เพราะรักจึงสมัครเข้ามาร่วม: อาเซียนฉบับสามัญชน

เพราะรักจึงสมัครเข้ามาร่วม: อาเซียนฉบับสามัญชน

เจตนา นาควัชระ

บทนำ: ข้ออภิปรายว่าด้วยระเบียบวิธี

การตั้งชื่อปาฐกถานี้ว่าเป็น “ฉบับสามัญชน” อาจมีนัยทางสังคมและการเมืองที่มิอาจเลี่ยงได้ ทั้งนี้ เพราะการสร้างความสัมพันธ์ระว่างประเทศมักจะมุ่งเน้นไปที่การเจรจากันระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (ซึ่งรู้จักกันเป็นภาษาอังกฤษว่า government to government หรือเรียกย่อว่า G to G)  ถ้าเป็นเรื่องของธุรกิจขนาดใหญ่ ความสัมพันธ์ข้ามชาติก็เป็นสิ่งที่ดำเนินอยู่แล้ว อันอาจทำให้เกิดการสร้างฐานอำนาจอันมหาศาล ซึ่งเทียบได้กับมหาอาณาจักรของยุคก่อน แง่มุมของความสัมพันธ์ที่อาจถูกมองข้ามไป อาจเป็นเรื่องของการไปมาหาสู่กัน หรือ การติดต่อกันในระดับบุคคล หรือ กลุ่มบุคคล หรือที่เรียกกันว่า people to people (หรือ P to P) ซึ่งลักษณะอันไม่เป็นทางการ (informal) เช่นนี้เป็นรากฐานอันสำคัญที่จะหนุนเนื่องให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ (formal) สำหรับ ASEAN นั้น เราคงจะต้องไม่ลืมว่า ก่อนที่จะมีการลงนามในกฎบัตร (Charter) อย่างเป็นทางการนั้น องค์กรนี้มีกิจกรรมอันมากหลายที่กระชับความสัมพันธ์และสร้างคุณูปการให้แก่ประชาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อเนื่องกันมาถึง 46 ปี ASEAN Declaration ที่มีการลงนามที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ. 1967 แม้จะมิใช่กฎบัตรหรือสนธิสัญญาอันถือว่าเป็นข้อผูกมัดในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ลักษณะที่ไม่เป็นทางการของมันก็สามารถปูทางมาสู่ข้อตกลงร่วมกันที่จะจัดตั้งสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นอย่างเป็นทางการได้

ลักษณะที่ไม่เป็นทางการที่กล่าวมาข้างต้นมีนัยในด้านของระเบียบวิธีที่ผู้เขียนนำมาใช้ในการศึกษาประเด็นที่ตั้งขึ้นมานี้ด้วย ถ้ามีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ในระดับ P to P เราคงจะต้องไม่ลืมว่า ตั้งแต่อดีตกาลมา  การไปมาหาสู่กันระหว่างคนต่างชาติต่างภาษากันในยุคที่ไม่มีเส้นพรมแดนอันตายตัวนั้นเป็นกิจของคนตัวเล็กๆ (the small man) สำหรับผู้ที่สนใจศิลปะ เรื่องที่จะกล่าวมานี้เห็นประจักษ์ได้ในทัศนศิลป์ โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังของไทย ในขณะที่ส่วนบนของผนังให้ภาพอันเป็นแก่นของเรื่องที่นำมาเล่าด้วยภาพ ไม่ว่าจะเป็นพุทธประวัติ ชาดก หรือมหากาพย์ เช่นรามเกียรติ์ มักจะเป็นกิจของท้าวพระยามหากษัตริย์ ในขณะที่ศิลปิน (ผู้ซึ่งแต่เดิมเราไม่ลังเลที่จะเรียกว่า “ช่างเขียน”) สงวนพื้นที่เบื้องล่างของผนังเอาไว้สำหรับ “ออกนอกเรื่อง” บ้าง โดยมักวาดภาพความเป็นอยู่และชีวิตประจำวันของชาวบ้าน ซึ่งในบางครั้งก็แฝงด้วยอารมณ์ขัน การออกนอกเรื่องที่เป็นวรรณกรรมมาสู่ภาพสะท้อนของชีวิตจริง จึงเป็นการ “เข้าสู่เรื่อง” ในอีกลักษณะหนึ่ง หมายความว่าคนตัวเล็กๆ ขอโอกาสที่จะให้ความสำคัญต่อวิถีชีวิตของพวกเขาเองบ้าง นัยในเชิงระเบียบวิธีจึงเป็นไปในทางที่ว่า ผู้เขียนขอโอกาสที่จะเสนอประเด็นอันเปี่ยมด้วยความสลักสำคัญที่ว่าด้วยเรื่องของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมุมมองหรือจุดยืนของคนธรรมดาสามัญบ้าง

จะขอให้ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากจิตรกรรมฝาผนังจากระเบียงรอบพระอุโบสถวัดพระ
ศรีรัตนศาสดาราม ภาพแรกนั้นผู้เขียนขอตั้งชื่อว่า “โลกของคนตัวเล็กๆ” (ภาพที่ 1)  ชายไทยยุคก่อนถูกเกณฑ์ให้ไปทำงานให้แก่หลวงปีละประมาณ 6 เดือน (อาจต่อเนื่องกัน หรือเป็นช่วงๆ ก็ได้) ในภาพนี้ชายหนุ่มกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารกำลังเดินแถวเลียบกำแพงวังมา หนูน้อยคนหนึ่งเข้าไปพูดกับชายคนหนึ่งซึ่งเดินอยู่ท้ายแถว ซึ่งเขาก็พร้อม “แตกแถว” ออกมาพูดกับหนูน้อยคนนั้น เรายังไม่อาจทราบได้ว่าทั้งสองคนพูดกันเรื่องอะไร และมีความสัมพันธ์ต่อกันในสถานใด จนกระทั่งเราได้เห็นภาพที่ 2 ซึ่งผู้เขียนขอตั้งชื่อว่า “มุมสงบ” (ภาพที่ 2) ปรากฏว่าชายผู้นั้นแอบไปพบกับภรรยาที่มาซุ่มรอสามีของตนอยู่ เราจึงพอเดาได้ว่า ในภาพที่ 1 นั้น หนูน้อยคงเป็นลูกชายของทหารเกณฑ์ผู้นั้น และคงจะบอกกับพ่อว่า “พ่อจากบ้านไปนาน แม่คิดถึงพ่อ และมารอพบพ่ออยู่หลังพุ่มไม้ข้างกำแพง” คงไม่มีผู้ชมผู้ใดที่จะประณามการแตกแถวของทหารเกณฑ์ผู้นี้ว่าเป็นการผิดวินัยทหารและสมควรได้รับการลงโทษ ในทางตรงกันข้าม  ผู้ที่ได้ชมภาพนี้ก็ย่อมจะให้ความเห็นอกเห็นใจกับพลทหารและครอบครัวของเขา ความหมายซ่อนเร้นที่แฝงอยู่ในภาพเป็นข้อวิพากษ์ระบบไพร่ที่ใช้อยู่ในยุคก่อนแบบหยิกแกมหยอก อันเป็นวิสัยของคนไทยที่ชอบใช้วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ในลักษณะที่ไม่ขึงขังและรุนแรง ข้อเตือนสติในลักษณะทั่วไปก็คือ “อย่าลืมคนธรรมดาสามัญ” ในขณะที่ผู้มีอำนาจและเทพยดาทั้งหลายที่แต่งองค์ทรงเครื่องกันอย่างครบครัน และเหาะ-บินว่อนกันอยู่เบื้องบนของผนังอาคาร ผู้เขียนสารภาพว่า ภาพคนธรรมดาสามัญเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นในเชิงระเบียบวิธีที่ชี้ทางในการศึกษาวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ในบทความนี้

image005

ภาพที่ 1 จิตรกรรมฝาผนัง (ส่วนล่าง): “โลกของคนตัวเล็กๆ”

http://www.holidaythai.com/yaanang/showphoto-32568.htm

image002

ภาพที่ 2 จิตรกรรมฝาผนัง : “มุมสงบ”

http://www.holidaythai.com/yaanang/showphoto-32569.htm

 

จากระเบียบวิธีที่ได้มาจากการชี้แนะของช่างไทย ผู้เขียนขออนุญาตผันความสนใจไปสู่ความคิดทางวิชาการของโลกตะวันตกอันจะช่วยเสริมแรงให้แก่ระเบียบวิธีแบบไทย นักคิดชาวฝรั่งเศส โรลองค์ บาร์ธส์  (Roland Barthes: 1915-1980) ในหนังสือชื่อ Mythologies (1957) (ภาพที่ 3) (ซึ่งมีนักวิชาการไทยนำมาแปล โดยใช้ชื่อว่า “มายาคติ”)[1] พยายามมองปรากฏการณ์อันหลากหลายของสังคมปัจจุบันว่าเป็นสัญญะที่บ่งบอกความนัยเกินกว่าความหมายทั่วไป เพราะสิ่งที่ดูประหนึ่งจะเป็นของพื้นๆ อาจจะชวนให้เราตีความได้ทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างได้ มีอยู่บทหนึ่งที่ประทับใจผู้เขียนมาก ว่าด้วยหนวดของ อับเบ ปิแอร์ (Abbé Pierre: 1912-2007) (ภาพที่ 4) พระนักพัฒนาที่ก่อตั้งกลุ่มอาสาสมัครที่เรียกตัวเองว่า ซาเล้งแห่งเอมาอุส (Les Chiffoniers d’Emmaüs (ซึ่งผู้บรรยายเคยไปร่วมงานด้วยในช่วงฤดูร้อนของปี 1959) รับบริจาคของเก่าเหลือใช้ต่างๆ นำมาจัดเป็นระบบหรือซ่อมเสียก่อนแล้วนำไปขายต่อ เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือคนยากจน โดยเฉพาะพวกพเนจร (clochards) โรลองค์ บาร์ธส์ตั้งข้อสังเกตว่า อับเบ ปิแอร์ ไร้หนวดเคราที่ดูประหนึ่งจะจงใจให้ใบหน้าของท่านคล้ายนักบุญฟรานซิสแห่งเมืองอัสซิสิ (St. Francis of Assisi) ผู้ก่อตั้งนิกาย Franciscan นัยก็คืออับเบ ปิแอร์คงต้องการจะเสริมความสำคัญ (และความศักดิ์สิทธิ์) ให้แก่กระบวนการของตน (และแก่ตนเอง ซึ่งในประเด็นนี้ผู้บรรยายคิดว่า บาร์ธส์คิดเลยเถิดไป) แต่เมื่อเวลาผ่านไป ขบวนการนี้ได้กลายรูปมาเป็นมูลนิธิที่มั่นคง จึงเห็นได้ว่าบาร์ธส์อ่านสัญญะของปรากฏการณ์นี้ไว้ได้อย่างแหลมคมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 และการที่โลกปัจจุบันมีที่สำหรับองค์กรที่ไม่เป็นของรัฐซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือคนจน ซึ่งอยู่ได้ด้วยอาสาสมัคร อันรวมถึงนักศึกษา อาจารย์และปัญญาชนที่พร้อมใจกันทำงานในฐานะซาเล้งนั้นก็เป็นนิมิตรหมายที่ดี ความสามารถในการอ่านสัญญะทางสังคมและวัฒนธรรมได้เช่นนี้ มีนัยทางระเบียบวิธีการทางวิชาการที่สูงมาก ผู้เขียนจึงขอนำวิธีการของโรลองต์ บาร์ธส์ มาใช้ในการอ่านปรากฏการณ์บางประการในกรอบของการก่อตัวของ ASEAN จากรากฐานของความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ ดังที่ได้ทดลองให้เห็นแล้วในบทนำที่ว่าด้วยจิตรกรรมฝาผนัง และจะนำมาใช้ในลำดับต่อไป

 

image011

 ภาพที่ 3 : หนังสือ Mythologies ของ Roland Barthes

image008

ภาพที่ 4 : Abbé Pierre

http://www.assemblee-nationale.fr/histoire/abbe-pierre/index.asp

 

ซิการ์ของเจ้าสุวรรณภูมา

เจ้าสุวรรณภูมา(1901-1984) เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศลาวหลายสมัย สมัยสุดท้ายอยู่ในช่วง 1962-1975 แม้ว่าจะพยายามดำเนินนโยบายที่เป็นกลาง แต่ก็มิอาจเลี่ยงความขัดแย้งที่นำไปสู่การสู้รบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่รู้จักกันในนามของ “ปะเทดลาว” ซึ่งมีน้องต่างมารดาคือ เจ้าสุภานุวงศ์เป็นหัวหน้า เช่นเดียวกับชนชั้นนำของลาวในยุคนั้น เจ้าสุวรรณภูมาได้ไปศึกษาในประเทศฝรั่งเศส และก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้ชีวิตแบบตะวันตกในบางลักษณะ ในปี 1972 องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asian Ministers of Education Organization: SEAMEO) ได้ไปจัดประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาที่กรุงเวียงจันทน์ ผู้เขียนซึ่งช่วยงานสำนักงานเลขาธิการขององค์การดังกล่าวได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของที่ประชุม (Rapporteur-General) เจ้าสุวรรณภูมามาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และผู้เขียนมีโอกาสที่จะสังเกตบุคลิกภาพของท่านอย่างใกล้ชิด (ภาพที่ 5) ท่านแต่งกายด้วยชุดสากล เสื้อนอกเป็นผ้าชั้นดีดำขลับ ผูกผ้าพันคอที่คงจะทำด้วยไหมชั้นยอดจากอิตาลี ในขณะที่กำลังฟังการรายงานของเลขาธิการและประธานสภารัฐมนตรี เจ้าสุวรรณภูมาสูบซิการ์ไปพร้อมกับการรับฟัง ท่าทางและบุคลิกภาพของท่านชวนให้คิดถึงขุนนางชาวตะวันตกมากกว่าเจ้านายของประเทศตะวันออก เช่น ลาว (หรือไทย) ท่านดูดซิการ์ของท่านด้วยความกระหาย พ่นควันออกมาอย่างบรรจง แม้แต่การกรีดนิ้วคีบมวนซิการ์เอาไว้ก็ดูสง่างามแบบตะวันตก ซิการ์มวนนั้นดูจะเป็นสัญญะที่บ่งบอกความอันลึกซึ้งเกี่ยวกับประเทศลาวในขณะนั้นได้ ด้วยวิธีการ “อ่าน” ปรากฏการณ์ของโรลองค์ บาร์ธส์ ผู้เขียนจับความได้ว่า ท่านนายกรัฐมนตรีวางตัว (โดยมิได้ตั้งใจ) ไว้ห่างไกลจากคนธรรมดาสามัญชนในประเทศของท่านมาก ซิการ์มวนนั้นเชื่อมสัมพันธ์กับโลกตะวันตกได้แน่นแฟ้นกว่าเพื่อนร่วมชาติของท่านอย่างแน่นอน ผู้เขียนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เมื่อท่านห่างเหินและห่างไกลจากประชาชนเช่นนี้ ท่านจะไปต่อกรกับน้องชายต่างมารดาของท่านได้ละหรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ท่านจะแก้ปัญหาบ้านเมืองของท่านได้ละหรือ ในปี 1972 ผู้เขียนทำได้ก็แต่เพียงตั้งข้อสงสัยและตั้งคำถาม (และประวัติศาสตร์ก็ยืนยันแล้วว่าท่านแก้ปัญหาไม่ได้ และต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด)

 

Portrait of Souvanna Phouma

ภาพที่ 5 : ซิการ์ของเจ้าสุวรรณภูมา

http://www.corbisimages.com/stock-photo/rights-managed/U1684481-21/

portrait-of-souvanna-phouma

 

robertภาพที่ 6 : Robert Yeo http://www.thedrunkenboat.com/yeo.html

 

เพื่อนรวมงานของผู้เขียนในสำนักงานเลขาธิการขององค์การซีเมโอ ชื่อ Robert Yeo (ภาพที่ 6) เป็นชาวสิงคโปร์ ได้เดินทางไปด้วยในฐานะ Information Officer เขาเป็นอาจารย์สอนภาษาและวรรณคดีอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นนักเขียนและกวี (เขาเพิ่งจะได้รับรางวัล SEA-Write เมื่อปี 2011) จึงสามารถมองปรากฏการณ์ต่างๆได้อย่างแหลมคม และมีความสามารถที่จะถ่ายประสบการณ์ของเขาออกมาเป็นบทกวี โดยมิได้นัดหมายกับผู้เขียน เขาเฝ้าสังเกตนายกรัฐมนตรีลาว และวาดภาพของเจ้าสุวรรณภูมาออกมาเป็นกวีนิพนธ์ภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้เขียนขอคัดข้อความตอนที่สำคัญมาดังนี้

 

The Prince Ruminates

If it is a game, it is a deadly one.

The urbane prince of peace is now stricken

who made political trapeze an art –

although it seems more like ramwong

the way he swayed, the period he’s been at it.

“How much the balance of my kingdom tips

Upon persistence of my fragile throbs.

When I am gone, think only this of me:

What I have done, I have done to keep us whole.

I don’t know if we can unscathed

live, located as we are. Who was he

who said that ants tremble when elephants fight?

Mine is a dependent authority

suspended between King and half-brother.

Wouldn’t it be best for me, like Sihanouk,

to be exiled, but voluntarily,

and to France, with cigars and cognac

to ferment memory, before I lose

what’s left, and the King his untouched crown?

I’m beginning to feel this country needs me

About as much as it needs my walking stick.”[2]

 

ผู้เขียนได้เคยวิเคราะห์กวีนิพนธ์บทนี้ไว้โดยพิสดารแล้วในบทความเรื่อง “On the Teaching of Literature at the University Level” (1978-79)[3] จึงขอไม่อธิบายซ้ำอีก แต่จะขอชี้ให้เห็นถึงการขาดความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าสุวรรณภูมา (ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น “the urbane Prince” หรือเจ้าชายผู้เจนจัดในทางสังคม) กับบ้านเมืองของท่าน คำถามในช่วงท้ายท่านถามตนเองว่า ควรจะลี้ภัยไปเสียให้พ้นปัญหาเช่นเดียวกับกษัตริย์สีหนุหรือไม่ มีการกล่าวถึงประเทศฝรั่งเศสว่าเป็นจุดหมายปลายทาง มิหน้ำซ้ำยังมีการระบุถึงซิการ์และเหล้าบรั่นดี (Cognac) อันเป็นของเสพของชนชั้นสูง  ข้อความสุดท้ายยิ่งตอกย้ำถึงปัญหาที่แก้ไม่ได้ด้วยความเปรียบที่ว่า “… บ้านเมืองต้องการข้าฯ  เหมือนกับที่ต้องการไม้เท้าของข้าฯ” ไม้เท้าที่กล่าวถึงนี้หาใช่ไม้เท้าที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้พยุงร่างกายอันร่วงโรย  แต่เป็นไม้เท้าประเภทหรูหราที่ชนชั้นสูงถือติดมือไว้เป็นเครื่องประดับ! ในเมื่อไม้เท้ามิได้ทำหน้าที่ที่แท้จริงของมัน  เจ้าชายผู้จำใจทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีก็สำนึกดีว่า  เขาทำหน้าที่ของเขาไม่ได้เช่นกัน  บทกวีนี้จึงมีคุณค่าในเชิงคำทำนายไปด้วยในตัว  การ “อ่าน” สัญญะโดยกวี Robert Yeo ก็เป็นไปในทิศทางที่โรลองด์  บาร์ธส์เสนอไว้

บทเรียนของเราที่ได้จากการอ่านสัญญะเหล่านี้ก็คือว่า  ผู้นำทางการเมืองที่ห่างเหินจากประชาชนย่อมจะประสบความล้มเหลว  ตัวอย่างจากประเทศอาเซียนที่มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ  แต่ในขณะเดียวกันความใกล้ชิดกับประชาชนที่ขาดความจริงใจ  แต่เป็นการเล่นจำอวดหลอกประชาชนไปวันๆ ก็นำไปสู่ความพินาศในระดับชาติได้เช่นกัน  ดังที่เราเห็นกันอยู่ตำตา

 

ดอกไม้บนเรือนผมของอองซานซูจี

ก่อนที่พม่าจะ (เสแสร้ง?) เปิดประเทศนานแสนนาน  ทุกครั้งที่เราเห็นภาพของนางอองซานซูจีซึ่งถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านของเธอ  ปรากฏตัวเหนือประตูบ้านเพื่อสื่อสารกับกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนเธอ (รวมทั้งนักข่าวต่างประเทศ)  เธอจะมีดอกไม้ที่สดประดับเรือนผมของเธอ (ภาพที่ 7)  เป็นที่แน่ชัดว่ามิตรของเธอนำดอกไม้สดมามอบให้เธอทุกวัน  ทำต่อเนื่องเช่นนี้มาเป็นแรมปี  ผู้เขียนอดประทับใจไม่ได้กับความต่อเนื่องของสัญญะนี้  ศรัทธาของมิตรที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย  ไม่ว่าการเมืองจะขึ้นหรือลงอย่างไร  ไม่ว่าแรงกดดันจากทรราชจะมาถึงเธอในรูปใด  ไม่ว่านโยบายของผู้มีอำนาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด  และใครเล่าที่จะไม่ทึ่งกับความแข็งแกร่งทางใจของเธอ  เธอไม่ท้อแท้สิ้นหวัง  ดอกไม้โรยได้ในโลกแห่งความจริง  แต่ดอกไม้ที่เราเห็นบนเรือนผมของอองซานซูจีดูประหนึ่งจะไม่รู้โรย  ผู้เขียนถึงพร้อมที่จะฝืนสภาพความเป็นจริง  และเรียกดอกไม้พันธุ์นี้ว่า “บานไม่รู้โรย” (ภาพที่ 8)  และก็ขออ้อนวอนให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จงคุ้มครองเธอ  ขออย่าให้เธอต้องประสบเคราะห์กรรมเช่นเดียวกับ นางอินธิรา  คานที (Indira Gandhi) หรือ นางเบนาซี  บุตโต (Benazir Bhutto) เป็นอันขาด

 

image018

ภาพที่ 7 : ดอกไม้บนเรือนผมของอองซานซูจี

http://www.cleveland.com/world/index.ssf/2010/11/aung_san_suu_kyi_free_after_7.html

 

image020

 

ภาพที่ 8 : “บานไม่รู้โรย”

http://www.care2.com/news/member/876870911/1228395

 

กรณีของนางอองซานซูจีต่างจากเจ้าสุวรรณภูมาอย่างเห็นได้ชัด  แม้เธอจะได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก  (โดยจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด) แต่งงานกับชาวตะวันตก  และใช้ชีวิตเป็นแรมปีอยู่ในประเทศตะวันตก  เธอก็ยังแสดงออกว่าเธอตีนติดดิน  การแต่งกายก็เป็นพื้นเมือง  ถ้าต้องการจะงามก็งามด้วยวิธีที่เป็นธรรมชาติเยี่ยงสามัญชน  เธอจึงผูกใจคนร่วมชาติได้เป็นจำนวนมาก  ถึงกับชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด แต่ก็ถูกฝ่ายทหารยึดอำนาจและทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ นั่นเป็นตัวอย่างที่ผู้นำทางการเมืองที่เป็นสตรีพึงดูเป็นแบบอย่างบ้าง  แต่การเมืองก็คือการเมือง  อำนาจก็คืออำนาจ  ดอกไม้แม้จะงามเพียงใดจะละลายกระสุนปืนของทรราชได้ละหรือ  นั่นคือปัญหาโลกแตก

 

ถ่ายวิชาไถนาแบบไทยให้ติมอร์ตะวันออก

เมื่อติมอร์ตะวันออก (East Timor หรือ Timor-Leste) ได้รับการปลดปล่อยจากการครอบครองของอินโดนีเซียเมื่อปี 1999 สหประชาชาติได้ขอร้องให้ประเทศสมาชิกส่งกองกำลังเข้าไปช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยเป็นการชั่วคราว  ประเทศไทยได้ให้ความร่วมมือด้วยการส่งกองกำลังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังสหประชาชาติ  ในเมื่องานด้านความมั่นคงมีให้ทำน้อยมาก  ทหารไทยจึงหาโอกาสทำประโยชน์ด้วยงานพัฒนา  ซึ่งจะเรียกด้วยศัพท์สมัยใหม่ว่า “technology transfer” ก็อาจจะไม่ถนัดปากนัก  เพราะเป็นเรื่องของการถ่ายทอดวิธีการทำนาด้วยการใช้ควายไถนา (ภาพที่ 9) แต่เดิมชาวติมอร์ใช้ม้าเหยียบลงไปบนดินเหลว  แล้วหว่านเมล็ดข้าว  ผลผลิตที่ได้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่สูงนัก  ต่างจากการทำนาแบบไทยที่ใช้ควายลากคันไถ  เพราะหว่านเมล็ดข้าวลงไปในดินได้ลึกกว่า  ชาวติมอร์เลี้ยงควายเอาไว้กินเนื้อ  โดยเฉพาะเนื้อสะโพกถือว่าเป็นอาหารอันโอชะ  ทหารไทยต้องใช้ความสามารถในการโน้มน้าวชาวติมอร์เป็นอย่างมาก  กว่าที่พวกเขาจะยอมคิดตามและลงมือเรียนวิชาใหม่  ซึ่งเป็นทักษะที่ถ่ายทอดได้โดยไม่ยากนัก[4]

 

image021

ภาพที่ 9 : กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

ติมอร์ตะวันออก 2543

 

การที่ทหารไทยได้มีโอกาสสร้าง “วีรกรรม” ในระดับชาวบ้านเช่นนี้ น่าจะเป็นเครื่องสอนใจให้แก่เราได้ว่า  ความเชื่อเก่าๆ ของเรามิใช่ “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” ไปเสียทั้งหมด  ถ้าชนชั้นสูงโง่ได้  ชาวบ้านก็โง่เป็นเช่นกัน  เช่นการที่เราชอบพูดกันว่า “โง่เป็นควาย” นั้น  ไม่ตรงต่อความเป็นจริง  รวมทั้งคำคมที่ว่า “สีซอให้ควายฟัง” แล้วควายเดินหนีนั้น อาจมิใช่เพราะความโง่ของควาย  แต่เพราะควายอาจจะเคยเกิดเป็นนักวิจารณ์ดนตรีในชาติก่อนมาก็ได้!  เพลงไทยสากลอันเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “ขวัญใจเจ้าทุย”[5] นั้น มีคุณูปการยิ่งนัก  เพราะไม่ลังเลที่จะวินิจฉัยว่า “ถึงแม้เป็นควาย  เจ้าเหนือกว่าดีเสียกว่า  ผู้คนที่เกียจคร้านไม่เข้าท่า  ทุยเอ๋ยเจ้าดีกว่า  ช่วยไถนาได้ทุกวัน”

 

โรคเมืองร้อน กับ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้เขียนขออนุญาตเปลี่ยนเข็มจากเรื่องของควายไปสู่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในระดับสูง นับตั้งแต่มีการเริ่มโครงการร่วมมือระดับภูมิภาคในกรอบขององค์การ SEAMEO มาตั้งแต่ปลายปี 1965 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน (เดิมมีชื่อว่าคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อาสาเป็นตัวกลางในการสร้างความร่วมมือในด้านการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโรคเมืองร้อน  โดยมีสำนักงานกลางตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ  และศูนย์ด้านการศึกษาและวิจัยในประเทศสมาชิกต่างๆ   โครงการนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ SEAMEO-TROPMED เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1967 และในปี 1992 ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า The SEAMEO Regional Tropical Medicine and Public Health Network คำว่า “เครือข่าย” สะท้อนให้เห็นภาพของความร่วมมือได้เป็นอย่างดี  และยิ่งไปกว่านั้นการที่สถาบันในเครือข่ายสามารถเริ่มโครงการฝึกอบรมและบัณฑิตศึกษาในระดับภูมิภาคได้อย่างรวดเร็วก็บ่งบอกถึงมาตรฐานของวิชาการซึ่งอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่านานาชาติอยู่แล้ว  เมื่อมีการเริ่มออกวารสาร Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health (ภาพที่ 10) ในปี 1971 วารสารดังกล่าวก็เป็นเวทีทางวิชาการที่นักวิชาการทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากภูมิภาคอื่นนำบทความมาลงพิมพ์  ข้อพึงสังเกตก็คือกิจกรรมที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติมีอยู่แล้วในรูปของความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกิจกรรมบางอย่างก็เกิดก่อน ASEAN ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงควรจะเป็นว่า ASEAN ใช้ศักยภาพต่างๆ ที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์  มิใช่การด่วนสรุปเอาว่า ASEAN เป็นผู้ก่อให้เกิดความร่วมมือในระดับภูมิภาคในทุกรูปแบบไป

 

image024

 

ภาพที่ 10: วารสาร

Southeast Asian Journal of Tropical

Medicine and Public Health

 

การที่ผู้เขียนเคยปฏิบัติงานในสำนักงานเลขาธิการขององค์การ SEAMEO เป็นโอกาสให้ได้รับทราบว่า  ความน่าเชื่อถือและเกียรติภูมิของกิจกรรมและองค์กรบางองค์กรอยู่ในระดับที่สูงมาก  ตัวอย่างที่น่าสนใจยิ่งคือวารสารด้านโรคเมืองร้อนที่กล่าวมาข้างต้น  อันเป็นวารสารที่นักวิชาการส่งบทความที่มีคุณภาพสูงมากมาลงพิมพ์ตั้งแต่เริ่มแรก  ปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดเกิดขึ้นเมื่อมีการนำระบบการจัดอันดับ (ranking) ของสถาบันอุดมศึกษาในระดับนานาชาติเข้ามาใช้  เพราะผู้ที่คิดระบบนี้ขึ้นมาเน้นความสำคัญของการตีพิมพ์งานวิชาการในวารสารที่มีค่า impact factor สูง  ซึ่งวารสารทางวิชาการของโลกตะวันตกได้เปรียบในเรื่องนี้  นักวิชาการไทยจำนวนมากจึงกระหายที่จะไปพึ่งใบบุญของสถาบันหรือองค์กรอันเป็นที่ได้รับการยอมรับกันอยู่แล้ว  โดยพยายามแข่งขันกันส่งงานวิชาการไปลงพิมพ์ในวารสารวิชาการของโลกตะวันตก Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health  ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากการที่ “ลมเปลี่ยนทิศ” ในลักษณะที่ว่านี้  และจำต้องใช้เวลานานในการปรับตัว

แนวคิดเรื่อง โลกาภิวัตน์  เมื่อนำมาใช้กับวิชาการอาจมิได้เป็นมโนทัศน์ที่กว้างขวางจริง  หากแต่เป็นการอิงมาตรฐานตะวันตก  ผู้ที่เดินตามตะวันตกได้ดี  เช่นประเทศสมาชิกอาเซียน ณ ติ่งปลายด้ามขวานทอง  ก็มักจะได้รับการประเมินไว้สูง  สำหรับไทยเรานั้น  เราขาดความมั่นใจ   เพราะเกรงว่าจะไล่ตามโลกสมัยใหม่ไม่ทัน  การหันมาสร้างความสัมพันธ์ในระดับภูมิภาคอาจจะเป็นการสร้างสัมพันธภาพแนวนอน (horizontal) ที่มีมาแล้วแต่โบราณกาล  เพราะประเด็นที่ว่าใครสูงใครต่ำ  ใครนำหน้า ใครล้าหลัง  อาจจะไม่มีอยู่ในระบบของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแต่เดิม

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะอู่อารยธรรมโบราณ

            เราค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง  (ภาพที่ 11) มิใช่แต่จะส่งผลในด้านของความก้าวหน้าทางวิชาการเท่านั้น  แต่มีผลในด้านกำลังใจให้แก่ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า  ภูมิภาคนี้เป็นอู่อารยธรรมโบราณที่มีความเจริญเหนือภูมิภาคอื่นๆ ของโลกในหลายๆ ด้าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมการปลูกข้าวเป็นอาหาร  แม้ว่าการกำหนดอายุของหลักฐานที่ค้นพบจะยังไม่ลงตัว  แต่ข้อถกเถียงทางวิชาการดังกล่าวมิได้ลดทอนความสำคัญของบ้านเชียงในด้านของความสำนึกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม  นักวิชาการที่ทำการขุดค้นในรุ่นแรกกำหนดอายุของวัฒนธรรมบ้านเชียงในยุคแรกว่าเก่าถึง 5,000 ปี และยุคล่าสุด 1,800 ปี  คงจะไม่มีผู้ใดด่วนสรุปเอาว่าคนไทยในปัจจุบันสืบเชื้อสายมาจากวัฒนธรรมบ้านเชียง  แต่ความภาคภูมิใจในความเก่าแก่ของอารยธรรมโบราณที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินไทยเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้โดยมิต้องมีการรณรงค์ใดๆ   ที่น่าสังเกตก็คือประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ร่วมภาคภูมิใจไปกับเราด้วย (ภาพที่ 12)

image027

 

ภาพที่ 11: บ้านเชียง (1)

http://www.thaipackagetour.com

baanchieng2

ภาพที่ 12: บ้านเชียง (2)

http://www.arthousegroups.com/artshow.php?art_showcase_id=353

 

 

ในการประชุมของ The Association of Southeast Asian Institutions of Higher Learning (ASAIHL) (ซึ่งเป็นการรวมตัวของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคนี้ก่อนที่อาเซียนจะถือกำเนิดมา)  ในปี 1980 ที่กรุงจาร์กาตา  ในหัวข้อ “Western Ideas and Higher Education” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของอินโดนีเซียในขณะนั้น Dr. Daoed Joesof ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถานำ[6]  และได้อ้างถึงการค้นพบอารยธรรมบ้านเชียง  ในฐานะที่เป็นสมบัติร่วมของประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  การที่รัฐมนตรีศึกษาของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะดีใจกับเรา  หรือดีใจแทนเรานั้น  ไม่จำเป็นต้องเป็นทีท่าทางการเมือง  แต่อาจจะเป็นการแสดงความจริงใจในระดับบุคคลก็ได้  ก็ด้วยการแสดงน้ำใจในลักษณะเช่นนี้นี่แหละที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์อันแท้จริงให้แก่องค์การทางการเมืองระหว่างประเทศที่เราสร้างขึ้นมาเสริมความสัมพันธ์ในระดับ “ชาวบ้าน”

 

 

 

 

สังคโลก (ที่ครั้งหนึ่งไม่เต็มชาม)

ไม่ว่าตำราประวัติศาสตร์ไทยเล่มใด  เรื่องของการผลิตสังคโลกมักจะเป็นจุดเด่นของยุคสุโขทัย  มีการกล่าวถึงความสำเร็จในการส่งเครื่องสังคโลกไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย  (ภาพที่ 13) การค้นคว้าล่าสุดยืนยันว่าประเทศญี่ปุ่นก็รู้จักเครื่องสังคโลกดี และได้นำไปใช้ในพิธีกรรมน้ำชา (tea ceremony)  ชาวเกาะบางกลุ่มในฟิลิปปินส์ใช้เครื่องสังคโลกในพิธีกรรมฝังศพ   สิ่งที่น่าประหลาดก็คือการเก็บรักษาสมบัติอันเก่าแก่ของเราเองดูจะขาดตกบกพร่องอยู่ไม่น้อย  พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยครั้งหนึ่งนำเครื่องสังคโลกที่ไม่สมบูรณ์ออกแสดงอยู่เป็นนิจ  ถ้าเป็นชามก็อาจกล่าวได้ว่า “ไม่เต็มชาม” ประมาณกว่า 30 ปีที่แล้วที่ผู้เขียนได้เดินทางไปกรุงจาร์กาต้า และได้มีโอกาสไปชมพิพิธภัณฑ์แห่งชาติของอินโดนีเซีย (ภาพที่ 14)   ปรากฏว่ามีห้องแสดงห้องหนึ่งที่นำเครื่องสังคโลกออกแสดง  และเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสชื่นชมเครื่องสังคโลกที่ไม่แตกบิ่น  เรียกได้ว่า “เต็มชาม”

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ภาพที่ 13: สังคโลก

http://ltt.cru.in.th/musium/data10.asp

 image031

 

ภาพที่ 14: พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงจาการ์ต้า

http://www.panoramio.com/photo/32317690

 

ในการแสดงปาฐกถา  ซึ่งผู้เขียนได้นำมาเรียบเรียงเป็นบทความชิ้นนี้  เมื่อวันที่  28 มีนาคม2555  ในการประชุมวิชาการประจำปีของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  หลังจากปาฐกถาจบลง  ผู้เข้าร่วมประชุมจากกรมศิลปากรได้ขอโอกาสชี้แจงว่า  ผู้เขียนไม่มีความจำเป็นต้องกังวลใจอีกต่อไป  และไม่จำเป็นต้องออกแรงเดินทางไปต่างประเทศ  เพื่อที่จะได้ชื่นชมเครื่องสังคโลกที่สมบูรณ์  เพราะได้มีการปรับปรุงงานพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยเอง  และในขณะนี้เรามีเครื่องสังคโลกที่สมบูรณ์และทรงคุณค่าที่นำมาแสดงต่อมหาชนแล้ว  การที่ได้มีโอกาสนำประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้านมาพิจารณาอาจจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้เราตื่นตัวขึ้นรับสภาพความเป็นจริง และหาทางปรับตัวได้ด้วย

 

โบราณคดีใต้น้ำ

            ในช่วงที่ผู้เขียนปฏิบัติงานขององค์กร SEAMEO ประเทศสมาชิกมีดำริที่จะตั้งศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วย  โบราณคดีและวิจิตรศิลป์ขึ้น  โดยที่ประเทศกัมพูชารับเป็นเจ้าภาพ (แต่ด้วยเหตุผลของสงครามในอินโดจีนจึงย้ายมาก่อตั้งในประเทศไทยในนามของ SEAMEO Project for Archaeology and Fine Arts: SPAFA แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น SEAMEO SPAFA Regional Centre for Archaeology and Fine Arts) ส่วนหนึ่งของนวัตกรรมในด้านโบราณคดีที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือ  วิทยาการที่ว่าด้วยโบราณคดีใต้น้ำ (underwater archaeology) (ภาพที่ 15) อ่าวไทยเป็นแหล่งที่มีหลักฐานที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ทางการค้าและวัฒนธรรมระหว่างไทยกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกับประเทศอื่นๆ เป็นอันมาก   จุดเริ่มต้นของโบราณคดีใต้น้ำอาจจะเป็นการศึกษาวัตถุที่ค้นพบจากเรืออับปาง  แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะได้คำตอบที่ว่าด้วยชีวิตความเป็นอยู่และพฤติกรรมของคนในอดีตด้วย  เป็นที่แน่ชัดว่าความมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นเป็นผลมาจากการค้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าทางทะเล  โบราณคดีใต้น้ำสามารถให้หลักฐานสนับสนุนสมมติฐานข้างต้นได้อย่างหนักแน่น  นอกเหนือจากสินค้าที่เป็นงานฝีมือแล้ว  ไทยยังเป็นแหล่งสมุนไพรอันมีค่าซึ่งเป็นที่ต้องการของชาติต่างๆ   หลักฐานทางประวัติศาสตร์จากแหล่งอื่นๆ  ผนวกกับหลักฐานจากโบราณคดีใต้น้ำเสริมกันให้ได้ภาพของอดีตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ในทางที่กลับกันก็มีหลักฐานปรากฏว่า เรือสำเภาที่เดินทางมาค้าขายกับไทยนั้นบางส่วนมาจากแดนไกลนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  แสดงให้เห็นว่าความเป็น “เมืองเปิด”ของสยามมีหลักฐานยืนยันได้จากโบราณคดีใต้น้ำ (ภาพที่ 16)

image039

ภาพที่ 15 : โบราณคดีใต้น้ำ (1)

http://www.finearts.go.th/en/node/6351

 image036

 

ภาพที่ 16 : โบราณคดีใต้น้ำ (2)

http://www.vituzoh.com/2012/08/23/

ในปัจจุบันได้มีการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างความเชี่ยวชาญด้วยการฝึกอบรม  รวมทั้งการจัดการในด้านการทำนุบำรุงรักษาแหล่งโบราณคดีใต้น้ำด้วย  องค์การ UNESCO ได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติในด้านของการอนุรักษ์สมบัติทางทะเล  และประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมใน UNESCO Convention on the Protection of the Underwater Cultural Heritage  อาจกล่าวได้ว่า  จากการเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ใกล้ตัว  ไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนานาชาติโดยอาศัยศาสตร์ใหม่เป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นใจให้แก่เราได้ว่าเราทันโลก  เริ่มต้นที่บ้านเรา   ผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เราสามารถที่จะเห็นภาพที่กว้างออกไปได้ว่า  เราเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมนานาชาติได้อย่างไรตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

 

ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่กลายเป็นความสัมพันธ์ข้ามชาติ

ผู้เขียนเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์  (ภาพที่ 17) อันเป็นโรงเรียนมัธยมของรัฐรุ่นแรกๆ ของประเทศไทย  เราอาจจะสร้างเทพปกรณัมแก่ตนเองมาว่า  โรงเรียนนี้สร้างบุคคลผู้มีความสามารถมาอย่างต่อเนื่อง  และศิษย์เก่าบางคนได้ทำหน้าที่สำคัญให้แก่ประเทศชาติโดยได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี  ซึ่งมิใช่เป็นแต่เพียงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเท่านั้น  หากแต่ยังช่วยสร้างผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านในระดับนายกรัฐมนตรีได้ด้วย  ผู้ที่ได้รับการกล่าวขานถึงบ่อยครั้ง คือ ตนกู  อับดุล  รามัน (Tunku Abdul Rahman: 1903-1990) (ภาพที่ 18)  นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซียหลังจากได้รับอิสรภาพจากอังกฤษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ตนกูมีมารดาเป็นคนไทย  เคยมาเรียนที่โรงเรียนเทพศิรินทร์อยู่ในช่วงสั้นๆ  แต่ท่านมีความทรงจำที่ดีต่อโรงเรียนเก่าของท่าน  ในวาระที่โรงเรียนฯ มีอายุครบ 100 ปี  ท่านส่งสารมายังโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นภาษาอังกฤษ  ดังข้อความที่คัดมาข้างท้ายนี้[7]

 

image044

 

ภาพที่ 17 : โรงเรียนเทพศิรินทร์

http://writer.dek-d.com/ds-network/story/viewlongc.php?id =638042&chapter=1

 

image042

 

ภาพที่ 18 : ตนกู อับดุลรามัน

http://sikmading.blogspot.com/2007_10_01_archive.html

 

image047

(คลิกที่ภาพเพื่ออ่าน)

เป็นที่น่าสังเกตว่า  ท่านตนกูมิได้ตั้งตัวเป็นผู้มีบารมี  และส่งสารอันเป็นทางการมาประดับบารมีให้แก่โรงเรียนเก่าในต่างแดน  แต่ท่านจงใจแสดงมิตรไมตรีด้วยการเขียนจดหมายด้วยลีลาที่เป็นกันเอง  เล่าประสบการณ์ธรรมดาๆ ของนักเรียนตัวเล็กๆ คนหนึ่งกับเพื่อนชาวไทยของท่าน ผู้เขียนเคยได้รับฟังจาก ศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินทร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย  นักการทูต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการคนแรกสำนักงานเลขาธิการองค์การ SEAMEO ว่าท่านได้เคยสนทนากับท่านตนกู ในช่วงที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ท่านยังพูดภาษาไทยได้คล่อง และแสดงความเป็นกันเองอย่างเห็นได้ชัด สัมพันธภาพไทย-มาเลเซียในขณะนั้นอยู่ในระดับที่ดีเป็นพิเศษ

 

ผู้เป็นต้นคิดระบำโบราณคดี

            ทุกครั้งที่กรมศิลปากร หรือกลุ่มนาฏศิลป์อื่นนำระบำโบราณคดี (ภาพที่ 19) ออกแสดง เราจะได้รับข้อมูลว่า กรมศิลปากรได้ประดิษฐ์ท่ารำขึ้นใหม่ โดยศึกษาจากรูปปูนปั้น ณ โบราณสถานที่สร้างขึ้นในอาณาจักรศรีวิชัย ทวาราวดี และลพบุรี และได้มีการแต่งเพลงขึ้นมาใหม่ให้สะท้อนลีลาของวัฒนธรรมดังกล่าว แต่เราไม่ทราบว่า ผู้เป็นต้นคิดให้เกิดระบำโบราณคดีเป็นใคร หลักฐานในรูปของบันทึกของ ฯพณฯ ประสงค์ บุญเจิม อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ข้างท้ายนี้  ระบุชัดเจนว่า ผู้ที่เป็นผู้ผลักดันให้เกิดระบำชุดแรกหาใช่ใครอื่นไม่ คือศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ชื่อ ตนกู อับดุล รามัน นั่นเอง

image049

ภาพที่ 19 : “ระบำศรีวิชัย” ในชุด “ระบำโบราณคดี” http://akjqgeu.vcharkarn.com/vcafe/167551

อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านขอให้ผมช่วยและความช่วยเหลือของผมเป็นผลให้กรมศิลปากรของไทยมีระบำชุดโบราณคดีขึ้นมาแพร่หลายจนบัดนี้ เรื่องมีว่า ท่านตนกูปรารภกับผมว่า ท่านกำลังสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของราชวงศ์แห่งมาลายู แต่โบราณสมัยศรีวิชัย มีฉากในท้องพระโรงของราชา  ซึ่งท่านต้องการให้มีระบำประกอบ แต่ท่านหาไม่ได้ จึงขอให้ผมติดต่อขอจากกรมศิลปากรของไทยไปแสดงประกอบ ผมแน่ใจว่าเวลานั้นกรมศิลปากรเองก็ไม่มีระบำสมัยศรีวิชัย แต่ก็รับปากกับท่านตนกูแล้ว จึงได้ติดต่อกับท่านอธิบดีธนิต อยู่โพธิ์ ในขณะนั้น แนะนำท่านให้หาจากตำรา หรือมิฉะนั้นส่งคนไปดูที่พุทธเจดีย์ โบโรบูโดในอินโดนีเซีย ท่านอธิบดีก็ส่งเจ้าหน้าที่ไปตามที่ผมแนะนำ และได้ลอกลายการแต่งกายและท่าระบำมาประกอบเป็นระบำศรีวิชัยเป็นชุดแรก และส่งไปแสดงประกอบการถ่ายภาพยนตร์ที่มาเลเซีย ต่อจากนั้นกรมศิลปากรได้อาศัยระบำศรีวิชัยเป็นต้นระบำสมัยต่างๆ ขึ้นอีกรวมหลายชุด ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน[8]

 

หนังใหญ่เขมรกับหนังใหญ่วัดขนอน

ผู้เขียนขออนุญาตนำประสบการณ์ตรงมาเล่าสู่กันฟัง ในช่วงที่ปฏิบัติงานให้แก่องค์การ SEAMEO ได้มีโอกาสเดินทางไปประชุมในประเทศกัมพูชาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้น ณ กรุงพนมเปญ ในการเลี้ยงรับรองได้มีการจัดแสดงหนังใหญ่กลางแจ้งขึ้น (ภาพที่ 20) โดยใช้รูปแบบโบราณ คือ สุมไฟด้วยกะลามะพร้าว ในฉากที่กองทัพยักษ์รบกับกองทัพลิง ผู้เชิดหนังสองคนตั้งใจจะสร้างความขบขันให้แก่ผู้ชม จึงแสร้งทำว่าเข้าถึงบทจนแยกไม่ออกว่าความจริงกับความลวงต่างกันอย่างไร ถึงกับวางตัวหนังลง และชกต่อยกันเป็นพัลวัน ซึ่งก็สามารถสร้างความหฤหรรษ์ให้แก่ผู้ชมได้

image053

ภาพที่ 20 : หนังใหญ่เขมร

Shadow Play Cambodia Southeast Asia

 

อีก 2-3 ปีต่อมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปชมการแสดงหนังใหญ่ที่วัดขนอน อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี (ภาพที่ 21) ซึ่งทั้งความงามของตัวหนัง และความสามารถของผู้แสดงจัดได้ว่าเป็นที่ได้รับการยกย่องโดยทั่วไป ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจมากที่ผู้แสดงของวัดขนอนก็ใช้กลเม็ดในการสร้างความบันเทิงด้วยการดื่มด่ำกับตัวบทเสียจนลืมไปว่าตนกำลังแสดงบทยักษ์กับบทลิงอยู่ ถึงกับวางตัวหนังลง แล้วชกต่อยกัน เช่นในการแสดงที่พนมเปญ โดยไม่ผิดเพี้ยน

image056

ภาพที่ 21: หนังใหญ่วัดขนอน

http://www.gotoknow.org/posts/280046

ผู้เขียนเลี่ยงไม่ได้ที่ตั้งคำถามว่า มุกตลกที่คณะผู้แสดงในกรุงพนมเปญ และที่วัดขนอนใช้ พ้องกันโดยบังเอิญ หรือว่ามีการถ่ายทอดกัน หรือมาจากแหล่งเดียวกัน ผู้เขียนมีความโน้มเอียงที่จะวินิจฉัยว่ามุกดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่การจะหาคำตอบว่าเขมรเรียนจากไทย หรือไทยเรียนจากเขมรเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง และถ้าได้คำตอบก็คงจะทำให้เกิดการบาดหมางใจขึ้นได้ จึงเพียงแต่จะให้ข้อสรุปไว้เป็นการชั่วคราวว่า ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมร่วมกันอยู่มาก ซึ่งรวมถึงดนตรีและนาฏศิลป์ด้วย เราควรจะใช้มรดกร่วมเหล่านี้เป็นทางในการสร้างมิตรภาพต่อกัน และสมบัติร่วมเหล่านี้แหละคือรากฐานอันมั่นคงของประชาชาติอาเซียน

อันที่จริงการจัดมหกรรมนานาชาติ เช่น International Ramayana Festival ได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายครั้ง และประเทศไทยก็ได้รับเป็นเจ้าภาพไปแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งล่าสุด จัดขึ้น ณ โรงละครแห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2554 เพื่อเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพครบ 7 รอบนักษัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีประเทศส่งคณะนักแสดงเข้าร่วมงานมหกรรม  8 ประเทศ คือ อินเดีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ลาว อินโดนีเซีย เขมร และไทย อันที่จริงประเทศที่มาร่วมงานหากเว้นอินเดียก็เป็นประเทศอาเซียนทั้งหมด เพียงเท่านั้นก็ได้เห็นความหลากหลายมากพออยู่แล้ว และถ้ามองด้วยใจเป็นธรรม โอกาสที่จะได้เปรียบเทียบการแสดงของหลากประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถของนาฏศิลปินของชาติต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรมให้แก่การแสดงของตน ก็เลี่ยงไม่ได้ที่เราเองจะต้องฉุกคิดว่า เรามีความสามารถในการคิดต่อและคิดใหม่มากน้อยเพียงใด ผู้เขียนได้เขียนบทวิจารณ์ชื่อ “สร้างแล้วจึงรื้อ: รามเกียรติ์ไทยในมหกรรม รามยาณะนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ” โดยผู้เขียนอาสาที่จะให้ข้อวิจารณ์เชิงประเมินคุณค่าไว้ จะขอคัดบทความบางตอนมาดังนี้

ประเด็นหลักอันว่าด้วยธรรมาธรรมะสงครามนั้นก็มักจะถูกกลืนหายไปในกระแสของ
ศิลปนิยม  โดยที่เราจำเป็นต้องยอมรับว่า  วัตถุดิบที่เรานำเข้าจากชมพูทวีปนั้นเป็นวัสดุที่นำมาหลอมใหม่ได้ยาก (intractable material)  ในด้านของศิลปะการแสดง  ทศกัณฐ์ได้เบียดพระรามตกเวทีไปนานแล้ว  สำหรับพระลักษณ์นั้นไม่ต้องพูดถึง  แทบจะไม่มีบทบาทอะไรที่โดดเด่นเลย  การที่เราปรบมือกึกก้องโรงละครแห่งชาติเพื่อแสดงความชื่นชมยินดีกับความอลังการของการแสดงรามเกียรติ์ฉบับไทย  ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผินดูจะเบียดคณะละครเล็กๆ จากอีก 6 ประเทศตกเวทีที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าไปนั้น  อาจจะเป็นความเข้าใจผิดบางประการ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเรามิได้ใส่ใจกับพระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็เป็นได้

ผู้ที่รักการแสดงโขน   ถ้าได้ดูโขนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ก็คงจะต้องยอมรับว่าศิลปะการแสดงประเภทนี้แทบมิได้สร้างนวัตกรรมให้แก่ตนเองมากนัก  สำหรับการที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับการแสดงนั้น  แม้จะมิใช่สิ่งที่ควรปฏิเสธ  แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงรูปแบบภายนอก เช่นเดียวกับการลงทุนสร้างชุดโขนใหม่ในราคาที่แพงลิบลิ่ว  สิ่งที่พวกเราที่สวามิภักดิ์ต่อนาฏศิลป์ไทยอยากจะเห็นก็คือ  การเปลี่ยนแปลงในด้านของนาฏยสังคีตและท่ารำ  ผู้ที่สนใจศิลปะการแสดงของตะวันตกมักจะคิดถึงคำว่า “choreography” คือการประดิษฐ์ท่ารำหรือท่าเต้นที่ต้องประสานกับดนตรีอย่างแนบสนิท…

ผมคิดว่าเราอาจจะได้บทเรียนบางประการที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่า ที่เราไม่สร้างนวัตกรรมเยี่ยงชาติต่างๆ ที่มาร่วมแสดงในครั้งนี้ (ทั้งๆ ที่รัชกาลที่ 1 ได้ทรงเปิดทางไว้ให้แล้วว่าไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้)  อาจจะมีเหตุปัจจัยบางประการที่พอสรุปได้  ดังนี้ 1)  เราเดินห่างออกมาจากชาวบ้านมากเกินไป  2)  ความผูกพันกับความอลังการของงานสมโภช  3)  การสูญเสียความยิ่งใหญ่ที่กอปรด้วยความห้าวหาญและความกร้าวกร้านของการแสดงโบราณ (ที่ยังหลงเหลืออยู่ในหนังใหญ่)  เพราะละครรำเข้ามามีบทบาทสูงมาก  และ 4)  ปัญหาที่ว่าด้วยนาฏยสังคีต  ซึ่งผมจะขออภิปรายเพิ่มเติมต่อไปสักเล็กน้อย…

การจะสร้างนวัตกรรมในทางนาฏศิลป์จึงต้องเผชิญกับข้อจำกัด  ซึ่งอยู่ในเนื้อในของนาฏดุริยางค์ของเราเอง  สิ่งที่ผมกำลังคิดถึงก็คือ  เหตุใดจึงไม่มีการแต่งเพลงใหม่ให้มากกว่านี้ที่จะนำมาใช้กับนาฏศิลป์เฉพาะ เรื่อง  เฉพาะตอน  เฉพาะบท  ซึ่งชาติอื่นดูจะทำได้อย่างเสรี ที่กล่าวมานี้มิได้หมายความว่ากรมศิลปากรมิได้เคยสร้างนวัตกรรมอันใดเลยทั้ง ในเรื่องของคีตศิลป์และนาฏศิลป์  แต่ก็จำต้องบีบตัวให้อยู่ในกรอบของขนบ เพราะแม้แต่ปรับปรุงเล็กน้อยก็ถูกฝ่ายอนุรักษนิยมตำหนิเสียแล้ว อันที่จริง ครูบาอาจารย์ทางดนตรีไทยที่ไม่ต้องผูกตัวอยู่กับสถาบันใดย่อมไม่ลังเลที่จะ ให้เสรีภาพแก่ตนเอง  เช่น  ครูบุญยง  เกตุคง […]  คำคมที่ว่า “ดูละครแล้วย้อนดูตัว”  อาจจะยังใช้ได้กับยุคใหม่  ดูการแสดงของต่างชาติแล้วกลับมาย้อนดูโขนของเราเองก็ทำให้เกิดความคิดบาง ประการ  ซึ่งใคร่ขอเสนอไว้ ณ ที่นี้แต่เพียงสังเขป  ในท้ายที่สุด  เราคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตระหนักว่า “ศิลปะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้” มหกรรมรามายณะครั้งนี้ชวนให้ตั้งคำถามว่า  เราอยู่ต้นแถว  กลางแถว  หรือปลายแถวกันแน่[9]

 

เราจะปฏิเสธไม้ได้ว่า การแข่งขันในการสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน เราไม่จำเป็นต้องรอการเป็นสมาชิกสมาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปในปี 2558 ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองตนเองด้วยวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์

 

สลับฉาก: เกร็ดชวนคิดจากการพินิจสหภาพยุโรป

ผู้เขียนขออนุญาตนำประสบการณ์ของสหภาพยุโรปมาอภิปรายเพื่อเป็นอุทาหรณ์  อันจะชี้ให้เห็นว่า  ชาติยุโรปรวมกันได้อย่างไร  สหภาพยุโรปอาจมีประสบการณ์ยาวนานกว่าอาเซียนในความพยายามที่จะรวมตัวกันอย่างเป็นทางการในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ และก็เผชิญปัญหาอันหนักหน่วงมากมาย ซึ่งประเทศสมาชิกยังไม่ย่อท้อที่จะหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ต่อไป ถ้าเราย้อนไปมองประวัติศาสตร์ของยุโรป เราก็จะสำนึกได้ว่าการที่เขาใช้ความอดทน และความพยายามในการที่จะสร้างเอกภาพและมิตรไมตรีในหมู่ประชาชาติยุโรปนั้น ก็เป็นเพราะเขารู้จักที่จะเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ยุโรปเป็นดินแดนแห่งความรุนแรง สงครามโลกเกิดขึ้นที่นั่น ข้อขัดแย้งระหว่างชาติ ระหว่างเพื่อนบ้าน ระหว่างศาสนา (อันรวมถึงต่างนิกายในทางศาสนา) ก่อให้เกิดสงคราม ซึ่งเกิดแล้วยุติ ยุติแล้วเกิดใหม่ ต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าพันปี แม้แต่ชนชาติเดียวกันก็เข่นฆ่ากันเอง (เรามักจะยกตัวอย่างการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1789 และมักจะลืมความโหดเหี้ยมของ Commune ในปีค.ศ. 1871) ฝรั่งเศสกับเยอรมันทำสงครามกันมาตลอด ขณะนี้ที่จับมือกันได้เพราะมีกฎบัตร EU เป็นตัวกำกับกระนั้นหรือ ผู้เขียนในฐานะครูภาษาตะวันตกที่ได้ศึกษาภาษาวรรณคดี และวัฒนธรรมของยุโรป มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ได้พยายามมาตลอดมาที่จะชี้ให้เห็นว่าเชื้อไฟของไมตรีมีอยู่ในวัฒนธรรมของยุโรป ซึ่งมีลักษณะที่พ้องกันอยู่มาก มิใช่แต่เฉพาะเรื่องคริสต์ศาสนา แต่รวมถึงเรื่องของปัญญาความคิดและศิลปวัฒนธรรม ผู้เขียนได้เลือกกรณีความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมันมาเป็นกรณีศึกษา โดยเขียนหนังสือในแนวนี้ไว้ 2 เรื่องคือ

  1. August Wilhelm Schlegel in Frankreich: Sein Anteil an der französischen Lituraturkritik (1966) [“เอากุสต์ วิลเฮล์ม ชเลเกลในฝรั่งเศส: การมีส่วนร่วมของเขาใน(พัฒนาการ) ของวรรณคดีวิจารณ์ฝรั่งเศส” เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเป็นภาษาเยอรมัน] โดยชี้ให้เห็นว่า นักประพันธ์และนักวิจารณ์ของฝรั่งเศสในยุคโรแมนติกเกือบทั้งหมดเต็มใจที่จะเรียนรู้จากการวิจารณ์วรรณคดีตะวันตกของชเลเกล ซึ่งมีนัยทางทฤษฎีสูงมาก และการเรียนรู้ดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดเชิงวิจารณ์ในหมู่ของนักคิดโรแมนติกของฝรั่งเศสเอง ที่มีผลต่อการสร้างสรรค์วรรณคดีโรแมนติกในฝรั่งเศส
  2. Brecht and France (1994) เขียนเป็นภาษาอังกฤษ  โดยมีจุดประสงค์ที่จะแก้ความเข้าใจคลาดเคลื่อนในวงการวิชาการที่ว่า  นักการละครเอกของเยอรมันในศตวรรษที่ 20 คือ แบร์ทอลท์  เบรชท์ (Bertolt Brecht) ไม่ได้ให้ความสนใจศิลปะ วรรณคดี และวัฒนธรรมฝรั่งเศส  ความจริงมีอยู่ว่าเบรชท์มีความสนใจและมีความเข้าใจอันลึกซึ้งในมรดกทางปัญญาของฝรั่งเศส  และในการต่อสู้กับขบวนการฟาสซิสม์  เขาลืมความเป็นเยอรมัน และกลับเจ็บร้อนแทนคนฝรั่งเศสที่ต้องยอมสยบให้แก่พวกนาซี   ทั้งในตัวงานวรรณกรรมและละคร  และในชีวิตจริง  เบรชท์เป็นมิตรที่แท้จริงต่อฝรั่งเศส  ซึ่งนักคิดชั้นนำของฝรั่งเศส เช่น ฌอง ปอล  ซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) ก็ยอมรับความจริงนี้

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นผลของการวิจัยทางวิชาการของผู้เขียนเองที่พยายามจะยืนยันว่า  ถ้าสหภาพยุโรปจะอยู่ได้อย่างมั่นคง  ก็เป็นเพราะทุนเดิมในทางวัฒนธรรมและทางความคิดที่มีอยู่แล้ว

ในขั้นต่อไป  ผู้เขียนใคร่ขออนุญาตนำเรื่องเล่าประสบการณ์จริงมาถ่ายทอดสัก 2 เรื่อง

เรื่องแรกอาจตั้งชื่อได้ว่า “การโบกรถในประเทศฝรั่งเศส” (Hitch-hiking in France)

การโบกรถเพื่อเดินทางจากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเมืองหนึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษาในยุโรปกระทำกัน  เพราะจะได้ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง  และก็เป็นขนบที่ถือปฏิบัติกันมาว่าผู้ที่มีรถส่วนตัวควรจะให้ความเอื้อเฟื้อกับชายหนุ่มหญิงสาวเหล่านี้ (เพราะครั้งหนึ่งพวกเขาเองก็เคยปฏิบัติเช่นเดียวกัน)

นักศึกษาชาวเยอรมันผู้หนึ่ง  เดินทางท่องเที่ยวในประเทศฝรั่งเศสด้วยวิธีโบกรถ  วันหนึ่งชายวัยกลางคนชาวฝรั่งเศสรับเขาขึ้นรถมา  และแทนที่จะนำเขาไปส่งที่บ้านเยาวชน (Youth Hostel) อันเป็นที่ที่พวกนักเดินทางเหล่านี้เข้าพักแรมเป็นประจำ  เขากลับเชิญอาคันตุกะชาวเยอรมันให้ไปพักที่บ้านเขา  เมื่อได้รับประทานอาหารเย็นร่วมกันแล้ว  เจ้าของบ้านก็พาอาคันตุกะไปสำรวจที่หลับนอน  ซึ่งเป็นห้องนอนว่างอยู่ 2 ห้อง  โดยบอกกับชายหนุ่มว่า  จะเลือกนอนห้องไหนก็ได้  นี่คือห้องนอนของลูกชาย 2 คนชองเขา  ชายหนุ่มถามเจ้าของบ้านว่า “ลูกชายของท่านไปไหนเสียล่ะ  ไปเรียนหนังสือในต่างเมืองหรือ”  เจ้าของบ้านตอบอาคันตุกะว่า “ลูกผมทั้งสองคนเป็นทหาร ไปตายในสงครามโลกครั้งที่ 2”

ชาวฝรั่งเศสผู้นั้นรับลูก-หลานของศัตรูเข้ามาอยู่ในบ้านด้วยไมตรีจิต  เขาให้อภัยศัตรูได้อย่างไร

(ผู้ที่เล่าเรื่องนี้ให้ผู้เขียนฟังคือ อดีตเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย  ท่านก็คือชายหนุ่มผู้โชคดีผู้นั้น)

เรื่องที่ 2  อาจตั้งชื่อได้ว่า “สงครามไม่ใช่สนามแห่งความดี”

อดีตทหารอังกฤษผู้ที่ได้ไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้รับบาดเจ็บจนทำให้เขาแขนคอกไปข้างหนึ่ง  เป็นที่น่าสังเกตว่า  ทุกครั้งเขาเล่าถึงประสบการณ์ในการสู้รบอันโหดเหี้ยมในสงครามโลกครั้งที่ 1  เขาไม่เคยกล่าวประณามฝ่ายตรงข้ามเลย หลังสงครามเขาตั้งครอบครัวและเข้าทำงานที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์จนเกษียณอายุ เขาคือพ่อบ้านที่ผู้เขียนพักอาศัยอยู่ในช่วงปีสุดท้ายของการศึกษาระดับปริญญาตรี  วันหนึ่งเขาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า  เขาได้เห็นมากับตาว่า  ทหารอังกฤษจับเชลยชาวเยอรมันมาได้  และแทนที่จะส่งเชลยเหล่านั้นไปเข้าค่ายกักกันตามข้อตกลงระหว่างประเทศ  กลับนำเชลยหมู่นั้นเข้าไปกักขังไว้ในกระท่อมหลังหนึ่ง  แล้วโยนระเบิดใส่กระท่อมหลังนั้น  เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาได้คิดว่า  สงครามเป็นที่ปลุกสัญชาตญาณแห่งความโหดร้ายของมนุษย์  และเขาไม่เคยแยกฝ่ายเขาฝ่ายเรา เพราะ “สงครามไม่ใช่สนามแห่งความดี”  เขาไม่เคยประณามความโหดเหี้ยมของเยอรมัน  และยกยอความเป็นวีรบุรุษของฝ่ายอังกฤษเลย  เขายอมรับในความเสมอภาคในการกระทำความชั่วในบริบทของสงคราม

ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า  บุคคลที่ผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมาแล้ว  และสามารถ “ทำใจ” ได้   คือบุคคลที่จะสามารถชี้ทางไปสู่อนาคตได้  เขามองประวัติศาสตร์จากประสบการณ์ของเขาเอง  แต่ก็เอาธรรมเข้าข่มใจจนถึงขั้นที่จะบรรลุ“อภัยทาน”ได้  รากฐานในระดับบุคคลเหล่านี้คือ สิ่งที่จะจรรโลงความสัมพันธ์ในระดับข้ามชาติ  คนที่จิตรกรรมฝาผนังจองพื้นที่ส่วนล่างไว้ให้  อาจจะมีบทบาทในการสร้างสันติภาพให้แก่โลกสูงกว่าชนชั้นนำทั้งหลายซึ่งแต่งองค์ทรงเครื่องใส่ชฎา  และสิงสถิตอยู่ในวิมานทอง  ผู้ซึ่งเหมาเอาว่าตนเองได้สร้างวีรกรรมเอาไว้  จนช่างเขียนทั้งหลายต้องเทิดทูนเอาไว้ในพื้นที่เบื้องสูงของจิตรกรรมฝาผนัง

 

ประวัติศาสตร์ศึกษาในฐานะวิชาแห่งการข่มใจ

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ซึ่งผู้เขียนปฏิบัติงานอยู่ในองค์การ SEAMEO ได้มีโอกาสเดินทางไป เขมร เวียดนาม และลาวหลายครั้ง ผู้เขียนถือโอกาสดังกล่าวในการหาซื้อหนังสือภาษาฝรั่งเศส ทั้งที่เป็นหนังสือใหม่ และหนังสือเก่ามาสะสมไว้ แม้แต่หนังสือใหม่ก็มีราคาถูกกว่าปกติ เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสให้การสนับสนุน เพื่อให้ผู้คนในอดีตอาณานิคมของตนได้อ่านหนังสือฝรั่งเศสต่อไป วันหนึ่งผู้เขียนไปประชุมที่เวียงจันทน์ และได้ซื้อหนังสือภาษาฝรั่งเศสมาหลายเล่ม เล่มหนึ่งเป็นตำราประวัติศาสตร์ลาวที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส มีชื่อว่า Histoire du Laos (ผู้ที่เรียนภาษาฝรั่งเศสจะสังเกตได้ว่า ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสเอง เจ้าของภาษาจะใช้คำว่า Histoire de France แต่ถ้าเป็นของประเทศอื่นจะเปลี่ยนคำบุรพบทเป็น du หรือ de la ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางภาษาที่น่าสนใจมาก เพราะน้ำหนักของคำเหล่านั้นต่างกัน !) เมื่อเปิดไปถึงประวัติศาสตร์ลาวในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีการกล่าวถึงสงครามระหว่างสยามกับลาว และในส่วนที่เกี่ยวกับพระแก้วมรกตนั้น ข้อความที่เขียนเอาไว้ชัดเจนมากคือ    “Le Bouddha d’émeraude a été volé par les bandits” (พระแก้วมรกตถูกโจรขโมยไป)

คงจะไม่มีคนไทยคนไหนที่อ่านข้อความนี้แล้วไม่เกิดอารมณ์ ผู้เขียนกลับไปที่พัก คือโรงแรมล้านช้าง ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง มองกลับไปที่ฝั่งไทย อันเป็นที่ตั้งของอำเภอศรีเชียงใหม่ มองย้อนกลับมาที่ฝั่งลาว ซึ่งในช่วงหน้าแล้งมีการใช้ฝั่งแม่น้ำโขงที่ตื้นเขินปลูกผักสวนครัว ผู้คน 2 ฝั่งอยู่ร่วมกันมา บางครั้งก็เป็นมิตรกัน บางครั้งก็เข่นฆ่ากัน เป็นวิสัยของมนุษย์ที่ยังตกอยู่ในห้วงกิเลส ถ้าประวัติศาสตร์คือวิทยาการแห่งการแสวงหาความจริง หรือความพยายามที่จะเข้าใกล้ความจริงให้ได้มากที่สุด เราก็จำเป็นจะต้องยอมรับความจริง ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใด ผู้เขียนประวัติศาสตร์ลาวใช้ถ้อยคำที่รุนแรงก็จริงอยู่ แต่เราก็คงจะต้องถามตนเองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร สำหรับผู้ที่เขียนเองอดคิดถึงพ่อบ้านชาวอังกฤษไม่ได้ที่เดินตามปรัชญาชีวิตว่า สงครามมิใช่ที่สำหรับปลุกความดี ในท้ายที่สุด  ประวัติศาสตร์ศึกษาก็คือวิชาแห่งการข่มใจนั่นเอง ถ้าเขายังไม่ให้อภัยเรา เราก็อาจจะให้อภัยเขาก่อนก็ได้

การศึกษาวิชาด้านมนุษยศาสตร์ที่น่ายกย่อง ก็คือการลบเส้นพรมแดนของเชื้อชาติด้วยความสำนึกในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง มนุษยศาสตร์ก็คือศาสตร์ที่ว่าด้วยมนุษยชาติ กรณีของนักประพันธ์ชาวเยอรมัน แบร์ทอลท์ เบรชท์ ที่กล่าวมาข้างต้น อาจนำมาเทียบเคียงได้กับประสบการณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งหนึ่งการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ในบ้านเรามุ่งที่จะสร้างศึกษิต (scholar) ดังเช่นในกรณีของผู้ที่ศึกษาภาษาไทยเป็นวิชาหลัก นอกจากจะต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านภาษา วรรณคดี และวัฒนธรรมไทยย้อนหลังไปถึงยุคสุโขทัยแล้ว ยังต้องศึกษาภาษาโบราณตะวันออก 2 ภาษา คือภาษาบาลี และสันสกฤต ซึ่งจะเอื้อต่อการสร้างความเข้าใจถึงรากทางวัฒนธรรมของเราที่ผูกอยู่กับพระพุทธศาสนา และผูกอยู่กับวัฒนธรรมของชมพูทวีป นอกจากนั้นยังต้องเรียนภาษาเขมร เพราะวรรณคดีไทยยุคก่อนใช้คำภาษาเขมรอยู่มาก และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเขมรก็เป็นไปทางลึก โดยที่ผู้รู้จะสามารถศึกษาไปจนถึงต้นตอได้ ถ้ารู้ภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงปีสุดท้ายมีการเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ไปพร้อมกันด้วย เพราะวิชานี้เป็นเครื่องมือที่จะอธิบายความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างประชาชาติได้เป็นอย่างดี

ด้วยพื้นฐานที่ใช้ในการสร้างศึกษิต กวีของไทยผู้หนึ่ง คือ จินตนา ปิ่นเฉลียว ยกประเด็นเรื่องสงครามยุคใหม่มาเป็นแก่นของกวีนิพนธ์ของเธอ และในส่วนที่เกี่ยวกับเขมรนั้น บทกวีชื่อ “นครวัด…นครธม…พนมเปญ” เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นได้ว่า เธอเห็นอกเห็นใจเพื่อนบ้านชาวเขมร จนถึงขั้นที่เจ็บร้อนแทนพวกเขาได้

…โลเกศวรสี่พักตร์พักเพ่ง

แลเล็งโลกอันหันเหียน

ชั่วกัปป์กัลป์พันฉนำจำเนียร

แปรเปลี่ยนเหตุการณ์ทุกด้านไป

 

จึ่งวันนี้สี่พักตร์เบือนพักตร์หมอง

ทุกพักตร์ต้องตรมหม่นทนไม่ไหว

โอ้ลูกขอมฆ่าขอมตรอมกระไร

เพียงผิดใจเพื่อนพ้องถึงจองเวร

 

เปรี้ยง เปรี้ยง เสียงครืนปืนประหัต

นครวัด นครธม ล่มเขมร

แต่ละศพทบถมพนมเปญ

ถึงไศเลนทร์โศกด้วยผู้ม้วยมรณ์

 

โอ้กัมพุชดุจมหาอาณาจักร

ทรากปรักพยานฤทธิ์มหิศร

ทิ้งอดีตกรีดเศร้าเป็นเงาซ้อน

ปัจจุบันนั้นร้อนระอุภัย

 

สุริยะวรมันจะกันแสง

ศิลาแลงสี่พักตร์จักร้องไห้

เมื่อลูกขอมฆ่าขอมยอมยอบภัย

แล้วจะเหลืออะไรไว้ภูมิใจตน…?[10]

 

            ความผูกพันทางใจในลักษณะเช่นนี้แหละ คือปัจจัยที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่สัมพันธภาพระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ซึ่งอาจจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งกว่าสนธิสัญญาใดๆ

 

ว่าด้วยภาษาต่างประเทศ

การที่ได้มีการตกลงกันอย่างเป็นทางการไปแล้วว่า  ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางของประชาคมอาเซียน  ทำให้เกิดความวิตกอย่างเห็นได้ชัดในหมู่ประชาชนชาวไทย  เพราะทั้งๆ ที่การสื่อสารก้าวหน้าไปมาก  และประเทศไทยก็เป็นแดนแห่งการท่องเที่ยว  แต่มาตรฐานภาษาอังกฤษโดยทั่วไปก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ  ยิ่งผู้นำทางการเมืองกล้าหาญพอที่จะเจรจาความเมืองกับผู้นำต่างประเทศด้วยภาษาอังกฤษที่ผิดพลาด  (แทนที่จะใช้ล่าม)  ก็ยิ่งทำให้เราสิ้นหวังท้อแท้  อันที่จริงก็เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในสถาบันการศึกษาของเราทุกระดับไม่ได้ผล  แต่ก็ยังมิได้มีการแก้ไขกันอย่างจริงจัง  วิธีการเรียนภาษาต่างประเทศให้ได้ผลนั้นเป็นที่รู้กันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว  นั่นก็คือ ประการแรก  ต้องเรียนแบบเข้ม (intensive) ต่อเนื่องกันสักช่วงเวลาหนึ่ง คือ เรียน เช้า-บ่ายทุกวันต่อเนื่องกันหลายๆ เดือน  และประการที่สอง  เมื่อออกจากห้องเรียนแล้วจะต้องมีโอกาสใช้ภาษาต่างประเทศนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา  ในยุคปัจจุบัน  การที่ผู้เรียนจะฝึกฝนต่อด้วยตนเองนอกเหนือไปจากการเรียนจากครูเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายดายกว่ายุคก่อนๆ

ผู้เขียนใคร่ขอให้ข้อสังเกตไว้เป็นการประดับความรู้  แต่ก็คงจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ได้  ความจริงมีอยู่ว่า  ภาษาอังกฤษมีข้อบกพร่องมากมายเสียจนไม่น่าจะนำมาใช้กันเป็นภาษากลางของโลก  แต่ที่เป็นไปแล้วก็ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์  เพราะชนชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษมีเมืองขึ้นอยู่ทั่วโลก  ยิ่งไปกว่านั้นโลกของการสื่อสาร  อันรวมถึงโลกของสิ่งบันเทิงเช่นภาพยนตร์ก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก  พัฒนาการในระดับโลกมาถึงขั้นที่เราจะหมุนเข็มนาฬิกากลับไม่ได้แล้ว  ภาษาอังกฤษมีปัญหามากสำหรับผู้เรียนที่เป็นชาวต่างประเทศ  เป็นภาษาที่มีความยืดหยุ่นสูงมาก  เป็นเครื่องมืออันวิเศษสำหรับกวีที่จะใช้ภาษาสื่อความได้หลากนัย  เล่นกับคำ  เล่นกับความหมายได้อย่างคล่องตัว  แต่ความยืดหยุ่นดังกล่าวทำให้ขาดความชัดเจน  ครั้งหนึ่งในอดีต  ภาษาฝรั่งเศสได้รับการยอมรับกันทั่วไปให้เป็นภาษาสำหรับวงการทูต  เพราะมีความชัดเจนสูงมาก (แม้แต่หนังสือเดินทางของประเทศไทย เมื่อ 40 ปีก่อนก็เขียนเป็น 2 ภาษา คือ ไทยและฝรั่งเศส)  สนธิสัญญาลงนามกันในระดับข้ามชาติและระดับนานานชาติก็มักจะมีฉบับฝรั่งเศสรวมอยู่ด้วย  ยิ่งไปกว่านั้นการออกเสียงในภาษาอังกฤษไม่ตรงกับตัวสะกด  สร้างความยากลำบากให้แก่ชาวต่างประเทศเป็นอันมาก  ในด้านของการสร้างคำใหม่ด้วยการประสมคำก็ทำได้ยาก  ซึ่งต่างจากภาษาตะวันตกอื่น เช่นภาษาเยอรมัน  สรุปความได้ว่า  เราเลือกเครื่องมือทางภาษามาใช้ในประชาคมเอาเซียนที่มีข้อบกพร่องในตัวซึ่งแก้ไม่ได้

ถ้าพิจารณาตัวอย่างของการเรียนภาษาต่างประเทศที่ได้ผลก็คงเลี่ยงได้ที่จะต้องกล่าวถึง American Peace Corps  (ภาพที่ 22) ชายหนุ่มหญิงสาวชาวอเมริกันที่สมัครใจมาสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา  นอกจากจะเป็นครูที่มีวิญญาณของครูแล้ว  ก็ยังเป็นทูตสันถวไมตรีให้แก่สหรัฐอเมริกาได้อย่างดีด้วย  พวกเขาได้ลบภาพของ The Ugly American ออกไปจนสิ้น  เพราะเขาพร้อมที่จะมาใช้ชีวิตเช่นเดียวกับเรา  เมื่อไปทำงานอยู่ในชนบท  ก็ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของเจ้าของบ้านได้  ผลที่ได้รับเป็นไปใน 2 ทาง  ในทางแรก  นักเรียนไทยได้เรียนภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาที่มาสอนภาษาให้แก่นักเรียนไทยด้วยความสมัครใจ  ในทางที่สอง  อาสาสมัครเหล่านี้เรียนภาษาไทยอย่างจริงจังในบริบทของเจ้าของภาษา  อาสาสมัครเป็นจำนวนไม่น้อยกลับไปสหรัฐอเมริกาและพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษา  หลายคนดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์  ศึกษาค้นคว้าเรื่องไทยต่อไปอย่างลึกซึ้งจนได้รับการยอมรับจากวงวิชาการของไทยเอง  แต่เราจะต้องไม่ลืมว่าความสัมพันธ์กับไทยมิได้อยู่ในระดับของวิชาการ  แต่เป็นเรื่องของความผูกพันทางใจ

image058

 

ภาพที่ 22: American Peace Corps in Thailand

http://thailand.peacecorps.gov/home.php

 

ผู้เขียนขออนุญาตเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับอาสาสมัคร Peace Corps คนหนึ่งซึ่งมาทำงานในประเทศไทย และแต่งงงานกับคนไทย  มีครอบครัวและตัดสินใจฝังรกรากอยู่ในประเทศไทย  สามีเป็นนักวิชาการที่โดดเด่น  มีความสามารถในทางบริหารที่โดดเด่นเช่นกัน  จนได้รับตำแหน่งสำคัญทั้งในระบบราชการ และวงการธุรกิจ  เมื่อสามีของเธอถึงแก่กรรมลง  ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเธอจะตัดสินใจกลับไปบ้านเกิดของเธอที่สหรัฐอเมริกาหรือไม่  ในคืนวันแรกที่มีพิธีสวดพระอภิธรรม  ผู้เขียนยอมเสียมารยาทโดยตั้งคำถามกับเธอว่า

You are not going home, are you?

เธอสวนกลับมาทันควันว่า

What do you mean “home”?

This is home.

 

บทส่งท้าย: ข้อเสนอว่าด้วย ASEAN PEACE CORPS

เป็นที่ยอมรับกันแล้วเช่นกันว่า  มีความจำเป็นที่ประเทศ ASEAN จะต้องเรียนภาษาข้ามชาติซึ่งกันและกัน  และไทยเองก็ดูจะมีปัญหาในเรื่องของการหาครูสอนภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน  ทางออกที่ดีที่สุดอาจจะเป็นการนำต้นแบบของ American Peace Corps มาปรับใช้ในรูปของ ASEAN  Peace Corps  ซึ่งย่อมจะเป็นงานที่สลับซับซ้อนกว่าระบบของอเมริกัน  เพราะจำนวนประเทศและจำนวนภาษาที่จะจัดเข้าเครือข่ายมีมากกว่า  ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าการสร้าง ASEAN Peace Corps  นั้นมีความสำคัญเกินกรอบของการแลกเปลี่ยนครูสอนภาษา  แต่จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกลุ่มคนหนุ่มสาวที่จะรู้จักประเทศเพื่อนบ้านด้วยประสบการณ์ตรง  และมิตรภาพที่เริ่มขึ้นเมื่อเยาว์วัยที่น่าจะเป็นมิตรภาพที่คงทนถาวรไปตลอดชีวิต

จะเป็นการเสียหายหรือไม่ ที่ ASEAN Peace Corps ชาวไทยคนหนึ่งตัดสินใจตั้งรกรากในประเทศเพื่อนบ้าน  และเรียกประเทศนั้นว่า “home”

เพราะนั่นคือแก่นแท้ของ  อาเซียนฉบับสามัญชน[11]

 

————————-

 


[1]วรรณพิมล  อังคศิริสรรพ. มายาคติ แปลจากMythologies ของ Roland Barthes. พิมพ์ครั้งที่ 3.สำนักพิมพ์คบไฟ, 2551.

 

[2] Robert Yeo, And napalm does not help, Heinemann, Singapore, 1977.

[3]ร่วมเล่มไว้ใน Chetana Nagavajara: Comparative Literature from a Thai Perspective, Bangkok: Chulalongkorn University Press, 1966, pp. 5-6.

[4] ข้อมูลและภาพได้รับความเอื้อเฟื้อจาก พลเอก พิเชษฐ์  วิสัยจร  อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก  ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองกำลังไปปฏิบัติงานในติมอร์ตะวันออกในขณะนั้น

[5] เพลง “ขวัญใจเจ้าทุย” เนื้อร้อง สมศักดิ์  เทพานนท์ ทำนอง เอื้อ  สุนทรสนาน  ผู้ร้อง  รวงทอง  ทองลั่นธม

[6]Proceedings: Seminar on Western Ideas and Higher Education in Southeast Asia. University of Indonesia and ASAIHL, 1980, pp. 22-23.

[7]คัดจาก ๑๐๐ ปี เทพศิรินทร์: ๑๕ มีนาคม ๒๔๒๘-๒๕๒๘. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประกายพรึก, 2528, หน้า 358.

[8] คัดจาก ๑๐๘ ปี เทพศิรินทร์  กรุงเทพฯ: บริษัทพริกหวานกราฟฟิก, 2536, หน้า 179. (ผู้เขียนได้รับความเอื้อเฟื้อข้อมูลนี้จาก คุณคันธิยา  วงศ์จันทา) “ระบำโบราณคดี” ได้กลายมาเป็นนาฏศิลป์ที่เราชื่นชอบกันมาก  แม้แต่นักเรียนมัธยมและนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มิได้เรียนนาฏศิลป์โดยตรง  ก็สนใจที่จะฝึกระบำโบราณคดี  ซึ่งมิได้มีแต่ “ระบำศรีวิชัย”  หากแต่ได้มีการคิดท่ารำและประพันธ์ดนตรีขึ้นมาใหม่  สำหรับ “ระบำทวารวดี” และ “ระบำลพบุรี”  ความสามารถในการสร้างสรรค์ใน  การคิดใหม่ของศิลปินไทยเป็นที่ประจักษ์กันอยู่  เพียงแต่เราอาจขาดแรงกระตุ้นที่จะทำให้เกิดนวัตกรรม  และความคิดที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมด้านนาฏศิลป์และนาฏดุริยางค์ในครั้งนี้ก็มาจากศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ชาวมาเลเซีย  ซึ่งได้กลับไปเจริญรุ่งเรืองในบ้านเมืองของท่าน  แต่ไม่เคยลืมเพื่อนเก่าของท่านเลย

[9]เนชั่นสุดสัปดาห์: จุดประกาย.  2 กุมภาพันธ์ 2555, หน้า 8.

[10]คัดจาก  สุมาลี  วีระวงศ์ และคณะ. กวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย  บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์. กรุงเทพฯ: ศยาม, 2544, หน้า 162-163.

[11]บทความนี้เรียบเรียงจากปาฐกถานำ ในการประชุมวิชาการประจำปีของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในหัวข้อ “อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม  ความขัดแย้ง และความหวัง” วันที่  28 มีนาคม 2555

One comment

  • บทสรุปของบทความน่าสนใจ… เราเคยทำงานกับอาสาสมัครต่างชาติ เห็นว่างานอาสาสมัครเป็นเรื่องที่ดี และประเทศเราเองก็มีบทเรียนเรื่องอาสาสมัครมานานพอสมควร ทั้งบัณฑิตอาสาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาสาสมัครของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม.
    —————————————
    เป็นที่ยอมรับกันแล้วเช่นกันว่า มีความจำเป็นที่ประเทศ ASEAN จะต้องเรียนภาษาข้ามชาติซึ่งกันและกัน และไทยเองก็ดูจะมีปัญหาในเรื่องของการหาครูสอนภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน ทางออกที่ดีที่สุดอาจจะเป็นการนำต้นแบบของ American Peace Corps มาปรับใช้ในรูปของ ASEAN Peace Corps ซึ่งย่อมจะเป็นงานที่สลับซับซ้อนกว่าระบบของอเมริกัน เพราะจำนวนประเทศและจำนวนภาษาที่จะจัดเข้าเครือข่ายมีมากกว่า ผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าการสร้าง ASEAN Peace Corps นั้นมีความสำคัญเกินกรอบของการแลกเปลี่ยนครูสอนภาษา แต่จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกลุ่มคนหนุ่มสาวที่จะรู้จักประเทศเพื่อนบ้านด้วยประสบการณ์ตรง และมิตรภาพที่เริ่มขึ้นเมื่อเยาว์วัยที่น่าจะเป็นมิตรภาพที่คงทนถาวรไปตลอดชีวิต.

    จะเป็นการเสียหายหรือไม่ ที่ ASEAN Peace Corps ชาวไทยคนหนึ่งตัดสินใจตั้งรกรากในประเทศเพื่อนบ้าน และเรียกประเทศนั้นว่า “home”.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *