i SO late ละครที่ผมได้ชมในเทศกาลละครกรุงเทพ

จักรนาท นาคทอง

 

(ภาพทั้งหมดในบันทึกนี้จาก facebook ของกลุ่ม UTOPLAY)

ผมมีโอกาสได้ไปชมละครเรื่อง i SO late ของ กลุ่ม UTOPLAY (http://www.facebook.com/utoplay) ในเทศกาลละครกรุงเทพ เมื่อวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา รอบที่ผมได้รับชมเป็นรอบ 18.00 น. ในร้านอาหารที่ชื่อ Joy Luck Club ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามสวนสันติชัยปราการ ละครเรื่องนี้แสดงบนชั้นสองของร้านอาหารดังกล่าว ซึ่งเป็นร้านอาหารเล็กๆ เมื่อต้องแบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งให้เป็นเวทีละคร จึงเหลือพื้นที่สำหรับคนดู (และช่างกล้อง) ค่อนข้างน้อยมาก ทำให้รู้สึกแออัด และสงสัยว่า การที่ผู้จัดละครบอกว่าเป้าหมายผู้ชมในแต่ละรอบคือ 30 คนนั้น จะเป็นไปได้แค่ไหน เพราะในรอบที่ได้ไปชมนั้น คิดว่าน่าจะมีผู้ชมไม่ถึง 30 แต่ก็แน่นขนัดจนขยับตัวไม่ค่อยได้เลย  ผู้ชมทั้งหลายต้องนั่งกับพื้นที่มีเบาะมารองรับ ในความใกล้ชิด (และระนาบเดียว) กับเวทีละครเป็นอย่างมาก จนดูราวกับว่า โลกในละครกับโลกของผู้ชมอาจจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

ผู้จัดละครเรื่องนี้คือคุณผดุงพงศ์ ประสาททอง หลังจากที่เขาขึ้นมากล่าวแนะนำละครอย่างสั้นๆ แล้ว ก็ยื่นจดหมายในซองสีแดงให้กับนักแสดงสาวที่นอนอยู่บนเตียง  เวทีละครที่ผู้ชมเห็น คือห้องนอนของผู้หญิงคนนี้ หลังจากที่เธอได้รับจดหมายฉบับนั้นและอ่านให้ผู้ชมฟังถึงเนื้อความที่ผู้ที่เคยอยู่ร่วมกับเธอเขียนบรรยายว่าเพราะเหตุใดจึงจากเธอไปแล้ว ผู้ชมทั้งหมดก็ไม่ได้เห็นอะไรนอกไปจากการพูดและทำกิจกรรมต่างๆ ของเธอ เป็นเวลาถึงชั่วโมงครึ่ง

แม้อย่างนั้นการจะกล่าวว่าละครเรื่องนี้มีนักแสดงเพียงคนเดียวก็คงไม่ใช่คำพูดที่ถูกต้องนัก เพราะนอกจากผู้จัดละครจะได้สนทนากับเธอหนึ่งประโยคในตอนต้นเรื่องแล้วว่า “คุณครับ มีจดหมายมาส่ง” แล้ว  หลังจากที่ผู้ชมได้ฟังนักแสดงสาวในชุดยาวสีขาว ดูคล้ายศิลปิน พร่ำเพ้อว่าเธอเกิดมาช้าไป 1 นาที 11 วินาที จึงไม่ได้รับโอกาสในชีวิต และความพยายามของเธอในการทำให้ชีวิตดีขึ้น ซึ่งได้แก่ การทำอะไรๆ ให้เร็วขึ้น เมื่อพบว่าไม่ได้ผลก็เปลี่ยนมาเป็นทำอะไรๆ ให้ช้าลง หรือการพยายามทำตามที่คนอื่นบอก แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย  หลังจากเธอพูดเช่นนี้แล้ว ผู้ชมก็ต้องมีส่วนร่วมกับละครเรื่องนี้ ดังที่จะได้กล่าวต่อไป

ละครเรื่องนี้มีการแบ่งเป็นฉากๆ (ไม่ได้นับว่ามีกี่ฉาก)  แต่ละฉากจะสิ้นสุดเมื่อนักแสดงได้พูดจบประเด็นแล้ว เธอจะวิ่งลงบันไดไปชั้นล่าง จากนั้นก็วิ่งกลับขึ้นมา พร้อมด้วยข้าวของต่างๆ เช่น ช่อกุหลาบ ภาพถ่าย กระดาษ ฯลฯ เต็มอ้อมแขน  และเมื่อเธอขึ้นมาถึงชั้นบน เธอก็จะโยนข้าวของเหล่านั้นลงบนโต๊ะหรือเตียง พร้อมทั้งพูดว่า “ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่รอ หรือเรามาช้าไป” ก่อนที่จะพูดถึงปรัชญาชีวิตในประเด็นใหม่ ที่บางทีผมก็คิดว่า ปรัชญาเหล่านั้น (เช่นการทำอะไรเร็วหรือช้า การพูดถึงคำจำกัดความของสิ่งต่างๆ) หาใช่สิ่งที่จำเป็นต้องใคร่ครวญ แต่เป็นเพราะเธอถูกคนเหล่านั้นทิ้งไป จึงเกิดเป็นความคิดที่ฟุ้งซ่าน  นานๆ ครั้งเธอก็จะจัดดอกไม้ วาดภาพ และฟังเพลงบ้าง แต่ทำกิจกรรมเหล่านั้นไม่ได้นานนัก และเฟรมที่เธอวาดภาพก็หันด้านหลังมาให้ผู้ชมอยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีใครเห็นว่าเป็นภาพอะไร

หลังจากเราได้ยินเธอพร่ำเพ้อถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จู่ๆ นักแสดงที่อยู่ในโลกของตนเองเมื่อสักครู่ กลับหันมาสบตากับผู้ชม แล้วสนทนากับพวกเขา ชักชวนให้ผู้ชมร่วมเล่นเกมที่เธอเป็นผู้สร้างกติกาขึ้น  กติกาของเกมดังกล่าวคือ การให้ตัวอักษรในภาษาอังกฤษทั้ง 26 ตัว แทนค่าด้วยตัวเลขตามลำดับอักษร เช่น A =1 B=2 เป็นต้น เมื่อตัวอักษรต่างๆ รวมกันเป็นคำศัพท์ ก็นำเอาตัวเลขที่ได้มารวมกันเป็นคะแนนของคำศัพท์นั้นๆ เช่น คำว่า KNOWLEDGE มี 96 คะแนน (k=11 n=14 o=15 w=23 l=12 e=5 d=4 g=7 e=5) เป็นต้น  ผู้ชมจะต้องทายว่า คำที่นักแสดงหยิบยกขึ้นมามีกี่คะแนน โดยนักแสดงจะเริ่มจากการอ่านคำจำกัดความของคำนั้นๆ ก่อน แล้วจึงให้ผู้ชมทายคำต่างๆ เช่นคำว่า KNOWLEDGE LOVE FRIENDS LEADERSHIP ฯลฯ ซึ่งส่วนมากถ้าไม่แอบเห็นผลรวมคะแนนในกระดาษที่นักแสดงถือ ผู้ชมก็มักจะทายไม่ถูก นักแสดงสาวบอกว่า เธอจะค้นหาคำที่มีผลรวมได้ 100 คะแนน

เมื่อเกมดังกล่าวจบลงคือการ “เปลี่ยนองก์” ครั้งสุดท้าย นักแสดงขึ้นมาชั้นบนและพูดประโยคเดิมเหมือนเช่นเคย แต่ครั้งนี้เธอไม่ได้หยิบฉวยอะไรขึ้นมาด้วย หากแต่เดินไปรอบๆ ห้อง แล้วดึง Post-it ที่บรรดาผู้ที่ทิ้งเธอไปเขียนข้อความเอาไว้ เช่น “ขอโทษที่ต้องทิ้งเธอเอาไว้” “ขอโทษที่รอเธอไม่ได้” และเธอก็ขอโทษคนเหล่านั้น “ที่ฉันช้าเกินไปและต้องอยู่ที่นี่”  หลังจากนั้นเธอก็อ่านคำจำกัดความของสิ่งต่างๆ อีกครั้ง  แต่ครั้งนี้เธอฉีกเอาตัวอักษรแรกของแต่ละคำไปแปะไว้ที่เฟรมวาดภาพ แล้วหันมันกลับมาให้คนดู ตัวอักษรที่เธอนำมาแปะคือคำว่า “ATTITUDE” แล้วเธอก็บอกกับผู้ชมว่า “ถ้าพวกเขาเหล่านั้นกลับมา ช่วยบอกพวกเขาด้วยนะคะว่า ฉันไม่รอพวกเขาแล้ว” ละครเรื่องนี้ก็จบลง  ผมไม่ได้เอะใจอะไร แต่มีผู้ชมคนหนึ่งบอกว่า คำว่า attitude นั้น รวมคะแนนได้ 100 คะแนนพอดี (A=1 t=20 t=20 i=9 t=20 u=21 d=4 e=5)

จากคำพูดของผู้ชมท่านนั้น ทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า จุดมุ่งหมายของละครเรื่องนี้ คือการที่ตัวละครได้เรียนรู้ว่า การที่ตนเองจมอยู่กับความทุกข์ที่ถูกผู้อื่นทิ้งไปนั้น แท้จริงแล้ว ความทุกข์เกิดจากใจของตนเอง ถึงแม้จะพยายามบอกตัวเองว่า “ไม่ใช่พวกเขาไม่รอ หรือเรามาช้าไป” แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนความเป็นจริงที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้  เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนทัศนคติ (attitude) ของตนเองเท่านั้นที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้  ด้วยเหตุนี้ผลรวมคะแนนของคำว่า attitude จึงได้ 100 คะแนน

ในส่วนของชื่อละครว่า “i SO late” นั้น สามารถตีความได้สองความหมาย คือ “ฉันช่างช้าเหลือเกิน” หรือคำว่า Isolate ซึ่งหมายถึง “แปลกแยก” ซึ่งอาจจะเป็น “ความช้ากว่าคนอื่นจึงทำให้เกิดความแปลกแยก” ก็เป็นได้

สำหรับการที่นักแสดงให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วม ก็ทำให้รู้สึกผิดคาดจากเดิมที่คิดว่าจะเข้าไป “ชม” ละครเพียงอย่างเดียวโดยไม่คิดว่าจะต้องมีส่วนร่วมใดๆ  เนื่องจากผมไม่ใช่ผู้ที่ชมละครเวทีบ่อยนัก จึงไม่ทราบว่าการมีส่วนร่วมของผู้ชมเป็นสิ่งใหม่สำหรับวงการนี้หรือไม่ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่านอกจากจะทำให้ละครไม่น่าเบื่อแล้ว การที่ต้องคิดทบทวนถึงคำจำกัดความของคำศัพท์ต่างๆ ที่นักแสดงหยิบยกขึ้นมา ก็ทำให้เราได้ “ทบทวนชีวิต” ไปพร้อมๆ กับที่ละครดำเนินไปได้เช่นกัน น่าเสียดายที่บางครั้งที่นักแสดงอ่านคำจำกัดความของคำศัพท์ หรือแสดงทัศนคติบางอย่าง แทนที่จะทำให้ผมรู้สึกคล้อยตาม หรือไม่ก็ทบทวนความเห็นของตนเอง กลับทำให้รู้สึกว่านักแสดงกำลัง “สอน” ผมอยู่ จึงทำให้ไม่ค่อยรู้สึกอยาก “เรียน” เท่าไรนัก  อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเช่นนี้ปรากฏเพียงไม่กี่ครั้งในขณะที่ละครกำลังแสดงอยู่ จึงอาจกล่าวได้ว่า โดยรวมแล้วผมก็รู้สึกพึงพอใจและได้เรียนรู้อะไรๆ ตามที่นักแสดงอยากจะ “สอน”

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *