เรื่องของ “ที่สุด” ที่พิสูจน์ได้ยาก

เรื่องของ “ที่สุด”  ที่พิสูจน์ได้ยาก

460x

นาย Robert B. Silvers บรรณาธิการนิตยสาร The New York Review of Books

รับรางวัล National Humanities Medal จากประธานาธิบดี Barack Obama

เจตนา  นาควัชระ

          หนังสือพิมพ์รายวันชั้นนำของเยอรมันจะมีส่วนที่เรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่า  “เฟยเยอะตง” (Feuilleton) ซึ่งเป็นเรื่องของศิลปวัฒนธรรมเสียเป็นส่วนใหญ่  ในหนังสือพิมพ์  FRANKFURTER ALLGEMEINE ZEITUNG  ประจำวันที่ 8 มกราคม 2014  ได้ลงบทสัมภาษณ์ฉบับแปลเป็นภาษาเยอรมันของนายรอเบิร์ต  ซิลเวอรส์ (Robert  Silvers) บรรณาธิการนิตยสารอเมริกันที่มีชื่อว่า     The New York Review of Books  ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2014  ฝ่ายบรรณาธิการเยอรมันแนะนำบทสัมภาษณ์ไว้ด้วยความชื่นชมว่า “The New York Review of Books เป็นนิตยสารที่ดีที่สุดในโลก”  ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์แล้วตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความพินิจพิเคราะห์ (เพราะเป็นภาษาต่างประเทศ)  แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่ามีหลักฐานอันใดที่จะยืนยันได้ว่า  นี่คือนิตยสารที่ดีที่สุดของโลก 

ผมอ่าน The New York Review of Books และ The London Review of Books เป็นครั้งคราวจึงไม่อาจลงความเห็นได้ว่าฉบับไหนเป็นที่สุด  ฉบับที่อ่านประจำ คือ The Times Literary Supplement  ซึ่งมีอายุเกิน 100 ปีแล้ว  ฉบับนี้จงใจจะช่วยผู้อ่าน  คือช่วยเล่าเนื้อหาหนังสือที่นำมาวิจารณ์เสียด้วย  บางครั้งมัวแต่เล่าเรื่องจนลืมวิจารณ์! นั่นก็สุดๆ ไปอีกทางหนึ่ง  

แต่ทำไปทำมา  หนังสือพิมพ์ก็คือหนังสือพิมพ์  สื่อก็คือสื่อ  ต้องสร้างความตื่นเต้นไว้ก่อน  เพราะถ้าจะกล่าวอ้างว่าอะไรเป็นที่สุดของโลกก็คงจะต้องมีการพิสูจน์กัน  และโลกปัจจุบันซึ่งเป็นโลกของโทรคมนาคมและสื่อสังคมก็ชอบที่จะทำด้วยการให้ลงคะแนน  แต่ถ้าจะอธิบายอย่างเป็นวิชาการว่านิตยสารการวิจารณ์ฉบับนี้เป็นนิตยสารที่ดีที่สุดในโลกแล้วละก็  ก็คงจะต้องใช้ความพยายามอันมหาศาล  เพราะจะต้องเปรียบเทียบกับนิตยสารอื่นๆ อีกมากมาย  ลำพังนักหนังสือพิมพ์น่ะหรือจะทำได้  แม้แต่อภิมหาอมตะศาสตราจารย์ก็คงจะยกธงขาว  นี่มันโลกของการจัดอันดับ  การจัดบันไดดารา  การทำ ranking มหาวิทยาลัยทั่วโลก  ซึ่งบ้านเราก็พลอยเต้นตามไปกับเขาด้วย  แต่เพื่อความเป็นธรรม  ผมก็ยังคิดว่าสามารถสกัดประเด็นที่เป็นประโยชน์มาจากบทสัมภาษณ์นี้  ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1.      กองบรรณาธิการของนิตยสารชั้นดีต้องทำงานหนัก  ก่อนที่จะไปเชิญนักวิจารณ์ผู้ใดให้เขียนบทวิจารณ์มาลงพิมพ์  โดยจำเป็นต้องศึกษาผลงานของนักวิจารณ์ท่านนั้นให้ถ่องแท้เสียก่อน (เราคงไม่อาจยืนยันได้ว่า  ที่เขาพูดเช่นนั้น  เขาทำเช่นนั้นอย่างสม่ำเสมอหรือเปล่า)

2.      บรรณาธิการที่ดีต้องมีโอกาสทำงานในฐานะบรรณาธิการต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน  สำหรับผู้ให้สัมภาษณ์คือ นายรอเบิร์ต  ซิลเวอรส์ นั้น  สามารถอ้างสถิติอันน่าประทับใจมาได้ว่า  ในชีวิตการทำงานของเขา  เขาได้อ่านต้นฉบับมาแล้วประมาณ 15,000 ฉบับ (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963)

3.      มีการให้การยืนยันแบบกำปั้นทุบดินว่า  นิตยสารที่ดีต้องหานักวิจารณ์ที่ดีที่สุดมาร่วมงานกับเขาให้ได้  แต่ก็ไม่ได้อธิบายวิธีการว่า  วิธีที่จะทำให้นักวิจารณ์เหล่านั้นให้ความเชื่อถือกับนิตยสารควรทำอย่างไร

4.      ยุคก่อนกับยุคปัจจุบันต่างกัน  The New York Review of Books  เป็นแดนกลางที่รวบรวมพลังปัญญาจากหลายแหล่ง และจากหลายถิ่น  โดยมิได้ผูกอยู่กับมหานครนิวยอร์กเท่านั้น  แต่ปัจจุบัน  นิตยสารต้องอิงมหาวิทยาลัย  ผมอ่านมาถึงตอนนี้ก็หลงเชื่อว่า  เขาคงจะหมายถึงการพึ่งมันสมองและความรู้ของคนมหาวิทยาลัย  แต่คำตอบที่ได้ทำให้ผมผิดหวังเป็นอย่างมาก  เพราะผู้ให้สัมภาษณ์พูดถึงรายได้จากการโฆษณาที่มาจากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยต่างๆ ในที่สุดพวกเขาก็หนีไม่พ้นโลกของทุน (ซึ่งไม่จำเป็นต้อง “สามานย์” เสมอไป)

5.      ประเด็นที่สำคัญที่สุดที่ได้จากบทสัมภาษณ์นี้ก็คือ  การที่นิตยสารเป็นเวทีให้นักคิดได้คิดไป เขียนไป  สร้างประสบการณ์ให้กับตนเอง  จนถึงขั้นที่ปัญญาความคิดตกผลึกได้  เช่นในกรณีของนักกฎหมายชื่อ โรนัลด์  ดวอร์คิน (Ronald Dworkin)  ผู้ซึ่งเขียนบทวิจารณ์ลงในนิตยสารฉบับนี้ถึง 45 บท  ในที่สุดก็ค้นพบทิศทางของตัวเอง  ที่นับได้ว่าเป็นนิติปรัชญา  นั่นก็คือว่า “กฎหมายต้องเคารพปุถุชนทุกผู้ทุกนาม”  หลักการที่ว่านี้กลายเป็นแนวคิดนิติปรัชญาที่มีผู้ยอมรับในวงกว้าง  อันที่จริง  ศาสตราจารย์ดวอร์คินเป็นทั้งนักกฎหมายและนักปรัชญาที่เน้นความสำคัญของจริยธรรมว่าเป็นหลักการสูงสุดของกฎหมาย และผมก็กำลังคิดว่า  นักกฎหมายของไทยซึ่งในขณะนี้ถูกวายร้ายกล่าวหาว่าเป็นกบฏก็คงจะต้องต่อสู้ด้วยหลักการเช่นนี้เช่นกัน 

              ผู้ให้สัมภาษณ์มิได้ระบุว่า  นักวิจารณ์ที่ใช้เวทีของ The New York Review of Books เป็นพื้นที่สร้างวุฒิภาวะและบารมีทางวิชาการอย่างนี้สักกี่คน  ถ้ามีจำนวนมากก็คงจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า  นิตยสารที่ดีที่สุดในโลก

              ถ้ามองย้อนกลับมาที่บ้านของเราบ้าง  ก็คงจะต้องกล่าวว่าเวทีที่นักวิจารณ์จะสร้างวุฒิภาวะให้แก่ตนเองนั้นหายาก   แต่ถ้าเป็นเรื่องของวรรณกรรมสร้างสรรค์ก็คงจะมีตัวอย่างที่เห็นได้เป็นรูปธรรม  ผู้รักการอ่านที่เกิดทัน สตรีสาร คงจะช่วยยืนยันได้ว่า  นั่นคือ เวทีที่นักเขียนชั้นนำของไทย  ซึ่งมีทั้งหญิงและชาย  ได้มีโอกาสเพาะตัว  และเมื่อนิตยสารฉบับนั้นปิดกิจการไปแล้ว  ท่านเหล่านี้ก็ยังสร้างความโดดเด่นได้อย่างต่อเนื่อง  นักเขียนเหล่านี้ยอมรับนับถือบทบาทของคุณนิลวรรณ  ปิ่นทอง ในฐานะบรรณาธิการที่ใช้ตะกร้าทิ้งกระดาษเปลืองมาก  เพราะท่านไม่ยอมรับงานที่ไร้คุณภาพ  วงการของเราอาจจะไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญมากนักกับบรรณาธิการในฐานะผู้นำทางปัญญา

              ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้  เป็นข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ จากการที่ได้ไปอ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาเยอรมันมา  คงจะเห็นได้ว่า  เขาพยายามที่จะให้เนื้อหาสาระที่เป็นแก่นสารชวนคิด  แต่ก็คงอดติติงสักเล็กน้อยไว้ไม่ได้ว่า  ฝ่ายบรรณาธิการของเยอรมันเองไม่สามารถที่จะวิเคราะห์เนื้อหาออกมาให้ผู้อ่านได้เห็นแก่นของบทสัมภาษณ์นั้นได้  ทำได้แต่เพียงพาดหัวให้น่าตื่นเต้น  และคำถามที่ป้อนให้แก่ผู้มีบารมีชาวอเมริกันนั้น  ก็มิได้ชวนให้ท่านได้ให้คำตอบที่มีความลึกซึ้งอันใด  น่าเสียดายโอกาสอย่างยิ่ง

              อันที่จริงการสัมภาษณ์จะดีหรือเลวมิได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่มาจากผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น  คำถามที่ผู้สัมภาษณ์ตั้งก็มีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  ไม่จำเป็นเสมอไปว่า  วงการตะวันตกจะเป็นตัวอย่างให้แก่เราได้

8 ม.ค. 2557

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *