คอนเสิร์ตแห่งมิตรภาพ ระหว่างวงดุริยางค์ราชนาวี กับ วง Sangrok Orchestra จากเกาหลีใต้

คอนเสิร์ตแห่งมิตรภาพ ระหว่างวงดุริยางค์ราชนาวี กับ วง Sangrok Orchestra จากเกาหลีใต้

14206153_1115331445222976_6629869837086141896_o(ภาพประกอบ facebook: กองดุริยางค์ทหารเรือ)

วฤธ  วงศ์สุบรรณ

นับเป็นความโชคดีของผมอีกครั้งหนึ่ง ที่ได้ฟังดนตรีที่น่าประทับใจโดยความบังเอิญแท้ๆ อันเนื่องมาจากว่าผมไปตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดวงดุริยางค์ราชนาวีจึงมีคอนเสิร์ตใหญ่อย่างเป็นทางการเพียงปีละครั้ง และยังเป็นเพลงคลาสสิกเพียงครึ่งรายการ ทหารเรือท่านหนึ่งจึงส่งข้อมูลมาให้ผมว่าทางวงราชนาวีก็มีคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกแบบเต็มรายการเช่นกัน และเชิญชวนให้ผมมาชมรายการนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2559 ณ โรงละครแห่งชาติต้องขอขอบคุณจ่าเอกอานนท์ มงคลภัทร์ มา ณ ที่นี้ด้วย

คอนเสิร์ตนี้ มีชื่อว่า The Holy City in Concert ซึ่งจัดมาเป็นครั้งที่ 14 ต่อเนื่องกันทุกปี ซึ่งวงดุริยางค์ราชนาวีร่วมกับวง Sangrok Orchestra แห่งเกาหลีใต้จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านดนตรีและวัฒนธรรมระหว่างกัน โดยมีนักดนตรีจากเกาหลีใต้เข้ามาทำเวิร์คช็อปและแสดงคอนเสิร์ตร่วมกับนักดนตรีทหารเรือไทย โดยในปีนี้มีนักดนตรีมาร่วมเล่น 26 คน  ส่วนใหญ่เป็นนักดนตรีในกลุ่มเครื่องสาย มีเพียง 2 คนเท่านั้นเป็นนักดนตรีเครื่องเป่า

การแสดงเริ่มต้นด้วยเพลง The Holy City (Stephen Adams) เข้าใจว่าวงดนตรีวงนี้มีพันธกิจในการเผยแพร่ศาสนาด้วย จึงเริ่มต้นด้วยบทเพลงนี้ซึ่งเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะและสง่างามให้ความรู้สึกถึงความสงบเยือกเย็นและความเคารพที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า  โดยวาทยกรคือ Dr. Dong Hyung Choon ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงเพลงนี้ด้วย ทำให้เสียงของวงออกมาอย่างงดงามเหนือความคาดหมายของผมมาก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสายที่มีเสียงที่แน่นและหวานฉ่ำอย่างไม่ธรรมดา

ตามมาด้วย Violin Concerto in A minor No.1 BWV 1041 (Johann Sebastian Bach) (บรรเลงเฉพาะกระบวนแรก) ซึ่งมีหนุ่มน้อยชาวเกาหลี Lee Shi Woo (ซึ่งน่าจะมีอายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น) ขึ้นมาบรรเลงเดี่ยวร่วมกับวง ซึ่งพ่อหนุ่มน้อยคนนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงฝีมือที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว แม้ว่าจะผิดพลาดบางส่วนไปบ้าง  แต่ก็มีทักษะพื้นฐานที่ดีทีเดียว หากขยันฝึกซ้อมก็น่าจะก้าวขึ้นมาเป็นนักดนตรีอาชีพได้  เพราะพื้นฐานค่อนข้างดีและเริ่มต้นเร็ว ส่วนเพลงถัดมาเป็น Cello Concerto in B flat major (Luigi Boccherini) (บรรเลงเฉพาะกระบวนแรก) โดยสาวน้อย Kwon You Won ซึ่งเป็นเด็กรุ่นโตกว่าหนุ่มน้อย Lee ก่อนหน้านี้ ดูแล้วเธอก็มีทักษะที่ดีมาก ทั้งยังสามารถจำโน้ตคอนแชร์โตยาวๆ ได้ทั้งกระบวนด้วย ทำให้เห็นว่าผลผลิตทางด้านดนตรีคลาสสิกของเกาหลีนั้นคุณภาพสูงขนาดไหน ซึ่งทั้ง 2 เพลงนี้ วงสามารถเล่นเคียงคู่ไปกับผู้แสดงเดี่ยวได้เป็นอย่างดี  ซึ่งต้องยกความดีให้วาทยกรที่กำกับวงให้เล่นคลอนักดนตรีเดี่ยวตัวน้อยทั้ง 2 คนได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

ถัดมาเป็น Tuba Concerto (Ralph Vaughan Williams) (บรรเลงเฉพาะกระบวนแรก) โดยนักเรียนดุริยางค์ ศักดา ประชุมชนะ ตัวแทนจากฝ่ายไทยซึ่งก็บรรเลงได้เป็นอย่างดี มีความไพเราะน่าฟัง มีลีลาอารมณ์ที่หลากหลาย ผู้แสดงเดี่ยวน่าจะฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดีและเล่นด้วยความมั่นใจ จึงทำให้บรรเลงออกมาได้เป็นอย่างดี อันที่จริงผมต้องสารภาพว่าเพิ่งได้ฟังบทเพลงนี้เป็นครั้งแรก และค่อนข้างจะทึ่งในตัวบทเพลงที่มีความหลากหลายในท่วงทำนองและสามารถแสดงถึงศักยภาพของเครื่องดนตรีทูบา ซึ่งเราไม่ค่อยจะเคยได้ยินเสียงเครื่องดนตรีชนิดนี้บรรเลงเดี่ยวบ่อยนัก (แม้ในวงดนตรีก็อาจจะไม่รู้ว่ามีเครื่องดนตรีนี้อยู่ เพราะเสียงค่อยข้างต่ำมากจนฟังไม่ออก)

แต่ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นจุดสูงสุดของการแสดงครั้งนี้คือ Sinfonia Concertantein E flat for Violin, Viola and Orchestra, K.364 ของ Wolfgang Amadeus Mozart  ซึ่งแสดงเดี่ยวไวโอลินโดย Dong Uen Hye หัวหน้าวง Sangrok Orchestra เอง และวิโอลาโดย Hung Wei Hwangนักวิโลอาชาวไต้หวันซึ่งเป็นถึงหัวหน้ากลุ่มวิโอลาของวง Seoul Philharmonic เลยทีเดียว ทั้งคู่บรรเลงเข้ากันได้ดีมาก เสียงไวโอลินนั้นค่อนข้างหวานไพเราะจับใจ ส่วนวิโลลานั้นก็มีเสียงที่หนักแน่น เข้มข้น ทั้งคู่ยังเล่นด้วยกันได้อย่างลงตัว เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคาดว่าคงซ้อมกันมาอย่างดีจนรู้ใจ เท่าที่สังเกตได้อีกอย่างหนึ่งคือทั้งคู่หันไปมองวงค่อนข้างบ่อย เหมือนหัวหน้าที่ยังห่วงลูกวงและคอยเอาใจใส่เสียงที่สมาชิกในวงเล่นออกมา ซึ่งผมคิดว่าคงต้องยกความดีให้กับวงและวาทยกร ที่สามารถเล่นไพเราะงดงาม เคียงคู่ไปกับผู้แสดงเดี่ยวทั้งสองได้อย่างดีเยี่ยม มีลีลาและสไตล์ที่พอเหมาะ ไม่ดูบีบคั้นอารมณ์มากเกินจนล้น แต่ก็ไม่ถึงกับแห้งแล้งจนเกินไป ซึ่งการแสดงในครั้งนี้ผมเองยังคิดว่า  แผ่นบันทึกเสียงของศิลปินดังบางคนและบางวงยังเล่นได้ไม่ถึงใจเท่าวงนี้เลยด้วยซ้ำ มีเพียงโอโบและฮอร์นที่บางครั้งมีเสียงแกว่งไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเสียหายอะไรมาก โดยรวมแล้วผมถือว่าเป็นการบรรเลงที่คุณภาพสูงมาก และประทับใจผมเป็นอย่างยิ่ง

ในครึ่งหลังเป็นการบรรเลงบทเพลง Symphony No.4 in F minor Op.36 ของ Peter Ilyich Tchaikovsky โดยมีนาวาเอกณรงค์ แสงบุศย์ เป็นวาทยกร  ซึ่งก่อนหน้านี้วงราชนาวีได้บรรเลงเพลงนี้ในกาชาดคอนเสิร์ตเมื่อ 2 เดือนก่อน แต่บรรเลงเพียงกระบวนที่ 4 เท่านั้น ซึ่งทำให้ผมรู้สึกเสียดายและค้างคาใจมาก เพราะความไพเราะของบทเพลงนี้ต้องเรียกว่าน่าสนใจในทุกกระบวน มาในครั้งนี้ได้โอกาสบรรเลงครบทั้ง 4 กระบวน โดยที่ Dong Uen Hye มานั่งในตำแหน่งหัวหน้าวง เช่นเดียวกับ Hung Wei Hwang ที่ไปเล่นเป็นหัวหน้ากลุ่มวิโอลาวงเล่นได้อย่างน่าฟังมาก โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องสาย ซึ่งมีเสียงที่เข้มข้น intonation ที่แม่นยำ รวมทั้งยังจับชีพจรของเพลงได้แม่นยำ และกำกับความดังค่อย (dynamic) ได้ดีมากด้วย ส่วนกลุ่มเครื่องเป่านั้น ผมคิดว่ากลุ่มฮอร์นค่อนข้างมีปัญหา ด้านโอโบนั้นมีเสียงแกว่งที่ปลายประโยค (โดยเฉพาะช่วงโอโบบรรเลงเดี่ยวในต้นกระบวนที่ 2) อย่างไรก็ตามผมก็ยังรู้สึกว่าในภาพรวมนั้น วงเล่นได้อย่างดีมาก โดยเฉพาะกระบวนที่ 3 ซึ่งเป็นท่อนที่เครื่องสายเล่นแบบดีดสาย (pizzicato) ทั้งกระบวน กลุ่มเครื่องสายสามารถเล่นได้อย่างพร้อมเพรียงและน่าฟังมาก (การเล่นแบบดีดสายนี้ ต้องใช้ความแม่นยำและพร้อมเพรียงสูงมาก เพราะหากเล่นไม่พร้อมกันจะฟังออกได้ง่ายมาก) ส่วนเครื่องเป่าก็เสริมได้อย่างน่าฟังยิ่ง ส่วนในกระบวนสุดท้ายนั้นนักดนตรีส่วนใหญ่ในวงราชนาวีก็เพิ่งได้เล่นเพลงนี้ไป ทำให้มีความพร้อมในกระบวนนี้มากเป็นพิเศษ และก็สามารถเล่นได้อย่างดีและตื่นเต้นเร้าใจ เป็นเพลงปิดการแสดงที่ยิ่งใหญ่และงดงาม

โดยส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างประทับใจกับการแสดงในครั้งนี้มากเป็นพิเศษ ไม่น้อยไปกว่าการแสดงของวงออร์เคสตราวงอื่นๆ ของเมืองไทยเลย แม้ว่าถ้าพูดกันตามตรงนั้น การได้นักดนตรีจากเกาหลี (ซึ่งถือเป็นประเทศนอกโลกตะวันตกที่อยู่ในระดับแนวหน้าในเรื่องของดนตรีคลาสสิก) มาร่วมเล่นกับวงถึง 20 กว่าคนนั้น ย่อมเป็นการยกระดับเสียงของวงได้อย่างชัดเจน (ซึ่งหลายๆ วงในไทยก็ทำกันโดยให้ครูของเราเอง  หรือนักดนตรีรับเชิญจากตะวันตกเป็นหัวหน้ากลุ่มและคอยชี้แนะให้แก่รุ่นเด็ก) แต่แน่นอนว่าวงราชนาวีเป็นวงที่มีพื้นฐานค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่แล้ว นักดนตรีทหารเรือโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องสายอีกถึง 36 คน สามารถสร้างเอกภาพทางเสียงร่วมกับนักดนตรีเกาหลีได้เป็นอย่างดี มีนักดนตรีบางคนบอกผมว่าสมาชิกของวงนี้ส่วนใหญ่จะเป็น “รุ่นน้อง” ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้เล่นในงานกาชาดคอนเสิร์ต (ซึ่งถือว่าเป็นคอนเสิร์ตอันดับ 1 ของทหารเรือ) แต่ผมก็คิดว่าเสียงที่ออกมาก็ค่อนข้างดีมาก ทำให้รู้สึกว่าวงทหารเรือนั้นมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมาตรฐานที่สูง และในอีกแง่หนึ่งการให้รุ่นน้องได้เล่นในคอนเสิร์ตนี้ ก็จะเป็นการสั่งสมฝีมือและประสบการณ์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เป็น “รุ่นพี่” ที่มีฝีมือสูงขึ้นต่อไป

การแสดงครั้งนี้ย่อมทำให้ผู้ที่สนใจฟังเพลงคลาสสิกอย่างเข้มข้นคงจะรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ และเป็นการพิสูจน์อีกครั้งว่าวงทหารเรือไทยนั้นมีฝีมือที่อยู่ในระดับที่สามารถเชิดหน้าชูตาวงการคลาสสิกบ้านเราได้ (ใครไม่เชื่อผมก็แล้วไป เพราะอย่างไรเสียผมเองก็ไม่ค่อยเชื่อเสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใดอยู่แล้ว จนกว่าจะได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง)  คอเพลงคลาสสิกรุ่นผู้ใหญ่ตอกย้ำกับผมอยู่เสมอว่า  ถ้าไม่มีนักดนตรีจากราชนาวี  วงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยก็คงตายไปนานแล้ว  การฟื้นตัวครั้งใหญ่เมื่อตอนที่ ม.ล. อัศนี  ปราโมช และ อ. กำธร  สนิทวงศ์ ตั้งวง Pro Musica ขึ้นเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วนั้น  ก็อยู่ได้ด้วยนักดนตรีจากกองดุริยางค์ทหารเรือเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งต่อมาจึงพัฒนาขึ้นมาเป็นวง BSO แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้ชม อย่างที่ได้เรียนไปตอนต้นว่า การแสดงร่วมของวงดุริยางค์ราชนาวีกับวง Sangrok Orchestra นั้นดำเนินมาแล้วถึง 14 ปี และในปีหน้าทางผู้จัดก็ได้แจ้งว่าจะเป็นการฉลองครั้งใหญ่และจะไปแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจุผู้ชมได้ถึง 2,000 คน ในขณะที่โรงละครแห่งชาตินั้น จุผู้ชมได้ประมาณ 1,000 คน แต่ในคอนเสิร์ตวันนั้นก็ยังมีผู้ชมไม่ถึงครึ่งโรง จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่าการแสดงปีหน้าที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยจะทำอย่างไรจึงจะมีผู้ชมในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งปัญหานี้วงการคลาสสิกทั่วโลกก็ประสบกันแทบทั้งนั้น แม้แต่วงใหญ่ๆ ในบ้านเราอย่าง BSO หรือ TPO นั้นหลายครั้งก็มีผู้ชมอยู่ในระดับบางตา (จนนักวิจารณ์หลายท่านออกมาตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้) ผมเองก็ได้มาดูคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วยความบังเอิญโดยแท้  เพราะการประชาสัมพันธ์ค่อนข้างน้อยมาก ผมคิดว่าเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ของกองดุริยางค์ทหารเรือ  และเครือข่ายญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของนักดนตรีคงต้องทำงานกันหนักกว่านี้ เพื่อที่จะทำให้สิ่งที่ดีมีคุณค่าที่ตนมีอยู่นั้นได้เป็นที่รู้จักในพื้นที่สาธารณะมากยิ่งขึ้น และจะได้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้รักดนตรีคลาสสิก นอกเหนือจากกาชาดคอนเสิร์ต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *