สรุปการเสวนาในหัวข้อ “งานวิจารณ์บนโลกไซเบอร์: พื้นที่ทางเลือกแห่งการวิจารณ์ละคร”

 

สรุปการเสวนาในหัวข้อ “งานวิจารณ์บนโลกไซเบอร์: พื้นที่ทางเลือกแห่งการวิจารณ์ละคร”

 

ภัทร ด่านอุตรา เรียบเรียง

 

เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ที่โรงละครสมมติเพลย์เฮ้าส์ ชั้นสองของร้านสังคมนิยม บนถนนพระอาทิตย์ ทางโครงการวิจัยการวิจารณ์ศิลปะฯ ได้ร่วมกันกับเครือข่ายละครกรุงเทพ จัดเสวนาในหัวข้อ”งานวิจารณ์บนโลกไซเบอร์:พื้นที่ทางเลือกแห่งการวิจารณ์ละคร”ขึ้น โดยมีอาจารย์วชิรกรณ์
อาจคุ้มวงษ์เป็นผู้ดำเนินรายการและถือเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงานเทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 10 นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่นำเอาคนที่เขียนบทวิจารณ์และข้อเขียนที่มีลักษณะเชิงวิจารณ์บนสื่อทางเลือกอย่างอินเทอร์เน็ตมาถึงสามท่านมาพูดคุยในที่สาธารณะ ซึ่งได้แก่

คุณณัฐพัชญ์ วงศ์เหรียญทอง หนึ่งในนักวิจารณ์ละครเวทีที่ทำอย่างเป็นอาชีพไม่กี่คนในประเทศไทย เจ้าของคอลัมน์วิจารณ์ละครเวทีของนิตยสาร a day และเจ้าของนามปากกา “surviorx” ในเว็บpantip.com ก่อนที่ผันมาเปิดพื้นที่ของตัวเองในเว็บวิจารณ์หนังและละคร www.barkandbite.net

คุณศรชัย ฉัตรวิริยะชัย วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตที่ผันตัวมาเป็นมหาบัณฑิตทางศิลปะการละคร เจ้าของเฟซบุ๊ก log-in ว่า sonny.chatwiriyachai ที่ปัจจุบันมักร่วมงานกิจกรรมละครเพื่อการพัฒนากับกลุ่มละครต่างๆ รวมถึงเป็นผู้จัดเองด้วยบางครั้ง คุณศรชัยได้ออกตัวว่าไม่นับว่าตนเองเป็นนักวิจารณ์ เป็นเพียงแต่เป็นผู้ที่อยากเขียนเรื่องราวและความรู้สึกของตนที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อทางด้านละครเวทีเพื่อสื่อสารกับผู้คนที่สนใจ

คุณพงศ์พันธ์ ประภาศิริลักษณ์ เจ้าของนามปากกา “king lear” ในเว็บpantip.com ที่ผันตัวมาใช้พื้นที่ที่เป็นสาธารณะน้อยลงอย่างเวบล็อก และทางเฟซบุ๊ก เช่นกัน อดีตสมาชิกของสถาบันศิลปะเพื่อการพัฒนา(มายา)ที่ออกตัวว่าใช้พื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตเพื่อการแลกเปลี่ยนความคิดมากกว่าเป็นงานวิจารณ์เต็มรูปแบบผู้นี้มักจะเปิดโลกการละครเพลงและละครพูดในต่างประเทศให้ได้อ่านกันบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่ได้งดที่จะเขียนถึงงานละครภายในประเทศ  หากการแสดงเรื่องนั้นทำให้เกิดความอยากเขียนถึง ปัจจุบันคุณ
พงศ์พันธ์มีอาชีพหลักเป็นพนักงานบริษัทการตลาดและสื่อประชาสัมพันธ์

 

ปริมาณเยอะขึ้น โอกาสมากขึ้น = ดีขึ้น?

โดยภาพรวมแล้วทั้งสามท่านมองว่า ถ้าเทียบกับช่วงแรกที่เพิ่งเริ่มดูละคร หรือเพิ่งเริ่มเขียนเกี่ยวกับละครเมื่อสิบกว่าปีก่อนเป็นต้นมา ปัจจุบันปริมาณละครเวทีที่มีให้ดูกันมากกว่าเดิมมาก ส่งผลให้มีงานวิจารณ์หรืองานเขียนที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับละครมากขึ้นตามไปด้วย

“แต่ก่อนคนที่เขียนบทวิจารณ์ละครเวทีอยู่อย่างสม่ำเสมอก็มีแต่อาจารย์เจตนา (นาควัชระ) งานเขียนของท่านจึงเปรียบเสมือนโอเอซิสกลางทะเลทราย และงานละครก็มักจะวนเวียนอยู่แต่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย” คุณพงศ์พันธ์กล่าว “แต่สิ่งที่น่าสนใจของยุคก่อนก็คือ มักจะมีการเสวนาหลังการแสดงรอบบ่ายวันอาทิตย์กันอยู่เสมอ และคนที่มาร่วมเสวนาและเข้าฟังก็มักจะมาจากหลากหลายสาขา เช่น ที่จำได้ดีรอบหนึ่งผู้หลักผู้ใหญ่อย่าง ส. ศิวรักษ์ก็มาร่วมวงเสวนา”

“สมัยก่อนคนในวงการมีอยู่จำนวนจำกัด ทั้งคนทำและคนเขียนวิจารณ์มักรู้จักกันหมด เรียกได้ว่าตามตัวกันได้ถึงที่บ้าน บรรยากาศการวิจารณ์ก็มักเป็นไปอย่างเกรงใจกัน ที่จะออกรสหน่อยก็ตอนที่พูดคุยกันในกลุ่มที่ไปดูกันส่วนตัวหลังละครเลิก” คุณศรชัยกล่าวเสริม สำหรับเขาแล้วปัจจุบันจำนวนคนมากขึ้น ทำให้ช่องว่างระหว่างคนในวงกว้างมากขึ้น ทำให้สามารถเขียนได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองท่านก็มีความเห็นสอดคล้องว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์ของคนไทยกำลังเปลี่ยนไป ทั้งคู่มองว่าสังคมไทยมีรากของการวิจารณ์บ้างอยู่แล้ว ในแบบของรากไทย ส่วนหนึ่งก็อยู่ในรูปแบบของมุขปาฐะ ไม่ว่าจะเป็น เพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง เสภา หรือไปอยู่ในลวดลายปูนปั้นตามวัดวา เช่น รูปปั้นแซวการเมืองที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จ. เพชรบุรี แม้ว่าคนรุ่นเก่าอาจจะไม่คุ้นชินกับการวิจารณ์แบบลายลักษณ์ตามแนวทางตะวันตก แต่คนรุ่นใหม่ก็เติมโตมากับบรรยากาศใหม่ๆ ยิ่งมีเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆต่างๆจากตะวันตกเข้ามามากมายก็ต้องส่งผลให้คนรุ่นใหม่มีพฤติกรรมการวิจารณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย

สำหรับคุณศรชัยแล้ว สื่ออินเทอร์เน็ตทำให้เกิดตัวช่วยเพิ่มช่องทางในการสร้างบรรยากาศในการวิจารณ์มากขึ้น อีกทั้งคนทำละครเองก็อาศัยสื่อเหล่านี้เพื่อการประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเอง แต่เขาก็ตั้งคำถามว่าจากที่มีปริมาณงานวิจารณ์มากขึ้น ได้มีคนรับฟังหรือพยายามให้ความสำคัญกับงานเหล่านี้มากขึ้นตามไปด้วยหรือไม่

สำหรับผู้ที่เขียนงานวิจารณ์ละครเวทีในภาคภาษาไทยที่ผลิตผลงานมากที่สุดอย่างคุณ
ณัฐพัชญ์ เขาเชื่อว่างานวิจารณ์ละครเวทีที่ผลิตกันในปัจจุบันนี้ แม้ว่าจะมีทั้งที่มีคุณภาพและไม่มีคุณภาพ แต่ก็มีผลกระทบในวงกว้างไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็เคยพบนักศึกษาคนหนึ่งที่เข้ามาพูดคุยว่าได้ตัดสินใจเรียนศิลปะการละครส่วนหนึ่งเป็นเพราะอ่านงานเขียนของตนเอง นอกจากนี้นอกเหนือไปจากตัวศิลปินแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจะได้ประโยชน์จากงานวิจารณ์มากที่สุดก็คือกลุ่มคนดู เพราะสามารถเอาเนื้อหาจากข้อเขียนไปย่อยเพื่อประโยชน์ในการบริโภคละครของตนเองได้ เมื่อการวิจารณ์สามารถช่วยสร้างฐานของคนดูได้แล้ว ประกอบกับมีนักวิจารณ์และศิลปินที่มีคุณภาพ ก็จะเกิดพลวัตที่ครบถ้วนของวัฒนธรรมละครเวทีที่ยั่งยืนได้

ซึ่งต่อมุมมองเรื่องบทบาทของงานวิจารณ์นี้ คุณศรชัยได้เสริมว่า แม้ว่าโดยลำพังบทวิจารณ์แต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ก็สามารถเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสร้างผลกระทบต่อวัฒนธรรมการละครได้

 

สื่ออินเทอร์เน็ตกับสื่อสิ่งพิมพ์: ความแตกต่างที่ยังคงคล้ายคลึง

โดยเบื้องต้นทั้งสามคนมองว่าการเขียนบนสื่อดั้งเดิมอย่างสิ่งพิมพ์กับสื่อสมัยใหม่อย่างอินเทอร์เน็ตนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในด้านพฤติกรรมการอ่านและสุนทรียะที่ได้รับ   ซึ่งคุณณัฐพัชญ์ได้สรุปไว้ว่า ประการแรกคือความยาว บนสื่ออินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่มักไม่สามารถเขียนอะไรยาวๆได้มากนักเหมือนกับสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะจะมีสิ่งต่างๆมากมายเข้ามาแย่งความสนใจ เช่นตัว pop-up เตือนบอกว่ามีข้อความเข้าจากระบบจดหมายออนไลน์ต่างๆ ประการต่อมาก็คือเสรีภาพในการเขียน ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์จะมีความยาวของหน้ากระดาษที่ได้รับ และบรรณาธิกรที่คอยปรับแต่ง รวมถึงเซ็นเซอร์ข้อความต่างๆ แต่บนอินเทอร์เน็ต ผู้เขียนสามารถเขียนอะไรก็ได้ รวมไปถึงการจัดแต่งรูปร่างหน้าตาบทความ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีโปรแกรมเสริมออกมามากมายที่จะช่วยนักเขียนให้ออกแบบหน้าเว็บของตนเองได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเขียนบนสื่ออินเทอร์เน็ตเหมือนกัน แต่หากเป็นการเขียนบนคนละช่องทาง ก็ยังต้องมีวิธีการปรับแต่งเนื้อหาและภาษาสำนวนให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่อีกด้วย เช่นเมื่อเขียนบนเว็บที่มีคนเข้ามาอ่านมากประหนึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะอย่าง pantip.com ผู้เขียนก็ต้องเลือกประเด็นและคำที่จำกัดบ้าง ในขณะที่สามารถเขียนได้อย่างที่ใจต้องการมากกว่าบนพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวบ้างอย่าง
เฟซบุ๊ก ซึ่งแม้แต่บทความเดียวกัน แต่เมื่อย้ายพื้นที่ที่จะลง ก็ต้องมีการปรับแต่งบทความให้เข้ากันกับสนามใหม่ด้วย

กระบวนการขัดเกลาผลงานตัวเองนี้ คุณพงศ์พันธ์ใช้คำว่า “เป็นบรรณาธิกรให้กับตัวเอง” เพราะมองว่า ตนต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่พิมพ์ออกไป ซึ่งคุณศรชัยอธิบายเสริมว่า สำหรับเขาเองก็ปฏิเสธที่จะใช้พื้นที่ที่เป็นสาธารณะมากๆ อย่าง pantip.com เพราะเขาไม่คิดว่าข้อเขียนของเขาจะเหมาะกับกลุ่มผู้อ่านในวงกว้าง แต่เหมาะกับเฉพาะกลุ่มมากกว่า

 

เมื่อโอกาสกลายเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์และการตลาด

ในด้านของคนอ่าน ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างสื่ออินเทอร์เน็ตกับสื่อสิ่งพิมพ์ก็คือการเปิดโอกาสให้คนอ่านเข้ามามีปฏิสัมพันธ์แสดงความคิดเห็นตอบ คุณณัฐพัชญ์บอกว่าในฐานะที่เป็นคนที่งานเขียนชุก ปฏิกิริยาเชิงลบก็พุ่งเข้ามาหาตัวเขามาก ซึ่งก็ต้องกลั่นกรองเหมือนกันว่าจะเลือกรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์  คุณพงศ์พันธ์วิเคราะห์ว่าบางครั้งจะอ่านความคิดเห็นจากผู้อ่านเหล่านี้เพียงแต่ใช้การวิเคราะห์ในระดับตามความหมายตัวอักษร (textual analysis) อย่างเดียวจะไม่เพียงพอ ต้องมองไปถึงเบื้องหลังเบื้องลึกของของแต่ละข้อความด้วย (subtextual analysis) เนื่องจากเราไม่ได้รู้ตัวตนจริงของผู้เขียน จึงอาจมีเจตนาแฝงของการเขียนได้

คุณณัฐพัชญ์ยังมองอีกว่าอินเทอร์เน็ตกำลังถูกกลายเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมความรุนแรงที่สั่งสมขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน เนื่องจากผู้ที่เข้ามาเขียนสามารถดำรงสถานะความเป็นนิรนามได้ จึงกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในเชิงลบด้วยถ้อยคำที่รุนแรงได้ และเกิดปรากฏการณ์ที่ว่ามีคนอื่นเข้ามาร่วมวงตามกันเป็นกลุ่มใหญ่โดยไม่ได้ใช้เหตุผลในการอภิปราย แม้ว่าในสังคมอินเทอร์เน็ตของต่างประเทศก็มีพฤติกรรมเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน แต่ก็อยู่ในระดับจำกัด และมีการกลั่นกรองมากกว่า

สิ่งที่แย่อีกสิ่งที่กำลังเกิดก็คือ การแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ตได้สูญเสียข้อดีที่เป็นช่องทางในการแสดงพลังบริสุทธิ์ของผู้บริโภคไป เนื่องจากทางผู้ประกอบการทางธุรกิจกำลังพยายามเจาะช่องทางนี้ให้เป็นยุทธศาสตร์ทางการตลาดแฝง โดยมีการทาบทามจ้างให้นักวิจารณ์ออนไลน์ ที่มีชื่อเสียงเขียนสนับสนุนภาพยนตร์บางเรื่องผ่านเว็บไซต์ทั้งที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวและที่เป็นพื้นที่สาธารณะ  คุณ
ณัฐพัชญ์เองซึ่งเป็นนักวิจารณ์ที่เป็นที่รู้จักและมีคนติดตามผลงานของเขาในระดับหนึ่งก็เคยประสบกันเหตุการณ์นี้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ยังไม่นับประชาสัมพันธ์บริษัทภาพยนตร์บางเจ้าที่คุณณัฐพัชญ์อ้างว่ามี log-in ในเว็บไซต์ สาธารณะชื่อดังกว่าหลายสิบรายชื่อเพื่อใช้โฆษณาภาพยนตร์ในเครือซึ่งกลยุทธ์นี้รู้จักกันดีในชื่อว่า’seeding’ ซึ่งยังไม่มีใครสามารถควบคุมกลวิธีการปั่นกระแสเหล่านี้ได้

ที่น่ากังวลก็คือ แม้ว่าจะมีผู้บริโภคสื่ออินเทอร์เน็ตอยู่จำนวนหนึ่งทราบดีถึงเล่ห์เหลี่ยมในแวดวงอินเทอร์เน็ต แต่คนอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบ สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณณัฐพัชญ์ถึงกับตั้งคำถามว่าสังคมไทยมีวุฒิภาวะแค่ไหนและมีมาตรการอะไรบ้างในการควบคุมดูแลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยด้วยกันเอง

แต่สังคมการวิจารณ์ละครเวทีในอินเทอร์เน็ตก็มิใช่จะมีแง่ลบ คุณพงศ์พันธ์เล่าว่าเขาเองก็เคยได้เพื่อนจากการแสดงความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ต ภายหลังจากที่เขาเขียนเกี่ยวกับเรื่องภาพยนตร์ครบรอบ 25 ปีของละครเพลง “Phantom of the Opera” มีคนอ่านเข้ามาคุยกันต่อจากบทความของตน แล้วกลายเป็นกลุ่มร่วมกันพบปะ หรือกิจกรรมในภายหลัง เนื่องจากพบว่าเป็นกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเฉพาะเหมือนกัน มีการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับละครเรื่องนี้เรื่อยมา

 

อนาคตการวิจารณ์

ท่ามกลางปริมาณงานวิจารณ์ละครเวทีและศิลปะการแสดงอื่นๆที่มีมากขึ้น พร้อมๆไปกันกับรูปแบบสื่อที่มีความหลากหลายมากขึ้น และแฝงด้วยความซับซ้อนที่มากขึ้นตามไปด้วย ผู้ร่วมเสวนาทั้งสามท่านต่างให้ข้อคิดว่าตัวผู้เขียน ตัวศิลปิน รวมถึงตัวผู้บริโภค ต่างก็ต้องเรียนรู้วิธีที่จะใช้สอยและบริโภคงานวิจารณ์ในยุคใหม่นี้ด้วย

สำหรับคนที่ใช้และเสพสื่ออินเทอร์เน็ตเป็นหลักอย่างคุณณัฐพัชญ์แล้ว เขากล่าวทิ้งท้ายการเสวนาด้วยการย้อนกลับไปย้ำประเด็นที่เขาเป็นห่วง โดยได้ให้คำแนะนำไว้ว่าอินเทอร์เน็ตก็เหมือนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เป็นเพียงแค่พาหนะ จะขับไปส่งที่ไหน ดีปลอดภัยหรือไม่อย่างไรขึ้นอยู่กับผู้ขับ ปัจจุบันกำลังมีผู้บริโภคสื่ออินเทอร์เน็ตจำนวนมากบริโภคสื่อนี้อย่างไร้สติ จนถึงกับแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรคือโลกเสมือนจริง และอะไรคือโลกจริงๆ บางรายถึงกับเข้าใจผิดว่าข้อมูลจากโลกเสมือนจริงนั้นจริงกว่าข้อมูลที่มาจากโลกจริงๆ เสียอีก และที่น่าเป็นห่วงมากกว่าก็คือเยาวชนรุ่นใหม่กำลังมีทัศนคติว่าอินเทอร์เน็ต เป็นพื้นที่ที่ฉันสามารถเขียนแสดงออกอะไรลงไปก็ได้  เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ส่วนตัวของฉัน เพราะฉะนั้นฉันก็สามารถเขียนวิจารณ์อะไรก็ได้ลงไปในนั้น ซึ่งเขาขอย้ำกับตั้งคำถามในประเด็นนี้ว่าจริงหรือไม่  

สำหรับผู้ที่แวะเวียนแวดวงละครเวทีมาสิบกว่าปีอย่างคุณพงศ์พันธ์ เขาฝากไว้ว่าสื่องานวิจารณ์ในยุคใหม่จะมีส่วนที่ทำให้ผู้อ่านรู้จักตัวตนผู้เขียนได้ง่ายขึ้น ในทางกลับกันตัวงานก็จะฟ้องตัวตนของผู้เขียนเองได้ง่ายขึ้นอีกเช่นกัน  ใครที่ไม่ตั้งใจเขียนหรือไม่มีความจริงใจในการเขียนก็จะไม่ได้รับความน่าเชื่อถืออย่างรวดเร็วขึ้น และถึงแม้ว่าจะมีบางค่ายละครเวทีตามอย่างโลกตะวันตกที่มีการตัดเอาข้อความของนักวิจารณ์ไปเพียงบางประโยคที่เขียนชมเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของตนเอง แต่ผู้อ่านที่ฉลาดก็รู้ได้ว่าข้อความอันไหนคือของจริง  อันไหนคือของเทียม คุณพงศ์พันธ์เน้นถึงสิ่งที่อาจารย์เจตนาเคยพูดเมื่อหลายปีก่อนก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเป็นที่นิยมช่วงที่คนไทยพึ่งบัญญัติคำว่าโลกาภิวัตน์ใหม่ๆ อาจารย์เจตนาเตือนว่าคนไทยจำเป็นต้องช่วยเหลือตนเอง  เมื่อถึงยุคไหลบ่าของข่าวสาร ต้องใช้ปัญญาตัวเองคัดกรองข้อมูลอันไหนของแท้ อันไหนของปลอมในสื่อออนไลน์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสื่ออินเทอร์เน็ตก็ยังสามารถใช้อย่างให้มีประโยชน์ได้หากรู้วิธีใช้ ยกตัวอย่างเช่น ในอนาคตเราอาจจะเห็นการจัดเสวนาทันทีหลังละครเลิก โดยดึงคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกันมาร่วมได้ผ่านการพบปะทางไกลแบบ on-line conference

นักการละครที่สนใจเรื่องการพัฒนาจิตควบคู่กันไปด้วยอย่างคุณศรชัยได้กล่าวสรุปไว้ว่าไม่ว่าเราจะใช้สื่อใดก็ตาม ท้ายสุดแล้วการวิจารณ์ก็ยังคงเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล เขาบอกว่าจิตใจของมนุษย์นั้นสรุปรวมได้เพียงแค่สองแบบคือ ชอบใจ กับ ไม่ชอบใจ คล้ายกับที่ทางเฟซบุ๊กได้ถอดรหัสออกมาเป็นปุ่มสำหรับแสดงความรู้สึกชอบ (like) สำหรับเขาแล้ว การวิจารณ์เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึกคนไทยส่วนใหญ่มีพื้นฐานจากรากวัฒนธรรมเอเซียที่ความละเอียดอ่อนในความรู้สึก เราไม่เก่งที่จะแยกแยะความรู้สึกกับความคิดออกจากกัน เพราะฉะนั้นอันตรายของสื่อใหม่ประการหนึ่งก็คือมันอาจเป็นตัวกระตุ้นเร้าความรู้สึกในทางรุนแรงของคนไทย  โดยเขาได้ยกเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาที่ผู้นำฝูงชนมักจะใช้การเร่งเร้าความรู้สึกโดยลดทอนความสามารถในการใช้เหตุผลของคนออกไป อย่างไรก็ตาม คุณศรชัยคิดว่าภาระของนักวิจารณ์ที่จะต้องพยายามเสนอความคิดส่วนตัวของตนด้วยเหตุด้วยผลก็ยังจำเป็น และพยายามให้การวิจารณ์ของเขาเป็นการเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันให้มากที่สุด

“ซึ่งนี่เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะเราสามารถพูดแต่ปากว่า คนเราไม่จำเป็นต้องคิดเห็นตรงกัน  แต่เราก็ยังพูดคุยกันได้  แต่พอความรู้สึกไม่ชอบใจเกิดข้างใน กลายเป็นคุยกันไม่ได้เสียแล้ว” คุณศรชัยทิ้งประเด็น “พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา แต่การที่จะได้ปัญญาจากอะไร ด้วยวิธีไหน เป็นคำถามที่ปัจเจกชนแต่ละคนต้องแสวงหาคำตอบเอาเอง”

————————————-

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *