จะแยกวรรณศิลป์ออกจากคีตศิลป์ได้ละหรือ

จะแยกวรรณศิลป์ออกจากคีตศิลป์ได้ละหรือ

คอนเสิร์ตครูแก้ว

(วงซิมโฟนีกรุงเทพ)

เจตนา  นาควัชระ

          รายการ บีเอสโอ บรรเลงเพลงครูแก้ว  ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ณ  ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย  เป็นความพยายามที่น่ายกย่อง  และก็น่าเห็นใจ  ในการที่จะให้เกียรติโดยเฉพาะกับครูแก้ว  อัจฉริยะกุล ในฐานะผู้ประพันธ์คำร้องที่โดดเด่นที่สุดในประวัติเพลงไทยสากล  และในฐานะผู้ได้ร่วมงานกับคีตกวีแนวหน้าของไทย  คือ  เอื้อ  สุนทรสนาน  นารถ  ถาวรบุตร  เวส  สุนทรจามร  สง่า  อารัมภีร์  และ หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์   โจทย์ที่ยากยิ่งก็คือ  จะสื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่ของผู้ประพันธ์เนื้อร้องได้อย่างไร  โดยใช้รูปแบบของการแสดงดนตรีดังที่ทำกันมา  รายการวันที่ 19 ธันวาคม เดินตาม  BSO บรรเลงสุนทราภรณ์  คือมอบหมายงานให้ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีคลาสสิกปรับเพลงไทยสากลให้วงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพบรรเลง  โดยเชิญวาทยกรที่เชี่ยวชาญด้านดนตรีทั้งคลาสสิกและไทยสากลมาเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งเชิญนักร้องระดับดารามาร่วมแสดงด้วยหลายคน  ถ้าเป็นรายการเชิดชูครูเพลงผู้ประพันธ์ทำนองก็คงจะไม่เกิดปัญหาอันใด  แต่ถ้าจะใช้วิธีที่กล่าวมานี้เชิดชูผู้แต่งคำร้องแล้วละก็  ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้จัดงานคงจะต้องคิดให้หนัก  แต่เท่าที่สังเกตได้   รายการแสดงครั้งนี้ก็ใช้วิธีการจัดคอนเสิร์ตแบบเดิมๆ  และผู้ทำหน้าที่ชี้ให้เห็นความโดดเด่นของงานของครูแก้วได้อย่างชัดเจนก็คือพิธีกร  อรอนงค์  เสนะวงศ์ นั่นเอง  เธอใช้ความเป็นอักษรศาสตร์ของเธอได้อย่างสมภาคภูมิ  แต่นั่นก็เป็นเพียงวาทกรรม  ฝ่ายร้องและฝ่ายดนตรีไม่ได้รับการชักชวนให้คิดใหม่แต่ประการใด  ก็ยังคงร้องและบรรเลงไปตามที่เคยทำมา

ผมลองคิดหวนกลับไปสู่วงการดนตรีคลาสสิกตะวันตก  โดยเฉพาะวงการอุปรากร  แล้วลองตั้งคำถามว่า  ถ้าวงการตะวันตกจะจัดงานเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของผู้ที่ประพันธ์ตัวบทและคำร้องอุปรากรให้แก่ Mozart คือ Lorenzo da Ponte (1749-1838) และผู้ร่วมงานของ Verdi คือ Arrigo Boito (1842-1918)  เป็นการเฉพาะแล้วละก็  เขาจะจัดงานอย่างไร  ผมคิดว่าเขาคงยกธงขาว  เพราะถึงอย่างไร  ถ้าจัดในรูปการแสดง  ก็คงจะแยกโมสาร์ทและแวร์ดิออกไปไม่ได้  แต่ผมว่าไทยเราทำได้  เพราะถ้ารู้จักแผ่นดินแม่ดีก็คงจะไม่ลืมว่า  บทละครที่โดดเด่นของเราแต่งขึ้นในรูปของพระราชนิพนธ์  เช่น  อิเหนา  แล้วก็ใส่เพลง  คือนำทำนองที่มีผู้แต่งเอาไว้แล้วมาใช้ในการขับร้อง  กรณีของเพลงไทยสากลไม่ง่ายอย่างนั้น  แต่เราก็ได้ลองทำกันไปแล้ว  คือยึดเรื่องความประสานสัมพันธ์ระหว่างคีตศิลป์กับวรรณศิลป์เป็นหลัก  แล้วชักชวนให้นักร้องที่มีความสามารถและมีความเข้าใจในศิลปะทั้งสองด้านให้หันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการตีความ  โดยเริ่มต้นที่การวิเคราะห์เนื้อร้องก่อน  ซึ่งวิธีการที่ว่านี้  คุณมัณฑนา  โมรากุล  ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้กับผู้วิจัยโครงการ “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย” ซึ่งอาสาเข้ามาจัดการสัมมนา “มัณฑนาวิชาการ” และรายการแสดงดนตรี “เบิกฟ้า  มัณฑนา  โมรากุล” เมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546  นอกจากนั้น เมื่อได้มีการเชิญคุณรวงทอง  ทองลั่นธม มาทำชั้นเรียนตัวอย่าง (Master Class)  เมื่อปี 2550  เธอก็ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า  ถ้าเข้าใจเนื้อร้องอย่างถ่องแท้แล้ว  นักร้องจะตีความได้อย่างเหมาะสม  ได้มีการทดลองเพิ่มเติมไปจากนั้นคือ  ในการแสดงสาธิตในรายการ “เมื่อวรรณศิลป์ส่องทางให้คีตศิลป์”   เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558  นี่เองที่หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    นักร้องที่ออกแสดงพร้อมกับวงสุนทรภรณ์ทุกคนสามารถจับมโนทัศน์ (concept) ของเพลงแต่ละเพลงได้  และในการร้องก็ตีความตามแนวที่คุณมัณฑนาและคุณรวงทองได้ถ่ายทอดเป็นมรดกแห่งความรู้เอาไว้ให้  ถ้าทำอย่างนี้แล้วก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  ครูแก้วมีบทบาทที่ทัดเทียมกับผู้แต่งทำนอง  เพราะการกำหนดทิศทางของการร้องและการบรรเลงเริ่มต้นที่การวิเคราะห์เนื้อเพลง แล้วจึงประสานเนื้อร้องเข้ากับทำนอง

สำหรับรายการ บีเอสโอบรรเลงเพลงครูแก้ว นั้น  ก็คงจะต้องให้การยอมรับอาจารย์นรอรรถ จันทร์กล่ำ  และผู้เรียบเรียงเพลงในทีมของท่านว่า  ตั้งใจทำงานมาอย่างดี  เพลงที่เรียบเรียงใหม่บางเพลงโดดเด่นพอๆ กับชุด  BSO Plays Suntaraporn  ดังตัวอย่างเพลง  ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น  (ทำนอง  เอื้อ  สุนทรสนาน  คำร้อง  แก้ว  อัจฉริยะกุล)  เสียงของวงสง่างาม  โดยเฉพาะเครื่องเป่าโดดเด่นเป็นพิเศษ  เพลง ลุ่มเจ้าพระยา  ก็เช่นกัน (ทำนอง  นารถ  ถาวรบุตร  คำร้อง  แก้ว  อัจฉริยะกุล)  เป็นการเรียบเรียงเพลงที่ซับซ้อนหลายชั้น  และลงตัวเป็นอย่างดี  การตัดสินใจเชิญ “คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู” มาในรายการนี้  ทำให้ได้มิติใหม่ที่น่าทึ่ง  แต่ก็อีกนั่นแหละ  ผู้ที่ไม่ได้รู้จักจุดกำเนิดของเพลงบางเพลง  ซึ่งมีบริบททางวัฒนธรรม  สังคม และการเมือง  ก็คงจะไม่เข้าใจว่า  เพลงบางเพลงเกิดขึ้นในลักษณะเช่นใด  ดังเช่นเพลง  บ้านเกิดเมืองนอน  ซึ่งเป็นเพลงปลุกใจที่คนรุ่นผมได้ยินติดหูมาตั้งแต่เด็ก  และจนบัดนี้ก็ยังไม่ตาย ผมรู้สึกว่า การเรียบเรียงเสียงประสานไม่ถึงใจ ดูกล้าๆ กลัวๆ อยู่ในที  เพราะเรื่องความรักชาติแบบคนรุ่นโบราณนั้นตกยุคไปเสียแล้ว  ถ้าจะพูดถึงการใช้วงซิมโฟนีบรรเลงเพลงไทยสากลดังเช่นในรายการนี้  ก็คงต้องยกให้วงบีเอสโอเป็นผู้ครองแชมป์ไปก่อน  เพราะเหนือชั้นกว่าวงอื่นมากนัก แต่เราคงจะต้องไม่ลืมบรรพบุรุษ  อันที่จริงวงดนตรีสากลของกรมศิลปากรเป็นผู้บุกเบิกในการนำวงดนตรีขนาดใหญ่มาใช้บรรเลงเพลงไทยสากลก่อนหน้านี้มานานนักแล้ว

คอนเสิร์ตครูแก้ว3

(ธีรนัย ณ หนองคาย)

          ถ้าจะพิจารณาเรื่องของการขับร้องบ้าง  การบรรเลงในลักษณะนี้ไม่ใช่ของง่าย  โดยเฉพาะการที่จะจับวิญญาณของเพลงให้ได้ไปพร้อมกับการปรับการร้องให้เข้ากับวงซิมโฟนีขนาดใหญ่  กล่าวได้อย่างไม่ต้องมีข้อกังขาใดๆ เลยว่า  ในรายการนี้มีนักร้องคนเดียวเท่านั้นที่คุ้นชินกับการร้องโดยมีวงซิมโฟนีคลอไปด้วย  เธอคือ  ธีรนัยน์  ณ หนองคาย  เพียงได้ยินเพลงแรก คือ หงส์เหิน (ทำนอง  เวส  สุนทรจามร)  เราก็ต้องยอมสวามิภักดิ์ต่อเธอแล้ว  ทั้งนี้ไม่จำเป็นจะต้องอธิบายว่าทั้งเสียงและวิธีการร้องของเธอบ่งบอกว่าได้รับการฝึกฝนมาในทางคลาสสิกอย่างดียิ่ง  ผมว่าถ้าถอนไมโครโฟนทิ้งไป  เธอก็คงสามารถจะสู้กับวงซิมโฟนีได้ดังเช่นนักร้องอุปรากร  แต่เราจะต้องไม่ลืมว่า  เพลงไทยสากลเกิดขึ้นพร้อมกับการใช้เครื่องขยายเสียง  เพราะฉะนั้นเสียงร้องที่เหมาะสมก็คือเสียงซึ่งผ่านไมโครโฟนและระบบขยายเสียง  ในแง่นี้  ไม่ว่านักร้องจะมาจากสายคลาสสิกหรือสายป๊อบ  ความได้เปรียบเสียเปรียบก็ไม่น่าจะมี  ถ้าผมจะหาเรื่องค่อนแคะธีรนัยน์บ้างเพื่อขอหักคะแนนจาก 100% ให้แหลือแค่ 98%  ผมก็คงจะต้องบอกว่า  การใช้เสียงสั่น (vibrato) ของเธอยังไม่ลงตัวในทุกที่  บางตอนอาจมากไป  บางตอนอาจน้อยไป  บางตอนอาจเร็วไป  บางตอนอาจช้าไป  ประเด็นทางเทคนิคเล็กๆ เหล่านี้ควรจะปรับได้ถ้าปรึกษากับวาทยกรเสีย  แต่สิ่งที่ธีรนัยน์มีติดตัวมาและนักร้องส่วนใหญ่ไม่มี  นั่นก็คือการทำเพลงให้เป็นละคร  ทั้งนี้เพราะเธอมีประสบการณ์ในการแสดงละครเพลง (musical)  ต่อเนื่องมาหลายปี  และในกรณีของเพลง ใต้ร่มมลุลี   จากละครเรื่อง จุฬาตรีคูณ  ซึ่งเธอร้องคู่กับ กรกันต์  สุทธิโกเศศ   ซึ่งก็มีประสบการณ์ในการแสดงละครเพลงมาเช่นกัน  ผมต้องยอมรับว่าไม่เคยได้ยินได้ฟังการร้องเพลงคู่ที่มีลักษณะเป็นละครอยู่ในเนื้อในได้เหมาะสมเช่นนี้  นักร้องอื่นๆ น่าจะรับฟังเอาไว้  แต่อย่าลอกแบบเป็นอันขาด  เพราะความจัดเจนเหล่านี้ต้องมาจากประสบการณ์จริง  กล่าวได้ว่าการร้องคู่ของธีรนัยน์และกรกันต์เท่ากับเป็นการยืนยันว่า  เพลงที่ครูแก้วแต่งเนื้อและครูเอื้อแต่งทำนองให้ละครเรื่อง จุฬาตรีคูณ นั้น  เป็นเพลงละครอันสมบูรณ์แบบ  และ  ณ  จุดนี้  การเลือกนักร้องสำหรับชุด จุฬาตรีคูณ จึงมีปัญหาอย่างเลี่ยงไม่ได้  เช่นมีการมอบให้  สุเมธ  องอาจ  ร้องเพลง  อ้อมกอดพี่  ต่อจาก  ใต้ร่มมลุลี  ผู้ฟังย่อมอดเปรียบเทียบไม่ได้  แม้ว่าสุเมธจะพยายามปรับเสียงให้เข้ากับวง  ซึ่งในกรณีนี้แสดงตัวเป็นวงซิมโฟนีอย่างเต็มรูป  เขาก็ไปไม่ถึงจุดหมาย  แต่ที่น่าประหลาดก็คือ  เมื่อสุเมธร้องเพลงที่เคยทำให้เขาโด่งดังมาแล้ว  เช่น  พรานล่อเนื้อ  วงซิมโฟนีก็ประทุษร้ายเขาอย่างไม่เพลามือลงเลย  เพราะน้ำเสียงและวิธีการร้องของเขาเหมาะกับดนตรีอีกประเภทหนึ่ง  และวาทยกรก็ดูจะสนใจกับการกำกับวงดนตรีให้ได้รสอย่างเต็มที่  โดยไม่ใส่ใจว่าจะวางนักร้องไว้ตรงไหนในอาณาจักรอันไพศาลของซิมโฟนีออร์เคสตรา  ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับว่าจะมีการใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่  แต่เป็นเรื่องของสไตล์

คอนเสิรืตครูแก้ว 4

(ศรวณี โพธิเทศ)

          เมื่อสภาพทั่วไปเป็นเช่นนี้   แล้วจะเอาครูแก้วไปวางไว้ ณ  ที่ใด  ภาษาวรรณศิลป์ของครูแก้วต้องการนักร้องที่เข้าใจเพลงตามที่คุณมัณฑนาและคุณรวงทองได้เน้นย้ำเอาไว้  การเชิญนักร้องอาวุโส คือ ศรวณี  โพธิเทศ  มาร่วมงานครั้งนี้และให้โอกาสเธอได้ร้องเพลงถึง 3 เพลง  นับว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าจะช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับครูแก้ว  แต่ผมสังเกตได้ว่า การร้องของศรวรณี  โพธิเทศ  ในครั้งนี้  ดูจะออกอาการเกร็งมากกว่าที่ผมได้เคยมีประสบการณ์มา  ผมยังจำเพลง ธรรมชาติกล่อมขวัญ  ที่เธอร้องในรายการ  “เบิกฟ้า  มัณฑนา  โมรากุล” เมื่อปี 2546 ได้ว่าเป็นสุดยอดของการตีความที่เป็นแบบอย่างแก่นักร้องอื่นได้ตลอดไป  มาครั้งนี้เธอร้องเพลง  เมื่อไหร่จะให้พบ  ของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์อย่างระมัดระวัง  เกาะจังหวะแน่น  อาจจะแน่นเกินไปจนเกิดความเครียด  เพลงที่มีจังหวะกระชับและกระชั้นเช่นนี้อาจจะกินแรงมากเกินไปสำหรับนักร้องที่อายุขึ้นเลข 7 แล้ว  เช่นเดียวกับเพลง  โอ้ยอดรัก ของครูเอื้อ  สุนทรสนาน  ศรวณีร้องเน้นเป็นห้วงๆ   ขาดความเป็นธรรมชาติ  ผมเดาเอาว่าคงมีเวลาซ้อมกับวงน้อยมาก  แต่เธอมีโอกาสกู้สถานการณ์กลับมาได้ภายหลังเมื่อร้องเพลง  ละครชีวิต นำหมู่คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลู  ซึงเรียกได้ว่าลงตัวอย่างสมบูรณ์  ถึงอย่างไรก็ตาม  นักร้องทีมี่ประสบการณ์สูงอย่างเธอย่อมรู้ดีว่า  การออกเสียงภาษาไทยในเพลงไทยสากลควรจะทำเช่นใด  ซึ่งต่างจากนักร้องยอดนิยมที่เชิญมาในครั้งนี้  ซึ่งดูจะพิสมัยเสียง /sh/ ของภาษาอังกฤษมากเกินพอดี

เรื่องของการตีความเป็นเรื่องที่วงการเพลงไทยสากลไม่ค่อยให้ความใส่ใจมากนัก  เพราะเข้าใจว่าร้องได้ไพเราะหรือสร้างอารมณ์ได้ก็ดีแล้ว   ต้องยอมรับว่า  พิจิกา จิตตะปุตตะ  ตั้งอกตั้งใจในการร้องเพลงที่ได้รับมอบหมายให้ร้องในครั้งนี้อย่างจริงจังและพยายามที่จะตีความ  ดังเช่นในกรณีของเพลง  ลาแล้วจามจุรี  ความที่เธอเป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ  เธออาจจะซึ้งกับความหมายของเพลงนี้มากกว่าคนที่ไม่ได้ผ่านมหาวิทยาลัยโบราณของประเทศไทยแห่งนี้มา  แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าเรื่องของศิลปะนั้นประสบการณ์ตรงอาจจะมิได้มีค่าเหนือประสบการณ์ทางศิลปะ  มีใครที่จะกล้าปฏิเสธว่า  มัณฑนา  โมรากุล ซึ่งไม่ได้เคยมีโอกาสได้เรียนจุฬาฯ  ร้องเพลง  ลาแล้วจามจุรี  ได้ซึ้งถึงขนาดที่ทำให้คนจุฬาฯ เองต้องน้ำตาซึมกันมามากแล้ว  กล่าวโดยสรุป  พิจิกาตั้งอกตั้งใจที่จะเค้นอารมณ์มากเกินไป  จึงอาจจะเกินพอดีไปบ้าง    เกี่ยวกับเรื่องนี้ครูเอื้อเคยสอนคุณรวงทองว่า  เมื่ออารมณ์อันลึกซึ้งแฝงอยู่ในเนื้อในของเพลงแล้ว  นักร้องไม่ต้องไปเค้นอารมณ์จนเกินงาม  น่าประหลาดที่สุด  นักร้องที่ดูจะเข้าใจว่าการตีความคืออะไรกลับกลายเป็นคนที่มาจากพื้นเพของการร้องกับวงบิ๊กแบนด์ที่ชอบเล่นแบบแสบแก้วหู นั่นคือ  สมาชิก “คลื่นลูกใหม่” ของสุนทราภรณ์  คือ ชาตรี  ชุ่มจิตร  ในเพลง ข้างขึ้นเดือนหงาย  ฟังดูแล้วจับความได้ว่า  ความแตกต่างระหว่างเมืองกรุงกับชนบทที่ครูแก้ววางไว้เป็นวิภาษวิธีต่อกันในเนื้อร้องนั้น  ได้รับการตีความออกมาเป็นความแตกต่างในการเปล่งทำนองได้ด้วย  นั่นคือ ความประสานสัมพันธ์ระหว่างวรรณศิลป์กับคีตศิลป์ที่นักร้องโดยทั่วไปควรจะใส่ใจ  เมื่อผมได้ทราบแต่แรกว่า  ชาตรีได้รับมอบหมายให้ร้องเพลงนี้ ผมตกใจเป็นอย่างยิ่ง  เพราะกลัวว่าพื้นเพสุนทราภรณ์จะทำให้เขาเปิดเทปที่ เลิศ  ประสมทรัพย์ ร้องเอาไว้ แล้วร้องตามไป  แต่ที่ไหนได้  เขากลับตีความใหม่ได้สำเร็จ  น่าชื่นชมจริงๆ  สำหรับนักร้องสุนทรภรณ์อีกคนคือ  สุบงกช  ทองช่วง  ซึ่งร้องเพลง  ถิ่นไทยงาม  นั้น  เลี่ยงปัญหาการร้องกับวงซิมโฟนีได้ยาก  เพราะเธอไม่มี  vibrato จึงทำให้เธอทอดเสียงยาวด้วยความยากลำบาก  นักร้องสุนทราภรณ์มีทั้งที่มี vibrato และไม่มี vibrato ในการร้องกับวงบิ๊กแบนด์จะไม่เกิดปัญหามากนัก  แต่กับวงซิมโฟนีเป็นปัญหาแน่  สำหรับนักร้อง “คลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์” อื่นๆ แม้ได้รับบทรองในการแสดงครั้งนี้  แต่ก็พาตัวไปรอด เพราะรู้จักเพลงดี  ถึงเวลาซ้อมจะมีน้อย  แต่เมื่อเขามากันเป็นหมู่  เขาก็ไม่กลัววงซิมโฟนีแต่ประการใดเลย

ข้อสรุปที่ผมจะให้ได้กับการแสดงในครั้งนี้ก็คือ  การเลือกนักร้องให้เหมาะกับเพลงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  และการนำวงดนตรีขนาดใหญ่มาบรรเลงเพลงไทยสากลในลักษณะนี้จำเป็นต้องมีการฝึกซ้อมกับนักร้องอย่างพอเพียง  หาไม่จะไปกันคนละทิศละทาง  รายการนี้เป็นรายการสุดท้ายของการฉลอง 100 ปีชาตกาลของครูแก้ว  อัจฉริยะกุล  เท่ากับเป็น “finale” ของงานที่จัดต่อเนื่องตลอดทั้งปี   การนำวงซิมโฟนีมาสร้างความสง่างามและโอ่อ่าในทางคีตศิลป์นั้นทำได้ไม่ยากนัก  แต่การจะใช้การแสดงดนตรีเป็นเครื่องมือในการเน้นคุณค่าของวรรณศิลป์นั้นต้องการการพัฒนาความสามารถในการตีความในระดับสูงมาก  โดยหลักการแล้ว  เราจะแยกวรรณศิลป์ออกจากคีตศิลป์ได้ยากมาก

ผมนึกหวนกลับไปถึงภาพที่ครูเอื้อกับครูแก้วจูงมือกันไปขึ้นรถที่ครูดำเป็นคนขับ  เพื่อกลับกรุงเทพฯ หลังรายการอภิปรายที่มหาวิทยาลัยศิลปากร นครปฐม  เมื่อเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2522  มันเป็นประสบการณ์ที่กลายเป็นมโนภาพซึ่งฝังใจผมตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา  แล้วผมก็ต้องให้ข้อวินิจฉัยในขั้นสุดท้ายว่า  อย่าไปพรากวรรณศิลป์กับคีตศิลป์ออกจากกันเลย  เสียเวลา  เสียของ  เปล่าประโยชน์

12395437_10153666789670700_438814730_n

(นักน้อง วาทยกร และ รมว. การท่องเที่ยวฯ)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *