Russian SerenadeConcert :สัมผัสเพลงรัสเซียสองรสชาติโดยโปรมูสิกา

Russian SerenadeConcert :สัมผัสเพลงรัสเซียสองรสชาติโดยโปรมูสิกา

promusika

วงโปรมูสิกา (Pro Musica)นอกจากจะจัดการแสดงในรูปแบบเชมเบอร์มิวสิคที่ใช้นักดนตรีประมาณ 3-5 คนแล้ว ในบางครั้งก็ยังจัดคอนเสิร์ตในลักษณะวงออร์เคสตราด้วยโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นวงออร์เคสตราขนาดเล็ก (chamber orchestra) หรือวงออร์เคสตราเครื่องสาย (string orchestra)ซึ่งเป็นวงดนตรีที่มีขนาดย่อมกว่าวงออร์เคสตราเต็มรูปแบบ อาจใช้นักดนตรีเพียงสิบกว่าคน ก็สามารถบรรเลงบทเพลงบางประเภทได้แล้ว เช่น เพลงในยุคบาร็อคหรือยุคคลาสสิกที่ใช้เครื่องดนตรีไม่มากนัก  แม้แต่คีตกวีร่วมสมัยบางคนก็เลือกที่จะแต่งเพลงสำหรับบรรเลงด้วยวงดนตรีขนาดเล็ก   ซึ่งก็จะได้รสชาติทางดนตรีอีกแบบหนึ่งที่ให้สุ่มเสียงหนักแน่นมากขึ้น

สำหรับคอนเสิร์ตล่าสุดที่ผ่านมาของวงโปรมูสิกา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ณ โรงละคร M Theatre คือวงออร์เคสตราเครื่องสายล้วน ซึ่งบรรเลงบทเพลงของคีตกวีคนสำคัญของรัสเซียถึงสองท่านด้วยกัน จึงใช้ชื่องานว่า “Russian Serenade Concert” โดยบทเพลงที่นำมาบรรเลงได้แก่ Serenade for Strings, Op. 48 ผลงานของปีเตอร์ อิลิช ไชคอฟสกี (PyotrIlyich Tchaikovsky, 1840-1893) และ Chamber Symphony for String Orchestra, Op.110a, “In memory of the victims of fascism and warผลงานของดมิทรี ชอสตาโกวิช (Dmitri Schostakovich, 1906-1975) ซึ่งทั้งสองเพลงต่างก็เป็นผลงานชิ้นสำคัญและได้รับการบรรเลงอย่างกว้างขวางบ่อยครั้ง แต่ก็มีอารมณ์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว จึงเป็นโปรแกรมที่ท้าทายของวงโปรมูสิกา ที่จะบรรเลงออกมาให้น่าสนใจและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองได้

สำหรับบทเพลงแรก Serenade for Stringsนั้น เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน แม้ว่าบางกระบวนเช่นกระบวนที่ 3 (Élégie: Larghetto elegiaco) จะรู้สึกว่าเป็นความหวานที่แฝงด้วยความหม่น แต่โดยรวมแล้วก็ยังเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองรื่นรมย์ ฟังเพลิดเพลิน สำหรับคุณภาพการบรรเลงนั้นนับว่าดีมาก เสียงเครื่องสายหนักแน่น ฉ่ำหวาน แต่เท่าที่ผมสังเกต คิดว่าโรงละครแห่งนี้ค่อนข้างใหญ่ไปสักนิดสำหรับวงเชมเบอร์ออร์เคสตราเพียง 19 ชิ้น เสียงบางช่วงจึงฟังดูแห้ง ไม่ค่อยกังวานเท่าที่ควร อีกทั้งในบางช่วงที่วงเล่นเบาก็ได้ยินเสียงเครื่องปรับอากาศดังแข่งกับวงด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่ทำให้อรรถรสในการรับฟังลดลง

ในส่วนของนักดนตรีนั้น พบว่าเป็นนักดนตรีรุ่นเยาว์ราวๆ 2 ใน 3 ของวง ส่วนที่เหลือก็เป็นระดับครูอาจารย์หรือนักดนตรีรับเชิญชาวต่างประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนอยู่กลายๆ และเปิดโอกาสให้รุ่นหนุ่มสาวได้นั่งแถวหน้าแสดงฝีมือ ซึ่งในคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นการแสดงโดยไม่มีวาทยกร ผู้ที่นำในการบรรเลงคือหัวหน้าวง (concertmaster) ชาวอังกฤษ เลโอ ฟิลลิปส์ (Leo Phillips) ซึ่งบรรเลงและนำวงอยู่อย่างสม่ำเสมอ  วงดนตรีขนาดเล็กของตะวันตกหลายวงที่ไม่ต้องมีวาทยกรมากำกับซึ่งโด่งดังไปในระดับโลก เช่นวง Orpheus Chamber Orchestra ที่เคยมาแสดงในประเทศไทย  การบรรเลงโดยไม่มีวาทยกรเช่นนี้จำเป็นต้องซักซ้อมกันมาเป็นอย่างดี ซึ่งน่าทึ่งที่นักดนตรีรุ่นเยาว์ทั้งหลายเหล่านี้ สามารถบรรเลงตามการนำของเลโอ ฟิลลิปส์ได้เป็นอย่างดี  โดยที่เขาไม่ต้องลุกขึ้นมากำกับวงเลย ช่วงที่ยืดนิดทึ้งหน่อยเพื่อเพิ่มรสชาติให้น่าสนใจก็ทำได้เป็นอย่างดี ส่วนที่ผมประทับใจมากคือช่วงที่เล่นแบบดีดสาย (pizzicato) ในกระบวนที่ 4 ซึ่งทำได้อย่างไพเราะน่าฟัง รวมถึงช่วงที่บรรเลงอย่างรวดเร็วในกระบวนนี้อีกเช่นกันก็ทำได้อย่างดีไม่มีสะดุด สร้างความประทับใจให้แก่ผมและผู้ฟังในโรงละครเป็นอย่างยิ่ง

ในเพลงแรกแม้จะสร้างความประทับใจผมมากแล้ว แต่เพลงที่สองChamber Symphony for String Orchestra, Op.110a  ยิ่งเร้าอารมณ์มากขึ้นอีก ในช่วงก่อนบรรเลง มีการให้ความรู้เรื่องเนื้อหาของเพลงโดยอาจารย์ทัศนา นาควัชระ ร่วมกับเอกชัย มาสกุลรัตน์ นักเชลโลของวง มีคุณวิโรจน์ ควันธรรม เป็นพิธีกร โดยสาธิตถึงทำนองที่นำมาจากชื่อย่อของชอสตาโกวิช คือ DSCHmotif (เสียงเร บีแฟลต โด และที) ซึ่งชอสตาโกวิชนำมาใช้ในบทเพลงนี้และอีกหลายๆ บทเพลงของเขา เป็นการให้ความรู้แก่ผู้ฟังทำให้เพิ่มอรรถรสในการรับฟังมากยิ่งขึ้น

บทเพลงนี้เรียบเรียงจาก string quartet มาใช้บรรเลงด้วย string orchestra โดย รูดอล์ฟ บาร์ชาย (Rudolf Barshai, 1924-2010: นักวิโอลาและวาทยกรชาวรัสเซีย) อารมณ์ของบทเพลงโดยรวมให้ความรู้สึกที่รันทดหดหู่ บางช่วงก็รุกเร้าดุดัน บางช่วงก็ฟังดูวังเวงน่ากลัว สำหรับการบรรเลงของวงนั้น ผมคิดว่าถ่ายทอดอารมณ์ที่กล่าวมาข้างต้นได้อย่างครบถ้วนเสียงของวงมีความเข้มข้น ช่วงที่เล่นหม่นก็บีบคั้นอารมณ์ได้เศร้าถึงใจ แต่ในบางช่วงโดยเฉพาะท่วงทำนองที่รุกเร้ารุนแรง ก็พอจะสังเกตได้ว่าวงพยายามเล่น “อัด” เพื่อสู้กับความไม่กังวานของโรงละคร (โดยเฉพาะจากกลุ่มวิโอลา) อย่างไรก็ตาม นักดนตรีรุ่นเยาว์ของเราก็สามารถเล่นได้อย่างไพเราะ ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้อย่างสมบูรณ์ โดยเหล่าครูๆ ทั้งหลายก็ใช้ “วัฒนธรรมระนาดทุ้ม” (ทฤษฎีของ อ.เจตนา นาควัชระ ที่ว่าด้วย “ผู้นำ” ของวงดนตรีที่ไม่เผยตัวเด่น แต่จะควบคุมวงอยู่จากตำแหน่งรอง) คอยประคับประคองลูกศิษย์ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังในโรงละครเป็นอย่างมาก

หลังคอนเสิร์ต ผมเองได้พูดคุยกับเพื่อนที่ไปชมคอนเสิร์ตด้วยกัน และสังเกตจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ของวงโปรมูสิกาและอาจารย์ผู้ร่วมจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ ซึ่งพบว่าจะมีกลุ่มนักศึกษาแสดงความคิดเห็นว่าเป็นการชมคอนเสิร์ตครั้งแรกในชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ประทับใจในความไพเราะของทั้งสองบทเพลง และจำนวนหนึ่งชื่นชอบเพลงของชอสตาโกวิชมากเป็นพิเศษ เพราะมีความหลากหลายทางอารมณ์ที่สูงมาก ผมเองได้ก็รู้สึกได้ถึงความภาคภูมิใจของผู้จัดงานทุกคนที่สามารถดึงให้คนรุ่นใหม่สนใจดนตรีคลาสสิกมากขึ้น รวมถึงอาจสร้างแรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีเพิ่มมากขึ้นด้วยซึ่งก็ขอให้ความประทับใจที่พวกเขามีต่อดนตรีคลาสสิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สังคมดนตรีคลาสสิกของบ้านเราเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป  คือไหนๆ จะสัมผัสกับโลกตะวันตกแล้ว  ก็ควรหาโอกาสที่จะได้สัมผัสกับสิ่งที่ประทับใจและประเทืองปัญญา  สำหรับในส่วนของนักดนตรีนั้น ผมคิดว่านักดนตรีรุ่นเยาว์ของเรามีความสามารถที่มากพอในการบรรเลงบทเพลงที่หลากหลายได้ทุกประเภท ขึ้นอยู่กับว่าจะได้มีโอกาสบรรเลงกับวาทยกรหรือผู้นำวงที่มีความสามารถหรือไม่ ซึ่งหากทั้งสองส่วนได้มาบรรจบพบกันอย่างลงตัว ก็จะสร้างประสบการณ์ทื่ทรงคุณค่าให้กับทั้งนักดนตรี วาทยกร และผู้ฟังทุกคนได้อย่างมิรู้ลืม  ดังเช่นในคอนเสิร์ตครั้งนี้

 

วฤธ วงศ์สุบรรณ

9 ตุลาคม 2557

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *