โลกของหลักการ ไม่ใช่โลกของเนื้อหา

รายงานจากเบอร์ลิน

โลกของหลักการ ไม่ใช่โลกของเนื้อหา

ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลินเสรี (Free University Berlin) ให้มาทำวิจัยระยะสั้น (ตามความต้องการของผมเอง ซึ่งจากบ้านมาเป็นช่วงเวลานานๆ ไม่ได้)  ศูนย์วิจัยเรียกตัวเองว่า International Research Centre “Interweaving Performance Cultures”  ผู้วิจัยสามารถเลือกหัวข้อของตนเองได้  ขอให้เกี่ยวกับศิลปะการแสดงก็แล้วกัน  กิจกรรมภาคบังคับคือการบรรยาย 1 ครั้ง (สำหรับผม ครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่แล้วเป็นปาฐกถาสำหรับบุคคลทั่วไปเป็นภาษาเยอรมัน  แต่ครั้งต่อๆ มาเป็นการบรรยายภายในเป็นภาษาอังกฤษให้นักวิจัยด้วยกันเองฟัง  ซึ่งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2014 ก็เป็นเช่นนั้น)

คราวนี้ผมเสนอหัวข้อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Usurpation by the Secondary: A Dramaturgical Shift” (อาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “เมื่อมือรองบ่อนก่อกบฏ: ความผกผันของนาฏกรรม”)  เป็นการนำ “ทฤษฎีระนาดทุ้ม” มาขยายต่อ  โดยอ้างทั้งตัวอย่างไทยและตะวันตก  สำหรับตัวอย่างตะวันตกนั้น  ผมจงใจเลือกใช้ตัวอย่างจากละครที่ผมได้ชมในกรุงเบอร์ลินนี่เอง  โดยบางเรื่องย้อนหลังไปบ้างสัก 2-3 ปี ผมเหมาเอาว่า  ถ้าอ้างละครคลาสสิกของตะวันตกแล้ว  ทั้งผู้พูดและผู้ฟังจะได้ถกแถลงกันได้โดยสะดวก  เพราะพูดถึงตัวบทที่รู้จักกันอยู่แล้ว  จะได้มีเวลาพูดถึงการแสดงและการตีความที่เป็นรูปธรรม  ตัวอย่างที่ผมเสนอก็มีการแสดงละครคลาสสิกของฝรั่งเศสเรื่อง แฟดร์ (Phèdre) ของราซีน (Racine)  ฉบับแปลภาษาเยอรมัน  และละครเรื่อง ดอน คาร์ลอส (Don Carlos) ของ ชิลเลอร์ (Schiller)  ซึ่งละครเป็นคลาสสิกเยอรมันเอง  ปรากฏว่านักวิจัยที่มาจากต่างประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นตะวันตกหรือตะวันออก  ไม่รู้จักงานคลาสสิกเหล่านี้  ที่น่าประหลาดก็คือนักวิชาการเยอรมันบางคนก็ไม่รู้จักงานคลาสสิกเหล่านี้เช่นกัน

การอภิปรายจึงเป็นเรื่องของหลักการ  พวกเขาแหลมคมมากในเรื่องของการที่ชี้ให้เห็นว่า  มโนทัศน์เรื่อง “มือรองบ่อน” ของผมยังไม่ชัดเจนในลักษณะใดบ้าง  ซึ่งผมยอมรับว่าผมได้รับประโยชน์จากข้อสังเกตและข้อวิจารณ์เหล่านั้น  แต่การสนทนาวิชาการครั้งนี้ก็ไปไม่ถึงแก่นอยู่ดี  เพราะในเมื่อนักวิจัยส่วนใหญ่ไม่รู้จักตัวงาน  ไม่เคยชมการแสดงจริง  เราก็เลยต้องถกเถียงกันในเรื่องของหลักการ  และเจาะลงไปไม่ถึงเนื้อหา  ที่ผมสังเกตได้อีกอย่างหนึ่งก็คือพวกเขาอ่านหนังสือทฤษฎีชุดเดียวกันมา  แม้เขาจะเลี่ยงไม่เอ่ยชื่อเจ้าตำรับ  พอผมพูดถึงอำนาจ (power) และลำดับชั้นของบุคคล (hierarchy) ในกรอบของศิลปะการแสดง  เท่านั้นแหละ  ไฟแลบกันขึ้นมาทันที

สรุปได้ว่าไม่ว่าแต่ละคนจะปราดเปรื่องเพียงใดก็ตาม  เราเรียนมาไม่เหมือนกัน  ผมอาจจะต้องยอมรับว่า  เติบโตมากับวิชาการประเภทที่เน้นเนื้อหา  เน้นตัวงาน  จะพูดในเชิงสรุปรวมทั่วไปหรือในเชิงทฤษฎีก็เป็นผลมาจากการครุ่นคิดพิจารณาจากฐานของเนื้อหา  กลุ่มนักวิชาการนานาชาติกลุ่มนี้ยังดีที่พยายามจะโยงเข้ามาหาสิ่งที่ผมเสนอให้ได้  แม้จะเป็นในแง่ของหลักการ   โดยที่ไม่มาท่องบ่นทฤษฎีของคนนั้นคนนี้ตามแบบกลุ่ม “วานรชำราบ” ที่ผมได้พบมาในบ้านเรา

ฝ่ายเจ้าภาพเคยนัดกันไปดูละครร่วมกัน  ดูเรื่องเดียวกัน   แต่ก็อีกนั่นแหละ  นักวิจัยบางคนไม่รู้ภาษาเยอรมันก็เลยต่อไม่ติด  การจะทำกิจกรรมทางวิชาการที่เป็น “นานาชาติ”  โดยไม่โยงเข้าหาวัฒนธรรมและภาษาของเจ้าของบ้านนั้นเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง

แต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่ผมดีใจ  ผมอธิบายเรื่อง “ระนาดทุ้ม” ให้เขาฟัง  พร้อมฉายแถบบันทึกภาพการแสดงวงปี่พาทย์ที่ระนาดทุ้มเล่นบท “รองบ่อน” กลับกลายเป็นบทของผู้มีวิชาที่แท้จริงไปนั้น  พรรคพวกเขาพอเข้าใจได้  แต่ก็ยังต่อไม่ติด  และคิดต่อไม่ได้  ทวิวัจน์ข้ามชาติช่างเป็นสิ่งที่ยากยิ่งเสียจริง  แม้จะมีศรัทธาร่วมกันเป็นตัวตั้งก็ตาม

งานวิจัยของโครงการการวิจารณ์ที่ สกว. ช่วยสนับสนุนต่อเนื่องมาถึง 16 ปีแล้วก็ประสบปัญหาเดียวกัน  ความสนใจในเรื่องงานต้นแบบถดถอยลงไปมาก  เมื่อปะทะกับงานศิลปะตัวจริง  พวกเราก็วิจารณ์ไปรอบๆ ตัวงาน โดยมักจะวิจารณ์บริบท  ไม่เจาะลงไปให้ถึงแก่นของเนื้อหา  ปัญหานี้แก้ไม่ง่ายเลย  คงจะต้องกลับไปที่ห้องเรียน แล้วเริ่มต้นใหม่ที่นั่น

 

เจตนา  นาควัชระ

เบอร์ลิน 16 ก.ย. 2014

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *