“Corneille-Brecht” ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้ชม ในงานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 8

เมื่อวานนี้ (8 พ.ย. 53)  ผู้เขียนได้มีโอกาสไปชมภาพยนตร์เรื่อง Corneille-Brecht ที่โรงภาพยนตร์ 13  พารากอน ซินีเพล็กซ์  ซึ่งเป็นการฉายภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นรอบแรก  และจะฉายซ้ำอีกครั้งในวันที่ 12 พฤศจิกายน เวลา 12.00 น.  ภาพยนตร์เรื่องนี้นับเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งใน 150 เรื่องที่นำมาฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯครั้งที่ 8 ที่มีธีมของงานว่า “Emotions Unleashed” หรือที่มีชื่อภาษาไทยว่า “มาร่วมกับป้ายสีหัวใจให้ ‘แปดเปื้อน’ ประสบการณ์ความสุขจากภาพยนตร์” ซึ่งจัดฉายที่ พารากอน ซินีเพล็กซ์ และ เมเจอร์ซินีเพล็ก สุขุมวิท-เอกมัย  ในระหว่างวันที่ 5 -14 พฤศจิกายนศกนี้

แม้ว่างานเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯในปีนี้จะจัดเป็นครั้งที่ 8 แล้ว  แต่ผู้เขียนก็ต้องขอสารภาพว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเข้าร่วม  และภาพยนตร์เรื่อง Corneille-Brecht ก็นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของงานเทศกาลที่ได้ชม  ก่อนอื่นผู้เขียนต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ได้ตั้งใจไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้  แต่ไปเพราะได้รับคำชวน  ก่อนที่จะชมก็รู้เพียงแค่ว่าเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่นำผลงานของนักเขียนฝรั่งเศส คือ Pierre Corneille กับ Bertolt Brecht  นักเขียนชาวเยอรมันมาตัดตอนเพื่อแสดง  และนำเสนอ 2 ภาษา คือ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน

เมื่อได้รับข้อมูลเพียงเท่านั้น  โดยส่วนตัวก็ยังเชื่อว่าจะได้ดูหนังที่มีนักแสดงหลากหลายออกมาโลดแล่นเหมือนกับภาพยนตร์ทั่วๆไปที่เคยดูมา   แต่สิ่งที่ได้ชมกลับพลิกความคาดหวังไปโดยสิ้นเชิง   เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้มีนักแสดงหญิงเพียงคนเดียว และนำเสนอด้วยการเล่าและการอ่านเท่านั้น   ในฉากเปิดเรื่องเริ่มต้นด้วยนักแสดงหญิงคนหนึ่งกำลังยืนท่องบทของ Pierre Corneille เป็นภาษาฝรั่งเศสที่ระเบียงตึกแห่งหนึ่ง  และในระหว่างที่ท่องบทนั้นก็มีเสียงรถ และเสียงอื่นๆ แทรกเข้ามาตลอดเวลา    ต่อจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นฉากที่ผู้หญิงคนเดิมนั่งอ่านบทละครของ  Bertolt Brecht  เป็นภาษาเยอรมัน  โดยแสดงให้เห็นว่าบทละครเรื่องนี้ไม่ได้อ่านรวดเดียวจบ  แต่อ่านต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน  เนื่องจากผู้แสดงเปลี่ยนชุดประมาณ 5 ชุด  เมื่ออ่านบทละครจบในรอบแรก  ก็เริ่มต้นแสดงใหม่ตั้งแต่ต้นไปจนครบ 3 รอบ ภาพยนตร์นี้จึงจะจบลง   ซึ่งทั้งสามรอบจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย

หากจะถามว่าได้รับความประทับใจอย่างไรเมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ  ก็คงต้องยอมรับว่าไม่มากนัก  ทั้งนี้เนื่องจากความอ่อนด้อยในด้านภาษาทั้งฝรั่งเศสและเยอรมันที่มีอยู่จำกัด  ถึงแม้ว่าจะเคยเรียนภาษาทั้งสองมา  แต่ก็เรียนมานานกว่า 10 ปีแล้ว  จึงทำให้ไม่สามารถที่จะจับกระแสความที่นักแสดงสื่อได้ครบถ้วนทั้งหมด  โดยส่วนตัวคิดว่าสารที่ผู้กำกับภาพยนตร์  คือ Jean-Marie Straub  และ Cornelia Geiser  มุ่งที่จะสื่อน่าจะเน้นหนักที่ความคิดของ Bertolt Brecht  มากกว่า  Pierre Corneille แม้ว่าเรื่องราวของนักเขียนทั้งสองที่คัดมาจะนำเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับอาณาจักรโรมัน  แต่ก็นำเสนอกันในคนละมุมมองกัน   ผู้กำกับเลือกที่จะใช้บทของ  Pierre Corneille เป็นเพียงเปิดเรื่องให้ผู้ชมรับรู้ว่าเรื่องราวที่นำเสนอเกี่ยวกับอาณาจักรโรมันในอดีต  ในขณะที่เรื่องราวที่ตัวละครถ่ายทอดส่วนใหญ่มาจากบทละครของ Bertolt Brecht เรื่อง Das Verhör des Lukullus (คดีของลูคุลุส)

เรื่องราวของ Lukullus  ผู้เป็นขุนพลที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโรมัน   ในฉากที่กล่าวถึงนี้เป็นการพิจารณาตัดสินว่า Lukullus   สมควรที่จะไปสวรรค์หรือไปนรก  โดยลูกขุนที่มาร่วมพิจารณาคดีของเขามีทั้งครู ชาวนา แม่ค้าปลา  คนทำขนมปัง และนางกำนัล  ในขณะที่ Lukullus  อยากให้เชิญพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชเป็นพยาน  แต่ปรากฏว่าหาตัวท่านไม่พบ   ตลอดการพิจารณาคดีจะเห็นมุมมองของคนหลากหลายอาชีพที่มีต่อสงคราม  ในขณะที่ Lukullus  เห็นว่าตนทำวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ให้กรุงโรม  ทำให้โรมได้เมืองขึ้น 53 เมือง  แต่ลูกขุนส่วนใหญ่กลับเห็นว่าสงครามก่อให้เกิดความทุกข์ยากแก่คนส่วนใหญ่

จะเห็นได้ว่าแม้เรื่องราวที่นำเสนอจะมีมุมมองที่น่าสนใจ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยิ่งใหญ่ของมหาอาณาจักรดังเช่นโรมัน  ที่ตั้งอยู่บนกองทุกข์ของคนตัวเล็กๆ  แม้ว่าความยิ่งใหญ่นั้นจะเป็นความยิ่งใหญ่ในโลกนี้  แต่ในปรโลกความยิ่งใหญ่ดังกล่าวก็กลายเป็นอาชญากรรมไป  ละครเรื่องนี้จึงชี้ให้เห็นว่า  ถ้าโลกนี้ไม่ให้ความยุติธรรม  ปรโลกนั่นแหละจะเป็นที่ซึ่งให้ความยุติธรรมแก่มวลมนุษย์  ประเด็นนี้นับเป็นศิลปะที่ชวนให้คิดต่อได้อย่างไม่รู้จบ   แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าสารความคิดที่หนักแน่นเช่นนี้ไม่สามารถสื่อความกับผู้ชมชาวไทยในวงกว้างได้  เนื่องจากผู้ที่จะเข้าใจและซาบซึ้งกับภาพยนตร์เรื่องนี้จำเป็นต้องรู้ทั้งภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมันเป็นอย่างดี  (สังเกตได้จากรอบที่ผู้เขียนไปชมมีผู้ชมทั้งโรงเพียง 10 กว่าคนเท่านั้น)  นอกจากนี้  ลีลาในการอ่านของผู้แสดงในเรื่องคือ Cornelia Geiser  ซึ่งเป็นผู้กำกับด้วย  ไม่ว่าจะเป็นการทอดจังหวะ เน้นคำ อ่านในทำนองของบทกวีและร้องเพลง  ต่างล้วนเป็นการนำเสนอสารความคิดผ่านการตีความมาแล้วทั้งสิ้น    และเมื่อผู้ชมต้องชมการแสดงที่ส่งสารเดิมๆ ซ้ำถึงสามครั้ง   ด้วยการอ่านลีลาที่เนิบช้าและชัดเจนเช่นนี้   ก็ช่วยย้ำและกระตุ้นให้ผู้ชมได้ฉุกคิดถึงสารที่นักแสดงและผู้กำกับปรารถนาที่จะส่งมายังผู้ชมได้ไม่ยากนัก

แม้ว่าประสบการณ์ในการชมภาพยนตร์ในงานเทศกาลครั้งนี้จะไม่ได้สร้างความประทับใจให้ผู้เขียนมากนัก  แต่เมื่อได้กลับมาค้นข้อมูลเกี่ยวกับเทศกาลในครั้งนี้ก็พบว่ามีภาพยนตร์ให้เลือกชมกว่า 150 เรื่องใน 9 สายหลัก คือ ภาพยนตร์เอเชียนร่วมสมัย (Asian Contemporary)  Cinema Beat  ภาพยนตร์จากละตินอเมริกา (Cine Latino)  สารคดี (Doc Feast) ภาพยนตร์สั้นจากทั่วโลก (Short Wave)  ภาพยนตร์แนวทดลองและนิวมีเดีย (Gut Nuveau)  ภาพยนตร์เพลงและดนตรี (Music & Dance A LA CART) ภาพยนตร์ของ ฌาคส์  ดัวญง (Jaques Doillon) ผู้กำกับคนสำคัญของฝรั่งเศส  และภาพยนตร์ร่วมสมัยที่โดดเด่นจากประเทศตรุกี (New Turkish Cinema)  จึงนับเป็นโอกาสที่เปิดกว้างให้ผู้สนใจเลือกชมภาพยนตร์ตามรสนิยมและความสนใจของตนได้

เทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ก็จะจบลงแล้วในเวลาที่เหลืออีกไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์     ผู้เขียนจึงอยากจะเชิญชวนทุกท่านได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ครั้งนี้   เพื่อแต่งแต้มสีสันให้กับหัวใจด้วยความสุขจากการชมภาพยนตร์คัดสรรกว่าร้อยเรื่องจากทั่วโลก   ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่หาไม่ได้ง่ายๆ ที่จะได้ชมภาพยนตร์คุณภาพในราคาถูก   เพราะราคาค่าบัตรเข้าชมเพียง  100 บาท และ 50 บาทสำหรับนักเรียนนักศึกษา  หากสนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพยนตร์และกิจกรรมในครั้งนี้ได้ที่ www.worldfilmbkk.com

————————————–

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *