เมื่อทฤษฎีจากแผ่นดินแม่เสนอทางแก้ให้แก่มิตร : การบรรยาย ณ สถาบันวิจัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเบอร์ลินเสรี

เมื่อทฤษฎีจากแผ่นดินแม่เสนอทางแก้ให้แก่มิตร :

การบรรยาย ณ สถาบันวิจัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยเบอร์ลินเสรี

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560

เวลา 10.00-13.00 น.

International Research Center “Interweaving Performance Cultures”, Free University Berlin

เจตนา นาควัชระ

          อาจารย์เจตนา นาควัชระได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยเบอร์ลินเสรี ให้เป็น Research Fellow ณ สถาบันวิจัยนานาชาติต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 โดยทุกปีอาจารย์เจตนาจะเดินทางไปวิจัยที่เบอร์ลินเป็นเวลา 6 สัปดาห์ และทุกๆปีเช่นกันก็จะได้รับเชิญให้บรรยายในหัวข้อที่ผู้บรรยายเสนอเอง สำหรับในปี 2017 นี้ อาจารย์เจตนาเสนอหัวข้อการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษว่า “Performance as Criticism – Criticism as Performance” เป็นการนำผลการวิจัยในโครงการวิจัยการวิจารณ์ฯ ที่อาจารย์เจตนาเป็นผู้ริเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2542 และมีผู้วิจัยรุ่นใหม่ทำวิจัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันไปขยายผล ประเด็นที่การวิจัยได้ชี้ทางเอาไว้ก็คือ การวิจารณ์มิใช่เป็นเพียงการแสดงออกด้วยภาษาเท่านั้น เพราะศิลปะและงานศิลปะก็วิจารณ์ซึ่งกันและกัน การบรรยายครั้งนี้เป็นการเสนอแนวคิดเชิงทฤษฎีที่แปลกใหม่ต่อกลุ่มนักวิชาการของสถาบันวิจัยนานาชาติ จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างดี และกลุ่มผู้ฟังการบรรยายได้แสดงทัศนะต่อเนื่องอย่างน่าสนใจยิ่ง

          ผู้บรรยายนำประสบการณ์ทั้งของตะวันตกและของไทยมาอภิปรายร่วมกัน โดยเริ่มต้นจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการได้ชมการแสดงอุปรากรเรื่อง Fidelio ของ Beethoven ณ โรงอุปรากร Staatsoper Berlin เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2016 ซึ่งชวนให้ตีความว่า ผู้กำกับการแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปคือ Harry Kupfer กำลังใช้อุปรากรของเบโธเฟนวิจารณ์ทิศทางการนำเสนออุปรากรและละครพูดที่นิยมกันในเยอรมัน โดยมีชื่อเรียกว่าเป็น “ละครของผู้กำกับ” (Regietheater) ซึ่งเริ่มต้นจากวงการเยอรมันตะวันออกมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 ของศตวรรษที่แล้ว โดยเป็นการหาทางส่งสารจากงานที่สร้างขึ้นในอดีตมายังผู้ชมและผู้ฟังในยุคปัจจุบัน ทิศทางดังกล่าวกลายรูปมาเป็นการบิดเบือนงานต้นแบบอย่างจงใจในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา คณะอุปรากร Staatsoper จึงถือโอกาสการเตือนกันฉันมิตรด้วยการใช้ “อุปรากรวิจารณ์อุปรากร” ซึ่งอาจขยายความได้ว่า เป็นการที่ “ศิลปะวิจารณ์ศิลปะ” ผู้บรรยายได้นำตัวอย่างอื่นๆจากวงการตะวันตกมาสนับสนุนแนวคิดที่ว่า การที่ศิลปะวิจารณ์กันเองนั้นเป็นการช่วยรักษาคุณภาพของศิลปะเอาไว้ไม่ให้ตกต่ำ วิธีการดังกล่าวมิใช่เป็นของใหม่สำหรับวัฒนธรรมไทย เพราะเรามีขนบของ “ดนตรีวิจารณ์ดนตรี” อยู่แล้ว ดังเช่นในการประชันปี่พาทย์ ซึ่งผู้บรรยายได้นำแถบบันทึกภาพมาอภิปรายให้เป็นเห็นรูปธรรม ตัวอย่างที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “สุดทาง” ของการที่ศิลปะวิจารณ์ศิลปะก็คือ บทละครเรื่อง พระมะเหลเถไถ ของคุณสุวรรณ ซึ่งผู้บรรยายประเมินว่าเป็นงานที่ชาญฉลาด โดยที่ผู้แต่งหาวิธีที่วิจารณ์สุดยอดของละครในของไทยคือ อิเหนา ได้อย่างแยบยลที่สุด อาจสรุปเป็นเชิงวิชาการได้ว่า ผู้แต่งใช้วิธีของการสลาย “Semantics” ให้กลายรูปเป็น “Phonetics” คือใช้เสียงสื่อความหมายราวกับเป็นดนตรี

          สำหรับในส่วนของการที่การวิจารณ์สื่อความในรูปของการแสดงนั้น มีตัวอย่างตะวันตกที่เห็นได้อย่างชัดเจน อันได้แก่บทละครของกวีชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 17 คือ Molière เรื่อง “การวิจารณ์ละครโรงเรียนเตรียมคู่ครอง” (Critique de l’Ecole des femmes) ซึ่ง Molière ใช้บทละครที่เขียนขึ้นใหม่นี้ปกป้องละครของตนเองที่ถูกวิจารณ์ไปในทางลบอยู่หลายประการ การใช้รูปแบบของการแสดงเป็นสื่อของการวิจารณ์นั้น ยุคปัจจุบันก็ยังทำอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะทางวิทยุกระจายเสียง ซึ่งมีการนำนักวิจารณ์มาสร้างทวิวัจน์ต่อกัน ต่อมาโทรทัศน์ได้ใช้วิธีการนี้อย่างแพร่หลาย ดังเช่นรายการวิจารณ์วรรณกรรมของสถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “Apostrophes” และรายการที่โด่งดังที่สุดก็คือรายการโทรทัศน์ช่องเยอรมันที่ชื่อว่า “Das literarische Quartett” (นักวิจารณ์สี่สหาย) ซึ่งต่อมากลายรูปเป็นการแสดงที่เน้นการสร้างความตื่นเต้นจนเกินความจำเป็น

          ข้อสรุปของผู้บรรยายก็คือว่า ลักษณะที่เป็นการแสดงแฝงอยู่ในเนื้อในกิจกรรมการวิจารณ์อยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะการวิจารณ์มิได้มุ่งแต่เพียงจะสื่อสารด้วยการให้ข้อมูลต่อผู้รับเท่านั้น แต่ยังมุ่งที่จะโน้มน้าวจิตใจ หรือมุ่งที่จะชวนให้เชื่อตามความคิดเห็นของนักวิจารณ์ ดังนั้นการวิจารณ์จึงมิใช่เพียงแต่กระตุ้นการใช้เหตุผล หรือการปลุกปัญญาแต่ถ่ายเดียว แต่จำเป็นต้องกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกของผู้รับด้วย ที่แล้วๆมาได้มีการศึกษาการวิจารณ์แต่เพียงจากมุมมองของการวิจารณ์ว่ากระทำกิจอันเป็นวาทกรรมทุติยภูมิ คือ ประดุจเป็นตัวเกาะกินงานต้นแบบคืองานศิลปะ อันดำรงอยู่ในระดับปฐมภูมิ เมื่อได้มีการชี้ให้เห็นถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ของการที่ศิลปะจะวิจารณ์ศิลปะด้วยกันเอง ขอบเขตและพลังของการวิจารณ์ก็ย่อมจะเหนือกว่าเดิมที่รู้จักกันมา ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็มีศิลปินบางคนที่สำนึกดีถึงบทบาทของงานศิลปะที่จะต้องวิจารณ์งานศิลปะไปพร้อมกับการทำกิจของการสร้างสรรค์อยู่แล้ว หนึ่งในบรรดาศิลปินที่ตอกย้ำความสำนึกที่ว่านี้ก็คือ คีตกวีชาวรัสเซีย Igor Stravinsky ซึ่งจัดได้ว่าเป็นคีตศิลปินที่โดดเด่นที่สุดในศตวรรษที่ 20

          การจัดระบบการบรรยายของสถาบันวิจัยนานาชาติทำได้ดีมาก เพราะให้เวลาเต็มที่ ทั้งในการนำเสนอและในการอภิปรายต่อเนื่อง ในกรณีการบรรยายของอาจารย์เจตนา ผู้บรรยายใช้เวลา 1.30 ชั่วโมง หลังจากนั้นพักยาว แล้วจึงเริ่มการอภิปรายซึ่งได้เวลาถึง 1 ชัวโมงเต็ม ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างจุใจ ทั้งในแง่ของผู้บรรยายและในแง่ของผู้ฟัง (ขนบการประชุมทางวิชาการที่ใช้กันในโลกตะวันตก และวงการวิชาการของไทยลอกแบบมานั้น เป็นแค่รูปแบบกลวงๆ ที่ไม่สนับสนุนให้วิชาการงอกงาม การให้เวลาเสนอผลงาน 15-20 นาที ตามด้วยการอภิปรายซักถาม 5-10 นาที สั้นเกินไป วิทยาการทางมนุษยศาสตร์ต้องการเวลาในการตั้งประเด็น อธิบายประเด็น และถกแถลงกันโดยใช้เหตุผลบนรากฐานของประสบการณ์ จึงไม่มีทางที่จะสร้างผลกระทบทางวิชาการที่เกิดมรรผลอันใด ถ้ากระหึดกระหอบทำกิจให้เสร็จในเวลาอันสั้น จากนั้นก็นำไปพิมพ์รวมเล่มในรูปของ Proceedings แล้วนำไปเสนอเป็นผลงานทางวิชาการเพื่อขอปรับตำแหน่งทางวิชาการได้ วิชาการที่ลึกซึ้งจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราอาจลืมไปแล้วว่า เมื่อมีโอกาสให้ “มนุษย์สัมผัสมนุษย์” กันแล้ว ทวิวัจน์ที่เข้มข้นเท่านั้นที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้ความรู้และปัญญาความคิดเบ่งบานได้)

          ขออนุญาตกลับมารายงานการอภิปรายต่อจากการบรรยาย มีประเด็นที่กระทบผู้ฟังจำนวนหนึ่งคือ การที่ผู้บรรยายนำตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมจากวงการของเยอรมันเองมาแสดงให้เห็นว่า กระแสที่เรียกว่า “ละครของผู้กำกับ” นั้น มีคนละครและผู้กำกับการแสดงและวาทยกรที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติจำนวนไม่น้อยที่ปฏิเสธไม่ยอมรับ เพราะผู้กำกับรุ่นหลังๆสร้างงานเพียงเพื่อชวนทะเลาะ โดยปราศจากความจริงใจที่จะเสริมคุณค่าให้กับงานศิลปะที่สร้างขึ้นในอดีตและได้รับการนำมาแสดงเมื่อเวลาหลายผ่านไปร้อยปี นักวิชาการชาวเยอรมันบางคนในการประชุมครั้งนี้ยังเชื่อว่า ถ้าปราศจาก “ละครของผู้กำกับ” แล้ว งานจากอดีตคงสาบสูญไปจากเวทีละคร เพราะไม่สามารถสื่อสารกับผู้ชมในปัจจุบันได้ ผู้บรรยายตอบโต้ว่า การสัมผัสกับศิลปะจากอดีตนั้น ผู้รับต้องทำกิจ 2 ประการไปพร้อมๆ กัน คือ พยายามเข้าใจบริบทต้นกำเนิดให้ดีที่สุดได้เท่าที่จะทำได้ (ซึ่งมีงานวิจัยที่ทรงคุณภาพเป็นจำนวนมากหนุนอยู่) และในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามหาทางที่จะสื่อสารตัวงานที่ถือกำเนิดขึ้นในอดีตให้ข้ามยุคสมัยมายังปัจจุบันให้ได้ ผู้กำกับการแสดงยุคใหม่จำนวนหนึ่ง “เล่น” กับของเก่ามากเกินไป ซ้ำยังดูถูกผู้ชมว่าไม่มีวันจะเข้าถึงงานในอดีตได้ จึงต้องทำให้ง่ายและให้สนุกด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งบางครั้งไม่ประเทืองปัญญา ผู้บรรยายเน้น “ทางสายกลาง” ซึ่งผู้กำกับการแสดงของเยอรมันเองหลายคนได้ทำสำเร็จแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่านักวิชาการของสถาบันเจ้าภาพ ไม่สนใจว่า “วิธีการ” ที่ว่าด้วย “ศิลปะวิจารณ์ศิลปะ”  แต่ให้น้ำหนักกับเนื้อหาเฉพาะเรื่องมากกว่า โดยพยายามปกป้องกระแสของการกำกับการแสดงแผนใหม่

          ผู้บรรยายเริ่มต้นการบรรยายด้วยการตอกย้ำว่า “เมื่ออายุมากขึ้น เชิงอรรถก็อาจจะน้อยลง” เพราะผู้สูงอายุชอบที่จะใช้ประสบการณ์ตรงเป็นข้อมูล มีนักวิชาการคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าผู้บรรยายก็ยังใช้เชิงอรรถอยู่ดี ผู้บรรยายตอบว่า การไม่อิงความรู้ที่มาจากผลงานของนักวิชาการอื่นเป็นไปไม่ได้ แต่ในกรณีของการบรรยายครั้งนี้ ผู้บรรยายเลือกการใช้แหล่งข้อมูลที่สนับสนุนประเด็นที่ผู้บรรยายตั้งไว้เป็นโจทย์

          ผู้บรรยายให้ข้อมูลว่า ในบริบทของสังคมไทย การวิจารณ์ไม่ได้มีรูปแบบเช่นเดียวกับในโลกตะวันตก ซึ่งเป็นวาทกรรมเอกเทศ (independent discourse)        อันเป็นการสร้างองค์ความรู้ด้วยวัฒนธรรมลายลักษณะที่แยกตัวออกจากการปฏิบัติ ผู้ฟังคนหนึ่งต้องการความกระจ่างในประเด็นนี้ ผู้บรรยายจึงนำตัวอย่างของการประชันปี่พาทย์ที่เสนอไปในช่วงของการบรรยายแล้วมาอภิปรายอีกครั้ง เพราะจะเห็นได้ว่า ผู้แสดงที่มีความสามารถสูงดังที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้น มิได้มีฝีมือแต่ในด้านการปฏิบัติเพียงถ่ายเดียว แต่จะต้องมีความเจนจัดในเชิง “ทฤษฎี” (ตามนัยของตะวันตก) ด้วย จึงจะสามารถตัดสินใจได้ถูกต้องว่าจะเลือกบรรเลงอย่างไรจึงจะสู้กับคู่แข่งได้ ทั้งนี้ความสามารถในเชิงทฤษฎีที่ว่ามานี้มิได้แยกตัวออกมาจากการปฏิบัติ แต่แฝงตัวอยู่ในการปฏิบัติ และเป็นที่เข้าใจได้ว่า การถ่ายทอดความรู้ของครูดนตรีด้วยการสร้างสำนึกในเรื่องของหลักการและหลักวิชา (ซึ่งวงการตะวันตกชอบเรียกว่า “ทฤษฎี”) ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนอย่างแน่นอน แต่จะกระทำพร้อมกันไปกับการถ่ายทอดวิชาด้านการปฏิบัติ

          ผู้ฟังคนหนึ่งนำประสบการณ์ของตนมาถ่ายทอดต่อที่ประชุม โดยกล่าวว่า ได้เคยศึกษาหลักการของการวิจารณ์ (criticism) ร่วมกับการแปล (translation) และคิดว่าการบรรยายครั้งนี้สามารถเสริมความฟ้องกันของกิจทั้งสองได้ ผู้บรรยายยอมรับว่าเป็นข้อคิดที่น่าสนใจยิ่งแต่ตนเองยังไม่เคยคิดในแนวนี้มาก่อน แม้จะได้เคยนำประเด็นเรื่องของ “วรรณกรรมล้อเลียน” (parody) มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหลักของการแปล และก็ได้ตีพิมพ์บทความไปบทหนึ่งแล้วในหัวข้อ “Parody as Translation” ซึ่งเป็นไปได้ว่าถ้ามอง parody ว่าเป็น criticism ในรูปแบบหนึ่ง วิธีการของการล้อเลียนต้นแบบด้วยการสร้างใหม่ก็เป็นการใช้การวิจารณ์ด้วยวิธีที่เทียบเคียงได้กับการแปล ซึ่งบทแปลนั้นอาจมีลักษณะบางประการที่เป็นการวิจารณ์ต้นฉบับในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็ได้ จะเห็นได้ว่าผู้ฟังคนนี้คิดต่อไปได้ไกลมาก

          มีผู้ฟังคนหนึ่งถามว่า คำว่า “criticism” กับ “critique” ต่างกันอย่างไร ผู้บรรยายตอบว่าได้ตรวจสอบกับพจนานุกรมมาแล้ว เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ แต่ในประสบการณ์ของผู้บรรยายเองนั้น ซึ่งเริ่มการศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศอังกฤษในปลายทศวรรษที่ 1950 คำว่า “criticism” ใช้ในความหมายที่เป็นวิชาการอยู่แล้ว ซึ่งในภาษาเยอรมันนั้นตรงกับคำว่า “Lieraturwissenschaft” (วรรณคดีศึกษา)  ซึ่งต่างจาก “Literaturkritik” ซึ่งในภาษาเยอรมันหมายถึงการวิจารณ์ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และในนิตยสาร (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาการ ในความหมายของการศึกษาที่เป็นทางการในมหาวิทยาลัย) นอกจากนั้นผู้บรรยายยังได้รับการขอร้องให้นิยามคำว่า “criticism” ซึ่งผู้บรรยายได้ยึดนิยามที่ใช้ในโครงการวิจัยการวิจารณ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นนิยามที่กว้างและมีความยึดหยุ่นสูงอยู่แล้วนั้นคือ การวิจารณ์หมายถึง

การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานศิลปะ บริบทของศิลปกรรม และ/หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจในความหมายและความสำนึกในคุณค่าของตัวงาน ตลอดจนศิลปะโดยทั่วไป นอกจากนี้ ยังอาจรวมถึงการแสดงทัศนะที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับชีวิตและสังคมด้วย

Criticism: Expressed opinion concerning works of arts, their context and/or other related factors with a view to creating an understanding and a consciousness of the value of individual works as well as art in general; and expressed viewpoints concerning the relationship between art on the one hand, and life and society on the other.

          ในส่วนที่เกี่ยวกับบทละครของ Molière ที่ผู้บรรยายนำมาเป็นตัวอย่างนั้น มีผู้ร่วมประชุมคนหนึ่งเสนอว่า ควรจะนำละครของกวีท่านนี้มาศึกษาเพิ่มอีกเรื่องหนึ่งคือ L’Impromptu de Versailles ซึ่งผู้บรรยายเห็นด้วย และจะนำไปปรับใช้ในการเขียนบทบรรยายในรูปของบทความทางวิชาการ นักวิชาการคนนี้ใช้คำว่า “theory” ในความหมายที่กว้างมาก และกล่าวถึง theory ของ Molière ในละครทั้ง 2 เรื่องคือ Critique de l’Ecole des femmes และ L’Impromptu de Versailles ผู้บรรยายต้องขออนุญาตให้ความกระจ่างในเรื่องนี้โดยแสดงความเห็นว่า สิ่งที่อยู่ในงานของ Molière เป็น “general principles” (หลักการทั่วไป) อาจจะยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นทฤษฎี ยิ่งไปกว่านั้นผู้บรรยายได้ศึกษา Préfaces (คำนำ) ของละครเรื่องต่างๆ ของ Molière มาแล้ว พบว่ากวีผู้นี้เป็นนักปฏิบัติ (นักแสดง) และผู้กำกับการแสดง ไม่ใช่ผู้ที่โต้เถียงหรือโต้แย้งกับผู้อื่นได้ดีในด้านของหลักการ ถ้าเทียบกับกวีร่วมสมัย เช่น Racine แล้ว Molière ด้อยกว่าในด้าน “intellectual capacity” อย่างแน่นอน 

        ผู้ร่วมสัมมนาชาวเยอรมันบางคนคิดว่า การที่ผู้บรรยายไม่ยอมรับ “ละครของผู้กำกับ” นั้นอาจจะเป็นเหตุผลของพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ต่างกัน ผู้บรรยายตอบว่าอาจเป็นไปได้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผู้บรรยายได้สัมผัสกับศิลปะการแสดงของตะวันตกเป็นครั้งแรกในประเทศอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1950 ก็เกิดความทึ่งกับความสามารถของนักแสดงชาวอังกฤษเช่น Sir John Gielgud ซึ่งสามารถที่จะทำบทละครให้งามงดเยี่ยงกวีนิพนธ์ไปได้ รวมทั้งผู้กำกับแนวหน้าเช่น Peter Brook ซึ่งคิดใหม่ได้เสมอโดยไม่ต้องบิดเบือนของเก่า ดังเช่นการกำกับละครเรื่อง King Lear สังเกตได้ว่าทั้งศาสตราจารย์และทั้งนักวิชาการรุ่นใหม่ของเยอรมันมีประสบการณ์การชมละครเป็นภาษาต่างประเทศที่จำกัดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าใจทิศทางของละครในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะขาดประสบการณ์ตรง ประเด็นโต้แย้งที่เกี่ยวกับ “ละครของผู้กำกับ” เป็นประเด็นที่ผู้บรรยายยังคิดว่า แม้แต่ในเยอรมนีเอง ก็มีผู้รู้และผู้ที่มีประสบการณ์สูงในด้านศิลปะการแสดงที่ไม่ยอมรับการแสดงแนวนี้ ผู้บรรยายจะได้ศึกษาเรื่องนี้ต่อไป

          ข้อสังเกตที่ไม่เป็นประเด็นหลักของผู้บรรยายเกี่ยวกับการใช้ทฤษฎีกลับได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้ฟังส่วนใหญ่ สิ่งที่ผู้ฟังบรรยายกล่าวถึงก็คือสิ่งที่ได้เคยกล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกในการประชุมทางวิชาการในประเทศไทยว่า ทฤษฎีไม่จำเป็นต้องอยู่ที่ต้นทางของการวิจัย ดังที่นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาถูกบังคับให้เชื่อ เพราะทฤษฎีอาจเกิดขึ้น “รายทาง” (คำของศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผู้ซึ่งเพิ่งล่วงลับไป) และถ้าจะให้ดีควรจะมาเกิดขึ้นที่ปลายทาง ในรูปของข้อสรุปรวมจากการได้ศึกษาค้นคว้ามาแล้วอย่างต่อเนื่องและอย่างลึกซึ้ง นักวิชาการตะวันตกยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาที่ชวนให้มองทฤษฎีในรูปของงานสำเร็จรูป เช่นของสำนักฝรั่งเศส ที่พวกเขานำมาใช้เป็นเครื่องนำทางในการวิจัย โดยไม่ใฝ่ใจที่จะเน้นเรื่องการคิดเป็นทฤษฎีด้วยตนเอง ทางเลือก 3 ทางคือ ต้นทาง – กลางทาง – ปลายทาง ที่ผู้บรรยายเสนอไปนั้นไม่ได้รับการคัดค้านแต่ประการใด และผู้บรรยายก็จำเป็นต้องประกาศความเชื่อของตนให้ชัดเจนลงไปว่า ให้ความสำคัญกับทฤษฎีที่สรุปมาได้ ณ ปลายทางมากที่สุด

          เรื่องความผันผวนของการวิจารณ์และทฤษฎีในโลกวิชาการ (ตะวันตก) นั้น กลุ่มนักวิชาการกลุ่มนี้ขาดความรู้เชิงประวัติ ผู้เขียนจึงอาสาเสนอภาพ โดยใช้ระบบการจัดชั้นหนังสือในร้านขายหนังสือในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในรอบกึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเป็นตัวบ่งชี้ความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าวิธีการเสนอจะเป็นแบบกึ่งขบขัน แต่ผู้บรรยายก็ต้องการจะส่งสารที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ได้ใช้วิธีเสนอแนวคิดของตนมาดังนี้

เมื่อผู้บรรยายอายุ 20 ปี หนังสือที่เกี่ยวกับการวิจารณ์วรรณคดีและทฤษฎีอยู่ร่วมกัน จัดไว้ในชั้นหนังสือประเภท Textbooks (on Literature)

เมื่อผู้บรรยายอายุ 30 ปี  จะมีชั้นหนังสือแยกออกมาและติดป้ายว่า Literary Criticism

เมื่อผู้บรรยายอายุ 40 ปี  ป้ายนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น Literary Criticism and Theory of Literature

เมื่อผู้บรรยายอายุ 50 ปี  วงการเกิดความมั่นใจใหม่ที่ทำให้เกิดป้ายชั้นหนังสือว่า Critical Theory

เมื่อผู้บรรยายอายุ 60 ปี อันเป็นปีที่เกษียณอายุความมั่นใจของวงการพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุด จึงทำให้เกิดป้ายชั้นหนังสือที่ว่าด้วย Theory (โดดๆ)

ช่วงหลังจากนั้นมา “Theory” ก็คงความขลังต่อเนื่องมาจนเกือบจะมีลักษณะเป็นพระคัมภีร์ หรือ “Gospel” ผู้บรรยายไม่แน่ใจว่า ผู้ฟังสักกี่คนที่เข้าใจว่าผู้บรรยายกำลังพุ่งการวิจารณ์ไป ณ ที่ใด

การบรรยายในหัวข้อที่ว่าด้วย “การแสดงในฐานะการวิจารณ์ – การวิจารณ์ในฐานะการแสดง” กระตุ้นให้เกิดการอภิปรายในประเด็นที่เกินเลยไปจากโจทย์ที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเสนอข้อคิดเชิงทฤษฎี “จากแผ่นดินแม่” เราอาจมองโลกในแง่ดีและสรุปได้ว่า นั่นไม่ใช่การออกนอกลู่นอกทาง แต่เป็นความเบ่งบานทางปัญญาอันไร้ขอบเขต

                                                                   เบอร์ลิน, 14 กันยายน 2560

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *