เชมเบอร์มิวสิค ใครว่าด้อยกว่าซิมโฟนีออร์เคสตรา : เชมเบอร์คอนเสิร์ตของเบโธเฟน บราห์มส์ และมาห์เลอร์

เชมเบอร์มิวสิค ใครว่าด้อยกว่าซิมโฟนีออร์เคสตรา : เชมเบอร์คอนเสิร์ตของเบโธเฟน บราห์มส์ และมาห์เลอร์

promusika

วฤธ วงศ์สุบรรณ

30 มิถุนายน 2557

คอนเสิร์ตเมื่อค่ำคืนวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ณ สยามสมาคมนั้น เป็นอีกครั้งหนึ่งที่วงโปรมูสิกาได้เชิญนักดนตรีฝีมือระดับโลกของจริงมาแสดงร่วมกับมือวิโอลาและเปียโนระดับต้นๆ ของเมืองไทย ด้วยค่าตั๋วเพียง 500 บาท (หากเป็นนักเรียนนักศึกษาคิดเพียง 50 บาทเท่านั้น!) ผมกำลังพูดถึงการมาเยือนของลุยจิ ปิโอวาโน (Luigi Piovano) นักเชลโลผู้สร้างตำนานการบรรเลงเชลโลคอนแชร์โตของดวอร์ชาคในเมืองไทยได้อย่างยอดเยี่ยมน่าประทับใจเมื่อหลายปีก่อน ร่วมกับกราเซีย ไรมอนดิ (Grazia Raimondi) นักไวโอลินชาวอิตาเลียนซึ่งมีดีกรีเป็นหัวหน้าวง(leader) ของวงออร์เคสตราในอิตาลีหลายวง (และเป็นคู่ชีวิตของปิโอวาโนด้วย) พร้อมด้วยทัศนา นาควัชระ นักไวโอลินระดับต้นๆ ของไทย ซึ่งในรายการนี้รับบทเล่นวิโอลา และ ดร.พรพรรณ บรรเทิงหรรษา นักเปียโนดีกรีปริญญาเอกด้านการแสดงเปียโนและอาจารย์เปียโนของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ที่เดียวกับ อ.ทัศนา) ในคอนเสิร์ตที่ใช้ชื่อว่า Brahms & Mahler Piano Quartets

การแสดงในครั้งนี้ มีจุดร่วมประการหนึ่งที่สังเกตได้คือ เป็นการคัดเลือกบทเพลงของมหาคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งดนตรีคลาสสิกสกุลเยอรมัน-ออสเตรีย 3 รุ่น นั่นคือ ลุดวิก ฟานเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven, 1770-1827: คีตกวีชาวเยอรมัน)โยฮันเนส บราห์มส์(Johannes Brahms, 1833-1897: คีตกวีชาวเยอรมัน) และกุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler, 1860-1911: คีตกวีชาวออสเตรีย-โบฮีเมีย)และเป็นผลงานในช่วงวัยหนุ่มทั้งสิ้น เรียงลำดับจากการแสดงประกอบด้วย Piano Quartet in A minorผลงานของมาห์เลอร์ แต่งขึ้นเมื่อปี 1875 ขณะที่มาห์เลอร์มีอายุเพียง 15-16 ปีเท่านั้น และเป็นผลงานเชมเบอร์เพียงไม่กี่ชิ้นของเขาที่หลงเหลืออยู่ลำดับถัดมาคือ Duo No.1 in C major, WoO 27/1ผลงานของเบโธเฟน แต่งขึ้นเมื่อปี 1792 ขณะที่เบโธเฟนมีอายุ 22 ปี และเป็นปีที่เขาย้ายจากเมืองบอนน์บ้านเกิดไปยังกรุงเวียนนาเช่นเดียวกับPiano Quartet in G minor, Op.25ซึ่งบราห์มส์แต่งขึ้นเมื่อปี 1856 ขณะที่มีอายุ 23 ปีและแต่งจนแล้วเสร็จเมื่อปี 1861 ก่อนหน้าที่เขาจะลาจากเมืองฮัมบูร์กไปตั้งรกรากที่กรุงเวียนนาเช่นกัน เข้าใจว่าโปรแกรมนี้ตั้งใจจะแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของคีตกวีแต่ละท่าน ซึ่งฉายแววยิ่งใหญ่มาตั้งแต่วัยหนุ่ม

บทเพลงแรก Piano Quartet in A minorของมาห์เลอร์ มีเพียงกระบวนเดียว แต่ก็มีความหลากหลายภายในกระบวนนั้นมาก เริ่มต้นด้วยท่วงทำนองช้า หม่นและลี้ลับ แล้วค่อยๆ เร่งจังหวะเร็วขึ้นอย่างเข้มข้นและรุกเร้า ถัดมาในช่วงที่สองเริ่มที่เครื่องดนตรีเครื่องสายเปลี่ยนมาใส่เครื่องลดเสียง (mute) ให้มีเสียงเบาและให้อารมณ์ที่หม่นและวังเวงมากขึ้น ส่วนเปียโนก็ทำหน้าที่สำคัญในการกำหนดภาพรวมของการบรรเลงให้มีอารมณ์เศร้าหมองหรือรุนแรง ในช่วงท้ายก็มีการปรับอารมณ์จากหม่นมาเป็นอ่อนหวานเล็กน้อย แต่ก็ยังกลับมาจบที่ทำนองช่วงแรกเช่นเดิม โดยรวมแล้วเพลงนี้เป็นเพลงที่ไพเราะในแบบกระตุ้นอารมณ์เศร้าและหม่น ซึ่งนักดนตรีกลุ่มนี้ก็แสดงออกได้อย่างดี กลุ่มเครื่องสายเล่นเข้ากันอย่างแนบสนิท ส่วนเปียโนก็ควบคุมจังหวะให้สอดคล้องกับเครื่องสายและสร้างบรรยากาศแห่งความหม่นหมองได้เป็นอย่างดีน่าเสียดายที่ควอเต็ทบทนี้มีเพียงกระบวนเดียวที่หลงเหลืออยู่ จึงไม่ทราบว่าจะคลี่คลายต่อไปอย่างไร

บทเพลงถัดมาคือDuo No.1 in C major, WoO 27/1ของเบโธเฟน เป็นผลงานที่มีข้อสงสัยว่าแต่งขึ้นเพื่อเครื่องดนตรีประเภทใด ซึ่งสันนิษฐานกันว่าน่าจะแต่งขึ้นเพื่อคลาริเน็ตและบาสซูน อย่างไรก็ตามในการบรรเลงของค่ำคืนนั้น ใช้ไวโอลินบรรเลงคู่กับเชลโล คือกราเซีย ไรมอนดิ คู่กับลุยจิ ปิโอวาโน ในกระบวนแรก Allegro commodoมีทำนองที่รื่นเริง สนุกสนาน เป็นเพลงที่ใช้ทักษะนิ้วมือซ้ายไล่บันไดเสียงอย่างรวดเร็วมาก แต่นักดนตรีทั้งสองก็เล่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ ส่วนกระบวนที่สอง Larghetto sostenutoมีท่วงทำนองช้าเนิบ แต่ค่อนข้างฟังสบายๆ ไม่หม่นเศร้านัก กระบวนที่สามRondoมีทำนองที่รวดเร็ว กระชับฉับไว และไพเราะ เท่าที่สังเกตผมรู้สึกว่าทั้งคู่เล่นกันได้อย่างดี แต่นักฟังอาวุโสท่านหนึ่งให้ข้อคิดเห็นว่า ไรมอนดิยังจับทางของปิโอวาโนไม่ทัน เช่นเขาพยายามจะทำเสียงดังค่อย จะหวานหรือทึ้งให้แตกต่างเพียงเล็กน้อยและมีความหลากหลายมาก  แต่เธอก็ไม่ได้ตอบสนองมากนัก แนวการเล่นของเธออาจจะราบเรียบไปสักหน่อย แต่โดยรวมแล้วอาจจะเป็นปัญหาของบทเพลง กล่าวคือเพลงนี้ถึงแม้ว่าจะมีท่วงทำนองที่ไพเราะ แต่ก็ยังขาดรสบางประการที่ทำให้ยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะในช่วงวัยหนุ่ม เบโธเฟนยังไม่มีแนวทางการแต่งเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ยังอยู่ภายใต้ร่มเงาของโมซาร์ตและไฮเดน ผลงานจึงยังไม่เปล่งประกายเต็มที่เช่นสตริงควอร์เต็ทหรือเปียโนโซนาตาบทหลังๆ ของเขา

มาถึงไฮไลท์ของการแสดงในค่ำคืนนั้น คือ Piano Quartet in G minor, Op.25ของบราห์มส์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นเปียโนควอร์เต็ทที่ยากมากที่สุดบทหนึ่ง และนอกเหนือจากความยากแล้วยังมีเรื่องของความลุ่มลึกและหลากหลายของอารมณ์ดนตรี ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะบราห์มส์เป็นผู้ที่พิถีพิถันในการแต่งเพลงอยู่แล้ว ถ้าหากไม่พอใจก็จะฉีกทิ้งเขียนใหม่จนกว่าจะพอใจ เพลงนี้เองก็ใช้เวลาแต่งนานถึง 5 ปี จึงได้รับการเผยแพร่ ในกระบวนแรก Allegro ขึ้นต้นด้วยทำนองหม่นๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ตื่นเต้นมากขึ้น บางจังหวะก็รุกเร้า บางจังหวะก็ผ่อนคลาย มีความซับซ้อนและหลากหลายทางอารมณ์สูงมาก เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นได้โอกาสในการนำ ทั้งเชลโลและวิโอลา (ซึ่งปกติมักจะรับบทรอง) ก็ได้สลับขึ้นมาเล่นทำนองหลักได้อย่างไพเราะงดงาม กระบวนที่สอง Intermezzo: Allegroเริ่มด้วยทำนองที่สง่างาม โดยเครื่องสายจะใช้ mute เพื่อขับเน้นเปียโนที่ส่งสำเนียงแว่วหวานออกมา จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงที่รวดเร็วแต่มีทำนองที่อ่อนหวานนุ่มนวล และจบด้วยเดี่ยวเปียโนสั้นๆ อันสดใสไพเราะ กระบวนที่สาม Andante con motoมีทำนองที่ช้าปานกลาง ฟังดูขึงขัง เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นเน้นเสียงเต็มๆ บางช่วงก็มีท่วงทำนองราวกับการเดินสวนสนามของทหารที่ยิ่งใหญ่โออ่า โดยที่เปียโนมีบทบาทสำคัญในการเดินทำนองหลักที่งดงาม ซึ่งในกระบวนนี้ก็ถือว่ามีความหลากหลายทางอารมณ์มากเช่นกัน และจบด้วยกระบวนสุดท้ายRondo allaZingarese: Prestoซึ่งนำทำนองดนตรีพื้นบ้านแบบยิปซีมาใช้ให้เกิดความรู้สึกคึกคักสนุกสนาน (ซึ่งเพลงที่นักฟังจำนวนมากคุ้นเคยกับบราห์มส์คือHungarian Dancesโดยหยิบยืมลีลาท่วงทำนองของเพลงพื้นเมืองฮังการีมาใช้นั่นเอง) แต่ด้วยความเป็นบราห์มส์ทำให้ยิปซีนี้ มีความเข้มข้นและหลากหลายของทำนองมาก ช่วงที่อ่อนโยนก็ไพเราะจับใจแต่ก็ยังคงกลิ่นอายแบบเพลงพื้นบ้านอยู่ อีกอย่างหนึ่งคือการกระจายความโดดเด่นให้กับเครื่องดนตรีต่างๆ อย่างทัดเทียมกัน ทั้งนี้ ผมเองสังเกตได้ว่าปิโอวาโนมองผู้เล่นอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันนักดนตรีท่านอื่นก็หันมาสบตากับเขาเป็นระยะๆ ราวกับว่ากำลังบอกว่า ให้เล่นกันอย่างที่นัดแนะกันไว้ และในอีกบางความรู้สึกคิดว่าปิโอวาโนกำลัง conduct เพื่อนร่วมวง แต่เป็นการ conduct ด้วยกระแสจิต ด้วยการสบตา และด้วยการฟังซึ่งกันและกัน ในฐานะที่เขาก็เป็นวาทยกรที่ช่ำชองด้วยคนหนึ่ง คงจะอดไม่ได้ที่จะแสดงออกถึงการนำอย่างเด่นชัด แต่เพื่อนร่วมวงเองก็ดูจะคล้อยตามและรับลูกอย่างที่เขาต้องการได้อย่างเต็มความสามารถ

ในแง่ของคุณภาพการบรรเลงนั้น นักดนตรีทุกคนล้วนเล่นกันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะปิโอวาโนนั้น นอกเหนือจากฝีมือการเล่นเชลโลที่ยอดเยี่ยมของเขาแล้ว ผมก็ได้ยินมาจากวงในว่า เขายังมีความเป็นผู้นำและครูที่ดีด้วย ในการช่วยแนะนำเพื่อนร่วมวงว่าควรจะเล่นอย่างไร โดยเฉพาะควอร์เต็ทของบราห์มส์ซึ่งเขามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และอันรวมถึงเทคนิคด้านเปียโน  (เพราะปิโอวาโนเคยชนะการประกวดทั้ง
เชลโลและเปียโนในช่วงวัยรุ่นมาแล้ว)  การเล่นเปียโนของพรพรรณนั้นโดดเด่นมาก  โดยเฉพาะในกระบวนสุดท้ายที่น่าจะทำให้นักเปียโนโดยทั่วไปอดขยายไม่ได้ ด้วยการนำของปิโอวาโนนี่เอง ทำให้การบรรเลงในค่ำคืนนั้นออกมาได้อย่างน่าประทับใจเป็นอันมาก ซึ่งก็ต้องชื่นชมนักดนตรีชาวไทย ที่สามารถบรรเลงร่วมกับมือระดับโลกได้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่สมศักดิ์ศรี ซึ่งท่านนักฟังอาวุโสท่านเดิมบอกว่าหากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่มีทางที่นักดนตรีของไทยจะเล่นร่วมกับอาคันตุกะมือฉมังจากต่างแดนได้ในระดับนี้ด้วยการซ้อมเพียงแค่ 3 ครั้ง! แต่ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว

จากการที่ผมติดตามฟังดนตรีเชมเบอร์มิวสิคของวงโปรมูสิกา และวงบีเอสโอมาอย่างต่อเนื่อง พบว่าดนตรีเชมเบอร์นั้นได้ให้ประสบการณ์ในการฟังดนตรีที่ยิ่งใหญ่มากมายหลายครั้ง ซึ่งอาจจะบ่อยครั้งกว่าวงออร์เคสตราขนาดใหญ่เสียด้วยซ้ำ ดนตรีประเภทนี้มีความลุ่มลึกบางอย่างที่ดนตรีประเภทซิมโฟนีไม่มี แต่ก็ได้รสชาติกันคนละแบบ น่าเสียดายที่วงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราเน้นไปทางวงออร์เคสตราขนาดใหญ่มากกว่า โดยอาจลืมไปว่าดนตรีประเภทเชมเบอร์นั้นมีต้นทุนที่น้อยกว่า แต่มีความเข้มข้นที่ไม่แพ้กัน สามารถบรรเลงได้บ่อยครั้งกว่า และก็มีองค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ที่กว้างขวางมาก โดยที่อาจจะคิดค่าตั๋วชมการแสดงในราคาย่อมเยา เพื่อให้นักฟังดนตรีรุ่นใหม่และนักเรียนดนตรีที่เบี้ยน้อยหอยน้อยสามารถเข้าถึงความงดงามของดนตรีคลาสสิกได้ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้นักดนตรีขยันฝึกซ้อมอีกทางหนึ่ง เพราะดนตรีเชมเบอร์นั้นส่วนใหญ่ก็เรียกร้องความสามารถในด้านเทคนิคและการตีความค่อนข้างสูงอยู่แล้วด้วย ซึ่งจะสมประโยชน์กันทุกฝ่ายและช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับวงการดนตรีคลาสสิกของไทยต่อไป

สยามสมาคมได้เพิ่มบทบาทในด้านศิลปวัฒนธรรมให้แก่ตนเองได้อย่างสง่างาม  และเท่าที่สังเกตมา  แฟนคลับของสมาคมในด้านดนตรีคลาสสิกกำลังขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *