Gone with the Woodwinds : ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของวงการเครื่องเป่าลมไม้ของไทย
Gone with the Woodwinds : ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของวงการเครื่องเป่าลมไม้ของไทย
วฤธ วงศ์สุบรรณ
ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาของวงโปรมูสิกา (Pro Musica) ส่วนมากจะเป็นวงเชมเบอร์ออร์เคสตราและวงที่มีเครื่องสายยืนพื้น เช่น String Quartet แต่มีอยู่คอนเสิร์ตหนึ่งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นวง String Quartet บรรเลงร่วมกับเครื่องเป่า ในบทเพลงของโมซาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart, 1756-1791: คีตกวีชาวออสเตรีย) ล้วนๆ ได้แก่ Oboe Quartet in F major; K.370 Flute Quartet in D major, K.285 และ Clarinet Quintet in A major K.581 ซึ่งผมเองประทับใจในการแสดงครั้งนั้นมาก และผมก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจารย์เครื่องเป่าทั้ง 3 ได้แก่ ดำริห์ บรรณวิทยกิจ (โอโบ) วรพล กาญจน์วีระโยธิน (ฟลูต) และ ยศ วณีสอน (คลาริเน็ต) (ซึ่งเป็นหัวหน้า sections ของวงบางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา และเป็นอาจารย์ของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) มีฝีไม้ลายมือที่ยอดเยี่ยมและน่าจะเป็น “แม่พิมพ์” ที่สร้างลูกศิษย์ลูกหาที่มีฝีมือได้เป็นอย่างดี ซึ่งคอนเสิร์ต “Gone with the Woodwinds” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร น่าจะยืนยันข้อสังเกตของผมได้เป็นอย่างดี
เครื่องเป่าของดนตรีตะวันตกนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เครื่องเป่าลมไม้ (woodwind) และเครื่องเป่าทองเหลือง (brass) สำหรับเครื่องเป่าลมไม้นั้น แต่เดิมตัวเครื่องดนตรีนั้นทำจากไม้ แบ่งเป็นประเภทผิว เช่น ฟลูต ปิคโคโล ประเภทลิ้นเดี่ยว เช่น คลาริเน็ต ประเภทลิ้นคู่ เช่น โอโบ บาสซูน (ซึ่งในเวลาต่อมาอาจเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นๆ ทดแทน เช่น ฟลูต ก็อาจเปลี่ยนเป็นโลหะ หรือคลาริเน็ต ก็อาจทำจากพลาสติกสังเคราะห์ต่างๆ) เสียงโดยรวมของเครื่องเป่าลมไม้ ถือว่าหลากหลาย เพราะแต่ละประเภทจะมีเสียงเป็นเอกลักษณ์ เช่น ฟลูต จะมีเสียงสดใส คลาริเน็ต จะมีช่วงเสียงที่กว้าง ออกแนวนุ่มนวล ส่วนโอโบจะมีเสียงที่บีบเล็ก ได้ทั้งรสหวานและหม่น บาสซูน เสียงจะแหบๆ ฟังดูกึ่งตลกกึ่งลี้ลับ (หากเทียบกับเครื่องเป่าทองเหลือง จะพบว่าโทนเสียงของแต่ละเครื่องจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน ต่างแต่เพียงช่วงระดับเสียง) ทั้งนี้ ในการประสมวงของเครื่องเป่าลมไม้นั้น จะมีฮอร์นซึ่งเป็นเครื่องเป่าทองเหลืองมาประสมด้วย เนื่องจากเป็นเครื่องดนตรีที่ให้เสียงช่วงกลางถึงต่ำเข้ากับบาสซูนได้ดี และช่วงสร้างความหลากหลายของเสียงให้มากขึ้นด้วย
บทเพลงแรกที่บรรเลงคือ Three Shanties for Wind Quintet ผลงานของเซอร์มัลคอล์ม อาร์โนลด์ (Sir Malcolm Arnold, 1921 – 2006 : คีตกวีชาวอังกฤษ) เป็นเพลงในลักษณะ woodwind quintet ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรี 5 ชิ้น คือ ฟลูต โอโบ คลาริเน็ต ฮอร์น บาสซูน มีท่วงทำนองที่สนุกสนาน ซึ่งนำมาจากเพลงพื้นบ้านอังกฤษ ทั้งนี้ผมเองต้องขอสารภาพกับผู้อ่านว่าผมมาไม่ทันการบรรเลงบทเพลงนี้ จึงไม่สามารถจะวิจารณ์ได้ แม้ว่าจะเคยฟังบทเพลงนี้มาแล้วก็ตาม
บทเพลงต่อมาคือ Petite Symphonie for 9 winds ผลงานของชาร์ลส์ กูโนด์ (Charles Gounod, 1818 – 1893 : คีตกวีชาวฝรั่งเศส) ซึ่งใช้เครื่องดนตรี 9 ชิ้น ได้แก่ ฟลูต 1 เลา โอโบ 2 เลา คลาริเน็ต 2 เลา บาสซูน 2 ตัว และฮอร์น 2 ตัว ในกระบวนแรก Adagio et Allegretto เริ่มต้นด้วยจังหวะช้า ฟังดูยิ่งใหญ่อลังการ แล้วเข้าสู่จังหวะรวดเร็ว มีท่วงทำนองที่สนุกสนาน เครื่องดนตรีเสียงสูงอย่างเช่นคลาริเน็ต โอโบ และฟลูต ก็จะผลัดกันเดินทำนองหลัก ส่วนบาสซูน และฮอร์น ทำหน้าที่ควบคุมจังหวะและบางครั้งก็สลับขึ้นมานำบ้างเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วโอโบจะมีบทบาทมากที่สุด กระบวนที่สอง Andante cantabile มีทำนองที่เนิบช้า แต่นุ่มนวล และสงบเยือกเย็น กระบวนที่สาม Scherzo. Allegro moderato มีลีลาคล้ายเพลงสวนสนามของทหาร มีทำนองคึกคักองอาจ โดยฮอร์นช่วยสร้างความรู้สึกโออ่ายิ่งใหญ่ได้เป็นอย่างดี กระบวนสุดท้าย Finale. Allegretto มีลีลาที่น่ารักกระจุ๋มกระจิ๋ม รื่นเริง ฟังสบายอารมณ์ โดยรวมแล้วบทเพลงนี้ค่อยข้างฟังง่าย มีความสนุกสนาน ให้อารมณ์ที่หลากหลายพอประมาณ และเนื่องจากมีผู้เล่นเพิ่มมากขึ้น จึงต้องอาศัยวาทยกรเข้ามาช่วยให้จังหวะและควบคุมภาพรวมของการบรรเลงให้สอดประสานกัน ซึ่งก็ได้เลโอ ฟิลลิปส์ (Leo Phillips) หนึ่งในวาทยกรของ Pro Musica มาช่วยควบคุมวง ซึ่งมีท่านนักฟังอาวุโสท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากคุณฟิลลิปส์นั้นเป็นนักดนตรีเครื่องสาย จึงปรับให้วงเครื่องเป่าวงนี้เล่นได้นุ่มนวลราวกับเป็นเครื่องสายเลยทีเดียว ซึ่งก็ทำให้วงบรรเลงได้อย่างสนิทแนบแน่นดียิ่งขึ้นด้วย
มาถึงครึ่งหลังของการแสดง ซึ่งเป็น highlight ของการแสดงครั้งนี้ นั่นคือ Serenade in B-flat major, K.361/370a “Gran Partita” ผลงานของโมซาร์ต ซึ่งเป็นบทเพลงที่แต่งขึ้นในลักษณะการประสมวงแบบพิเศษที่ไม่เหมือนใคร โดยใช้เครื่องดนตรี 13 ชิ้น ประกอบด้วย โอโบ 2 เลา คลาริเน็ต 2 เลา เบสคลาริเน็ต (เครื่องดนตรีดั้งเดิมใช้ basset horn) 2 เลา บาสซูน 2 ตัว ฮอร์น 4 ตัว และดับเบิลเบส 1 คัน บทเพลงนี้มีทั้งความยากและลึกซึ้ง ทั้งต้องใช้ฝีมือและพลังในการบรรเลงสูงมาก (เพราะเพลงยาวร่วมชั่วโมง) เพลงนี้จึงเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับวง เนื่องจากเพลงนี้ค่อนข้างยาวและมีหลายกระบวน จึงขออนุญาตกล่าวในภาพรวม การบรรเลงในท่อนช้า ค่อนข้างทำได้เป็นอย่างดี เสียงมีความดังค่อย (dynamic) ที่หลากหลาย โดยเฉพาะกระบวนที่ 3 Adagio ซึ่งน่าจะเป็นบทเพลงช้าที่ไพเราะที่สุดเพลงหนึ่งของโมซาร์ต และได้รับการนำไปประกอบภาพยนตร์เรื่อง “Amadeus” ในฉากที่ศัตรูของโมซาร์ตบรรยายถึงความยอดเยี่ยมของโมซาร์ต ซึ่งผมเองก็เคยฟังกระบวนนี้มาหลายครั้งแล้ว แต่ในการบรรเลงครั้งนี้ถือว่าเป็นการแสดงสดครั้งแรกที่ได้รับฟัง ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความไพเราะอย่างไม่ต้องสงสัย แต่จังหวะของการบรรเลงครั้งนี้จะมีความเร็ว (tempo) ที่เร็วกว่าเคยฟังมาเล็กน้อย ซึ่งก็สุดแล้วแต่การตีความของนักดนตรีและวาทยกร ในส่วนกระบวนอื่นๆ ที่น่าสนใจก็เช่น กระบวนที่ 7 Finale. Molto Allegro ซึ่งเป็นกระบวนสุดท้าย มีจังหวะรวดเร็ว ท่วงทำนองที่ตื่นเต้นสนุกสนาน และต้องใช้ฝีมือในการบรรเลงอย่างมากด้วย เพราะมีโน้ตที่ค่อนข้างเร็วเป็นจำนวนมาก ต้องอาศัยความแม่นยำสูงในการเล่นให้ตรงจังหวะ ซึ่งวงก็สามารถเล่นบรรเลงได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะวิคเตอร์ ทัม (Victor Tam) นักโอโบชาวฮ่องกงที่มีฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา และเป็นอาจารย์พิเศษให้กับคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรด้วยนั้น สามารถบรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยม เสียงโอโบของเขาหากเทียบกับของ อ.ดำริห์ บรรณวิทยกิจ มือโอโบเจ้าประจำ (ซึ่งการแสดงนี้ไม่ได้ร่วมบรรเลงด้วยเนื่องจากมือเจ็บ) เสียงของคุณวิคเตอร์ ทัม จะเล็กและอ่อนหวาน แต่เสียงโอโบของ อ.ดำริห์จะใหญ่กว่า ส่วน อ.ยศ วณีสอนนั้น ก็ยังบรรเลงได้ดีเยี่ยมเช่นทุกครั้ง ทั้งในจังหวะที่นุ่มนวลและขึงขัง และทั้งนี้ก็ต้องยกเครดิตให้กับคุณเลโอ ฟิลลิปส์ ที่สามารถกำกับควบคุมวงได้เป็นอย่างดี ทำให้การบรรเลงออกมาได้ไพเราะดีเยี่ยม เพราะมีคนกลางมาคอยชี้ทางว่านักดนตรีควรเป่าประมาณใดจึงจะเหมาะสม ซึ่งหากไม่มีวาทยกรมาช่วยก็อาจจะบรรเลงได้อยู่ แต่ก็ต้องอาศัยการซ้อมมากกว่าปกติจึงจะหาจุดที่ลงตัวได้
นอกจากนี้ ยังได้ทราบมาว่านักดนตรีที่แสดงบนเวทีนั้น เป็นอาจารย์เพียง 5 คน นอกนั้นเป็นนักศึกษาของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ซึ่งอาจารย์อาวุโสของศิลปากรท่านหนึ่งขนานนามให้อย่างเอ็นดูว่า “The Hong Thaew Conservatory” เพราะอาคารส่วนหนึ่งเป็นห้องแถวที่เช่าเขามาจริงๆ แต่คุณภาพการเรียนการสอนนั้นขึ้นอยู่กับอาจารย์มิใช่สถานที่) ซึ่งจากการได้รับฟังการบรรเลงในวันนี้ ทำให้เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าวงการดนตรีคลาสสิกของไทยโดยเฉพาะเครื่องเป่าลมไม้นั้น ได้พัฒนามาไกลมากจนสามารถบรรเลงเพลงที่ถือว่าเป็นยอดเขาเอเวอร์เรสต์ของเพลงเครื่องเป่าได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ซึ่งก็น่าชื่นใจว่าวงโปรมูสิกาและมหาวิทยาลัยศิลปากร (รวมถึงผู้สนับสนุนต่างๆ ด้วย) ได้จัดโปรแกรมที่น่าสนใจที่หลากหลายนี้ตลอดทั้งปี 2557 และนักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าชมได้ด้วยบัตรที่ราคาถูกเพียง 50-100 บาท นับเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งที่เยาวชน โดยเฉพาะนักเรียนทางด้านดนตรีจะได้สัมผัสประสบการณ์การฟังดนตรีที่มีคุณภาพได้บ่อยครั้ง สร้างวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ให้เกิดกับตนเอง และยังสามารถเป็นแรงผลักดันหรือแรงบันดาลใจในการเล่าเรียนและฝึกซ้อมดนตรีให้เก่งยิ่งขึ้น เพื่อที่สักวันหนึ่งอาจได้ขึ้นมาบรรเลงบนเวทีแห่งเกียรติยศนี้ได้เช่นกัน เหลือเพียงเราผู้ฟังแล้ว ที่จะช่วยอุดหนุนและส่งเสริมนักดนตรีเหล่านี้ให้มีคอนเสิร์ตดีๆ เช่นนี้สืบไป
23 สิงหาคม 2557