ละครใบ้ที่ต้องการจะเอาชนะความใบ้
เจตนา นาควัชระ
สถาบันละครใบ้คนหน้าขาวจัดแสดงละครใบ้เรื่อง “พระจันทร์สีส้มอมสีชมพู” ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งผมได้ไปชมในวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 นักแสดงคณะนี้ดูจะเป็น “ละครผอม” ที่ผมชอบ เพราะลักษณะของความ “พอเพียง” ทั้งในด้านผู้แสดง และในด้านฉาก แสง สี เสียง ดูจะลงตัวพอเหมาะพอดี สิ่งที่ถูกใจผมยิ่งไปกว่านั้นเป็นรายละเอียดที่ผมมิอาจมองข้ามได้ นั่นก็คือหลังการแสดงผู้กำกับออกมาขอบคุณผู้ที่ให้ยืมโปรเจ็กเตอร์ ผมอดคิดเอาไว้ในใจไม่ได้ว่า ความไม่พร้อมสมบูรณ์ในด้านวัตถุนั่นแหละคือตัวท้าทายที่ผลักดันให้นักแสดงต้องใช้ความสามารถทั้งในระดับบุคคลและในระดับกลุ่มอย่างเต็มที่
ละครใบ้ที่ผมได้เคยรู้จักเมื่อสมัยที่เรียนหนังสืออยู่ในยุโรปซึ่งโด่งดังมากจริงๆ คือการแสดงเดี่ยวของนักแสดงชาวฝรั่งเศสชื่อ มาร์แซล มาร์โซ (Marcel Marceau : ค.ศ. 1923-2007) ซึ่งเป็นการแสดงฉากเล็กๆ ที่ไม่มีความต่อเนื่องกันแต่ประการใด แต่ละฉากมีความโดดเด่นของตน ไม่มีการอธิบายเรื่อง นอกจากการใช้ผู้ช่วยหนึ่งคนถือป้ายออกมาบอกว่าฉากนั้นชื่ออะไร และผมก็ดีใจมากว่า เมื่อตอนไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอน อาร์เบอร์ เมื่อปี 1984 คุณมาร์แซล มาร์โซมาร่วมงานมหกรรมฤดูร้อนพร้อมยังรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สิ่งที่ผมได้ประสบเมื่อคืนวันที่ 7 กรกฎาคม เป็นละครใบ้ที่ต้องการจะเล่าเรื่อง ซึ่งเป็นจุดท้าทายทั้งผู้กำกับการแสดงและผู้แสดง เพราะโดยปกติแล้วการจะเล่าเรื่องให้ได้ความอย่างเต็มที่จำเป็นจะต้องพึ่งคำพูดสื่อ ใช้ภาษาเป็นสื่อ ละครใบ้ใช้ลีลาท่าทาง ใบหน้า และสีหน้าเป็นตัวสื่อความ จะให้ความชัดเจนเท่ากับการสื่อด้วยภาษาย่อมเป็นไปไม่ได้ จุดนี้ดึงดูดความสนใจผมเป็นพิเศษ เพราะ “คนหน้าขาว” ต้องการจะเล่าเรื่อง และก็รู้สึกว่าถ้าเขียนสูจิบัตรให้ละเอียดเกินไปก็เท่ากับเป็นการยกธงขาวยอมพ่ายแพ้ให้กับละครใบ้ ส่วนที่แสดงได้อย่างน่าทึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การสร้างอารมณ์ที่หลากหลาย จากลักษณะโศกสลดไปจนถึงลักษณะขำขันทำได้อย่างน่าชมเชย แต่ส่วนที่เป็นสารอันเกี่ยวเนื่องกับความคิดเชิงปรัชญานั้นสื่อได้ยากมาก ดังเช่นในกรณีของประเด็นที่ว่าด้วย “ความรักทำให้คนตาบอด” ถึงกระนั้นก็ดี “คนหน้าขาว” ก็สามารถดำเนินเรื่องไปในทิศทางที่ทำให้เราพอเดาความได้ การเปลี่ยนแปลงจากคนตาดีเป็นคนตาบอด และในทางที่กลับกันในตอนสุดท้ายของฉาก นับได้ว่าเป็นกลวิธีที่แยบยลในการสื่อความ แต่ก็ทำได้เท่านั้น เพราะนี่คือละครใบ้
ฉากสุดท้ายที่ว่า “ฝนทำไมจึงตก” ตั้งทั้งประเด็นเชิงสังคมและเชิงปรัชญาราวกับจะทำโจทย์ที่ตั้งไว้แต่ต้นให้ยากและซับซ้อนขึ้นอีก แต่ผู้ชมก็พอจะเก็บความได้พอที่จะไม่ทำให้สารของเรื่องหลุดหายไป ในหลายๆ ตอน การใช้ภาพนิ่ง วิดีโอ หรือแสง และเสียง เข้ามาเสริมอาจจะมิช่วยในการสื่อความชัดเจนขึ้นมากนัก แต่ถ้าปราศจากเครื่องช่วยเหล่านี้ นักแสดงอาจจะต้องทำงานหนักกว่านี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ชมที่เข้าชมการแสดงในโรงละครที่เล็กอยู่แล้วมีจำนวนน้อยมาก อาจเป็นเพราะว่า “คนหน้าขาว” ไม่ต้องการสร้างความตื่นเต้นด้วยกายกรรมประเภทที่เสี่ยงต่อการแขนหักขาหัก แต่มุ่งจะใช้กลวิธีแบบดั้งเดิมของละครใบ้ในการสื่อความ ข้อวินิจฉัยเชิงสรุปก็คงจะเป็นว่า ถึงจะยังไปไม่สุดทางในด้านของการแสดงความคิดเชิงสังคมและเชิงปรัชญา ถึงจะเป็นละครใบ้ที่เอาชนะความใบ้ไม่ได้ทั้งหมด แต่การแสดงครั้งนี้ก็ให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม (จำนวนน้อย) ได้อย่างเต็มที่
ขอให้ “ละครผอม” ของเราจงมีชีวิตอยู่ยืนยาวออกไปอีกนานแสนนาน