อ่านนวนิยายชิงซีไรต์…ไปพร้อมๆ กับกรรมการ (พ.ศ. ๒๕๖๑) โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com
อ่านนวนิยายชิงซีไรต์…ไปพร้อมๆ กับกรรมการ (พ.ศ. ๒๕๖๑)
โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com
คงเป็นเรื่องบังเอิญมากกว่าจะจงใจ เมื่องานวรรณกรรมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้ ไม่เพียงแต่จะมีจำนวน ๘ เล่มเท่ากับเมื่อปีกลายพอดี แต่ยังมีผลงานของนักเขียนบุรุษและสตรีจำนวนเท่า ๆ กัน นั่นคือ ชาย ๔ หญิง ๔ สูตรเดียวกับเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ แบบเป๊ะ ๆ ซึ่งก็นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่นักเขียนสตรีจะมีพื้นที่ในการประกวดรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนมากขึ้น หลังจากที่ซีไรต์เคยเป็นเวทีหลักของนักเขียนชายมายาวนาน แม้ว่าคณะกรรมการคัดเลือกปีนี้จะมีสุภาพสตรีเพียงท่านเดียวในชุดกรรมการทั้งหมด ๗ ราย โดยที่เหลืออีก ๖ นายก็เป็นสุภาพบุรุษทั้งหมด
เมื่อนำรายชื่อนวนิยายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาไล่เรียงตามลำดับตัวอักษร ก็สามารถแบ่งกลุ่มผลงานออกเป็นฝั่งของนักเขียนชายและนักเขียนหญิงได้อย่างละ ๔ เล่มพอดี ถือเป็นปรากฏการณ์ความเท่าเทียมทางเพศที่เปิดโอกาสให้เราอาจจะมีนักเขียนหญิงซีไรต์เพิ่มขึ้นเป็นรายที่ ๘ หรือกระทั่งสร้างปรากฏการณ์นักเขียนดับเบิลซีไรต์สตรีคนแรกเลยก็เป็นได้ สำหรับนวนิยายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ นี้ก็ประกอบไปด้วย
กลุ่มนักเขียนชาย
- ‘เกาะล่องหน’ โดย เกริกศิษฏ์ พละมาตร์
- ‘คนในนิทาน’ โดย กร ศิริวัฒโณ
- ‘ในกับดักและกลางวงล้อม’ โดย ประชาคม ลุนาชัย
- ‘บ้านในโคลน’ โดย กิตติศักดิ์ คเชนทร์
กลุ่มนักเขียนหญิง
- ‘ผุดเกิดมาลาร่ำ’ โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
- ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ โดย วีรพร นิติประภา
- ‘หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา’ โดย อุรุดา โควินท์
- ‘อีกไม่นานเราจะสูญหาย’ โดย อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
ดังจะได้เปรียบเทียบหน่วยก้าน และความเป็นไปได้ในการคว้ารางวัลกันตามลำดับดังนี้
‘เกาะล่องหน’ โดย เกริกศิษฏ์ พละมาตร์
หากจะแถลงไขว่า เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ แท้แล้วก็เป็นชื่อ-สกุลจริงของ ‘พลัง เพียงพิรุฬห์’ นักเขียนรางวัลซีไรต์จากผลงานรวมบทกวีสุดฮิป นครคนนอก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ การเข้ารอบสุดท้ายของนวนิยาย เกาะล่องหน ของเขาในปีนี้จึงนับเป็นการสร้างสถิติให้ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ หรือ ‘พลัง เพียงพิรุฬห์’ เป็นนักเขียนเพียงไม่กี่รายที่สามารถมีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์สามปีต่อเนื่องกันจนครบรอบการประกวดทั้งสามประเภท นั่นคือ กวีนิพนธ์ รวมเรื่องสั้น และนวนิยาย กับผลงาน นครคนนอก / เรากำลังกลายพันธุ์ / เกาะล่องหน โดยก่อนหน้านี้มีนักเขียนที่สร้างปรากฏการณ์นี้ได้ คือ ศิริวร แก้วกาญจน์ ซึ่งมีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน ๖ เล่มในเวลา ๕ ปีติดต่อกันระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๗-๒๕๕๑ และ จเด็จ กำจรเดช ๓ เล่มระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๘ ซึ่งก็ทำให้ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ นับว่าเป็นนักเขียนที่รอบจัดในทุกกลุ่มประเภทงานวรรณกรรมอย่างที่น้อยรายนักจะสามารถทำได้เช่นนี้
มาที่นวนิยาย เกาะล่องหน ซึ่งเป็นผลงานเรื่องล่า ก็ต้องขอบอกเลยว่าเป็นผลงานที่สุดจะแปลกประหลาดพิสดาร ด้วยวิธีการเขียนแนวใหม่ ให้ความรู้สึกยิ่งอ่านก็ยิ่ง ‘อึน’ ตามศัพท์ภาษาของวัยรุ่นร่วมสมัย และถือเป็นผลงานที่ ‘พิลึก’ มากที่สุดที่เข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้เลยทีเดียว เนื้อหาของ เกาะล่องหน เล่าถึงพฤติกรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเกาะประหลาดที่เดี๋ยวก็ผุดขึ้นเดี๋ยวก็จมลงจากพื้นมหาสมุทร เกิดภาวะหมิ่นเหม่แห่งการมีตัวตน จนกระทั่งได้ชื่อว่าเป็น ‘เกาะล่องหน’ ซึ่งในเรื่องนี้ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ ตั้งใจจะสร้างระยะห่างระหว่างผู้อ่านกับตัวละครหลากหลายในเรื่องราวของเขา ด้วยการขนานนามตัวละครผ่าน ‘อาชีพ’ แทนชื่อเสียงเรียงนามอันอาจสร้างความเป็นมนุษย์ได้มากกว่า ตัวละครหลากหลายใน เกาะล่องหน จึงประกอบไปด้วย กวี นักเขียนเรื่องสั้น นักเขียนนิยาย นักเขียนสารคดี นักข่าวสาว นักธุรกิจ นักเดินทาง นักฉายหนังกลางวันในคลังยา นักกวาดลานดิน นักกินโรตี หรือกระทั่งนายช่างซ่อมมนุษย์ผู้อารี แล้วให้บุคคลเหล่านี้สลับกันมามีบทบาทผ่านการสนทนา โดยหาได้มีการเติมสร้างบุคลิกใด ๆ ให้ตัวละครเลย
ทว่าความแห้งแล้งด้านความเป็นมนุษย์ของตัวละครกลับถูกชดเชยด้วยเหตุการณ์ประหลาดต่าง ๆ นานาที่สามารถสร้างความน่าฉงนให้ตัวนวนิยายมีแรงดึงดูดให้ต้องติดตามอ่านต่อไป ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เต่าทะเลยักษ์ขึ้นฝั่งมาวางไข่ เด็กหญิงผมแกละที่ทำตุ๊กตาหมีหล่นน้ำทะเลจนทำให้เกิดเกาะ หรือการพบแผนผังประหลาดบนซากกระดูกซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับตำนานเกาะล่องหนทั้งที่แท้แล้วมันเป็นเพียงผังสัมผัสของกลอนแปดที่พลิกเอียงไปด้วยมุมฉากเท่านั้น ด้านโครงเรื่องของนวนิยายก็มีการแบ่งเป็นบท ๆ จำนวน ๓๙ บท แต่ละบทก็จะสลับเล่าเรื่องราวของตัวละครหรือสถานการณ์ต่าง ๆ กันไป ทว่าในหลาย ๆ บทก็จะมี ‘ความแทรก’ โผล่มาในส่วนท้าย ทะลึ่งเล่าประวัติศาสตร์ในยุคสมัยล่าอาณานิคมของชนชาติยุโรปในเอเชียอาคเนย์ ก่อนจะจบด้วยการซ้ำคำสำคัญ เช่น ล่องหนล่องหนล่องหน… ชีวิตชีวิตชีวิต… ความคิดความคิดความคิด… ความเชื่อความเชื่อความเชื่อ… ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์… ยาวเป็นหน้ากระดาษ อันยากจะอ่านเจตนา โดยยังอุตส่าห์สร้างความร่วมสมัยให้ความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อ่านยุคปัจจุบันด้วยการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีที่มีการใช้ social network ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Line หรือแม้กระทั่ง YouTube ทันสมัยถึงขั้นมี page ของ ‘เกาะล่องหน’ นี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็ทำให้ภาพของนวนิยายโดยรวมผสมผสานปนเปกันระหว่างเรื่องเล่าลึกลับในตำนาน ปรากฏการณ์ของผู้คนร่วมสมัย ประวัติศาสตร์ในภูมิภาค ไปจนถึงภาพการติดต่อสื่อสารผ่านโลกดิจิทัล ทว่าแก่นสารสำคัญที่ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ ต้องการสื่อสารถึงผู้อ่านคือสิ่งใด ผู้ประพันธ์เองก็เหมือนจะไม่ได้รู้ด้วยซ้ำ ดั่งคำประกาศในส่วนคำนำและเนื้อหาในบทสรุป โดยมี ‘เกาะล่องหน’ ที่ถูกเปรียบเทียบกับ ‘แผ่นดินใหญ่’ เป็นสัญลักษณ์สำคัญที่อาจแสดงหรือไม่ได้แสดงภาวะร่วมสมัยใด ๆ โดยเฉพาะสถานะที่คาบเกี่ยวระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนอันนำไปสู่ภาวะกึ่งไร้ตัวตนในที่สุด
โดยรวมแล้ว เกาะล่องหน จึงนับเป็นผลงานวรรณกรรมที่ดูจะล้ำลึกแหวกขนบนวนิยายดั้งเดิมไปแสนไกล ซึ่งถึงแม้ว่ารางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือซีไรต์ จะให้ความสำคัญกับความริเริ่มสร้างสรรค์แปลกใหม่ แต่ผลงานเรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะ ‘ล้ำ’ จนแทบจะไม่สามารถหยิบจับเรื่องย่ออะไรมาเล่าต่อได้ และอาจจะคว้ารางวัลได้ยากอยู่ แม้แต่นักวิจารณ์ผู้คร่ำหวอดในวงการมายาวนานก็อาจถึงกับเกร็งเมื่อต้องเขียนวิจารณ์ผลงานชิ้นนี้ ค่าที่มันมีแต่ปริศนามากกว่าคำตอบที่สามารถอธิบาย นับว่าเป็นหนึ่งในความแปลกใหม่ของวงการวรรณกรรมไทยร่วมสมัยที่หลาย ๆ คนก็อาจจะตามไม่ทันกันเลยทีเดียว
‘คนในนิทาน’ โดย กร ศิริวัฒโณ
น่ายินดีที่นวนิยายลูกทุ่งสุดทะลึ่งตึงตังอย่าง คนในนิทาน ของ กร ศิริวัฒโณ จะสามารถผ่านด่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาในปีนี้ด้วย แม้ว่าเนื้อหาของมันซึ่งได้รับการขนานนามโดยผู้แต่งว่า ‘นวนิยายอีโรติกย้อนยุคสังคมเกษตรกรรม’ จะเข้าขั้นติดเรท จนกลายเป็นหนังสือที่เหมาะเฉพาะสำหรับผู้ใหญ่ ที่มาพร้อมฉากการร่วมประเวณีระหว่างคนกับคน และ คนกับสัตว์อันน่าใจหาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์จะใจกว้างได้มากขนาดไหน โดยเฉพาะเมื่อรางวัลนี้เคยถูกค่อนแคะมาก่อนว่าเหมือนเป็นการประกวดวรรณกรรมเยาวชนกลาย ๆ เมื่อครั้งที่ ช่างสำราญ เจ้าหงิญ และ ความสุขของกะทิ ได้รับรางวัลติด ๆ กัน กับเหตุผลเพียงง่าย ๆ ว่า หนังสือที่ได้รับรางวัลซีไรต์จะกลายเป็นวรรณกรรมที่อยู่ในห้องสมุดโรงเรียนแทบทุกโรงเรียน! ถ้าใช้เกณฑ์การตัดสินลักษณะนี้ คนในนิทาน ก็คงจะเฉลิมฉลองยินดีได้เฉพาะการเข้าสู่รอบสุดท้าย เพราะเนื้อหาของมันดูจะไม่เหมาะกับเยาวชนอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีลงไป ด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในแบบผู้ใหญ่ ๆ ต่อให้มันจะเป็นงานที่สนุกเข้มข้นมากเรื่องหนึ่งที่ได้เข้ารอบสุดท้ายมา
คนในนิทาน เล่าเรื่องราวของ ‘เทิ้มทด’ พ่อเฒ่าชาวบ้านปักษ์ใต้สมัยกองทัพญี่ปุ่นบุกช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ภรรยาไม่ยอมตามใจให้มีอะไร ๆ ด้วย และต้องแอบหันไประบายกับสุนัขจน ‘กริช’ ลูกเขยคู่อริตัวแสบบังเอิญผ่านไปเห็น กลายเป็นกรณี blackmail ที่ทำให้พ่อตาอย่าง ‘เทิ้มทด’ ต้องอยู่ภายใต้อาณัติของ ‘กริช’ โดยดุษณี นำไปสู่บทสรุปที่วิพากษ์พฤติกรรมนอกลู่นอกรอยทางเพศอันน่าอับอาย ท้าทายการพินิจพิเคราะห์อารมณ์ด้านดำมืดกฤษณาของมนุษย์ ซึ่งคุณสมบัติที่น่าจะนำพาให้นวนิยายเรื่องนี้ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายได้ ก็เห็นจะเป็นลีลาการประพันธ์ที่สะท้อนถึงความสร้างสรรค์ในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่การเล่นล้อกับมิติจริงลวงของการเป็นนิทาน ที่ตั้งคำถามว่าเรื่องราวชีวิตของผู้คนในตำนานมันอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือเป็นสิ่งที่ถูกแต่งเติมขึ้นก็เป็นได้ โครงสร้างการเล่าของ คนในนิทาน จึงมีลักษณะของการเป็นนิทานซ้อนนิทาน และบางครั้งก็ซ้อนนิทานไว้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อตาเฒ่า ‘เทิ้มทด’ ก็ได้ชื่อว่าเป็นนักเล่านิทานตัวยงอีกคนด้วยเหมือนกัน
ในด้านวรรณศิลป์ภาษาก็ใช้คำพูดคำจาสำเนียงทองแดง อุดมไปด้วยศัพท์แสงพื้นถิ่นที่ให้สีสันวัฒนธรรมของสังคมเกษตรกรรมในดินแดนภาคใต้อย่างได้แรงอกแรงใจ อ่านไปก็ขำไปกับทั้งเรื่องราวและสำบัดสำนวนชวนหัวชวนเวทนา แม้ว่าชะตากรรมของตัวละครจะถือได้ว่าหนักหนาสาหัสถึงเพียงไหนก็ตาม แถม กร ศิริวัฒโณ ยังได้ประดิษฐ์คำแทนอวัยวะเพศชายไม่ให้ฟังดูโจ๋งครึ่มมากเกินไป ทว่ายังพอมโนภาพได้ว่ามันยิ่งใหญ่อลังการเพียงไหน ด้วยชื่อเล่นน่ารัก ๆ อย่าง ‘จอมเทพ’ และ ‘ชายใหญ่’ แสดงลวดลายลีลาในการใช้ภาษาที่รักษาระดับไม่ให้อะไร ๆ ดูจาบจ้วงหยาบคายมากนัก และที่สำคัญคือต่อให้ตัวละครตาเฒ่าจะพร่ำบอกพวกเราไม่ให้เชื่อนิทานจากตำนานที่กำลังจะถูกเล่าขานกันอย่างไร แต่การถ่ายทอดตัวละครของ กร ศิริวัฒโณ กลับทำออกมาได้มีสีสันเปี่ยมชีวิตชีวาจนน่าเชื่อไปหมดทุกพฤติกรรม ราวกำลังฟังเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่กำลังผจญกับชะตากรรมเหล่านี้จริง ๆ จนไม่มีสิ่งชวนให้สงสัยใด ๆ เลย ความทีเล่นทีจริงต่าง ๆ ใน คนในนิยาย ทำให้มันมีประเด็นและลีลาที่แตกต่างจากเรื่องสั้นที่มีจุดพลิกผันละม้ายกันอย่าง ‘สัญชาตญาณมืด’ ของ ‘อ.อุดากร’ หรือ งานอีโรติกแบบชาวไร่ของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ จากน้ำเสียงการเล่าอันเป็นเอกลักษณ์ ที่อ่านแล้วคงต้องร้องอุทานออกมาเป็นภาษาปักษ์ใต้เลยว่า ‘หร้อยจังหู!’
คณะกรรมการตัดสินจะเปิดโอกาสให้นวนิยายเนื้อหาหมิ่นเหม่ศีลธรรมหรือไม่ แต่ผู้แต่งนำเสนอได้อย่างสนุกบันเทิง เปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงการประพันธ์เล่มนี้มีโอกาสในการแข่งประชันมากขนาดไหน เพราะการที่ คนในนิทาน จะสามารถเข้าเส้นชัยได้นั้น คณะกรรมการก็คงต้องใจกว้างเท่าผืนสมุทรสุดนทีมหาชลาลัย และมองว่าพฤติกรรมที่ไม่น่าพิสมัยของตัวละครก็สามารถส่องสะท้อนถึงแง่มุมแห่งความเป็นมนุษย์ได้ไม่แพ้เรื่องจรรโลงด้านอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน
‘ในกับดักและกลางวงล้อม’ โดย ประชาคม ลุนาชัย
ถ้าจะเทียบกันโดยสถิติแล้ว นักเขียนที่เคยมีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาแล้วมากเล่มที่สุดก็เห็นจะเป็น ประชาคม ลุนาชัย เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ประชาคม ลุนาชัย ก็มีผลงานทั้งนวนิยายและรวมเรื่องสั้นเข้ารอบลึกมาแล้วจำนวนถึง ๗ เล่มด้วยกัน และหลาย ๆ ครั้งก็ได้ชื่อว่าเป็น ‘ซีรอง’ ครองตำแหน่งที่สองเกือบจะคว้ารางวัลไปได้อย่างเฉียดฉิว แต่ก็ไม่อาจซิวซีไรต์ไปได้สักที หลังจากที่ห่างหายไปสิบกว่าปี ประชาคม ลุนาชัย ก็นำเอาผลงานใหม่ ในกับดักและกลางวงล้อม กลับมาผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้อีกครั้ง นับเป็นเล่มที่ ๘ แล้วตลอดชีวิตการทำงานเป็นนักเขียนสัจนิยมเพื่อชีวิตรายนี้
โดยใน ในกับดักและกลางวงล้อม ประชาคม ลุนาชัย ก็หวนกลับมาเล่าเรื่องราวที่เขามีประสบการณ์และคลังข้อมูลมากที่สุด นั่นคือชีวิตการเป็นลูกเรือประมงที่เขาเคยเผชิญมาแล้วจริง ๆ ซึ่งคราวนี้ได้หันมาเล่าถึงการผจญภัยไล่ล่าหาปลาของไต้ก๋งและลูกเรือ ‘ทองพันชั่ง 1’ ซึ่งอาจหาญออกทะเลอย่างสุ่มเสี่ยงด้วยการเป็นเรือ ‘อวนล้อม’ ที่ทุกคนจะได้ค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากจำนวนปลาที่จับและขายได้ แม้ว่าจะไม่มีหลักประกันเลยว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในการออกทะเลแต่ละครั้ง หนำซ้ำทั้งไต้ก๋งและลูกเรือที่ต่างพิกลพิการหลาย ๆ รายก็ล้วนเป็นมือใหม่ไม่เคยออกเรืออวนล้อมมาก่อน พวกเขาจึงต้องพบเจอกับอุปสรรคต่าง ๆ นานา นำพาให้ต้องหมดหวังทัดทานกำลังใจอันแรงกล้าว่าโชคชะตาจะต้องเข้าข้างพวกเขาสักวันหนึ่ง
ปฏิกิริยาที่ได้จากการอ่านนวนิยายเล่มนี้ คงต้องแยกกรณีด้วยว่าเคยได้อ่านนวนิยายเนื้อหาเกี่ยวกับการออกทะเลของลูกเรือประมงอันแสนเข้มข้นเรื่องก่อน ๆ ของ ประชาคม ลุนาชัย มาแล้วหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น ฝั่งแสงจันทร์ / คนข้ามฝัน / กลางทะเลลึก เพราะดูจากโครงเรื่องแล้ว ในกับดักและกลางวงล้อม มีแนวทางการเล่าที่เน้นการนำเสนอภาพใหญ่ของตัวละครหลากหลายที่โชคชะตานำพามาให้ใช้ชีวิตร่วมกันในเรือ ‘ทองพันชั่ง 1’ ลำนี้ ผ่านเสียงเล่าที่มาจากผู้ประพันธ์ มากกว่าจะจับเรื่องราวไปที่ตัวละครสำคัญรายหนึ่งรายใดแบบเดียวกับในเรื่องก่อน ๆ และถึงแม้ว่าแต่ละบทตอนของ ในกับดักและกลางวงล้อม จะมีความขัดแย้งระหว่างตัวละครหลากหลายเกิดขึ้นมากมาย แต่รวม ๆ แล้วมันก็อาจยังไม่ได้ทรงพลังเท่าการงัดข้อกันอย่างรุนแรงระหว่างตัวละครหลักในนิยายเรื่องก่อน ๆ ดังที่เอ่ยมา ถึงจะมีจุดที่น่าลุ้นอยู่บ้างว่าสุดท้ายแล้วเรือ ‘ทองพันชั่ง 1’ จะล้มบัญชีอย่างที่หลาย ๆ คนหวั่นเกรงหรือไม่ ทว่าสุดท้ายมันก็กลายเป็นจุดขัดแย้งที่เหมือนจะเป็นเพียงอีกหนึ่งรายละเอียดที่ไม่ได้เป็นบทสรุปสำคัญแต่ประการใด พลังการเล่าโดยรวมใน ในกับดักและกลางวงล้อม จึงยังคงไม่สามารถเทียบได้กับความสำเร็จในเรื่องก่อน ๆ ที่ ประชาคม ลุนาชัย เคยถ่ายทอดมาแล้ว
แต่หากยังไม่เคยอ่านนิยายเรื่องเก่า ๆ เหล่านี้ของเขามาก่อน ในกับดักและกลางวงล้อม ก็ถือเป็นนิยายที่ระบายภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไต้ก๋งและเหล่าลูกเรือประมงได้พบเจออย่างแจ่มชัดสมจริงเป็นธรรมชาติ วาดบรรยายฉากต่าง ๆ และนานาสถานการณ์ที่ตัวละครได้ประสบทั้งภายนอกและภายใน จนผู้อ่านสามารถเข้าใจกระทั่งร่วมสัมผัสถึงสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างใกล้ชิด ชนิดที่แม้ไม่เคยอ่านงานของ ประชาคม ลุนาชัย มาก่อน ก็คงอดทึ่งไม่ได้ที่เขาจะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวอักษรได้อย่างเห็นภาพชัดเจนถึงเพียงนี้ แม้ว่าในส่วนของโครงสร้างภาพรวมจะยังคงมีจุดสะดุดอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อ ประชาคม ลุนาชัย ไล่บรรจงเก็บรายละเอียดเหตุการณ์ก่อนจะเริ่มออกเรือในช่วงแรก ๆ ไว้มากมาย แต่ในช่วงกลางและท้าย ๆ กลับตัดจบเหตุการณ์ของการออกเรือแต่ละครั้งโดยยังไม่ทันสรุปว่าสำเร็จหรือไม่ ทำให้เนื้อเรื่องทั้งหมดออกจะเสียสมดุลอยู่พอดู ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรผู้อ่านสายมนุษยนิยมทั้งหลายก็น่าจะยังประทับใจกับความมีชีวิตมีลมหายใจของเหล่าตัวละครใน ในกับดักและกลางวงล้อม ได้ และอาจทำให้ ประชาคม ลุนาชัย ประสบความสำเร็จในการเป็นนักเขียนซีไรต์กับเขาได้เสียที หลังจากที่เข้าชิงมาแล้วถึง ๗ เล่ม!
บ้านในโคลน’ โดย กิตติศักดิ์ คเชนทร์
ข้อดีประการหนึ่งของการประกวดรางวัลซีไรต์ คือการให้โอกาสที่เท่าเทียมแก่นักเขียนไม่ว่าจะรุ่นเล็กหรือรุ่นใหญ่ จะเขียนมากี่สิบกี่ร้อยเล่มหรือยังเป็นนักเขียนหน้าใหม่ ก็ล้วนมีโอกาสผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้หากผลงานจะมีคุณภาพจริง ๆ บ้านในโคลน ของ กิตติศักดิ์ คเชนทร์ ก็เป็นนวนิยายหนึ่งในสองเล่มที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ในปีนี้ที่เป็นผลงานประพันธ์เล่มแรกของผู้เขียน ซึ่งก็อาจจะตามรอยเท้างานประพันธ์เล่มแรกอย่าง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของ วีรพร นิติประภา หรือ สิงโตนอกคอก ของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ไปอีกเล่มก็ได้ ถ้ากระแสนิยมน้ำเสียงใหม่ ๆ กำลังแรงอยู่
แต่ไม่รู้ว่า ‘คำนำบรรณาธิการ’ ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ที่กึ่งตบบ่ากึ่งปรามาสสถานะการเป็น ‘นักเขียนใหม่’ ของ กิตติศักดิ์ คเชนทร์ ตั้งแต่หน้าแรก ๆ โดยที่ผู้อ่านยังไม่ได้เริ่มอ่านเรื่อง จะช่วยในการสร้างความประทับใจหรือขอกำลังใจจากผู้อ่านไปในทางไหน เพราะเมื่ออ่านไป ๆ แล้วพบเจอแนวทางที่ ‘ไม่ใช่’ มันก็ยิ่งกลับมาตอกย้ำสถานะการเป็น ‘นักเขียนใหม่’ ของ กิตติศักดิ์ คเชนทร์ ที่ควรต้องให้อภัยตามคำแบ่งรับแบ่งสู้ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร เองในส่วนคำนำ
บ้านในโคลน เป็นผลผลิตที่มาจากการยุยงของ จำลอง ฝั่งชลจิตร ให้นักเขียนหนุ่ม กิตติศักดิ์ คเชนทร์ หยิบเรื่องราวใกล้ตัวที่ยังฝังใจ โดยเฉพาะวินาศภัยโคลนถล่มหมู่บ้าน ที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ยามที่เขายังอยู่ในวัยเด็ก มาถ่ายทอดเป็นนวนิยายเยาวชน ซึ่ง กิตติศักดิ์ คเชนทร์ ก็ได้ถือโอกาสฝึกฝนรวบรวมเรื่องราวจากความทรงจำและคำบอกเล่าของญาติพี่น้องที่รอดชีวิต มาร้อยเรียงเป็นงานประพันธ์ถ่ายทอดฝันร้ายที่จะฝังลึกอยู่ในความทรงจำของผู้เคยประสบเผชิญตลอดไป ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็กลายเป็นนวนิยายที่ไล่เล่าเหตุการณ์อันน่าใจหายดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ผ่านสายตาและประสบการณ์ของเด็กชาย ‘สิงห์’ ที่อาศัยอยู่กับครอบครัวในขณะที่พ่อกำลังปลูกบ้านหลังใหม่ โดยมีสหายวัยเดียวกันนาม ‘แดง’ เป็นเพื่อนเล่นร่วมทุกข์ร่วมสุขแบ่งปัน ท่ามกลางความสัมพันธ์อันอบอุ่นจากปู่ยาตายาย และเครือญาติทั้งหลายในชุมชนที่มีแต่ความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
ค่อนแรกของเนื้อหานิยายก่อนที่หายนะกำลังจะมาถึง จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าการบอกเล่าชีวิตในวัยกำลังเติบโตของ ‘สิงห์’ และเพื่อน ๆ ที่ทุกสิ่งช่างดูสวยงาม น้ำเสียงการเล่าของ กิตติศักดิ์ คเชนทร์ ในช่วงนี้มีลักษณะของการเป็นวรรณกรรมเยาวชนแสนสุข ‘สายหวาน’ โดยเฉพาะคำพูดคำจาของตัวละครเด็กที่นอกจากจะฟังดูไม่ธรรมชาติแล้ว ยังดูมีจริตประดิดประดอยติดถ้อยวรรณศิลป์ที่ดูจะฟ้องบ่งฟ้องถึงความเป็นมือใหม่อยู่จริง ๆ อาทิ การให้ตัวละครเด็กทั้งสองสนทนากันว่า “เรามีบางอย่างมาให้ แดงต้องชอบแน่นอน” / “อะไร มีอะไรหรือสิงห์ ที่ว่าเราต้องชอบ” ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นภาษาที่เด็กผู้ชายทั่วไปจะพูดกัน
อย่างไรก็ดี นวนิยายก็กลับมีความเข้มข้นขึ้นมาทันทีที่โคลนเริ่มจะถล่มหมู่บ้านในช่วงหลัง ซึ่ง กิตติศักดิ์ คเชนทร์ ก็ถ่ายทอดรายละเอียดชวนลุ้นต่าง ๆ ได้อย่างมีพลัง นั่งอ่านไปก็ลุ้นไปชวนให้ใจหายใจคว่ำ กับภาพแห่งความพังพินาศที่พลิกขั้วไปจากน้ำเสียงการเล่าแบบใส ๆ ในช่วงแรกอย่างสิ้นเชิง ความแจ่มชัดในการพรรณนาเหตุการณ์อันสุดสะเทือนขวัญในช่วงหลังนี้เองที่ต้องถือเป็นส่วนที่แข็งแกร่งที่สุดของนวนิยายเรื่องนี้ ที่น่าจะนำพาให้ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายมาได้ แต่ในภาพรวมแล้ว บ้านในโคลน ก็ยังถือเป็นวรรณกรรมแนวขนบที่ไม่ได้มีความแปลกใหม่อันน่าตื่นตาตื่นใจใด ๆ และอาจจะเข้าเส้นชัยได้ยากอยู่เมื่อต้องมาเจอกับคู่แข่งสายแข็งรายอื่น ๆ
ผุดเกิดมาลาร่ำ’ โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข
สำหรับวรรณกรรมที่ถือได้ว่า ‘มาแปลก’ ที่สุดในรอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ ก็เห็นจะเป็น ผุดเกิดมาลาร่ำ ของศิลปินหญิง อารยา ราษฎร์จำเริญสุข เพราะมันมิได้เป็นนวนิยายที่ตีพิมพ์วางขายกันแบบธรรมดา ๆ ทว่าเป็นผลผลิตจากงานนิทรรศการศิลปะ ‘ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’ ของผู้ประพันธ์เอง ซึ่งจัดแสดงที่ ๑๐๐ ต้นสนแกลเลอรี่ ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ – มกราคม ๒๕๖๑ ซึ่งศิลปินได้จัดแสดงทั้งภาพเขียน ประติมากรรม video installation และแผ่นแสดงข้อความ สะท้อนมุมมองความคิดในการทำงานผ่านตัวตนที่แบ่งเป็นสองขั้วด้าน รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อผลงานศิลปะในอดีตของเธอ
ผุดเกิดมาลาร่ำ จึงปรากฏออกมาด้วยรูปลักษณ์ที่แปลกตาจากหนังสือนวนิยายโดยทั่วไปจนคล้ายเป็น catalogue งานศิลปะ ที่นอกจากจะเป็นนวนิยายปกแข็งรูปเล่มผอมยาวกะทัดรัด จัดรูปเล่มอย่างประณีตด้วยตัวอักษรขนาดเล็กกว่าปกติจนต้องเพ่งอ่าน ในส่วนท้ายยังเป็นการรวบรวมผลงานทัศนศิลป์ที่จัดแสดงไปในนิทรรศการให้ผู้อ่านได้สัมผัสเป็นบางส่วนด้วย ทั้งยังออกแบบปกที่แตกต่างกันสองแบบ สะท้อนความเป็น ‘ทวิภาค’ แห่งการเป็น ‘อารยา’ ที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลาในผลงานศิลปะชุดนี้ ผุดเกิดมาลาร่ำ จึงมีความเป็นนวนิยายศิลปะระดับ premium พิมพ์จำนวนจำกัดด้วยสนนราคาเล่มละ ๑,๐๐๐ บาท ซึ่งถ้าคณะกรรมการประกาศว่าเรื่องนี้เป็นเล่มที่คว้ารางวัลไป มันก็คงจะเป็น ‘ซีไรต์’ ที่แพงที่สุดเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว
เนื้อหาใน ผุดเกิดมาลาร่ำ เล่าถึงชีวิตของศิลปินหญิงนาม ‘ไลลียา’ ในสามช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็กที่เธอสูญเสียมารดาไปและต้องอาศัยอยู่กับบิดาที่มีครอบครัวใหม่ วัยสาวช่วงที่เธอก้าวเข้ารั้วมหาวิทยาลัยศิลปะชื่อดังกระทั่งได้ไปร่ำเรียนถึงเมืองนอกเมืองนาสร้างผลงานศิลปะแบบเฉพาะตัวออกมาจนมีชื่อเป็นที่จดจำ และในวัยชราที่สังขารกำลังเริ่มอ่อนล้าโรยรา เธอจึงหันไปผูกมิตรกับฝูงหมาที่คล้ายจะเป็นที่มาของแรงบันดาลใจของเธอ แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในนวนิยายเล่มนี้ก็คงอยู่ที่สำนวนภาษาในแบบของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ที่มีวรรณศิลป์เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร ประดิษฐ์ศัพท์แสงคำเปรียบคำเทียบต่าง ๆ ได้อย่างแปลกหูมากมาย ทั้งยังสร้างไวยากรณ์ใหม่ ๆ ละประธาน ละกริยา จนไม่รู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร แล้วใช้คำคุณศัพท์วิลิศมาหราหลากหลายมาบรรยายภาวะอารมณ์ของตัวละครได้อย่างมีชั้นเชิง ความวิจิตรในการบอกเล่าถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละคร ‘ไลลียา’ ด้วยสำนวนภาษาที่ไม่น่าจะมีใครเลียนแบบได้นี้ ชวนให้นึกถึงกรณีของ แดนอรัญ แสงทอง ที่สามารถกลั่นกรองถ้อยคำทั้งที่คุ้นหูและแปลกหูทั้งหลายมาร้อยเรียงจนได้เป็นสำเนียงใหม่อย่างงดงามอลังการ ส่งผลให้งานรวมเรื่องสั้น อสรพิษ และเรื่องอื่น ๆ ของเขา คว้ารางวัลซีไรต์มาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งความเอกอุในเชิงวรรณศิลป์ลักษณะนี้ก็มีผลในการสร้างความเพลิดเพลินชวนอ่านให้ตัวงาน ชนิดที่เพียงได้สัมผัสความไพเราะของถ้อยคำก็สามารถสร้างความสำราญให้ผู้อ่านราวกำลังเสพงานกวีชั้นดีเลยทีเดียว
อย่างไรก็ดีเนื้อหาเรื่องราวของชีวิต ‘ไลลียา’ ตัวละครหลักของนวนิยายเรื่องนี้ก็มีทั้งส่วนที่น่าสนใจและไม่น่าสนใจคละเคล้ากันไป โดยเฉพาะในวัยเด็กที่ยังคงรักความสนุกซุกซน และวัยสาวที่ต้องผจญกับอารมณ์อ่อนไหวต่อเพื่อนต่างเพศ ซึ่งออกจะสามัญธรรมดาไม่น่าติดตามสักเท่าไหร่ ผิดกับช่วงตอนที่ ‘ไลลียา’ เริ่มสร้างงานศิลปะและมีโอกาสได้อธิบายว่าเธอกำลังครุ่นคิดจะถ่ายทอดสิ่งใด โดยเฉพาะภาวะความหมกมุ่นกับความตาย ผ่านงานศิลปะที่ศิลปินหญิงอ่านบทละครเรื่อง อิเหนา ให้ศพฟัง รวมทั้งแต่งเนื้อแต่งตัวศพราวกำลังเล่นตุ๊กตา กระทั่งทะเล่อทะล่าทำทีมาเป็นอาจารย์สอนหมู่ศพเรื่องความตายให้ได้เข้าใจ ซึ่งก็ล้วนเป็นผลงานที่ละม้ายคล้ายกับสิ่งที่ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข เคยสร้างความฮือฮาไว้ในแวดวงศิลปะร่วมสมัยมาแล้ว ด้วยเนื้อหาในส่วนเหล่านี้ดูจะมีความเฉพาะตัวที่บ่งฟ้องถึงตัวตนอันแตกต่างของ ‘ไลลียา’ ว่าเธอมองโลกต่างจากผู้อื่นอย่างไร และเหตุใดเธอจึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์พร้อมกันหลาย ๆ ราย หลังเกิดความรู้สึกหมกมุ่นกับความตายจนเกินพอดี สะท้อนภาวะอารมณ์ที่วิปริตผิดแปลกของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ศิลปิน’ ได้อย่างเด่นชัด
แต่ถึงแม้ว่าในเชิงการเล่าของ ผุดเกิดมาลาร่ำ จะยังรู้สึกขัด ๆ และอ่อนเบาคล้ายเป็นความทรงจำลาง ๆ เพียงไกล ๆ ในหลาย ๆ ช่วงกันอย่างไร ความแปลกใหม่ในเชิงภาษาที่ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ถ่ายทอดไว้ก็ดูจะมีน้ำหนักเกินพอที่จะทำให้มันเป็นหนึ่งในงานที่โดดเด่นจนสามารถคว้ารางวัลซีไรต์ไปครองได้ กลัวก็แต่ว่าหลังคว้ารางวัลราคาของมันจะกระโดดขึ้นสูงกว่าที่เป็นอยู่นี้เพียงไหน หากคณะกรรมการซีไรต์จะตามกระแสว่ายุคนี้สมัยนี้ของดี ๆ ควรจะต้องดู ‘แพง’!
‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ โดย วีรพร นิติประภา
นักเขียนอีกคนที่มีโอกาสลุ้นเป็น ‘ดับเบิ้ลซีไรต์’ ในปีนี้ก็คือนักเขียนสตรี วีรพร นิติประภา ที่นำพานวนิยายเล่มที่สองในชีวิตของเธอเข้าสู่รอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ได้อีกครั้งกับ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ หลังจากที่ ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต นวนิยายเล่มแรกของเธอ คว้ารางวัลไปได้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ก็ทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของนักเขียนหญิงซีไรต์ที่ยังมีผลงานออกมาไม่มากสักเท่าไหร่ เมื่อเธอหันไปสนใจเล่าถึงชีวิตของครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเลที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สุดหม่นดำเรื่องนี้
พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการบอกเล่าความทรงจำของ ‘ยายศรี’ ให้ ‘หนูดาว’ ฟัง ถึงประวัติความเป็นมาของ ‘ทวดตง’ ชายชาวจีนกวางตุ้งที่อพยพลงมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ กระทั่งได้ภรรยาลูกครึ่งมอญแต้จิ๋วซึ่งก็คือ ‘ทวดเสงี่ยม’ อยู่กินกัน ๕ ปีไม่มีลูกจึงไปขอบุตรชายจากหญิงขายถ่านมาเลี้ยงพร้อมตั้งชื่อให้ว่า ‘จงสว่าง’ จากนั้นไม่นานทวดทั้งสองก็มีลูกอิจฉาเป็นของตัวเองตามมาอีก ๔ ราย เป็นชายหนึ่งนาม ‘จิตรไสว’ และหญิงสาม คือ ‘จรุงสิน’ ‘เจริดศรี’ และ ‘จรัสแสง’ หลังจากนั้นก็จะเป็นมหากาพย์เล่าเรื่องราวความเป็นไปของสมาชิกในครอบครัวนี้ โดยมีประเด็นการหาคู่ครองที่มักจะจบลงด้วยการหย่าร้างเมื่อฝ่ายชายหันไปมีคนใหม่เป็น theme ใหญ่ แทรกด้วยฉากหลังของประวัติศาสตร์ไทยและสากลในแต่ละยุคสมัย ทั้งกรณีกบฏวังหลวง กบฏแมนฮัตตัน การสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๘ ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตง สงครามมหาเอเชียบูรพา การมาเยือนของทหาร GI จากสหรัฐอเมริกา มาจนถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในเดือนตุลาคม เป็นส่วนผสมที่ให้ภาพของสังคมเบื้องหลังว่าประเทศไทยกำลังเกิดอะไร ในขณะที่ตัวละครกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาชีวิตส่วนตัวของตนอยู่
ผู้ประพันธ์ วีรพร นิติประภา ดูจะตั้งใจระบายภาพชีวิตครอบครัวจีนอพยพที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยว่าพวกเขาต้องพบเจอกับอะไรบ้าง ทั้งสถานะของการเป็นคนต่างด้าวและปัญหาภายในครอบครัวที่เกิดจากความหลายใจของฝ่ายชายที่ วีรพร นิติประภา ดูเหมือนจะเน้นย้ำให้เห็นอยู่หลายครั้ง แต่ในส่วนของฉากหลังอิงประวัติศาสตร์ไทยที่ร่ายเล่าอยู่ในนิยายอย่างเป็นกระสายกลับไม่มีบทบาทในการส่องสะท้อนอะไรมากไปกว่าการเป็นเพียงฉากหลัง เหตุการณ์ต่าง ๆ ถูกอ้างอิงอย่างผิวเผินขาดการขยาย คล้ายจะกลายเป็นแฟชั่นฉาบฉวยของงานประพันธ์ร่วมสมัยที่ถ้าอยากให้งานแลดูมีสาระ ก็ควรจะยัดเยียดข้อมูลประวัติศาสตร์อะไรลงไปสักหน่อยให้ดูมีภูมิ ต่อให้มันจะไม่ได้มีบทบาทอะไรโดยตรงกับตัวเรื่องเลยก็ตาม แม้แต่ชะตากรรมของ ‘จิตรสไว’ ที่เลือกเส้นทางชีวิตเป็นนาวิกโยธินและอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏก็ถูกเล่าแต่เพียงไกล ๆ จนไม่เห็นถึงมิติทางการเมืองที่ส่งผลต่อครอบครัวนี้มากนัก หมุดหลักเชิงประวัติศาสตร์ทั้งหลายใน พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ จึงดูเป็นเพียงส่วนประดับตัวเรื่องราวให้ดูมีสาระน่าเชื่อด้วยรายละเอียดแห่งยุคสมัย ทว่าไม่ได้ลงรายละเอียดใด ๆ ให้เห็นแง่มุมที่กระทบต่อตัวละครอย่างจริงจัง
ภาพรวมของนวนิยายทั้งเรื่องใน พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ จึงนำเสนอออกมาคล้ายภาพ panorama แสดงใบหน้าตัวละครต่าง ๆ นานาที่สลับกันมามีบทบาทต่อเรื่องราวกันอย่างละลาน ซึ่งก็ยังสามารถสื่อสารรายละเอียดด้านวัฒนธรรมของการเป็นชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยได้อย่างดี แต่ส่วนที่น่าเสียดายก็คือ วีรพร นิติประภา กลับไม่ใคร่จะละเมียดกับรายละเอียดของตัวละครสักเท่าไหร่ เนื้อหาโดยมากจะบอกเล่าเพียงว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับใคร ทว่าไม่ได้ใส่ใจจะตีแผ่อารมณ์เบื้องลึกข้างในว่าตัวละครกำลังระทมเพียงไหนกับสิ่งที่เกิดขึ้น นวนิยายเรื่องนี้จึงคลาคล่ำไปด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย เกิดโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายกับตัวละครในระดับน่าใจหาย แต่คนอ่านอาจกลับไม่ได้รู้สึกอะไรร่วมไปกับพวกเขาได้เลย
ความรู้สึกหลังอ่าน พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ จึงคล้ายการดูหนังเงียบขาวดำไร้เสียงที่เห็นเหตุการณ์ drama ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย จนตัวละครต้องโหวกเหวกโวยวายด้วยบทสนทนาที่ต้องอ่านผ่านตัวอักษรบรรยาย ทว่าเรากลับไม่ได้สัมผัสน้ำเสียงหรืออารมณ์ที่แท้จริงผ่านการแสดงอันออกจะเยอะล้นสักเท่าไหร่ หนำซ้ำตัวละครบางรายก็โผล่มาเพียงเพื่อที่จะจากไป ไม่ได้รับการพัฒนาบทบาทใด ๆ ปล่อยให้ตัวละครใหม่ ๆ ที่ทยอยปรากฏออกมาแม้กระทั่งในบทท้าย ๆ รับไม้ในการสร้าง drama ใหม่ ๆ แทน
แต่ไม่ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร หากคณะกรรมการยังต้องการให้ ‘ซีไรต์’ คู่ควรกับวรรณกรรมที่ ‘แลดู(เหมือนจะ)’ มีสาระ พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ก็ดูจะเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างจะปลอดภัย ต่อให้มันจะเป็นงานที่ยังสามารถลึกซึ้งและเข้มข้นได้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้อีกหลายเท่า โดยไม่ต้องเอาคำกล่าวอ้างว่าเรื่องทั้งหมดอาจเป็นเพียงความทรงจำของมนุษย์หรือแมวกุหลาบดำที่พร่ามัวและเลือนลางมาเป็นข้อแก้ต่าง เพราะไม่อย่างนั้นก็คงจะตั้งคำถามกลับได้ว่าแล้วจะเลือกเล่าด้วยมุมมองนี้ไปทำไม ถ้ายังอยากให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครเหล่านี้อยู่?
‘หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา’ โดย อุรุดา โควินท์
ข้อสันนิษฐานที่ว่า ‘ซีไรต์’ เป็นรางวัลที่เปิดกว้างอ้าแขนต้อนรับวรรณกรรมในทุก ๆ ลักษณะแนว ดูจะได้รับการตอกย้ำชัดมากยิ่งขึ้นเมื่อนวนิยายรักเรื่อง หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ของ อุรุดา โควินท์ ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาชิงชัยร่วมกับผลงานเรื่องอื่น ๆ ด้วย แต่การเป็นนิยายรักขมอมหวานเพียงอย่างเดียวคงมิใช่ปัจจัยที่นำพา หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา มาถึงรอบนี้ได้ เพราะตัวละครหลักของเรื่องราวช่างบังเอิญเป็นนักเขียนหญิงผู้มีนามว่า ‘อุรุดา โควินท์’ ที่ตัดสินใจทิ้งทุกอย่างเพื่อโยกย้ายไปอยู่กินกับนักเขียนซีไรต์ผู้จากไปซึ่งบังเอิญมีนามกรว่า ‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ ณ สถานที่ที่บังเอิญได้รับการขนานนามว่า ‘หุบเขาฝนโปรยไพร’ แห่งเชิงเขาหลวง อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช กับอีกหลากหลายความบังเอิญที่ชวนให้ต้องกังขาว่า หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา เป็นนวนิยายหรืออนุทินบันทึกความรู้สึกส่วนตัวของผู้ประพันธ์กันแน่ ค่าที่มันช่างตรงพ้องกับสิ่งที่เคยขึ้นจริง ๆ อย่างไม่น่าจะบังเอิญ!
ทั้งหมดนี้ก็นับเป็นอีกหนึ่งมายาแห่งจินตนาการในโลกของเรื่องแต่งที่สามารถกลั่นแกล้งวิ่งชนตัวตนของบุคคลที่เคยมีชีวิตอยู่จริง ซึ่งผู้ประพันธ์ก็มีกวียานุโลมที่จะถ่ายทอดเหตุการณ์ที่ดำเนินไปให้ เหมือน คล้าย หรือแตกต่างจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง ๆ ได้ตามอำเภอใจ และสามารถทำให้มันออกมาคล้ายงานสารคดีหรือบทบันทึกอย่างไรก็ได้ด้วยอิสรภาพในการถ่ายทอดผ่านลีลาวรรณกรรมของผู้ประพันธ์เอง
เอาเป็นว่าถ้าจะจงใจลืมหรือไม่แยแสใส่ใจว่า ‘อุรุดา’ กับ ‘กนกพงศ์’ ใน หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา กับ อุรุดา กับ กนกพงศ์ ในชีวิตจริงมีความเกี่ยวพันกันหรือไม่ประการใด นวนิยายเรื่องนี้ก็ยังคงมีเนื้อหาสาระที่ถ่ายทอดได้ว่าคู่รักนักเขียนต่างแนวทางที่ตัดสินใจร่วมกันสร้างนิวาสถานเพื่อสร้างสรรค์งานกลางดงป่าดงเขา ต้องพบเจอกับอุปสรรคทางใจประการใดบ้าง และความรักความสัมพันธ์ของพวกเขาต้องเจอกับแบบทดสอบใด ทั้งในฐานะของการเป็นคู่รักและเพื่อนร่วมอาชีพที่ต้องอาศัยพลังจากแรงบันดาลใจในการสร้างงาน ถ้าหากมองเพียงมุมนี้ หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ก็ถือได้ว่าถ่ายทอดออกมาได้อย่างละเอียดลึกและจริงใจ แม้ว่าตัวละครหลักอย่างนักเขียนหญิงนาม ‘อุรุดา โควินท์’ จะบอกเล่าเรื่องราวด้วยท่าทีที่หมกมุ่นและมั่นอกมั่นใจ คำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองในแต่ละห้วงเวลาเป็นใหญ่ ทว่าเรากลับไม่ได้รู้สึกหมั่นไส้จนพาลไม่อยากติดตามเรื่องราว ผลงานเล่มนี้จึงยังมีแก่นสารที่ต้องการเล่าถึงชีวิตของการเป็นนักเขียนว่าพวกเขามีพฤติกรรม อุดมการณ์ และจุดอ่อนสำคัญอันน่ารำคาญประการใด ชนิดที่ต่อให้เปลี่ยนชื่อตัวละคร สถานที่ และชื่อผลงานต่าง ๆ ไปทั้งหมด ผู้อ่านก็คงจะยังได้รับสารเหล่านี้อยู่ดี โดยไม่ต้องมีชื่อ กนกพงศ์-อุรุดา มาเป็นสิ่งชูรสชูโรง
ด้วยเนื้อหาการเล่าที่ค่อนข้างจะแตกต่างของ หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ทำให้นวนิยายเล่มนี้เป็นงานที่เรียกว่าอ่านง่ายและเพลินได้มากที่สุดในบรรดาที่เข้ารอบสุดท้ายด้วยกันมา แต่แก่นสารสาระและลีลาคาบลูกคาบดอกระหว่างโลกจริงลวงอันยียวนของมันจะมีพลังเพียงพอที่จะนำพาให้ถึงเส้นชัยได้หรือไม่ ก็คงต้องเอาไว้ลุ้นกันดูกับ(ว่าที่)คู่รักซีไรต์ในจินตนาการผ่านนวนิยายที่คล้ายจะเป็นเรื่องจริงเล่มนี้
อีกไม่นานเราจะสูญหาย’ โดย อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
นักเขียนอีกรายนอกเหนือจาก กิตติศักดิ์ คเชนทร์ ที่มีผลงานประพันธ์เล่มแรกเข้าสู่รอบสุดท้ายในปีนี้ก็คือ อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ทายาทของกวีซีไรต์ อังคาร กัลยาณพงศ์ นั่นเอง กับผลงานนวนิยายเล่มที่กะทัดรัดและสั้นที่สุดในบรรดาที่เข้ารอบสุดท้ายมา นั่นก็คือ อีกไม่นานเราจะสูญหาย ซึ่งถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นนิยายขนาดย่อม แต่ดีกรีความหม่นมืดชวนหดหู่ของมันกลับไม่ได้ย่อมตาม ด้วยเนื้อหาที่สะท้อนความดำมืดชวนสิ้นหวังของมนุษย์ร่วมสมัย ที่แม้การเล่าจะค่อนข้างออกไปในทางเกินจริงแบบ larger than life หากกลับสะท้อนอะไรหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นจริงในโลกมนุษย์ยุคปัจจุบัน
อีกไม่นานเราจะสูญหาย เล่าเรื่องราวของ ‘ชินตา’ สาวมั่นอารมณ์ศิลป์ที่รับหน้าที่เป็นผู้จัดการแกลเลอรีศิลปะดูบัวส์ เธอมีความหลังกับเพื่อนบ้านชายวัยเด็กนาม ‘จอม’ ผู้เคยก่อคดีสะเทือนขวัญสังหารมารดาแล้วเอาเนื้อมาทำสเต็กบังคับให้บิดาและ ‘ชินตา’ กินหลังแอบไปเห็นเข้า เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ‘จอม’ ก็กลับมาชวน ‘ชินตา’ ร่วมกันเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ในครั้งนั้น พร้อมเตรียมออกสื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างกระแสความสนใจเป็นหนทางสร้างรายได้จากเรื่องราวพิสดารที่น้อยคนนักจะมีโอกาสเผชิญ ในขณะที่ ‘ชินตา’ ก็มีปัญหากับมารดาตัวเองที่เริ่มจะมีอาการเพี้ยนบ้าฟั่นเฟือน จนทำให้ ‘โช’ น้องชายของ ‘ชินตา’ ผู้ทำหน้าที่ดูแลเกิดคลุ้มคลั่งจนก่อเหตุโศกนาฏกรรม หลังจากนั้นชีวิตของ ‘ชินตา’ ก็เข้าสู่ภาวะดำมืด แม้เธอจะมี ‘เชน’ แฟนหนุ่มปลอดพันธะคอยปลอบประโลมจิตใจ แต่ก็เหมือนจะไม่สามารถเยียวยาอะไรได้ นำไปสู่ความหายนะที่สิ้นหวังจนยากจะพบเจอโอกาสที่จะกลับมามีชีวิตที่ดีได้อีกครั้ง
เห็นได้ชัดว่า อีกไม่นานเราจะสูญหาย เป็นนวนิยายที่ตั้งใจขายความดิบแรงของเนื้อหาเพื่อศึกษาว่ามนุษย์จะสามารถดำดิ่งไปสู่ห้วงเหวแห่งความชั่วเลวได้ถึงระดับไหน โดยปล่อยให้ตัวละครพบเจอกับชะตากรรมอันแสนเลวร้าย ท้าทายให้พวกเขาต้องรับมือในสภาพจิตใจที่ใกล้จะขาดผึงเต็มที ชวนให้นึกถึงนวนิยายของนักเขียนสตรีที่มีบรรยากาศคล้าย ๆ กันอย่าง การล่มสลายของสถาบันครอบครัวที่ความรักไม่อาจเยียวยา ของ อรุณวดี อรุณมาศ หรือ รักในรอยบาป ของ ‘เงาจันทร์’
เรื่องราวของนวนิยายบอกเล่าผ่านมุมมองของ ‘ชินตา’ เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีการสลับให้ ‘โช’ และบิดาของ ‘ชินตา’ มีโอกาสได้มาระบายต้นตอของปัญหาผ่านมุมมองของตัวละครอื่นในบางบทได้อย่างน่าพิศวงดี แต่ถึงแม้ว่าเนื้อหาเรื่องราวใน อีกไม่นานเราจะสูญหาย จะโหดร้ายจนชวนช็อคและมืดมนอนธกาลเพียงไหน อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ก็ยังรักษาน้ำเสียงการเล่าในแบบนิ่งเนิบค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีเค้ารอยของความพยายามที่จะสร้างความตระหนกตกใจให้ผู้อ่านในแบบตื้นเขินเลย วิธีการเล่าลักษณะนี้ทำให้การถ่ายทอดของ อีกไม่นานเราจะสูญหาย ดำเนินไปด้วยความจริงใจ เปิดโอกาสให้เราได้สำรวจปมปัญหาสุดหยั่งถึงของเหล่าตัวละครผู้อาภัพเหล่านี้อย่างใกล้ชิด จะมีส่วนที่ติดใจอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นช่วงตอนที่เน้นบรรยากาศหายนะแบบ Sci-Fi ด้วย Black Hole Sky (BHS) กับการมาถึงของ Doomsday 2023 (DD23X) ที่ดูจะยังไม่ได้รับการพัฒนาให้มีนัยยะที่ลุ่มลึกสักเท่าไหร่ ช่วงตอนที่ตัวละครติดอยู่ในสิงคโปร์ จึงคล้าย ๆ เรื่องกำลังหลงทางและไม่ได้สร้างความหมายใด ๆ กับชะตาชีวิตของตัวละครหลักตามที่ได้ตั้งต้นไว้เท่าที่ควร
ด้วยเนื้อหาที่ดิบมืดจนแทบจะสิ้นไร้ความหวังใด ๆ ก็ชวนให้ไม่ใคร่แน่ใจว่า อีกไม่นานเราจะสูญหาย จะมีโอกาสชนะใจคณะกรรมการจนวิ่งเข้าเส้นชัยได้มากน้อยแค่ไหน เพราะดู ๆ แล้วงานประพันธ์เนื้อหาเชิงลบหลาย ๆ เรื่องก็มักจะประสบความสำเร็จบนเวทีซีไรต์ได้ด้วยการผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย เหมือนจะเป็นการให้กำลังใจว่าต่อให้เนื้อหาอาจจะไม่ได้เข้าข่ายสร้างสรรค์จรรโลงตามแบบแผนนิยมสักเท่าไหร่ แต่ถ้าฝีไม้ลายมือถึงจริง ๆ ก็ควรค่าแก่การได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรม shortlist ซีไรต์ที่ยังคงความน่าอ่านอีกเล่มหนึ่ง
ในภาพรวมแล้วนวนิยายที่เข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้ต่างก็มีเนื้อหาลีลาความโดดเด่นและอ่อนด้อยที่แตกต่างหลากหลายกันไป จนไม่ถึงกับเห็น ‘ตัวเต็ง’ ที่เด่นชัดนัก และแม้ว่าจะพอแบ่งกลุ่มเล่มที่มีความ ‘เป็นไปได้’ และเล่มที่ต้อง ‘ลุ้นแบบมีเงื่อนไข’ ดังที่ได้อรรถาธิบายไป ทว่าสุดท้ายก็เดาใจคณะกรรมการได้ยากอยู่เหมือนกันว่าจะให้ความสำคัญกับเกณฑ์สมมติข้อใดมากที่สุด อย่างไรก็ดีในเชิงคุณภาพแล้วนวนิยายทั้ง ๘ เรื่องที่ได้สรุปเล่ามาก็ถือเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยที่ล้วนมีคุณค่าน่าอ่านในตัวเองในระดับที่เหมาะควรจะผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย ไม่ถึงกับมีเล่มใดที่ค้านสายตาถึงขั้นต้องตั้งกระทู้ถามว่า ‘เข้ารอบมาได้อย่างไร’ เหมือนในปีอื่น ๆ ซึ่งก็คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วเล่มไหนจะเข้าสู่เส้นชัย ในวันประกาศผลรางวัลที่กำลังใกล้เข้ามาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้