ความหวังใหม่ของวงการคลาสสิกไทย: เมื่อ SSMS Orchestra กับวาทยกรยาซากิ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน
ความหวังใหม่ของวงการคลาสสิกไทย: เมื่อ SSMS Orchestra
กับวาทยกรยาซากิ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน
คอนเสิร์ตเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2557 โดยวง Silpakorn Summer Music School Orchestra (SSMS Orchestra หรือถ้าหากเรียกเป็นภาษาไทยอาจจะเรียกว่า วงออร์เคสตราค่ายดนตรีฤดูร้อน “เรียนดนตรีวิธีศิลปากร”) ซึ่งเป็นค่ายดนตรีที่จัดต่อเนื่องกันมาถึง 10 ปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างประสบการณ์ในการเล่นวงออร์เคสตราให้กับนักเรียนนักศึกษาที่มีความสามารถในด้านดนตรีคลาสสิก ทั้งนี้มีอาจารย์จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอาจารย์รับเชิญจากในประเทศและต่างประเทศคอยติวเข้มให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาเหล่านั้น ให้สามารถเล่นร่วมกันเป็นวงออร์เคสตราได้เป็นอย่างดี และในปีนี้ก็ได้ฮิโคทาโร ยาซากิ (HikotaroYazaki) วาทยกรฝีมือเยี่ยมชาวญี่ปุ่นมากำกับวงอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับโปรแกรมที่เลือกมาบรรเลงนี้ เพลงแรกเป็นบทเพลง Prelude to “Die Meistersinger von Nürnberg” ผลงานของริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner, 1813-1883 : คีตกวีชาวเยอรมัน) ถัดมาเป็นบทเพลง วันจักรี (Chakri Day) ผลงานใหม่ล่าสุดของ ฯพณฯ องคมนตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช ซึ่งการบรรเลงครั้งนี้ถือว่าเป็นรอบปฐมทัศน์ (World Première) ของบทเพลงนี้ด้วย ตามมาด้วยHorn Concerto in E-flat Major, Op.11 ผลงานของริชาร์ด สเตราส์ (Richard Strauss,1864-1949: คีตกวีชาวเยอรมัน) ส่วนครึ่งหลังประกอบด้วยเพลง The Moldau ผลงานของเบดริช สเมทานา (Bedrich Smetana, 1824-1884: คีตกวีชาวเชค) และสุดท้ายคือTill Eulenspiegel’s Merry Pranks ของริชาร์ด สเตราส์ เช่นกัน
เหตุที่เลือกโปรแกรมมาเช่นนี้ ถ้าผมเดาไม่ผิด น่าจะมาจากเหตุ 2 ประการ ประการแรกคือปีนี้ (ค.ศ. 2014) เป็นปีครบรอบ 150 ปี ชาตกาลของริชาร์ด สเตราส์ และอีกประการคือ วันที่แสดงเป็นวันจักรี ซึ่งเป็นการระลึกถึงการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 (หรือเมื่อ 232 ปีที่แล้ว) ส่วนผลงานอื่นๆ ที่คัดเลือกมาบรรเลงนั้น เช่นงานวากเนอร์ หรือสเมทานา อาจถือได้ว่าเป็นเพลงแนวชาตินิยม ซึ่งเป็นที่กระแสดนตรีที่สำคัญมากในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 น่าจะถือได้ว่าเป็นการเปรียบเทียบระหว่างดนตรี “ชาตินิยม” (ในความหมายที่ดี) ของเยอรมัน เชค และไทย
คอนเสิร์ตเริ่มต้นด้วยบทเพลงของวากเนอร์ เป็นเพลงนำเข้าสู่อุปรากรเรื่องDie Meistersinger von Nürnberg ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มศิลปินที่เรียกว่า Meistersinger (master singers) อันเป็นสมาคมของกวีและนักร้องสมัครเล่นที่ส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลางและช่างฝีมือที่มีใจรักในด้านการร้องและการแต่งกวีนิพนธ์ โดยเรื่องนี้อ้างอิงถึงบุคคลผู้มีตัวตนในประวัติศาสตร์ คือ ฮันส์ ซัคส์ (Hans Sachs, 1492-1576) ช่างทำรองเท้า นักร้อง และกวีที่มีชื่อเสียงในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ บทเพลงนี้ขึ้นทำนองมาอย่างกระหึ่ม ฟังดูโอ่อ่ากึกก้อง แต่ค่อนข้างเรียบร้อยนุ่มนวลไปพร้อมกัน พอพ้นช่วงทำนองหลักแรกซึ่งเป็นช่วงที่เน้นเครื่องสายเป็นหลัก ก็จะมาสู่ช่วงที่เครื่องเป่าสลับขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นโดยเล่นยั่วล้อไปกับเครื่องสายได้อย่างน่าฟัง ในวันนั้นเสียงที่ผมได้รับฟังเป็นเสียงที่ทรงพลัง ราวกับไม่ใช่วงเยาวชนเลยทีเดียว ผมรู้สึกว่าพวกเขาเล่นได้เป็นอย่างดี ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งอกตั้งใจ เครื่องดนตรีทุกกลุ่ม ทั้งเครื่องสาย เครื่องเป่าลมไม้ เครื่องเป่าทองเหลือง และเครื่องประกอบจังหวะ ต่างได้โอกาสในการแสดงฝีมือ นับว่าเป็นเพลงอุ่นเครื่องที่ใช้ศักยภาพของวงได้อย่างเต็มที่
ในส่วนเพลง วันจักรี นั้น เนื่องจากในสูจิบัตรไม่ได้อธิบายเนื้อหาของบทเพลงนี้ ผมจึงขออนุญาตตีความจากการฟังการแสดงเพลงนี้เพียงครั้งเดียว เพลงนี้เท่าที่ฟัง อาจจะแบ่งได้เป็น 3 ท่อน ท่อนแรกมีสำเนียงแบบไทยๆ ที่ให้ความรู้สึกขึงขังปนกับลี้ลับวังเวงเล็กน้อย จากนั้นก็มีเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองขึ้นมาสร้างความยิ่งใหญ่ฮึกเหิมด้วยทำนองที่องอาจสง่างาม ถ้าให้เดาคงหมายถึงการปราบดาภิเษกของปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ท่อนที่ 2 จะเป็นช่วงที่เครื่องสายกลุ่มต่างๆ สลับกันเล่นทำนองหลักซ้อนกันไปมา ในท่วงทำนองที่เป็นจังหวะมาร์ชที่คึกคัก แม้จะมีสีสันของเสียง (tone color) ที่แปลกหูเล็กน้อย แต่ฟังแล้วก็กลมกลืนเป็นอย่างดี ซึ่งผมเดาว่าน่าจะเป็นการกล่าวถึงการศึกสงครามในช่วงต้นรัชกาล และท่อนที่ 3 มีทำนองอ่อนหวานนุ่มนวล โดยใช้ไวโอลินแนวหนึ่งเล่นทำนองหลักร่วมกับเครื่องเป่า และให้เครื่องสายอื่นๆ เล่นดีดสาย (pizzicato)เพื่อให้ได้เสียงประกอบที่งดงาม ในท่อนนี้ผมคิดว่าน่าจะหมายถึงการฟื้นฟูบ้านเมือง ทำนุบำรุงพระศาสนาและศิลปวัฒนธรรมให้มีความเจริญดุจดังสมัยกรุงศรีอยุธยา แล้วกลับมาจบเพลงที่ทำนองเพลงมาร์ชอีกครั้งด้วยความยิ่งใหญ่ (ต้องขอออกตัวว่าเป็นการตีความของผมเอง ตามที่ได้ฟังและจินตนาการตามท่วงทำนองที่ “ท่านอาจารย์หม่อม” แต่งขึ้น) ซึ่งผมก็คิดว่าบทเพลงนี้เป็นบทเพลงที่ไพเราะและฟังง่าย น่าจะได้รับการบรรเลงอีกบ่อยครั้งในฐานะเพลงสำคัญที่เชิดชูกรุงรัตนโกสินทร์
ถัดจากนั้น เป็นการบรรเลงสำหรับโชว์ความสามารถของนักดนตรีเครื่องเป่า นั่นคือ Horn Concerto in E-flat major, Op.11ของริชาร์ด สเตราส์ ผู้บรรเลงคือ ทศพร สมบัติ นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ชนะเลิศการประกวด Thailand International Horn Competition 2014 ทั้งนี้ทศพรยังเป็นผลผลิตของวงโยธวาทิตระดับโรงเรียนมัธยม (โรงเรียนหอวัง) ซึ่งเป็นแหล่งเพาะบ่มนักดนตรีด้านเครื่องเป่ามาประดับวงการดนตรีคลาสสิกอย่างสม่ำเสมอ งานที่เลือกมาบรรเลงนี้ นับว่าเป็นบทเพลงฮอร์นคอนแชร์โตที่ขึ้นชื่อมากบทหนึ่ง นอกเหนือจากฮอร์นคอนแชร์โตทั้ง 4 ของโมซาร์ท แต่ฮอร์นคอนแชร์โตของสเตราส์จะมีสุ้มเสียงและลีลาที่เป็นสมัยใหม่มากกว่า ทั้งท่วงทำนองและการประสานเสียง อย่างไรก็ตามผมยังรู้สึกว่าสเตราส์มีการอ้างอิงฮอร์นคอนแชร์โตของโมซาร์ทมาบ้างในช่วงที่มีทำนองที่นุ่มนวลอ่อนหวาน ซึ่งการบรรเลงของทศพรก็ทำได้ค่อนข้างดี การไล่เสียงจากระดับต่ำถึงระดับสูงทำได้ดีเช่นกัน (อาจจะมีเสียงสูงแกว่งบ้างในบางครั้ง) ในกระบวนที่สองซึ่งมีจังหวะที่ช้าและทำนองที่หวานปนเศร้า เขาก็บรรเลงได้อย่างซาบซึ้ง และในกระบวนที่สามซึ่งมีลีลาที่รวดเร็วและโลดโผน ทศพรก็สามารถบรรเลงได้อย่างสนุกสนานและไพเราะน่าฟัง ดูเขาจะมีความสุขในการเล่นท่อนนี้เป็นพิเศษ ซึ่งน่าปลื้มใจว่าเด็กบ้านเรามีฝีมือถึงขนาดนี้ อนาคตวงการดนตรีคลาสสิกของเราคงจะไม่อับจนแน่นอน
ครึ่งหลังของการแสดง เริ่มด้วยบทเพลงThe Moldau ซึ่งเป็นเพลงหนึ่งในดนตรีบรรยายเรื่องราว (symphonic poem) ชุด “แผ่นดินของข้าฯ” (Ma Vlast ; My Homeland) กล่าวถึงแม่น้ำโมลเดา (ภาษาเชคเรียกว่า Vltava เวิลตาวา) ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของแคว้นโบฮีเมีย บ้านเกิดของสเมทานา เขาได้วาดภาพแม่น้ำโมลเดาที่ยิ่งใหญ่ บางครั้งก็อ่อนโยน บ้างครั้งก็กราดเกรี้ยว ด้วยท่วงทำนองหลักที่ไพเราะจับใจ ซึ่งวงก็บรรเลงได้อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะกลุ่มฟลูต ที่มีบทบาทสูงมากในการสร้างบรรยากาศที่เหมือนสายน้ำไหล รวมถึงกลุ่มเครื่องสายที่เปล่งสำเนียงของท่วงทำนองหลักได้อย่างไพเราะยิ่ง หากหลับตาฟังคงคิดว่าเป็นวงชั้นดีจากตะวันตก แต่สิ่งที่เราเห็นก็สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ฟังได้เช่นกัน คือภาพเด็กหนุ่มตัวเล็กๆ คนหนึ่งนั่งบรรเลงไวโอลินหนึ่งเคียงคู่กับเลโอ ฟิลลิปส์ หัวหน้าวงได้อย่างคล่องแคล่ว ช่างเป็นสิ่งที่น่าประทับใจและทำให้เกิดความหวังต่อวงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง (คุณเลโอกล่าวชมหนูน้อยว่า “เขาเก็บตัวโน้ตได้ครบถ้วนกว่าผมเสียอีก!”)
เพลงสุดท้ายที่บรรเลงคือ Till Eulenspiegel’s Merry Pranks เป็นอีกเพลงหนึ่งที่เหมาะกับวาระเฉลิมฉลอง 150 ปี ชาตกาลของสเตราส์ เป็นดนตรีบรรยายเรื่องราวเกี่ยวกับชายเจ้าปัญญานามว่า ทิล ออยเลนชปีเกล (Till Eulenspiegel) ซึ่งเชื่อกันว่ามีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ยุคกลางของเยอรมัน เป็นคนที่เดินทางไปยังแว่นแคว้นต่างๆ ในดินแดนเยอรมันและสร้างวีรกรรมในการกลั่นแกล้งผู้คนไว้มากมาย โดยเฉพาะพวกชนชั้นสูงหรือพวกที่ชอบเอารัดเอาเปรียบผู้คนทั้งหลาย เขาจึงเป็นที่รักของชาวบ้านและชนชั้นล่าง และถือได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญในทางวัฒนธรรมของเยอรมัน (ซึ่งมีผู้เปรียบเทียบว่าทิล ออยเลนชปีเกล มีความคล้ายคลึงกับศรีธนญชัยในวรรณกรรมพื้นบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ท่วงทำนองเริ่มต้นด้วยเครื่องสายและตามด้วยเสียงฮอร์นซึ่งเป็นเสียงที่แทนตัวของทิล ในบางช่วงเสียงของทิลจะเปลี่ยนเป็นเสียงคลาริเน็ตเล่นเสียงสูง ซึ่งแทนอากัปกิริยาหัวเราะของเขาเมื่อได้แกล้งคน ท่วงทำนองโดยรวมค่อนข้างซับซ้อน สลับไปมาระหว่างทำนองหลักของเพลงกับเสียงแทนตัวทิล บางช่วงตื่นเต้นเร้าใจ บางช่วงมีท่วงทำนองที่อ่อนหวานไพเราะมากเช่นกัน และบทที่เสียงกระหึ่มวง “เด็ก” ของเราก็ใช้ฮอร์นถึง 8 ตัว บรรเลงมาจากบนเวทีบ้าง นอกเวทีบ้าง ส่วนเครื่องเคาะจังหวะมีบทบาทสูงในตอนที่เขาพบจุดจบ โดยรวมแล้ววงเยาวชนวงนี้สามารถแสดงสีสันและความซับซ้อนหลากหลายของท่วงทำนองได้อย่างดียิ่ง ฟังดูแล้วเราก็อาจจะไม่รู้สึกเลยว่านี่คือวงเด็กที่มีเวลาซ้อมกันเพียงสัปดาห์เดียว แน่นอนว่าทุกคนล้วนย่อมมีฝีมือติดตัวกันมาบ้างอยู่แล้ว แต่เหตุใดจึงสามารถบรรเลงกันได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นนี้ เรื่องนี้คงต้องยกความดีให้กับบรรดาผู้ฝึกสอนทั้งหลายและวาทยกรยาซากิ
สำหรับคุณยาซากินั้น เขาได้ร่วมงานกับนักดนตรีคลาสสิกชาวไทยมากว่า 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะกับวงบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตรา (BSO) ซึ่งอาจารย์หลายคนของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรก็เป็นนักดนตรีระดับหัวหน้ากลุ่มของ BSO ด้วย เข้าใจว่าด้วยความผูกพันนี้เขาจึงรับมาเป็นวาทยกรให้กับวงค่ายเยาวชนของศิลปากร ซึ่งนับเป็นโชคอย่างมหาศาลของเยาวชนเหล่านี้ที่ได้ร่วมงานกับวาทยกรฝีมือระดับนี้ ซึ่งตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาที่ยาซากิได้ร่วมงานกับนักดนตรีชาวไทย เขาได้สร้างความสุขจากเสียงดนตรีให้เราผู้ฟังอยู่เสมอ ผมเองก็ได้เขียนถึงยาซากิไว้ถึง 6 ครั้งด้วยกัน ซึ่งแต่ละครั้งก็ล้วนแต่ประทับใจในผลงานการควบคุมวงของเขา เช่นเดียวกันกับนักวิจารณ์อาวุโสท่านอื่นๆ ที่ก็ชื่นชมในตัวของ
ยาซากิมาก ซึ่งสิ่งที่เราสังเกตได้คือเสียงของวงที่หนักแน่น สดใส การเปล่งคีตวลีก็ทำได้อย่างชัดเจน การสอดประสานกันของเครื่องดนตรีกลุ่มต่างๆ มีความไพเราะและลงตัว ผมเคยกล่าวถึงไว้หลายครั้งว่ายาซากิมีความสามารถพิเศษในการดึงศักยภาพหรือ “พลังแฝง” ของนักดนตรีออกมาได้อย่างเต็มที่ และครั้งนี้ก็เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าความสามารถด้านนี้ของเขายังยอดเยี่ยมอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติวเข้มเหล่านักดนตรีรุ่นเด็กเหล่านี้ให้เล่นบทเพลงที่แสนยากยิ่งนี้ได้ จนเราแทบจะไม่คิดว่านี่คือวงเยาวชนเลย
ในส่วนของวงค่ายเยาวชนนี้ผมได้ยินมาจากนักดนตรีระดับอาจารย์ในวงว่าตอนซ้อมวงยังเล่นได้ไม่ค่อยดีเท่าไร (ตามที่ตัวท่านผู้นั้นคาดหวังไว้) แต่ยาซากิก็สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ลูกวงสามารถเล่นได้เป็นอย่างดียิ่งในการบรรเลงจริง จนเราผู้ฟังรู้สึกว่าเรียบร้อยและไพเราะดีจนหาที่จะติไม่ค่อยได้ เสียงของวงมีพลัง เครื่องสายหนักแน่น ไม่พร่าเพี้ยนแต่อย่างใด เครื่องเป่าลมไม้ก็ไพเราะลื่นไหล เครื่องเป่าทองเหลืองยิ่งได้โอกาสแสดงฝีมือเป็นอันมาก สร้างความกระหึ่มกึกก้องให้กับทั้งวง การที่วาทยกรสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักดนตรีให้สามารถเล่นได้ดีกว่าที่ซ้อมไว้ หากเป็นวาทยกรในยุคก่อนๆ จะเรียกว่าเป็นการ “อุบของดี” เอาไว้เฉพาะในการแสดงจริง ฟังดูคล้ายกับสิ่งลี้ลับหรือเป็นเรื่องของบารมีส่วนบุคคล แต่ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของจริงที่ยาซากิมี หากเราได้เคยฟังวง BSO เล่นกับวาทยกรคนอื่นๆ นั้น เสียงจะไม่เหมือนกับที่เล่นกับยาซากิ ซึ่งก็ไม่แน่ว่าถ้าวงเยาวชนวงนี้ได้เล่นกับวาทยกรท่านอื่น จะได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมไพเราะน่าฟังเทียบเท่ายาซากิหรือไม่ แต่ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า นักดนตรีที่ตอบสนองการเรียกร้องของวาทยกรได้ทุกเมื่อ ก็ย่อมจะต้องเป็นผู้ที่ให้แรงบันดาลใจกับผู้ทำหน้าที่เป็นผู้นำวงได้เช่นกัน
วงดนตรีเยาวชนนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนนักศึกษาทางด้านดนตรี สิ่งที่วงเยาวชนมักจะมีก็คือความกระหายใคร่เล่นและความต้องการเวทีในการแสดงออกถึงฝีมือที่ตนได้เล่าเรียนฝึกซ้อมมา โดยไม่รู้สึกว่าเป็น “งาน” หรือ “ภาระ” ที่ต้องทำ การเล่นวงออร์เคสตราคือความฝันของพวกเขาที่จะต้องฝ่าฝันการคัดเลือก (audition) เข้ามา ผู้รู้บางท่านกล่าวว่าบางครั้ง วงเยาวชนอาจจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจเล่นและฝึกซ้อมมากกว่าวงอาชีพเสียด้วยซ้ำ ซึ่งปัจจุบันวงการการศึกษาดนตรีของบ้านเรามีพัฒนาการที่ดีมากขึ้น มีสถาบันอุดมศึกษาที่สอนดนตรีเพิ่มมากขึ้น พร้อมกับคุณภาพของครูบาอาจารย์ด้านดนตรีที่มีสูงขึ้นจากการที่ได้ไปศึกษาต่อจากต่างประเทศและได้ครูชาวต่างประเทศมาสอนในประเทศไทย เราจะพบว่าพื้นฐานทางด้านเทคนิคของนักดนตรีเยาวชนของเราอยู่ในระดับที่น่าพอใจและสามารถที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก ซึ่งเมื่อประสานกับความกระหายใคร่เล่นและแรงบันดาลใจที่ได้จากวาทยกรชั้นเลิศแล้ว เราคงพอจะอุ่นใจได้ว่า พวกเขาเหล่านี้จะเป็นอนาคตที่สดใสของวงการดนตรีคลาสสิกบ้านเรา ที่จะสร้างความสุขให้กับผู้ฟังได้อย่างต่อเนื่องสืบไป
วฤธ วงศ์สุบรรณ
18 เมษายน 2557