คริสตอฟ ป๊อปเปน กับวง PYO วงเด็กไทยรุ่นใหม่ที่ฝีไม้ลายมือน่าทึ่ง

คริสตอฟ ป๊อปเปน กับวง PYO วงเด็กไทยรุ่นใหม่ที่ฝีไม้ลายมือน่าทึ่ง

ป๊อปเปน

การแสดงคอนเสิร์ตเปิดฤดูกาลการแสดงปีที่ 2

วงดุริยางค์เยาวชนสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา (Princess Galyani Vadhana Institute of Music Youth Orchestra : PYO)

(ภาพจาก Facebook Princess Galayani Vadhana Youth Orchestra)

ในปัจจุบัน แม้ว่าคอนเสิร์ตดนตรีหลายๆแบบ ในบ้านเราจะลดน้อยลงไป (แม้แต่วงร็อคที่ว่ากันว่าเป็น “วงอันดับหนึ่ง” ของเมืองไทย ยังต้องยกเลิกทัวร์คอนเสิร์ต หลังจากแสดงไปได้เพียงไม่กี่รอบ) แต่ที่น่าสนใจคือ คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก ก็ยังมีจัดอยู่อย่างสม่ำเสมอและมีความถี่มากพอควร จากการติดตามของผมเองนั้น ที่น่าสนใจก็จะมีวง Pro Musica วง Thailand Philharmonic Orchestra วงดุริยางค์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงวงรุ่นเก๋าอย่างวง Bangkok Symphony Orchestra และวงดุริยางค์กรมศิลปากร ที่ดูเหมือนจะมีความถี่ในการแสดงลดลงบ้าง ทั้งนี้หากรวมดนตรี chamber music ที่จัดโดยสถาบันการศึกษาต่างๆ หรือโรงเรียนดนตรีของเอกชน และกลุ่มนักดนตรีจากต่างชาติที่มาเปิดการแสดงในเมืองไทยแล้ว ก็นับว่ามีไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่สวนทางกับคอนเสิร์ตของดนตรีป๊อป-ร็อค

ที่เกริ่นมาเสียยาวนั้น ก็เพื่อจะบอกว่ามีวงดนตรีน้องใหม่อีกวงหนึ่ง ซึ่งมีความมั่นใจที่จะจัดโปรแกรมเป็นฤดูกาล ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนสิงหาคม 2558 นั่นคือวงดุริยางค์เยาวชนสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา (Princess Galyani Vadhana Institute of Music Youth Orchestra : PYO) ซึ่งจัดโดยสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา สถาบันการศึกษาด้านดนตรีน้องใหม่ของเมืองไทย ซึ่งเพิ่งเปิดสอนระดับปริญญาตรีเป็นปีที่ 2และปีนี้ก็เป็นปีที่ 2 อีกเช่นกัน ที่วง PYO มีคอนเสิร์ตตลอดฤดูกาล โดยการแสดงคอนเสิร์ตเปิดฤดูกาลการแสดงปีที่ 2 นี้ ได้เชิญศิลปินรุ่นใหญ่อย่างคริสตอฟ ป๊อปเปน(Christoph Poppen) อดีตอธิการบดีสถาบันดนตรีชั้นสูงแห่งกรุงเบอร์ลิน นักไวโอลินและวาทยกรชาวเยอรมันมาเป็นผู้กำกับวงในคอนเสิร์ตเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา

สำหรับป๊อปเปนนั้น เคยนำวง Munich Chamber Orchestra มาเปิดการแสดงในไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน และได้รับความชื่นชมจากนักฟังและนักวิจารณ์ชาวไทยเป็นอย่างมาก ผมเองไม่ได้ดูคอนเสิร์ตในครั้งนั้น แต่ก็ได้ยินจากนักวิจารณ์อาวุโสกล่าวว่าป๊อปเปนนี้คือหนึ่งในนักไวโอลินที่ดีที่สุดของยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในด้านเชมเบอร์หาคนทาบเขาได้ยาก เสียดายที่ไม่โด่งดังในระดับโลกเหมือนกับบางคนที่มีผู้จัดการที่เชี่ยวชาญเชิงธุรกิจ เท่าที่ผมได้ติดตามฟังแผ่นบันทึกเสียงที่ป๊อปเปนเล่นไว้ ก็พอจับได้ว่า ฝีไม้ลายมือของเขานั้นไม่ธรรมดาจริงๆ และแน่นอนว่าเมื่อเห็นว่าเขาจะมากำกับวง PYO นั้น ก็ไม่ยอมพลาดโอกาสที่จะมาฟังฝีมือการกำกับของเขา แม้ว่าจะรู้สึกเสียดายอยู่บ้างที่ไม่ได้ฟังฝีมือการเล่นไวโอลินของเขาแบบสดๆ

การแสดงในครั้งนี้ ได้คัดเลือกบทเพลงที่ค่อนข้างคุ้นหูของนักฟังดนตรีคลาสสิก นั่นคือ Symphony No.6 in F major, Op.68 “Pastoral” ผลงานของเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven: 1770-1827, คีตกวีชาวเยอรมัน) และ Academic Festival Overture ผลงานของบราห์มส์ (Jahannes Brahms: 1833-1897, คีตกวีชาวเยอรมัน) ซึ่งเข้าใจว่าโปรแกรมนี้น่าจะมาจากการที่สถาบันเกอเธ่เป็นผู้สนับสนุนคอนเสิร์ตนี้ โดยการเชิญป๊อปเปนมาเป็นวาทยกรให้กับวง จึงถือโอกาสเผยแพร่วัฒนธรรมดนตรีของเยอรมันไปด้วยเสียเลย (อันที่จริงป๊อปเปนมาหน้าที่อื่นด้วย โดยเป็นประธานกรรมการตัดสินรางวัลเบโธเฟนด้านเครื่องสาย ซึ่งเขาเองและกรรมการอีก 2 คน แหวกแนวมาก คือให้รางวัลที่ 1 กับคนเล่นดับเบิลเบส!)

วงเริ่มจากซิมโฟนีหมายเลข 6 ก่อน น้ำเสียงแรกที่ผมได้ยินจากวงค่อนข้างน่าประทับใจ นั่นคือเสียงเครื่องสายที่แน่นและไพเราะพอสมควร ช่วงที่โอโบสอดแทรกสำเนียงร่าเริงขึ้นมาก็ทำได้เป็นอย่างดี แต่ก็จะเริ่มมาพลาดในช่วงที่ทำนองรวดเร็ว มีสะดุดเล็กน้อยในระดับที่พอรับได้ เท่าที่สังเกตได้คือกลุ่มไวโอลิน 2 มีเสียงเพี้ยนบ้าง รวมไปถึงฮอร์นที่มีเสียงเพี้ยนและเข้าจังหวัดผิดเล็กน้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเสียงโดยรวมถือว่าไพเราะน่าฟังดี ในกระบวนที่ 3 ซึ่งเป็นกระบวนที่รื่นเริงสนุกสนานนั้น ก็เล่นได้อย่างสนุกสนาน แต่มาเสียที่โอโบและฮอร์นเล่นพลาดอยู่หลายครั้ง นอกนั้นในกระบวนอื่นๆ ก็สามารถเอาตัวรอดไปได้ โดยรวมแล้วต้องยอมรับว่าฝีมือของเยาวชนเหล่านี้อยู่ในระดับดีมาก กลุ่มที่ดูโดดเด่นน่าจะเป็นไวโอลิน 1 และเชลโลที่เล่นได้ไพเราะน่าฟังเป็นพิเศษ

มาถึงบทเพลงของบราห์มส์นั้น ก็ถือว่าบรรเลงได้ค่อนข้างดี เสียงเครื่องสายยังคงหนักแน่นมีพลัง และฟังดูสดใส แม้ว่าจะมีปัญหาบ้างในช่วงที่เล่นเร็วมากๆ ซึ่งพอฟังออกได้ว่ามีเสียงเพี้ยนบ้างเล็กน้อย ส่วนเครื่องเป่าทองเหลืองโดยเฉพาะทรอมโบน ค่อนข้างตั้งใจเล่นให้แผดเสียงมากไป ทำให้วงดูโฉ่งฉ่างเกินไปในบางช่วง อย่างไรก็ตาม การบรรเลงโดยรวมนั้นก็ถือว่าเรียบร้อย ไพเราะน่าฟังดี และถูกใจผู้ชมผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง

ต้องขอสารภาพเล็กน้อยว่า คอนเสิร์ตในครั้งนี้ แม้จะเล่นเพลงยอดนิยม แต่ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกของผมที่ได้ฟังซิมโฟนีหมายเลข 6 ของเบโธเฟนแบบสดๆ จริงๆ แม้ว่าผมจะได้เคยฟังการบันทึกเสียงของวาทยกรระดับโลกอย่าง Wilhelm Furtwängler, Herbert von Karajan หรือ Leonard Bernstein มาแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกได้ว่าการบรรเลงของวง PYO นี้ แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์แบบทุกกระเบียดนิ้ว แต่ก็ได้รสชาติอีกแบบหนึ่ง ที่รู้สึกว่าสดใหม่ไม่เหมือนใคร ซึ่งคงต้องชื่นชมบรรดาอาจารย์ที่ติวเข้มเหล่าบรรดาลูกศิษย์ให้สามารถเล่นได้ขนาดนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คริสตอฟ ป๊อปเปนที่สามารถทำให้เด็กเหล่านี้เล่นได้อย่างน่าพึงพอใจ ทั้งนี้ก็ได้แต่หวังว่าการมาเยือนเมืองไทยในครั้งต่อไปของป๊อปเปนจะได้มีโอกาสแสดงฝีมือไวโอลินให้พวกเรานักฟังได้ชื่นใจกันบ้าง และก็ต้องเอาใจช่วยวง PYO ให้เล่นดีขึ้นเรื่อยๆ ในคอนเสิร์ตครั้งต่อไป เพื่อจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกของบ้านเราต่อไป

เมื่อพูดถึงวงเยาวชนแล้ว ก็ทำให้นึกถึงวงเยาวชนอื่นๆ ด้วย เช่น วงดนตรีค่ายฤดูร้อนของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้โอกาสในการติวเข้มฝึกซ้อมกับวาทยกรระดับแนวหน้า ฮิโคทาโร ยาซากิ วง Pro Musica Junior Camp ที่คัดเลือกเด็กเก่งจากทุกภูมิภาคทั่วไทยมาฝึกซ้อมดนตรีกับนักดนตรีวง Pro Musica (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คืออาจารย์ของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร เช่นกัน) รวมไปถึงวงรุ่นพี่อย่างวงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2529 และดำเนินการสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และมีอาจารย์ภูกร (สุทิน) ศรีณรงค์ ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของวงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราเป็นวาทยกรประจำต่อเนื่องมาตลอด ที่นี่คือที่เพาะบ่มนักดนตรีเยาวชนของไทย โดยได้เข้าร่วมบรรเลงกับวงเยาวชนของอาเซียนทุกปี (ซึ่งครั้งหนึ่ง นักดนตรีของเราได้รับคัดเลือกเป็น concertmaster!) หลายต่อหลายคนก็ก้าวขึ้นมาเป็นนักดนตรีอาชีพในวงการดนตรีคลาสสิก บางคนก็เป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากมายในปัจจุบัน เด็กสมัยนี้อาจจะโชคดีที่ยุคนี้มีครูดนตรีฝีมือดีมากขึ้น มีสถาบันการศึกษาระดับสูงเปิดสอนด้านดนตรีมากขึ้น และมีวงออร์เคสตราให้เล่นมากขึ้นด้วย ผลงานการแสดงของวงเยาวชนต่างๆ นั้นพิสูจน์ได้ค่อนข้างชัดเจน ก็เหลือแต่สังคมไทยแล้วว่าจะหาพื้นที่ให้นักดนตรีรุ่นใหม่เหล่านี้อย่างไร ให้เขาได้เป็นนักดนตรีอาชีพอย่างแท้จริงที่พร้อมสร้างสรรค์ผลงานดนตรีที่ดีให้แก่สาธารณชนต่อไป

                                                                                      วฤธ วงศ์สุบรรณ

21 พฤศจิกายน 2557

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *