ผลผลิตปริญญาดนตรีไทย ผลิตอะไร
ผลผลิตปริญญาดนตรีไทย ผลิตอะไร
อานันท์ นาคคง
ทุกวันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการผลิตบุคลากรทางดนตรีสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว กลายเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่อง แทนที่จะเป็นการสร้างบุคลากรทางดนตรีไทยเพื่อป้อนให้หน่วยราชการหรือตามโรงเรียนดังที่เคยเป็นมาในอดีต ถ้าใครจะลองทำงานวิจัยสภาพความเป็นจริงของวัตถุดิบ (คน) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ภัตตาคาร ศูนย์การท่องเที่ยวแบบเอาวัฒนธรรมฉาบฉวยทันใจ คำตอบที่ได้คงจะหนีไม่พ้นว่า นอกจากชาวเขาปลอมๆ ช่างฝีมือปลอมๆ นักมวยปลอมๆ และแม่ครัวปลอมๆ ที่นั่งพับเพียบเรียบร้อยโปรยเสน่ห์ปลายจวักควักเปลือกผลไม้ที่ดูดีจนกินไม่ลงนั้น พวกที่มาทำหน้าที่จับระบำรำฟ้อนและดีดสีตีเป่าให้นักท่องเที่ยวปลื้มกันไม่รู้จบนั้น ก็คือบรรดานักศึกษาดนตรีและบัณฑิตดนตรีที่เกิดจากการลงทุนของรัฐปีละไม่รู้กี่สิบล้านนั่นเอง
เรื่องของทรัพยากรคนดนตรีไทยระดับอุดมศึกษาที่กลายมาเป็นวัตถุดิบด้านวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวและบันเทิงนั้น น่าจะลองทำการวิจัยกันดูสักที เผื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางการศึกษาทางวัฒนธรรมของรัฐและราษฎร์ หรือนักลงทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวจะได้หาช่องทางในการ “จัดการ” กับนักศึกษาดนตรี และบัณฑิตดนตรีไทยได้อย่างเป็นงานเป็นการกว่านี้ ที่ต้องกล่าวเช่นนี้ เพราะรู้สึกใจหายกับผลผลิตของสถาบันการศึกษาหลายๆ แห่งในบ้านเมืองนี้ ถ้าไม่ฉุดรั้งสติและสำนึกในความจำเป็นของการผลิตบุคลากรเพื่อทำหน้าที่ให้การศึกษาและถ่ายทอดวิชาการดนตรีเพื่อเยาวชนของชาติรุ่นต่อๆไปกันไว้เสียบ้าง ก็หาทางลุยต่อไป ช่วยกันเชียร์ให้ทุกสถาบันการศึกษา หันมาเปิดโรงงานอุตสาหกรรมส่งออกนักดนตรี-นักระบำรำฟ้อน ชนิดมีชื่อสถาบันและปริญญาห้อยท้ายมันเสียรู้แล้วรู้รอดไปเลย จะได้ไม่ต้องมาหลบๆซ่อนๆใช้ชื่อเสียงของสถาบัน และสถานภาพครูอาจารย์ และนิสิตนักศึกษาทำมาหากินกันอย่างที่เห็นและเป็นอยู่นี้
แต่ถ้ามาคิดดูในอีกแง่หนึ่ง การ “รับจ๊อบ” ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องเลวทรามต่ำช้าไปเสียทั้งนั้น ถ้าเราเชื่อมั่นในปรัชญาของวิชาชีพ ที่จำเป็นต้องผลิตทรัพยากรบุคคลเพื่อป้อนสู่ตลาดแรงงาน (skill labour) และเพื่อสร้างผู้นำในสาขาวิชาชีพนั้น (professional leader) เมื่อเปรียบเทียบในแง่โลกของความเป็นวิชาชีพดนตรีไทย ยิ่งปรากฏภาพของครูและศิษย์ที่ช่วยกันส่งเสริมธุรกิจ “รับจ๊อบ” มากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เห็นว่ากระแสการสร้างคนดนตรีไทย เพื่อรับใช้ตลาดแรงงาน ยิ่งเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่ตลาดการศึกษาและวัฒนธรรม ซึ่งเคยภาคภูมิใจกันมาแต่เดิมกลับอ่อนแอลงทุกๆวัน การเพิ่มพูนของธุรกิจ “รับจ๊อบ” เป็นดัชนีให้เห็นทิศทางที่ผู้มีอำนาจของบ้านเมือง น่าจะหาวิธีปรับกลยุทธ์ทางการศึกษาดนตรีไทยในอนาคต ว่าจะให้เป็นไปอย่างไรจึงจะเหมาะสม
ดังนั้นการรับจ๊อบก็มีส่วนที่ทำให้เราท่านต้องมานั่งทบทวนกันบ้างเหมือนกัน เพราะนี่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า แม้เราท่านจะพยายามยกระดับความเป็นดนตรีไทยเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา พยายามสร้างภาพพจน์ให้ดูเป็น academic กันสักเท่าไร แต่จนแล้วจนรอดก็หาได้ลบล้างชาติกำเนิดเดิมที่เคยถูกผู้ลากมากดีในอดีตค่อนแคะว่า เป็นวิชา “เต้นกินรำกิน” หรือเป็นวิชาวณิพกไปได้ไม่ ยิ่งเราท่านสถาปนาสถาบันปริญญาดนตรีมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งพลอยหลง “ตัวตน” ที่สร้าง ที่ปรุงแต่งกันมากขึ้น จนลืมต้นตระกูลวิชาของตน พลอยดูถูกและขัดขวางศิลปินพื้นบ้าน ข่มเหงปี่พาทย์ชาวบ้าน และประณามหยามเหยียดพวก “รับจ๊อบ” ว่าเป็นพวกสร้างความเสื่อมเสียให้แก่สถาบันการศึกษาที่เคารพรักของตน
แต่อย่างไรก็ตาม การหูอื้อตาลายกับตลาดแรงงานและแรงเงินก็ไม่ใช่เรื่องดีวิเศษอะไรเหมือนกัน เพราะภารกิจของสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องผลิตผู้นำทางวัฒนธรรม ก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงให้มากยิ่งกว่าบทบาทหน้าที่ของครูผู้สอน ในจุดนี้คงต้องเป็นอะไรที่ยิ่งกว่านายหน้าหางาน นั่นคือต้องวางตัวให้ถูกที่ถูกทาง มีสัมมาสติ มีความตระหนักในความรับผิดชอบที่จะต้องเป็นผู้สร้าง สั่งสมอุดมการณ์ ยกระดับจิตวิญญาณและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความรู้ความคิดทางวัฒนธรรมที่เป็นแนวกว้างและแนวลึก มีปัญญาที่จะทำอะไรต่อไปในโลกดนตรีไทยแห่งอนาคต มากกว่าการเป็นเพียงหนึ่งในตลาดแรงงานหรือวัตถุดิบในธุรกิจท่องเที่ยวขายวัฒนธรรมไทย
และในขณะเดียวกัน บุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา ทั้งฝ่ายครู ฝ่ายบัณฑิต และฝ่ายนิสิตนักศึกษา ก็ต้องคำนึงถึงฝ่ายที่เป็นผู้บริโภคด้วยว่า จะมีกลวิธีการอย่างไรในการสร้างผู้ชมผู้ฟังที่มีความรู้ มีรสนิยม และมีความรักในวัฒนธรรมดนตรีไทย ไม่ใช่รักแบบนักท่องเที่ยว รักแบบฉาบฉวย หรือรักแบบลุ่มหลง ยุทธการในการครองใจผู้บริโภคดนตรีไทยในสังคมปัจจุบันและอนาคตเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่ง เนื่องด้วยความเจริญทางเทคโนโลยี ความผันผวนปรวนแปรของผู้คน ที่กลายเป็นเหยื่อของสื่อโฆษณาและข่าวสารข้อมูลต่างๆ เราเคยตั้งข้อรังเกียจดนตรีฝรั่ง ป้ายความผิดให้ค่ายเพลง โทษผู้นำของชาติบ้านเมืองและอื่นๆ แต่ลืมนึกไปว่า เราท่านทั้งหลายเองนั่นแหละก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดนตรีไทยล้าหลังเสื่อมถอยเช่นกัน การไม่ยอมเปิดจิตใจให้กว้าง การปิดกั้นตนเองจากสิ่งแวดล้อมของโลกแห่งความเป็นจริง เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของคนดนตรีไทยกันมาตลอดเวลา จนยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้
ความใฝ่ฝันที่จะเห็นบัณฑิตดนตรีไทยที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ คงยังอยู่อีกไกล ตราบใดที่เรายังไม่สามารถแยกแยะระบบการเรียนการสอน ระบบการบริหาร ระบบการค้นคว้าวิจัย และระบบการดำเนินกิจกรรมดนตรีไทยที่สอดคล้องกับสังคมวัฒนธรรมไทยและสังคมวัฒนธรรมโลก การสร้างบัณฑิตคุณภาพที่จะเป็นตัวแทนในการธำรงรักษาและสืบทอดแบบอย่างดนตรีไทยต่อไปนั้น ไม่จำเป็นต้องผลิตมากมายอะไร แต่ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทุ่มเทและให้โอกาสในการเรียนรู้แก่เขาเหล่านั้น หาวิธีสร้างความรักและผูกพันแบบไม่ใช่เรื่องลุ่มหลงหรือเห็นแก่ตัว สร้างความมั่นคงทางจิตใจแก่เขาทั้งหลายให้ได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะสร้างผู้เสพดนตรีไทยที่มีคุณภาพไปด้วย ผู้เขียนคงไม่สามารถกล่าวได้ว่าการดำเนินงานจะออกมาในรูปใด เพียงแต่รู้สึกว่าสื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ เวทีการแสดง เวทีการวิพากษ์วิจารณ์ ฯลฯ ของรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาควรจะกล้าหาญและเอาจริงเอาจังกว่าที่เป็นอยู่นี้ จะมามัวคอยให้สื่อของเอกชน พ่อค้ามาอุปถัมภ์ค้ำชู กำหนดชะตากรรมรายการทางดนตรีไทยที่เป็นเรื่องความรู้และความบันเทิงดังที่ผ่านมานั้นแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ พ่อค้านั้นย่อมต้องคิดถึงผลประโยชน์ คิดถึงเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าวัฒนธรรมอยู่วันยังค่ำ ถ้ารัฐและสถาบันอุดมศึกษากล้าหาญที่จะทำอะไรบ้าง ก็น่าจะเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่ง
ที่มา: อานันท์ นาคคง. “ผลผลิตปริญญาดนตรีไทย ผลิตอะไร” ดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 28, หน้า 168-172.
บทวิเคราะห์
บทความบทนี้ไม่ใช่บทวิจารณ์การแสดงดนตรีไทย แต่เป็นการวิจารณ์บริบทที่โยงไปสู่เรื่องสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมและดนตรีไทย เขียนโดย อานันท์ นาคคง นักดนตรีไทย และนักวิชาการดนตรีรุ่นใหม่ของไทย ผู้เขียนเน้นประเด็นการผลิตบุคลากรทางดนตรี (โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา) ที่นำไปสู่เรื่องการแสดงเพื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการ “รับจ๊อบ” ของนิสิตนักศึกษาในขณะที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ หรือแม้กระทั่งบัณฑิตทางดนตรีที่จบไปแล้ว
ปัญหาความก้าวหน้าของศิลปะไทยหรือแม้กระทั่งศิลปะตะวันตกในบ้านเรา เมื่อทำการศึกษาวิจัยกันทุกแง่มุมแล้ว ท้ายที่สุดปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เป็นเครื่องชี้นำพัฒนาการศิลปะ หรือแค่เพียงดำรงศิลปะให้มีตำแหน่งแห่งที่ในวงการนี้เพียงเพื่อรักษาของเดิมไว้ ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกมากมายนั้น มักไปจบลงที่ “ระบบการศึกษา” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึง “การบริหารจัดการ” เพื่อให้การดำรงไว้หรือการพัฒนาไปข้างหน้าของดนตรีไทย ดำเนินไปอย่างมีเป้าหมาย มีประสิทธิภาพ เพียงพอกับการต่อสู้กับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามามากมาย และผู้คนในประเทศนี้เสพกันอย่างลุ่มหลงและชื่นชม โดยละทิ้งหรือไม่เข้าใจแม้แต่ศิลปวัฒนธรรมของตนเอง
ในความเป็นจริงถ้าหลีกเลี่ยงเรื่องการ “รับจ๊อบ” เพื่อรับใช้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ได้ ผู้เขียนบทวิจารณ์ได้เสนอให้หาวิธีปรับกลยุทธ์การศึกษาดนตรีไทยเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่บางประการ ที่ไม่เคยกระทำมาก่อนในอดีต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตนักดนตรีหรือบัณฑิตดนตรีไทย เพื่อไปรับใช้ระบบราชการและสถาบันการศึกษา บทบาทของศิลปินไทยในการจรรโลงคุณค่าดนตรีไทย เป็นสิ่งที่ดำเนินต่อไปได้ในยุคที่สิ่งต่างๆบนโลกนี้ สามารถสื่อสารเชื่อมโยงกันได้อย่างกว้างขวางและง่ายดาย ถ้าปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นี้มีพลังเพียงพอ การรับจ๊อบอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาได้ เช่นเดียวกับระบบการศึกษาที่เหมาะสมที่จะสนองตอบสถานภาพใหม่ของดนตรีไทยยุคนี้ การเปลี่ยนแปลงในลักษณะต่างๆ อาทิ ทางสังคม ทางเทคโนโลยี ทางการผลิต มิใช่เป็นตัวทำลายคุณภาพและคุณค่าของงานศิลปะเสมอ ถ้ารู้เท่าทันและเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมที่จะรับกับการเปลี่ยนแปลง ด้วยการกำหนดทิศทางใหม่ๆในระบบการศึกษาและการบริหารจัดการ ดังเช่นที่ผู้วิจารณ์แสดงทัศนะไว้ในบทวิจารณ์
บทวิจารณ์บทนี้สร้างความสำนึกในเรื่องคุณค่าดนตรีไทย และปลุกให้ทบทวนในเรื่องการยกระดับความเป็นดนตรีไทยเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษา การพยายามสร้างภาพพจน์ให้เป็นวิชาการ แต่ท้ายสุดกับเป็นการหลง “ตัวตน” ที่สร้างที่ปรุงแต่งกันมากขึ้น ผู้เขียนกระตุ้นให้ผู้อ่านกลับไปหาเนื้อแท้ของหรือแกนของวัฒนธรรมดนตรีไทย ที่เติบโตมาจากศิลปินพื้นบ้าน ดนตรีของชาวบ้าน เป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับชีวิตและสังคมที่นำเสนอประเด็นได้น่าคิดยิ่ง โดยเฉพาะในบริบทของสังคมไทย ที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองที่มีคุณค่ามายาวนาน แต่จะสามารถดำรงอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างไร จึงจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีไทย วิถีชีวิตคนไทย และสังคมไทยดำเนินไปได้อย่างสอดคล้อง เกื้อหนุน ดำรงควบคู่ไปอย่างมีคุณค่าต่อชีวิต
ประเด็นที่ผู้วิจารณ์ให้ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การแสดงดนตรีไทยแม้เป็นการสร้างสรรค์งานดนตรีจากฝ่ายนักดนตรี แต่ก็ต้องคำนึงว่าจะมีกลวิธีในการสร้างผู้ชมผู้ฟังที่มีความรู้ มีรสนิยม และมีความรักในวัฒนธรรมดนตรีไทยได้อย่างไร แทนที่จะปล่อยให้ผู้ฟังหลงใหลหรือลุ่มหลงเสพงานศิลปะอันเกิดจากแรงเชียร์หรือกระแสการปลูกฝังค่านิยมลักษณะ “ยัดเยียด” ผ่านทางสื่อโฆษณาต่างๆ ในที่สุดแล้วบัณฑิตทางดนตรีจะต้องมีความกล้าหาญและความเอาจริงเอาจังในการที่จะเผยแพร่งานดนตรีไทยด้วยการพึ่งตนเอง ทั้งในการสร้างเวทีการแสดง เวทีการวิพากษ์วิจารณ์ การเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ โดยไม่ต้องรอคอยเอกชนและพ่อค้ามาอุปถัมภ์ค้ำชู
ประเด็นที่เป็นผลกระทบจากบทวิจารณ์ท้ายสุดผู้วิเคราะห์คิดว่าถ้าวงการดนตรีไทยสามารถเพิ่มพูนจำนวนและคุณภาพของ นักเขียน นักคิด นักวิชาการ นักวิจัย ที่มีความรู้ และ
ประสบการณ์ดนตรีไทย ความรู้เรื่องสังคม ความรู้เรื่องศิลปะแขนงต่างๆ ฯลฯ มีทัศนะการมองรอบด้าน ประสานและใช้ศาสตร์ต่างๆ “ส่องทาง” การทำงานวิจารณ์ได้เช่นนี้แล้ว ก็น่าจะหาคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า “ผลผลิตปริญญาดนตรีไทย ผลิตอะไร” ได้อย่างแน่นอน
ดุสิต จรูญพงษ์ศักดิ์ : ผู้วิเคราะห์
บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาสังคีตศิลป์