การบริหารความเสี่ยง : วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การบริหารความเสี่ยง : วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

nok noraath

(faceboo Nok Nora-Ath)

เจตนา  นาควัชระ

 

          “วงนักเรียน”  ที่เล่นได้ขนาดนี้  และกล้าบรรเลงดุริยางคนิพนธ์เหล่านี้  สมควรได้รับการยกย่อง  รายการแสดงดนตรีที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อคืนวันที่ 16 มีนาคม 2559  แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์ชัดว่า  ครูบาอาจารย์และนิสิตของจุฬาฯ กล้าเสี่ยงในการเสนอรายการที่ไม่ซ้ำแบบใคร  และก็ “บริหารความเสี่ยง” ได้ดีมาก  ผมขออนุญาตไม่เขียนวิจารณ์เรียงตามลำดับก่อนหลังของการแสดง  แต่จะเริ่มด้วยผลงานชิ้นที่ 2 คือ Trombone Concerto  ของ Launy Grøndahl (1886-1960)  คีตกวีชาวเดนมาร์ก  ผู้แสดงเดี่ยวเป็นผู้ชนะการแข่งขันเพื่อคัดเลือกผู้ที่จะได้ออกแสดงกับวงซิมโฟนีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และในปีนี้  ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นผู้เล่นทรอมโบน คือ กิตติภัค  ระตินัย  แม้ว่าผมจะไม่เคยฟังดุริยางคนิพนธ์ชิ้นนี้มาก่อน  แม้แต่ในประเทศตะวันตก  แต่การเล่นของกิตติภัคทำให้ผมแน่ใจได้ว่าคีตกวีใช้ศักยภาพของเครื่องดนตรีได้อย่างเต็มที่   กิตติภัคเล่นคอนแชร์โตบทนี้ด้วยความมั่นใจ   โดยไม่จำเป็นต้องดูโน้ต  เสียงแตรของเขาหลากหลาย  เขาเล่นได้ชัดเจน  ไม่ว่าจะค่อยหรือดัง  และโดยเฉพาะโน้ตต่ำที่สุดนั้น  ทำให้ผมต้องอ้างปากค้างไปเลย  ต้องขอชมเชยกรรมการที่ตัดสินตามคุณภาพของการแสดง  โดยไม่พะวงว่าจะเป็นเครื่องดนตรีชนิดใด  (ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว  กรรมการชาวเยอรมันทั้งหมดก็ตัดสินให้รางวัลเบโธเฟนสำหรับประเทศไทยแก่ผู้เล่นดับเบิ้ลเบส  ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่แหวกแนวออกไปจากธรรมดา)  แต่ก็อีกนั่นแหละ  คนเล่นทรอมโบนจะมีอาชีพเป็นนักแสดงเดี่ยวอยู่ตลอดเวลาคงจะยาก  และก็คงจะต้องกลืนตัวเข้าไปในวงดนตรี  แต่ก็น่าจะได้มีการให้โอกาสแก่นักดนตรีที่เล่นเครื่องดนตรีอันหลากหลายออกไปได้มีโอกาสเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง

คอนเสิร์ตเริ่มต้นด้วยดุริยางคนิพนธ์ที่รู้จักกันดี คือ The Hebrides Overture, op. 26 ของ Felix Mendelssohn-Bartholdy (1809-1847) (โปรแกรมภาษาไทยออกเสียงผิดว่า  “ฮีบรายดส์”
ที่ถูกควรอ่านว่า “เฮบริดีส”)  วาทยกรคือ  อาจารย์นรอรรถ  จันทร์กล่ำ  จงใจจะเน้นความมีชีวิตชีวาในการใช้ดนตรีวาดภาพธรรมชาติในรูปของโปรแกรมมิวสิค  แต่ผมคิดว่าวงดนตรีเครื่องยังไม่ร้อน  จึงไม่อาจสนองความต้องการของวาทยกรได้อย่างเต็มที่  ยกเว้นผู้เล่นคลาริเน็ตซึ่งโดดเด่นมาก  เพลงนี้เป็นคอนเสิร์ต โอเวอร์เจอร์ (concert overture) ไม่ใช่เพลงโหมโรงที่นำเข้าเรื่องอุปรากร  จึงมีสไตล์เฉพาะที่เราอาจจะไม่คุ้นชินนัก

รายการครึ่งหลังที่บรรเลง The Enigma Variations ของ Sir Edward Elgar (1857-1934)  เป็นโปรแกรมมิวสิคอีกประเภทหนึ่ง  คือ เป็นการใช้ดนตรีสะท้อนบุคลิกภาพของบุคคล  ซึ่งในที่นี้คือเพื่อนและผู้ร่วมงานของเอลการ์เองรวมด้วยกัน  14 คน  ซึ่งผู้ประพันธ์ตั้งโจทย์ที่ยากยิ่งให้กับตัวเอง  เพราะจะต้องกำหนดอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลออกมาเป็นดนตรีให้ได้  อาจารย์นรอรรถบริหารความเสี่ยงได้อย่างดีมาก เราฟังได้อย่างชัดเจนว่า variation แต่ละบทมีลักษณะเฉพาะของตัว แต่ความสำเร็จในการบรรเลงอาจจะไม่เท่ากันในทุกตอน  เพราะนี่คือวงนักเรียน  ซึ่งอาจจะต้องการการซ้อมอย่างจริงจังเป็นสิบๆ ครั้ง  ผมสังเกตได้ว่า  ส่วนที่เป็นท่อนช้าจะบรรเลงได้อย่างสมบูรณ์และไพเราะ  โดยเฉพาะเครื่องสายในการแสดงครั้งนี้แน่นจริงๆ (ไม่เป็นการเสียหายอะไรที่จะชวนเพื่อฝูงจากสถาบันอื่นมาเล่นร่วมกับวงเป็นบางคน)  วาทยกรใช้ phrasing ได้อย่างงดงาม  ชวนให้คิดกลับไปถึงเสียงไวโอลินของหนุ่มน้อยชื่อนรอรรถ  จันทร์กล่ำ เมื่อเกือบ 30 ปีมาแล้ว  อันเป็นเสียงที่กลม  หวาน และซึ้ง  เมื่อเขาเล่น Violin Concerto  ของ Mendelssohn บนเวทีเดียวกันนี้  ผมมีอคติอยู่แล้วว่าวาทยกรที่เติบโตมาจากนักดนตรีจะกำกับวงได้ดีกว่าผู้ที่เล่นเครื่องดนตรีไม่เป็นหรือไม่เก่ง  การที่อาจารย์นรอรรถหันมาเอาดีทางการเรียบเรียงเสียงประสาน  การร้องเพลง และการเป็นวาทยกรนั้น  เป็นการช่วยให้เราได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่าอีกทางหนึ่ง  แต่ผมก็เสียดายที่เขาเอาไวโอลินเก็บเข้ากล่องไปเสียแล้ว

ถึงอย่างไรก็ตาม  ผมก็คงไม่มีวันจะพูดว่า  เราได้วาทยกรระดับแนวหน้ามาคนหนึ่ง  แต่เสียนักไวโอลินระดับแนวหน้าไปคนหนึ่งเช่นกัน  ผมได้เขียนถึง Daniel Barenboim (1942-) มาแล้วหลายครั้งว่า  วงการดนตรีคลาสสิกเสียนักดนตรีแนวหน้าของโลกไปหนึ่งคน  และได้วาทยกรระดับพื้นๆ คน หนึ่งมาแทน ซึ่งเจ้าตัวเองและบริษัทจัดการดนตรีและโฆษณาช่วยกันโหมสร้างภาพว่า  เขาอยู่ในระดับเดียวกับวาทยกรและนักเปียโนผู้ยิ่งใหญ่คือ  Hans von Bülow ซึ่งเก่งทั้งสองอย่าง  ผมเขียนทิ้งไว้เท่านี้โดยไม่ได้ตั้งใจจะให้คำแนะนำใดๆ

คืนวันที่ 16 มีนาคม  ผมเดินจากสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดงไปจนถึงหอประชุมจุฬาฯ และก็อดประหลาดใจไม่ได้ว่า  จุฬาฯ ตอนค่ำ  ซึ่งเมื่อเดิมเป็นที่ร้างนั้น  ปัจจุบันมีชีวิตชีวาขึ้นมาในยามรัตติกาล  ที่ใต้ถุนตึกเศรษฐศาสตร์มีวงร็อคกำลังเล่นเพลงของคาราบาวในขณะที่ผมเดินผ่านมา  นี่คือชีวิตมหาวิทยาลัย (campus life)  เมื่อผมมาถึงหอประชุม  ได้รับบัตรเข้าชมแล้ว  ก็มีนิสิตสาวน้อยคนหนึ่งนำผมไปนั่งในกลุ่มผู้รับเชิญ  เธอพูดภาษาอังกฤษอย่างแคล่วคล่องกับผมตลอดเวลาด้วยสำเนียงอเมริกันขนานแท้  และผมก็เลยเล่นละครตอบไปว่าผมเป็นชาวต่างชาติด้วยการพูดกับเธอเป็นภาษาอังกฤษเช่นกัน  เราเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มตัวแล้ว  และเมื่อเขาบอกเราว่าภาษากลางคือภาษาอังกฤษ  เราก็ทำได้!

หอประชุมจุฬาฯ  ได้รับการปรับปรุงใหม่  ลักษณะทางอุโฆษวิทยาโดยทั่วไปดีขึ้น  แต่ผนังด้านหลังเวทีสะท้อนเสียงมากเกินไป  ทำให้ได้ยินเสียงกลองดังเกินไป  แต่นั่นไม่ใช่สิ่งสำคัญ  สิ่งที่ผมสังเกตได้ก็คือ  ผู้คนมาฟังดนตรีคลาสสิกในคืนนี้แน่นหอประชุม

จุฬาฯ กำลังฟื้นแล้ว  ยักษ์กำมะลอทั้งหลายจงระวังเอาไว้ให้ดี  อย่าได้ตั้งอยู่ในความประมาทอีกต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *