อย่างนี้จึงเรียกว่าไม่เสียของ

อย่างนี้จึงเรียกว่าไม่เสียของ

323

เจตนา  นาควัชระ

รายการแสดงดนตรี “ราชนารีสดุดี: เฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” ที่ผมได้ไปชมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2558 ณ หอประชุมใหญ่  ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  ทำให้ผมต้องกลับบ้านมาไตร่ตรองประเด็นหลักๆ ที่เกี่ยวกับเพลงไทยสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงสุนทราภรณ์ (ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพลงที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน และคณะแต่งขึ้นเท่านั้น  แต่ได้กลายเป็นประเภทของศิลปะ [genre] ไปแล้ว)  เมื่อเป็นรายการเฉลิมพระเกียรติก็ต้องมีการแต่งเพลงขึ้นใหม่เพื่อการนี้  เพลง “ดังสายฝน” (คำร้อง: คุณหญิงวินิตา  ดิถียนต์) และ “เทิดพระเกียรติ” (คำร้อง: นางสาวชญามณฑ์  สง่าเนตร)  ใช้ทำนองเพลงที่ไม่ระบุว่าผู้แต่งเป็นใคร  เพียงแต่บอกกล่าวอย่างคร่าวๆ ว่า “ทำนอง: วงดนตรีสุนทราภรณ์”  เมื่อเริ่มต้นแบบนี้  ผมก็เกิดอาการเกร็งขึ้นมาทันทีว่ารายการส่วนที่เหลืออาจจะเป็นเรื่องของพิธีกรรมที่จำเป็นต้องกระทำ  อันที่จริงเพลงที่แต่งขึ้นมาทั้งสองเพลงนี้ก็ตามลีลาของเพลงพระราชนิพนธ์ “รัก” ที่เสนอมาเป็นอับดับที่ 3 นั่นเอง

ผมไม่จำเป็นต้องพูดถึงความสามารถของนักร้อง “คลื่นลูกใหม่” ซึ่งแฟนเพลงสุนทราภรณ์ยอมรับกันอยู่แล้ว  (ความจริงผมไม่ชอบคำๆ นี้เลย  เพราะเป็นชื่อที่ใช้กับภาพยนตร์ฝรั่งเศสแนวใหม่ (Nouvelle Vague) ที่แหวกแนวออกมาจากขนบดั้งเดิมอย่างรุนแรงในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20  แต่ชายหนุ่มหญิงสาวกลุ่มนี้ไม่มีแววว่าเป็นนักปฏิวัติใดๆ ทั้งสิ้น)  สำหรับกลุ่มนักร้องที่เรียกว่า  “ดาวค้างฟ้า”  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของครูเอื้อนั้น  ผมก็ไม่ชอบคำนี้เช่นกัน  ทั้งนี้เพราะเป็นการชวนให้คิดว่า  ศิลปินกลุ่มนี้หลงยุคมาในโลกปัจจุบันโดยตามคนอื่นเขาไม่ทัน ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่ผมตื่นขึ้นมาทันทีทันใดที่สุปาณี  พุกสมบุญ (อายุ 92 ปี) ออกมาร้องเพลงที่เป็นเพลงประจำตัวของเธอราวกับว่าหยุดเวลาได้  เธอคือสิ่งมหัศจรรย์ของคีตศิลป์ที่มิใช่โบราณวัตถุ  แต่เป็นศิลปินที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา  เป็นรูปธรรมที่พิสูจน์ให้เห็นว่าความจริงดนตรีคือกาลเวลาที่ไม่หยุดนิ่ง  และเมื่อ วรนุช  อารีย์ (อายุ 86 ปี) ฟื้นตัวจากการป่วยไข้กลับมาร้องเพลงที่เธอได้เคยบันทึกเสียงเอาไว้  ผมก็แทบจะต้องยกมือท่วมหัวคารวะครูดนตรีทั้งหลายที่สร้างผลงานอมตะเป็นมรดกเอาไว้ให้กับเรา  ซึ่งดูราวกับจะช่วยสร้างปาฏิหาริย์ให้พวกเราเชื่อว่า  เมื่อดนตรีไม่ตาย  คนร้องก็ไม่ตายเช่นกัน

ดังนั้น  เมื่อศิลปินที่อายุขึ้นเลขเจ็ดขึ้นเวทีมา  คือ รวงทอง  ทองลั่นธม  และศรวณี  โพธิเทศ  ผมก็เกิดความอุ่นใจ  ซึ่งภายในเวลาอันสั้นก็ปรับตัวเป็นความอิ่มเอิบอิ่มใจ  มาถึงตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่า “โรคสุนทราภรณ์นิยม”  ของผมเกิดอาการกำเริบขึ้นอย่างรุนแรงแล้ว  ทำให้ผมจำเป็นต้องข่มอารมณ์ด้วยความเป็นเหตุเป็นผล  แล้วตั้งคำถามว่า  เมื่อศิลปินรุ่นครูเอื้อและครูแก้วสิ้นไปแล้ว  เหตุใดจึงไม่มีตัวตายตัวแทน  เหตุใดเพลงไทยสากลจึงไม่สามารถรักษาความเข้มข้นทางศิลปะเอาไว้ได้   เป็นความผิดของครูหรือที่ไม่ถ่ายวิชาให้กับศิษย์  เป็นความผิดของคนรุ่นหลังหรือที่คิดไม่ออกว่าจะเดินต่อจากครูอย่างไร  ในการสัมมนาสุนทราภรณ์วิชาการครั้งที่ 2 เมื่อปี 2554  ผมได้พยายามชี้ให้เห็นแล้วว่า  มิติ “คลาสสิก” หลายกระแสทั้งไทยและตะวันตกมารวมตัวอยู่ที่เพลงสุนทราภรณ์  การทอดทิ้ง “คลาสสิก”ของคนรุ่นหลังจึงรังแต่จะพาให้หลงทาง  แต่ก็อีกนั่นแหละ  วงดนตรีอะไรกันนี่ที่เล่นแต่เพลงเก่าโดยไม่รู้จักที่จะส่งเสริมให้เกิดนักแต่งเพลงรุ่นใหม่ขึ้นมาได้เลย  ความเป็นอมตะของงานรุ่นเก่าได้กลายเป็นมรณกรรมของคนรุ่นใหม่ไปแล้วกระนั้นหรือ  คิดมาถึงแค่นี้  ก็พักครึ่งเวลาพอดี

พอได้ทราบข่าวว่ากลุ่มสุนทราภรณ์จะนำพระราชนิพนธ์เรื่อง “ท้าวแสนปม” มาแสดงในรายการนี้  โดยใช้เพลงสุนทราภรณ์เป็นตัวดำเนินเรื่อง  ผมก็เกิดความอยากรู้อยากเห็นระคนดับความประหวั่นพรั่นพรึงขึ้นมา  เพราะการนำเอาเพลงสุนทราภรณ์มาทำเป็นมิวสิกัลที่แล้วๆ มา  ทำให้ผมเกิดความหดหู่เป็นอันมาก  แต่ก็ยังคิดเข้าข้างนักดนตรีและนักร้องกลุ่มนี้ว่า  เมื่อลงมือทำงานด้วยตนเองแล้ว  คงจะไม่ยอมให้เสียของเป็นแน่  รายการครั้งนี้ทำให้ผมกลับบ้านด้วยความเบิกบาน  และผมเองก็ไม่ลังเลที่จะกล่าวว่า  ที่การแสดงเรื่อง “ท้าวแสนปม” ลงตัวในแทบทุกแง่มุมก็เป็นเพราะได้ผู้กำกับการแสดงที่มีความสามารถจริงๆ คือ สาวิตา  ดิถียนต์  เธอมองได้ทะลุปรุโปร่งว่า เมื่อมีของดีอยู่ในมือแล้วจะรักษาและเสริมคุณภาพของเดิมได้อย่างไร  ไม่ทำให้เสียของเหมือนกับมิวสิกัลที่แล้วๆ มา  เมื่อกลับไปอ่านพระราชนิพนธ์เรื่อง “ท้าวแสนปม” ผมถึงกลับต้องอุทานออกมาว่า  ต้นฉบับเป็นบทละครที่เดินเรื่องได้อย่างมีชีวิตชีวา  ทั้งกระชับ  รวดเร็ว  ทันใจ น่าประทับใจ และตื่นเต้น  ไม่แพ้ Les Misérables ซึ่งผมได้เคยชมการแสดงสดเลย  (ซึ่งเป็นมิวสิกัลที่ผมคิดว่าเดินเรื่องอย่างรวดเร็วเสียจนผู้แสดงแทบจะหัวคะมำกันไปเลยทุกคน)  “ท้าวแสนปม” ฉบับสุนทราภรณ์รู้จักที่จะใช้ความมีชีวิตชีวาของต้นฉบับให้เป็นประโยชน์  และ ณ จุดนี้  ผู้กำกับการแสดง  ผู้เขียนบท ผู้กำกับเวที และผู้ออกแบบฉาก  เข้าใจที่จะดัดแปลงพระราชนิพนธ์ให้เหมาะกับบริบทของวัฒนธรรมละครของไทยในปี 2558  แต่คุณภาพของการแสดงที่ผมกล่าวมานี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีองค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ของเพลงที่ครูเอื้อ ครูแก้ว และผู้ร่วมงานของท่านได้สร้างขึ้นไว้เป็นขุมทรัพย์ทางดนตรีที่มีเพลงเป็นจำนวนเรือนพัน  และจำเป็นอย่างยิ่งที่ผมจะต้องแสดงความยินดีกับผู้ที่มีบทบาทในการเลือกเพลงเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินเรื่องได้อย่างเหมาะสมยิ่ง  ซึ่งอันที่จริงก็มีเชื้อไฟเดิมอยู่แล้วในรูปของเพลง “สาส์นรัก” และ “ดวงใจ” ซึ่งครูเอื้อได้อัญเชิญบทจากพระราชนิพนธ์ “ท้าวแสนปม” มาใส่ทำนอง

ผมได้เคยกล่าวไว้หลายครั้งแล้วว่า ครูแก้ว  อัจฉริยะกุล เคยนำเพลงสุนทราภรณ์มาร้อยเรียงต่อกัน  จนสามารถดำเนินเรื่องราวกับเป็นละครเพลงได้  ซึ่งผมจำได้ว่าได้รับฟังทางวิทยุกระจายเสียงอยู่หลายครั้ง  หมายความว่า  เพลงสุนทราภรณ์มีความหลากหลายทั้งในด้านของเนื้อหาและอารมณ์เพลงที่สามารถตอบสนองการเล่าเรื่อง (narration) ได้อย่างดี  ประสบการณ์มนุษย์ในแง่มุมต่างๆ มีอยู่แล้วอย่างครบถ้วนในองค์แห่งคีตนิพนธ์นี้  รอเวลาที่จะให้โอกาสผู้รู้และผู้รักเพลงเหล่านี้นำไปใช้ในงานศิลปะอีกประเภทหนึ่ง คือนำไปทำให้เป็นเรื่องเล่าหรือเป็นละคร  อันที่จริง เรามักจะมองเพลงสุนทราภรณ์ว่าอยู่ในประเภทของศิลปะที่เรียกว่า lyrical  แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปจะเห็นได้ว่า เพลงแต่ละเพลงมีลักษณะที่เป็นละคร (dramatic) อยู่ในตัวแล้ว  คือเป็นละครฉากเล็กๆ ที่จบในตัวของมันเอง  การแสดงครั้งนี้เท่ากับเป็นการปรับศักยภาพของหน่วยเล็กๆ คือเพลงต่างๆ ซึ่งแต่เดิมต้องจำกัดเวลาไว้ประมาณสามนาทีครึ่ง  สำหรับที่จะอัดเสียงลงแผ่นครั่ง  แต่มันก็เป็นสามนาทีครึ่งที่เข้มข้นด้วยประสบการณ์มนุษย์  ด้วยอารมณ์เพลงและด้วยเนื้อหาที่มุ่งสร้างความประทับใจให้ได้ในช่วงเวลาอันสั้น  “ท้าวแสนปม” ฉบับสุนทราภรณ์หยิบยื่นบริบท (context) ให้กับเพลงเหล่านี้  ทั้งที่เป็นบริบทของแต่ละเพลงและที่เป็นบริบทรวมของละครทั้งเรื่อง  เพลงที่ทำให้ผมคิดถึงมโนทัศน์ที่ว่าด้วยบริบทได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ “คนรูปชั่ว” ซึ่งวินัย  จุลละบุษปะ ร้องอัดแผ่นเอาไว้อย่างไพเพราะจับใจ (ผู้ฟังบางคนเลยเหมาเอาว่าเป็นเพลงของคนไม่หล่อ)  ในครั้งนี้ ชาตรี  ชุ่มจิตร ใช้เพลงนี้พรรณนาความรู้สึกของท้าวแสนปมที่เป็น “ละครในละคร” ให้นางเอกรับฟังได้อย่างเหมาะเจาะ  อาจจะเป็นเพลงที่จับใจผมมากที่สุดเพลงหนึ่งในการแสดงครั้งนี้  เมื่อผมตื่นขึ้นมารับสุนทรียรสของเพลงนี้ได้  ผมก็เข้าใจทันทีถึงศักยภาพอันมหาศาลของเพลงสุนทราภรณ์  สำหรับเพลงอื่นๆ ก็ดูจะลงตัวได้อย่างดีในบริบทของละครเพลงเรื่องนี้  เพลงบางเพลงนั้นแฟนเพลงสุนทราภรณ์อาจไม่ได้ยินมาเป็นเวลาหลายสิบปี เช่นเพลง “สวนครัว” ซึ่งผู้สร้างบทก็ปรับมาใช้ให้เข้ากับเรื่อง “ท้าวแสนปม” ได้เป็นอย่างดี เพลงบางเพลงแต่เดิมเป็นเพลงร้องเดี่ยว  แต่เมื่อมาปรับเป็นเพลงคู่ (duet) โดยให้ ชณัฐศิกาญ  แจ่มแจ้ง และ ณฤพล  ผิวอ่อน ร้องร่วมกันก็กลายเป็นบทอุปรากรเล็กๆ ที่จับใจยิ่ง  ถ้าละครต้องการบทชมสวน  เพลงสุนทราภรณ์ก็สนองให้ได้ด้วยเพลง “มาลีแดนสรวง”  ผมคิดว่า ถ้าจะทำสุนทราภรณ์ให้เป็นมิวสิกัลในครั้งต่อไป  ผู้สร้างละครคงต้องหันมาพินิจพิเคราะห์บทของท้าวแสนปมฉบับนี้ให้ถ่องแท้  หาไม่ก็จะกลายเป็นการทำให้เสียของเหมือoเดิม

เมื่อได้ผู้กำกับการแสดงได้ไปศึกษาเล่าเรียนมาในประเทศตะวันตก  การใช้เทคนิคบางอย่างเพื่อเสริมคุณค่าของละครจึงทำได้อย่างน่าสนใจยิ่ง  เช่น  มีการขัดจังหวะการดำเนินเรื่อง “ท้าวแสนปม” ด้วยการแทรกบทของกลุ่มนิสิตที่ถกเถียงกันในเรื่องคุณค่าและประโยชน์ของวรรณคดี  เปรียบได้กับเพลงปฏิพากย์ระหว่างฝ่ายอักษรศาสตร์  ซึ่งกำลังดื่มด่ำกับการอ่านพระราชนิพนธ์เรื่อง “ท้าวแสนปม”  กับฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ที่แต่เดิมมองไม่เห็นคุณค่า  แต่ในท้ายที่สุดก็ถูกครอบโดยพวกอักษรศาสตร์จนได้  การสลับฉากเช่นนี้  ละครไทยเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว  แต่วงการละครตะวันตกสร้างเป็นทฤษฎีขึ้นมา  ที่รู้จักกันในนามว่า “การทำให้แปลก” ตามแนวคิดเรื่อง “Verfremdung” ของ แบร์ทอลท์ เบรคชท์ (Bertolt Brecht: 1898-1956)  ผมอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเบรคชท์ได้มาชมการแสดงครั้งนี้  เขาคงจะปลาบปลื้มเป็นอันมากว่า ทฤษฎีของเขาส่งผลในทางปฏิบัติได้อย่างน่าประทับใจ  วัตถุประสงค์ของการสลับฉากแนวนี้ คือ การชวนให้คิด เป็นทิศทางการสร้างละครแห่งความคิด และปลุกผู้ดูผู้ชมให้ฉุกคิดและได้คิด  “ท้าวแสนปม” ฉบับสุนทราภรณ์กลายเป็นบททดลองเชิงทฤษฎีละครที่ลงตัวอีกเช่นกันในด้านการแสดง  ในท้ายที่สุด  ละครที่ทำให้เกิดความหฤหรรษ์และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ดูผู้ชม ก็กลายเป็นคำประกาศลัทธิ (manifesto)ไปได้  โดยทำหน้าที่ตอกย้ำถึงความสำคัญของวรรณคดีในฐานะที่เป็นองค์ประกอบอันสำคัญของวัฒนธรรม  สมกับที่นำพระราชนิพนธ์เรื่อง “ท้าวแสนปม” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาปรับเป็นกิจแห่ง “ราชนารีสดุดี”

บ้านเรากำลังให้ความสนใจกับมิวสิกัลเป็นพิเศษ  ถึงกับมีการ “ส่งออก” มิวสิกัลของไทยไปยังประเทศตะวันตกแล้ว  แต่การที่จะกล้ามองย้อนหลังแล้วนำสมบัติอันล้ำค่าที่มีอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นพระราชนิพนธ์ และเป็นองค์แห่งคีตนิพนธ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง  มาหลอมใหม่ให้เป็นละครเพลง  ต้องถือได้ว่าเป็นการท้าทายตนเองที่น่ายกย่อง  ความสำเร็จครั้งนี้อธิบายได้ไม่ยากนัก  นั่นก็คือ  กลุ่มผู้สร้างงานดื่มด่ำในวรรณคดีคลาสสิกอยู่แล้ว  อีกทั้งยังรู้จักเพลงสุนทราภรณ์อย่างลึกซึ้ง  เมื่อรู้จักเรียนไปทำไปก็ได้ประสบการณ์ที่ชี้ทางให้แก่ตนเองได้ว่า เดินอย่างไรจึงจะไม่หลงทาง  ตัวบ่งชี้ที่ผมไม่เคยมองข้ามก็คือ  บทบาทของวงดนตรี  ซึ่งครั้งนี้บรรเลงได้อย่างละเมียด  ไม่แผดเสียงโฉ่งฉ่างเหมือนอย่างที่เคย  ราวกับเป็นวงดนตรีที่คุ้นชินกับการบรรเลงอุปรากรก็ว่าได้  คือกลืนตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของละครเพลงอย่างแนบสนิท

ผมเองเป็นผู้ที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนให้คนนอกและคนวงนอกได้มีโอกาสเข้ามาร่วมสร้างนวัตกรรมให้แก่เพลงสุนทราภรณ์มาตลอด  และก็มีผู้ที่ทำสำเร็จมาแล้วอย่างน่าชื่นชม  ดังปรากฏในรูปของ BSO PLAYS SUNTARAPORN  แต่ก็ยังต้องยอมรับความจริงว่า การนำเพลงสุนทราภรณ์มาปรับเป็นละครมิวสิกัลนั้นยังไม่ประทับใจแฟนพันธุ์แท้อย่างผม  ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว  คงจะต้องกล่าวว่า เวลามาถึงแล้วที่ “วงใน” ของสุนทราภรณ์จะต้องกล้าลงโรงด้วยตนเอง  ซึ่งแปลว่าต้องลงแรง  ลงใจ และลงเงินด้วย  เมื่อมีผู้กำกับการแสดงที่มีรสนิยมสูงและมีความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้ ก็คงจะต้องใช้ศักยภาพของคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวให้เป็นประโยชน์  เพราะเท่าที่ได้แสดงฝีมือให้เห็นประจักษ์ในครั้งนี้ก็พอจะวางใจกันได้แล้วว่า  “มิวสิกัลแห่งความพอเพียง” นั้นควรเป็นอย่างไร  นั่นคือ ทางข้างหน้าของสุนทราภรณ์ใช่หรือไม่  จากร่างคร่าวๆ ที่ครูเอื้อและครูแก้วให้ไว้ใน “จุฬาตรีคูณ” มาถึง “ท้าวแสนปม” ในกรอบของ “ราชนารีสดุดี”  กลุ่มสุนทราภรณ์เดินมาไกลทีเดียว  เมื่อเขามีของมีค่าอยู่ในมือ  เขาก็สำนึกดีว่าไม่ควรจะทำให้เสียของ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *