหนึ่งของกำแพงเมือง มีการฉุดคร่าที่เกิดขึ้นตามมาด้วยการร่วมเพศ  (หรือควรจะเป็นการข่มขืน) ที่ประกอบด้วย หญิง 2 คน กับทหาร 4 นาย  ฉากนี้ค่อนข้างที่จะ    ชัดเจนคงจะไม่ใช่ความตั้งใจของ น.ณ ปากน้ำ  แต่ก็มีผู้ชมคนอื่นๆ หรืออาจจะเป็นผู้ที่อยู่ในวัดนั้นเองที่ตั้งใจและพยายามจะลบเอาเฉพาะส่วนของฉากนี้ ตรงที่มีภาพอวัยวะเพศออกไปเสีย

3.  ลำดับต่อมา หญิง 2 คน ถูกปล่อยตัวออกมาโดยทหารที่ถืออาวุธ

  1. ในลำดับสุดท้าย หญิง 2 คน ถูกชักขึ้นไปแขวนห้อยอยู่ (หรือ ชักสาแหรก)

ในฉากสุดท้ายน่าจะเป็นตัวอย่างของการชักสาแหรก การลงโทษแบบโบราณและการประจานผู้หญิงที่ถูกพบว่าฝ่าฝืนประเพณีที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ การลงโทษนี้เป็นวิธีการที่ใช้กับ      ผู้หญิง และไม่ใช้กับผู้ชายที่เป็นคู่ของเธอที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด คำว่าชักสาแหรกเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนเก่าที่ยังคงใช้ตกทอดมา จนเมื่อไม่นานนี้เป็นคำที่ใช้กล่าวประณามหญิงผู้ดีบางคน ต่อมานัยของคำนี้ถูกปรับมาใช้ดูถูกหรือว่ากล่าวหญิงสาวที่เกียจคร้าน (หรือทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง) ที่ประพฤติราวกับว่า เธอถูกนำใส่ตระกร้าแล้วชักขึ้นไปแขวนลอยอยู่ข้างบนห่างไกลจากโลกข้างล่างที่มีงานการต้องทำ นี่อาจเป็นวิธีการที่สืบทอดมาจากอดีตที่มีการชักใส่ตระกร้าจริงๆขึ้นไปประจานต่อสาธารณะ การประจานในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้มีปรากฏอยู่ในประเทศแถบยุโรปบางประเทศ และบางครั้งเพศชายก็ถูกประจานต่อสาธารณะในลักษณะเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ณ ฉากในจิตรกรรมฝาผนังนี้ก็เพศชายที่เป็นคู่นั้นเองที่เป็นผู้กระทำการลงโทษต่อผู้หญิง

พระสงฆ์รูปหนึ่งที่เป็นผู้นำชมของผู้เขียนอธิบายว่า นี่เป็นฉากที่แสดงบทลงโทษต่อผู้ล่วงละเมิดทางเพศ นี่เป็นความคิดเห็นที่แสดงออกนอกหน้าอย่างชัดเจน  ภาพของการลงโทษเช่นนี้ คนบางคนอาจถึงกับพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็น เพื่อที่จะรักษาภาพของความถูกต้องเหมาะสมและจริยธรรม (ของเพศชาย) มิฉะนั้นอาจจะถูกทำให้เสื่อมลงได้ โดยข้อเท็จจริงที่ว่า จิตรกรรมฝาผนังในวัดนั้นเองที่เต็มไปด้วยการกระทบกระเทียบเปรียบเปรยในเรื่องทางเพศ ที่นี่มีภาพจำนวนมากมายที่สามารถนำไปตีพิมพ์ได้  แต่ผู้อ่านจะได้เห็นเพียงบางภาพเท่านั้นที่ถูกนำมาเผยแพร่ (โดยปราศจากการแสดงความเห็น) ในหนังสือที่กล่าวมาแล้วข้างต้นโดย น.ณ ปากน้ำ

ไม่มีอะไรที่ต้องปิดบังต่อข้อเท็จจริงที่ว่า ความรังเกียจเดียจฉันท์ของนักเขียนบางคนส่งผลในการหลบเลี่ยงความหมายของเรื่องทางเพศในจิตรกรรมฝาผนัง ในตัวอย่างดังที่ยกขึ้นมาอภิปรายนี้แสดงถึงการไร้ความสามารถในการศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในการทำให้เกิดมลทินทางสังคมต่อผู้หญิงที่นำไปสู่การตำหนิติเตียนและความเสื่อมเสีย…

 

บทสรุป

การศึกษาที่มีการเริ่มต้นไว้แล้วและสืบทอดกันมาต้องได้รับการยอมรับ การศึกษาของข้าพเจ้าได้ทำตามลำดับขั้นของเวลาเริ่มต้นจากจิตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุด**** หมายความว่า สิ่งที่เป็นข้อมูลนำมาเสนอนี้มีที่มาเบื้องต้นจากงานในสมัยอยุธยา ซึ่งโชคดีที่ยังมีงานจิตรกรรมฝาผนังจำนวนเป็นร้อยหลงเหลือให้ศึกษา นอกจากนี้ การศึกษาเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังสมัย               รัตนโกสินทร์มีอยู่แล้วมากมาย ซึ่งไม่น่าสงสัยเลยว่า เป็นการเตรียมข้อมูลไว้ให้อย่างมั่งคั่ง

จากการวิเคราะห์ของข้าพเจ้าถึงจุดนี้ คงสรุปได้ว่า สิ่งที่เชื่อกันอยู่ในปัจจุบันบางประการเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของผู้หญิงตามประเพณีในอดีตอาจผิดพลาด**** หรืออย่างน้อยก็เป็นการลงความเห็นอย่างกว้างๆมากจนเกินไป  ยิ่งกว่านั้นมีความชัดเจนว่า การละไว้ซึ่งการศึกษาฉากที่เกี่ยวกับเรื่องทางเพศในจิตรกรรมฝาผนังส่งผลอย่างกว้างขวางต่อความล้มเหลวในการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิง ที่ไม่อาจใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่จากแหล่งข้อมูลอันมีคุณค่า พอๆกับการสร้างภาพบางประการที่บิดเบี้ยวไปจากความจริงของสถานะของผู้หญิงในสังคมไทย

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้แปล

ตัดตอนแปลจาก Alec Gordon, “Women in Thai Society as Depicted in Mural Painting”, Traditional T’ai Arts in Contemporary Perspective, Bangkok, White Lotus, 1998, pp. 185-191.

 

 

บทวิเคราะห์

 

แนวความคิดเรื่อง สตรีนิยม (Feminism) เป็นกระแสที่ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกทีในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 แต่เดิมอาจจะมีลักษณะเป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างสตรีเพศกับบุรุษเพศ แต่พัฒนาการในลำดับต่อมามีลักษณะเป็นวิชาการมากขึ้น อันรวมทั้งการวิจัย การเรียนการสอน ตลอดจนถึงการสร้างอิทธิพลต่อสังคมและในสังคม ในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาการ สาขาวิชาสตรีศึกษา (Women’s Studies) สร้างผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการศึกษาค้นคว้าที่ขยายวงไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของเพศ (Gender Studies) สำหรับประเทศไทยนั้น การศึกษาค้นคว้าในด้าน Women’s Studies และ Gender Studies มักกระทำกันในกลุ่มวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เสียเป็นส่วนใหญ่  การนำกระแส Women’s Studies มาใช้ในการศึกษาศิลปะดังที่ อเล็ค กอร์ดอน (Alec Gordon) ได้นำเสนอในบทความที่นำมาแปลและวิเคราะห์ในครั้งนี้ อาจจะดูว่ามีลักษณะแปลกใหม่อยู่ไม่น้อย

ประเด็นที่ อเล็ค กอร์ดอน ยกขึ้นมาอภิปรายน่าจะเป็นประเด็นที่กระตุ้นให้วงวิชาการของไทยได้เกิดความสำนึกในด้านนี้ขึ้นมาได้บ้าง นั่นก็คือ เขาได้พยายามจะใช้หลักฐานจากจิตรกรรมฝาผนังเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่า ความสำนึกในเรื่องของบทบาทสตรีมีอยู่แล้วในวัฒนธรรมแบบประเพณีของไทย แม้ว่าเขาจะยอมรับว่าข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์อยู่ในขอบข่ายที่จำกัด เพราะภาพจิตรกรรมฝาผนังจำนวนไม่น้อยได้ลบเลือนไปแล้ว ถึงกระนั้นก็ดี ส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ก็เพียงพอที่จะเป็นเครื่องยืนยันว่า ความคิดเรื่องสตรี พฤติกรรมของสตรี และทัศนะของสังคมที่มีต่อสตรีเป็นอย่างไร  ในส่วนแรก เขากล่าวถึงหลักฐานที่บ่งบอกถึงการที่สตรีมีบทบาทในเรื่องของการงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษเพศ ส่วนที่สองเป็นเรื่องที่สังคมไทยอาจไม่นิยมแสดงออกอย่างเปิดเผย นั่นก็คือ  เรื่องของเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง ซึ่งเขามองเห็นว่าช่างไทยมิได้มองเรื่องดังกล่าวไปในเชิงสิ่งต้องห้ามที่พูดถึงไม่ได้ (taboo) ดังที่คนบางจำพวกด่วนสรุปเอาไว้ แต่ภาพแสดงความรักระหว่างชายหญิงนั้นชี้ให้เห็นถึงการแสดงออกอย่างละเมียดละไม  บ่งบอกถึงความอบอุ่นแห่งความเป็นมนุษย์    ในส่วนที่สาม จิตรกรรมฝาผนังเป็นหลักฐานคำฟ้องที่ชัดเจนพอสมควรในเรื่องของความไม่ทัดเทียมกับระหว่างชายกับหญิงในสังคมไทย ภาพที่เขายกมาอ้างเป็นเรื่องของการลงโทษสตรีที่มิใช่แต่เพียงแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการดูหมิ่นเหยียดหยามด้วยการจงใจประจาน จริงอยู่ ภาพที่ว่าด้วยสตรีมักจะอยู่ในส่วนล่างที่เรียกว่า ภาคเศษของจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ที่ช่างไทยใช้ในการพรรณนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนธรรมดาสามัญ อันเป็นเนื้อหาที่แตกต่างออกไปจากเนื้อหาหลักของจิตรกรรมอันเป็นเรื่องที่ว่าด้วยพุทธประวัติ ชาดก หรือธรรมาธรรมะสงครามในลักษณะที่เด่นและสง่างาม  ข้ออภิปรายของ อเล็ค กอร์ดอน  ในส่วนที่เกี่ยวกับวงวิชาการด้านศิลปะของไทย มีลักษณะเป็นการวิจารณ์เชิงลบอย่างโจ่งแจ้ง นั่นก็คือว่า ทั้งๆที่มีหลักฐานเป็นรูปธรรมอยู่ในตัวงานจิตรกรรม แต่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทยก็จงใจที่จะมองข้ามเรื่องของสตรี หรือไม่ก็ดูจะกระอักกระอ่วนโดยใช่เหตุที่จะเลี่ยงการอภิปรายสิ่งที่เกี่ยวกับเรื่องของสตรี ไม่ว่าจะเป็นไปในแนวของเพศสัมพันธ์หรือไม่ นัยของการวิจารณ์นี้ก็คือ นักวิจารณ์ไทยขาดความกล้าหาญ ทั้งในเชิงวิจารณ์และเชิงจริยธรรมที่จะเผชิญกับความเป็นจริง พยาธิสภาพทางวิชาการที่กล่าวมานี้ ดูจะแผ่ขยายวงไปสู่นักวิชาการตะวันตกที่หันมาศึกษาศิลปะไทยด้วย  ไม่ว่าจะเป็นปรมาจารย์ชาวเยอรมันหรือฝรั่งเศสที่รู้จักกันดี หมายความว่า เมื่อทำงานศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องไทย ก็ดูจะติดเชื้อแห่งความขยาดกลัวทางวิชาการจากคนไทยเข้าไปด้วย ข้อกล่าวหาดังกล่าวถ้านำมาพินิจให้ดี ก็ดูจะเป็นคำฟ้องที่หนักแน่นทีเดียวว่า ศิลปินไทยมีความกล้าหาญทางจริยธรรมในขณะที่นักวิชาการยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศิลปินมากนัก ข้อสรุปรวมทั่วไป ก็คงจะเป็นว่า วิชาการทางศิลปะไล่ไม่ทันการวิจารณ์ศิลปะ และข้อจำกัดที่ว่านี้ก็ดูจะยังแก้ไม่ตกในส่วนที่เกี่ยวกับวงการศิลปะของไทยโดยรวม มิใช่แต่เฉพาะในกรณีของสตรีศึกษาเท่านั้น

ในแง่นี้ วงการวิชาการของไทยคงจะต้องเปิดใจออกรับคำวิจารณ์จากนักวิชาการชาวต่างประเทศรุ่นใหม่บ้าง ซึ่งมีความกล้าหาญและจริงใจต่อเราพอที่จะติติงเราในสิ่งที่เราอาจขาดตกบกพร่อง  ประเด็นที่ว่านักวิชาการชาวต่างประเทศอยู่ในฐานะที่จะให้ทัศนะอันเป็นกลางในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับงานของไทยนั้น อาจจะยังมิได้เป็นประเด็นที่นำมาพิเคราะห์กันอย่างจริงจัง ดังที่ อเล็ค กอร์ดอน ได้กล่าวไว้ นักวิชาการด้านไทยศึกษาจำนวนไม่น้อยไม่พร้อมที่จะพูดความจริงต่อวงการไทย ข้อวิจารณ์เช่นนี้คงจะหาหลักฐานมายืนยันได้ไม่ยากนัก ในสาขาวิชาอื่นๆก็เช่นกัน นักวิชาการตะวันตกบางคนรักเมืองไทยเสียจนเสียศูนย์ เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทยกับพม่า หรือไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในคาบสมุทรอินโดจีน ก็มักจะแสดงตัวว่าอยู่ข้างฝ่ายไทยอย่างโจ่งแจ้ง  ในอีกแง่มุมหนึ่ง นักวิชาการชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยหมกมุ่นกับเรื่องทฤษฎีและไม่ใส่ใจที่จะศึกษาข้อมูลให้ละเอียดลึกซึ้งพอ ข้อสรุปของเขาเหล่านั้นในบางครั้งจึงดูจะยังไม่หนักแน่นเท่าที่ควร  สำหรับงานของ อเล็ค  กอร์ดอน ที่อ้างมานี้ เราคงจะต้องวินิจฉัยว่า เท่าที่หลักฐานมีอยู่ เขาก็ได้ใช้หลักฐานเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ได้ สิ่งที่ยังขาดไปก็คือ  เขามิได้ชี้ให้เห็นว่า ทางแก้ควรจะเป็นอย่างไร

วิทยาการที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่อาจจะมิได้มีความแม่นตรงเท่ากับวิทยาศาสตร์ เพราะจำเป็นต้องอาศัยมนุษย์เป็นผู้แสวงหาและวินิจฉัยข้อมูล ซึ่งในบางครั้งก็จำต้องมีลักษณะ   อัตวิสัยอย่างเลี่ยงไม่ได้  ตัวอย่างงานของ อเล็ค กอร์ดอน ชี้ให้เห็นว่าถ้าศึกษาให้ถ่องแท้ นักวิชาการชาวต่างประเทศก็อาจจะ “เจาะ” วัฒนธรรมไทย ไปถึงระดับที่ลึกพอที่คนไทยเองจะต้องกลับมาฉุกคิดว่าอะไรเป็นอะไร ในทางที่กลับกัน เราก็คงจะต้องตั้งคำถามว่า มีตัวอย่างหรือไม่ที่นักวิชาการไทยสามารถจะเข้าถึงวัฒนธรรมของต่างชาติได้ในระดับที่ทัดเทียมกัน วิทยาการจะเจริญได้ก็ต่อเมื่อ มีการแลกเปลี่ยนกันในรูปของการจราจรสองทาง

 

เจตนา นาควัชระ : ผู้วิเคราะห์


* อเล็ค กอร์ดอน เขียนบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษและใช้คริสต์ศักราชระบุเวลา ดังนั้น เพื่อให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจช่วงเวลา ผู้แปลจึงปรับคริสต์ศักราชเป็นพุทธศักราช : ผู้แปล

1 ประสิทธิ์ จิตรามาส, “เพศ : เส้นเลือดของศิลปะและกวีนิพนธ์”, ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม, 2533, หน้า 96.

** ภาพกาก หมายถึง ภาพตัวละครชาวบ้านที่มักประกอบอยู่ตอนล่างของฉากในเมือง

2 Klaus Wenk, Mural Painting in Thailand, Zurich, Von Oppusdorff Verlag, 1972, p.22.

3 Rita Ringis, Thai Temples and Temple Murals, Singapore, Oxford University Press, 1990.

4 Jean Borssilier, La Peinture en Thaïlande, Fribourg, Office du Livre, 1976, p.74.

5 สันติ เล็กสุขุม, กมล ฉายาวัฒน์, จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา, กรุงเทพ, สำนักพิมพ์เจริญวิทย์, 2524 : วรรณิกา ณ สงขลา, จิตรกรรมสมัยอยุธยา

6 Sone Simatrang, “Erotic art in Thai Mural Painting”, in Thailand Profile, August-September, 1977, pp. 40-41.

7 Sone Simatrang, “Erotic art in Thai Mural Painting”, pp. 40-41.

*** ข้อความตอนต้นของบทความที่มิได้ยกมาด้วย มีความตอนหนึ่งที่ อเล็ค กอร์ดอนยกเอาบันทึกพระราชดำรัสตอนที่กล่าวถึงจิตรกรรมวัดทองนพคุณบริเวณหลังพระประธานรูปนางฟ้าเจ็ดองค์ในกริยาไม่สำรวมที่อยู่ในตำแหน่งซึ่งพระสงฆ์ที่นั่งประกอบศาสนกิจในพระอุโบสถจะเห็นได้โดยตลอด ความตอนนี้ อเล็ค กอร์ดอน อ้างจาก Sompat Painoi, Mural Painting, Bangkok, Office of the National Culture Commission, 1985, p.8.

8 “วัดช่องนนทรี”, กรุงเทพ, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2525, หน้า 30, 73, 74.

9 น.ณ ปากน้ำ, วัดคงคาราม, กรุงเทพ, สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, 2537, หน้า 3.

**** เพื่อความกระชับของเนื้อหา ผู้แปลจำต้องตัดเนื้อความบางประการ อาทิ ประวัติจิตรกรรมฝาผนัง และภาระหน้าที่ของผู้หญิงในราชสำนัก ที่ปรากฏในตอนต้นของบทความนี้ออกไป

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาทัศนศิลป์

2 comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *