ผู้รักสมัครเล่นที่ไม่ใช่มือสมัครเล่น (ฉบับย่อ)

ผู้รักสมัครเล่นที่ไม่ใช่มือสมัครเล่น (ฉบับย่อ)

Image.aspx

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9510000143376

เจตนา นาควัชระ

          เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2559 ผมได้ไปชมการแสดง “51 ปี งานเพลงหมอวราห์ คอนเสิร์ตอิ่มบุญอิ่มใจ” ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา แม้ผมจะไม่มีโอกาสได้ร่วมอิ่มบุญกับชาวมหิดลและวงการเพลงไทยสากล แต่ผมก็อดอิ่มใจแทนไม่ได้ ถ้าวงการดนตรีคลาสสิกอยู่รอดมาได้เพราะความทุ่มเทของผู้รักสมัครเล่น เช่น ฯพณฯ องคมนตรี มล.อัศนี ปราโมช วงการเพลงไทยสากลก็นับว่ามีโชคที่มีคุณหมอวราห์ วรเวช เป็นผู้เบิกทางใหม่ให้ การที่โชคดีได้ฟังเพลงของคุณหมอฯ ในรายการเดียวกันถึง 32 เพลง ช่วยให้ผม “จับทาง” การแต่งเพลงของท่านได้บ้าง และผมก็ไม่ลังเลที่จะกล่าวซ้ำอีกว่า ในหลายๆด้าน ท่านเป็นผู้ทำให้เกิดการฉีกทาง (breakthrough) ออกมาจากอาณาจักรอันไพศาลของ “เพลงสุนทราภรณ์” โดยเฉพาะเพลงของคุณหมอจำนวนไม่น้อยมีลักษณะที่สมัยนี้ชอบเรียกกันว่าเป็น “ดราม่า” ถ้าจะอิงคำภาษาอังกฤษก็คงจะต้องพูดว่า เพลงเหล่านี้เป็นละครฉากเล็กๆ ที่เข้มข้นด้วยอารมณ์คือ มีลักษณะ “dramatic” ซึ่งต่างจากเพลงสุนทราภรณ์ที่มีลักษณะ “lyrical” แม้แต่ละครเพลงเช่น จุฬาตรีคูณ ซึ่งใช้เพลงเพียง 5 เพลงที่กลายเป็นเพลงอมตะไปทั้งหมด การแสดงออกด้วยคีตศิลป์ในละครเรื่องนั้นก็ยังไม่ทิ้งแนว “lyrical” (อย่าลืมว่าคนฝรั่งเศสเรียกอุปรากรว่า “théâtre lyrique”)

ที่กล่าวมานี้ไม่ได้ต้องการเปรียบเทียบว่าใครเหนือใคร แต่ต้องการจะย้ำว่า การแต่งเพลงมีหลายแนว คุณหมอวราห์ก็สร้างนวัตกรรมไว้ในด้านของการแต่งเนื้อร้องเช่นกัน ซึ่งแยกออกมาจากแนวของปรมาจารย์ แก้ว อัจฉริยะกุล บทร้องของท่านมีอิสระมาก ใช้ภาษาหลายระดับ (บางครั้งในเพลงเดียวกัน) บางตอนอาจกลับไปหาภาษาพูด นักร้องที่ไม่เก่งจริงอาจจะร้องไม่ทันเอาเสียด้วยซ้ำเมื่อท่านต้องการเร่งจังหวะ น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ สวลี ผกาพันธุ์ มาร่วมรายการนี้ไม่ได้ดังที่ได้ตั้งใจไว้แต่เดิม เพราะสวลีเล่นละครมาก่อนกับคณะ “ผกาวลี” และ “ลีลาศาสตร์สุนทร” (ซึ่งคุณหมอวราห์โชคดีที่ได้ชม) และเข้าใจดีว่าการจะทำเพลงให้เป็น “ดราม่า” นั้นควรเป็นอย่างไร ละครจะเผยแสดงออกมาจากเนื้อในของเพลง ไม่ใช่การเติมของแถมด้วยลีลาท่าทางภายนอก หรือบิดหรือบีบเสียงให้เกิดอารมณ์

เพลงของหมอวราห์มีความหลากหลายมาก และร้องยากมาก เพราะให้เสรีภาพในการตีความ แม้แต่นักร้องต้นแบบบางคนก็เถอะ ผมไม่แน่ใจว่าจับวิญญาณเพลงได้ในทุกกรณี งานนี้เป็นงานบูชาครู เรื่องของศรัทธาและน้ำใจที่มีต่อครูย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่น แต่มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าจะอยู่ได้มิใช่ด้วยการย้อนกลับไปหาต้นแบบ และจะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อคนรุ่นใหม่พร้อมที่จะรับมรดกเหล่านี้ไปคิดต่อ คิดใหม่ สร้างใหม่ ผมจำเป็นต้องยกย่องครูอาจารย์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เฟ้นนักร้องรุ่นใหม่ ซึ่งยังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ให้ออกมารับงานที่ท้าทายครั้งนี้ได้หลายคน ด้วยพื้นฐานการฝึกฝนการร้องในแนวคลาสสิกมาอย่างดี หนุ่มสาวเหล่านี้ปรับตัวให้เข้ากับการร้องเพลงไทยสากลได้ ถ้าพูดกันในเรื่องเทคนิค พวกเขาอยู่เหนือนักร้องรุ่นเก่าจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งเรียนไปทำไป (leaning by doing) นักร้องรุ่นใหม่จากมหิดลหลายคนฉายแววว่าอีกไม่นานจะพัฒนาไปถึงระดับการตีความใหม่ได้  เพลงไทยสากลยังมีอนาคตถ้าผู้มีวิชาเข้ามาอยู่ในวงการมากขึ้น

ผมเดาใจคุณหมอวราห์ว่า ท่านคงอิ่มใจที่มิตรและศิษย์ลงแรงกายแรงใจจัดงานครั้งนี้ให้ การเรียบเรียงดนตรีสำหรับวงซิมโฟนีแหละคอรัสทั้งเล็กและใหญ่ในหลายๆเพลงทำให้เห็นมิติของเพลงที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องลึกในเนื้อใน ผมสังเกตว่าอาจารย์ชาวตะวันตกที่ร่วมเล่นดนตรีในวง Thailand Philharmonic Orchestra ในครั้งนี้ปรับตัวได้รวดเร็ว แม้แต่สุภาพสตรีที่อยู่ในตำแหน่ง Concertmaster เมื่อสีไวโอลีนไปสักพัก ในตอนเล่นเดี่ยวลีลาก็ชักเริ่มจะเป็นไทยมากขึ้นแล้ว  ใครว่าไทยเราเป็นพวก “วัฒนธรรมอ่อน”?

เพราะรักจึงสมัครเข้ามาเล่น ผลที่ได้จึงน่าชื่นชมยิ่ง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *