Chamber Concert ณ สยามสมาคม: งานยากระดับไหน Pro Musica ก็ไม่หวั่น!

Chamber Concert ณ สยามสมาคม: งานยากระดับไหน Pro Musica ก็ไม่หวั่น!

Pro Musica

วฤธ วงศ์สุบรรณ

ในปี 2557 ที่กำลังจะผ่านไป หากถามว่าวงดนตรีใดที่ผมติดตามรับชมรับฟังคอนเสิร์ตบ่อยที่สุด ก็คงไม่พ้นวง Pro Musica  ซึ่งก็คือเครือข่ายของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรนั่นเอง เท่าที่สังเกตพบว่าในขณะนี้คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ดำเนินกิจกรรมด้านดนตรีค่อนข้างมาก นักดนตรีชาวศิลปากรออกแสดงคอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในระดับนักเรียนนักศึกษาและระดับอาชีพ การจัดค่ายเยาวชนเพื่อพัฒนาทักษะดนตรี การเผยแพร่ผลงานด้านวิชาการผ่านวารสารและจุลสารของคณะ ทางด้านคณาจารย์ก็เป็นระดับหัวกะทิของเมืองไทย ทำให้รู้สึกถึงอนาคตอันสดใสของวงการดนตรีคลาสสิกในบ้านเรา

สำหรับคอนเสิร์ตของ Pro Musica เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557เป็นการแสดงดนตรีประเภท
เชมเบอร์ ในผลงานบทเพลง Horn Trio Op.40ของโยฮันเนส บราห์มส์ (Jahannes Brahms, 1833-1897: คีตกวีชาวเยอรมัน) บรรเลงโดย สุปรีติ อังศวานนท์ (ฮอร์น) ทัศนา นาควัชระ (ไวโอลิน) และ ดร.พรพรรณ บันเทิงหรรษา (เปียโน) ซึ่งทั้งสามท่านนี้ก็เป็นอาจารย์ประจำของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรนั่นเอง ส่วนบทเพลงที่สองคือ Piano Quartet No.1, Op.15 ผลงานของกาเบรียล โฟเร (Gabriel Fauré, 1845-1924: คีตกวีชาวฝรั่งเศส) บรรเลงโดยอาจารย์ทัศนา (ไวโอลิน) และอาจารย์พรพรรณ (เปียโน) เช่นเดิม โดยเปลี่ยนเพื่อนร่วมวงเป็น เดวิด อับราฮัมยาน (David Abrahamyan) นักวิโอลาชาวสเปน (เชื้อสายอาร์เมเนีย) ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มวิโอลาของวงบีเอสโอและวงโปรมูสิกา รวมทั้งเป็นอาจารย์ประจำของคณะดุริยางคศาสตร์ฯ เช่นเดียวกัน และเอกชัย มาสกุลรัตน์ นักเชลโลดาวรุ่งฝีมือเยี่ยมที่ขณะนี้กำลังโลดแล่นอยู่ในวงการดนตรีคลาสสิกยุโรป และเคยศึกษาทั้งที่มหิดล และที่ศิลปากร  ดูจากรายชื่อผู้บรรเลงแล้วชวนให้ฟังอย่างยิ่ง

สำหรับ Horn Trio ของบราห์มส์นั้น ถือกันว่าเป็นบทเพลงหนึ่งที่ไพเราะที่สุดในองคนิพนธ์ดนตรีคลาสสิกตะวันตก ในประเทศไทยเท่าที่ผมได้ติดตามนั้น เคยบรรเลงบทเพลงนี้ไปครั้งหนึ่งเมื่อประมาณเกือบสิบปีก่อน โดยกฤษณ์ วิกรวงษ์วานิช เลโอ ฟิลลิปส์ และจุน โคมัตสึ ซึ่งก็เป็นนักดนตรีระดับแนวหน้าของวงการดนตรีบ้านเราทั้งนั้น ผมคงไม่สามารถเปรียบเทียบการแสดงทั้งสองครั้งกันได้เนื่องจากระยะเวลาห่างกันมากเกินไป แต่เท่าที่สังเกตในการบรรเลงครั้งนี้ ผมคิดว่าอาจารย์สุปรีติบรรเลงด้วยการตีความด้วยความละเมียด   เสียงฮอร์นของเขามีบุคลิกที่นุ่มนวล อบอุ่น ไม่แข็งกร้าว ฟังแล้วค่อนข้างสบายใจ ในช่วงเสียงสูงซึ่งเป็นของยากสำหรับเครื่องดนตรีทองเหลืองนั้น เขาก็เป่าได้อย่างสบายๆ และฟังไพเราะเป็นอย่างดี ในส่วนของไวโอลินนั้น อาจารย์ทัศนาก็ยังรักษามาตรฐานการบรรเลงด้วยความไพเราะอยู่เช่นเดิม เสียงไวโอลินของเขามีความหลากหลายทั้งนุ่มนวลและผาดโผน อาจเรียกได้ว่าถ้าผู้ประพันธ์เขียนมาอย่างไร   เขาก็จะตีความไปตามแนวของผู้ประพันธ์   ส่วนเปียโนนั้นอาจารย์พรพรรณก็บรรเลงได้อย่างพลิ้วไหว ควบคุมจังหวะและเพิ่มความหนักแน่นของวงได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ในบทเพลงนี้ แม้มีชื่อว่า HornTrio แต่เครื่องดนตรีทุกชิ้นมีบทบาทโดดเด่นไม่แพ้กัน ทุกส่วนมีความไพเราะและความยากในการบรรเลง แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับนักดนตรีของเรา แต่มีข้อสังเกตจากนักฟังอาวุโสท่านหนึ่ง ท่านเล่าว่าบราห์มส์ไม่ชอบเสียงของฮอร์นที่มีวาล์ฟ (valved horn) แต่ชอบฮอร์นธรรมชาติ (natural horn) ที่ไม่มีวาล์ฟ โดยเปลี่ยนโน้ตด้วยการควบคุมการเปิดเสียงที่ปากลำโพงของฮอร์น ซึ่งมีความยากมากกว่า ท่านหวังว่าการแสดงครั้งหน้าอาจารย์สุปรีติจะบรรเลงด้วยฮอร์นแบบไม่มีวาล์ฟดูบ้าง จะได้ตรงกับความต้องการของคีตกวี

ในช่วงครึ่งหลังเป็นการบรรเลงบทเพลงของโฟเร ซึ่งเป็นคีตกวีในยุคโรแมนติคที่สำคัญอีกคนหนึ่ง สุ้มเสียงของท่วงทำนองและการประสานเสียงของโฟเร จะมีความแตกต่างที่ชัดเจนจากดนตรีสกุลเยอรมัน-ออสเตรีย ซึ่งขณะนั้นทรงอิทธิพลสูงสุดในวงการดนตรีตะวันตก ซึ่งโฟเรพยายามสร้างอัตลักษณ์ให้กับดนตรีสกุลฝรั่งเศส เราท่านที่เป็นนักฟังยุคใหม่ อาจจะรู้สึกไม่แปลกหูกับเพลงของโฟเรนัก เพราะในยุคหลังๆ จากนั้น มีบทเพลงที่มีสุ้มเสียงและลีลาท่วงทำนองที่แปลกแตกต่างออกไปอีกมากมาย แต่ในยุคสมัยนั้น ใครที่อยากจะฉีกแนวออกจากดนตรีกระแสหลักนั้น ย่อมต้องมีความความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความกล้าหาญเป็นอย่างมาก

สำหรับการบรรเลงของกลุ่มนักดนตรีในค่ำคืนนั้น  เป็นไปอย่างน่าฟังเป็นอย่างยิ่ง มีทั้งท่วงทำนองที่หม่น เศร้าสร้อย ไปจนถึงอ่อนหวาน น่ารักกระจุ๋มกระจิ๋ม และรุกเร้าอารมณ์  นักดนตรีก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างดียิ่ง สังเกตจากสีหน้าและแววตาของผู้บรรเลงพบว่าพวกเขามีความสนุกสนานและความมุ่งมั่นในการเล่นอย่างมาก โดยเฉพาะอาจารย์เดวิด อับราฮัมยาน ดูเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในการบรรเลงเพลงนี้ โดยปกติแล้ว เสียงวิโอลานั้นจะค่อนข้างเบาและรับฟังได้ยาก เพราะอยู่ในช่วงเสียงกลาง ขณะที่ไวโอลินเล่นเสียงสูงที่เล็กแหลม เชลโลก็เล่นเสียงต่ำทุ้ม วิโอลาก็จะถูกกลบหายไปโดยปริยาย แต่การบรรเลงของอาจารย์เดวิดนั้น ช่วยทำให้เราได้สัมผัสถึงท่วงทำนองที่ไพเราะของวิโอลาที่โฟเรได้เขียนไว้ เสียงวิโอลาของเขาโดดเด่นชัดเจนไม่ด้อยไปกว่าไวโอลินและเชลโลเลย อีกอย่างหนึ่งในตำแหน่งการนั่งของวง วิโอลาจะอยู่ตรงกลางวง ซึ่งต่างจากที่เราเคยเห็นทั่วไปว่าเชลโลจะนั่งกลางแล้วไวโอลินกับวิโอลานั่งขนาบข้าง การจัดวงเช่นนี้ทำให้วิโอลาสามารถทำหน้าที่เชื่อมโยงเสียงระหว่างไวโอลิน เชลโล และเปียโนได้เป็นอย่างดี อากัปกิริยาของอาจารย์เดวิดเองก็น่าประทับใจ เขาจะหันไปสบตากับเพื่อนร่วมวงเกือบตลอดเวลาในทุกตำแหน่ง สีหน้าในการบรรเลงก็บ่งบอกถึงความหฤหรรษ์ในการบรรเลง ในขณะที่เอกชัยก็บรรเลงในส่วนของเชลโลได้อย่างน่าฟัง ฝีมือของเขานับว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว แม้ว่าจะนับว่าเป็นรุ่นหนุ่มอยู่ แต่ฝีไม้ลายมือก็เทียบชั้นและเข้าขากับระดับครูๆ ได้อย่างสบาย (ผมพบว่าโปรแกรมเมื่อเกือบสิบปีก่อนที่มีการแสดง Horn Trio นั้น อีกเพลงหนึ่งก็มีเอกชัยเล่นเช่นเดียวกัน!)

ในส่วนของอาจารย์ทัศนาและอาจารย์พรพรรณนั้น แทบไม่ต้องพูดถึงในด้านฝีไม้ลายมือมือ แต่ที่น่าสนใจคือผมได้ยินจากอาจารย์ทัศนาว่า เพลงนี้มีความหลากหลายทางอารมณ์สูงและเล่นยากมาก จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับนักดนตรี แต่เท่าที่ฟังดูแล้วเชื่อได้ว่าไม่ว่ายากแค่ไหน นักดนตรีของ Pro Musica ก็สามารถบรรเลงได้เป็นอย่างดี ไม่มีคำว่าสุกเอาเผากิน และไม่โอ่อวดอัตตาเกินหน้าคีตกวี เราในฐานะผู้ฟังดนตรีก็พลอยรู้สึกอิ่มเอิบใจทุกครั้งที่ได้ฟัง ซึ่งการฟังดนตรีอัดแผ่นอัดกระป๋องนั้นย่อมเทียบไม่ได้กับการฟังดนตรีสด และก็ต้องขอบคุณสยามสมาคม เจ้าของสถานที่ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนโอเอซิสให้น้ำทิพย์ชะโลมใจแก่พวกเราในย่านใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยมลภาวะทางเสียง ให้ได้สัมผัสดนตรีที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ได้โดยสะดวก  นอกจากนั้นยังตั้งราคาบัตรไว้ในระดับที่เอื้อให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำ แต่รสนิยมสูง (รวมทั้งนักศึกษา) ได้มีส่วนร่วมในทิพยรสแห่งดนตรี

16 ธันวาคม 2557

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *