เมื่อละครโนกลับมาในร่างใหม่

เมื่อละครโนกลับมาในร่างใหม่

(The No Stage, Newly Activated The Legend of Komachi)

 

เซนดะ อากิฮิโกะ


 

สำหรับผู้ที่เป็นนักวิจารณ์ละครร่วมสมัยอย่างข้าพเจ้าคงไม่มีความสุขใดที่ยิ่งไปกว่าการ ได้อยู่ร่วมชมการแสดงที่สามารถนำเอากรอบของการนำเสนอละครในอดีตให้กลับมาปะทุและมี ผู้สามารถส่งต่อสู่ยุคสมัยปัจจุบันได้อาจจะดูประหนึ่งว่าคนอย่างเราในฐานะที่เป็นนักเขียนบทความ ตาม สื่อสิ่งพิมพ์ดำรงอยู่ก็เพื่อจะมีหน้าที่หลักที่จะรายงานปรากฏการณ์ เช่นดังกล่าว

แต่การที่ได้มีโอกาสอย่างที่ว่าสักครั้งก็ต้องรอเป็นเวลานานด้วยความอดทนกว่าจะมีผู้มี พรสวรรค์หน้าใหม่ปรากฏขึ้นให้พวกเราได้รายงานกัน นอกจากนานกว่าที่ศิลปินหน้าใหม่หรือ กลุ่มละครใหม่ที่ทั้งสดใหม่และมีความสามารถที่น่าดึงดูดจะปรากฏให้เห็นแล้วการจะไปเสาะแสวงหา พวกเขาเหล่านั้นก็ต้องไปควานหาตามการแสดงของกลุ่มละครเล็กๆอีกนับไม่ถ้วนอีกด้วย แต่แล้ว เมื่อเราได้ค้นพบอย่างตื่นเต้นดีใจ เราก็กลับไม่ได้มีโอกาสที่จะตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการแสดง ของพวกเขาได้ทันเวลาเสียอีก เนื่องจากการแสดงของคนพวกนี้มักจะมีโอกาสในการนำเสนอ เพียงระยะเวลาสั้น ๆ

คงกล่าวได้ว่ายุคทศวรรษที่ 1960 จัดว่าเป็นช่วงที่กลุ่มละครเล็กน่าสนใจจำนวนมากได้อุบัติขึ้น แต่สภาพแวดล้อมที่แตกต่างไปของปัจจุบันนี้ ตลอดจนถึงปลายทศวรรษที่ 1970 คงจะเทียบกับทศวรรษก่อนไม่ได้ ภายในช่วงระยะที่ผ่านมานี้ หากไม่นับTsuka Kohei แล้วก็จัดได้ว่าจะหาศิลปินหน้าใหม่ที่มีฝีมือได้น้อยเต็มที

แต่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะละคร Transformation Theatre ภายใต้การนำของ Ota Shogo กับผลงานเรื่อง The Legend of Komachi ที่จัดแสดงที่เวทีละครโน แห่งหนึ่ง ในกรุงโตเกียว จัดได้ว่าสามารถพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นงานของคนหน้าใหม่ฝีมือคุณภาพได้อีกครั้ง ด้วยผลงานที่จัดได้ว่าเยี่ยมยอด ซึ่งไม่ใคร่มีใครสามารถผลิตผลงานคุณภาพเช่นนี้ได้บ่อยครั้งนัก และไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่าผลงานชิ้นนี้จัดเป็นเรื่องที่ดีที่สุดในฤดูกาลละครช่วงนี้เลยทีเดียว

คงต้องบอกกล่าวไว้ก่อนว่าคณะละคร Transformation Theatre ของ Ota ไม่ได้เป็น คณะ หน้าใหม่เสียทีเดียว คณะตั้งขึ้นมาในปี 1968 ภายใต้การกำกับของ Hodoshima Takeo ซึ่งถือได้ว่าเป็นคณะที่ผ่านอายุกว่าทศวรรษมาแล้วแต่ก่อน หน้านี้ผลงานของคณะนี้จัดได้ว่าค่อนข้างจืดชืดและไม่สามารถเรียกความสนใจในระดับวงกว้างได้

เมื่อตอนที่ผมได้ชมผลงานของคณะนี้ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ปี1970 Ota ได้เป็นเสา หลักของคณะแล้ว ซึ่งตอนนั้นเขาได้เขียนบทและกำกับเรื่อง “เก้าฉากเกี่ยวกับรถประจำทาง” (Nine Scenes about Buses) ซึ่งผมก็ยังจดจำบทสนทนาที่แหลมคมในเรื่องนั้นได้ดี ซึ่งเป็นไปในทางของ Betsuyaku ต่อมาผมชมการแสดงของคณะนี้อีก ณ โรงละครแห่งหนึ่ง ย่าน Akasaka ของกรุงโตเกียวในแต่ละปีประสบการณ์และความสามารถของคณะละครคณะนี้ได้พัฒนาขึ้นตาม ลำดับ แต่เมื่อมีความคิดสร้างสรรค์ตามแบบละครร่วมสมัยเป็นแนวทางแล้วองค์ประกอบเรื่อง การผลิตงานที่จริงใจต่อตัวตนที่แท้จริงของพวกเขาก็ดูจะออกมาในทางติดลบมากกว่าได้คะแนนบวกด้วย บริบทดังกล่าวจึงทำให้Ota ผลิตผลงานเรื่องThe Scarlet Princess of Edo ที่ทำจาก บทละครคาบูกิคลาสสิกของTsuruya Namboku โดยใช้นักแสดงสมัยใหม่ในปี1970 ออกมาดูน่าสนใจมากกว่าเรื่องก่อน ๆ ที่เขากำกับละครจากบทละครของเขาเอง

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ ด้วยผลงาน The Legend of Komachi ตัวOtaสามารถก้าวกระ โดดได้ไกลไปสู่อีกขั้นหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ทางการละคร ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเสนอแบบใหม่อย่างสิ้นเชิงหลังจากผจญหนทางอันยากลำบากมานาน ตอนนี้ Ota กำลังยืนอยู่บนยอดเขาดูความสำเร็จของตัวเองแล้ว

ตามมุมมองของผม มีสองเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ ประการแรกแทนที่จะ ใช้พื้นที่การแสดงตามแบบที่คณะละครสมัยใหม่คณะเล็กๆนิยมใช้กัน คราวนี้ได้ใช้โรงละครโนจริงๆ เป็นพื้นที่ในการแสดงเป็นครั้งแรก มีทฤษฎีเกี่ยวกับประสิทธิผลของพื้นที่ของเวทีละครโนอยู่หลายทฤษฎี แต่ก็มีน้อยครั้งมากที่จะสามารถใช้เวทีละครโนได้อย่างประสบความสำเร็จ แม้จะกล่าวกันว่า เวทีละครโนเป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของโลกโลกุตระ แต่ด้วยการใช้พื้นที่เวทีเดียวกันนี้ในการเล่าเรื่องราวทางโลกและโลกียะของมนุษย์ในเรื่อง The Legend of Komachi  จึงเป็นผลให้เกิดการต่อสู้กันในระดับความคิดระหว่างการใช้เวทีละครโนใน 2 ลักษณะเพื่อเล่าเรื่องราวทางโลก

ประการที่สองบทสนทนาในเรื่องนี้ถูกจำกัดให้มีน้อยมาก สองในสามของละคร ซึ่งมีความยาวสองชั่วโมงครึ่ง ในเรื่องนี้จึงดำเนินไปอย่างไม่มีบทสนทนา Ota ได้นำเสนอละครที่เน้นความเงียบเป็นหัวใจได้อย่างท้าทายพวกเรา ที่อาจจะลืมไปแล้วว่าความเงียบทางการละครนั้นช่างมีความหมายได้อย่างไร อาจจะได้พบอะไรใหม่ ๆ ในผลงานชิ้นนี้ นักแสดงส่วนใหญ่ของ Ota ในเรื่องนี้ ซึ่งเทคนิคการแสดงใกล้เคียงกับเทคนิคการแสดงละครใบ้สามารถสะกดคนดูให้ติดตามดูการแสดง ของพวกเขาได้อย่างไม่เกิดความรู้สึกน่าเบื่อหน่ายเลยตลอดจนจบการแสดง

เมื่อละครเริ่ม บริเวณเวทีก็สว่างให้เห็นอยู่แล้ว จากทางบริเวณเวทีส่วนที่เป็นสะพาน ทอด สู่บริเวณเวทีหลัก จะเห็นตัวละครหญิงชราผู้หนึ่ง (แสดงโดย Sato Kazuyo) ผมเผ้ารุงรัง และสวม เสื้อผ้าที่ดูเหมือนจะทำจากผ้าตาข่ายกันยุง เดินเข้ามาอย่างช้าๆ  แทนที่จะเดินเข้ามา ด้วยขนบ แบบละครโน เธอกลับมีเทคนิคการเดินเข้ามาอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หัวแม่เท้าทั้งสองต่างย่ำ ทับซึ่งกันและกัน และซอยเท้ามาโดยตลอดเธอเคลื่อนไหวราวกับภาพยนตร์ที่ฉาย ด้วยจังหวะการ ฉายแบบช้ามาก ใช้เวลาทั้งหมดห้านาทีที่จะเดินจากสะพานความยาว15 ฟุตกว่าจะถึงบริเวณเวที

แม้เมื่อเดินถึงเวทีแล้วเธอก็ยังคงท่าเดินประหลาดนั้นอยู่จวบจนกระทั่งเมื่อเธอเดินมาถึงใจกลางเวทีแล้ว เราในฐานะคนดูดูประหนึ่งว่าจะถูกอานุภาพของลีลาอันเชื่องช้านั้นพาก้าว ข้ามผ่าน ภาวะความสมจริงใดใดไปสู่โลกแห่งความฝันที่ไม่สมจริง เธอยังคงยืนด้วยสีหน้าที่ดูคลุมเครืออย่าง ที่สุด แล้วเราก็เริ่มได้ยินลีลาความเคลื่อนไหวของเสียงลมที่อยู่ ณ ท้องฟ้าเบื้องบน ค่อยเคลื่อนตัว ผ่านอย่างช้าๆผ่านความสลัวของแสงไฟแล้วเราก็เริ่มได้ยินเสียงดนตรีที่อ่อนหวานจากบทเพลง ของVivaldiที่บรรเลงด้วยปิโคโล พร้อมกันนั้นกลุ่มของผู้แสดงซึ่งมีรูปโฉมแปลกประหลาด ก็ได้เข้ามายังเวทีผ่านทางสะพานเดียกันพร้อมกับแบกอุปกรณ์ประกอบฉากซึ่งเป็นเครื่องใช้ไม้สอยในบ้านหลายชิ้นไว้บนหลัง สิ่งของต่างๆเหล่านั้นได้แก่ เครื่องแต่งกายแบบโบราณที่เทอะทะ เครื่องน้ำชา โต๊ะกินข้าวอย่างเตี้ยแบบญี่ปุ่น และบานฝาผนังเลื่อนได้ ซึ่งดูราวกับว่าบรรดานักแสดงเหล่านั้นกำลังยกสิ่งของที่มีเวทย์มนต์วิเศษบางอย่างเข้าในพื้นที่บริเวณแสดง ท่ามกลางความมืดสลัวสิ่งของต่าง ๆ เหล่านั้นก็ค่อย ๆ มาติดตั้งรอบ ๆ ตัวหญิงชรา ซึ่งยังคงยืนนิ่งอยู่ แล้วฉากของห้องในอาคารชุดแห่งหนึ่งอันแสนทรุดโทรมก็ปรากฏขึ้น ในนาทีเดียวกันกับที่ภาพจำลองของห้องได้ปรากฏขึ้นนั้น ความน่าขยะแขยงไร้รสนิยมก็ได้ค่อยๆโผล่ขึ้นอย่างรุกรานต่อพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของเวทีละครโนเช่นกัน

หญิงชราผู้ซึ่งแบกภาระของการเคลื่อนไหวอย่างช้ามากไว้ตลอดทั้งเรื่องจนจบเรื่อง ก็ได้เริ่มค่อยๆล้างใบหน้าของเธอ จากนั้นก็ต้มน้ำด้วยหม้อไฟฟ้า ใช่แล้วเธอได้ต้มน้ำจริงๆบนเวทีละครโน และทำชุดอาหารที่ทำจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารเช้าของเธอ  จากการแสดงอากัปกิริยา กินบะหมี่นี้เอง มิติของการกระทำที่จำลองการกระทำจากกิจวัตรในชีวิตจริงก็ได้เริ่มขึ้นผ่านมิติของโลกแห่งความฝันและจินตนาการของหญิงชรา โดยมีเรื่องราวอันหลายหลากเกี่ยวข้องกับผู้คนต่างๆที่อาศัยอยู่อาคารชุดเดียวกันกับเธอ หรือไม่ก็เป็นอากัปกิริยากิจวัตรต่างๆซึ่งกินเวลาในโลกแห่งความจริงเพียงไม่กี่นาที แต่ได้ถูกขยายออกเป็นสองชั่วโมงของเวลาการแสดงในโลก ของความฝันของหญิงชรานั้น ภาพที่เราได้เห็นจึงราวกับว่าเป็นการนำจิตสำนึกของเธอมาคลี่ขยาย และพับจับกลีบอย่างปราณีตบรรจง โลกแห่งจินตนาการของเธอได้ถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นด้วยกล้อง ขยาย ด้วยการดูอย่างผ่อนคลาย เราในฐานะผู้ดูการแสดงนี้จึงได้ตระหนักอย่างคาดไม่ถึงว่า แท้ที่จริงชีวิตของเราช่างเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความงาม และความน่าขันอันแสนโหดร้าย ซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดไม่กี่ประโยคของหญิงชราผู้อยู่ภายใต้ชุดเสื้อผ้าที่โกโรโกโสและดูน่าเวทนานั้น ที่จริงความนิ่งงันของละครเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรูปแบบการนำเสนอของละครโนเลย แต่มาจากการใส่ใจในรายละเอียดของอัตราช้าเร็วของอากัปกิริยาของชีวิตปกติประจำวันและจากทักษะในการดึงรายละเอียดของความรู้สึกของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในเบื้องลึกของสำนึกของคนเรา รายละเอียดที่ว่านี้จะจับต้องได้ก็ต่อเมื่อปรากฏในรูปของการกระทำที่แสดงด้วยอัตราที่ช้ามากๆ เท่านั้นซึ่งในกรณีนี้เทคนิคการแสดงละครโนที่เต็มไปด้วยความเชื่องช้าดูจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

ในขณะที่หญิงชรารอบะหมี่ของเธอให้สุกนั้น ชายคนหนึ่ง (แสดงโดย Masuda Saiki) ได้ปรากฏต่อหน้าเธอโดยอยู่ในชุดของทหารของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น ถ้าหญิงชราเป็นตัวแทนของKomachiหญิงงามอันเป็นตำนานของสมัยHeian ชายคนนี้ก็ต้องเป็นแม่ทัพ Fukakusa ซึ่งตามบทละครโนแล้ว เขาได้มาเยี่ยมแม่นางKomachiทุกคืนเพื่อหวังว่าวันหนึ่งเขาจะได้รับรักจากนาง แต่ในละครเรื่องนี้ด้วยเสียงเพลงLa Vie en Rose และ Dark Sunday จากเสียงขับร้องของ Edith Piaf ที่ฟังดูโหยหวนแตกพร่า ซึ่งมาจากเครื่องเล่นจานเสียงเก่า ๆ ได้เป็น สัญญลักษณ์ของวัยแรกรุ่นที่ได้ผ่านไปเลยลับไม่หวนกลับมานานแล้ว ฉะนั้นอาจจะตีความหมายได้สองอย่าง กล่าวคือเราไม่แน่ใจนักว่าแม่ทัพFukakusaที่เราเห็นนั้นเป็นเพียงสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของเธอ หรือเป็นเครื่องหมายของความปรารถนาของเธอกันแน่

และแล้วอาการฝันกลางวันของหญิงชราก็ถูกทำลายไปด้วยการมาเยือนของเจ้าของห้อง

เช่า(แสดงโดยSegawa Tetsuya) ซึ่งได้แต่เพียงตั้งความหวังว่าเมื่อไหร่หญิงชราที่ไร้ญาติขาด มิตรและขัดสนเงินผู้นี้จะตายเสียที เขาจึงได้เพียรมาหาเธอทุกวัน และพร่ำบ่นถึงเงินค่าเช่าที่ไม่ ได้จ่ายเพื่อกดดันเธอ แต่เธอก็ไม่เคยที่จะเอ่ยปากโต้ตอบ Sato Kazuyo (ผู้รับบทหญิงชรา) ก็ไม่ได้พูดสักคำตลอดเวลาที่แสดง เราทราบจากเจ้าของห้องเช่าว่าเธอเคยปริปากเพียงแค่สามครั้งเท่านั้นตลอดสิบเจ็ดปีที่เธออาศัยที่นี่  ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่าเมื่อไหร่และเพราะอะไรเธอถึงจึงยอมพูดในสามหนนั้น  แต่คำถามนี้ก็ยังเป็นปริศนาจนจบเรื่อง

วิธีการในการแสดงออกทางอารมณ์ที่Satoได้เลือกใช้สำหรับการรับบทบาทครั้งนี้ดูไม่ธรรมดาเป็นอย่างมากจนไม่อาจชี้ชัดได้ว่าการแสดงของเธอนั้น เป็นอาการของคนโง่ทึบหรือเป็นอาการของความสุขที่อยู่อย่างผิดที่ผิดทางบนใบหน้าของเธอกันแน่ แต่ที่เห็นชัดก็คือเป็นการผสมผสาน ของอาการของคนชราที่ยังมักในกามราคะแม้ว่าจะอยู่ในสภาพที่ทุกข์ทนก็ตาม ฉะนั้น ละครเรื่องนี้ จึงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องราวของคนชราผู้น่าสงสารเวทนานอนรอความตายแต่อย่างใด องค์ประกอบอย่างหนึ่งที่สำคัญมากก็คืออารมณ์ขันซึ่งมาจากการแสดงของSatoที่เลือกที่จะแสดงความขมขื่นของเธอออกมาด้วยกิริยาอันดูรื่นรมย์

เหตุการณ์ต่อไปเกิดขึ้นในเช้าวันหนึ่งที่หญิงชราได้เผชิญหน้ากับครอบครัวเพื่อนบ้านครอบครัวหนึ่งซึ่งมีอาชีพเที่ยวเร่โฆษณาประกาศสรรพคุณของสินค้าพื้นบ้านต่างๆซึ่งมีชื่อเรียกใน ภาษาญี่ปุ่นว่าเป็นพวก chindon ซึ่งแปลว่าคนขายแซนด์วิช ในครั้งนี้ หญิงชราได้จินตนาการไปว่าเธอได้มีความสัมพันธ์กับชายหนุ่มของครอบครัวนี้ แต่การฝันนี้ก็ได้ถูกรบกวนอีกครั้งด้วยการเข้า มาหาของเจ้าของห้องซึ่งคราวนี้มาพร้อมกับหมอและพยาบาล เจ้าของห้องบอกหมอและพยาลบาลว่าหญิงชราผู้นี้กำลังจะตายและยังถามและตอบเกี่ยวกับสุขภาพของหญิงชราผู้นี้ซึ่งดูทีท่าแล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะป่วยใกล้ตายแต่อย่างใด ทันใดนั้นเองเสียงของเพลงเต้นรำพื้นเมือง Oklahoma Mixerของอเมริกันก็ได้ดังขึ้น และด้วยจังหวะอันเร้าใจทั้งหมอและพยาบาลและผู้ช่วยของเขาก็ได้ตั้งแถวเต้นรำกันซึ่งก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ภาพความฝันกลางวันของหญิงชราได้ปรากฏขึ้นโดยอาศัยเทคนิคการนำเสนอของการแสดงละครเวทีอย่างปัจจุบันทันด่วน

หลังจากนั้น เมื่อสายลมเริ่มพัดอีกครั้ง เหล่าบรรดานักแสดงประกอบก็ได้เข้ามาอีกครั้ง และค่อยๆยกอุปกรณ์ประกอบฉากที่เป็นห้องของหญิงชราออกไปทางสะพานจนลับตาไปแต่หญิงชรายังคงอยู่ในท่าของการเต้นรำอันแสนยั่วยวนกับชายหนุ่มข้างห้อง และแล้วภาพนั้นก็หายไป และปรากฏว่าเธอก็ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังบนเวทีอีก เธอค่อยๆคู้ตัวฟุบลงและละครก็จบลงจริงอยู่ที่การนำเสนอครั้งนี้ของOta มีอยู่หลายจุดที่ยังขบไม่แตก และบทบาทหลายตอนก็ยังต้องได้รับการปรับ แม้กระนั้นก็ตามผมไม่มีความลังเลใจที่จะกล่าวว่า คณะละครคณะนี้ สามารถสร้างงานที่ได้บรรลุถึงจุดสูงสุดอย่างแท้จริงในประวัติศาสตร์การแสดง ซึ่งเคยมีผลงานมาบ้างก่อนหน้านี้อย่างการแสดง On the Dramatic Passions II ของคณะละคร Waseda Little  Theatre ภายใต้การนำของ Suzuki Tadashi และเรื่อง The Atami Murder Case ของ Tsuka Kohei ผลงานเหล่านี้ไม่ได้แสดงอานุภาพเพียงแค่ช่วงขณะใดขณะหนึ่ง แต่วิสัยทัศน์จากงานเหล่านี้สามารถหยั่งลึกไปได้ถึงระดับที่ผู้เขียนบทเองก็ไม่คาดคิดมาก่อน และ สามารถเป็นตัวแทนสูงสุดของพลังอำนาจของแนวความคิดสร้างสรรค์ของละครที่มีแนวการนำเสนอแบบนี้อีกด้วย จากนี้ไปOta และ Transformation Theatre ของเขา อาจจะตัดสินใจที่จะแสดงผลงานที่มีความหลากหลายด้วยแก่นเรื่องเดียวกันนี้ แต่ผมเชื่ออย่างยิ่งว่า งานชิ้นแม่บทอย่างเรื่องนี้ได้ถึงจุดสุดยอดของมันแล้วและไม่สามารถพัฒนาได้อีกต่อไป

โดยสรุป Otaควรจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เปิดอาณาบริเวณใหม่ให้ละครร่วมสมัยญี่ปุ่น ได้ก้าวเดิน ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้พึ่งพาใด ๆ ทั้งบทสนทนาและแนวการร่ายรำแบบไหน อีกทั้งมัน

ก็ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ภาพตัดแปะตามแบบของ collage play กลวิธีการนำเสนอที่เลือกใช้ในเรื่องนี้ มีเอกลักษณ์และสร้างสรรค์อย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ลักษณะอารมณ์สุนทรีและการเคลื่อนไหว ตามแบบศิลปะญี่ปุ่นเพื่อใช้ในการนำเสนอภาพชีวิตประจำวันร่วมสมัยในญี่ปุ่นเองได้อย่างมีอารมณ์ ขันและอย่างชาญฉลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้พื้นที่ของเวทีละครโนของเขา ซึ่งศิลปินร่วมสมัยหลายๆคนปฏิเสธที่จะใช้แต่Otaสามารถเสนอแนะวิธีใช้ได้อย่างเหมาะสมกับงานละครแนวทดลองของคณะละครของเขา

 

ภัทร ด่านอุตรา :  ผู้แปล

 

แปลจาก:       Akihiko, Senda. Translated into English by J.Thomas Rimer.  “The No Stage, Newly Activated The Legend of Komachi ” (กำกับและเขียนบทโดย Ota Shogo ผลิตโดย The Transformation Theatre, 1977) The Voyage of Contemporary Japanese Theatre. Honolulu: University of Hawaii Press, 1997, pp 71 –76.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บทวิเคราะห์

 

ความเป็นนักวิจารณ์ตามสื่อสิ่งพิมพ์ที่โดดเด่นแห่งยุคสมัย  ทำให้ผู้เขียนกล้าที่จะเริ่มต้นบทความชิ้นนี้ด้วยการบอกว่าหน้าที่หนึ่งของนักวิจารณ์เช่นเขาคือการตรวจสอบว่าผลงานของศิลปินหน้าใหม่คนไหนบ้างที่น่าสนใจ และได้โยงประเด็นสู่การยกตัวอย่างผลงาน The Legend of Komachi ที่นำมาวิจารณ์ว่าเป็นละครเรื่องหนึ่งที่จุดดีของงานชิ้นนี้สามารถชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของผลงานจากนักการละครหน้าใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังใช้เป็นแนวทางในอนาคตได้อีกด้วย แม้ว่าเหตุผลหนึ่งที่ผู้วิจารณ์ใช้นำมาสนับสนุนความคิดของตนเอง คือการเป็นคนดูมากและติดตามพัฒนาการของคณะละครต่าง ๆ มามาก แต่ดูว่าข้อมูลที่ผู้อ่านบทความชิ้นนี้จะใช้ประกอบการมีความคิดคล้อยตามผู้วิจารณ์จะมาจากการบรรยายความงามของละครเรื่องนี้มากกว่า

จุดเด่นของบทวิจารณ์นี้คือ การพรรณนาภาพและเสียงที่ปรากฏขึ้นบนเวที เพื่อดึงพาคนอ่านที่ไม่ได้ชมการแสดงนี้เข้าไปสู่บรรยากาศของการแสดงจริง ๆ ซึ่งแนวการเขียนแบบนี้ไม่ใช่เพื่อวัตถุประสงค์ในการเล่าเรื่อง เพราะสิ่งที่บทวิจารณ์ชิ้นนี้นำเสนอก็ไม่ใช่การเล่าเรื่อง แต่เป็นการเล่าวิธีการนำเสนอ ที่จำเป็นต้องบรรยายการแสดงเพราะสุนทรียะของละคร The Legend of Komachi นี้ขึ้นอยู่กับบรรยากาศและความต่อเนื่องของการนำเสนอ วรรณศิลป์ของบทวิจารณ์ ทำให้ผู้ที่อ่านบทความชิ้นนี้สามารถเข้าใจการแสดงนี้ได้ดีแม้ว่าไม่ได้ไปชมก็ตาม และยังสามารถกระตุ้นให้เกิดความอยากไปชมด้วยซ้ำแม้ว่าจะทราบแล้วว่าละครเรื่องนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร เพราะจากการอ่านบทวิจารณ์นี้ผู้อ่านสามารถเกิดทัศนคติได้ว่าละครเวทีไม่ได้มีเพียงเรื่องราวอย่างเดียวที่จะนำเสนอ แต่ยังมีกลวิธีการนำเสนอซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของละครมากกว่าตัวเรื่องเสียอีก

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการประเมินคุณค่าทางวรรณศิลป์ของบทวิจารณ์นี้มีข้อต้องพึงสังวรว่า บทความที่ใช้วิเคราะห์เป็นภาษาอังกฤษที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นอีกที ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนของคำและความหมายของคำได้ในการแปล

แม้ผู้วิจารณ์ไม่ได้ใช้ทฤษฎีวิชาการอะไรมาอ้างอิง แต่ตัวบทวิจารณ์นี้ก็แฝงเหตุผลทางสุนทรียะการละครเพื่ออธิบายจุดดีของละครเรื่องที่วิจารณ์ ซึ่งได้แก่หลักของมิติทางเวลาและสถานที่ The Legend of Komachiใช้เวลาที่ช้ามากในการแสดงอากัปกิริยาอันสามัญผิดแผกจากโลกของความเป็นจริง และใช้สถานที่ในการแสดงซึ่งเป็นเวทีละครโนซึ่งมีรากฐานของการเสนอละครที่ผูกพันธ์กับศาสนาและแก่นเรื่องเชิงโลกุตตระ

ผู้วิจารณ์ได้กล่าวชื่นชมอย่างชัดเจนว่าผู้กำกับ และผู้เขียนบท Ota Shogo สามารถเข้าถึงหัวใจและจิตวิญญาณของละครโนได้เป็นอย่างดีและนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างแยบคาย ผิดกับความพยายามก่อนหน้านี้ของศิลปินคนอื่น ที่แม้จะใช้เวทีโนแต่ก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างชาญฉลาดและสร้างมิติทางความหมายของสถานที่มาได้ ละครThe Legend of Komachi ไม่ได้ช้าเพราะเพียงต้องการจะลอกรูปแบบจังหวะที่ช้าของละครโน แต่ช้าเพราะต้องการชี้ให้ผู้ชมมีวิจารณญาณต่อเรื่องราวปกติประจำวันที่อยู่รอบตัว และไม่ได้ใช้เวทีละครโนเพราะเพียงต้องการพื้นที่ในการแสดงที่แปลกใหม่ แต่ต้องการสร้างความหมายที่เสียดสีล้อกันระหว่างโลกอุดมคติระดับโลกุตตระของขนบเรื่องที่นำมาเสนอบนเวทีโน กับโลกโลกียะร่วมสมัยที่อยู่ในแก่นเรื่องThe Legend of Komachiที่นำเสนอ

ผู้วิจารณ์ได้ใช้คำที่อธิบายได้ดีว่าการแสดงชิ้นนี้ว่าไม่ได้เป็นเพียงแค่ collage play คือการปะติดปะต่อลักษณะการนำเสนอของแนวละครหลากรูปแบบอย่างขาดเหตุผล แต่เป็นการนำมาผสมกลมกลืนอย่างเข้าใจถึงรากและธรรมชาติของศิลปะแต่ละรูปแบบ (ในกรณีนี้คือละครโน และละครทดลองเสียดสีสังคมร่วมสมัย) นอกจากนี้ยังไม่ลืมที่จะช่วยเสริมความรู้ของผู้ที่ไม่ได้คุ้นกับวัฒนธรรมวรรณกรรมการละครญี่ปุ่นอีกด้วยว่า นัยเสียดสีในละครเรื่อง The Legend of Komachi นี้ไม่ได้ปรากฏแต่เพียงระดับกายภาพคือการใช้เวทีละครโนเท่านั้น แต่ยังหยั่งไปถึงรากเง้าของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ด้วยการเอาชื่อตัวละครจากบทละครโนที่เป็นหญิงงามชื่อ Komachi ที่สวยจนมีผู้ชายระดับนายพลมาง้องอน อันเป็นตัวแทนของคตินิยมสตรีเลอโฉมตามแบบฉบับญี่ปุ่น มาเปรียบเปรยอย่างประชดประชันกับตัวเอกในฉบับของ Ota Shogo ที่เป็นหญิงชราไร้ซึ่งทั้งความงามและคนมาหลงรักในยุคสังคมเสื่อมในปัจจุบัน

สำหรับผู้อ่านคนไทย บทวิจารณ์ชิ้นนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้านักการละครไทยจะโยงสภาพของแวดวงละครเวทีสมัยใหม่ในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่1970 ให้ได้กับสภาพละครเวทีไทยในปัจจุบัน ที่ขาดแคลนศิลปินการละครหน้าใหม่ที่มีฝีมือ และมีแนวโน้มในการผลิตละครเวทีเชิงทดลองที่ประยุกต์เอาองค์ประกอบการนำเสนอของนาฏศิลป์ไทยมาใช้ บทวิจารณ์นี้อาจส่องทางให้กับศิลปินละครร่วมสมัยไทยให้ได้ข้อคิดบ้างว่า ด้วยกลวิธีและด้วยหลักการใด จึงจะนำเสนอละครเชิงนาฏศิลป์ไทยประยุกต์ หรือละครที่มีลักษณะอิงกับนาฏศิลป์ไทยอย่างสร้างสรรค์ได้

แม้ว่าบทความชิ้นนี้จะมุ่งพูดถึงประเด็นทางสุนทรียศาสตร์ละครเวทีเป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้มองข้ามมิติทางสังคมของชิ้นงานที่วิจารณ์ แม้ผู้วิจารณ์ไม่ได้บอกโดยตรงว่าละครเรื่องนี้เป็นละครวิจารณ์สังคม แต่การที่พูดถึงตัวละคร และตัวประกอบอื่น ๆ ที่มาจากสถานะต่าง ๆ ของสังคม ประกอบกับการบรรยายสภาพที่ถูกทอดทิ้งของหญิงชราตัวเอก ก็สามารถเกิดภาพความคิดได้โดยไม่ยากว่าในสังคมร่วมสมัยของญี่ปุ่นในยุคทศวรรษ1970นั้น ปัญหาคนแก่ถูกทอดทิ้ง และปัญหาของสังคมอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบครอบครัว นั้นสำคัญอย่างไร  และยังแฝงให้ผู้อ่านได้เข้าใจได้เองอีกว่าละครเรื่องนี้สามารถนำเสนอประเด็นข้างต้นได้อย่างน่าสนุกสนานน่าติดตาม และเต็มไปด้วยความเสียดสี

ในแง่ความเป็นนักเขียนตามสื่อสิ่งพิมพ์ ผู้วิจารณ์สามารถเขียนได้กระชับใช้สอยเนื้อที่ที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกล้าพูดอย่างฟันธงตอกย้ำความคิดเห็นและมีน้ำเสียงในการนำเสนอความคิดอย่างชัดเจน ว่างานชิ้นนี้เป็นงานที่ดีมาก จนกระทั่งไม่ต้องแก้ไขอะไรแล้ว (แต่ก็มิวายพลาด เขียนขัดแย้งตัวเอง ตรงประโยคที่ยอมรับว่างาน The Legend of Komachi ชิ้นนี้มีข้อบกพร่องอยู่เหมือนกัน)

บทวิจารณ์ The No Stage, Newly Activated นับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนธรรมชาติของผลงานที่มาจากนักวิจารณ์ที่มาจากทางสายสื่อสิ่งพิมพ์ (journalist critic) ได้ดี ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่ให้ความสนใจกับการใช้ทักษะทางภาษามาโน้มน้าวความคิดมากกว่าที่จะใช้หลักทฤษฎีวิชาการ กล้าที่จะนำเสนออัตตวิสัยทางความคิดของตนเองโดยไม่กลัวผิดพลาด และใช้ประโยชน์และความได้เปรียบของความเป็นผู้ดูผลงานมามากตามประสาสื่อมวลชนในการสร้างข้อสรุปทางความคิดของตนเอง กระนั้นก็ตามผู้วิจารณ์ซึ่งจัดได้ว่าเป็นแถวหน้าและเป็นผู้อาวุโสของวงการวิจารณ์ละครเวทีสมัยใหม่ของญี่ปุ่นก็ไม่ได้ใช้ธรรมชาติต่าง ๆ ที่ยกมาข้างต้นมาสร้างงานวิจารณ์ไปในแนวทางที่เต็มไปด้วยอคติ ในทางตรงกันข้ามสามารถนำเสนอไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะในอันที่จะสะท้อนบริบทของปัญหาละครเวทีร่วมสมัยของญี่ปุ่นในยุคทศวรรษ1970  พร้อมทั้งแฝงหลักการทางสุนทรียะของศิลปะการละคร และซ่อนนัยของมิติทางสังคมไว้ได้โดยไม่ยัดเยียดอีกด้วย

นับว่าเป็นบทวิจารณ์ที่ก่อให้เกิดพลังทางปัญญา สามารถนำตัวงานที่ถูกพูดถึงคือละครเรื่อง The Legend of Komachi นี้ไปมองต่อได้หลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นด้วยหลักสังคมศาสตร์ จิตวิทยา สตรีศึกษา หรือโครงสร้างนิยม สำหรับผู้ที่จะใช้ทฤษฎีตามแนวตะวันตกมาจับ หรือมองด้วยหลักสุนทรียะตะวันออกสำหรับผู้ที่สนใจละครเอเซีย หรือมองด้วยมุมมองของการนำเสนอสำหรับผู้ที่เป็นนักปฏิบัติ หรือแม้แต่จะชื่นชมในฐานะที่เป็นคนดูธรรมดาคนหนึ่ง

 

ภัทร ด่านอุตรา : ผู้วิเคราะห์

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *