Thailand Philharmonic Orchestra กับคอนเสิร์ตปิดฤดูกาลที่ 12

Thailand Philharmonic Orchestra กับคอนเสิร์ตปิดฤดูกาลที่ 12

วฤธ วงศ์สุบรรณ

ถ้าพูดถึงวง Thailand Philharmonic Orchestra (TPO) นั้น ผู้ที่เป็นแฟนดนตรีคลาสสิกในบ้านเราย่อมทราบดีว่าวงดนตรีวงนี้มีความพร้อมในหลายๆ ด้านที่เหนือกว่าวงออร์เคสตราอื่นๆ ในเมืองไทย ทั้งด้านสถานที่ที่มีหอแสดงดนตรีขนาดใหญ่ระดับ 2,000 ที่นั่งเป็นของตัวเอง มีนักดนตรีสมาชิกของวงแบบเต็มเวลา (และมีเงินเดือนประจำในอัตราค่อนข้างสูง) ร่วม 90 คน มีการฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น และมีการแสดงเกือบทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 คอนเสิร์ต มีนักแสดงเดี่ยว (soloist) ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศแวะเวียนมาร่วมบรรเลงกับวงปีละหลายสิบคน (รวมทั้งมีนักแสดงเดี่ยวชาวไทยทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเยาว์ได้โอกาสขึ้นเวทีใหญ่บ้างเช่นกัน) มีวาทยกรชาวต่างประเทศและวาทยกรชาวไทยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมากำกับวง และท้ายสุดคือมีการจัดโปรแกรมบรรเลงบทเพลงที่หลากหลายล่วงหน้าตลอดทั้งปี เพื่อให้ผู้ฟังสามารถเตรียมตัวมาฟังได้ตามอัธยาศัย

          สำหรับผมเองชื่นชมวง TPO มากที่สุด ในประเด็นเรื่อง “ความหลากหลาย” ของบทเพลงที่นำมาบรรเลง ซึ่งสมควรยกย่องฝ่ายจัดโปรแกรมของวงที่พยายามให้ผู้ฟังได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ (บางครั้งก็เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่นักดนตรีด้วย) แม้ว่าอาจจะมีบางบทเพลงที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมและถูกบรรเลงมาบ่อยครั้งแล้ว (หรือที่เรียกกันว่า “ม้าสงครามแก่” : old war-horse) แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นบทเพลงที่หาฟังได้ยาก บทเพลงที่ต้องใช้ผู้บรรเลงจำนวนมากและต้องมีฝีมือในระดับสูง  บทเพลงสมัยใหม่ (contemporary music) หรือบทเพลงที่เพิ่งประพันธ์ขึ้นใหม่เพื่อวง TPO โดยเฉพาะ รวมไปถึงบทเพลงไทยเดิมที่นำมาเรียบเรียงกับวงออร์เคสตรา ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของวง ที่ใช้เพลงไทยเดิมที่เรียบเรียงขึ้นใหม่นี้ แทนเพลงโหมโรง (overture) ของตะวันตก  ทั้งหมดนี้สะท้อนทำให้เห็นถึงความคึกคักของวงการดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยซึ่งสร้างสรรค์โดยวง TPO ได้เป็นอย่างดี

          ที่ผมเกริ่นมาเสียยืดยาวในข้างต้นนี้ ก็เพื่อจะปูพื้นมาถึงคอนเสิร์ตของวง TPO ที่ผมเพิ่งได้รับชมมา ก็คือคอนเสิร์ตในชื่อว่า Ode to Joy”  ซึ่งแสดงไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2560 (และบรรเลงซ้ำอีกครั้งในวันที่ 23 กันยายน 2560) ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งมีเพลงเอกของรายการคือ Symphony No.9 in D minor, Op.125  ของเบโธเฟน (Ludwig van Beethoven, 1770-1827 : คีตกวีชาวเยอรมัน) ซึ่งเป็นรายการในครึ่งหลัง ส่วนครึ่งแรกประกอบด้วยบทเพลง อโยธยาคู่ฟ้า (Ayothya Eternal)ประพันธ์จากเพลงไทยเดิมที่บันทึกในจดหมายเหตุลาลูแบร์โดยพระเจนดุริยางค์ (ปีติ วาทยะกร, พ.ศ. 2426-2511  คีตกวีชาวไทยเชื้อสายเยอรมัน) เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง “พระเจ้าช้างเผือก” เรียบเรียงโดย พันเอกประทีป สุพรรณโรจน์ และ Double Concerto for Flute, Oboe, and Orchestra  ผลงานของอิกนัซ โมเชเลส (Ignaz  Moscheles, 1794-1870 : คีตกวีชาวโบฮีเมีย) โดยมีผู้แสดงเดี่ยว 2 คน คือ จูเซปเป โนวา (Giuseppe Nova) นักฟลูตชาวอิตาเลียน และคริสตอฟ ฮาร์ทมันน์ (Christoph Hartmann) นัก
โอโบชาวเยอรมัน อำนวยเพลงโดย กุดนี อีมิลสัน (Gudni Emilsson) วาทยกรชาวไอซ์แลนด์ วาทยกรหลัก (chief conductor) ของวง TPO ซึ่งการแสดงในครั้งนี้ถือเป็นรายการปิดฤดูกาลที่ 12 ของวง นั่นหมายความว่าวง TPO นี้ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 12 ปีเต็มแล้ว และต้องบอกว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจการแสดงของวง TPO เป็นอย่างยิ่ง

          การแสดงเริ่มต้นด้วยเพลง อโยธยาคู่ฟ้า  ซึ่งเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะงดงาม สงบ เยือกเย็น ให้ความรู้สึกถึงความร่มเย็นเป็นสุขและสันติภาพ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ เสียงของวงในการบรรเลงเพลงนี้ค่อนข้างดีมาก  เพราะค่อนข้างแน่น มีพลัง แต่ก็มีความโปร่ง  ทำให้ได้ยินรายละเอียดได้ค่อนข้างชัดเจน ทั้งช่วงที่เครื่องสายนำทำนองขึ้นมาก่อน และเครื่องเป่าก็รับทำนองไปขยายความต่อ นับเป็นผลงานที่ดีและน่าสนใจของ อ.ประทีป ซึ่งเรียบเรียงเพลงไทยเดิมให้กับวง TPO มาอย่างต่อเนื่อง

          ในบทเพลงต่อมาคือDouble Concerto for Flute, Oboe, and Orchestra โมเชเลส ซึ่งผมและผู้ฟังอีกเป็นจำนวนมากไม่น่าจะรู้จักคีตกวีท่านนี้ แต่ในสูจิบัตรก็ช่วยให้ข้อมูลว่าท่านผู้นี้คือคีตกวีร่วมสมัยกับ
เบโธเฟน ทั้งยังมีความสนิทสนมกับเบโธเฟนมากพอสมควร รวมถึงเป็นนักเปียโนที่มีฝีมือและชื่อเสียงอยู่ในระดับแนวหน้าของยุโรป และมีอิทธิพลต่อนักดนตรีและคีตกวีรุ่นหลังอย่างเมนเดลโซห์นและชูมันน์ด้วย  ผมสงสัยว่ารายการนี้คงจงใจเลือกผลงานของคีตกวีท่านนี้มาบรรเลง เพื่อเชื่อมโยงไปถึงบทประพันธ์ของเบโธเฟนในครึ่งหลังด้วย รวมไปถึงช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ของการฟังดนตรี ให้ผู้ฟังได้รู้จักผลงานของคีตกวียุคคลาสสิกที่เป็น “กระแสรอง” และถูกกระแสแห่งกาลเวลาพัดพาให้เลือนหายไป  (ซึ่งดีตกวีในลักษณะนี้มีอยู่ไม่น้อยจึงมีการพยายามรื้อฟื้นผลงานของคีตกวีเหล่านี้ เช่นกรณีของนักโอโบ อัลเบรชท์ ไมเยอร์(Albrecht Mayer) ได้บันทึกเสียงโอโบคอนแชร์โตของคีตกวียุคคลาสสิกกระแสรอง เช่น Franz Anton Hoffmeister (1754-1812), Ludwig August Lebrun (1752-1790), Joseph Fiala (1748-1816), Jan Antonín  Koželuh (1738-1814) ในอัลบัมชื่อ Lost and Found) ในส่วนการบรรเลงของ TPO กับแขกรับเชิญทั้งสอง ผมคิดว่าทำได้ดีอย่างไม่มีข้อตำหนิอันใด ในส่วนของนักโอโบฮาร์ทมัน ซึ่งเป็นมือโอโบสองของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิคนั้น เขามาเล่นร่วมกับ TPO อย่างสม่ำเสมอ ผมเองก็ได้ฟังฝีมือการบรรเลงของเขามาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งนี้เขาก็ยังคงมาตรฐานของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งเสียงโอโบที่ไพเราะและมีพลัง การเปล่งคีตวลี (phrasing) ที่งดงามและพอเหมาะพอดี รวมทั้งได้เห็นเขาใช้เทคนิคการระบายลม (circular breathing) ที่ทำให้ประโยคยาวๆ มีความต่อเนื่องไม่ขาดตอน ส่วนนักฟลูตโนวานั้น ผมไม่เคยฟังการบรรเลงของเขามาก่อน แต่เท่าที่ฟังก็มีฝีมืออยู่ในระดับนานาชาติ เสียงของเขาไพเราะงดงาม ขับขานท่วงทำนองได้อย่างน่าฟัง สามารถเล่นทั้งประสานเสียงและมีลูกล้อลูกขัดกับโอโบได้เป็นอย่างดีเช่นกัน ในส่วนของวงนั้น ก็บรรเลงร่วมไปกับนักแสดงเดี่ยวทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี และมีโอกาสได้เล่นทำนองสำคัญๆ ไม่น้อยหน้าผู้แสดงเดี่ยวด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเพลงนี้จะมีท่วงทำนองและลีลาที่ไพเราะงดงาม แต่คิดว่าก็ยังไม่จุใจผู้ฟังนัก เพราะออกจะราบเรียบไม่มีจุดไคลแมกซ์ อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ฟัง ทั้งที่เป็นผู้ฟังทั่วไปและนักเรียนโอโบและนักเรียนฟลูต ที่มาชมรายการนี้กันค่อนข้างหนาตา ซึ่งแม้ว่าทั้งคู่จะบรรเลงได้อย่างดีเยี่ยมไม่มีข้อติติงใดๆ และได้รับการปรบมืออย่างยาวนาน แต่ทั้งคู่ก็ใจแข็งที่จะไม่เล่นเพลงแถม (encore) ให้แก่ผู้ฟัง ผมเดาว่าทั้งคู่อาจจะไม่ได้มีเพลงคู่ระหว่างฟลูตกับโอโบที่เหมาะสมจะเป็นเพลงแถมได้

          ในครึ่งหลังก็มาถึงเพลงเอกของรายการคือ Symphony No.9 in D minor, Op.125 ของเบโธเฟน ผมเชื่อว่าผู้ฟังจำนวนมากในมหิดลสิทธาคารน่าจะเคยได้ฟังบทเพลงนี้ ซึ่งเป็นผลงานขั้น masterpiece ของเบโธเฟนที่มีการบันทึกเสียงไว้หลากหลายวงและหลากหลายวาทยกร อีกทั้งก็ยังมีการบรรเลงในบ้านเรามาแล้วหลายครั้งเช่นกัน  นับตั้งแต่การรวมนักดนตรีคลาสสิกจากทุกวงมาบรรเลงร่วมกัน  เมื่อเกือบ 50 ปีมาแล้ว   โดยมี ม.ล. อัศนี  ปราโมช  เป็นหัวหน้าวง  และ Hans Gunther Mommun  เป็นวาทยกร  ซึ่งผู้ที่เกิดทันเล่าว่าน่าทึ่งมาก  จึงทำให้มีความคาดหวังต่อบทเพลงนี้ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเพลงเริ่มบรรเลงขึ้นด้วยเสียงกลุ่มเครื่องสาย ผมก็รู้สึกอุ่นใจขึ้นมาในทันที เพราะเสียงที่ออกมาค่อนข้างหนักแน่น ใสสะอาด และมีความเป็นเอกภาพอย่างที่ไม่ค่อยจะได้ยินบ่อยนัก ตามมาด้วยเครื่องเป่าและทิมปานี ก็ช่วยเสริมความหนักแน่นให้กับวงยิ่งขึ้น รู้สึกว่าเสียงของวงมีความไพเราะและพร้อมเพรียงกันมาก กลุ่มที่ผมออกจะชื่นชอบเป็นพิเศษน่าจะเป็นกลุ่มเครื่องสายเสียงต่ำทั้งเชลโลและเบส ซึ่งบรรเลงได้อย่างหนักแน่นมีพลังและเสียงมีเอกภาพสูงมาก ส่วนเครื่องสายเสียงสูงทั้งไวโอลิน 1 ไวโอลิน 2 และวิโอลา ก็รักษาคุณภาพการบรรเลงได้เป็นอย่างดี ประสานเสียงได้อย่างแนบสนิท เสียงสดใสชัดเจน ไม่ค่อยจะมีการเพี้ยนเสียงสูงๆ อย่างที่ได้ยินกันในบางครั้ง กลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้เสียงที่โดดเด่นก็บรรเลงด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่ดีมากส่วนกลุ่มเครื่องทองเหลืองนั้น เท่าที่เคยฟังมาก่อนหน้านี้ค่อนข้างมีเสียงที่ค่อนข้างแข็งกร้าวดุดัน มาในการแสดงครั้งนี้ได้ปรับเสียงให้นุ่มนวลอ่อนโยนมากขึ้น ทำให้รู้สึกกลมกลืนไปกับส่วนอื่นๆ ของวงมากขึ้น

          ในการบรรเลงกระบวนที่ 4 ซึ่งถือเป็น climax ของบทเพลง และมีนักร้องหมู่ร่วมสองร้อยชีวิตบนเวที (นับจากรายชื่อในสูจิบัตรได้ 244 คน) ร่วมกับนักร้องเดี่ยว 4 คน ผู้ฟังทั้งหอแสดงดนตรีคงลุ้นเช่นเดียวกับผมว่าจะออกมาเป็นอย่างไร เมื่อตอนที่นักร้องเสียงบาริโทนร้องนำขึ้นมาก่อนนั้น ผมก็รู้สึกว่าเสียงของเขามีพลังและดังกึกก้องอย่างยิ่ง พอมาถึงช่วงที่นักร้องหมู่เข้ามานั้น ยิ่งทำให้ตื่นเต้นและประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยเสียงที่มีพลังและเป็นเอกภาพอย่างยิ่ง แทบไม่มีเสียงร้องที่ตีกันวุ่นวายจนฟังไม่ได้ศัพท์เลย ส่วนนักร้องเสียงเทเนอร์ เมซโซ-โซปราโน และโซปราโนนั้นต่างก็ร้องได้อย่างดีเสียงดังชัดเจนโดยไม่ใช้ไมโครโฟนหรือเครื่องขยายเสียงเลย  โดยรวมแล้วนักร้องเดี่ยวทั้ง 4 คนและนักร้องหมู่สามารถร้องได้อย่างไพเราะและมีพลังมาก (ผมขอข้ามประเด็นเรื่องความชัดถ้อยชัดคำของการร้อง เพราะไม่มีความรู้ด้านภาษาเยอรมัน) และเข้ากับส่วนของวงออร์เคสตราได้เป็นอย่างดีเช่นกัน รู้สึกเหมือนได้ฟังวงชั้นดีจากต่างประเทศมาบรรเลงให้ฟัง ทั้งๆ ที่จริงแล้วผู้ที่บรรเลงต่อหน้าเรานั้นคือวง TPO ของไทย ซึ่งนักดนตรี 80% คือคนไทยนั่นเอง

          หากจะพูดถึงในส่วนของการตีความนั้น ผมเองก็ยังจับไม่ค่อยได้ว่าวาทยกรอีมิลสันมีความคิดด้านการตีความไปในทางใด เท่าที่ผมสังเกตจากการฟังคิดว่าเขาต้องการเน้นเสียงที่ไพเราะและมีความถูกต้องเป็นหลัก แต่ก็จะออกแนวทางสายกลาง ไม่ช้าหรือเร็วจนเกินไป และไม่ไม่ได้เน้นให้ลึกซึ้งเป็นจุดๆ มากนัก โดยรวมแล้วผมคิดว่าวาทยกรอีมิลสันก็กำกับวงได้ดี มีมาตรฐาน แต่ก็จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่เล็กน้อยที่บ้างครั้งท่านกำกับวงอย่างเมามันจบเผลอกระทีบเท้าให้สัญญาณอยู่หลายครั้ง ซึ่งก็ไม่ใช่ข้อบกพร่องที่ใหญ่โตอะไร โดยรวมแล้ววงสามารถบรรเลงและร้องกันได้อย่างน่าฟังยิ่ง สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังส่วนใหญ่ (การแสดงในคืนวันนั้น ที่นั่งคาดว่าเต็มถึงประมาณ 80-90% ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เพราะบ่อยครั้งที่หอแสดงดนตรีแห่งนี้มีผู้ชมไม่ถึงครึ่งโรง) จนถึงกับ “ยืนปรบมือ” แสดงความชื่นชม (standing ovation) กันเป็นจำนวนมากและอย่างยาวนาน

          ผมเองอยากสรุปการแสดงในครั้งนี้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานด้านเสียงของ TPO ขึ้นมาได้อย่างดีเยี่ยม ผมเองนั้นเคยได้ฟังวง TPO เล่นซิมโฟนีหลายบทของมาห์เลอร์ (Gustav Mahler, 1860-1911 : คีตกวีชาวออสเตรีย) ซึ่งเป็นบทเพลงขนาดมหึมาความยาวร่วมชั่วโมงกว่าและใช้นักดนตรีร่วมร้อยคน หรือเพลงชุด Carmina Burana ของ คาร์ล ออร์ฟ (Carl Orff, 1895-1982 : คีตกวีชาวเยอรมัน) ซึ่งเป็นเพลงร้องหมู่ขนาดมหึมาไม่แพ้กัน แต่ละครั้ง TPO ก็แสดงได้อย่างดี แต่การแสดงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟนในครั้งนี้ผมคิดว่าเป็นการยกระดับฝีมือของทั้งวงดนตรีและวงนักร้องหมู่ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในส่วนของวงนักร้องหมู่นั้น ต้องยกความดีให้กับคณะผู้ฝึกสอนนำโดย อาจารย์ ดร.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ที่สร้างเอกภาพทางเสียงให้กับนักร้องหมู่ทั้ง 244 คนนี้ได้อย่างน่าทึ่ง

ส่วนทางวงดนตรีนั้น หลังจากที่มีการสอบคัดเลือกนักดนตรีใหม่ (audition) เมื่อช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา ทำให้ได้นักดนตรีหน้าใหม่เข้ามาในวงไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำแหน่งหัวหน้าวง (concertmaster) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอันดับสองในการกำหนดทิศทางการบรรเลงของวงรองจากวาทยกร ก็ได้ โอมิรอส ยาฟรูมิส (Omiros Yavroumis) นักไวโอลินชาวกรีก มาทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือเสียงของกลุ่มเครื่องสายที่แน่นและมีพลังมากขึ้น ส่วนกลุ่มเครื่องเป่าทองเหลืองก็มีการเปลี่ยนแปลงระดับหัวหน้ากลุ่มหลายคน แต่เท่าที่ฟังมาก่อนหน้านี้ไม่ค่อยรู้สึกถึงความแตกต่างมากนักจนมาถึงคอนเสิร์ตครั้งนี้ ส่วนกลุ่มเครื่องเป่าลมไม้และเครื่องเคาะจังหวะนั้น เท่าที่สังเกตมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย (ออกแนวสลับตำแหน่งมากกว่าเปลี่ยนตัวนักดนตรี) ทำให้ยังรู้สึกว่ามีความแตกต่างจากเดิมไม่มากนัก (เพราะนักดนตรีชุดเดิมก็มีมาตรฐานที่ดีอยู่แล้ว)

นอกจากนี้การบรรเลงในครั้งนี้นับว่าเป็นการแสดงปิดฤดูกาลที่ 12 ของ TPO(ไม่นับรวมคอนเสิร์ต Requiem ในสัปดาห์ถัดมา ซึ่งถือว่าเป็นรายการพิเศษเพื่อถวายความอาลัยต่อรัชกาลที่ 9) คาดว่าจึงทำให้ที่นักดนตรีทั้งวงเกิดแรงบันดาลใจในการเล่นอย่างฝากฝีมืออีกประการหนึ่ง (ที่ผมคาดเดาเอาเอง) คือคอนเสิร์ตนี้นับว่าเป็นคอนเสิร์ตอำลาตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ของ รศ. ดร.สุกรี เจริญสุข ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวิทยาลัย และเป็นการต้อนรับ อาจารย์ ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ  คีตกวีผู้มีประสบการณ์ระดับนานาชาติมาแล้ว  ในฐานะคณบดีคนใหม่ของวิทยาลัย

จากการติดตามการแสดงของวง TPO มาร่วม 3 ปีเต็ม ผมคิดว่าวงมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆอย่างแน่นอน (แม้ว่าไม่ใช่ว่าการแสดงทุกครั้งวงจะเล่นได้ยอดเยี่ยมทั้งหมด ซึ่งมีหลากหลายปัจจัย ทั้งวาทยกร ศิลปินเดี่ยว บทเพลงที่เลือกมาบรรเลง และสภาพแวดล้อมอื่นๆ ในเวลานั้นด้วย แต่ข้อบกพร่องที่อ้างไม่ได้คือการอ่อนซ้อม เพราะเป็นวงที่มีการซ้อมอย่างเข้มข้นและสม่ำเสมอก่อนการแสดงทุกครั้ง)แต่การแสดงในครั้งนี้อาจจะถือว่าเป็น “ปรากฏการณ์” ที่แสดงฝีมือของวงได้อย่างยอดเยี่ยมเป็นพิเศษ ผมคงบอกไม่ได้ว่า TPO กำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ระยะเวลา 12 ปีที่วงพัฒนาตนเองขึ้นมานั้น ผมคิดว่าไม่ธรรมดา และยิ่งในช่วงหลังๆ มา วงแสดงออกให้เห็นถึงฝีมือ ความสามารถ และการคัดเลือกบทเพลงมาแสดงได้อย่างดียิ่ง  เป็นที่น่าเสียดายว่า  วงที่เกิดก่อนวงนี้และได้นักดนตรีแนวหน้าของประเทศไทยไปเป็นสมาชิกของวง  กลับขาดการบริหารที่เป็นระบบ  ทำให้รักษาคุณภาพได้ยาก  แต่สิ่งเดียวที่น่าเป็นห่วงสำหรับวง TPO คือ “ผู้ฟัง” ที่บางครั้ง (และบ่อยครั้ง) ก็น้อยจนน่าใจหายและเสียดาย คงต้องย้ำกันต่อไปว่าการได้ฟังการบรรเลงของจริงในหอแสดงดนตรีนั้นเป็นประสบการณ์ที่เครื่องเสียงดีขนาดไหนก็ถ่ายทอดไม่ได้ทั้งหมด เพราะมีมิติของเสียงที่แหวกอากาศเข้ามาถึงผู้ฟัง แต่ละต้นกำเนิดเสียงมาไม่พร้อมกันและไม่เท่ากัน การฟังจากสื่อผลิตซ้ำทั้งหลาย (โดยเฉพาะที่โฆษณาว่าเป็น virtual concert hall นั้น) นักฟังที่มีประสบการณ์ทั้งหลายต่างเห็นตรงกันว่าไม่เหมือนกับการแสดงจริงอย่างแน่นอน ก็ต้องเชิญชวนนักฟังและผู้รักดนตรีทั้งหลายให้เข้ามาชมการแสดงให้มากขึ้น ทั้งเพื่อเป็นกำลังใจแก่นักดนตรีและผู้จัดงานทุกคนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนวงการดนตรีให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *