ค่ำคืนหฤหรรษ์: เมื่อนักไวโอลินรับเชิญ และ 3 สุดยอดนักดนตรีเครื่องเป่าของไทย แสดงความโดดเด่นในผลงานของโมซาร์ต

ค่ำคืนหฤหรรษ์:  เมื่อนักไวโอลินรับเชิญ และ 3 สุดยอดนักดนตรีเครื่องเป่าของไทย แสดงความโดดเด่นในผลงานของโมซาร์ต

maxine

วฤธ วงศ์สุบรรณ

คอนเสิร์ตเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2557 ที่สยามสมาคม ซึ่งจัดโดยวงโปรมูสิกา (Pro Musica) และคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาศิลปากร มีชื่ออันแสนเก๋ว่า “Maxine plays Mozart” เป็นการเล่นคำระหว่างชื่อของนักไวโอลินรับเชิญกับคีตกวีเอกของโลกซึ่งนำบทเพลงมาบรรเลงในค่ำคืนนั้นได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ต้องยอมรับว่าผมเองก็เกือบเข้าใจผิดไปว่างานนี้จะเป็นการโชว์เดี่ยวไวโอลิน แต่เมื่อดูโปรแกรมแล้วพบว่าเป็น

วงเชมเบอร์เครื่องสายผสมเครื่องเป่า ซึ่งนักไวโอลินผู้นี้มีนามว่า แม็กซีน คูโอะ (Maxine Kuo) เป็นนักดนตรีรับเชิญชาวอเมริกันเชื้อสายไต้หวันที่มาเล่นร่วมกับนักดนตรีของไทย ได้แก่ทัศนา นาควัชระ (วิโอลา) กิตติคุณ สดประเสริฐ (เชลโล) ดำริห์ บรรณวิทยกิจ (โอโบ) วรพล กาญจน์วีระโยธิน (ฟลูต) ยศ วณีสอน (คลาริเน็ต) และอธิยา วรวิจิตราพันธ์ (ไวโอลินสอง) ในโปรแกรมที่สุดแสนท้าทายความสามารถของนักดนตรีเครื่องเป่า ได้แก่ Oboe Quartet in F major, K.370 Flute Quartet in D major, K.285และ Clarinet Quintet in A major K.581ผลงานของวอลฟกัง อมาเดอุส โมซาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart, 1756- 1791 : คีตกวีชาวออสเตรีย) ที่มีความยากระดับคอนแชร์โตเลยทีเดียว

            บทเพลงแรกที่บรรเลงคือOboe Quartet in F major ในกระบวนแรก Allegroเริ่มต้นด้วยท่วงทำนองที่ให้ความสนุกสนานพอประมาณ โอโบทำหน้าที่ประหนึ่งไวโอลินแนวหนึ่งซึ่งมีบทบาทในการเดินท่วงทำนองหลักตลอดเวลา ในบางครั้งไวโอลินก็สลับขึ้นมามีบทบาทเทียบเคียงโอโบเช่นกัน พอมาถึงกระบวนที่สอง Adagio  เป็นท่อนที่มีท่วงทำนองสงบแต่ลึกซึ้งกินใจ เครื่องสายช่วยเสริมอารมณ์เคร่งขรึมของโอโบด้วย ส่วนในกระบวนที่สาม Rondeau: Allegroซึ่งเป็นกระบวนจบ มีท่วงทำนองที่ค่อนข้างสนุกสนานเร้าใจ รวมถึงบางลีลาที่โลดโผนด้วย ซึ่งโอโบต้องใช้ความสามารถอย่างสูงในการเล่นเสียงสูงมากๆ และเล่นไล่เสียงขึ้นลงอย่างรวดเร็วไปมาอย่างไพเราะน่าฟัง ให้ความรู้สึกเหมือนว่าเรากำลังนั่งฟังดำริห์เล่นท่อนRondo ที่แสนจะตื่นเต้นของโอโบคอนแชร์โต นอกจากนี้ เท่าที่ผมสังเกตอาคันตุกะจากอเมริกาอย่างแม็กซีน เธอดูมีความสุขในการเล่นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการยิ้มน้อยๆ ระหว่างการบรรเลงหรือการส่งสายตามองเพื่อนร่วมวงเพื่อความพร้อมเพรียงในจังหวะที่ต้องการเน้นหนัก ซึ่งเธอก็ทำได้เป็นอย่างดี มีความเป็นธรรมชาติและความสดใหม่ในการบรรเลง

            ถัดมาใน Flute Quartet in D majorเริ่มต้นด้วยกระบวนที่หนึ่ง Allegroในทำนองและลีลาที่สนุกสนานมาก แนวบรรเลงของฟลูตค่อนข้างตื่นเต้นโลดโผน ซึ่งต้องอาศัยทักษะความชำนาญในการบรรเลงสูงมาก เนื่องจากเครื่องสายลดบทบาทลง ทำให้ฟลูตต้องเดินทำนองเกือบตลอดทั้งกระบวน ต่อมาในกระบวนที่สอง Adagioมีลีลาคล้ายเพลงประเภท Serenade หรือดนตรียามค่ำคืนที่แสดงถึงอารมณ์ความรัก เป็นช่วงที่ฟลูตต้องเดี่ยวทำนองหลักที่อ่อนหวานไพเราะ พร้อมกับเครื่องสายที่เปลี่ยนมาเล่นคลอด้วยการดีดสาย (pizzicato) ได้อย่างงดงามจับใจ ในลักษณะการกระจายคอร์ด (arpeggio) จบท้ายด้วยกระบวนที่สาม Rondeau: Allegro ที่เปลี่ยนเข้ามาโดยไม่หยุดพักด้วยจังหวะที่รวดเร็วสนุกสนานยิ่งกว่ากระบวนแรก โดยเครื่องสายมีบทบาทในการเดินทำนองหลักมากขึ้น แต่กระนั้นพระเอกตัวจริงก็คือฟลูต ซึ่งต้องใช้ทักษะในการเป่า การหายใจ และการไล่นิ้วอย่างยอดเยี่ยม และวรพลก็บรรเลงได้อย่างไม่มีที่ติ โดยเฉพาะช่วงที่มีการเป่าค่อนข้างยาวนานและหาจุดพักหายใจยาก เขาก็ยังสามารถเป่าได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีข้อบกพร่องแต่อย่างใด

            ครึ่งหลังมาถึงบทเพลง Clarinet Quintet in A major ซึ่งว่ากันว่าเป็นหนึ่งในบทเพลงที่ไพเราะที่สุดของโลกดนตรีตะวันตก ด้วยลักษณะเฉพาะของคลาริเน็ตที่มีช่วงเสียงที่กว้างมาก ครอบคลุมทั้งเสียงต่ำและเสียงสูง โดยเฉพาะเสียงต่ำนั้นมีความอ่อนหวานนุ่มนวลเป็นอย่างยิ่ง โมซาร์ตเข้าใจถึงศักยภาพของเครื่องดนตรีชิ้นนี้เป็นอย่างดีและได้รังสรรค์บทเพลงที่แสดงถึงความยอดเยี่ยมของคลาริเน็ตได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในกระบวนแรก Allegroมีทั้งท่วงทำนองที่ทั้งลึกซึ้งและผาดโผน มีทั้งอ่อนหวาน ตื่นเต้น และเศร้าสร้อยระคนกัน เครื่องดนตรีทุกชิ้นได้โอกาสสลับกันมีบทบาทเด่นในกระบวนนี้ แม้ในบางช่วงที่คลาริเน็ตลดบทบาทไปเล่นทำนองรอง แต่ก็ยังนับว่าน่าฟังเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะช่วงที่เล่นกระจายคอร์ด ซึ่งแสดงให้เป็นถึงความสามารถของเครื่องดนตรีที่ไล่เสียงสูงต่ำได้กว้างมาก ซึ่งผู้บรรเลงอย่างยศ ก็สามารถแสดงออกมาได้เป็นอย่างดีเช่นกัน กระบวนที่สองLarghettoเป็นการผ่อนอารมณ์ด้วยทำนองที่สงบ เยือกเย็น ฟังสบาย โดยที่เครื่องสายจะใส่ตัวลดเสียง (mute) เพื่อให้ได้เสียงที่นุ่มนวลอ่อนโยน ในกระบวนที่สาม Minuetto – Trio I – Trio IIจะมีท่วงทำนองคล้ายการเต้นรำ มีลีลาที่ทั้งสนุกพอประมาณและบางช่วงก็ค่อนข้างเนิบช้า โดยได้นำท่วงทำนองบางส่วนของกระบวนที่หนึ่งมาใช้ซ้ำด้วย ส่วนในกระบวนที่สี่Allegretto con Variazioniจะเป็นการเล่นแปรผันทำนอง โดยที่คลาริเน็ตจะเริ่มเล่นแนวทำนองหลักก่อน แล้วส่งต่อไปให้เครื่องดนตรีอื่นๆ แปรแนวทำนองที่มีความหลากหลาย สนุกสนานไม่จำเจ

            ในส่วนของผู้เล่นคนอื่นๆ นั้น ทัศนากับกิตติคุณ นับว่าบรรเลงได้คุณภาพมาตรฐาน แต่ในส่วนของทัศนานั้น อาจจะมีปัญหาที่ตัววิโอลามีเสียงค่อนข้างบางและเบา  อาจจะต้องหาตัวใหม่ที่เสียงดีขึ้น สำหรับอธิยา บัณฑิตรุ่นใหม่จากศิลปากร นั้น เนื่องจากเธอเล่นไวโอลินสองในเพลงสุดท้ายแค่เพลงเดียว และมีบทบาทไม่มากนัก ผมอาจจะยังไม่สามารถประเมินเธอได้ ได้แต่หวังว่าเธออาจจะมีรีไซทัลหรือได้รับบทบาทไวโอลินหนึ่งของวงเชมเบอร์ในเร็ววันนี้

            ในส่วนของแม็กซีนนั้น บุคลิกภาพเธอค่อนข้างโดดเด่น ดูเธอมีความสุขที่ได้เล่นอย่างชัดเจน สายตาที่หันไปมองเพื่อนรอบข้างบ่งบอกให้เห็นว่าเธอให้ความสนใจกับการเล่นของผู้อื่นเป็นอย่างมาก ซึ่งเราเคยได้ยินกันเสมอว่าหัวใจหลักของการเล่นดนตรีร่วมกัน คือการฟังกันเอง ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของดนตรีเชมเบอร์ คือการบรรเลงดนตรีในห้องนั่งเล่น ซึ่งมีลักษณะของการเล่นด้วยกัน และสู่กันฟัง ดังนั้น ความสามารถในการฟังกันเองจึงเป็นคุณสมบัติของนักดนตรีที่ดี ซึ่งแม็กซีนเองก็แสดงให้ผู้ชมเห็นแล้วว่าการฟังเพื่อนร่วมวงเป็นอย่างไร และด้วยท่าทีที่สุภาพอ่อนน้อมอย่างยิ่ง คือการยิ้มให้กับเพื่อนๆ ตลอดเวลาในการบรรเลง เธอเล่นไม่เหมือนการทำงาน แต่เธอเล่นเพราะบทเพลงมันไพเราะน่าเล่นอย่างนั้นจริงๆ

            สุดท้ายนี้อยากจะตั้งข้อสังเกตเล็กน้อย เป็นที่ทราบกันว่าทั้งดำริห์ วรพล และยศ ต่างก็เป็นอาจารย์ประจำของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ซึ่งอาจารย์อาวุโสของศิลปากรท่านหนึ่งขนานนามให้ว่า “The Hong Thaew Conservatory” เพราะอาคารส่วนหนึ่งเป็นห้องแถวที่เช่าเขามาจริงๆ!) และเป็นหัวหน้าส่วนของเครื่องเป่าแต่ละชนิดที่ตนเล่นในวงบางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา นั่นหมายความว่าที่ศิลปากรนี้มีอาจารย์ระดับหัวหน้าของวงบีเอสโอมารวมกัน นับว่าหาได้ยากยิ่ง ไม่นับถึงทัศนาซึ่งเคยเป็นหัวหน้ากลุ่มไวโอลินหนึ่งและหัวหน้าวง และกิตติคุณที่เป็นหัวหน้ากลุ่มเชลโล อาจารย์เหล่านี้มีส่วนสำคัญยิ่งที่จะพัฒนาความสามารถของนักเรียนนักศึกษาด้านดนตรีที่จะไปเป็นนักดนตรีอาชีพต่อไปในอนาคต จากคอนเสิร์ตนี้เป็นการพิสูจน์ถึงฝีมือของอาจารย์นักเป่าทั้งสามท่านนี้ได้เป็นอย่างดีว่ามีฝีไม้ลายมือระดับไหน และเชื่อได้ว่าลูกศิษย์ภายใต้การอบรมของท่านเหล่านี้ย่อมจะต้องซึมซับฝีมือของครูไว้ได้ เป็นความหวังของวงการดนตรีคลาสสิกที่จะมีแหล่งบ่มเพาะนักดนตรีเก่งๆ มาประดับวงการต่อไป 

30 มีนาคม 2557

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *