Yazaki กับ Pro Musica กลับมาอีกครั้ง ในโปรแกรมหฤหรรษ์สามยุคสมัย

Yazaki กับ Pro Musica กลับมาอีกครั้ง ในโปรแกรมหฤหรรษ์สามยุคสมัย

11173418_1574531139463617_8345766324264182568_n

ฮิโคทาโร ยาซากิ (HikotaroYazaki เกิด 1947) นับได้ว่าเป็นวาทยกรที่ผูกพันและสร้างคุณูปการให้กับวงการดนตรีคลาสสิกไทยมาอย่างมากมายต่อเนื่องยาวนานร่วม 20 ปีแล้ว แต่ละครั้งที่ท่านมาเมืองไทย ย่อมต้องมีคอนเสิร์ตดีๆ ให้ผู้ฟังประทับใจอยู่เสมอมา และในปีนี้ก็เช่นเดียวกันที่คุณยาซากิ กลับมาพร้อมโปรแกรมดนตรีที่น่าสนใจร่วมกับวง Pro Musica ในรูปแบบของ string orchestra นำเสนอบทเพลงในลักษณะ divertimento (ซึ่งในภาษาอิตาเลียนมีความหมายว่า สร้างความหฤหรรษ์  และแต่เดิมมาเป็นเพลงที่แต่งสำหรับวงดนตรีขนาดเล็ก) จากสามยุคสมัย  ซึ่งจัดแสดงไปเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ (โรงแรมโฟร์ซีซันส์เดิม)

บทเพลงแรกคือ Divertimento for String Orchestra KV 138 in F Major ของ Wolfgang Amadeus Mozart (1756-1791, คีตกวีชาวออสเตรีย) มีท่วงทำนองที่ฟังสบายและหฤหรรษ์สมชื่อ (แต่เพลงของโมซาร์ทที่ว่ากันว่าโน้ตไม่ซับซ้อนมาก กลับทำให้วาทยกรและนักดนตรีตกม้าตายกันมามากแล้ว เพราะเล่นให้กินใจยากเหลือเกิน) ในการแสดงครั้งนี้ เสียงแรกที่ผมได้ยินจากวง มีความหนักแน่น แต่โปร่งและคมชัด เป็นดนตรีเชมเบอร์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แสดงถึงความพรักพร้อมของนักดนตรี การบรรเลงโดยรวมทำได้ดี ไพเราะน่าฟัง เครื่องดนตรีในทุกกลุ่มมีบทบาทเด่นกระจายกันไปไม่น้อยหน้ากัน แต่มีท่านนักฟังอาวุโสท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าวาทยกรอาจพยายามกำกับวงมากเกินไป ทำให้วงไม่ค่อยลื่นไหลเป็นธรรมชาติเท่าที่ควร  ดนตรีประเภทนี้แต่เดิมเล่นกันโดยไม่ต้องมีวาทยกร  และเราคงจะต้องไม่ลืมว่า  วงเชมเบอร์ระดับโลกบางวงที่เคยมาแสดงในเมืองไทย  เล่นได้โดยไม่มีวาทยกร เช่น Orpheus Chamber Orchestra

บทเพลงที่สองคือ Diversions for String Orchestra ผลงานของ ฯพณฯ พลเรือตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช องคมนตรี และศิลปินแห่งชาติ ชื่อเพลงก็ตีความได้สองนัย คือเป็นคำภาษาอังกฤษของ divertimento ก็ได้ หรือจะแปลว่า การแปรผัน ก็น่าจะได้เช่นกัน เพลงขึ้นมาด้วยสุ้มเสียงหม่น น่ากลัว เต็มไปด้วยคอร์ดกระด้าง บางช่วงรุกเร้า บางครั้งก็สงบ ไปจนถึงวังเวง แต่มีท่วงทำนองที่น่าฟัง ซึ่งจากการที่ติดตามบทเพลงของท่าน “อาจารย์หม่อม” มานานพอสมควร พบว่าเพลงของท่านส่วนใหญ่สอดแทรกท่วงทำนองและลีลาของดนตรีไทยเอาไว้เสมอ แต่ผลงานชิ้นนี้ฟังดูเป็นสากลกว่า ยิ่งในกระบวนที่สอง ที่มีช่วงเดี่ยวเชลโลโดย Iain Ward นักเชลโลรับเชิญชาวอังกฤษคลอด้วยการดีดสายเบสของ อ.พงษธร สุรภาพ ก็บรรเลงได้น่าฟัง แล้วเปลี่ยนจากรื่นรมย์มาเป็นรุกเร้าด้วยท่วงทำนองที่ไพเราะพอกัน แม้แปลกหู ดูขัดๆ บ้าง แต่ก็น่าฟังไปอีกแบบ บางช่วงคล้ายก็เดินทำนองคล้าย Jazz ชวนให้คิดถึง George Gershwin ส่วนในกระบวนที่สาม เน้นทำนองรวดเร็วและรุกเร้า  และจบด้วยการเน้นกระแทกเสียงต่ำและเสียงสูงบาดหูนิดๆ แต่ก็มีเสน่ห์และชวนติดตาม

หลังจบเพลง ผมได้สนทนากับท่านนักฟังอาวุโสหลายท่าน ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าวันนี้วงเล่นได้ดีกว่าที่เคยอัดเสียงเพลงนี้ไว้เมื่อหลายปีก่อน คาดว่าน่าจะเพราะมาตรฐานการเล่นสูงขึ้นด้วย และอีกด้านหนึ่งน่าจะเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างท่านอาจารย์หม่อมกับคุณยาซากิ ที่ได้หารือทิศทางการตีความบทเพลงนี้อย่างเอาจริงเอาจัง ยาซากิจึงถ่ายทอดความต้องการของผู้ประพันธ์ออกมาได้อย่างครบถ้วนและงดงาม ส่วนผู้อาวุโสอีกท่านหนึ่งยกย่องว่าอาจารย์หม่อมเป็นคีตกวีไทยที่แต่งเพลงได้อย่างหลากหลายและไพเราะ โดยที่ท่านไม่เคยเรียนดนตรีใน academy หรือ conservatory ที่ไหน แต่เป็นด้วย “ความรักจึงสมัครเข้ามาเล่น” ของท่านโดยแท้ จากประสบการณ์ในการเล่นดนตรีมาอย่างยาวนาน ทำให้ท่านมีต้นทุนในการแต่งเพลงอย่างมหาศาล บรรดานักแต่งเพลงหรือนักเรียนด้าน composition น่าจะมาชมคอนเสิร์ตนี้หรือวิเคราะห์เพลงของท่านบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ในการต่อยอดทางความคิดต่อไป

สำหรับครึ่งหลัง เป็นบทเพลง Divertimento for String Orchestra ผลงานของ Béla Bartók (1881-1945) เป็นเพลงที่มีทั้งท่วงทำนองที่รุกเร้า และหม่นหมอง บางครั้งเหมือนจะขึ้นด้วยทำนองที่อ่อนหวานงดงาม แต่ก็ใช้คอร์ดที่กระด้างขัดแย้งกัน อาจถือว่าเพลงฟังยากพอควรถ้าไม่ชินกับดนตรียุคศตวรรษที่ 20 (การสร้างความหฤหรรษ์ของบาร์ทอคนั้น คงต้องใช้ความคิดมากกว่าทำนองหวานๆ เพราะๆ แต่เพียงอย่างเดียว) แต่ก็มีความน่าสนใจ และกระจายทำนองไปยังเครื่องต่างๆ ได้อย่างน่าฟัง บางช่วงบาร์ทอคก็กลับไปหาบรมครูบาค (Bach) ด้วยการแต่งทำนองเป็น counterpoint ให้แต่ละกลุ่มเล่นท่วงทำนองที่มีลูกล้อลูกขัดระหว่างกลุ่มเครื่องดนตรี รวมไปถึงช่วงที่เป็นการดีดสาย (pizzicato) และการเร่งทำนองจบ (coda) ในช่วงท้ายก็ทำได้อย่างน่าฟัง ซึ่งเพลงที่ให้อารมณ์ที่หลากหลายเช่นนี้ น่าจะต้องการการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น จึงจะบรรเลงออกมาได้อย่างไพเราะ และ คุณยาซากิ กับวง Pro Musica ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ฟังเป็นอันมาก จนต้องแถมอีก 2 เพลง คือ Adagietto จากเพลงชุด L’Arlésienne ของ Georges Bizet ซึ่งไพเราะงดงามเยือกเย็น และ Plink, Plank, Plunk ของ Leroy Anderson  ซึ่งเป็นเพลงสนุกสนานด้วยการดีดสายทั้งเพลง คุณยาซากิก็ “สร้างความหฤหรรษ์” ให้กับผู้ชม ด้วยการเต้นไปตามท่วงทำนองอย่างสนุกสนาน สร้างความอิ่มเอิบใจให้กับผู้ฟังในค่ำคืนนั้นอย่างไม่รู้ลืม

วฤธ  วงศ์สุบรรณ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *