The Full Monty ผู้ชายยุคโพสต์-ไทแทนิค

The Full Monty

ผู้ชายยุคโพสต์-ไทแทนิค

 ประชา สุวีรานนท์

          ว่ากันว่า คติหนึ่งที่ทำให้ตำนาน ไทแทนิค” มีชีวิตยืนยาวมาถึงทุกวันนี้ คือคติที่ว่าผู้ชายต้องเป็นฝ่ายปกป้องผู้หญิงและเด็ก ในยามวิกฤตผู้ชายต้องเป็นฝ่ายเสียสละ ยอมจมน้ำตายไปกับเรือ ปล่อยให้ผู้หญิงและเด็กมีโอกาสเอาตัวรอดก่อนด้วยการขึ้นเรือเล็กและพายไปหาฝั่ง

เมื่อ The Full Monty เริ่มต้นขึ้นนั้น แกซ พระเอกของเรื่องกำลังขโมยเศษเหล็กจากโรงงานเก่าๆ เราจะรู้ในภายหลังว่าเขายอมทำอย่างนี้ก็เพื่อหาเงินมาส่งเสียลูกชาย แต่โชคไม่ดี ภารกิจนี้จบลงด้วยการที่แกซทำเหล็กตกลงไปในคู และตัวเขาต้องยืนเท้งเต้งอยู่กลางน้ำ ที่แย่ที่สุดก็คือ ลูกชายของเขาที่ขึ้นฝั่งได้แล้วนั้น แทนที่จะหันมาช่วยกลับเดินหนีไปอย่างไม่ไยดี

เปรียบเทียบกับแจ็ก ดอว์สัน พระเอกของหนังเรื่อง “ไทแทนิค” แกซออกจะเคราะห์ร้ายที่ไม่ได้ตายไปพร้อมกับหายนะของเรือยักษ์ ซึ่งในที่นี้ก็คือโรงงานเหล็กที่เคยรุ่งโรจน์ในเมืองเชฟฟิลด์ เขามีชีวิตอยู่ต่อมาจนได้เห็นการเติบโตของสังคมยุคใหม่ในอังกฤษที่เรียกกันว่ายุคหลังอุตสาหกรรม หรือยุค “โพสต์-อินดัสเทรียล” ในยุคนี้ อุตสาหกรรมขนาดหนักพากันล่มสลาย กิจการถลุงเหล็กยุติลงอย่างถาวร เขาเป็นหนึ่งในกรรมกรนับพันๆ ที่ตกงานกันทั้งเมือง

และในยุคนี้ ถึงแม้จะมีชีวิตรอด แต่การรักษาศักดิ์ศรีลูกผู้ชายเอาไว้กลายเป็นเรื่องยาก  นอกจากจะตกงานแล้ว แกซยังถูกดูถูกเหยียดหยามจากผู้หญิง เมียของเขาว่าจะไม่ให้สิทธิพบปะกับลูกชาย ถ้าไม่สามารถหาเงินมาส่งเป็นค่าเลี้ยงดูภายหลังการหย่าได้

แกซกลายเป็นผู้ชายยุค “โพสต์-ไทแทนิค” ยุคที่พระเอกแบบแจ็ค ดอว์สันสูญพันธุ์ไปแล้ว หรืออย่างที่เขาครวญกับเพื่อนคนงาน “…อีกไม่นาน โลกนี้จะมีผู้ชายเหลือไว้แต่ในสวนสัตว์เท่านั้น” บทบาทการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กกำลังหลุดลอยไปจากมือของเขา

เมื่อคณะระบำจ้ำบ๊ะชื่อชิปเปนเดลเข้ามาแสดงในเมืองเชฟฟิลด์ แกซต้องตกใจที่ได้พบว่า ผู้หญิงพร้อมใจกันจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อจะได้ดูผู้ชายแก้ผ้า ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแอบเข้าไปในไนต์คลับที่เปิดการแสดง เขาต้องตกตะลึงที่ได้เห็นผู้ชมสาวๆ ที่เขารู้จักกำลังโห่ร้องต้อนรับการแสดงกันอย่างสนุกสนาน รวมทั้งแสดงความเก่งกล้าด้วยการยืนฉี่อย่างผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม คนฉลาดอย่างแกซหัวไวพอที่จะคิดได้ว่า ถ้าชิปเปนเดลได้รับการต้อนรับขนาดนั้น ทำไมเขาและเพื่อนกรรมกรที่ตกงานไม่รวมตัวกันตั้งคณะระบำเปลื้องผ้าขึ้นมาบ้าง

สิ่งที่แกซลืมไปก็คือ การเต้นระบำเปลื้องผ้านั้นน่าอับอายยิ่งกว่าการขายแซนด์วิช มันคือที่สุดของการเสียศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย เพราะเป็นการเอาร่างกายมาเปิดเผยในที่สาธารณะ  ในตอนกลางเรื่อง เมื่อสมาชิกคนหนึ่งในขณะของเขาบ่นเรื่องขนาดหน้าอกของนางแบบใน “คอสโมโพลิแทน” ทุกคนเงียบงันลงพร้อมกันเพราะรู้ตัวขึ้นมาว่า ถ้าขืนออกไปแก้ผ้าบนเวทีจริงๆ พวกเขาคงหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกสำรวจตรวจตราอย่างถี่ด้วนในแบบเดียวกัน

มิหนำซ้ำ ชายชาตรีกลุ่มนี้มิได้มีร่างกายอันงดงามน่ามองเหมือนนักระบำอาชีพกันเลยแม้แต่คนเดียว บางคนผอมกะหร่องเหมือนกุ้งแก้ง บางคนอ้วนจ่ำม่ำ ส่วนบางทนที่สามารถเต้นระบำได้บ้างนั้นก็แก่เกินกว่าจะมาเปลือยกายให้ผู้หญิงดูแล้ว

ถึงจะไม่ได้เป็นเฟมินิสต์ คนดูก็คงรู้ว่า หนังกำลังเล่นอยู่กับการพิสูจน์ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย เพราะสำหรับกรรมกรกลุ่มนี้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว แกซต้องการพิสูจน์ว่าตนเองยังปกป้องคุ้มครองลูกของตนได้ ส่วนเจอรัลด์ อดีตโฟร์แมน หลีกเลี่ยงความอับอายเรื่องการตกงานด้วยการปิดบังไม่ให้เมียรู้มากว่าหกเดือนแล้ว

เมื่อแกซและเพื่อนจะทำการแก้ผ้ากันซึ่งถือกันว่าน่าบัดสี เขามีหน้ามาอ้างได้อย่างไรว่าทำไปเพื่อพิสูจน์ความเป็นชาย จะเห็นได้ว่าปัญหาของผู้ชายกลุ่มนี้เป็นความขัดแย้งในตัวเอง เพราะทางออกของเขาคือต้องทำสิ่งที่เขากำลังวิ่งหนีตลอดมา เพื่อรักษาศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย เขาต้องทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นชาย เพราะต้องการให้ลูกชายภูมิใจ เขาต้องทำสิ่งที่สร้างความพะอืดพะอมให้กับลูกชายอย่างที่สุด เนื้อหาสาระและมุกตลกทั้งที่ซึ้งๆ และทะลึ่งๆ ก็เกิดจากแรงตึงของความขัดแย้งในตัวเองที่แก้ไม่ได้อันนี้

ความน่าสนใจของ The Full Monty อยู่ตรงที่ว่า ระหว่างที่หนังสร้างความสนุกสนานและบันเทิงนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างเพศหญิงและชายและการสลับบทบาทกันไปมาจะถูกแสดงออกอย่างเป็นระบบและมีโครงสร้าง ยิ่งไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ที่ว่านี้จะเป็นสิ่งที่เข้ามาทำให้เกิดความคลี่คลายในเรื่องเล่าด้วย

ที่น่าสนใจที่สุด คือการที่ “ยามรักษาความปลอดภัย” ถูกชักนำเข้ามามีบทบาทต่อเนื้อเรื่อง หนังจะบอกเราแต่ต้นว่า แกซไม่ยอมไปทำงานเป็นยามรักษาความปลอดภัยในโรงงานที่เมียเก่าเขาทำอยู่ เหตุผลของแกซคือ อาชีพนี้ไม่ได้สร้างความภูมิใจให้แก่เขา เพราะมีแต่ใส่ “เครื่องแบบ” และเดินไปเดินมาโดยไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะในเชิงควบคุมหรือตรวจตราสอดส่องผู้อื่น จะว่าไปแล้ว ในยุคหลังอุตสาหกรรม ผู้ชายก็คล้ายกับยาม นั่นคือกลายเป็นเพียงหุ่นไล่กา ไม่น่าเคารพเลื่อมใสแต่อย่างใด

“เครื่องแบบ” ของยามรักษาความปลอดภัยช่วยเข้ามาแยกแยะคู่ขัดแย้งและทำให้เรามองเห็นว่า ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายประกอบขึ้นมาจากคุณค่า ๒ อย่าง คือคุณค่าที่อยู่ข้างในกับข้างนอก พูดง่ายๆ ว่า มีทั้งเนื้อแท้และเปลือกนอก  ชายที่มีศักดิ์ศรีลูกผู้ชายอย่างแท้จริง อันได้แก่กรรมกรโรงงานเหล็ก (ในโลกยุคอุตสาหกรรม) นั้นจะมีสองอย่าง ในขณะที่ยามจะมีศักดิ์ศรีแต่เพียงที่เปลือกนอก เนื้อแท้ <—> เปลือกนอก จึงกลายเป็นคู่ตรงข้ามที่มากำหนดความหมายของอาชีพทั้งสอง

ในขณะเดียวกัน คู่ตรงข้ามนี้ก็มากำหนดความหมายของ ยาม <—> นักเต้นระบำเปลื้องผ้า ด้วย เช่นทำให้เห็นว่าสองอาชีพนี้ขัดแย้งแตกต่างกันก็ตรงที่อาชีพแรกยังมีศักดิ์ศรีอยู่บ้าง (แม้จะเพียงเปลือกนอกก็ตาม) ส่วนอาชีพหลังนั้นไม่มีแม้กระทั่งเปลือกนอกมานุ่งห่มความเป็นชาย เราจึงได้คู่ตรงข้ามที่เป็น เปลือกนอก <—> ไม่มีเปลือกนอก

แต่ในขณะเดียวกัน การที่อาชีพยามมีบทบาทเชิงปฏิเสธกับนักเต้นระบำเปลื้องผ้า มันจึงมีบทบาทเผยให้เห็นว่า อาชีพอย่างหลังนี้ยังมีเนื้อแท้แต่ไม่มีเปลือกนอก ดังนั้น กรรมกรชายที่ตกงานและสูญเสียเปลือกนอกไปแล้วจึงมีจุดร่วมกับนักเต้นระบำตรงที่ยังมีเนื้อแท้ของความเป็นชาย

ในระบบความหมายที่มี “ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย” เป็นศูนย์กลางนั้น ตัวละครถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระบบพอที่จะจัดเป็นแผนผังสี่เหลี่ยมสัญศาสตร์แบบ เอ. เจ. เกรมาส ได้ดังนี้

แผนผังนี้บ่งบอกว่า อาชีพนักเต้นระบำเปลื้องผ้ามีศักดิ์ศรีความเป็นชายที่ใกล้เคียงกับอาชีพกรรมกรโรงงานเหล็กและเหนือกว่าอาชีพอื่นๆ  ถ้าจะถามว่าทำไม คงต้องหาคำตอบให้พบเสียก่อนว่าเนื้อแท้ของความเป็นชายนั้นคืออะไร การจะตอบคำถามนี้ เราอาจจะต้องกลับไปเริ่มต้นที่คุณสมบัติของยามรักษาความปลอดภัยได้อีก

การนำเอายามเข้ามาคือการชักนำเอาคุณสมบัติที่ตรงกันข้ามกับความเป็นผู้ชายที่สำคัญเข้ามาด้วย  คุณสมบัติอันนั้นก็คือ “ทักษะและความชำนาญ” จะเห็นได้ว่า กรรมกรในหนังเรื่องนี้ถือตัวว่ามีคุณสมบัติดังกล่าวและจะดูถูกงานแบบอื่นๆ เช่นยามรักษาความปลอดภัย

ความเย่อหยิ่งในทักษะ (แบบกรรมกรในยุคอุตสาหกรรม) ของผู้ชายกลุ่มนี้แสดงออกอยู่เป็นระยะ เช่น เมื่อเดฟ เพื่อนสนิทของแกซลองไปสมัครทำงานเป็นยามจริงๆ ก็ทนไม่ได้ ต้องหนีกลับมาร่วมกับพรรคพวกในคณะระบำเช่นเดิม หรือแม้แต่ในขณะที่ดูวิดีโอเรื่อง Flashdance (ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับกรรมกรโรงงานเหล็กที่อยากเป็นนักเต้นรำเช่นกัน) เดฟ (อีกเช่นกัน) อดไม่ได้ที่จะถากถางท่าทางการเชื่อมเหล็กของนางเอกหนังว่าดูไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย

แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า คุณสมบัติที่ “ไร้ทักษะ” แบบยามรักษาความปลอดภัยนั้นเป็นสิ่งที่หนังปลูกฝังไว้ในตัวละครผู้หญิงด้วย  คงจำกันได้ว่า สิ่งที่สร้างความหงุดหงิดแก่แกซไม่น้อยไปกว่าการตกงานก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า เมียของเขายังมีงานทำและมีบทบาทเป็นคนส่งเสียลูกชาย  เมียของแกซมีส่วนคล้ายยามในข้อที่ว่า แม้จะทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวได้ แต่ก็ไร้ซึ่งศักดิ์ศรี เพราะไม่มีทักษะและความชำนาญเช่นกรรมกรในยุคก่อน

ในสายตาของแกซ ทักษะคือศักดิ์ศรีแห่งความเป็นชาย และเป็นเครื่องหมายที่ทำให้ผู้ชายอยู่เหนือผู้หยิง  มองจากมุมนี้ อาชีพนักเต้นระบำเปลื้องผ้าจึงกลายเป็นอาชีพที่น่านับถือ เพราะกว่าจะทำอาชีพนี้ได้ ต้องผ่านการฝึกปรือมาอย่างดี ผู้ชายที่กลายเป็นนักเต้นระบำแบบนี้จึงลดความเสียศักดิ์ศรีลงได้เพราะมีศักดิ์ศรีอันใหม่มาทดแทน  แกซยินดีที่จะออกไปแก้ผ้ามากกว่าจะนั่งเย็บผ้า (หรือเป็นยาม) ในโรงงาน

ด้วยเหตุนี้เอง หนังเรื่องนี้จึงวนเวียนอยู่กับเรื่องของ “ทักษะ” และการสร้างความชำนาญใหม่ๆ อย่างมาก จะเห็นได้ว่าหนังไม่ได้เน้นการเปลือยกายในวันแสดงจริง แต่เน้นกระบวนการฝึกซ้อมก่อนหน้านั้น  ความตั้งอกตั้งใจและความทุลักทุเลในการสร้างทักษะใหม่กลายเป็นที่มาของมุขตลกและลูกฮามากมายไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่

คนดูจะพบว่าการถอดเสื้อผ้า โดยเฉพาะรองเท้าและเข็มขัดนั้นเป็นความยากลำบากอย่างคาดไม่ถึงและเรียกเสียงหัวเราะได้ตลอดเรื่อง

แม้กระทั่งในตอนท้ายเรื่อง เมื่อถูกจับขึ้นโรงพัก (ฐานบุกรุกเข้าไปใช้โรงงานเก่าเป็นที่ฝึกซ้อม) พวกเขาก็ยังไม่วายมารุมกันศึกษาท่าเต้นของตัวเองจากวิดีโอเทปที่ตำรวจเก็บจากโรงงานมาเป็นหลักฐานในการทำคดี  ทุกคนในหนังเรื่องนี้ดูจะลุมหลงกับทักษะและการเทรนนิ่งแบบใหม่เป็นอย่างมาก แม้แต่เจ้าหน้าที่บนโรงพักก็เข้ามาร่วมวงวิพากษ์วิจารณ์การฝึกซ้อมในเทปภาพ “อาชญากรรม” ม้วนนี้ด้วย  แกซกับเพื่อนปรับทักษะเก่าเข้ากับทักษะใหม่ได้เป็นอย่างดี การจัดแถวเต้นรำที่ว่ายากๆ นั้น เพียงบอกเสียแต่แรกว่าเหมือนกับลีลาสลับแถวของโทนี่ อดัมส์ซึ่งเล่นให้ทีมอาร์เซนอลเมื่อปีกลาย ทุกคนก็เข้าใจกันหมด

การถอดเปลือกนอก (เช่นเครื่องแบบของกรรมกรและยาม) ออกไป ไม่ได้ทำให้แกซเหลือแต่ร่างกายล่อนจ้อน ทักษะทำให้ “ร่างเปลือย” ของเขา กลายเป็น “เปลือกใหม่” ที่คู่ควรกับเนื้อแท้ของลูกผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขาบรรลุจุดมุ่งหมาย  ในบั้นปลาย เมื่อแกซและเพื่อนได้มีโอกาสทบทวนถึงเนื้อแท้ของศักดิ์ศรีที่เขาตั้งใจจะพิสูจน์มาตลอดนั่นแหละ เขาจึงจะออกไปประกอบภารกิจการเปลื้องผ้าต่อหน้าสาธารณะได้อย่างสง่างาม

หนังจะบอกเราว่า ขณะที่แต่ละคนเริ่มลังเลที่จะขึ้นเวทีเพราะกลัวความอับอายขายหน้าที่จะได้รับ พวกเขาก็ได้พบว่าปัญหาเรื่องศักดิ์ศรีที่ค้างคาใจมาตลอดนั้นอาจแก้ไขลงได้ ถ้าผู้ชายยอมลดละความเชื่อเรื่องนี้ หรืออีกนัยหนึ่งเลิกคิดว่าตัวเองต้องเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและเด็กเสมอไป

การค้นพบนี้ทำให้แต่ละคนแก้ปัญหาส่วนตัวของตนได้จนหมดสิ้น แกซยอมให้ลูกชายสั่งสอนและส่งเสีย (โดยการจ่ายค่าเช่าไนต์คลับเพื่อเปิดการแสดง) เป็นครั้งแรก เดฟและเจอรัลด์กล้าเผชิญหน้าและเปิดเผยปัญหาแบบผู้ชายๆ กับเมียของตัวเอง ส่วนลอมเปอร์และกายได้มีโอกาสค้นพบตัวตนและความรักในรูปแบบใหม่ๆ พร้อมกัน  การที่ระบำของแกซและเพื่อนเริ่มด้วยการถอดเครื่องแบบนั้นเป็นการบอกว่า เครื่องแบบเป็นพันธนาการที่สมควรถูกปลดเปลื้องออกไป

การแก้ผ้าจึงไม่เพียงกอบกู้ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายในแบบเก่า แต่นำมาซึ่งการค้นพบศักดิ์ศรีลูกผู้ชายในแบบใหม่ด้วย

ฉากที่แกซและเพื่อนยืนเข้าคิวรอเงินสวัสดิการสังคมและมีเสียงเพลง Hot Stuff ของมาดอนน่า ซอมเมอร์ ลอยมาให้ได้ยินนั้น แสดงให้เห็นว่าผู้ชายเหล่านี้เริ่มรู้จักผ่อนคลายความเคร่งครัดต่อศักดิ์ศรีแบบเก่า และซึมซาบเอาศักดิ์ศรีที่ไม่เป็นชายเข้าไปไว้ในร่างกายตนเองแล้ว พวกเขาเริ่มขยับตัวไปตามเสียงเพลง อาการนี้จะเริ่มจากคอและไหล่ เสร็จแล้วก็ลามไปทั้งลำตัว

อันที่จริง คติที่ว่าผู้ชายต้องเป็นฝ่ายปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและเด็กเป็นคติที่อ่อนแรงไปแล้ว แม้แต่ในหนัง “ไทแทนิค” ฉบับล่าสุดของเจมส์ แคเมรอน คตินี้ก็ลดความสำคัญลงจากเดิมเป็นอันมาก นางเอกของเรื่องไม่เพียงแต่เอาชีวิตรอดได้ตัวเอง เธอยังแข็งแรงขนาดที่สามารถควงขวานและมุดน้ำลงไปเพื่อช่วยพระเอกออกมาจากใต้ท้องเรือได้ด้วย

สำหรับผู้ชายที่ไม่ยอมตายไปพร้อมกับไทแทนิค แถมยังโหยหาอาลัยวีรกรรมแบบเก่าๆ  หนังเรื่อง The Full Monty เข้ามาช่วยให้คำตอบว่าเขาจะอยู่ต่อไปได้อย่างไรโดยไม่เสียศักดิ์ศรี หรือไม่ต้องวิตกกังวลต่อการสูญเสียบทบาทในการปกป้องคุ้มครองผู้หญิงและเด็ก

หนังเรื่องนี้เป็นวิธีปลอบใจผู้ชายในยุค “โพสต์-ไทแทนิค” มันจะบอกว่าการปอกเปลือกตัวเองออกมาไม่ได้ทำให้พวกเขาต้องเสียศักดิ์ศรี  ตรงกันข้ามมีแต่จะยิ่งทำให้เนื้อแท้ของความเป็นชายปรากฏกายออกมา ส่วนการยกเลิกบทบาทผู้คุ้มครองไปเสียบ้างนั้น ไม่ได้นำมาซึ่งความอับอาย แต่อาจกลายเป็นวีรกรรมไปก็ได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *