คำแนะนำนักเรียนช่างศิลป์ในวิจิตรศิลปศึกษา

คำแนะนำนักเรียนช่างศิลป์ในวิจิตรศิลปศึกษา*

 

ม.จ. อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร

ในข้อความที่จะกล่าวต่อไปนี้ ข้าพเจ้าขอใช้คำว่า “วิจิตรศิลป” แทนคำว่า “ปราณีตศิลป” ซึ่งเป็นคำที่เขาแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า “Fine Arts” คำอังกฤษนี้ เขาใช้กันมาตั้งแต่สมัย      “วิกตอเรีย”  และผู้ที่เริ่มใช้คงจะหมายถึง “ศิลปชั้นสูง”  เมื่อก่อนสมัยนั้นขึ้นไปอีก เราเคยได้พบในปาฐากถาของ เซอร์ จอชูอา เรนอลด์ ว่าเขาเรียกศิลปประเภทนี้กันว่า “Polite Arts” ซึ่งแปลได้ว่า “สุภาพศิลป” หมายถึง ศิลปอันควรแก่สุภาพชนชั้นสูง ทำนองเดียวกันกับ “เสริมศิลป” Liberal Arts ซึ่งในสมัยโรมันเป็นศิลปที่คนชั้นสูง คือ “ผู้ที่มีอิสสระภาพ ไม่เป็นทาษของผู้ใด” เท่านั้น  มีสิทธิ์ที่จะร่ำเรียนและประกอบเป็นอาชีพได้ ดังนี้ ความหมายในคำว่า “Fine Arts” และคำว่า “Polite Arts” ก็ไม่ผิดอะไรกันนัก และถึงแม้ว่า ลักษณะของศิลปอังกฤษในสมัยนั้น  ออกจะสงวนผิวภายนอกและฝีมือมากกว่ารูปทรงก็จริงอยู่ แต่ในที่นี้ก็คงจะไม่ได้หมายถึง “ความปราณีต” ที่เอามาแปลกันเช่นนี้เลย นั่นเป็นแน่ เพราะในทางศิลปแล้ว เมื่อได้ความชำนาญแห่งฝีมือช่าง หลงไปในทางความปราณีต หมดจด เกลี้ยงเกลา และการบรรจงทำอย่างหยุมๆหยิมๆ เท่านั้นแล้ว หรือถือกันว่าคุณภาพเช่นนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการช่างกันเสียแล้ว  ความคล่องแคล่วในการประกอบทำสิ่งที่มีสง่าท่าทางโต ที่เหมาะเจาะกันกับหน้าที่แห่งการงาน เหมาะกันกับความประสงค์และความจำเป็นก็ขาดไป  ความเสื่อมโซมก็ตามติดๆกันมาทันที

ความงามของศิลปวัตถุอยู่ที่รูปทรง ที่ส่วนสัด ที่ท่าทาง และศิลปลักษณะอื่นๆอีก  ไม่ใช่อยู่ที่ความปราณีตแห่งฝีมือ ซึ่งเป็นการตบตาคนอยู่บนผิวของวัตถุเท่านั้น จึงไม่สู้จะสำคัญอะไรนัก มหาประเทศอื่นๆเขาเรียกศิลปประเภทนี้กันว่า “Les Beaux Arts” บ้าง “Le Belle Arti” บ้าง “Die Schönen Künste” บ้าง ซึ่งหมายถึงความงามอันวิจิตร ในส่วนรูปทรงอันมีสง่าท่าทางใหญ่โต อันเป็นลักษณะของ “ศิลปชั้นสูง” ที่ช่างศิลปอังกฤษเขาหมายถึงนั้น แต่หาใช่ “ความปราณีต” ที่เอามาหลงใช้แปลคำว่า “Fine” กันเอาตรงๆเช่นนี้เป็นแน่ ข้าพเจ้าจึงสมัครเรียกศิลปประเภทนี้ว่า “วิจิตรศิลป” ทำนองเดียวกันกับภาษาฝรั่งเศส อิตาเลีย และเยอรมัน ดังที่เคยใช้มาแล้ว และเชื่อแน่ว่าช่างศิลปแทบทุกคน คงจะปรองดองเห็นพ้องด้วย ทั้งในข้อความที่แถลงมานี้ และในคำที่ข้าพเจ้าสมัครใช้

ในประเทศนี้ ศิลป เป็นเรื่องที่เราทุกคนรู้สึกกันว่าเป็นสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้วจนชินหู จะเป็นเรื่องอะไรก็ไม่ทราบละที่เกี่ยวด้วยความสวยความงาม แต่พอซักกันเข้าก็ยิ่งรัวยิ่งรางกันเข้าทุกที และที่จริงก็ไม่เป็นสิ่งที่หน้าประหลาดใจนัก เพราะตำหรับตำราอย่างใดก็ไม่ปรากฏว่าเคยมีกันไว้ ให้เป็นสิ่งที่จะยึดเอาเป็นหลักในการศึกษาวิชาประเภทนี้กันเสียเลย และนักเรียนช่างศิลปทุกคนก็คงเข้าใจกันไปว่า ความสามารถขีดเขียนด้วยความ “ปราณีต” นี้เอง เป็นความหมายในคำว่า “ปราณีตศิลป” คือ “ศิลป” เรานี่เอง! ความคิดเห็นเช่นนั้น เป็นการทำนายไม่ใช่ความรู้จริง…

 

…ในมหาประเทศทั้งหลายนั้น ถ้าจะกล่าวถึงทางแสวงหาความรู้อันเกี่ยวด้วยศิลปแล้ว เขามีกันมากมาย วัตถุตัวอย่างและสมุดสำหรับบำรุงปัญญาในทางนี้ เขาก็มีกันนับด้วยหมื่นด้วยพัน  ฝ่ายในประเทศเรานี้จะหาสมุดดีๆเป็นภาษาไทยที่เกี่ยวด้วยศิลป สักเล่มเดียวก็ไม่มี ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า เป็นหน้าที่ของพวกที่มีอาวุโสในอาชีพ ที่มีความรู้สึกรับผิดชอบอยู่ในน้ำใจ ว่าเรามีหน้าที่สำคัญอันจะต้องพยายามให้ความรู้อันถูกต้องจริงๆแก่คนในรุ่นหน้า…

 

…ความเข้าใจผิดของนักเรียน ปีที่ 1 และปีที่ 2  (ตามที่ข้าพเจ้าได้เคยเป็นมาเองแล้วนั้น)ดูอเนกประการในชั้นต้น ความสามารถในฝีมือและความชำนาญในการขีดเขียนนั้น  ก็เป็นแต่เพียงมรรค หาใช้ “ศิลป” อันเป็นผลที่เรามุ่งประกอบทำกันนั้นไม่ วิชาเทฆนิคที่เขาสอนเราในโรงเรียน ซึ่งแม้แต่จะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับศิลปทุกคนจะต้องเรียนรู้ไว้ก็จริง แต่ถ้าเราเอามาถือเป็นสิ่งสำคัญกันเกินไป ก็จะกลับกลายเป็นสิ่งที่ตัดความสามารถและคุณภาพทางศิลปของเราเสีย  การเขียนรูปชีเปลือยก็ไม่ใช่ศิลปอย่างที่มหาชนส่วนมากมักจะหลงเข้าใจกัน การเลียนอย่างให้เหมือนธรรมชาติหรือสิ่งใดๆ อย่างเหมือนจริงไม่มีผิดเลยนั้น ก็ไม่ใช่ศิลปเสียแล้วเหมือนกัน ศิลปนั้นนัยว่าๆต้องเกี่ยวด้วยความงามเสมอก็ไม่จริง ที่ไม่เกี่ยวกับความงามเลยก็มี  การที่เรามาศึกษากันที่โรงเรียนวิจิตรศิลปเช่นที่นี่ก็ดูเป็นทีว่า เพื่อให้ได้โอกาสรับคำสั่งสอนของอาจารย์ที่ดีๆและจะได้ทำการงานได้ตามเยี่ยงอย่างของเขานั้น ก็เหลวอีกนะแหละเป็นความหลงเข้าใจผิดของ “นักเดา” ของ “นักทำนาย” ที่เข้าใจกันเอาเองทั้งนั้น

เราไปเรียนที่โรงเรียนศิลปใหญ่ๆโตๆ ที่ลือชื่อว่าดีอย่างวิเศษกัน ก็เพื่อให้ได้โอกาศสมาคมกับช่างศิลปที่รุ่นราวคราวเดียวกันกับตัวเราเอง เพื่อให้คุ้นเคยกับการวิพากษ์อย่างถากถาง และแลกเปลี่ยนความเห็นกันตรงๆ คือให้ได้โต้เถียงกันในเรื่องการงานอย่างจังๆทีเดียว  ปัญญาจึงจะแตก ที่เราจะไปโต้เถียงกันกับอาจารย์เช่นเดียวกันนั้นก็เห็นจะไม่ได้เรื่องเป็นแน่ และเมื่อเราคุ้นเคยกันกับการโต้ตอบเช่นนั้นแล้ว ถ้ามีใครเขาติเราอย่างไร ก็จะได้ไม่มัวไปเปลืองเวลาโกรธเขาให้เส้นประสาทเสียเปล่าๆ และจะได้รู้จักกลับเอาข้อความที่เขาติเรานั่นเองมาเป็นเครื่องเตือนสติเราให้สามารถใช้ประกอบความคิดเห็นให้เป็นประโยชน์ต่อไป

การแลกเปลี่ยนความเห็นกันเช่นนี้แหละ ที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า “Discussion” อันเป็นลักษณะของช่างศิลป และคนในสมัยประชาธิปตัย เพราะฉะนั้น เขาจึงถือกันว่า การให้โอกาศให้ช่างศิลปที่รุ่นราวคราวเดียวกัน ได้สมาคมแลกความเห็นกันนั้น เป็นการเจริญปัญญาได้ดียิ่งกว่าวิชา ซึ่งอาจารย์ใดๆจะสอนให้ลูกศิษย์ได้…

 

…การที่ได้โอกาศพบอาจารย์หลายๆคน ที่แสดงความเห็นต่างๆกันนั้นก็ไม่ใช่ของเลว เราจะเป็นช่างศิลปที่ดีได้ ก็โดยได้พบได้เห็นได้ยินได้ฟัง ความรู้ความคิดความเห็นจากแง่ต่างๆก่อนที่เราจะลงความเห็นของเราเอง อาจารย์ก็เป็นประโยชน์แก่เราได้ โดยช่วยชักจูงแนะนำเราในทางเหล่านี้ แต่การศึกษาที่ดีจริงแล้ว จะต้องหมายถึงการฝึกนักเรียนให้เป็นผู้ไม่ต้องอาศัยอาจารย์ และลงสุดท้าย เมื่อได้รับปริญญาแล้ว ก็ต้องสามารถเป็นอาจารย์ควมคุมแนะนำตนเองไปได้ โดยไม่ต้องอาศัยผู้ใดเลย…

 

…ที่จริง “วิจิตรศิลป” เป็นวิชาที่เราสอนกันไม่ได้และไม่ควรจะสอน แต่วิชาบางอย่างทางทฤษฎีและเทฆนิคอันเกี่ยวด้วยวิจิตรศิลปเป็นวิชาที่สอนได้ และควรจะสอน

วิชาที่สอนไม่ได้และไม่ควรสอนนั้น คือ 1. การประลองหาความคิด  Idea และการคิดเห็นเป็นรูป Imagination ในการประกอบการทำศิลปวัตถุ  2. การประลองหาวิธีสำแดงความรู้สึกในดวงจิตต์ด้วยวัตถุ และวิธีทำที่เหมาะเจาะกันกับอุปนิสสัยพิเศษฉะเพาะตัวบุคคลที่เป็นช่าง Mean of Expression

การประดิษฐ์หรือประกอบทำสิ่งทั้งหลาย ย่อมได้กำเนิดจากความคิด อาจารย์ที่พยายามเสี้ยมสอนศิษย์ให้ประกอบความคิดให้เหมือนหรือให้ตรงกันกับความคิดของตนเสมอ และคอยดัดคอยฝืนฝีมือของศิษย์ให้มาเหมือนฝีมือของตนเสมอไปแล้ว เราไม่ควรนับว่าอาจารย์ผู้นั้น มีความหวังดีและซื่อตรงต่อศิษย์เสียเลย เพราะความคิดและฝีมือของมนุษย์นั้นย่อมต่างกันจะให้เหมือนกันไปหมดนั้นเป็นไปไม่ได้…  …อาจารย์ที่ดีจริงๆแล้ว ควรจะแนะนำศิษย์ให้ประกอบความคิด และประลองหาวิธีสำแดงฝีมือของตนเองไปในทางที่สะดวกที่สุด ถนัดมือที่สุด และเหมาะกันกับอุปนิสสัยของเขาที่สุด การแนะนำนั้นจะต้องพลิกแพลงให้เหมาะกันกับกาล กับความสามารถและน้ำใจของศิษย์ ไม่เร็วเกินไป ไม่ช้าเกินไป ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ให้โอกาศนักเรียนใช้ความคิด ให้ต้องนึกต้องค้นคว้าหาเอาเอง พลิกแพลงเอาเอง ให้รู้จักประกอบความคิดและประลองฝีมือ โดยลำพังตนเองในทางที่ถูกต้อง…

 

…วิชาที่สอนได้และควรจะสอนนั้น คือ 1. การฝึกหัดให้รู้จักใช้ตา เพื่อให้สังเกตได้ด้วยความไหวพริบ ให้รู้จักบังคับมือให้กระทำการงานได้คล่องแคล่ว และหัดให้หูมีความรู้สึกสดับฟังได้โดยชัดเจนแล้วเข้าใจ  2. การสอนให้รู้จักใช้และรักษาเครื่องมือไว้ให้สามารถ การสอนให้รู้จักวัตถุเครื่องใช้ต่างๆ และวิธีประกอบทำการงานและธุรการแห่งอาชีพของช่างศิลปหัตถกรรมในทาง   เทฆนิค เพื่อให้รู้เท่าถึงงานจะได้รู้จักพลิกแพลงแสดงความคิดได้โดยสะดวก  3. การสอนให้รอบรู้หลักวิชาและศิลปลักษณะต่างๆ ในทางทฤษฎีซึ่งเขานิยมกันว่าถูกต้องตามหลักวิจิตรศาสตร์ aesthetic เพื่อให้สามารถเลือกเฟ้นประกอบการงานได้ในทางที่ถูกต้องและดีเลิศ และถ้าสามารถจะทำได้ก็จะได้คิดเพิ่มพูนนำพาศิลปวิชาช่างให้ก้าวหน้าต่อไปอีก

วิชาเหล่านี้เป็นศิลปวิธีที่สามารถจะสอนกันได้ทั้งนั้น แต่โดยลำพังสิ่งที่สอนกันได้นี้  การประกอบศิลปวัตถุจะเป็นผลสำเร็จดีจริงหาได้ไม่ นักเรียนยังจะต้องประลองให้บังเกิดความสามารถประกอบความคิด การคิดเห็นเป็นรูปขึ้นให้ได้โดยลำพังตนเอง และให้รู้จักวิธีแสดงฝีมือและความรู้สึกในน้ำใจ ให้เหมาะกันกับอุปนิสสัยของตนเอง ในทางที่ถนัดและสะดวกที่สุด ซึ่งช่างศิลปทุกคนจะต้องประลองค้นหากันเอาเอง จึงจะสามารถทำให้บังเกิดความขลัง Elan vital ให้ประกอบ        ศิลปนฤมิต Creative Art กันขึ้นได้ดังนี้ การสอนวิจิตรศิลปที่ถูกต้องดีจริงๆแล้ว จะต้องมีโครงการที่รวมวิธีศึกษาทั้งสองนี้ตามส่วนที่สมควรกัน

เมื่อช่างศิลปเขาประกอบทำศิลปวัตถุ สิ่งแรกที่เขาทำนั้น เขาต้องเริ่มด้วยความคิด คือ การคิดเห็นเป็นรูปวัตถุที่เขาจะทำขึ้น อยู่ในสมองของเขาเสียชั้นหนึ่งก่อน ความคิดที่ว่านี้ไม่หมายถึงเรื่องที่เขาจะเล่าอย่างเรื่องราวในสมุดหรือเรื่องที่ช่างเขียนเขาจะต้องเขียนเป็นภาพขึ้นประดับโบสถ์หรือระเบียง หรือเป็นรูปประกอบเนื้อเรื่องในสมุด อันไม่ใช่ “ความคิด” ของช่างศิลปที่เราหมายถึงในที่นี้ เป็นความคิดในเรื่องของนักนิพนธ์

ความคิดที่เราหมายถึงในที่นี้ คือ มูลลักษณะ Motive ที่เขาใช้ประกอบทำเป็นศิลปวัตถุขึ้น ซึ่งเป็นรูปทรง เป็นสี เป็นปึก เป็นแผ่น เป็นส่วนต่างๆ การแสดงความคิดด้วยมูลลักษณะเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการประกอบศิลปวัตถุ และการรอบรู้ในศิลปวิธีต่างๆ ที่สามารถจะเรียนหรือสอนกันได้นี้ ก็เป็นประโยชน์แต่เพียงให้ช่างศิลปสามารถแสดงความคิดด้วยมูลลักษณะเหล่านี้  และให้สามารถสำแดงความรู้สึก อันมีอยู่ในดวงจิตต์ของเขาออกมาเป็นวัตถุให้ผู้ที่ดูหรือฟังแล้วเข้าใจสังเกตเห็นได้โดยชัดเจน อันไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สำเร็จได้ง่ายๆนัก

ภาวนามัยปัญญา Inspiration ที่นำช่างในอาการที่ประกอบความคิดนั้น ช่างไม่สามารถจะบังคับให้บังเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ตามใจเขา คนบางคนกล่าวว่าเขาเป็นช่างศิลปเขาจะทำงานของเขายังไม่ได้ จนกว่าจะบังเกิดภาวนามัยปัญญาขึ้นมาเอง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าเขาจะขืนรอปัญญากันเรื่อยไปก็ตายเปล่า ปัญญาจะเกิดขึ้นมาเองนั้นไม่ได้เลย ภาวนามัยปัญญาจะเกิดได้ก็แต่ผู้ที่หมั่นคิด หมั่นประลอง หมั่นทำ ไม่หยุด ไม่หย่อน และปัญญานั้นจะไม่บังเกิดแก่ผู้ที่เกียจคร้าน ที่ได้แต่นอนรอคอยให้เกิดปัญญาขึ้นมาเอง… …ภาวนามัยปัญญาที่ว่ามานี้ เป็นผลมาจากความรู้ความชำนาญและจากอุปนิสสัยซึ่งเป็นสิ่งที่ริเริ่มให้ช่างสามารถประกอบศิลปวัตถุขึ้นได้ แต่ช่างศิลปจะบังคับให้บังเกิดปัญญาขึ้นมาเองนั้น เขาทำไม่ได้อย่างใจดอก…

 

…เมื่อเด็กเอาดินสอหรือ “เครยอง” มาขีดเขียนอะไรเล่น เช่นเขียนเป็นว่าวจุฬา เป็นต้น  นั่นเป็นอาการประกอบความคิดของเด็กทีเดียว พอคิดอะไรขึ้นมา เด็กก็มักจะพยายามขีดเขียนเป็นอาการประกอบความคิดสนับสนุนไปพร้อมกันกับสิ่งที่นึกอยู่ในน้ำใจ  โดยไม่กระดากหรืออับอายใครอย่างใดเลย แต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนอายุ เมื่อเด็กกลายเป็นหนุ่มเป็นสาวกันขึ้น ชักกระดากกันขึ้นมาแล้ว และเกิดมีความอายด้วยอาการต่างๆนาๆจึงพากันทิ้งอาการแสดงความรู้สึกในน้ำใจอย่างเปิดเผยที่ได้เคยเป็นมา โดยฝีมือในทางขีดเขียนเป็นรูปเป็นภาพ และโดยมากมักจะหันไปใช้เพลงยาว เป็นวิธีแสดงความคิดที่พลุ่งอยู่ในน้ำใจ ซึ่งกลายเป็นความลับกันไปแล้ว ลักษณะ        จิตตศาสตรที่ว่ามานี้เป็นความจริง และก็คงจะสังเกตเห็นได้กันบ้างแล้วทุกคน ผู้ที่เป็นช่างศิลปแทบทุกคนก็คงจะจำได้เหมือนกันว่าสิ่งที่เราเคยขีดเขียนเล่นกัน เมื่อเรายังเป็นเด็กๆกันอยู่นั้น มักจะเวียนมาเป็นปัจจัยให้เราประกอบเป็นความคิดกันบ่อยๆ และเราก็มักจะปรับปรุงแต่งเติมความคิดเหล่านั้นกันอยู่เสมอๆตลอดมาเป็นลำดับ  ผลของการประกอบความคิดเห็นเช่นที่ว่ามานี้ได้ปรากฏเป็นภาพ เป็นรูปหุ่น และศิลปวัตถุสำคัญๆกันไปแล้ว  เมื่อช่างศิลปเติบโตขึ้น ก็มีอยู่เป็นอันมากการประลองฝีมือของช่างศิลปที่เราว่าสอนกันไม่ได้นั้น  ก็คล้ายกันกับการประกอบความคิดไปพร้อมๆกันกับมืออย่างอาการกระทำของเด็กๆดังที่ว่ามาแล้ว จึงเป็นทางที่ช่างศิลปเขาประกอบความคิดและความชำนาญให้ “ปัญญาแตกได้” โดยไม่ต้องมีผู้ใดเสี้ยมสอนให้เลยและที่จริงก็ไม่มีผู้ใดสามารถสอนให้เขาได้ เพราะอาการเช่นนั้นมันต้องเป็นการประลองทำด้วยความคิดและฝีมือ อันบังเกิดจากน้ำใจและดวงจิตต์ โดยฉับพลันออกมาเอง…

 

…เมื่อเทียบความตามที่ว่ามานี้แล้ว การสอนวิจิตรศิลปนั้นเราสอนกันได้ก็แต่ในทางทฤษฎีและวิชาเทฆนิคต่างๆ ส่วนการประกอบความคิดนั้น ถึงแม้ว่าอาจารย์จะพยายามอธิบายให้ศิษย์สักเท่าไรก็ไม่เป็นผลดี จะกลับกลายเป็นโทษ และตัดความสามารถของศิษย์เสียด้วยซ้ำ  ศิษย์อาจเข้าใจผิดได้ต่างๆนาๆ เพราะในชั้นต้นก็ยังไม่คุ้นเคยกันกับภาษาของช่างศิลป อันประกอบมูลด้วยลักษณะต่างๆเป็นเส้น เป็นรูปทรง เป็นสี เป็นปึก เป็นแผ่นคล้ายๆ กันกับภาพสมมุติ หรือเครื่องหมายสมมุติ สิ่งที่อาจารย์พอจะทำได้ก็มีแต่เพียงแนะนำให้นักเรียนเข้าใจทีละเล็กละน้อยไปก่อน เมื่อคุ้นเคยกันเข้าบ้างแล้ว จึงค่อยเพิ่มวิชาให้ยากขึ้นทวีขึ้นเป็นลำดับกันไป การซักไซ้ไต่ถามฟังความเห็น และสังเกตวิธีที่อาจารย์เขาประกอบความคิดกันนั้น เป็นวิธีบำรุงปัญญาความรู้ได้ดีที่สุด โอกาศให้ได้พบปะสนทนากันกับผู้ที่ชำนาญ และคุ้นเคยกับการงานแห่งอาชีพมากกว่าตัวเราเองทุกๆวัน และโอกาศให้ได้พบปะสนทนากันกับช่างศิลป และช่างหัตถกรรมทุกประเภทงาน ก็เป็นวิธีประกอบปัญญาให้แก่นักเรียนช่างศิลปได้ไม่น้อยไปกว่าสมุดและตำราที่เราไม่มีไว้สำหรับอ่านและพลิกดู…

 

ศิลป ศาสนา และมหาชน

ศิลปนั้น ก็ไม่ผิดอะไรกันกับพระศาสนา ศิลปและศาสนาจะเจริญขึ้นในประเทศใดได้ ก็โดยความเลื่อมใสของมหาชน ประเทศใดไม่มีศิลป ศีลธรรมของคนในประเทศนั้น ก็ไม่ผิดอะไรกันกับคนในประเทศที่ไม่มีศาสนา จะนับว่าประเทศนั้นมีอารยธรรมอันบริบูรณ์นั้นไม่ได้…

 

…ศิลปวัตถุนั้นเป็นสิ่งที่ประกอบทำขึ้นด้วยการพินิจพิจารณาสังเกตเลือกเฟ้น และจดจำทำขึ้นไว้ด้วยความสุขุม ให้เป็นวัตถุอันถาวร ไม่วอกแวกฟางฝ้าเหมือนตาเห็น และต้องเป็นสิ่งที่ดีพอที่จะจูงตาและจับใจผู้ดู ชวนให้พินิจพิศดู แล้วทำให้บังเกิดรสซึมซาบเข้าไปในดวงจิตต์ ให้เกิดความชื่นบานสำราญใจหรือเศร้าโศก หรือเลื่อมใสได้ประดุจหัวข้อสำคัญแห่งพระศาสนาอันสามารถจะยึดน้ำใจมนุษย์ไว้ได้…

 

…ในขณะนี้ วิจิตรศิลป หรือคณะช่างศิลปหัตถกรรมแห่งประเทศเรามีวงแคบที่สุด ถ้าเอาวงการของเราไปเปรียบกันกับคณะช่างศิลปแห่งมหาประเทศที่รุ่งเรืองทางคุณภาพเช่นนี้แล้ว ก็เท่ากันกับเอาน้ำหยดเดียวไปเปรียบกันกับมหาสมุทร ถึงกระนั้น คนในประเทศเราก็ยังไม่วายคุยโตถึงการช่างไทย คือ “วิจิตรศิลปสยาม” ซึ่งเรารู้สึกกันอยู่ทุกคนว่าเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมของเราที่ยังเหลืออยู่ และที่ยังจะพอคุยอวดเขาได้บ้าง แต่ตัวอย่างที่เราชอบอวดชาวต่างประเทศเขานั้น โดยมากก็หาใช่ฝีมือของคนสมัยนี้ เป็นฝีมือของคนในยุคก่อนๆเขา และคนในสมัยเรานี้ก็ไม่มี     โอกาศ หรือความสามารถในทางศิลปพอที่จะทำได้เท่าเทียมกันกับงานที่เขาได้ทำขึ้นไว้…

 

…ถึงแม้ว่า คนในสมัยนี้จะไม่เห็นความสำคัญของวิจิตรศิลปก็ดี เราไม่ยอมเชื่อเสียเลยว่า วิจิตรศิลปของเราจะซาโซมลงจนศูนย์หายไปเสียสิ้น  ถึงแม้ว่าอุปสรรคอันร้ายกาจจะบังเกิดขึ้น หรือผู้ใดที่ใจชั่วจะทำลายศิลปวัตถุทั้งหลายให้หมดสิ้นทั่วทั้งประเทศ  แต่เมื่อความปรารถนาของมหาชนหันกลับมาหาสิ่งที่ให้ความสุขแก่ดวงจิตต์และน้ำใจ มากกว่าสิ่งที่กำเนิดความสุขกายและโภคสมบัติ เมื่อความสามารถของช่างหัตถกรรมเข้มแข็งขึ้นมา และเมื่อปัญญาและความคิดของช่างศิลปปราชญ์เปรื่องพร้อมเพรียงกันขึ้นมาใหม่อีกคราวหนึ่งแล้ว “วิจิตรศิลปสยาม” ก็จะฟื้นขึ้นมาใหม่ด้วยเหมือนกัน แต่แน่ละศิลปใหม่ของเรานั้น อาจไม่มีเชื้อศิลปสยามเดิมติดเสียเลย แต่ก็จำเป็นจะต้องมีลักษณะ หรือเชื้อศิลปอย่างใดอย่างหนึ่งมาเจือจานเป็นชะนวนที่ต่อเชื่อมเป็นพืชพันธุ์ให้บังเกิดมีศิลปขึ้นในประเทศนี้อีก  ถ้าศิลปสยามของปู่ย่าตายายของเราจะสาปศูนย์ไปเสียทีเดียว ดังศิลปแห่งชนชาวอเมริกาเดิม อันเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นนักหนา ศิลปสยามอันจะบังเกิดมีขึ้นมาใหม่อีกนั้น ก็อาจมีลักษณะและทำนองอย่างศิลปแห่งยุโรป ดังที่ได้เป็นมาแล้วในอเมริกาก็อาจเป็นได้ แต่นั่นแหละ ใครบ้างจะไม่เสียดายวิจิตรศิลปอันมีลักษณะพิเศษของประเทศเราที่ได้เคยใช้กันมา ถึงแม้ว่าเราจะผูกพันเสียดายในศิลปลักษณะเดิมของเราสักเท่าไร เราก็ไม่หมายจะหันกลับไปอยู่ตึกอย่างกุฎีของพระสงฆ์ที่วัดโพธิ์ หรืออยู่เรือนชะนิดที่ใช้ใต้ถุนเป็นกะโถนกันต่อไปอีก ศิลปของเราจะต้องเป็นศิลปที่ประกอบขึ้นด้วยวิชาเทฆนิคที่ทันสมัย แต่มีลักษณะเป็นไทยแท้ๆคือไม่เหมือนศิลปลักษณะแห่งประเทศใดๆ เท่าศิลปลักษณะไทยที่เรานิยมและได้เคยใช้กันมาแล้ว

ใครเลยจะทำนายได้ว่า ภายหน้าศิลปในประเทศเราจะขยายตัวไปอย่างไร? ที่พอจะทราบได้ก็คือ ลักษณะของศิลปในอนาคตนั้นจะคล้อยตามวัฒนธรรม และความนิยมของมหาชนซึ่งจะเป็นผู้นำไป และไม่ใช่ตามความนิยมของช่างศิลปเท่านั้น นั่นเป็นของแน่ทีเดียว…

 

…ในชั้นต้น อย่าไปหมายถึงวิจิตรศิลปกันนักเลย เราควรจะหมายถึงแต่เพียงคุณภาพของช่างหัตถกรรมพื้นเมือง อันจำเป็นจะต้องปรับให้มีไว้เป็นมาตรฐานอันสมควรเสียก่อน เมื่องานขั้นนี้ดีขึ้นเป็นลำดับกันไปจนถึงมาตรฐานอันดีเลิศแล้ว วิจิตรศิลปก็จะมีกำเนิดตามหัตถกรรมขึ้นมาเองจากพวกช่างหัตถกรรมนั่นเอง ดังที่ได้เป็นมาแล้วในสมัยก่อนๆ  การที่เริ่มปรับปรุงด้วยฝึกช่างศิลปก่อนช่างหัตถกรรมนั้น เป็นความคิดที่ได้กระทำกันมาในประเทศเราในอาชีพทั้งหลายแทบทุกประเภทคือ หัดคนชะนิดชี้นิ้วก่อนคนที่จะลงมือทำงาน ผลสุดท้ายก็ไม่มีใครอยากเป็นคนที่จะลงมือทำงาน นั่นก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่ผลร้ายไปตกอยู่ที่โภคชีพของประเทศที่เราจะไม่มีช่างหัตถกรรมที่มีฝีมือกันกับเขาได้ และจะต้องใช้ช่างต่างประเทศในทางหัตถกรรมกันตลอดไป ศิลปของเราก็จะไม่มีลักษณะอันเป็นไทยแท้ๆกันได้เลย…

 

…วิจิตรศิลปในประเทศใดจะรุ่งเรืองขึ้นจากโรงเรียนวิจิตรศิลปและโรงเรียนช่างหัตถกรรมเท่านั้นไม่ได้เลย นอกจากจะมีการอบรมมหาชนให้รู้จักเลื่อมใสในศิลป สนับสนุนไปด้วยกัน  โรงเรียนเหล่านั้นย่อมขาดสัมพันธ์อันจำเป็นสำหรับต่อเชื่อมระหว่างมหาชน คณะช่างหัตถกรรมและ      โรงเรียนศิลป ความนิยมเลื่อมใสในศิลปและวัฒนธรรมของประเทศเราจะเจริญอย่างไรได้?

วิจิตรศิลปน้อย (Minor Fine Arts) เช่น วรรณคดี และดนตรีนั้น อาจรุ่งเรืองขึ้นได้ไม่น้อยในหมู่ผู้วิเศษ (Genius) ที่ฉลาดเฉลียวทันๆกันสักสองสามคนเท่านั้น โดยไม่ต้องอาศัยความนิยมของมหาชนสนับสนุนไปด้วยเลย เช่น ในสมัยของเพทราค หรือรับเลย์ หรือในรัชกาลที่ 2 เป็นต้น  ส่วนวิจิตรศิลปใหญ่ (Major Fine Arts) คือ ช่างปั้นสลัก จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นงานชนิดนุ่มหนืด อันประกอบขึ้นเป็นรูป เป็นทรง เป็นปึก เป็นแผ่น ที่จำจะต้องอาศัยความสังเกตพินิจพิศดูด้วยนัยน์ตา อันได้เคยรับความฝึกฝนจนชำนาญมาบ้างแล้ว จึงจะดูแล้วรู้จักเห็นได้เข้าใจได้ และโดยที่วัตถุเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ตำตามนุษย์อยู่ ถึงแม้แต่จะไม่อยากดูก็ต้องเห็นเช่นนั้นแล้ว จึงเป็นการจำเป็นที่วิจิตรศิลปประเภทนี้ จะต้องอาศัยมหาชนที่ได้รับความอบรมในทางศิลป รู้จักดู แล้วแลเห็นได้ เข้าใจได้กับเขาจริงๆ…

 

…วิจิตรศิลปศึกษาอย่างที่เราหมายถึงนั้น ต้องเป็นการงานที่สามารถนำวัฒนธรรมและ  อุตสาหกรรมของประเทศทุกชะนิด ไปสู่ความเจริญเท่าเทียมเสมอหน้ากันกับช่างต่างประเทศเขา และถ้าจะทำได้ ก็จะต้องหมายให้คุณภาพและความสามารถเยี่ยมขึ้นไปกว่าเขาเสียอีก เพราะฉะนั้นเราจึงจำต้องเน้นว่า ผู้ที่จะเป็นช่างศิลปกับเขาแล้ว จึงจำเป็นจะต้องเลือกสรรค์เอาฉะเพาะแต่ผู้ที่อุดมด้วยการศึกษาอย่างบริบูรณ์ และจะต้องเป็นผู้ที่มีอุปนิสสัยเป็นช่างศิลปจริงๆที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนแล้ว  การสมัครเข้ามาเป็นช่างศิลปนั้นเอง ก็ควรจะเป็นการกระทำด้วยความเลื่อมใส อันจะอดกลั้นไว้ไม่ได้แล้ว อย่างพระสงฆ์ที่ท่านสละได้หมดสำหรับพระศาสนา ช่างศิลปของเราก็จะต้องสละได้หมดสำหรับการนฤมิตคิดทำของ และเพื่อศิลปเท่านั้น ไม่สนใจใยดีในลาภยศอำนาจวาสนาหรือการบ้านการเมืองอย่างไรเลย เราจะยังชีวิตอยู่เพื่อศิลป ซึ่งเราถือว่าเป็นศาสนาของเรา เช่นนั้นแล้ว ความรุ่งเรืองในทางศิลปแห่งประเทศนี้ ก็คงไม่ไกลไปนัก แต่ก็จะไม่เป็นผลสำเร็จได้เลย ถ้ามหาชนไม่เข้าใจจุดหมายของพวกเราดังว่ามานี้

ในการประกอบอาชีพของช่างศิลปต่อไปภายหน้า ขอให้นักเรียนและช่างศิลปทุกๆคนตรึกตรองด้วยความเพ่งเล็งไปให้ไกลสักหน่อยหนึ่ง และคิดดูทางได้ทางเสียแห่งอาชีพของท่านว่า

(1) ในการประกอบทำศิลปวัตถุต่างๆขึ้นนั้น ถ้าเราจะคิดทำของให้ใช้ได้เหมาะเจาะจริงๆแล้ว เป็นการจำเป็นที่สุดที่เราจะต้องรู้จักตลาดและความประสงค์ของผู้ซื้อ ตลาดสินค้าของเรามีแล้วหรือไม่? อยู่ที่ไหนกัน? ของที่เราจะประดิษฐ์คิดทำขึ้นนั้น เราจะทำขึ้นทำไมกัน? เราจะเรียนศิลปวิชาเหล่านี้ไปเพื่อทำรูปหุ่นไปตั้งเกะกะอยู่ตามมุมห้อง และเขียนรูปเข้ากรอบไว้ไปเที่ยวติดตามหอแสดงในพิพิธภัณฑ์อย่างที่ฝรั่งเรียกกันว่า “อาคาเดมี” เช่นนั้นหรือ? ถ้าเช่นนั้นแล้วโรงเรียนวิจิตรศิลปของเราก็มีจุดหมายอย่างโรงเรียนวิจิตรศิลปของมหาประเทศเขาอย่างเต็มที่ คือ ไม่หมายประกอบประโยชน์อย่างใด นอกจากการเรียนวิจิตรศิลปไว้สอนนักเรียนช่างศิลปให้ไปสอนวิจิตรศิลปให้นักเรียนช่างศิลปสอนวิจิตรศิลปให้นักเรียนช่างศิลป ฯลฯ กันต่อๆไป และเรียวลงไปทุกที เหมือนตัวเลข 0,999,999 ไม่รู้จักเต็มหน่วย เพราะวิชาที่เราเรียนไปนั้น จะไม่มีโอกาศประกอบเป็นศิลปนฤมิตอันเป็นประโยชน์แห่งชีวิตเราจริงๆเลย ศิลป “อาคาเดมิก” นั้นดีสำหรับประเทศที่รุ่งเรืองทางโภคชีพ และอุตสาหกรรมแล้ว แต่ประเทศเราต้องการศิลปนฤมิต  ศิลปอุตสาหกรรมและตลาด ซึ่งเรามีแล้วหรือไม่?

(2) เราเรียนเป็นช่างศิลป อันหมายถึงผู้ใช้ความคิดทำและออกแบบอย่าง แบบอย่างที่เราประกอบขึ้นนั้น ช่างหัตถกรรมเขามีหน้าที่เป็นผู้ประกอบทำขึ้นด้วยความชำนาญ ช่างหัตถกรรมที่เราจะต้องร่วมมือด้วยนั้น อยู่ที่ไหน? มีประเภทใดบ้าง? เราควรจะรู้จักความสามารถของเขาว่าเขาเป็นไทย หรือเป็นช่างต่างประเทศ? ถ้าเป็นช่างต่างประเทศ ช่างเหล่านั้นเขาเข้าใจศิลปลักษณะสยามได้ดีหรือไม่? ถ้าไม่เข้าใจ เราควรจะผูกแบบโดยอนุโลมตามเป็นทำนองของช่างต่างประเทศพวกนั้นหรือ? เราจะทำเช่นนั้นได้ดีจริงๆหรือ? หรือเราจะควรทำศิลปวัตถุพันทางคือ ออกแบบเป็นไทยแต่ใช้ฝีมือเป็นเทศกันเรื่อยไป? ถ้าเราจะใช้ช่างหัตถกรรมที่เป็นไทย ช่างพวกนั้นเขาประกอบการศึกษาและหัดฝีมือทางปฏิบัติงานกันที่ไหน? อย่างไร? จึงจะมีฝีมือทั้งคุณภาพและสามารถพอที่จะทำการงานตามแบบ และตัวอย่างของเราได้ดีจริงๆ

(3) เมื่อเราสำเร็จการศึกษาในทางทฤษฎีจากโรงเรียนแล้ว เราจะไปเรียนปฏิบัติงานกันที่ไหน? เราจะไปประกอบอาชีพกันอย่างไร? ในสำนักงานโรงงาน หรือสถานใด? จะยัดเยียดกันเข้าไปทำราชการกันเรื่อยไปหรือ? หรือจะหาญออกไปลองสู้ช่างต่างประเทศที่ยึดตลาดกันไว้หมดแล้ว? ช่างต่างประเทศพวกนั้น หรือเขาจะยอมสอนวิธีปฏิบัติงานให้แก่เรา? เมื่อเขารู้กันอยู่แล้วว่าเราจะไปคิดแย่งงานมาจากเขา  นอกจากช่างต่างประเทศพวกนี้แล้ว นักเรียนช่างยังต้องสู้อาจารย์ที่เคยสอนเรามา สู้โรงเรียนที่เราได้เคยเรียนวิชากันมา เหมือนเด็กที่ต้องคิดสู้บิดามารดาของตนเอง…

 

…ว่าถึงช่างศิลปโดยฉะเพาะแล้ว ปัญหาที่เป็นหรือตายกันจริงๆนั้น อยู่ที่ตลาด อยู่ที่การฝึกสอนช่างหัตถกรรมพื้นเมือง และอยู่ที่สำนักงานหรือโรงงาน หรือคณะหัตถกรรมและพาณิชยการที่จะจัดการควบคุมกันประกอบอาชีพ และเพื่อชิงเอาอิสสระภาพในทางหัตถกรรมคืนมาให้ช่างไทย ปัญหาเหล่านี้ข้าพเจ้าก็ได้เคยคิดแก้ไว้บ้างแล้ว แต่จำจะต้องขอให้ท่านผู้ที่มีน้ำใจเลื่อมใสในศิลปจริงๆทุกคน  ได้โปรดสนับสนุนช่วยกันคิดแก้ไขปรับปรุงกันไปจนเป็นผลสำเร็จให้จงได้ เพื่อฟื้นวัฒนธรรมและศิลปสยามให้กลับรุ่งเรืองทันสมัยขึ้นมา และภายหน้าจะได้เจริญขึ้นเป็นลำดับกันต่อๆไป

 

ตัดตอนมาจาก: ม.จ. อิทธิเทพสรรค์ กฤดากร. “คำแนะนำนักเรียนช่างศิลป์ในวิจิตรศิลปศึกษา.” เรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม. พิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ,กรม ศิลปากร พ.ศ. 2478, หน้า 103-147.


บทวิเคราะห์

 

บทวิจารณ์ที่ตัดตอนมาจากข้อเขียนซึ่งเรียบเรียงจากคำบรรยายของหม่อมเจ้า          อิทธิเทพสรรพ์ กฤดากร เมื่อปี พ.ศ. 2476  แม้ผู้บรรยายมุ่งที่จะให้ความรู้เรื่องแนวทางการศึกษาศิลปะแก่นักเรียนช่างศิลป์ก็ตาม แต่เนื้อความก็ครอบคลุมไปถึงทัศนคติของคนร่วมสมัยที่มีต่องานศิลปะ ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อความตกต่ำของงานศิลปะและการช่างไทยในขณะนั้น  ในประเด็นหลังนี้  ดูจะมีน้ำหนักไม่น้อยในเนื้อหาของการบรรยาย และโดยเนื้อแท้แล้วเรื่องนี้ น่าจะเป็นประเด็นหลักเสียด้วยซ้ำ ทั้งนี้ การสรุปความในตอนท้ายของการบรรยายก็มีความชัดเจนอยู่ และอาจเป็นด้วยเหตุผลที่ต้องการสื่อความข้อนี้ต่อคนในวงที่กว้างออกไป หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์จึงเรียบเรียงคำบรรยายนี้ออกมาเป็นข้อเขียน และนำมาเผยแพร่ในวารสารวิทยาจารย์ในปีเดียวกันนั้นเอง

ความมุ่งหมายที่จะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจต่อศิลปะเพื่อกระตุ้นให้คนส่วนใหญ่หันมาส่งเสริมงานศิลปะและหัตถกรรมของช่างไทยนั้น  หากพิจารณาจากข้อเขียนนี้อาจกล่าวได้ว่าหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ทำด้วยความตั้งใจและเต็มใจเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกัน บทบาทดังกล่าวก็เกี่ยวพันโดยตรงกับหน้าที่ในงานของท่านด้วย  หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ศึกษาวิชาสถาปัตยกรรม จากประเทศฝรั่งเศส เมื่อครั้งที่วิชานี้ยังสอนรวมกับวิชาการศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น จิตรกรรม และประติมากรรม ในสถาบันศิลปะ Ecole des Beaux-Arts ในปารีส  ท่านจึงมีความรู้และได้ฝึกฝนมาในทางศิลปะด้วย หลังจากนั้นก็เข้ารับราชการในกรมศิลปากร ซึ่งขึ้นอยู่กับกระทรวงวัง ตั้งแต่ พ.ศ. 2459  จนกระทั่งกรมศิลปากรย้ายมาสังกัดในราชบัณฑิตยสภา เมื่อ ปี พ.ศ. 2469 ก็ได้เลื่อนเป็นผู้อำนวยการศิลปากรสถาน และอยู่ในตำแหน่งนี้จนกระทั่งถึงแก่กรรม เมื่อ ปี พ.ศ. 2477  ข้อเขียนที่คัดมาในตอนต้นจึงเป็นผลงานในขณะที่ท่านอยู่ในตำแหน่งซึ่งเทียบเป็นอธิบดีกรมศิลปากรในปัจจุบัน  นอกจากข้อเขียนนี้แล้ว ยังมีบทความอีกหลายตอนที่เขียนและเผยแพร่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน[1] ซึ่งว่าด้วย สถาปัตยกรรม ศิลปะ และหัตถกรรม อาทิ “สถาปัตยศึกษา”  “สหกรณ์หัตถกรรม : บันทึกการประลองหาอิสสระภาพในทางหัตถกรรมคืนแก่สยามประเทศ” และ “วิชาวาดเขียนกับการศึกษา” เป็นต้น  ข้อเขียนเหล่านี้ รวมทั้งบทความที่คัดมาข้างหน้านั้น เป็นสิ่งยืนยันที่ดีว่า อธิบดีกรมศิลปากรท่านนี้ตระหนักดีถึงหน้าที่ของท่านที่จะต้องเร่งฟื้นฟูบำรุงงานศิลปะของช่างไทย ซึ่งท่านก็ลงมือเป็นส่วนตัวด้วยการเขียนบทความเหล่านี้ขึ้น

ข้อเขียนของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ชิ้นนี้ ให้ภาพที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ศิลปะของไทยในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นกำลังอยู่ในภาวะที่วิกฤต และงานศิลปะของไทยมีวงจำกัดอยู่ในเรื่องของความประณีต และขาดแคลนผู้รู้ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหนักก็คือ ในระดับที่รองลงไปจากวิจิตรศิลป์ในชั้นงานฝีมือของช่างก็ตกต่ำลงด้วยจน “ช่างต่างประเทศเข้ามายึดตลาดไปหมดแล้ว” เราควรพิจารณาด้วยว่า ภาพจากมุมมองของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ในบทวิจารณ์นี้ตั้งอยู่บนจุดยืนจากประสบการณ์ของการทำงานกับช่างในทางสถาปัตยกรรม  ในบทความเรื่อง          “สถาปัตยศึกษา” ความตอนหนึ่งอธิบายไว้ว่า ช่างหัตถกรรมจีนเข้ามายึดตลาดก่อสร้างจากไทยไปเสียหมด เพราะมีการนำช่างจีนมาสร้างงานตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3  และเมื่อความนิยมแบบตะวันตกตามติดกันเข้ามา นายช่างออกแบบชาวตะวันตกก็รับเอาช่างหัตถกรรมจีนไปใช้ เพราะช่างไทยร่วงโรยกันหมดเสียแล้ว[2] ในข้อเขียนดังกล่าวชี้ชัดว่า การประเมินว่าช่างไทยตกต่ำนั้น หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์มองจากช่างฝีมือในทางก่อสร้าง แล้วจึงค่อยขยายวงออกไปสู่งานของช่างหัตถกรรมอื่นๆ  เมื่อเราพิจารณาว่า ความนิยมรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่ครอบคลุมไปถึงเชื้อพระวงศ์และขุนนางด้วย  นี่ย่อมหมายรวมถึงความนิยมในวัตถุ สิ่งของ เครื่องใช้ในแบบตะวันตกที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน  เมื่อรสนิยมของผู้อุปถัมภ์งานช่างไทยกลุ่มสำคัญเปลี่ยนทิศไปเช่นนี้ ความเห็นของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ที่ว่า งานช่างไทยตกต่ำลงก็คงมีความจริงไม่น้อย  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควรตระหนักก็คือ ความนิยมในศิลปะตะวันตกที่ถูกยอมรับว่าเป็นเครื่องแสดงความทันสมัยและความก้าวหน้านั้นหมายถึงว่า ความนิยมนี้ได้กลายมาเป็นเกณฑ์หรือมาตรวัดความก้าวหน้า ดังนั้นรูปแบบและลักษณะของศิลปะใดที่ไม่เข้าตามเกณฑ์ก็ย่อมถูกระบุว่า “ล้าหลัง”  หากเราจะพิจารณาภาพรวมของงานศิลปะและงานฝีมือของช่างไทยในช่วงเวลาดังกล่าวให้ชัดเจนขึ้นแล้ว ก็ควรมองอีกด้านหนึ่งด้วยว่า งานช่างไทยมีลักษณะที่สนองรูปแบบวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่เดิม และไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อแข่งขันทางการค้ากับต่างประเทศ หากจะมีการแข่งขันกันบ้างก็เป็นแต่เพียงการแข่งขันฝีมือของช่างภายใต้กรอบแนวคิดทางศิลปะแบบเดียวกันภายในประเทศเท่านั้น  ส่วนความเสื่อมลงของศิลปะและการช่างนั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการทางสังคมที่ขาดผู้อุปถัมภ์และนำไปสู่การขาดความนิยมในที่สุด  เพราะรูปแบบเก่าไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ในท้ายที่สุด การพิจารณาในประเด็นนี้ เราควรตระหนักด้วยว่าเกณฑ์ที่หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ใช้ประเมินผลงานศิลปะและงานช่างไทยก็เป็นเกณฑ์ที่อิงอยู่กับรสนิยมแบบตะวันตกนั้นเอง

ความในตอนต้นกับตอนท้ายของบทวิจารณ์นี้มีเนื้อความที่ดูแย้งกันในตัวอยู่บ้าง เมื่ออ่านบทวิจารณ์นี้แล้ว เราอาจสรุปว่า ทัศนะของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ต่องานศิลปะนั้น เน้นหนักไปในเรื่องของความสามารถด้านทักษะและฝีมือเชิงช่าง และที่สำคัญเป็นทัศนะที่มุ่งมอง “ประโยชน์” ของงานศิลปะเป็นหลัก แม้คำอธิบายถึงศิลปะในตอนต้น ผู้เขียนดูจะให้ความสำคัญกับความคิดและการสร้างสรรค์อย่างมาก และถึงกับย้ำว่า ความประณีตและความสามารถทางเทคนิค ตลอดจนความสามารถในการเลียนแบบถ่ายทอดจากธรรมชาติ หรือแม้แต่การยึดถือความงามเองก็ตามก็ยังไม่ใช่การเข้าถึงความหมายของศิลปะ  หากต้องเป็นการสั่งสมประสบการณ์จากการปฏิบัติจนถึงขั้น “ปัญญาแตกออกไปได้” จึงจะเล็งเห็นความหมายของศิลปะ  นอกจากนี้ยังเน้นความสำคัญของการสร้างสรรค์ที่ก้าวไปถึงขั้นของการแสดงออกเฉพาะตัวด้วย  การแสดงทัศนคติต่อศิลปะดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าสังเกตอย่างยิ่ง เพราะนี่อาจเป็นครั้งแรกๆในสังคมไทยที่มีการแสดงความคิดเห็นต่องานทัศนศิลป์ในทิศทางนี้ และถูกระบุไว้อย่างชัดเจนโดยบุคคลที่เป็นคนไทย  โดยเฉพาะ หากเราตระหนักในเบื้องต้นว่า ข้อเขียนนี้เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2476 เมื่อศิลปะร่วมสมัยยังไม่ก่อตัวขึ้นด้วยซ้ำ  อย่างไรก็ตาม ความในตอนท้ายหลังจากที่กล่าวถึง “ศิลปะ ศาสนา และมหาชน”  หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์กลับแสดงทัศนะไปในทิศทางที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งเสริมการศึกษาวิจิตรศิลป์ โดยเฉพาะ จิตรกรรม และประติมากรรม โดยให้เหตุผลว่า เป็นศิลปะที่ยังไม่ก่อประโยชน์ และ “ดีสำหรับประเทศที่รุ่งเรืองทางโภคชีพและอุตสาหกรรม” แล้วเท่านั้น  พิจารณาจากข้อเขียนนี้ เราสรุปเพิ่มเติมได้ว่า ในทัศนะของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์นั้น  “มหาชนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจและยังไม่มีความพร้อม”  ท่านจึงระบุว่า “ในชั้นต้น อย่าไปหมายถึงวิจิตรศิลป์กันนักเลย เราควรจะหมายถึงแต่เพียงคุณภาพของช่างหัตถกรรมพื้นเมือง”  ในแง่นี้ ผู้เขียนอาจประเมินสังคมไทยในเรื่องของความพร้อมที่จะเรียนรู้ศิลปะไว้ค่อนข้างต่ำ[3] สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ หลังจากข้อเขียนนี้เผยแพร่ไปแล้ว 1 ปี หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ก็ถึงแก่กรรมในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2477  และในปีเดียวกันนี้เอง ที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้ถือกำเนิดขึ้นในสังกัดของกรมศิลปากร และได้พัฒนาต่อมาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในที่สุด  พัฒนาการของการศึกษาศิลปะจากช่วงเวลาของบทวิจารณ์นี้มาจนถึงปัจจุบัน อาจเป็นเครื่องยืนยันที่ดีว่า สังคมไทยขณะนั้นมีความพร้อมที่จะรับและเรียนรู้ศิลปะในทิศทางใหม่เพียงใด

สิ่งที่น่าพิจารณาประการหนึ่งก็คือ ทัศนะของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ที่มุ่งมองศิลปะในแง่ที่เป็น “ผลผลิต” ทางสังคม  แม้ความบางตอนจะแสดงความเห็นว่าให้ความสำคัญกับศิลปะในฐานะที่เป็นเครื่องยกระดับสติปัญญาก็ตาม แต่โดยภาพรวมแล้ว อาจกล่าวได้ว่า หม่อมเจ้า      อิทธิเทพสรรพ์มีทัศนะค่อนไปในทางที่มุ่งมองประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมจากศิลปะ  ในเรื่องนี้ หากเราพิจารณาสถานะของงานศิลปะและงานช่างไทยตามที่ผู้เขียนอธิบาย ก็อาจเห็นเหตุผลที่ว่า เพราะเหตุใดผู้เขียนจึงต้องกระตุ้นให้สังคมไทยหันมาสนับสนุนกันเองมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าสังเกตในประเด็นนี้อยู่ในจุดที่ว่า เพราะเหตุใดผู้เขียนจึงต้องกระตุ้นด้วยการผูกโยงศิลปะ ศาสนา และมหาชนเข้าด้วยกัน  เนื้อความหลังจากที่ยกเรื่อง ศิลปะ ศาสนา และมหาชนขึ้นมาแล้ว  หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ก็ย้ำถึงศิลปะในฐานะที่เป็นเครื่องแสดงถึงความเจริญทางวัฒนธรรมและอารยธรรมของประเทศ จนมาลงท้ายที่การแย่งชิงเอาอิสรภาพทางช่างคืนจากชาวต่างประเทศ  ตามทัศนะดังกล่าว ผู้เขียนยกศิลปะให้มีบทบาทสูงและสำคัญจนราวกับเป็นกิจกรรมของการ “สร้างชาติ”  หากพิจารณาตามข้อเขียนนี้อาจประเมินได้ยากว่า สถานการณ์ทางสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว 1 ปีเป็นอย่างไร  ผู้เขียนจึงต้องกระตุ้นมหาชนในลักษณะนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ผู้เขียนตระหนักดีว่า สถาบันที่เคยเป็นผู้อุปถัมภ์งานศิลปะมาแต่เดิมไม่อาจเป็นที่พึ่งอีกต่อไป  ส่วนรัฐใหม่ก็อาจยังไม่พร้อมที่จะเข้ามาเกื้อหนุนแก่ศิลปะ  ผู้เขียนจึงเลือกที่จะฝากศิลปะเอาไว้กับศาสนาเป็นอันดับแรก  ดังที่ระบุว่า “ศิลปะนั้น ก็ไม่ผิดอะไรกันกับพระศาสนา”  การกระตุ้นปลุกเร้าประชาชน ในแง่นี้อาจเป็นเพราะผู้เขียนเองตระหนักดีว่า ไม่มีผู้อุปถัมภ์ใดในขณะนั้นที่จะยั่งยืนไปกว่าการสร้างให้เกิดศรัทธาและหันมาสนับสนุนกันเองในหมู่ประชาชน ดังที่ระบุว่า “ศิลปะและศาสนาจะเจริญขึ้นในประเทศใดได้ ก็ด้วยความเลื่อมใสของมหาชน”  สิ่งที่น่าสังเกตอย่างยิ่งก็คือ การกระตุ้นปลุกเร้าประชาชนของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ด้วยการเทียบเคียงศิลปะเข้ากับศาสนานั้น จุดประสงค์ประการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการช่วงชิงอิสรภาพมาจาก “ช่างต่างประเทศ” แต่ด้วยคำอธิบายในทำนองเดียวกันนี้เองที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี[4] นำมาใช้อธิบายกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนับสนุนงานศิลปะในเวลาต่อมา หากความพ้องกันทางความคิดในเรื่องนี้ของบุคคลทั้งสองคงมีจุดประสงค์ที่ไม่เหมือนกันไปเสียทั้งหมด

เราไม่อาจทราบได้ว่า ศิลปะร่วมสมัยของไทยจะเป็นอย่างไร หากการศึกษาและพัฒนาการของศิลปะเดินไปในทิศทางที่หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ได้ร่างไว้ในอดีต เพราะประวัติศาสตร์เดินไปในทิศทางอื่น ส่วนความแคลงใจของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ที่ทิ้งไว้ในตอนท้ายของบทวิจารณ์นี้ ก็มีคำตอบที่ชัดเจนแล้วในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการเรียนรู้และเรียนจากครูชาวต่างประเทศ    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรยกย่องหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ก็คือ การตระหนักถึงความรับผิดชอบที่จะต้องกระตุ้นและโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่หันมาสนับสนุนงานศิลปะ ซึ่งความพยายามนี้เด่นชัดในเรื่องของการส่งเสริมการศึกษา และที่สำคัญก็คือ การที่หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์แนะนำให้ผู้เรียนถือเอาการวิจารณ์เป็นเครื่องมือสำคัญของการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา และนี่อาจเป็นแนวทางแรกและแนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์ขึ้นในสังคมไทยก็เป็นได้          บทวิจารณ์นี้อาจจัดได้ว่าเป็นการวิจารณ์ทัศนศิลป์ ในขณะที่วงการทัศนศิลป์ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยซ้ำ  แม้พัฒนาการทางศิลปะจะไม่ได้เดินไปในทางของบทวิจารณ์นี้ก็ตาม แต่งานเขียนชิ้นนี้ก็ได้ให้ภาพทางประวัติศาสตร์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของศิลปะร่วมสมัยที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง

 

จักรพันธ์ วิลาสินีกุล : ผู้วิเคราะห์


* ภาษาในบทวิจารณ์นี้เป็นสำนวนและวิธีการสะกดคำของผู้เขียนในปี 2476

[1] กรมศิลปากรได้รวบรวมข้อเขียนของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์ที่เคยพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือจดหมายเหตุสมาคมสถาปนิกสยาม ไทยเขษมรวมข่าว และวิทยาจารย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2476 ถึง 2477 มารวมในหนังสือ ชื่อ “เรื่องเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม”, พิมพ์เป็นที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ, พ.ศ. 2478

[2] อ้างแล้ว, หน้า 32-33.

[3] ในบทความเรื่อง “สหกรณ์หัตถกรรม” หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรพ์แสดงความเห็นไว้ชัดเจนว่า ไม่เห็นความเหมาะสมที่จะสอนวิชาวิจิตรศิลป์ในระดับอุดมศึกษาในขณะนั้น  “…เมื่อความหวังเหล่านี้ (ในการจัดตั้งโรงเรียนฝึกช่างพื้นเมือง: ผู้วิเคราะห์) เป็นผลสำเร็จได้แล้ว และถ้ายังเห็นว่าจำเป็น (6) ก็จะจัดโรงเรียนพิเศษสำหรับนายช่างหลวง (อาคาเดมี) ขึ้นเทียบชั้นสถานอุดมศึกษา…”,อ้างแล้ว, หน้า 67

[4] ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี แสดงแนวคิดในเรื่องศิลปะกับศาสนาไว้ในหลายบทความ อาทิเช่น “…ศิลปะมีจุดหมายปลายทางเช่นเดียวกันกับศาสนา กล่าวคือ มุ่งหมายเพื่อยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้ขึ้นสู่ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง…” ศิลป์    พีระศรี ; เขียน ยิ้มศิริ แปล. “วัฒนธรรมและศิลปะ.” สูจิบัตรประกอบการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 10 พ.ศ. 2505.

 

บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาทัศนศิลป์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *