ตามดูวงเครื่องเป่าไทย : จาก Mahidol Wind Orchestra ผ่าน Samanmit Wind Ensemble ถึง Feroci Philharmonic Winds

ตามดูวงเครื่องเป่าไทย : จาก Mahidol Wind Orchestra
ผ่าน Samanmit Wind Ensemble
ถึง Feroci Philharmonic Winds

 13692458_1206291392737199_578934280209127836_n

Mahidol Wind Orchestra

(ภาพจาก facebook: Thailand International Composition Festival – TICF)

วฤธ  วงศ์สุบรรณ

 

ในช่วงเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้ติดตามฟังวงดนตรีประเภทวงเครื่องเป่าขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนเครื่องดนตรีประมาณ 40 ชิ้นขึ้นไปในหลากหลายระดับ ทั้งระดับมหาวิทยาลัย ระดับสมัครเล่น และระดับกึ่งอาชีพ ซึ่งทำให้เกิดความคิดเห็นที่เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ผมเห็นอนาคตที่ค่อนข้างจะสดใสของวงการดนตรีคลาสสิกของไทย

 

Mahidol Wind Orchestra วงนักศึกษาไทย ก้าวไกลถึงสากล

วงแรกที่อยากกล่าวถึงคือวงดุริยางค์เครื่องลมของมหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol Wind Orchestra) ซึ่งเป็นวงระดับนักศึกษาปริญญาตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยมี อ.ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ และ อ.ภมรพรรณ โกมลภมร เป็นวาทยกร เท่าที่ได้ติดตามมาหลายครั้ง พบว่าหลักการของการทำวงนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการให้นักศึกษามีองค์แห่งคีตนิพนธ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ยุคบารอคจนถึงเพลงสมัยใหม่ โดยใน 2 คอนเสิร์ตล่าสุดของวงเป็นเพลงสมัยใหม่ล้วนๆ ซึ่งผมขออนุญาตกล่าวถึงทั้ง 2 คอนเสิร์ตเนื่องจากคิดว่ามีความต่อเนื่องกัน และทำให้เป็นศักยภาพของนักศึกษาเครื่องเป่าของมหิดลว่าคุณภาพสูงขนาดไหน

คอนเสิร์ตแรกที่จะกล่าวถึง มีชื่อรายการว่า “A Strange Soundscape” ออกแสดงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ นำเสนอบทเพลงร่วมสมัยทั้งของคีตกวีชาวตะวันตกและชาวตะวันออก รวมไปถึงงานของ ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ คีตกวีชาวไทยซึ่งกำลังศึกษาต่ออยู่ในประเทศอังกฤษ และโลดแล่นอยู่ในวงการดนตรียุโรป

123Samanmit Wind Ensemble

การแสดงเริ่มต้นด้วยบทเพลง Magneticfireflies (Augusta Read Thomas) เป็นเพลงที่มีสุ้มเสียงค่อนข้างหม่น ลี้ลับ และน่ากลัว และใช้สีสันของเสียงจากเครื่องดนตรีต่างๆ ค่อนข้างแปลก โดยที่ทรัมเป็ทมีบทบาทมากเป็นพิเศษ และกลุ่มทรัมเป็ทของวงก็เล่นได้เป็นอย่างดีตามด้วย Trenos (Steven Stucky) เป็นอีกเพลงที่ให้ความรู้สึกโหยหวน และเหมือนเครื่องดนตรีแสดงความเศร้าโศกด้วยการกรีดร้อง โดยใช้เครื่องดนตรีอย่างโอโบและทรัมเป็ทใส่เครื่องลดเสียง รวมถึงใช้การเป่าฟลูตแบบรัวลิ้นและเครื่องเคาะจังหวะประเภทต่างๆ สร้างเสียงที่ค่อนข้างหลากหลายและซับซ้อน ซึ่งแม้ว่าจะมีความแปลกและบาดหู แต่ก็มีความน่าสนใจมากเช่นกัน ต่อมาเป็น Old Churches (Michael Colgrass) เป็นเพลงที่หยิบยืมท่วงทำนองและลีลาแบบ Gregorian Chant ซึ่งเป็นเพลงสวดในโบสถ์แบบโบราณ และสร้างบรรยากาศให้ดูอ้างว้างและลี้ลับ ซึ่งคีตกวีตั้งใจให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโบสถ์ยุคกอธิคในยุโรปด้วยเสียงฟลูต เสียงระฆังและเครื่องเคาะจังหวะต่างๆ และปิดท้ายครึ่งแรกด้วยThe Scenes of Sichuan Opera (Song Ming-zhu) เป็นเพลงจากคีตกวีชาวจีนซึ่งพยายามสื่อสำเนียงของความเป็นจีนด้วยเครื่องเคาะจังหวะต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจีน ผสมกับเสียงเครื่องดนตรีตะวันตกที่เขาใส่เนื้อหาท่วงทำนองแบบจีนเข้าไปด้วย ซึ่งก็ทำให้เกิดรสชาติอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากบทเพลงของคีตกวีตะวันตกที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีกลิ่นอายของความเป็นตะวันตกผสมอยู่บ้าง เพราะมีการประสานเสียงและสำเนียงนั้นออกจะกระด้างและเป็นสมัยใหม่  ไม่หวานซึ้งแบบเพลงจีนที่เราได้เคยฟังทั่วไปนัก

ส่วนในครึ่งหลังเริ่มด้วย Silent Sun : Winfer (Julia Lake Bozone) เป็นเพลงสำหรับวงเชมเบอร์เครื่องเป่าและเครื่องกระทบ ทำให้ได้ยินความแตกต่างของแต่ละเสียงเครื่องดนตรีได้อย่างชัดเจน โดยรวมนั้นเป็นเพลงที่ฟังสบาย ทำนองไม่โหดร้ายต่อผู้ฟัง และวงก็เล่นได้ค่อนข้างดี เพียงแต่โอโบมีเสียงสะดุดบ้างเล็กน้อย (ซึ่งผู้เดี่ยวโอโบเล่าให้ฟังว่าวงมีซ้อมก่อนการแสดงค่อนข้างหนักมาก ทำให้มีอาการล้าไปบ้าง) ต่อด้วย Urban Soundscape (Hau-man Lo) ซึ่งเข้าใจว่าชื่อเพลงนี้เป็นที่มาของชื่อการแสดง โดยความหมายของคำว่า soundscape โดยคร่าวๆ ก็คือสภาพแวดล้อมทางเสียง ซึ่งในเพลงนี้เป็นการจำลองสภาพแวดล้อมทางเสียงของเมืองฮ่องกง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคีตกวีท่านนี้และเป็นเมืองที่ผสมผสานวัฒนธรรมจีนกับวัฒนธรรมตะวันตกเข้าด้วยกัน จึงมีทั้งท่วงทำนองที่ออกสำเนียงจีนและสำเนียงตะวันตก รวมไปถึงการจำลองเสียงที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของคนที่นั่น เช่น เสียงไพ่นกกระจอก และเสียงรองเท้าแตะ โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าบทเพลงเป็นศิลปะตัดแปะ (collage) คือเอาสิ่งละอันพันละน้อยที่ศิลปินสนใจมารวมเข้าด้วยกันเป็นงานศิลปะชิ้นใหม่ ในที่นี้ก็คือการเอาเสียงต่างๆ ที่เขาสนใจมาเรียบเรียงให้เป็นบทเพลง ซึ่งเท่าที่ฟังนั้นรู้สึกว่ามีทั้งต่อเนื่องและขาดช่วง ซึ่งอาจเป็นความจงใจของคีตกวีก็เป็นได้ที่มิได้ต้องการท่วงทำนองที่ไพเราะ แต่นำเสนอความแตกต่างหลากหลายที่ไม่สอดคล้องกัน และปิดท้ายด้วย Variations on “Greensleeves” (ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ)  เป็นเพลงที่สร้างขึ้นมาบนทำนองเพลงพื้นบ้านอังกฤษ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย โดยที่ในท่อนทำนองหลักนั้น เรายังได้ยินสุ้มเสียงที่ไพเราะของบทเพลงดั้งเดิมอยู่ แต่ปิยวัฒน์ก็เหมือนเอาน้ำเย็นราดหัวผู้ฟัง ด้วยการสร้างเสียงที่ประหลาดและกระด้าง เหมือนจะจงใจบอกผู้ฟังว่าอย่าได้เพลิดเพลินอยู่กับเสียงอันไพเราะของมายาแห่งอดีต แต่จงพบกับโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้ายของยุคสมัยที่เรากำลังมีชีวิตอยู่ ผมไม่แน่ใจว่าผมตีความเกินกว่าสิ่งที่คีตกวีต้องการสื่อหรือไม่ แต่ทั้งเสียงที่บาดหูและความดังที่เกินพอดีก็ทำให้คิดเช่นนั้น แม้ว่าบางช่วงก็มีท่วงทำนองที่ไพเราะซ่อนอยู่อย่างที่ฟังได้ไม่ชัดเจนนัก คล้ายกับจะยอกย้อนผู้ฟังว่าอย่าเพิ่งหมดหวังไป เพราะในความโหดร้ายก็มีสิ่งที่ดีงามแฝงตัวอยู่บ้างเช่นกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าเด็กๆ นักดนตรีของวงนั้น สามารถถ่ายทอดบทเพลงออกมาได้อย่างน่าตื่นเต้นและน่าติดตาม โดยเฉพาะนักเปียโน (ที่มีหน้าที่เป็น percussion ตัวหนึ่ง) ซึ่งรับบทค่อนข้างหนักเป็นพิเศษ แต่ก็สามารถเล่นได้เป็นอย่างดี

และได้ทราบมาว่าการแสดงรายการนี้ ก็จะนำไปแสดงอีกครั้งที่มหกรรมดนตรีที่นครหนานหนิง มณฑลกวางซี สาธารณรัฐประชาชนจีน ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมาด้วย นับว่าเป็นโอกาสที่ดียิ่งของเยาวชนไทยที่ได้ไปแสดงยังต่างประเทศ ทำให้เปิดประสบการณ์ใหม่ และแสดงออกถึงความสามารถด้านดนตรีในรายการแสดงที่ท้าทายทั้งผู้เล่นและผู้ฟังเช่นนี้

ส่วนอีกรายการหนึ่ง เป็นการแสดงคอนเสิร์ตเปิดมหกรรม Thailand International Composition Festival 2016 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2559 ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เช่นเดียวกัน โดยมีบทเพลงที่นำมาแสดง 4 เพลง (ซึ่งคีตกวีผู้ประพันธ์ผลงานในรายการนี้ส่วนใหญ่ก็มาร่วมงาน TICF ครั้งนี้ด้วย) ได้แก่ Threnos (Steven Stuckey) ซึ่งเพิ่งเล่นไปเมื่อคอนเสิร์ตที่แล้ว โดยในครั้งนี้ถือว่าเป็นการบรรเลงเพื่อร่วมไว้อาลัยให้กับคีตกวีผู้นี้ซึ่งเพิ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อต้นปีนี้ รู้สึกได้ว่าวงสามารถเล่นเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี คงเพราะซ้อมและเล่นมาหลายรอบแล้ว ส่วนเพลงต่อมา New Era Dance (Aaron Jay Kernis)โดยที่เพลงนี้มีแนวคิดคือการถ่ายทอดภาพของมหานครนิวยอร์ค ซึ่งพอเริ่มต้นก็เป็นเสียงของความอึกทึกครึกโครมเหมือนความวุ่นวายของเมืองใหญ่ สักพักก็เริ่มมีทำนอง  แต่ก็เป็นท่วงทำนองที่แปลกและแปร่งหู แต่ก็มีลีลาที่เร้าใจและน่าฟัง และมีเสียงต่างๆ ซ้อนกันมากมาย บางลีลาก็เนิบช้า บางลีลาก็รุกเร้า อาจจะพอทำให้จินตนาการถึงความวุ่นวายสับสนอลม่านของเมืองใหญ่ได้  และท่วงทำนองที่หลากหลายอาจจะหมายถึงความหลากหลายของผู้คนที่อาศัยอยู่ในมหานครแห่งนี้ การตั้งชื่อว่า “เพลงเต้นรำยุคใหม่” น่าจะหมายถึงยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบในจังหวะชีวิตและความแตกต่างหลากหลายของผู้คน ซึ่งผมคิดว่าเด็กๆ ของวงสามารถบรรเลงได้อย่างน่าฟัง มีชีวิตชีวา และน่าจะถ่ายทอดความต้องการของคีตกวีได้เป็นอย่างดี และเพลงสุดท้ายในครึ่งแรกMasks and Machines (Paul Dooley) ซึ่งผมคิดว่าเป็นเพลงที่มีทำนองที่ฟังง่าย ความซับซ้อนไม่ค่อยมาก แต่ก็ยังคงความเป็นสมัยใหม่ด้วยสำเนียงและการประสานเสียงที่แปร่งๆ หูอยู่บ้าง ที่น่าสนใจเช่นกระบวนที่ 2 ซึ่งมีช่วงที่โอโบบรรเลงเดี่ยวได้อย่างไพเราะน่าฟัง ในท่วงทำนองที่ฟังสบาย ส่วนในกระบวนที่ 3 มีช่วงที่ฟลูตขึ้นมาอย่างแปร่งหู  ซึ่งเข้าใจว่าหมายถึงเสียงของความเป็นเครื่องจักร รวมทั้งมีจังหวะที่คึกคักตื่นเต้นด้วย

ส่วนในครึ่งหลังเป็นบทเพลงเอกของรายการ คือ Circus Maximus (John Corigliano) ซึ่งเป็นเพลงขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ทั้งวงเครื่องเป่า วง Saxophone Quartet วง Marching Band ขนาดเล็ก รวมถึงเครื่องเป่าและเครื่องเคาะจังหวะหลายชนิดที่อยู่รายรอบหอแสดงดนตรี ซึ่งทำให้เกิดมิติเสียงที่แปลกใหม่น่าตื่นตาตื่นใจ โดยรวมแล้วผมคิดว่าวงสามารถบรรเลงบทเพลงนี้ได้เป็นอย่างดี มีความยิ่งใหญ่อลังการสมดังความตั้งใจของคีตกวี ซึ่งแน่นอนว่าการได้ฟังของจริงที่เป็นเครื่องเป่าต่างๆ รอบหอดนตรีนี้ย่อมเป็นประสบการณ์เฉพาะที่เครื่องเสียงหรือวิธีการอัดเสียงใดๆ ก็มิอาจทดแทนหรือเลียนแบบได้ และผู้ฟังในแต่ละจุดของหอดนตรีย่อมได้ยินเสียงไม่เหมือนกันแล้วแต่ว่าจะอยู่ใกล้เครื่องดนตรีใด ผมจึงคิดว่าวงมหิดล วินด์ นั้นได้สร้างประสบการณ์ที่เป็นหนึ่งเดียว (uniqueness) ให้กับผู้ฟังในครั้งนี้

โดยสรุปนั้น ผมคิดว่าวงมหิดล วินด์ รวมถึง อ.ธนพล และ อ.ภมรพรรณ นั้น คงจะบรรลุความต้องการของการนำเสนอดนตรีสมัยใหม่ให้แก่ผู้ฟังชาวไทย ซึ่งว่ากันจริงๆ แล้วเพลงเหล่านี้เป็นที่รู้จักของผู้ฟังบ้านเราค่อนข้างน้อยมาก และผู้ฟังบางส่วนก็อาจจะกลัวเพลงสมัยใหม่เหล่านี้ด้วย อย่างไรก็ตามวงนี้ก็ได้แสดงให้เห็นว่าเพลงสมัยใหม่แม้จะไม่ได้เล่นอยู่กับท่วงทำนองที่ไพเราะ แต่คำนึงถึงแนวคิดและมโนทัศน์หลากหลายประการที่คีตกวีพยายามสื่อออกมาเป็นเสียงดนตรี ซึ่งก็สุดแต่เราผู้ฟังจะรับรู้และตีความเสียงเหล่านั้นที่ได้ฟัง ในอีกแง่หนึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าของนักดนตรีรุ่นเยาว์เหล่านี้ ที่จะได้เล่นเพลงที่แปลกแตกต่างจากที่คุ้นเคยรวมถึงยังได้ร่วมงานกับคีตกวีหลายท่านที่มาร่วมงาน TICF ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง และถือว่าเป็นการเปิดตัวต่อผู้ฟังในระดับสากลได้อย่างสง่างาม

13908855_545521258975739_1849776431909463972_o-1Feroci Philharmonic Winds (ภาพจาก facebook: Feroci Philharmonic Society)

Samanmit Wind Ensemble วงดนตรีสมัครเล่นรุ่นใหญ่ หัวใจเกินร้อย

วงต่อมาที่อยากจะกล่าวถึงคือวงสมานมิตร วินด์ อองซอมเบิ้ล (Samanmit Wind Ensemble)ซึ่งถือว่าเป็น วง “ศิษย์เก่า” ของสมาชิกวงดุริยางค์โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เป็นที่ทราบกันดีในวงการดนตรีระดับมัธยมและวงโยธวาทิตว่า โรงเรียนวัดสุทธิวรารามถือเป็น “ตักศิลาแห่งวงการเครื่องเป่าไทย” ที่สร้างนักดนตรีโดยเฉพาะเครื่องเป่ามาประดับวงการดนตรีคลาสสิกของไทยมากมาย หลายคนเป็นครูบาอาจารย์ นักดนตรีอาชีพ อยู่ตามวงดนตรีและสถาบันดนตรีที่สำคัญมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แต่ที่จริงแล้ววงสมานมิตรนั้น ประกอบด้วยสมาชิกส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นนักดนตรีอาชีพ และบางคนก็ไม่ได้เล่นดนตรีอีกเลยหลังจากจบมัธยม แต่ทุกคนมาด้วยใจและอยากให้ดนตรีเป็นสื่อในการ “สมานมิตรภาพ” ของพวกเขาให้กลับคืนมา และเป้าหมายที่พวกเขาได้วางร่วมกันก็คือจัดคอนเสิร์ตการกุศลขึ้น เพื่อเป็นการ “ทำประโยชน์ให้สังคม” ร่วมกัน โดยใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง

การแสดงของวงสมานมิตร จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2559 ณ หอแสดงดนตรี อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในรายการชื่อ 1st Samanmit Winds Concert : The Sound of Friendship โดยมี อ.สุรพล ธัญญวิบูลย์ และ อ.ดร.นิพัต กาญจนะหุต เป็นวาทยกรซึ่งทั้งสองท่านนี้ก็เป็นศิษย์เก่าที่ก้าวเข้ามาเป็นมืออาชีพในด้านดนตรีและเป็นผู้อาวุโสในวงการด้วย

บทเพลงที่วงนำมาแสดงนั้น เป็นเพลงที่ค่อนข้างฟังง่าย และเป็นเพลงที่ย้อนรำลึกถึงสมัยพวกเขายังเป็นนักเรียนวงโยธวาทิต มีเพลงอย่าง African Symphony (Van McCoy) Romanesque, Novena (James Swearingen) Colonel Bogey (Kenneth Alford) 76 Trombones (Meredith Wilson) รวมไปถึงเพลงร้องยอดนิยม เช่น ใจรัก (สุชาติ ชวางกูร) หยุด (วง Groove Riders) เพลงสนุกๆ อย่างไทยฮาเฮ (สาครินทร์ หวังสมบูรณ์ดี เรียบเรียง) และเพลงสากลที่คุ้นหูแห่งยุค 70 เช่น I Will Survive (Freddie Perren, Dino Fekaris) Can’t Take My Eyes Off You (Bob Crewe, Bob Gaudio) และ Y.M.C.A. (Jacques Morali, Victor Willis) ซึ่งเป็นการย้อนยุคไปสมัยที่สมาชิกของวงส่วนใหญ่ยังเป็นเด็กนักเรียนอยู่

ผมอยากจะขอกล่าวเป็นภาพรวมของการบรรเลง ในกลุ่มของเพลงวงโยธวาทิตนั้น เท่าที่ฟังก็ยังรับรู้ได้ถึงการเป็นเพลงสำหรับเดินแถวและแปรขบวน มีจังหวะที่คึกคัก วงสามารถเล่นได้อย่างน่าฟัง แม้จะมีนักดนตรีบางคนของวงบอกผมว่า สมาชิกบางคนนั้นไม่ได้เล่นดนตรีมาหลายสิบปีแล้ว กว่าจะซ้อมให้เล่นกันได้ก็ใช้เวลามากอยู่ และบางคนก็อาจจะเล่นไม่ครบทุกโน้ต แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าทุกคนก็ยังมีฝีมือและทักษะทางดนตรีอยู่ เพียงแต่ต้องเคาะสนิมออกมาบ้าง เสียงที่ออกมาก็ยังคงมีความกลมกลืน มีพลัง และมีลีลาความเป็นดนตรีที่ดี ผมคิดว่าพวกเขาออกจะถ่อมตัวไปสักหน่อยว่าบางคนก็ “อมmouthpiece” ซึ่งผมคิดว่าเป็นการหยอกล้อกันเองมากกว่า

ในส่วนของเพลงร้องยอดนิยมนั้น ผมคิดว่าวงสามารถบรรเลงได้เป็นอย่างดีอีกเช่นกัน ผมคิดว่าเพลงเหล่านี้ไม่ซับซ้อนมากนัก หากได้ฝึกซ้อมกันมาอย่างดีก็น่าจะบรรเลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผมยังแอบคิดไปไกลว่าวงนี้ก็สามารถบรรเลงเพลงประเภทบิ๊กแบนด์ เพลงลูกกรุง หรือแม้แต่เพลงลูกทุ่งได้อย่างแน่นอน และมีคุณภาพที่ดีด้วย (เพราะอย่างน้อยในวงนั้นก็มีศิษย์เก่าที่เป็นนักดนตรีอาชีพและครูดนตรีระดับแถวหน้าของเมืองไทยในแต่ละเครื่องมือเช่นกัน ย่อมสามารถนำกลุ่มให้เล่นได้อย่างเป็นเอกภาพ)และถ้ามีโอกาสวงดนตรีวงนี้ก็สิทธิ์ร่วมงานศิลปินนักร้องชื่อดังของเมืองไทยก็เป็นได้

สิ่งที่น่ายกย่องของวงนี้คือหัวจิตหัวใจที่รักในการเล่นดนตรี และอยากให้ดนตรีเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์และสร้างความแน่นแฟ้นในมิตรภาพของการเป็นศิษย์เก่าวงดุริยางค์วัดสุทธิวราราม และการได้เล่นดนตรีร่วมกันก็มีคุณค่าเหนือกว่าคุณภาพของการบรรเลง แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่วงนี้เป็นศิษย์เก่าของตักสิลาเครื่องเป่าไทย ถึงอย่างไรคุณภาพก็ยังเป็นสิ่งที่พวกเขามิได้ละเลย และผมคิดว่าพวกเขาเลือกเพลงที่พวกเขาสามารถเล่นได้อย่างมั่นใจว่าจะเล่นได้ดี และไม่เสียชื่อโรงเรียนเก่าแก่ด้านดนตรีแห่งนี้

สุดท้ายนี้ ผมคิดว่าการรวมวงของวงสมานมิตร วินด์ อองซอมเบิ้ล นั้น น่าจะเป็นตัวอย่างให้กับศิษย์เก่าของโรงเรียนอื่นๆ ที่อยากกลับมาเล่นดนตรีด้วยกันกับเพื่อนผองน้องพี่ร่วมสถาบัน ในฐานะของ “ผู้รักสมัครเล่น” หากมีวงประเภทนี้เกิดขึ้นมากๆ ก็คงจะทำให้วงการดนตรีคึกคักมากขึ้น และน่าจะถือว่าเป็นคุณูปการของวงการวงโยธวาทิตไทยที่ได้สร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความรักในดนตรี และพร้อมที่จะแตกหน่อผลิดอกออกผลได้ทุกเมื่อเมื่อมีความพร้อม  และหวังว่าวงสมานมิตรจะมีกิจกรรมทางดนตรีเช่นนี้ต่อไปอย่างสม่ำเสมอ

 

Feroci  Phlharmonic Winds วงกึ่งอาชีพ ในบทเพลงที่ไม่ธรรมดา

วงสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึง คือวง Feroci Philharmonic Winds ซึ่งเป็นวงของคณาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตรงนี้ผมสังเกตได้ว่า วงเครื่องเป่าของศิลปากรนั้นจะมี 2 วง คือวงนักศึกษาปัจจุบัน (Silpakorn University Wind Orchestra) ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ วงมหิดลที่กล่าวมาข้างต้น (เป็นกิจกรรมหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาที่เรียกว่า “วิชารวมวง”)และวง Feroci Philharmonic ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นวงที่คัดสรรนักดนตรี “หัวกะทิ” ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน โดยมีคณาจารย์เป็นผู้นำและควบคุมทิศทางของวงในแต่ละกลุ่มเครื่องดนตรีด้วย ดังนั้นการแสดงของวง Feroci นั้นส่วนใหญ่จะจัดในโอกาสสำคัญ เช่นในการแสดงครั้งล่าสุดนั้น คือคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวาระที่ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา และที่สำคัญคือทางวงได้เชิญวาทยกรและคีตกวีผู้มีชื่อเสียงและมีผลงานในระดับนานาชาติ อย่าง ยาสุฮิเดะ อิโต (Yasuhide Ito) มาเป็นวาทยกรในคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วย ซึ่งจัดแสดงไปเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

รายการแสดงในวันนั้น (ประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผลงานของ อ.อิโต เอง) ประกอบด้วย Go for Broke (Ito) ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อรำลึกถึงทหารอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในหน่วยรบที่ชื่อว่า “442rd Infantry Regiment” ซึ่งมีคำขวัญอันเป็นที่มาของชื่อเพลงว่า “Go for Broke” นั่นเอง ดังนั้นบทเพลงนี้จึงมีกลิ่นอายของความเป็นทหารอย่างชัดเจน  มีทั้งความหม่น ลี้ลับ และความตื่นเต้นขึงขัง ซึ่งวงเล่นได้อย่างดีและชัดเจนมาก เพราะมีอาจารย์และศิษย์เก่าฝีมือดีๆ ร่วมเล่นด้วย ขณะที่วงมหิดลจะเป็นนักศึกษาปัจจุบัน (ยกเว้นในกรณีที่คนขาดจึงจะใช้ศิษย์เก่ามาช่วยบ้าง) ส่วนเพลงต่อมา First Suite in Eb, Op.28, No.1 (Gustav Holst, edited by Ito) ซึ่งถือเป็น “เพลงครู” ของวงการเครื่องเป่า และผมเองได้ฟังหลายวงเล่นมาแล้ว ในส่วนของวงนี้ผมคิดว่าเล่นได้ดีและให้เสียงที่ดีมาก เพราะได้ยินเสียงของแต่ละเครื่องดนตรีได้อย่างชัดเจน แต่จังหวะค่อนข้างเนิบอยู่บ้างเล็กน้อย อีกเพลงหนึ่งที่น่าจะถือว่าเป็นไฮไลต์ของครึ่งแรก คือ Fantasy Variations on a Theme by Niccolo Paganini (James Barnes) ซึ่งเป็นการนำทำนองจาก Caprice No.24 ของปากานินี มาแปรผันทำนองให้เครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ได้แสดงฝีมือ บางช่วงก็เล่นเป็นกลุ่ม บางครั้งก็เล่นทั้งวง โดยสร้างความแตกต่างหลากหลายด้วยการแปรทำนองและการควบคุมความดัง-ค่อยของเสียง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าวงเล่นได้อย่างดีน่าฟังมาก ทุกกลุ่มทั้งเครื่องเป่าลมไม้ เครื่องเป่าทองเหลือง และเครื่องกระทบนั้น มีความแข็งแกร่งเชิงเทคนิคอย่างมาก ทำให้ถ่ายทอดการแปรทำนองต่างๆ ได้อย่างดี

ส่วนในครึ่งหลังเริ่มด้วย The Isolated Illusion Which Passes Through (กิตติพันธ์ จันทร์บัวลา) ซึ่งเป็นเพลงสำหรับนักแสดงเดี่ยวเครื่องกระทบ (percussionist) 4 คน วงเครื่องเป่า และนักคอมพิวเตอร์ โดยกลุ่มนักเครื่องกระทบ Exotic Percussion อำนวยเพลงโดย อ.เผ่าพันธุ์ อำนาจธรรม ถือว่าเป็นผลงานในรูปแบบคล้ายๆ กับ concerto สำหรับกลุ่มเครื่องกระทบ ซึ่งผมคิดว่าเป็นการแสดงฝีมือที่ไม่ธรรมดาของกลุ่มนักเครื่องกระทบกลุ่มนี้ ที่สามารถถ่ายทอดทั้งความตื่นเต้นดุดันและความหม่นที่เนิบช้าของบทเพลงนี้ได้อย่างน่าฟัง  ซึ่งทั้งวงและเสียงจากคอมพิวเตอร์ก็สอดคล้องกับกลุ่มเครื่องกระทบหลักได้อย่างน่าฟังเช่นกันตามด้วย The Seashell Song (Ito) ซึ่งเป็นอีกเพลงหนึ่งที่ อ.อิโต ประพันธ์ขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองฟูกุชิมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเยียวยาหัวใจของผู้สูญเสีย ซึ่งมีทำนองที่ค่อนข้างซาบซึ้ง (เดิมเป็นเพลงร้องแต่ได้ดัดแปลงมาเป็นเพลงบรรเลงสำหรับวงเครื่องเป่า) และวงของไทยเราก็สามารถถ่ายทอดท่วงทำนองที่ซาบซึ้ง ให้ความหวังและกำลังใจนี้ได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะช่วงเดี่ยวโอโบ ซึ่งได้ วิคเตอร์ ทัม (Victor Tam) นักโอโบมากฝีมือชาวฮ่องกง (ซึ่งเคยมาแสดงกับวงศิลปากรแล้ว) เป็นผู้เดี่ยวได้อย่างจับใจ เคียงคู่กับเสียงฟลูตของ อ.วรพล กาญจน์วีระโยธิน ที่มีท่วงทำนองที่ไพเราะและซาบซึ้งเช่นกัน อีกเพลงหนึ่งของ อ.อิโต คือ Festal Scenes (Ito) ซึ่งเป็นเพลงที่ผมชอบที่สุดในรายการนี้ เพราะมีท่วงทำนองที่สนุกสนานและมีความเป็นพื้นบ้านญี่ปุ่นอยู่มาก (ต่างจากเพลงข้างต้นของ อ.อิโต เอง ซึ่งมีลักษณะที่ออกไปในทางตะวันตกค่อนข้างมาก ทั้งสำเนียงและการประสานเสียง) โดยส่วนตัวผมคิดว่าในเพลงนี้พระเอกคือฟลูต (โดย อ.วรพล) ที่เดินทางทำนองที่ไพเราะงดงาม  และก็เป็นอีกเพลงที่ใช้ศักยภาพของเครื่องดนตรีทั้งเครื่องเป่าและเครื่องกระทบที่หลากหลาย โดยกลุ่มฮอร์นก็เป็นกลุ่มที่มีบทบาทสูงมากเช่นกันในเพลงนี้และเพลงสุดท้าย Three Notes of Japan (Toshio Mashima) ก็เป็นอีกเพลงหนึ่งที่ใช้สำเนียงญี่ปุ่นมาเป็นพื้นฐานในการประพันธ์ ซึ่งแม้ว่าจะมีทำนองที่ฟังง่ายและชัดเจน แต่ความซับซ้อนของการประสานเสียงนั้นรู้สึกว่าไม่ง่ายเลย และผู้เล่นเองคงจะต้องใช้ฝีมือเป็นอย่างมากเช่นกัน ซึ่งเมื่อเสียงเพลงจบลงก็ได้รับความพึงพอใจและเสียงปรบมือจากผู้ฟังอย่างยาวนาน จนวาทยกรอิโตต้องออกมาให้เพลงแถม (encore) ถึง 2 เพลงด้วยกัน (ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เมดเลย์เพลงยอดนิยมของฝรั่งเศส เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการให้กำลังใจแก่ประเทศฝรั่งเศสที่เพิ่งเกิดเหตุวินาศกรรมไปเมื่อไม่นานนี้เอง)

คอนเสิร์ตครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเยาวชนนักดนตรีรุ่นใหม่ ซึ่งกำลังหลักส่วนใหญ่ก็คือนักศึกษาปัจจุบันของศิลปากรนั่นเอง แม้ว่าจะมีระดับครูอาจารย์ ศิษย์เก่า และเพื่อนต่างสถาบันอยู่บ้าง แต่แน่นอนว่าการที่ได้รุ่นครูมาเป็นผู้นำกลุ่ม ย่อมทำให้มีความแม่นยำและระเบียบวินัยที่มากขึ้น (ซึ่งผู้ฟังหลายท่านที่ได้ติดตามวงศิลปากรมาตลอดจะพบว่า ค่ายดนตรี Silpakorn Summer Music School [SSMS] ก็ใช้วิธีการเดียวกันคือให้เด็กได้เล่นร่วมกับครูทั้งในการซ้อมและการแสดงจริง รวมถึงวง Pro Musica Orchestra ซึ่งเป็นวงเครื่องสายขนาดเล็กก็ใช้หลักการเดียวกัน) โดยรวมแล้วทำให้เสียงของวงมีมาตรฐานที่สูงมาก ซึ่งผมอยากจะขอเรียกว่าวงนี้ว่าเป็นวง “กึ่งอาชีพ” เพราะมีนักดนตรีอาชีพเล่นอยู่ร่วมกับนักศึกษาที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นมืออาชีพต่อไป แม้ว่าจุดประสงค์ของ อ.ดำริห์ บรรณวิทยกิจ คณบดีคณะ
ดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งวง Feroci นี้ขึ้น เพื่อต้องการให้เป็นวง “อาชีพ” ด้านเครื่องเป่าวงแรกของประเทศไทยให้ได้ ซึ่งผมคิดว่ายังต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง และปัจจัยที่สำคัญของการเป็นวงอาชีพน่าจะเป็นเรื่องความต่อเนื่องของการแสดง เรื่องค่าตอบแทนนักดนตรี และค่าใช้จ่ายในการเข้าชม (ซึ่งปัจจุบันวง Feroci ยังไม่ได้เก็บค่าเข้าชม เข้าใจว่าเนื่องจากเป็นการแสดงที่จัดร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงไม่ได้เก็บค่าเข้าชม)

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นวง “กึ่งอาชีพ” หรือวง “อาชีพ” คุณภาพของวงนี้ก็คงไม่ต่างกันนักเพราะรากฐานของวงค่อนข้างจะแข็งแกร่งดีอยู่แล้ว สิ่งที่ผมและผู้ฟังอีกหลายท่านคาดหวัง นั่นคือการต่อยอดวง “Feroci Philharmonic Winds” ให้เป็น “Feroci Philharmonic Orchestra” หรือวงออร์เคสตราเต็มรูปแบบที่มีเครื่องสายด้วย ซึ่งผมคิดว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรมีศักยภาพที่จะทำได้ ทั้งครูอาจารย์ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันในด้านเครื่องสายก็มีอยู่ไม่น้อยและคุณภาพก็อยู่ในระดับแนวหน้าของวงการ ดังนั้นคงเหลือเพียงเรื่องการบริหารจัดการเท่านั้น วงนี้จึงจะเกิดขึ้นมาได้

 

สรุป

จากการได้ติดตามวงดนตรีเครื่องเป่าทั้ง 3 วงข้างต้นนั้น ผมคิดว่าวงการดนตรีเครื่องเป่าบ้านเราค่อนข้างมีรากฐานที่มั่นคงมาจากวงโยธวาทิตอยู่แล้ว เห็นได้จากวงสมานมิตร ซึ่งหลายคนก้าวขึ้นมาเป็นนักดนตรีอาชีพ ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นนักดนตรีก็ยังมีเชื้อหรือความรักในดนตรีอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย และพร้อมที่จะฟื้นฝีมือขึ้นมาได้เมื่อต้องการ ในขณะที่วงระดับมหาวิทยาลัยอย่างวงมหิดลนั้น ก็อยู่ในระดับที่สามารถออกงานระดับสากลได้ ด้วยองค์แห่งคีตนิพนธ์ (repertoire) ที่กว้างขวางและหลากหลาย ส่วนวงรุ่นใหญ่ขึ้นมาอย่างวงแฟโรชีนั้น ก็แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของนักดนตรีที่คัดเลือกระดับหัวกะทิมาทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเยาว์ที่สามารถถ่ายทอดบทเพลงที่เราไม่คุ้นเคยได้เป็นอย่างดี และสามารถร่วมงานกับวาทยกรระดับนานาชาติได้อย่างน่าชื่นชมด้วย และผมเชื่อว่านอกเหนือจาก 3 สถาบันดังกล่าวนี้ ก็ยังมีวงเครื่องเป่าอีกหลายสถาบันที่ผมยังไปไม่ถึงแต่ก็มีฝีไม้ลายมือที่ไม่ธรรมดาเช่นกัน ซึ่งผมก็คาดว่านักดนตรีเหล่านี้จะเป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศเราในด้านดนตรีคลาสสิกต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *