หลากเรื่องเล่าของคนนอนดึก ในละครเวทีเรื่อง Taxiradio : การวิพากษ์และเปิดเปลือยชีวิตชาวกรุง (เทพฯ) ได้อย่างถึงใจ
หลากเรื่องเล่าของคนนอนดึก ในละครเวทีเรื่อง Taxiradio :
การวิพากษ์และเปิดเปลือยชีวิตชาวกรุง (เทพฯ) ได้อย่างถึงใจ
อรพินท์ คำสอน
เมื่อคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้เขียนได้มีโอกาสชมละครเวทีเรื่อง “Taxiradio” ของ FULLFAT Theatre ที่ Ware House 30 ต้องถือว่าเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ให้ได้รู้จักผลงานแสดงของคณะ FULLFAT Theatre และพื้นที่แสดงละครเวทีแห่งใหม่อันเป็นโกดังที่ปรับให้ใช้งานใหม่ได้ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กับท่าน้ำสี่พระยา ที่ตนไม่เคยรู้จักมาก่อน
ละครเวทีเรื่อง Taxiradio สะท้อนชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ในยามราตรีที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถบนท้องถนน ทั้งคนขับแท็กซี่ ผู้โดยสาร และคนขับรถส่วนตัว ซึ่งต่างเชื่อมโยงกันด้วยรายการวิทยุ Taxiradio ที่เป็นเสมือนเพื่อนคลายเหงายามเดินทาง คนกลุ่มนี้ไม่เพียงพร่ำบ่น เสียดเย้ย ก่นด่า และปลดปลงไว้ได้อย่างแสบสันถึงใจผู้ฟัง ถึงปัญหารถติดที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และอารมณ์ของผู้เล่าก็ยิ่งทวีความเกรี้ยวกราดเพิ่มขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลให้รถที่ติดอยู่แล้วยิ่งติดหนักขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นการขับรถผ่านถนนที่มีการสร้างรถไฟฟ้า การเกิดอุบัติเหตุทั้งจากรถชนกันและจากการก่อสร้าง เช่น คานเหล็กร่วงลงมาทับรถที่จอดอยู่บทถนนด้านล่าง และ ฝนตก นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่ให้กับตัวละครหลักในเรื่องได้ยังระบายความในใจเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัว เช่น ความไม่เข้าใจกับคนในครอบครัว ความเหงาที่ต้องเลิกรากับคนรักเก่า ความเครียดของคนพยายามหาปั๊มเพื่อเข้าห้องน้ำ ความเป็นห่วงแม่และภรรยาที่เฝ้ารอ ความวิตกกังวลที่ต้องไปทำงานสายเพราะรถติด และบางคนก็วิพากษ์ปัญหาสังคมของประเทศไทยในองค์รวมด้วย อาทิ ความวุ่นวายทางการเมือง วิกฤตศรัทธาในทางพุทธศาสนา การยกพวกตีกันของเด็กวัยรุ่น ปัญหาเด็กแว้น อคติทางชาติพันธุ์ และการตั้งคำถามเกี่ยวกับการให้คุณค่าและความหมายของชีวิตคนในยุคปัจจุบัน นับเป็นการรวบรวมและถ่ายทอดปัญหาของทั้งคนกรุงเทพฯ และปัญหาร่วมของชาติไว้อย่างรอบด้าน
ขณะเดียวกัน ละครเรื่องนี้ยังได้สะท้อนปัญหาคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ที่คนกรุงเทพฯ ไว้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมผ่านเรื่องราวของตัวละครที่ต่างเพศ วัย อายุ อาชีพ แต่กลับเผชิญปัญหาและชะตากรรมที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบ ความกดดัน และความคาดหวังที่จะต้องประสบความสำเร็จ หรือเป็นที่ยอมรับจากคนอื่น ตามวิถีชีวิตคนเมืองในปัจจุบัน การเผชิญปัญหาการไม่เข้าใจ ไม่รับฟังกัน และการไม่มีเวลาให้กันระหว่างคนในครอบครัว คนรัก เพื่อน และคนในสังคมรอบตัว รวมไปถึงอุบัติเหตุบนท้องถนนหลากหลายรูปแบบที่ผู้คนต้องเผชิญ ซึ่งตัวละครจำนวนหนึ่งประสบเคราะห์กรรมถึงตาย ไม่ว่าจะเป็นชายหนุ่มที่เสียชีวิตจากการถูกลูกหลงกระสุนปืนในเหตุวุ่นวายทางการเมือง ชายคนขับแท็กซี่ที่ต้องตาย เพราะถูกไฟดูดเมื่อลงจากรถขณะน้ำท่วม และบางคนโชคดีที่ยังแค่เฉียดตาย เช่น หญิงสาวที่เกือบจะโดนคานเหล็กที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าหล่นทับขณะขับรถกลับบ้าน หรือหญิงสาวที่เกือบถูกลูกหลงจากกลุ่มเด็กแว้นไล่ยิงเด็กปั้มชาวต่างด้าว ขณะกำลังเดินไปเข้าห้องน้ำ
ความน่าสนใจประการหนึ่งของละครเรื่องนี้ คือ วิธีการถ่ายทอดเรื่องเล่าจำนวนมากในเวลาอันจำกัดเพียง 90 นาที ซึ่งพบว่ามีการใช้การเล่าเรื่องหลากหลายวิธี ทั้งการให้ตัวละครเล่าเรื่องของตนโดยตรง ผ่านการบอกเล่าของตัวละครบนเวที ผ่านกระแสสำนึกของตัวละคร ผ่านรายการวิทยุ ทั้งให้ดีเจเป็นผู้เล่า หรือการ “เปิดสาย” ให้ผู้ฟังเป็นผู้เล่า อีกทั้ง จังหวะของการนำเสนอเรื่องเล่าเหล่านี้ก็อาศัยวิธีการที่หลากหลายและชวนติดตาม บางครั้งจะเป็นการเล่าเรื่องทีละเรื่อง บางครั้งก็เป็นการสลับกันเล่าเรื่อง 2-3 เรื่องไปพร้อมๆ กัน หรือบางครั้งก็มีการเล่าเรื่องหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กัน ซึ่งมีทั้งการซ้อนทับ เหลื่อมซ้อน ปะทะและแข่งขันกันอย่างเซ็งแซ่ เช่น การใช้คลื่นแทรกระหว่างออกอากาศ หรือมีเสียงอื่นๆ แทรกขณะตัวละครเล่าเรื่อง นับเป็นเทคนิคที่ชาญฉลาด ซึ่งทำให้คนดูต้องมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องอยู่ตลอดเวลา
แม้ว่าในด้านหนึ่ง ปริมาณเรื่องเล่าจำนวนมากที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อนตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องเช่นนี้ได้กระตุกเตือนผู้ชม (โดยเฉพาะผู้ที่เป็นคนกรุงเทพฯ) ที่เรื่องจากชินชาที่ต้องทนอยู่กับปัญหาเหล่านี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ได้เริ่มสำเหนียก หยุดคิด และทบทวนถึงปัญหาที่รายล้อมรอบตัวเราอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกันเรื่องเล่าจำนวนมากเหล่านี้ก็กลายเป็นจุดอ่อนของละครเวทีเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะทำให้เรื่องขาดจุดเน้น และผู้ชมไม่อาจจะรับสารที่เป็นแก่นของละครได้ เพราะแม้ว่าคนในยุคใหม่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมข้อมูลข่าวสาร แต่วิธีการรับข้อมูลส่วนใหญ่อาศัยการรับผ่านตาด้วยการดู มากกว่าผ่านหูด้วยการฟัง จึงทำให้ผู้ชมขาดความจัดเจนที่จะใช้เวลาในการครุ่นคิดถึงประเด็นปรัชญาที่ลุ่มลึก ถ้อยคำที่งดงาม หรือวลีคมๆ ที่เพิ่งได้ยินผ่านหูไป เพราะต้องตั้งรับกับเรื่องเล่าเรื่องต่อๆ ไปที่มีตามมาอย่างไม่ขาดสาย
ข้อเด่นของละครเรื่องนี้อีกประการคือ วิธีการ “น้อยแต่มาก” ที่ปรากฏให้เห็นส่วนต่างๆ ของเรื่อง ทั้งในเรื่องของฉาก จะเห็นได้ว่าทั้งเรื่อง เราเห็นเพียงพระจันทร์ดวงใหญ่ตั้งแต่เปิดจบจนปิดเรื่อง โดยไม่มีการเปลี่ยนฉากใดๆ แต่ในฐานะผู้ชมกลับรู้สึกว่าเรื่องราวที่กำลังชมเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ เพราะผู้แสดงอาศัยการเปลี่ยนเรื่องเล่า แสง สี และพื้นที่การแสดงไปตามจุดต่างๆ ทั่วพื้นที่การแสดง ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมสร้างฉากในจินตนาการของตนเพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องเล่าที่ตนกำลังรับฟังและรับชมอยู่
ประเด็นต่อมาคือ ตัวละคร นักแสดงหลักในเรื่องนี้มีเพียง 4 คน แต่ในขณะที่ชมกลับรู้สึกว่ามีตัวแสดงมากกว่านั้นที่กำลังโลดแล่นอยู่บนเวทีละคร ทั้งในฐานะของของตัวละครหลักที่ถ่ายทอดเรื่องราวของหญิงคนทรง หญิงสาวผู้เฉียดตาย วิญญาณผู้ชาย และคนขับรถแท็กซี่ และตัวประกอบเรื่องเล่าของเหล่าตัวละครหลัก ที่ปรากฏในฐานตัวละคร และเสียงประกอบต่างๆ ทั้งดีเจรายการวิทยุ นักร้อง เทวดา นางฟ้า ผู้ประกาศข่าว
เสียงสปอตโฆษณา ผู้ฟังรายการ ผู้แสดงทั้ง 4 คนต่างสลับบทบาทการแสดงของตนได้อย่างเป็นธรรมชาติ และขณะที่เล่นด้วยกันก็แสดงเสริมกันได้อย่างลงจังหวะและลื่นไหล เพื่อสนับสนุนให้เรื่องราวในเรื่องที่ดำเนินต่อเนื่องกันอย่างไม่หยุด การสอดประสานและสลับสับเปลี่ยนไปมาของเรื่องเล่าแต่ละเรื่องทำได้อย่างไม่ขาดช่วง ซึ่งต้องขอชื่นชมว่านักแสดงทุกคนผ่านการซ้อมมาอย่างหนัก จึงไม่มีการผิดคิวให้เห็นเลย
ในแง่ของดนตรีประกอบพบว่า แม้ละครเวทีเรื่องนี้จะใช้นักดนตรีเพียง 2 คน แต่ก็สามารถสร้างเสียงประกอบได้อย่างหลากหลาย นับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญช่วยเพิ่มทั้งมิติของเสียง และความมีชีวิตชีวาให้กับเรื่องได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าเสียงหลัก อย่างบทเพลงที่บรรเลงและขับร้องในรายการวิทยุที่ใช้การเล่นดนตรีและร้องสด รวมถึงเสียงประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงประกาศ เสียงจากสื่อโฆษณา เสียงฝนตก ฟ้าร้อง เสียงรถชน เสียงการจราจรบนท้องถนน และเสียงแตร การใช้ดนตรีสดเช่นนี้ช่วยสร้างอารมณ์ร่วมของผู้ชมให้มีต่อเรื่องเล่าต่างๆ ในละครเรื่องนี้ได้เพิ่มมากขึ้น
ผู้เขียนคิดว่าตนเองถือเป็นผู้โชคดีที่ได้รับสิทธิพิเศษในการชมละครเรื่องนี้ นั่นคือ การเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เพราะไม่เพียงแต่จะเข้าใจเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตัวละครกล่าวถึงเท่านั้น แต่เหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ เหล่านั้นยังสร้างอารมณ์และประสบการณ์ร่วมไปพร้อมกับตัวละครด้วย จึงอดคิดไม่ได้ว่า หากผู้ชมไม่ใช่คนกรุงเทพฯ จะตามเรื่องราวและเหตุการณ์ที่นำเสนอได้ทั้งหมดและครบถ้วนเหมือนกับตนหรือไม่
แม้ว่า Taxiradio จะนำเสนอแต่ภาพด้านลบ และเปิดโปงแง่มุมที่น่ารังเกียจของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันไว้มากมายเพียงใด แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกว่า ละครเรื่องนี้มิได้สร้างขึ้นจากความชิงชังชีวิตเมืองของกรุงเทพฯ แต่ให้เป็นความรู้สึกทั้งรักทั้งเกลียด เพราะโดยตลอดเรื่องมีร่องรอยของภาพจำที่งดงามของสังคมกรุงเทพฯ ในอดีตปรากฏอยู่ ทั้งในคำปรารภของตัวละคร และในสัญญะที่การแสดงความรู้สึกโหยหาอดีต (nostalgia) ได้อย่างชัดเจนผ่านบทเพลงในยุค 60 ยังทั้งตัวละครและผู้ชม (ที่เกิดทันเพลงในยุคนั้น) ยังคงจดจำและร้องคลอตามได้ ไม่ว่าจะเป็น Startdust ซึ่งเป็นเพลงเปิดการแสดงละครเรื่องนี้ หรือเพลง Sha la la la la และ Wowo Yaya ที่ถูกกล่าวอ้างถึงอยู่บ่อยครั้งในเรื่อง นับเป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของความสุขในอดีตที่ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำ และพร้อมที่จะหวนระลึกถึงอยู่เสมอๆ
ขณะเดียวกันละครเรื่องนี้ได้ใช้คนกรุงเทพฯ เพื่อตั้งคำถามที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งว่า อะไรคือคุณค่า เป้าหมาย และความสำคัญที่แท้จริงในชีวิต เพราะคน (เมือง) ในยุคปัจจุบันหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตน โดยเลือกใช้ชีวิตวิ่งตามกระแส ค่านิยม และความต้องการของสังคม เพื่อไล่ตามและไขว้คว้าชื่อเสียง เงินทอง เกียรติยศ และการยอมรับจากคนอื่น จนหลงลืมคนสำคัญที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในครอบครัว ซึ่งกว่าที่จะตระหนักรู้คุณค่าและความสำคัญของคนเหล่านี้ได้ก็ในนาทีที่เฉียดตาย หรือทำได้เพียงพร่ำบ่นและคร่ำครวญเสียดายเวลาที่จะได้อยู่กับคนที่รัก หรือร้องขอเวลาเพื่อปรับความเข้าใจกับคนในครอบครัวและแก้ไขสิ่งผิดพลาดในอดีต เมื่อรู้ว่าตนได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว
จดหมายของชายคนขับแท็กซี่ที่เขียนให้ลูกสาวเพื่ออ่านในวันแต่งงานของเธอในตอนจบของเรื่อง นับเป็นการชี้ทางออกให้กับทั้งตัวละครและผู้ชมว่า การสร้างสมดุลให้ชีวิตและการสร้างสังคมที่มีความสุขสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เราให้ความสำคัญกับคนรอบข้างมากกว่าตัวเอง มีเวลาให้แก่กันเพิ่มขึ้น รับฟังกันมากขึ้น ช่องว่าง ความขัดแย้ง และความไม่เข้าใจระหว่างกันก็จะลดลง “ไออุ่นของความเป็นมนุษย์” สร้างขึ้นได้ไม่ยาก หากเราเริ่มลงมือทำเสียแต่วันนี้ ก่อนที่จะต้องเสียใจเมื่อสายเหมือนกับที่ตัวละครหลายตัวแสดงให้ดูเป็นอุทาหรณ์แล้ว