สู่ทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะ

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

ร่วมกับ

โครงการวิจัย “เครือข่ายการวิจารณ์ศิลปะ: การวิจัยและพัฒนา”

จัดการเปิดตัวหนังสือและสนทนาทางวิชากร

สู่ทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะ

วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560 ห้องประชุม 607 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพ

ดาวน์โหลดใบสมัคร  PDF    WORD

ดาวน์โหลดหลักการและเหตุุผล

 

 

ความเป็นมา

โครงการวิจัย “เครือข่ายการวิจารณ์ศิลปะ: การวิจัยและพัฒนา” ระยะที่ 2  (1 ตุลาคม 2558 – 31 มีนาคม 2560)  ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  โดยมีศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์ เป็นหัวหน้าโครงการ  โครงการนี้เป็นการวิจัยเครือข่ายการวิจารณ์ศิลปะในประเทศไทย  ทั้งในโลกจริง (ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค)  และโลกเสมือน  ใน 5 สาขา อันได้แก่ วรรณศิลป์ ทัศนศิลป์  ศิลปะการละคร  ภาพยนตร์ และสังคีตศิลป์ (ดนตรีไทย)

ในการวิจัยระยะที่ 2 ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานของโครงการฯ ใน 4 ลักษณะคือ  1) การสำรวจ รวบรวม วิเคราะห์ และประมวลเครือข่าย (compendium of networks) การวิจารณ์ศิลปะ ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน  (ดำเนินการต่อจากการวิจัยระยะแรกสำหรับบางสาขา)  2) การเชื่อมโยงและพัฒนาศักยภาพการวิจารณ์ของเครือข่ายที่มีอยู่แล้ว  โดยการจัดกิจกรรมการวิจารณ์ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ที่ค้นพบ ในโลกจริงทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  และโลกเสมือน  3) การสร้างเครือข่ายการวิจารณ์   โครงการฯ วิจัยทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานงานเพื่อสร้างเครือข่ายการวิจารณ์ขึ้นใหม่  และ 4) การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการวิจารณ์   ทั้งในรูปบทความทางวิชาการและบทวิจารณ์ในสื่อสิ่งพิมพ์และการวิจารณ์ในสื่ออินเทอร์เน็ต 

จากข้อค้นพบประการสำคัญที่ได้จากการวิจัยโครงการ “เครือข่ายการวิจารณ์: การวิจัยและพัฒนา” ระยะที่ 1 (18 กันยายน 2557 – 17 กันยายน 2558) คือ สมาชิกในเครือข่ายการวิจารณ์และเครือข่ายศิลปะต่างๆ ในทั้ง 5 สาขาต่างยอมรับว่ายังขาดแคลนและมีความต้องการองค์ความรู้ทางด้านหลักการและทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิจารณ์และสร้างมุมมองใหม่ๆ ในการวิจารณ์ต่อไป

ด้วยเหตุนี้  โครงการฯ จึงเห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเสริมสร้างองค์ความรู้ทางด้านทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะขึ้นในประเทศไทย   ทิศทางหนึ่งที่โครงการฯ กระทำได้คือ การทำหน้าที่ในฐานะตัวกลางติดต่อประสานงานกับนักวิชาการ  ผู้รู้  ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะ เพื่อเชิญให้เขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะในแง่มุมต่างๆ  พร้อมตัวอย่างการปรับใช้ทฤษฎีอย่างเป็นรูปธรรม  และนำบทความทั้งหมดมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือรวมบทความวิชาการ ชื่อ “สู่ทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะ”  เพื่อเผยแพร่ต่อไป   โดยมุ่งหวังว่าหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงแต่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งของการวิจารณ์  อันสะท้อนความแข็งแกร่งของภูมิปัญญาในสังคม  แต่ขณะเดียวกันยังนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการขับเคลื่อน  ส่งเสริม และพัฒนาการวิจารณ์ศิลปะในประเทศไทยได้ด้วย

เพื่อให้หนังสือรวมบทวิจารณ์ “สู่ทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะ” เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น    โครงการฯ จึงเห็นควรที่จะจัดงานเปิดตัวหนังสือเล่มดังกล่าว  โดยเชิญศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ ที่ปรึกษาอาวุโสของโครงการฯ แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง  “การเรียนรู้ข้ามสาขา : ประสบการณ์จากการวิจัยการวิจารณ์”   และเชิญตัวแทนนักวิชาการในสาขาต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการทำหนังสือเล่มนี้มาร่วมสนทนาในหัวข้อ “นามธรรมและรูปธรรมของการใช้ทฤษฎี”   การเปิดตัวหนังสือและสนทนาทางวิชาการในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นเวทีเพื่อนำเสนอและเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น  ทั้งในกลุ่มอาจารย์  นิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และผู้สนทั่วไปเท่านั้น  ขณะเดียวกันยังเป็นเวทีกลางในการแสวงหาและเชื่อมโยงกับพันธมิตรผู้สนใจเกี่ยวกับทฤษฎีการวิจารณ์ไปพร้อมกัน  เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับการวิจารณ์ศิลปะในประเทศไทยต่อไป 

ในการนี้  โครงการฯ เห็นว่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)  เป็นองค์กรที่เหมาะที่จะร่วมจัดการเปิดตัวหนังสือและจัดการสนทนาทางวิชาการในครั้งนี้  เนื่องจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการศึกษา  รวบรวม และเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง  พร้อมทั้งการจัดเวทีสาธารณะในการสนทนาทางวิชาการและการเปิดตัวหนังสือวิชาการทางด้านสังคม ศิลปะและวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ  นอกจากนี้  ศูนย์มานุษวิทยาสิรินธรยังเป็นที่รู้จักในหมู่ของนักวิชาการ  นิสิตนักศึกษา และผู้สนใจทางด้านสังคม  ศิลปะ และวัฒนธรรมเป็นอย่างดี

ระยะเวลาในการดำเนินการ

            วันเสาร์ที่ 25  มีนาคม  2560  เวลา 10.00-16.00 น.

สถานที่

            ณ ห้อง 607  ชั้น 6  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  ตลิ่งชัน กทม.

กลุ่มเป้าหมาย

            อาจารย์  นักวิชาการ  นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ประมาณ 100 คน

งบประมาณ

ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  (องค์การมหาชน) และค่าลงทะเบียน  คนละ 100 บาท

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเผยแพร่หนังสือรวมบทความวิชาการ “สู่ทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะ” ที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ทางด้านทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะในแง่มุมต่างๆ พร้อมตัวอย่าง ซึ่งรวบรวมจากนักวิชาการ ผู้รู้  และผู้เชี่ยวชาญของไทยทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะให้กับมหาชนในวงกว้าง
  2. เพื่อกระตุ้นและสร้างบรรยากาศในการวิจารณ์วรรณกรรมทั้งมุขปาฐะและลายลักษณ์
  3. เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่สนใจการวิจารณ์ในประเทศไทยต่อไป

ประโยชน์ที่จะได้รับ

  1. การเผยแพร่หนังสือรวมบทความวิชาการ “สู่ทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะ” ที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะในแง่มุมต่างๆ พร้อมตัวอย่าง ซึ่งรวบรวมจากนักวิชาการ ผู้รู้  และผู้เชี่ยวชาญของไทยทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะให้กับมหาชนในวงกว้าง
  2. การกระตุ้นและสร้างความแข็งแกร่งให้กับการวิจารณ์ในประเทศไทยต่อไป
  3. การสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่สนใจในการวิจารณ์

รายละเอียดหนังสือรวมบทความวิชาการ “สู่ทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะ”

หนังสือรวมบทความวิชาการ “สู่ทฤษฎีการวิจารณ์ศิลปะ” ประกอบด้วยบทความวิชาการจำนวน 14 บท ดังนี้

  1. “ข้อคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับบทบาทของทฤษฎีในกระบวนการวิจัยทางมนุษยศาสตร์”  ศ.ดร. เจตนา นาควัชระ
2. “ทฤษฎีวรรณคดีสันสกฤต  อีกมุมมองหนึ่ง”  ศ.ดร. กุสุมา  รักษมณี
3. “มโนทัศน์เรื่องวรรณคดีในภูมิปัญญาไทย”  ศ.ดร. ดวงมน  จิตร์จำนงค์
4. “โครงสร้างนิยมกับไวยากรณ์ของเรื่องเล่า”  รศ. ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์
5. “สุนทรียวิพากษ์ในกวีนิพนธ์จีน”  ผศ. ดร. ธเนศ  เวศร์ภาดา
6. “การวิจารณ์วรรณกรรมแนวนิเวศ (Ecocriticism) : บทแนะนำเบื้องต้น”  ผศ.ดร. ดารินทร์  ประดิษฐ์ทัศนีย์
7. “ใช่เพียงเดรัจฉาน : สัตวศึกษาในมุมมองของการวิจารณ์แนวนิเวศ”  รศ.ดร. ธัญญา  สังขพันธานนท์
8. “สตรีนิยมและการคลี่คลายสู่จิตวิญญาณหญิงผ่านภาพผู้หญิงในงานกวีนิพนธ์ของ มาร์ช เพียร์ซี ค.ศ. 1970-1975” ผศ. ศรวณีย์  สุขุมวาท
9. “จากวัฒนธรรมศึกษาสู่วรรณคดีวิจารณ์ ”  ผศ.ดร. สุรเดช  โชติอุดมพันธ์
10. “ข้อสังเกตบางประการในการวิจารณ์ดนตรีไทย”  ผศ. ดร. รังสิพันธุ์  แข็งขัน
11. “มุมมองของผู้ชมภาพยนตร์ : การวิจารณ์ในบริบทไทย” อาจารย์อัญชลี  ชัยวรพร
12. “โลกาภิวัตน์กับบริบทโลกศิลปะในประเทศไทย : ภาพสะท้อนจากนิทรรศการศิลปะไทยเนตร (Thailand Eye)

กับการนำเสนอภาพความเป็นท้องถิ่น อัตลักษณ์(ไทย)ผ่านผลงานศิลปะ”  ดร. ถนอม  ชาภักดี

13. “คืนการเมืองให้ศิลปะ”  ผศ.ดร. บัณฑิต  จันทร์โรจนกิจ
14. “การใช้ทฤษฎีในงานโบราณคดีไทย” รศ. ดร. รัศมี  ชูทรงเดช
15 “บทบรรณาธิการ” ศ.ดร. รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์

 

 

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *