“ก๊วนคานทอง Love Game: The musical”

“ก๊วนคานทอง Love Game: The musical”

love-game-the-musical-2016-posterwww.thaiticketmajor.com

มุรธา ปริญญาจารย์

 

จัดแสดงเมื่อวันที่ 22 – 31 กรกฎาคม 2559 เวลา 19.30 น. ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วั

“Game start, Start game, Game start…” หนึ่งในเพลงที่ร้องบรรเลงซ้ำอยู่ในหลายๆฉากของละครเพลง เรื่อง “ก๊วนคานทอง Love Game: The musical” เพื่อเป็นสัญญาณว่า Love Game นี้กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ละครเพลงเรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ของ “วัตตรา” เดิมเป็นละครโทรทัศน์ในชื่อเรื่อง “ก๊วนคานทองกับแกงค์พ่อปลาไหล” ซึ่งละครโทรทัศน์เรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วง พ.ศ 2558 ผลิตโดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในครั้งนี้ทางบริษัท มิวสิคัล มิวสิคัลส์ จำกัด เป็นผู้นำมาดัดแปลงให้เป็นละครเพลง เรื่องราวกล่าวถึงก๊วนเพื่อนสาว 3 คน ได้แก่ น้ำผึ้ง เมเปิ้ล ลินี และวลัย ซึ่งเป็นเพื่อนรักกันมากในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต่ต่อมาเกิดผิดใจกันโดยมีเรื่องผู้ชายและความรักเป็นต้นเหตุ ทั้ง 3 คน จึงกลายมาเป็นคู่แข่งกันในทุกๆ เรื่องในชีวิต ต่างคนก็ต่างอยากจะประสบความสำเร็จ  พยายามแสดงให้เห็นว่าตนเองเป็นผู้หญิงเก่ง แกร่ง และมีคุณค่า. จนเกิดเป็นการท้าทายกันโดยที่ลินีเป็นผู้ประกาศว่ากำลังจะแต่งงานในเดือนหน้า ทำให้ทั้งน้ำผึ้งและเมเปิ้ลต้องออกมาประกาศอย่างไม่ยอมแพ้กันว่าพวกตนก็กำลังจะแต่งงานในอีก 1 เดือนข้างหน้าเช่นกัน ทั้งที่ทั้งสามคนยังไม่มีคู่รักเลยด้วยซ้ำ เกมส์ความรักจึงได้เกิดขึ้น.

ในแง่ภาพรวมของละครเพลงเรื่องนี้  ซึ่งมีลักษณะของRomantic Comedy ที่มีทั้งฉากโรแมนติก หวานซึ้ง ตลกขบขัน และผิดหวัง ถือว่าให้ความบันเทิงแก่ผู้ชมได้ครบเกือบทุกรส สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชมได้ในหลายจังหวะของเรื่อง โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกเหมือนได้ดูละครซิทคอม (Situation Comedy) ในโทรทัศน์ เพราะด้วยจังหวะการแสดง การแสดงออกของนักแสดงหลักที่ยังไม่ส่งพลังมากเหมือนการแสดงละครเวทีอื่นๆ หรือแม้แต่มุกตลก การ “ตบมุก” ต่างๆ ทำให้นึกถึงซีรี่ส์เรื่อง “เป็นต่อ” ที่เรียกว่ามีการรับ-ส่งกันอย่างสนุกสนาน ด้านการแสดงของนักแสดงหลักนั้น อาจจะด้วยความขาดประสบการณ์ของนักแสดงหลายๆ คนจึงทำให้การแสดงยังขาด “พลัง” ด้วยเนื้อเรื่องที่ไม่ซับซ้อนและเบาสมอง จึงทำให้ยังไม่เห็นความสามารถด้านการตีความและการแสดงของนักแสดงมากนัก  ผู้กำกับการแสดงก็เช่นกัน  ยังไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ฝีมืออย่างเต็มที่   ด้วยเหตุที่เรื่องนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนในด้านตัวละครและเหตุการณ์รอบด้านมาก หรือลึกซึ้งแต่อย่างใด  จึงรู้สึกว่าก็เป็นตัวละครปกติธรรมดาที่สามารถเห็นได้ในชีวิตจริง  อย่างไรก็ตามขอชื่นชมในพลังเสียง การร้องเพลงของนักแสดงหลายๆ คน อาทิเช่น พิจิกา จิตตะปุตตะ  พุทธธิดา ศิระฉายา   เขมวัฒน์ เริงธรรม และกานดา วิทยานุภาพยืนยง ซึ่งสามารถถ่ายทอดความคิดของตัวละครผ่านเสียงเพลงออกมาด้วยน้ำเสียงที่ดียิ่ง. นอกจากนั้นยังขอชื่นชมนักแสดงสมทบและนักแสดงหมู่มวลที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการแสดง ร้องเพลงและเต้นได้อย่างดี.

ในด้านบทละคร  รู้สึกว่ามีความเยิ่นเย้อมากไป บางตอนสามารถตัดออกไปได้อีกอย่างไม่ต้องเสียดาย เพราะสารที่ต้องการจะสื่อก็ไม่ได้หายไป ผู้เขียนบทพยายามจะเก็บเนื้อหาของเรื่องไว้ให้มากที่สุด แต่ด้วยระยะเวลาที่มีจำกัด สัดส่วนเนื้อหาของละครจึงควรปรับให้กระชับกว่านี้ได้  นอกจากนั้นถ้าจะมุ่งประเด็นไปที่คำว่า Love Game ก็ควรจะทำให้เห็นเหตุการณ์ของการต่อสู้แข่งขันของเพื่อนมากกว่านี้เพื่อให้มีความเข้มข้นมากขึ้น  ถึงอย่างไรก็ตาม  ผู้กำกับการแสดงก็น่าจะทำงานหนักอยู่ไม่น้อย  เนื่องจากมีตัวละครในเรื่องทั้งที่เป็นตัวหลักและตัวรองอยู่มากมาย เรื่องจังหวะของเรื่องนี้ก็มีความสำคัญเนื่องจากเป็นคอมเมดี  ต้องยอมรับว่าผู้กำกับก็สามารถกำกับจังหวะได้ดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนคิดถึงแก่นแท้ของเรื่องนี้จริงๆแล้ว ค่านิยมของคนไทยในสมัยนี้เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนมาก ไม่ได้รู้สึกว่าการ “ขึ้นคาน” เป็นเรื่องใหญ่โต แต่การแข่งขันกันในสังคมด้านอื่นๆกลับเป็นประเด็นที่สำคัญกว่า เช่น ผู้หญิงสมัยใหม่ต้องเรียนเก่ง ทำงานเก่ง การงานมั่นคง ฐานะดี ทัดเทียมกับผู้ชาย แต่ละครเรื่องนี้พยายามจะสื่อสารกับคนดูผ่านตัวละครผู้หญิงหลักทั้ง 3 คน โดย ลินี เป็นผู้ที่ยืนหยัด ต่อสู่เพื่อสิทธิสตรี  น้ำผึ้ง เป็นดาราสาวสวย มากความสามารถ   และเมเปิ้ล ผู้หญิงเก่ง ฐานะดีมีบริษัทเป็นของตัวเอง ผู้หญิงทั้ง 3 คนนี้เห็นการแข่งขันเป็นเรื่องท้าทายและต้องการจะเอาชนะเพื่อนรักเก่าของตนเอง จนลืมหัวใจตัวเอง โดยเนื้อเรื่องผู้หญิงในวัยที่กำลังจะขึ้นคานทั้ง 3 คน ต้องขอร้องให้ผู้ชายซึ่งอยู่ใกล้ตัวกับพวกเธอ ช่วยแสดงเป็นคนรักและแต่งงานหลอกๆกับเธอเพื่อเอาชนะเพื่อนรักเพื่อนแค้นของพวกเธอ ในที่สุดการแข่งขัน การรักกันหลอกๆ นั้นก็กลายมาเป็นความรักจริงที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ในหลายๆ ตอนของเรื่อง  กฤษฎา คนรักกำมะลอของเมเปิ้ลพยายามจะบอกว่าตนเองแอบชอบเมเปิ้ลมานานแล้ว แต่เมเปิ้ลไม่รับรู้เสียที เป็นคนไม่มีหัวใจ .ถ้าจะมองในแง่ความงามของชีวิต ละครเรื่องนี้อาจจะพยายามสื่อว่า  ความรักเป็นสิ่งที่สวยงาม เป็นสิ่งที่ทุกคนหลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ ความรักชนะทุกอย่าง แม้แต่ผู้หญิงที่ไม่มีหัวใจ 3 คน ที่ไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้แต่งงาน ก็มีความรักได้ เพียงแต่เปิดใจและมองเห็นความรักที่อยู่ใกล้ตัว  อันที่จริงแก่นเรื่องเช่นนี้  แม้จะทำเป็นคอมเมดี  แต่ก็ไปทางลึกได้  คณะละครคงจะต้องออกแรงทางความคิดมากกว่านี้  โดยไม่ต้องพะวงว่าต้นเรื่องจากโทรทัศน์เป็นอย่างไร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *