Wolf Children ยอดคุณแม่ผู้มีลูกเป็นมนุษย์หมาป่า

จักรนาท นาคทอง

 

ผมติดตามผลงานของ Mamoru Hosoda ผู้กำกับอนิเมชาวญี่ปุ่น (อนิเมชั่นของญี่ปุ่น จะเรียกกันย่อๆ ว่า “อนิเมะ” หรือ “อนิเม”)  มาตั้งแต่เรื่อง The Girl Who Leapt through Time เรื่องราวของเด็กสาวที่สามารถกระโดดทะลุเวลาไปแก้ไขสิ่งต่างๆ ในอดีตได้ และ Summer Wars  โลกอนาคตอันใกล้ที่ทุกคนต่างใช้อินเทอร์เน็ตและโลกเสมือนจริงจนแทบจะแยกไม่ออกจากวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งสองเรื่องก็ทำให้ผมชื่นชอบงานของผู้กำกับคนนี้มาก ทั้งในด้านของลายเส้นที่งดงาม การออกแบบฉากและตัวละคร การใช้ computer animation เข้ามาผสมผสานกับลายเส้นคนวาดได้อย่างแนบเนียน และที่สำคัญคือเนื้อเรื่องที่ซาบซึ้งกินใจจนสามารถเรียกน้ำตาของหลายๆ คนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นเมื่อแรกเห็นโปสเตอร์ของภาพยนตร์เรื่อง Wolf Children ผมก็จำลายเส้นของเขาได้ทันที และตั้งใจที่จะหามาดูให้ได้ โชคดีที่สกาลาได้นำมาฉาย ผมจึงมีโอกาสได้ชมผลงานของผู้กำกับที่ชื่นชอบในโรงภาพยนตร์

 

 

ภาพในอนิเม Wolf Children อาจดูไม่ล้ำเทคโนโลยีเหมือนเรื่อง The Girl Who Leapt through Time และ Summer Wars แต่ก็ได้ชดเชยด้วยภาพที่งดงาม บางเฟรมนั้นให้รายละเอียดที่สมจริงราวกับภาพถ่าย ทั้งผ้าม่านที่ปลิวไสว ใยแมงมุมที่มีหยดน้ำเกาะ ร่มเงาของต้นไม้ในป่าใหญ่ น้ำตกที่ไหลพริ้วในป่าอันเขียวขจี ฯลฯ ภาพที่สมจริงเหล่านี้ ผู้สร้างทำให้กลมกลืนกับตัวละครที่เป็นตัวการ์ตูนได้โดยผู้ชมไม่รู้สึกขัดต่อความเป็นจริง จนเมื่อออกจากโรงภาพยนตร์ ผมได้ยินเสียงผู้ชมบางคนกล่าวว่า แค่ได้เข้าไปชมภาพอย่างเดียวก็คุ้มแล้ว

อย่างไรก็ตาม เนื้อเรื่องของอนิเมเรื่องนี้ก็เป็นส่วนสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้เลย เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อ “ฮานะ” นักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียว ตกหลุมรักชายหนุ่มร่างสูงท่าทางไม่เหมือนใครที่แอบเข้ามานั่งฟังการบรรยายในมหาวิทยาลัย หลังจากพวกเขาได้เดทกันระยะหนึ่ง เขาก็สารภาพความจริงกับฮานะว่าตนเองเป็นมนุษย์หมาป่า แต่เธอก็ยังรักเขา ทั้งสองอยู่ด้วยกันจนมีลูกสองคน ได้แก่ยูกิ ลูกสาวคนโต และอาเมะ ลูกชายคนเล็ก พ่อหมาป่าเสียชีวิตลงหลังจากอาเมะเกิดมาได้ไม่นานนัก เรื่องราวของยอดคุณแม่ผู้มีลูกเป็นมนุษย์หมาป่าจึงเริ่มต้นขึ้น

ฮานะต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง ซึ่งการเลี้ยงทารกมนุษย์หมาป่าสองคนนั้นเป็นงานที่ยากลำบากกว่าการเลี้ยงทารกทั่วๆ ไปหลายเท่า ทั้งจะต้องปิดบังเด็กๆ ที่มักจะแปลงร่างอย่างไม่รู้เดียงสาไม่ให้คนภายนอกได้รับรู้ (มนุษย์หมาป่าในเรื่องนี้แปลงร่างได้ตามใจชอบ แต่เมื่อระงับอารมณ์ไม่อยู่ก็อาจจะแปลงร่างเองโดยไม่ได้ตั้งใจ) จึงทำให้เธอไม่สามารถผูกมิตรกับใคร และเกิดปัญหาเมื่อทางการเห็นว่าเธออาจเลี้ยงดูเด็กอย่างไม่เหมาะสม เนื่องจากเธอไม่พาเด็กๆ ไปตรวจที่โรงพยาบาลตามกำหนด ยังมีปัญหาการรับมือกับสภาพที่พักที่นอกจากจะกระจัดกระจายด้วยน้ำมือเด็กซนแล้ว ยังมีรอยเขี้ยวของสุนัขอยู่ตามที่ต่างๆ และเสียงหอนของสุนัขจิ๋วทั้งสอง ที่ทำให้สามแม่ลูกต้องถูกไล่ออกจากหอพักด้วยข้อหาเลี้ยงสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อต้องออกจากที่พัก ฮานะตัดสินใจย้ายมาอยู่ชนบท ในบ้านเก่าที่แสนทรุดโทรมหลังที่อยู่ไกลผู้คน แต่ก็อยู่ใกล้กับธรรมชาติซึ่งเป็นผลดีต่อเด็กๆ  ฮานะพร่ำสอนลูกไม่ให้แปลงร่างให้คนอื่นเห็น ในขณะที่ต้องซ่อมแซมบ้านด้วยตัวเอง พร้อมๆ กับการพยายามปลูกผักเพื่อประหยัดเงินที่พ่อหมาป่าหาเอาไว้เริ่มที่จะร่อยหรอลงทุกที เธอปลูกผักเท่าไรก็ไม่สำเร็จเนื่องจากขาดประสบการณ์ แต่สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพระหว่างครอบครัวนี้กับชาวบ้าน เพราะคุณลุงเกษตรกรซึ่งทนไม่ไหวจึงเริ่มเข้ามาสอนวิธีการปลูกผัก จากนั้นคนอื่นๆ ในหมู่บ้านก็เริ่มเข้ามาช่วยเหลือด้านต่างๆ ทำให้ฮานะไม่โดดเดี่ยว เริ่มมีสังคมมากขึ้น จนกระทั่งฮานะได้งานเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เริ่มมีรายได้มากขึ้น ครอบครัวจึงเริ่มลงตัว

ต่อมา เด็กๆ เติบโตขึ้นและต้องการเลือกทางเดินชีวิตของตนเองว่าจะเป็นมนุษย์หรือหมาป่า ยูกิเมื่อครั้งยังเล็กชอบแปลงร่างเป็นหมาป่าและต่อสู้กับสัตว์ป่า ในขณะที่อาเมะน้องชายไม่ค่อยชอบแปลงร่างและร้องไห้เมื่อเห็นว่าตัวร้ายในนิทานแทบทุกเรื่องคือหมาป่า แต่เมื่อทั้งสองเติบโตขึ้น ยูกิกลับร่ำร้องที่จะไปโรงเรียน มีเพื่อน มีสังคม และมีความรัก เธอรู้สึกหวั่นไหว และไม่อยากแปลงร่างเป็นหมาป่าอีก แต่นี่กลับเป็นปัญหา เพราะคนที่ทำให้เธอหวั่นไหวไม่รู้เลยว่าหากอารมณ์ของยูกิปรวนแปรมากๆ เธอก็จะแปลงร่างได้ ในขณะที่อาเมะได้พบกับอาจารย์สุนัขจิ้งจอกในหุบเขา ผู้สอนให้เขาได้รู้ถึงวิถีแห่งธรรมชาติ และเรียนรู้ที่จะเป็นผู้พิทักษ์ผืนป่าในฐานะหมาป่าที่แท้จริง  Wolf children ทั้งสองต้องเรียนรู้บทเรียนชีวิต และเลือกทางเดินด้วยตนเอง

 

ผมคิดว่าสิ่งที่อนิเมเรื่องนี้ต้องการนำเสนอมีสองประเด็น ประเด็นแรกคือการเลี้ยงลูกอย่างโดดเดี่ยวของฮานะ มีฉากที่น่าประทับใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอดทั้งเรื่อง แต่ผมคิดว่าฉากที่น่าเห็นใจฮานะมากที่สุดฉากหนึ่งคือ เมื่อยูกิไม่สบายหนัก เธอต้องลังเลว่าจะพาลูกไปที่โรงพยาบาลเด็กหรือโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยง ในตอนแรกผมก็หัวเราะไปกับฉากนี้เหมือนกับผู้ชมคนอื่นในโรงภาพยนตร์ แต่เมื่อภาพยนตร์จบลง ผมก็ฉุกคิดได้ว่า หากต้องเป็นฮานะในตอนนั้นแล้ว เธอจะรู้สึกอย่างไรที่ต้องมีลูกเป็น “เด็กพิเศษ” เช่นนี้ แม่ที่มีลูกเป็นมนุษย์หมาป่าคงจะต้องโดดเดี่ยวอย่างแท้จริง อีกฉากหนึ่งที่สะเทือนใจคือการตายของพ่อหมาป่า เช้าวันนั้นเป็นวันที่ฝนตกหนัก เมื่อคุณพ่อไม่กลับบ้าน ฮานะต้องกระเตงลูกสองคนออกตามหา ก่อนจะไปพบคุณพ่อในร่างสุนัขตายลอยอยู่ในลำคลอง เจ้าหน้าที่เทศบาลกำลังอุ้มศพของเขาใส่ในรถขยะ ฮานะร้องไห้อย่างสุดกลั้นกลางสายฝนก่อนที่คนแถวนั้นจะส่งร่มให้กับเธอ หากสามีของฮานะเป็นคนธรรมดา คนทั่วไปคงเข้าใจความสูญเสียของเธอได้ แต่คงไม่อาจเข้าใจแม่ที่แบกลูกสองคนตากฝน ร้องไห้ให้กับสุนัขจรจัดที่เพิ่งตายได้อย่างแน่นอน แต่ถึงแม้ว่าฮานะจะได้พบกับความเศร้าเช่นนี้ เธอก็ยังมีรอยยิ้มอยู่เสมอ ทำให้ผู้ชมได้รับทราบความเข้มแข็งของคุณแม่ และเอาใจช่วยให้ฮานะกับลูกๆ ได้มีชีวิตที่ดี

เมื่อเธอย้ายมาอยู่ชนบท ในช่วงแรกประสบการณ์ที่พบจากสังคมเมืองยังทำให้ฮานะและลูกๆ พยายามปิดกั้นตนเองจากคนอื่นๆ แต่เมื่อเธอเปิดใจยอมรับความช่วยเหลือ ก็ทำให้ครอบครัวนี้มีชีวิตที่ดีขึ้น ผมชอบเนื้อเรื่องส่วนนี้เพราะผู้สร้างไม่ได้เชิดชูให้เห็นว่าชนบทดีกว่าในเมืองด้วยการแสดงให้เห็นว่าคนในเมืองไม่ยอมรับคนที่แตกต่างจากตัวเอง แต่กลับทำให้ฮานะไม่กล้าเข้าหาสังคมและความช่วยเหลือ ด้วยเหตุผลที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

ประเด็นที่สองที่อนิเมเรื่องนี้ต้องการนำเสนอ คือการเลือกทางเดินชีวิตของ Wolf children ทั้งสองคน ผู้ชมได้เห็นการเข้าโรงเรียนของยูกิ เธอได้พบกับเพื่อนๆ เด็กผู้หญิง ที่ทำให้เธอได้พบว่าเพื่อนๆ ชอบเครื่องประดับ ตุ๊กตา ของสวยๆ งามๆ แต่เธอชอบเล่นกับงูและสะสมกระดูกสัตว์ ยูกิต้องการเป็นมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ต้องการคนที่เปิดใจยอมรับตัวตนที่แท้จริงด้วย โซเฮย์ นักเรียนใหม่ เป็นผู้ที่จะเข้ามาช่วยยูกิ ซึ่งเนื้อเรื่องในช่วงนี้ผู้ชมจะได้เห็นการแสดงอารมณ์ของเด็กสาวอายุ 12 ที่กำลังสับสน ถึงแม้จะเป็นตัวการ์ตูนแต่ยูกิก็ทำหน้าที่ได้ราวกับนักแสดงที่มีฝีมือเลยทีเดียว

ด้านของอาเมะ จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นในวันที่หิมะตก ฮานะพาเขากับพี่สาวไปเที่ยวเล่นในป่า จู่ๆ อาเมะในร่างหมาป่าก็อยากจับนกกระเต็นที่เกาะอยู่บนก้อนหินในลำธาร เมื่อเขาตะครุบนกได้ ก็สะดุดผ้าพันคอที่แม่พันไว้ให้กันหนาว อาเมะตกลงไปในน้ำ เมื่อพี่สาวช่วยชีวิตเขาขึ้นมาได้ อาเมะบอกกับแม่ว่าเขารู้สึกว่าทำอะไรได้ทุกอย่าง และไม่ใช่เด็กขี้กลัวอีกต่อไป หลังจากนั้นเขาจึงได้พบกับอาจารย์หมาจิ้งจอกที่ทำให้เขาเลือกทางเดินของชีวิต แต่ถึงแม้จะแน่วแน่กับการเลือกเป็นหมาป่า เขาก็ยังมีห่วงคือแม่ของตัวเอง ในช่วงนี้ผู้ชมจะได้เห็นสายตาของคนเป็นแม่ที่ถึงแม้ว่าจะคิดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะให้ลูกได้เลือกทางชีวิตของตนเอง แต่เมื่อลูกชายต้องใช้ชีวิตตามลำพังก็อดเป็นห่วงไม่ได้ คืนวันที่พายุล้มต้นไม้ทับอาจารย์หมาจิ้งจอกจนขาหักและใกล้จะตาย ทำให้อาเมะตัดสินใจเด็ดขาด เมื่อเขาเข้าป่า ฮานะออกตามหาคนเดียวจนตกเขาสลบไป แต่ในที่สุดอนิเมเรื่องนี้ก็ทำให้ฮานะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ชม และพร้อมที่จะยอมรับและเคารพการตัดสินใจของอาเมะ โดยที่ไม่ได้ยัดเยียดหรือสั่งสอน แต่กลับทำให้ผู้ชมได้ซึมซับความคิดนี้ด้วยตนเอง ด้วยการสื่อสารด้วยภาพ โดยปราศจากบทพูดใดๆ เป็นฉากที่น่าประทับใจอีกฉากหนึ่งที่ขอแนะนำให้ไปชมด้วยตนเอง

ประเด็นรองที่แฝงอยู่ในภาพยนตร์คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่แสดงให้เห็นผ่านภาพธรรมชาติที่งดงาม และการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ โดยที่ไม่ต้องบอกออกมาตรงๆ ว่า จงรักษาสิ่งแวดล้อม อย่าทำลาย หรือเชิดชูสังคมชนบทว่าดีกว่าสังคมเมือง แต่ให้ผู้ชมได้รับรู้และเลือกหนทางที่เหมาะกับตนเองเหมือนกับตัวละคร ซึ่งเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ผมได้รับรู้จากการชม Wolf children  เกร็ดเล็กๆ อีกอย่างหนึ่งคือเมื่อชมภาพยนตร์เรื่องนี้ผมนึกถึงเรื่อง My Neighbor Totoro ของ Studio Ghibli ที่เป็นเรื่องของเทพพิทักษ์ป่ากับสองพี่น้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวละครเอกสองพี่น้อง ฉากป้ายรถเมล์และต้นไม้ที่ได้เจออาจารย์หมาจิ้งจอกครั้งแรก ที่เหมือนเป็นการคารวะภาพยนตร์อนิเมชั้นครูเรื่องนั้นเลยทีเดียว

โดยสรุปผมชอบอนิเมเรื่องนี้มาก ถึงแม้จะไม่เท่ากับผลงานที่ผ่านมาของผู้กำกับคนนี้คือ Summer Wars ที่มีฉากครอบครัวรวมพลังที่ทรงพลัง อลังการ และตื่นเต้น แต่ Wolf children ก็เป็นอนิเมอีกเรื่องหนึ่งที่ซาบซึ้ง กินใจ และมีภาพและดนตรีประกอบที่สวยงาม ควรค่าแก่การเป็นอนิเมในดวงใจอีกเรื่องหนึ่ง

4 comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *