บทเพลงเครื่องลมผสมเครื่องสาย ณ วังพญาไท :คุณค่าของเชมเบอร์มิวสิก
บทเพลงเครื่องลมผสมเครื่องสาย ณ วังพญาไท :คุณค่าของเชมเบอร์มิวสิก
วฤธ วงศ์สุบรรณ
วงบางกอกสตริงควอร์เต็ต (Bangkok String Quartet)เป็นอีกหนึ่งวงเชมเบอร์ที่มีผลงานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ซึ่งนำเสนอองค์แห่งคีตนิพนธ์ทั้งที่เป็นบทที่สำคัญและรู้จักกันดี รวมถึงบทที่คนทั่วไปอาจไม่รู้จักกันมากนัก อันเป็นการสร้างประสบการณ์อันหลากหลายให้แก่ผู้ฟัง สมาชิกของวงปัจจุบันเป็นนักดนตรีระดับหัวหน้าของวงบางกอกซิมโฟนีออร์เคสตรา (BSO) ประกอบด้วย อ.ศิริพงษ์ ทิพย์ธัญ (ไวโอลิน 1) อ.อ้อมพร โฆวินทะ (ไวโอลิน 2/วิโอลา) อ.มิติ วิสุทธิ์อัมพร (วิโอลา) และ อ.อภิชัย เลี่ยมทอง (เชลโล) และในคอนเสิร์ตล่าสุดของพวกเขา ก็ได้จับมือกับนักดนตรีเครื่องเป่าระดับแนวหน้าของเมืองไทย อย่าง อ.
สุปรีติ อังศวานนท์ (ฮอร์น) และ อ.ดร.ยศ วณีสอน (คลาริเน็ต) ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มของ BSO เช่นกัน ในรายการ “The Winds Sing at the Palace” ซึ่งเป็นรายการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2559 ณ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท
โปรแกรมที่บรรเลง เป็นเพลง quintet (เครื่องดนตรี 5 ชิ้น) สำหรับสตริงควอร์เต็ดและเพิ่มเครื่องเป่าเข้าไป 1 ชิ้น ได้แก่ Horn Quintet in E flat Major, KV.407ของวอล์ฟกัง อะมาเดอุส โมสาร์ต (Wolfgang Amadeus Mozart, 1756-1791: คีตกวีชาวออสเตรีย) และ Clarinet Quintet in B Minor, Op.115ของ
โยฮันเนส บราห์มส์ (Jahannes Brahms, 1833-1897: คีตกวีชาวเยอรมัน) ซึ่งถือว่าเป็นเพลงมาตรฐานที่นักดนตรีเครื่องเป่านั้นๆ ต้องร่ำเรียนและฝึกซ้อมกันมาอย่างช่ำชอง แต่อาจจะค่อนข้างหาฟังได้ยากในบ้านเรา ยิ่งถ้าเป็นการบรรเลงโดยนักดนตรีอาชีพยิ่งจะมีโอกาสฟังได้น้อยเข้าไปอีก เพราะนักดนตรีอาชีพบ้านเราอาจสนใจการเล่นวงซิมโฟนีมากเสียจนไม่มีเวลาและโอกาสจะให้กับเชมเบอร์มิวสิก
การแสดงเริ่มต้นด้วยฮอร์นควินเต็ต บทเพลงนี้ อ.สุปรีติ ที่เพิ่งเดี่ยวฮอร์นคอนแชร์โตหมายเลข 4 ของโมสาร์ตมาเมื่อ 2 เดือนก่อน ก็ไม่ทำให้เราผิดหวัง เสียงฮอร์นของเขามีความไพเราะ แม่นยำ และฟังสบาย เข้ากับวงเครื่องสายได้ดี ในส่วนของเครื่องสายนั้น เพลงนี้กำหนดให้มีวิโอลา 2 คัน ทำให้มีเสียงกลางจนถึงต่ำที่ลึกกว่าสตริงควอร์เต็ตทั่วไป โดย อ.มิติ กับ อ.อ้อมพร ก็บรรเลงวิโอลาได้อย่างเข้าขาและน่าฟัง ทั้งช่วงที่ประสานเสียงกันและมีลูกล้อลูกขัดกัน ส่วน อ.ศิริพงษ์ ก็ให้เสียงไวโอลินที่ชัดเจนและโดดเด่น ขณะที่ อ.อภิชัย ก็เล่นได้อย่างหนักแน่นน่าฟัง โดยส่วนตัวผมเห็นว่าใน 2 กระบวนแรก (Allegro, Andante) การเล่นของวงนั้นมีลักษณะเป็นเชมเบอร์มิวสิกอย่างชัดเจน ทุกเครื่องดนตรีมีบทบาทสูงโดยมีฮอร์นเป็นผู้นำในการเล่นร่วมกันไป ไม่ใช่คอนแชร์โตที่ลดรูปลงมา แต่ในกระบวนที่ 3 (Allegro) ผมคิดว่ากระบวนนี้มีลีลาเป็นคอนแชร์โตมากกว่ากระบวนอื่นๆ มีการแสดงความสามารถของฮอร์นมากเป็นพิเศษ บางครั้งก็มีความรู้สึกเหมือนนักฮอร์นกำลังเล่น cadenza อยู่ด้วย อีกทั้งยังมีลีลาคล้ายเพลงร้องในอุปรากรของโมสาร์ตเองด้วยแต่เครื่องสายก็มีบทบาทไม่น้อยเลยในการเล่นสอดสลับกับฮอร์น ซึ่งการบรรเลงในครั้งนี้จัดได้ว่าน่าประทับใจมาก สำหรับเครื่องสายนั้นผมอาจจะขอตั้งข้อสังเกตเพียงเล็กน้อยว่าวิโอลาทั้ง 2 เสียงเบาไปนิด แต่โดยรวมนั้นวงในส่วนเครื่องสายเล่นได้อย่างเข้าขาสมกับที่เล่นร่วมกันมานาน เมื่อมาพบกับนักฮอร์นที่มีความสามารถและประสบการณ์สูง ก็สามารถเล่นเคียงข้างกันได้อย่างดี
ในส่วนครึ่งหลัง เป็นคลาริเน็ตควินเต็ตของบราห์มส์ ซึ่งบรรเลงคลาริเน็ตโดย อ.ยศ วณีสอน เสียงของอาจารย์มีทั้งพลัง ความคมชัด และความอ่อนหวาน ซึ่งแนบสนิทกับวงเครื่องสายเป็นอย่างมาก บทเพลงนี้เป็นงานที่คีตกวีสร้างขึ้นในช่วงที่วุฒิภาวะของท่านอยู่ในระดับของที่สูงมากแล้ว มีความหลากหลายทางอารมณ์โดยส่วนใหญ่ของกระบวนที่ 1 และ 2 (Allegro, Adagio) จะมีลีลาที่ค่อนข้างอ่อนโยนและละเมียดละไม แต่ก็มีบางช่วงในกระบวนเดียวกันที่อารมณ์ของเพลงเปลี่ยนไปเป็นรุกเร้ารุนแรง ซึ่งนับว่าเป็นความน่าสนใจของเพลงคลาสสิกที่มีความหลากหลายไม่ซ้ำซากจำเจ และจังหวะก็มีการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ส่วนในกระบวนที่ 4 (Con moto) ซึ่งมีลักษณะเป็น theme and variations ที่แต่ละเครื่องดนตรีได้โอกาสผลัดกันแสดงฝีมือ ซึ่งนอกจากคลาริเน็ตที่เป็นพระเอกของบทเพลงแล้ว พวกเครื่องสายเสียงต่ำอย่างวิโอลาหรือ
เชลโลก็มีบทบาทเด่นขึ้นมาและบรรเลงได้อย่างน่าฟังยิ่ง (โดยส่วนตัวผมชอบช่วงที่เชลโลดีดสายมากเป็นพิเศษ)สำหรับบราห์มส์นั้นเป็นที่รู้กันว่าท่านเป็นผู้ที่มีความจัดเจนในการเขียน variations ในระดับต้นๆ ของโลกตะวันตกเลยทีเดียว สำหรับในงานชิ้นนี้ท่านก็ทำได้อย่างไม่มีติดขัด ไม่รู้สึกซ้ำซากหรือน่าเบื่อเลย และในช่วงสุดท้ายของกระบวนก็ย้อนกลับไปรับทำนองแรกของกระบวนที่ 1 กลับมาอีกครั้ง เพื่อเป็นการสรุปจบอย่างสมบูรณ์ ภายหลังได้ทราบจาก อ.ยศ ว่าคลาริเน็ตที่อาจารย์ใช้ในค่ำคืนนั้นเป็นของที่ยืมมา เพราะคลาริเน็ตของอาจารย์เกิดเสียหายอย่างกระทันหัน อาจารย์ยังบอกว่ามีบางครั้งที่รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจนักเพราะไม่ใช่เครื่องตัวเอง แต่ผมคิดว่าอาจารย์เล่นได้ดีอย่างไม่มีข้อบกพร่องหรือหากมีก็คงอยู่ในระดับที่ผู้ฟังไม่ทราบได้ ซึ่งเท่าที่เราได้ฟังก็รู้สึกว่าอาจารย์เล่นได้อย่างราบรื่นและฟังแล้วสบายใจ สัมผัสกับความรื่นรมย์ของบทเพลงได้อย่างเต็มที่
การที่นักดนตรีกลุ่มนี้พร้อมที่จะทุ่มเทแรงกายแรงใจให้แก่เชมเบอร์มิวสิกนับว่าเป็นคุณูปการต่อวงการดนตรีคลาสสิกที่ควรยกย่อง มีผู้เสนอแนะว่าคอนเสิร์ตที่ดีขนาดนี้ หากแสดงเพียงรอบเดียวก็ออกจะน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นบทเพลงที่ยิ่งใหญ่และบรรเลงได้อย่างดีเยี่ยมด้วยมาตรฐานที่สูงของนักดนตรีชาวไทยล้วนๆ ควรจะได้แสดงอีกหลายๆ ครั้ง ในเบื้องต้นอาจจะเริ่มจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนดนตรีคลาสสิก โดยที่นักดนตรีกลุ่มนี้ก็เป็นอาจารย์อยู่ในแวดวงการศึกษาทั้งนั้น (อ.สุปรีติ และ อ.ยศ ที่ ม.ศิลปากร / อ.ศิริพงษ์ และ อ.อภิชัย ที่ ม.รังสิต ส่วน อ.มิติ เป็นอาจารย์พิเศษในหลายสถาบัน และ อ.อ้อมพร ก็เป็นหนึ่งในผู้นำด้านการสอนดนตรีระบบซูซูกิในประเทศไทย) ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักดนตรีรุ่นเยาว์ในบ้านเรา หรือแม้แต่จะออกไปแสดงในประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น สิงคโปร์ก็ยังได้ (หากมีผู้สนับสนุน) ส่วนผมเองก็คิดว่าจากการที่ได้ติดตามวงบางกอกสตริงควอร์เต็ต (รุ่นปัจจุบัน) มาหลายครั้งนั้น รู้สึกว่าวงเล่นเข้าขากันได้ดีขึ้นเรื่อยๆ สมาชิกรุ่นน้องอย่าง อ.มิติ สามารถเล่นเข้าขากับพวกพี่ๆ ได้อย่างดี และวงนี้นับได้ว่าเป็นอีกวงหนึ่งที่เป็นมาตรฐานให้นักดนตรีรุ่นเยาว์ทั้งหลายได้ตามอย่าง อันจะเป็นการส่งเสริมให้ดนตรีเชมเบอร์แพร่หลายมากขึ้นในสังคมไทย