สรุปประเด็นการเสวนา “ขึ้นเขียง” “Babymime”

สรุปประเด็นการเสวนา “ขึ้นเขียง”

Babymime”

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2554  เวลา 15.00 -17.00 น.

ณ  ห้อง 501  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

—————————–

 

การเสวนาขึ้นเขียงครั้งที่ 3 การสัมภาษณ์คณะละคร Babymime  โดยมีอาจารย์ประวิตร มหาสารินันทน์เป็นผู้ดำเนินรายการ

  1. 1.       ประวัติ  ความเป็นมา และการทำงานของคณะละคร Babymime

คณะละคร Babymime ก่อตั้งโดยเพื่อนร่วมชั้นเรียนละครหน้าขาวของอาจารย์ไพฑูรย์  ไหลสกุล 4 คน แต่ในปัจจุบันเหลือ 3 คนได้แก่ คุณทองเกลือ ทองแท้ (เกลือ) คุณณัฐพล คุ้มเมธา (ธา) และ คุณรัชชัย รุจิวิพัฒน์ (งิ่ง) จุดเด่นของคณะละคร Babymime เป็นคณะละครใบ้ที่ทำงานด้านการแสดงละครเพียงอย่างเดียวก็มีรายได้เพียงพอในการดำเนินชีวิตซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของคณะละครเวทีที่ควรศึกษา เนื่องจากผู้ที่ทำละครเวทีส่วนใหญ่ต้องรับงานอื่นๆ ทั้งเป็นอาจารย์สอนพิเศษ ทำสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop)  แสดงโฆษณาหรือทำงานประจำช่วงกลางวัน เพื่อนำรายได้มาใช้ในการทำละครเวทีในช่วงกลางคืน ประเด็นในการสัมภาษณ์ครั้งนี้จะเป็นการซักถามถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของเทศกาลละครกรุงเทพที่มีต่อพัฒนาการของคณะละคร Babymime และการจัดการของคณะละคร Babymime ที่ทำให้มีกลุ่มคนดูที่เหนียวแน่นและทำให้คณะละครสามารถที่จะคงอยู่ได้

ผู้ก่อตั้งคณะ Babymime 3 คนในปัจจุบัน รัชชัยและณัฐพลเป็นเพื่อนที่เรียนจากพณิชยการพระนคร และได้ทำละครในสมัยที่เรียนร่วมกัน ส่วนทองเกลือมาพบกันที่ห้องเรียนศิลปะละครใบ้ของครูอั๋น ไพฑูรย์ ไหลสกุล ครูอั๋นเป็นผู้แสดงละครใบ้คนแรกของประเทศไทย เมื่อยี่สิบปีที่แล้วถ้าพูดถึงละครใบ้จะนึกถึงคนหน้าขาว และคนหน้าขาวคนนั้นคือครูไพฑูรย์ ไหลสกุล ครูไพฑูรย์มีงานแสดงตลอดทั้ง งานพิเศษ อีเว้นต์ต่างๆ และการแสดงของตัวเองด้วย ซึ่งก็เหมือนที่คณะ Babymime ทำอยู่ในปัจจุบัน

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดคณะ Babymime มาจากการที่ผู้ร่วมก่อตั้งคณะละคร Babymime ได้ไปชมเทศกาลละครใบ้กรุงเทพ (Pantomime in Bangkok) ตั้งแต่ครั้งที่ 5 ซึ่งก่อนหน้าได้ดูซีดีและนำมาศึกษาว่าครูไพฑูรย์แสดงอะไรบ้างและมีความสนใจที่จะแสดงอย่างอาจารย์ไพฑูรย์ และในปัจจุบันคณะ Babymime ได้แสดงในงานเทศกาลละครใบ้กรุงเทพทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผู้ก่อตั้งคณะละคร Babymime ได้เปลี่ยนจากผู้ชมละครใบ้มาเป็นศิลปินผู้แสดงละครใบ้ให้ผู้อื่นชม ช่วงแรกที่สามคนมารวมกันเป็นการแสดงรูปแบบคนหน้าขาวก่อนที่จะเป็น Babymime สถานที่ฝึกซ้อมอยู่ที่สำนักงานของครูไพฑูรย์ที่พระโขนง ในขณะนั้นมีคุณโจซึ่งเรียนศิลปะละครใบ้กับครูไพฑูรย์ด้วยกันและมีความคิดว่าจะสร้างกลุ่มละครใบ้ขึ้นมากลุ่มหนึ่ง เพื่อให้กลุ่มละครใบ้มีมากกว่ากลุ่มคนหน้าขาว

  1. 2.       ประสบการณ์จากการเรียนงานคลาสสิกของตะวันตกที่มีต่อคณะละคร Babymime

อาจารย์ไพฑูรย์คนหน้าขาวสอนและให้อะไรกับ Babymime มาก แต่ธรรมเนียมของคนหน้าขาวนั้นต้องแต่งหน้าขาว ซึ่งกลุ่มผู้ก่อตั้งคณะ Babymime มีความคิดประการที่หนึ่งว่าการแสดงไม่ต้องแต่งหน้าขาวได้หรือไม่ และประการที่สองแนวทางวิธีการคิดเรื่องที่จะแสดงนั้นครูไพฑูรย์มีรูปแบบหนึ่ง ขณะที่พวกเราจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งแตกต่างกัน สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับครูไพฑูรย์เป็นเรื่องคลาสสิกค่อนข้างมาก เช่น อาจารย์ไพฑูรย์เล่นเรื่องอาจารย์ของอาจารย์ของอาจารย์ไพฑูรย์ Babymime เองก็เล่นเรื่องอาจารย์ของอาจารย์ของอาจารย์ครูไพฑูรย์ แต่ยังมีเรื่องราวต่างๆ รอบตัวที่น่าสนใจอีกมาก และสามารถนำมาเล่าเรื่องได้ซึ่งไม่ควรจำกัดอยู่แค่นี้ ขณะที่กลุ่ม Babymime ออกมาทำกลุ่มละครได้ปรึกษากับอาจารย์ไพฑูรย์ว่าจะมาทำกลุ่มละครในแนวทางของตน ครูไพฑูรย์แนะนำให้ออกมาตั้งคณะละครของตนเองได้ และให้คิดชื่อคณะให้ดีว่าจะชื่ออะไร ในขณะที่ยังแสดงในส่วนของคนหน้าขาวเริ่มรับงานมากขึ้น มีงานอีเว้นต์ต่างๆ โดยครูไพฑูรย์มีงานให้ทำ ระหว่างนั้นได้ค้นหาศักยภาพของตัวเองไปเรื่อยๆ

ก่อนที่จะมีการรวมตัวกันเป็นคณะ Babymime มีชาวเยอรมันเข้ามาถ่ายหนังสารคดีและพวกผู้แสดงของคณะได้ร่วมแสดงด้วย เรื่องที่แสดงคือ “ห้องกระจก” ประสบการณ์ที่ได้นั้นเป็นการเรียนเรื่องที่เป็นคลาสสิกของตะวันตกในหลายประเด็นดังนี้

1. ช่วยในการแสดงเปิดช่องให้ผู้ชมสามารถที่จะตีความได้ในหลายๆ รูปแบบ สิ่งแรกคือคนดูสามารถที่จะตีความได้หลายอย่างและในทางที่ดีด้วยเป็นเรื่องที่คลาสสิก

2. เรื่องเทคนิค การแสดงนั้นเน้นเรื่องคลาสสิกของร่างกายมาก ถ้าเริ่มจากคลาสสิกทำให้ร่างกายแน่นขึ้น เช่น เรื่องการจับกระจกก็จะแน่นขึ้น เพราะว่าเป็นการจับกระจกทั้งเรื่อง พื้นฐานที่เป็นคลาสสิกของละครใบ้คือจับให้เห็นและจับให้โดนเท่านั้นเอง ทิศทางของละครใบ้ต้องเห็นในสิ่งที่เราจะจับ ถ้าไม่เห็นก็ไม่มีประโยชน์ และการฝึกฝนจากครูไพฑูรย์ทำให้เห็นในสิ่งที่ตัวเองจะจับ และให้เชื่อในสิ่งที่เราจะจับว่าคืออะไร  ในการเรียนนั้นความเชื่อเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องเชื่อก่อนว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริง อยู่ตรงหน้าเราจริง เมื่อเชื่อตรงนั้นก็มีอะไรเกิดขึ้นได้หมด

  1. 3.       การแสวงหาประสบการณ์ ตัวตน และจุดยืน ของ Babymime

การรวมตัวก่อตั้งคณะ Babymime มีสี่คนและเสียชีวิตไปหนึ่งคน ในช่วงปี พ.ศ. 2548 ยังคงแสดงละครคนหน้าขาวอยู่ และมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ เริ่มด้วยมีการแต่งหน้าด้วยสีต่างๆ และไม่แต่งหน้าขาวในที่สุด เมื่อไม่ได้แต่งหน้าขาวแล้วทางกลุ่มเริ่มที่จะหาเสื้อผ้าที่แตกต่างไปจากผู้แสดงละครหน้าขาวด้วย การแต่งตัวเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงไป มีความพยายามที่จะหาคาเร็กเตอร์ให้กับตัวเอง หาอิมเม็จภาพพจน์ ส่วนในด้านการแสดงนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ในช่วงที่ค้นหาตัวเองได้ศึกษางานหลายๆ อย่าง และเห็นการแสดง การทำงานของคณะต่างๆ ในงาน Pantomime in Bangkok ซึ่งยังมีอีกโลกหนึ่งให้ได้เรียนรู้ เช่น เห็นว่าการแสดงบางอย่างก็สามารถที่จะออกมาเป็นโชว์ได้ เมื่อเราได้ดูโชว์คณะกามาโจบะ หรือคุณฮอนดะ ไอยะในการแสดงเดี่ยว การแสดงนั้นไม่ได้เล่นละครใบ้ แต่นำละครใบ้มาเป็นการดำเนินเรื่อง ซึ่งทำให้เห็นว่าอะไรก็ได้ที่ทำให้คนสนใจที่จะมาดูละครใบ้ และทำให้เราเข้าใจว่านักแสดงต้องสนใจสิ่งรอบข้างและไม่ใช่เป็นการเล่นละครใบ้อย่างเดียว แม้ว่าทางกลุ่มจะไม่ได้ร่วมงานกับครูไพฑูรย์แล้ว แต่ยังคงมีความสัมพันธ์ความผูกพันที่ดีอยู่ เพราะยังรับงานแสดงจากครูไพฑูรย์อยู่

การแสดงของคนหน้าขาวมีกรอบและประเพณีอยู่มาก จากการที่ Babymime ได้ดูการแสดงของต่างประเทศ เพื่อนบ้านในเอเชีย ทำให้เห็นถึงความหลากหลาย ความเป็นไปได้ของการแสดงละครใบ้ กล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ และมีการโยงละครใบ้เข้ามาใกล้สังคมไทยมากขึ้น  ทางกลุ่มเริ่มมีความคิดว่าจะทำให้ใกล้กับสังคมไทย และเมื่อคณะรับงานอีเว้นต์ได้คิดการแสดงต่างๆ ในลักษณะที่คิดไว้ คือกรอบหายไป และการนำเทคนิคต่างๆ ทั้งนำมายากลเข้ามาใช้ แต่ยังใช้ละครใบ้ซึ่งเป็นพื้นฐานในการแสดง และวิธีคิดการแสดงละครใบ้ของกลุ่มเพื่อให้ผู้ชมรับรู้ถึงจินตนาการและสิ่งที่ส่งไป แต่ความคิดบางอย่างเป็นเรื่องที่ยากที่จะส่งให้ผู้ชมรับรู้ด้วยวิธีการแสดงของละครใบ้ จึงนำวิธีการบางอย่างเข้ามาเพื่อทำให้สื่อไปถึงผู้ชมได้ง่ายขึ้น กลุ่มยังนำเทคนิคการแสดงเรื่องคลาสสิกมาใช้อยู่ เช่นในการแสดงเรื่อง “Ants” ในงานเทศกาลละครกรุงเทพยังใช้เทคนิคเรื่อง “ห้องกระจก” กับการแสดงเป็น “ตั๊กแตน” ที่เราสามารถนำมาใช้ร่วมกันได้  คณะ Babymime ใช้เวลาสี่ปีในการค้นหาตัวเองเพื่อให้ได้ความลงตัว

4.   เทศกาลละครกรุงเทพกับคณะ Babymime

1. งานเทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 1 สีสันละครกรุงเทพ คณะ Babymime แสดงร่วมกับคุณวรรณศักดิ์ ศิริหล้า (พี่กั๊ก) ซึ่งขณะนั้นที่ทำงานของคนหน้าขาวอยู่ที่สีลมแกลเลอเลีย และมีคนแนะนำให้เรารู้จักกับคุณวรรณศักดิ์ซึ่งมาดูการซ้อมของกลุ่ม คุณวรรณศักดิ์ชวนให้ผู้ก่อตั้งคณะ Babymime ร่วมงานการแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพ โดยที่คุณวรรณศักดิ์จะเล่านิทานและให้คณะ Babymime แสดงท่าทางประกอบ เรื่องที่แสดงมี “กบเลือกนาย” “อึ่งอ่างกับวัว” การร่วมแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพครั้งนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์ครั้งแรกของคณะว่าสามารถที่จะจัดการแสดงได้ด้วยตัวเอง ก่อนหน้านี้พวกเรายังมีความคิดเป็นเด็กที่กลัวการที่จะทำอะไรใหม่ๆ และจะต้องปรึกษาครูไพฑูรย์ว่าดีหรือไม่ แต่เมื่อคุณวรรณศักดิ์มาชวนไปร่วมแสดงและได้เริ่มลงมือทำก็รู้ว่าไม่ยาก สิ่งที่ยากที่สุดคือการเริ่มต้น ในช่วงนั้นยังไม่ได้ใช่ชื่อ Babymime แต่ใช้ชื่อ “D-MIME” ซึ่งเป็นการล้อเลียน D TAC

ในการแสดงครั้งนี้อาจารย์ไพฑูรย์เข้ามาชมการแสดงและแนะนำว่าให้ทำต่อไปแล้วจะเรียนรู้เพิ่มขึ้น ขณะนั้นพวกตนรู้สึกว่าการแสดงไม่ถึงกับดี แต่หากไม่มีพี่วรรณศักดิ์ คณะก็คงไม่กล้าที่จะทำอะไรมากนัก  จึงต้องขอบคุณพี่วรรณศักดิ์ที่พยายามที่จะบอกว่าพวกเราสามารถทำกันเองได้ ซึ่งในบางครั้งที่มีความกลัวไม่กล้าที่จะทำอะไร หากมีผู้ที่เข้ามากระตุ้นสามารถที่จะทำให้ก้าวไปอีกโลกหนึ่งได้

2. เทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 2 กลุ่มมีความรู้สึกที่อยากจะร่วมเป็นอย่างมาก โดยที่คิดว่ากลุ่มมีความแข็งแกร่งพอที่จะจัดการแสดงขึ้นมาเอง ซึ่งตอนนั้นมีสี่คน และมีความคิดร่วมกันว่าจะแสดงอะไรที่ง่ายที่คนสี่คนสามารถที่จะแสดงได้ จึงคิดการแสดงละครใบ้เรื่อง “Mime in the Park” เพราะว่าเป็นการแสดงในสวน ซึ่งเป็นที่ใช้ในการจัดงานมีทั้งการแสดงดนตรี แสดงละครใบ้ และมีการเต้นแอโรบิค โดยเฉพาะในช่วงเย็นๆ จะมีการออกกำลังกายด้วย แอโรบิค ทางกลุ่มนำเรื่องนี้มาแสดงล้อเลียน แต่ว่ามุขที่ใช้แสดงไม่ประสบความสำเร็จ ในช่วงนั้นการแสดงของกลุ่มยังแต่งหน้าขาวอยู่ ส่วนการแต่งตัวก็เริ่มที่จะเปลี่ยนแปลง  สิ่งที่ได้จากการแสดงมุขแอโรบิค คือ ทำให้ทราบว่าการที่พวกตนนั้นคิดเองว่ามุขนี้จะประสบความสำเร็จ การจัดการแสดงที่คิดและลงมือทำเองโดยที่ไม่ได้ปรึกษาใคร มีเพียงแค่การแสดงให้เพื่อนๆ ในกลุ่มดูกันเอง และคิดเองว่าเป็นการแสดงที่ดี แต่เมื่อแสดงจริงไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ที่เข้าชมนั้นเดินออกระหว่างการแสดง ผู้ชมให้ความสนใจผู้ที่เล่นระนาดที่เล่นอยู่ลานในบริเวณเดียวกันมากกว่า แม้ว่าการแสดงจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่ได้รับมาคือประสบการณ์เรื่องการคิดการแสดงนั้นอย่าคิดเอาเอง  ต้องศึกษาเรื่องที่จะแสดงอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เพียงเห็นว่ามีการเต้นแอโรบิคในสวนสาธารณะก็จับประเด็นนี้มาแสดงเพื่อเป็นการล้อเลียน แต่จริงๆ แล้วควรที่จะเข้าไปศึกษาผู้ที่เข้ามาในสวนอย่างละเอียดว่า คนเหล่านั้นเข้ามาทำอะไรในสวนในแต่ละวัน และหาว่าประเด็นใดที่น่าสนใจ การทำงานของกลุ่มส่วนใหญ่ทำงานในห้างหรือสำนักงานทำให้ยังมองเห็นเรื่องราวต่างๆ ไม่รอบด้าน ในการแสดงครั้งนั้นยังใช้ชื่อคณะ “D-MIME” อยู่ แม้ว่าในการแสดง Mime in the park จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีผู้จ้างให้ไปทำงานอีเว้นท์ และมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงหลังจากเทศกาลละครกรุงเทพครั้งนั้น คุณทองเกลือลาไปบวชซึ่งตอนแรกตั้งใจจะลาบวชเพียง 15 วัน แต่บวชจริงๆ นานถึงเก้าเดือน

3. เทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 3 คณะ Babymime ไม่ได้เข้าร่วมแสดงด้วย เพราะคุณทองเกลือยังบวชอยู่ แต่เป็นการแสดงส่วนตัวของคุณคือณัฐพลและคุณรัชชัย เรื่อง “The Olympic” แสดงครั้งแรกที่เวทีกลางเทศกาลละครกรุงเทพและแสดงพร้อมกันสามคนที่เทศกาลละครใบ้กรุงเทพ (Pantomime in Bangkok)  ในการแสดงที่เทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 3 เนื่องจากคณะเหลือผู้แสดงสองคนและเวทีมีขนาดใหญ่ เราจึงมีความคิดว่าจะไปชวนผู้ที่เรียนการแสดงกับครูไพฑูรย์มาร่วมแสดงด้วย  ในการแสดงเรื่อง “The Olympic” ได้แรงบันดาลใจมาจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่   เอเธนส์ในปีนั้น เป็นเรื่องที่คิดขึ้นเองแบบง่ายๆ เช่นการยิงธนูไปมา แล้วมีผู้ชมซึ่งเป็นผู้ชายผู้หญิงนั่งดูอยู่ล้อการแสดงของเรา เราก็เลยแกล้งยิงคนดู เราแกล้งทำเป็นยิงผิด แต่กลายเป็นการแสดงมุขคิวปิด ในการแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 3  มีผู้ร่วมแสดงเข้ามาช่วยจำนวนหนึ่ง ทางคณะจึงจัดให้มีการแสดงคั่นเวลาเป็นโฆษณาแอปโดมิไนเซอร์เป็นเรื่องที่สนุกๆ  สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแสดงครั้งนี้ว่า หากมีคนเข้ามาร่วมแสดงในจำนวนหนึ่งจะทำให้การแสดงสนุกขึ้น และทำให้ได้เรียนรู้เรื่องของการทำโชว์ เพราะการแสดงของกลุ่มไม่ได้เล่นละครใบ้อย่างเดียว มีการนำโชว์มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อที่จะให้ละครใบ้อยู่ได้ ในการแสดงครั้งนี้กลุ่มได้รู้จักกับคุณอาร์ตซึ่งเป็นนักพากย์เก่งมากและสนุกมาก จึงชวนมาร่วมแสดง ซึ่งในส่วนของละครใบ้ไม่มีการพูด แต่ในส่วนที่เป็นการคั่นโฆษณาได้ให้คุณอาร์ตมาช่วยพากย์เสียงเพื่อสร้างความสนุกได้ และเป็นการทดลองที่จะทำในแบบของตนเอง

4. เทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 5 คณะแสดงเรื่อง “The Family” ได้แรงบันดาลใจมาจากงานอีเว้นท์ ที่ลูกค้าให้แสดงเกี่ยวข้องกับเรื่องการอ่าน เป็นเรื่องของเด็กที่สนใจการเล่นเกมอย่างเดียวแล้วมีพ่อเล่านิทานให้ฟังเพียงเท่านี้เอง การแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้เป็นการแสดงที่สื่อถึงการขายหนังสือ ที่ว่าด้วยการอ่านหนังสือจะทำให้ชนะหรือฉลาดได้ มีการตัดการแสดงบางอย่างที่ใช้แสดงในงานอีเว้นท์และใส่ความคิดของเราเข้าไป การแสดงนั้นให้มีพี่น้องฝาแฝดเพื่อที่จะให้เล่าถึงความเหมือนและความต่างกันได้และใส่ประเด็นเรื่องพ่อกับลูก การที่พ่อต้องให้ความสำคัญกับลูกและมีการนำการแสดงมายากลมาใช้ เพื่อให้เกิดความแฟนตาซี ช่วงนั้นเป็น Babymime เต็มตัวแล้ว ความประทับใจของละครเรื่องนี้คือได้แสดงหลายรอบ ในขณะที่เรื่องอื่นแสดงในงานเทศกาลต่างๆ สองสามครั้งเท่านั้น การแสดงเรื่องนี้ได้รางวัลส่งเสริมสุขภาวะดีเด่น ละครเรื่องนี้ได้นำไปแสดงในที่ Pantomime in Bangkok ด้วย

5. เทศกาลละครกรุงเทพปีที่ 6 คณะ Babymime แสดง “เรื่องมดน้อยนิดมหาศาล” หรือ “Ant Ant Ant” และมีการทำโปสเตอร์แบบเป็นกันเอง โดยแนวเรื่องได้มาจากภาพยนตร์เรื่อง A Bug’s Life และเรื่องที่เกี่ยวกับมดแมลง ในการแสดงแต่ละปีคณะต้องมีการพูดคุยกันว่าจะแสดงเรื่องอะไร เพราะในปีที่ผ่านๆ มา แสดงเรื่องพ่อลูก โอลิมปิค ปีนี้จะแสดงเรื่องอะไรเพื่อไม่ให้ซ้ำกับปีที่ผ่านมา และจะมีช่องทางที่จะแสดง ในปีนี้มีการเสนอให้เล่นเรื่องแมลง สัตว์ การแสดงในเทศกาลละครกรุงเทพครั้งนี้มีการเก็บค่าเข้าชมด้วย ซึ่งมีการปรึกษากันพอสมควร เพราะไม่สามารถที่จะเก็บค่าชมในสวนได้ ผู้ชมต้องไปซื้อบัตรที่หน้างานก่อนเข้าชมในสวน โดยที่ทางคณะใช้เวทีข้างป้อมพระสุเมรุในการแสดง การแสดงนั้นมีทั้งรอบที่ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและรอบที่เก็บค่าเข้าชม ทางคณะมีแนวคิดที่ว่า เมื่อทางคณะแสดงในงานอีเว้นต์ หรือ เทศกาลอื่นแสดง 15 – 20 นาที และมีความคิดว่าทางคณะจะแสดงเต็มเวลา 45 นาที หรือหนึ่งชั่วโมง เมื่อมีโอกาสในเทศกาลละครกรุงเทพ ทางคณะได้ทดลองเล่นเต็มเวลาและเก็บค่าเข้าชมซึ่งหากประสบความสำเร็จทางคณะจะได้มีการขยายการแสดงอออกไป ผลของการจัดการแสดงในครั้งนั้นคือสามารถที่จะขายบัตรเข้าชมการแสดงได้ การแสดงรอบที่ไม่เสียค่าเข้าชมกับเก็บบัตรนั้นแตกต่างกัน เพราะรอบที่ไม่เสียค่าเข้าชมก็จะเป็นการแสดงที่เก็บส่วนที่เป็นจุดเด่นที่น่าสนใจไว้ ส่วนรอบที่เสียค่าเข้าชมเป็นการแสดงเต็ม

การนำเรื่องต่างๆ มาแสดงในเทศการละครกรุงเทพในแต่ละปี คณะมีเวลาในการทำละครแต่ละเรื่องที่จำกัด ดังนั้น การคิดงานชิ้นหนึ่งจะพยามแสดงให้ได้หลายๆที่ เรื่อง “Family” มีการแสดง 20 รอบ เรื่อง “Ant Ant Ant” มีการแสดงเยอะพอสมควร แต่จะแสดงรอบแรกหรือเปิดตัวที่งานเทศกาลละครกรุงเทพก่อนในทุกเรื่อง เรื่อง “Ant Ant Ant” ได้รับรางวัลดีเด่นด้านสุขภาวะในเทศกาลละครกรุงเทพด้วย ซึ่งคณะได้รางวัลนี้มาสองปี รางวัลสองรางวัลแรกไม่ได้มีผลต่อคณะมากนัก แต่รางวัลที่ได้ในงานเทศกาลละครกรุงเทพปีถัดมา 2550 เรื่อง “ใจยักษ์” ทำงานร่วมกับ 8×8 หลังจากที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงพี่วรรณศักดิ์ ศิริหล้าในเทศการละครกรุงเทพครั้งแรก การแสดงครั้งนี้เป็นการแสดงร่วมกับคณะอื่นครั้งที่สองผู้แสดงมี พี่จุ๋ม-สุมณฑา คุณเดีย-อาคีรา คุณเกี้ย คุณรัชชัย คุณณัฐพล (คุณเกลือไปศึกษาเรื่องการทำสมุนไพรรักษาโรคมะเร็ง ไปศึกษากับหมอเขียวที่มุกดาหารหลายเดือน) เป็นการออกไปพบมุมมองวิธีคิดของคนที่มีความหวังว่าชีวิตต้องรอด นำมาใช้ในงานของกลุ่มได้

6. เทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 7 นั้นกลุ่ม “ละคร 8×8” มีความคิดที่จะทำละครเรื่อง “ใจยักษ์” และต้องการให้กลุ่มละครใบ้มาร่วมด้วย แต่ต้องซ้อมร่วมกับคณะ “ละคร 8×8” เป็นเวลาเดือนกว่าที่ห้องทำงานของคณะละคร 8×8 ที่ตลาดสามย่าน 8×8 Corner จากการได้ซ้อมละครที่โรงละครแห่งนี้ทำให้เปลี่ยนความเชื่อที่เกี่ยวกับพื้นที่ห้องแถวห้องเดียวเล็กๆ นั้นสามารถทำเป็นโรงละครได้และทำให้รู้ว่าการแสดงนั้นไม่เกี่ยวกับสถานที่ เพราะการแสดงที่โรงละครแห่งนี้ทรงพลังอย่างมาก ได้ใช้พื้นที่เล็กๆ ในการซ้อมและสนทนาเกี่ยวกับเรื่องที่จะแสดง คือเรื่องที่เกี่ยวกับยักษ์ ทางคณะนำวิธีการของคณะ “8×8” ของพี่นิกร แซ่ตั้งนำมาใช้ถึงปัจจุบัน คณะ “8×8” ของพี่นิกรเป็น physical theatre  พี่นิกรที่เน้นเรื่องประเด็น เช่นการแสดงที่เกี่ยวกับเรื่องยักษ์ มีอะไรที่บ่งบอกถึงความเป็นยักษ์ แล้วจะให้มีการแสดงความคิดเห็น พี่นิกรก็จะเขียนประเด็น และนำประเด็นที่น่าสนใจให้ผู้แสดงเล่น ถ้าเห็นว่าดีก็จะเก็บการแสดงนั้นไว้ก่อน เช่นการแย่งศพของปอเต็กตึ้ง ซึ่งการความคิดในการทำดี แต่ที่แย่งศพเพื่อที่จะได้เงินค่าผ้าห่อศพ ซึ่งเป็นเรื่องที่สนุกพี่นิกรก็จะถามว่าละครใบ้สามารถที่จะแสดงอะไรได้บ้าง ในการคิดการแสดงนั้นพี่นิกรให้คิดประเด็นก่อนแล้วใส่เทคนิคตาม ในการคิดเรื่องนี้ก็คิดเรื่องแจ็กผู้ฆ่ายักษ์ ที่แจ็กไม่ใช่คนดี แต่เราก็นำมาสอนเด็กว่าแจ็กสามารถที่จะฆ่ายักษ์ที่ตัวใหญ่กว่าและได้สมบัติจำนวนมากซึ่งนั่นหมายถึงสอนให้เด็กเป็นโจรนั้นเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่พบในชีวิตประจำวัน เช่นการที่นั่งแท็กซี่แล้วแท็กซี่ไปปาดหน้ารถที่ราคาแพงในตอนกลางคืน เจ้าของรถราคาแพงขับรถมาจอดข้างๆ รถแท็กซี่แล้วเปิดกระจก คนขับรถใส่แว่นดำแล้วหยิบปืนขึ้นมา พวกเราก็ตกใจมากรวมทั้งคนขับแท็กซี่ด้วย เป็นการนำประสบการณ์จริงมาแสดงแล้วก็มีการขยายเพิ่ม ทำให้การคิดงานไแสดงก่อนหน้านั้นไม่ได้คิดเป็นประเด็น แต่ใช้ความอยากทำของตนเอง เน้นเรื่องความสนุกสนาน และนำมุขต่างที่คิดไว้มาเรียงต่อๆ กัน แสดงแล้วผู้ชมสนุกก็ถือว่าประสบความสำเร็จ แต่จากการได้เรียนรู้จากพี่นิกรว่า การจะสร้างละครที่สนุกก็สามารถที่จะเป็นประเด็นได้ น่าสนใจ และสิ่งที่เราพูดจะเข้มแข็ง การแสดงนี้ได้รับรางวัลละครยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลละครกรุงเทพ

การแสดงบนเวทีกลางละครกรุงเทพเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เนื่องจากมีปัจจัยแวดล้อมหลายอย่างที่รบกวน ทั้งเสียง ทั้งเวทีการแสดงต่างๆ ที่เล่นอยู่รอบๆ การแสดงในปีนั้นสามารถที่จะสะกดคนดูให้อยู่ได้ด้วยตลอด แม้ว่าจะเป็นละครที่ไม่มีบทพูด ซึ่งยังประทับใจการแสดงที่เวทีกลางในป้อมพระสุเมรุเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการแสดง แม้ว่าผู้ชมบางคนจะไม่ได้สนใจเข้ามาชมเท่าใด แต่ก็นั่งชมไม่ลุกไปที่ใด เนื่องจากบางครั้งเราก็คิดเรื่องต่างเป็นจำนวนมากและมีประโยคที่ได้จากพี่นิกรที่จำได้แม่นคือ “ทำเถอะ” เราคิดเรื่องต่างๆ พี่นิกรให้หยุดคิดก่อนและนำประเด็นทั้งหมดไปทำก่อน ซึ่งสำคัญมาก เพราะน้องๆ หลายคนที่เริ่มต้นอยากทำ แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ซึ่งคิดเพียงอย่างเดียวไม่เกิดประโยชน์แต่ต้องลงมือทำด้วย

7. งานเทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 8 คณะ Babymime แสดงเรื่อง “หนูน้อยหมวกแดง” เนื่องจากงานเทศกาลละครใบ้กรุงเทพมีการจัดการแสดงละครใบ้สำหรับเด็ก ซึ่งทางคณะจึงคิดเรื่องนี้ขึ้นมาโดยมีแนวคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ ทางคณะเลือกนิทานสำหรับเด็กหลายเรื่องที่จะแสดงแต่ส่วนใหญ่ตัวละครจำนวนมาก จึงเลือกหนูน้อยหมวกแดงที่ตัวละครไม่มาก มาทำเป็นงานทดลองว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ และเรื่องหนูน้อยหมวกแดงเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกรู้จัก ในการแสดงทำได้ดี  เรื่องหนูน้อยหมวกแดงมีรอบแสดงมากกว่าเรื่อง “The Family” และมีการปรับฉากบ่อยครั้งกว่า จากการไปแสดงเก็บบัตรที่มาเลเซียต้องมีการปรับฉากอีก จึงคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีที่มีการพัฒนาการเรื่อยๆ ซึ่งแสดงว่าการคิดการแสดงยังไม่เสร็จต้องทำต่อไปเรื่อยๆ  การแสดงเรื่องนี้เต็มรูปแบบ 45 นาที ส่วนที่ชอบคือฉากที่เล่นกับคนดูโดยที่ไม่เป็นการยัดเยียดมากเกินไป

การที่ผู้แสดงของคณะไปเล่นกับคนดูมีความสำคัญสำหรับคณะเป็นอย่างมาก การแสดงบนเวทีเป็นส่วนหนึ่ง แต่การลงไปเล่นกับคนดูเป็นส่วนเสริม และยังสร้างความประหลาดใจด้วยเพราะไม่รู้ว่าจะลงไปตอนไหน ชุดที่เริ่มเล่นก่อนเรียกว่าชุดไหว้ครู ซึ่งเป็นการละลายพฤติกรรม เพราะก่อนที่ผู้ชมจะพร้อมชมการแสดง ผู้ชมที่มาชมการแสดงต้องการให้ผู้แสดงสร้างความสนุก เนื่องจากก่อนเข้าชมการแสดงผู้ชมอาจจะอารมณ์ไม่ดี ผู้แสดงต้องละลายความรู้สึกนี้ก่อน แล้วจะสามารถแสดงยาวๆ ได้ โดยที่ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมกับผู้แสดงได้

8. งานเทศกาลละครกรุงเทพครั้งที่ 9  เป็นการแสดงเรื่อง “กบเลือกนาย” ซึ่งคณะจะไม่เล่นเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะว่าการแสดงเป็นกบนั้นท่าทางที่ใช้ในการแสดงฝืนธรรมชาติมาก ในการแสดงนั้นเป้ากางเกงขาดไปหลายตัว และในการแสดงใช้เวลา 45 นาที ผู้แสดงต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะเป็นกบเลือกนาย คณะได้ทำงานร่วมกับศิลปินวาดรูปการ์ตูน คุณทองธัช เทพารักษ์ งานชื่อ “กบธิปไตย” เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมือง ซึ่งมีเรื่องที่เกี่ยวกับกบ ทางคณะจึงทำการแสดงชิ้นนี้เพื่องานนี้และเพื่อเราด้วย เพราะว่านำมาใช้ได้หลายงานด้วย การแสดงที่เป็นสัตว์นั้นได้เคยแสดงครั้งแรกกับพี่วรรณศักดิ์ในตอนนั้นแสดงเป็นสัตว์หลายประเภท แต่การแสดงครั้งนี้แสดงเป็นกบอย่างเดียวซึ่งเป็นการแสดงเรื่องวงจรชีวิตกบ ในตอบจบมีการแซวนิดหน่อย  ในการแสดงละครกรุงเทพปี 2551 คณะแสดงสองเรื่องคือเรื่อง “กบเลือกนาย” และเรื่อง “STREET MIME” เรื่องกบเลือกนายเป็นการทดลอง ส่วนการนำละครใบ้มาเล่นกับหุ่นสายของพี่เส่ย (คณะหุ่นสายแกะดำดำ) คือการแสดงเรื่องคอรัปชันภาคสอง (ภาคแรกแสดงในงานอีเวนท์ของบริษัท TPI) ซึ่งนำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหลายเรื่องที่ยังไม่ได้แสดงมาคุยกับพี่เส่ย (คณะหุ่นสายแกะดำดำ) เอาเทคนิคหุ่นมาเล่นด้วยกัน และในเรื่องมีการล้อเลียนกีฬาสีซึ่งมี มือตบ เท้าตบมาเล่นร่วมกัน  ในปีที่เล่นกบเลือกนายทางคณะมีเรื่อง “Babymime live Band”  ที่พวกเราประทับใจมาก ขณะที่แสดงที่ป้อมพระสุเมรุริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นฝนตก เมื่อฝนตกผู้ชมแม้จะหนีฝนแต่ไปหลบอยู่ใต้ต้นไม้ ผู้แสดงตัดสินใจว่าจะเล่นต่อ เนื่องจากผู้ชมยังอยู่ ผู้แสดงยืนรอบนเวทีสามนาทีฝนก็หยุดตก แม้แต่พระเจ้ายังยอมแพ้ ผู้ชมก็เข้ามานั่งชมการแสดงต่อแม้ว่าพื้นสนามจะเปียก ตอนนั้นผู้แสดงพร้อมที่จะแสดงเต็มที่ ในการแสดงนี้มีการแสดงดนตรีด้วยนิ้งหน่อง กลองแต็ก เครื่องเป่าคาซู และมีแอ็คคอเดียนประกอบ ทางคณะคิดว่าจะนำไปแสดง street show ที่สวนลุมพีนีในช่วงปลายปี การแสดงชุดนี้จึงเป็นการทดลองไปในตัวว่าเป็นอย่างไร โดยที่มีโจทย์ว่าต้องการเล่นกับดนตรีสด ในการแสดงครั้งนี้ทำให้คณะได้เรียนรู้ว่าการแสดงของคณะไม่ควรเล่นกับดนตรีสด เนื่องจากผู้แสดงไม่ได้เป็นนักดนตรี และในการแสดงนั้นจะกังวลกับเรื่องดนตรีมากกว่าการแสดง เพราะต้องแสดงด้วยและเล่นดนตรีด้วยทำให้ผู้แสดงไม่สนุก หากจะแสดงในลักษณะนี้อีกต้องทำแบบที่ผู้แสดงไม่ได้เล่นดนตรีเอง และเราสามารถแสดงอย่างอื่นโดยที่ไม่ต้องกังวล บทเรียนนี้มาจากการที่คณะคิดเองโดยที่ไม่ได้ปรึกษาใคร และเมื่อแสดงแล้วก็รู้ว่าควรทำในสิ่งที่ตนเองถนัด และหากจะนำดนตรีเข้ามาร่วมนิดหน่อยจะดีกว่า

5.   การฝึกฝน เรียนรู้ เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ในการพัฒนาการแสดงของคณะ Babymime

                นอกจากการที่คณะละคร Babymime จะได้แสดงในงานเทศกาลละครกรุงเทพทุกปีแล้ว สิ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการแสดงคือ การที่คณะ Babymime ได้มีโอกาสไปร่วมทำเวิร์คช็อบกับคุณ Randal Wright นักแสดงกายกรรมชาวอเมริกา ซึ่งเป็นอดีตนักแสดงละครสัตว์ของอเมริกา และมีบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนเข้าอบรมด้วย ความคิดในการทำเวิร์คช็อบน่าสนใจเพราะว่าเป็นกระบวนการที่นักแสดงต่างชาติต้องการทำงานชิ้นหนึ่งและก็หานักแสดงในเมืองไทยร่วมแสดงและมีค่าใช้จ่ายให้ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อบตลอดที่ทำงานสี่ถึงห้าเดือน โดยที่ทุกคนจะซ้อมร่วมกันทุกวันและนำงานที่เราทำไปแสดงตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการทำเวิร์คช็อบนี้มีนักธุรกิจชาวอินเดียที่ทำงานในประเทศไทยที่สนใจในงานศิลปะให้ทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการสนับสนุนนี้จะไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเงิน ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่แม้จะมีผู้ให้ทุน แต่ก็ต้องได้รับผลตอบแทนกลับมาด้วย

สิ่งที่ได้รับการเข้าร่วมทำเวิร์คช็อบคือเรื่องคลาสสิก การแสดงออกของตัวละครต่างๆ เช่นการเดินของตัวตลก การให้แสดงเป็นฝาแฝดว่าจะเกิดอะไรขึ้นซึ่งได้วิธีการคิดที่ดูเหมือนว่าจะเหมือนกันแต่มีความแตกต่างกัน และจากการทำเวิร์คช็อบได้รับทักษะการแสดงตัวตลกทั้งวิธีการตบหน้า การได้ยินเสียง วิธีการแสดงต่างๆ วิธีการเล่าเรื่องของตัวตลกเป็นสิ่งที่คณะใช้แสดงในปัจจุบัน วิธีการที่นำมาใช้ในการเวิร์คช็อบมีความน่าสนใจ แม้ว่าในตอนแรกผู้เข้าร่วมนั้นไม่ยอมรับในวิธีการเท่าไรนัก แต่ก็ปฏิบัติตาม เช่น การปิดตาและพาเดินออกไปที่ถนนจริงๆ ซึ่งสถานที่ซ้อมอยู่ที่สะพานควาย แล้วพาเดินออกไปที่จตุจักร หรือในการซ้อมให้วิ่งเล่น หรือเล่นซ่อนแอบ ซึ่งมาเรียนรู้ที่หลังว่าเป็นการทำให้ “ปล่อยใจ” การที่เราจะทำอะไรต้องปล่อยใจอย่าฝืน และเมื่อทำอะไรแล้วให้ปล่อยให้ดำเนินไปแล้วจะดีขึ้นเอง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเวิร์คช็อบ

นอกจากการเข้าร่วมเวิร์คช็อบแล้ว คณะ Babymime ยังได้ฝึกฝนเรียนรู้เทคนิควิธีการแสดงต่างๆ เทคนิคการลงบันไดเลื่อนทางคณะไม่รู้ว่าแสดงอย่างไร แต่จากที่ได้รู้จักคุณยาโน่ซังชาวญี่ปุ่นที่เล่นละครใบ้กับครูไพฑูรย์ ร่วมเล่นละครใบ้ในเทศกาลละครกรุงเทพ ทางคณะได้ถามเทคนิคและให้คุณยาโน่มาสอนเทคนิคการลงบันไดเลื่อน และได้นำไปดัดแปลงใช้ในการแสดงของคณะ

จากที่การแสดงละครใบ้และการรับงานอีเว้นท์มีความแตกต่างกัน การทำโชว์รับงานอีเว้นต์เป็นสิ่งที่เป็นการพาณิชย์มากแต่เป็นสิ่งที่ทำให้คณะอยู่รอดได้ การทำละครใบ้เป็นศิลปะและทำให้มีรายได้น้อย คณะรับรู้ถึงความแตกต่าง แต่ไม่ทราบว่ามีสัดส่วนเท่าใดจึงไม่สามารถที่จะรักษาสมดุลได้ ในช่วงนั้นคณะรับงานอีเว้นท์เป็นจำนวนมาก และได้รับประสบการณ์จากงานอีเว้นท์ด้วยเช่นกัน เช่น การรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้ชมที่ได้มาจากงานอีเว้นท์ การแสดงต้องสร้างอารมณ์ของผู้ชม หรือประสบการณ์จากการแสดงอีเว้นท์ที่มุขในการแสดงไม่ประสบความสำเร็จติดต่อกันหลายครั้ง และโดนโห่ไล่ก็หลายครั้ง การนำละครใบ้แสดงในงานอีเว้นท์เป็นเรื่องใหม่ บางงานเป็นการแสดงระหว่างที่รับประทานโต๊ะจีน ผู้แสดงต้องเรียกความสนใจผู้ชมจากอาหารที่รับประทาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้อมากสำหรับผู้แสดง แต่ทำให้เรียนรู้การว่าแสดงมีปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ควบคุมได้คือผู้แสดง เวลา สถานที่ แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ไม่สามารถจะควบคุมได้โดยเฉพาะผู้ชม

เนื้อหาที่ใช้แสดงในงานอีเว้นต์มีการเปลี่ยนการแสดงไปตามที่ลูกค้าต้องการ ในภายหลังก็ได้รู้ว่าบางเรื่องไม่สามารถที่จะนำมาเล่าเป็นละครใบ้ได้ ตัวอย่างเรื่องที่เป็น hard sale สุดๆ เช่น เราเคยไปแสดงในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีคุณประโยชน์ 10 ประการ โดยที่ให้เวลาในการแสดงเพียง 5 นาที ซึ่งเราไม่สามารถที่จะใช้เวลาเพียงเท่านั้นในการบอกถึงคุณประโยชน์ทั้ง 10 ข้อได้ ดังนั้น จึงเรียนรู้ว่าควรเลือกมาเป็นบางข้อในการแสดงเท่านั้น และหาวิธีอย่างอื่นเพื่อที่จะนำเสนอแทน

6.   จากประสบการณ์การเรียนรู้ต่างๆ สู่การจัดการแสดงที่เป็นของคณะ Babymime เอง

จากการที่คณะได้แสดงในเทศกาลละครกรุงเทพเรื่อง “Ants” ได้เวลา 15 นาที ต่อมาเรื่อง “ใจยักษ์” ได้เวลา 45 นาที ซึ่งทางคณะคิดว่าเวลา 45 นาทีสามารถแสดงได้เพียงเรื่องเดียว ซึ่งยังมีเรื่องราว ประเด็นต่างๆ ที่คณะต้องการที่จะเล่า แต่ไม่สามารถทำได้เพราะเวลาไม่เพียงพอ ทางคณะจึงปรึกษาว่าจะจัดการแสดงของตนเอง เนื่องจากกลุ่มมีศักยภาพที่จะทำได้ และมีผู้ที่จะมาช่วยติดต่อประสานงานให้  คณะ Babymime จึงลองจัดการแสดงนี้ขึ้นมา สำหรับค่าใช้จ่ายในการแสดงนั้นจะหักเงินที่ได้รับจากงานอีเว้นท์เก็บไว้เพื่อที่จะจัดการแสดง เพราะนอกจากช่วงงานเทศกาลละครกรุงเทพและเทศกาลละครใบ้กรุงเทพ ทางคณะจะรับงานอีเว้นท์ การทำโชว์คือการลงทุน การทำโชว์ครั้งแรกสิ่งที่สำคัญคือการที่ได้เจอมิตรดี เช่นน้องมาย (เพียงไพฑูรย์ ศาสตรวาหะ) ซึ่งมาช่วยงานเราจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่คณะเริ่มทำโชว์มีเงินในบัญชีสี่พันบาท ทำให้นึกถึงนักธุรกิจชาวอินเดียชื่อคุณอามีที่ให้เงินสนับสนุนงานศิลปะที่ได้กล่าวมาแล้ว คุณอามีให้ทุนในการทำงาน 50,000 บาท การทำละครครั้งนั้นมีความสนุกมากกว่า เพราะว่าไม่ได้เป็นผู้เล่นเพียงอย่างเดียว ยังมีด้านการจัดการอีกด้วย  ซึ่งทางคณะได้คนชวนคนเข้ามาช่วยในเรื่องการจัดการ น้องมาย มีพี่ๆ มาช่วย พี่นิกรเป็นผู้กำกับ ในการแสดงนั้นมีปัญหาที่ต้องแก้ปัญหาบนเวที และปัญหาหลังเวทีในขณะที่แสดงบนเวที พอกลับมาด้านหลังเวทีก็ต้องซ่อมคอมพิวเตอร์ การแบ่งงานกันในคณะงานส่วนใหญ่ที่เป็นการจัดการจะเป็นหน้าที่ของคุณมาย ในงานส่วนย่อยๆ ผู้แสดงจะรับทำตามความถนัด ในการแสดงนั้นผู้แสดงทั้งสามคนในคณะจะมานั่งคุยกันหากมีประเด็นใดที่ตกลงกันไม่ได้ จะใช้วิธีการโหวตทุกคนต้องออกเสียง และจากการที่มีสามคนก็สามารถที่จะตัดสินได้

การทำงานโดยที่มีผู้กำกับทำให้การทำงานของคณะเป็นไปได้เร็วมาก จากเดิมการแสดงในงานเทศกาลละครกรุงเทพที่แสดงเพียงสิบห้านาทีใช้เวลาหนึ่งปีในการซ้อม คิดเรื่อง ถกเถียงในเรื่องต่างๆ ซึ่งใช้เวลานานมากในแต่ละประเด็น เมื่อมีผู้กำกับเข้ามาบอกว่าเรื่องนี้เอาแค่นี้ เรื่องนี้ต้องเพิ่ม ก็จะสร้างความชัดเจนขึ้น โดยที่ผู้แสดงมุ่งสมาธิในการแสดงเพียงอย่างเดียว เพราะมีผู้กำกับดูแลอยู่ ในเรื่องการแสดงว่าบางเรื่องมากเกินให้ไปเรื่องอื่นได้แล้ว แต่ในเรื่องความคิดต่างๆ ในการแสดงนั้นทางคณะยังเป็นคนออกความคิดเห็นอยู่เช่นกัน โดยที่จะแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่าอยากแสดงอะไร และพี่นิกรให้ลองแสดงดูแล้ววิจารณ์ว่าการแสดงเป็นอย่างไรบ้าง การแสดงออกมานั้นเหมือนกับสิ่งที่ต้องการจะบอกหรือไม่ หากไม่เหมือนก็ต้องมีการแก้ไข การทำงานในลักษณะนี้ทำให้เห็นทิศทางการทำงานที่ชัดเจน ไม่ต้องใช้เวลามากเหมือนเมื่อก่อน

เทศกาลละครมีผลต่อการแสดงของคณะละคร Babymime  การแสดงครั้งแรกที่เป็นการแสดงร่วมกับคุณวรรณศักดิ์ ศิริหล้า (พี่กั๊ก) และในปีต่อๆ มามีการแสดงเป็นของของตัวเอง โดยในปีหลังๆ Babymime จะนำเสนอละครเวทีครั้งแรกที่งานเทศกาลละครกรุงเทพ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นงานใหญ่ หรือไปแสดงที่อื่น รวมถึงการแสดงใหญ่ของกลุ่มละครใบ้ เทศกาลละครใบ้กรุงเทพ นอกจากงานใหญ่แล้วคณะ Babymime ก็มี “The Little Mime Project” ซึ่งเป็นโปรเจ็กทดลอง ในการแสดงในโรงที่เล็กกว่า และขายบัตรถูกกว่า ซึ่งเกิดจากการทำ “BABYMIME SHOW” คือการทำตามที่ผู้ชมชอบ และจะมาสนทนากันว่าจะทำในสิ่งที่เราอยากทำและผู้ชมจะรับได้หรือไม่ งานทดลองนี้สนุกมาก และเรื่องที่แสดงบางเรื่องเป็นเรื่องที่ hard core เนื่องด้วยห้องที่แสดงมีขนาดเล็ก พลังที่ส่งไปถึงผู้ชมทำให้ยึดผู้ชมให้ดูอยู่ได้ การแสดง “BABYMIME SHOW” จะแสดงที่โรงละครปรีดี พนมยงค์ หากเป็นการแสดง “The Little Mime Project” เป็นการแสดงที่ Crescent Moon Theatre ซึ่งมีขนาด 30-34 ที่นั่ง แต่แสดงจริงมีผู้ชม 50 คน นั่งเบียดกัน ใช้เวลาในการแสดง 3 อาทิตย์ แสดง 19 รอบ โครงสร้างการแสดงของคณะ Babymime เป็นการเข้าร่วมแสดงเทศกาลละครกรุงเทพทุกปี และมี BABYMIME SHOW” ที่เป็นงานใหญ่ และ “The Little Mime Project” ที่เป็นงานเล็ก

7.   ในการแสดงแต่ละครั้งมีการเขียนบทเพื่อการแสดงหรือไม่

ในตอนนั้นคณะ Babymime ยังไม่มีการเขียนบท แต่จะมีการจดประเด็นที่สำคัญๆ เช่นเรื่อง “007” อยากจะแสดงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฉากแอ๊กชั่นที่มีการยิงปืนเป็นประเด็นที่สำคัญ  ส่วนการแสดงเดี่ยวของผู้แสดงสามคนในคณะ และเรื่องเก่าที่สามารถจะแสดงได้ก็นำมาแสดงร่วมด้วย ซึ่งการการแสดงเรื่อง “007” สนุกมาก พี่นิกรให้ไปดูเรื่อง 007 ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้หญิง ผู้ชายที่สืบหาคนร้ายและรักกันในที่สุด เรื่องก็จบง่ายๆ แบบนี้ พี่นิกรให้เราไปคิดว่าจะใช้เทคนิคแบบใด แบบที่ซ้ำแล้วก็ไม่ต้องเล่น และให้หาเทคนิคใหม่ โดยที่คุณทองเกลือมีหน้าที่หาเทคนิคพิเศษต่างๆ

น้องมายจากอักษรจุฬาฯ เสนอวิทยานิพนธ์เรื่องละครใบ้ ซึ่งมีประเด็นคำถามในการศึกษาว่าการทำละครใบ้ในประเทศไทยมีการเขียนบทและบันทึกไว้หรือไม่ และหากมีการเขียนบทละครใบ้และบันทึกเอาไว้ เป็นสิ่งที่น่าสนใจว่าในประเทศไทยมีละครใบ้ มีบทละครใบ้ จึงเข้ามาปรึกษากับคณะ และมีคำถามที่ว่า มีท่าใดที่บ่งบอกถึงความเป็นละครใบ้ไทย และมาทำร่วมกัน นอกจากน้องมายที่ทำงานร่วมกันแล้ว คณะยังได้ทำงานร่วมกับคุณจารุนันท์ จากคณะ B-floor การทำงานกับพี่จารุนันท์สนุกมาก ได้อารมณ์ที่แตกจากการทำกับพี่นิกร พี่นิกรจะเป็นผู้กระตุ้นให้ลงมือปฏิบัติ ส่วนพี่จารุนันท์จะเป็นคนใจดี โดยที่ทั้งสองคนมีมุมมองที่แตกต่างกัน พี่จารุนันท์เป็นมุมองแบบผู้หญิงที่ละเอียดมาก ส่วนที่นิกรจะจิก กัด เก่ง ประชดประชัน มากกว่า

เมื่อมีการตั้งคำถามนี้ จึงมีการเขียนบทขึ้นมาและทำการศึกษาว่าเรื่องที่น้องมายต้องการคำตอบว่าเรื่องนี้สามารถที่จะจินตนาการต่อได้หรือไม่ บางกรณีไม่สามารถที่จะแสดงได้และได้เรียนรู้ว่าละครใบ้ไม่สามารถที่จะเขียนบทและให้เล่นตามบทได้ เพราะบทและผู้แสดงละครใบ้ต้องเป็นส่วนเดียวกัน ผู้ที่แสดงละครใบ้ในบทหนึ่งจะมีวิธีคิดในแบบตัวเอง การแสดงนั้นจะไม่เหมือนในบทละครที่ให้พูดตามที่ได้เขียนบทมาแล้ว เมื่อแสดงจริงๆ แล้วผู้แสดงไม่เชื่อ ไม่คิดว่าตัวละครจะทำอย่างนี้ จึงเรียนรู้ว่าละครใบ้นั้นบทจะพัฒนาไปกับผู้แสดง จะมีการแก้บทไปพร้อมกับการแสดง

ประเด็นการแสดงความเป็นไทยนั้นมีการนำท่าไหว้มารวมเป็นท่าการแสดงไทย และเมื่อทางคณะได้ร่วมงานกับพี่จารุนันท์ และพี่นิกร ก็มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นไป และท่านี้ไปได้ไกลกว่าเมื่อก่อนเราไม่เข้าใจว่าปล่อยให้ร่างกายไปก่อน แต่เมื่อทำในปัจจุบันร่างกายเรายังไปได้อีก วิธีการนี้เป็นการ movement ของ B-floor คือการลองทำไปก่อน ซึ่งพี่จารุนันท์บอกว่าผู้ชมจะไปตีความเอง ซึ่งท่าไหว้มีทั้งท่าไหว้ พระ กษัตริย์ คน ซึ่งทดลองกันและได้ความรู้สึกอย่างนี้ นับเป็นเรื่องที่แปลกใหม่

คุณมาย ผู้ที่ศึกษาการทำงานของคณะละคร Babymime กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ขณะที่คิดโจทย์ขึ้นมานั้นศึกษาระดับปริญญาโทและหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ จากที่ได้ทำงานร่วมกับ Babymime ได้เห็นพัฒนาของคณะละคร ซึ่งจากผู้ชมมาเป็น producer และเห็นว่าคณะ Babymime เป็นคณะที่สามารถจะพัฒนาได้เป็นอย่างดี และเห็นว่าสิ่งที่ Babymime ขาดในตอนนั้นคือ บท ซึ่งในขณะนั้น Babymime ทำโชว์ที่เป็นเรื่องตลก และต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ตนเองได้ตั้งคำถามว่าละครใบ้จะแสดงเรื่องที่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์สังคม เรื่องการเมือง หรือปัญหาเรื่องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สนุก แต่คนดูก็ยังชมการแสดงละครใบ้ได้ และเรียนรู้ในตอนท้ายว่าละครใบ้เป็นการเล่าเรื่องในสังคมอย่างมีศิลปะ โดยที่ไม่ต้องใช้คำพูดก็ได้ ทั้งนี้พบว่าสมมุติฐานบางเรื่องผิด เนื่องจากไม่เคยทำละครใบ้มาก่อน การได้ติดตามละครใบ้เท่านั้นทำให้คิดว่าการทำละครพูดว่าต้องมีบท จะต้องเริ่มบนกระดาษก่อน แต่การมาทำงานกับคณะละครใบ้ก็ทราบว่าบางเรื่องสามารถที่จะทำได้ แต่บางเรื่องไม่ได้ การทำงานช่วยให้ได้รับความรู้ใหม่ เรื่องบทที่มีการบันทึกไว้ไม่ได้มีประโยชน์เพียงด้านเดียว แต่เป็นการบันทึกขั้นตอนการทำงาน หากวิทยานิพนธ์สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์อย่างน้อยสำหรับน้องๆ นักศึกษาปีที่สามที่ต้องการแสดงละครใบ้ แต่ยังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร  ซึ่งการแสดงละครใบ้ในประเทศไทยบางที่เป็นการจำมา หรือเป็นประเภทครูพักลักจำมา การเรียนนั้นไม่ได้มีบทเรียนที่ตายตัว

8.   ประสบการณ์การเดินทางไปแสดงและดูงานแสดงที่ต่างประเทศ

การแสดงในต่างประเทศของคณะ ในปีนี้คณะเดินทางไปแสดงที่ประเทศเกาหลี และ มาเลเซีย ซึ่งการมีเครือข่ายไปยังต่างประเทศเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากต่างประเทศจะได้รู้จักเราด้วย ขณะเดียวกันทางคณะก็อยากจะไปแสดงต่างประเทศด้วย สำหรับการแสดงที่เกาหลีนั้น มีนักแสดงละครใบ้ญี่ปุ่นชื่อ โคจิมาย่า มันสึเกะ นักแสดงละครใบ้ญี่ปุ่นที่ร่วมงานเทศกาลละครใบ้กรุงเทพทุกปี และเป็นประธาน Asia Mime Creation เป็นผู้ที่เห็นพัฒนาการของคณะ และคุณโคจิยามาพูดเรื่องละครใบ้ในเกาหลี และทางผู้ใหญ่ของประเทศไทยเสนอให้นำคณะละครไทยไปแสดงที่ต่างประเทศ คุณโคจิยามาติดต่อไปที่ประเทศเกาหลี ซึ่งทางเกาหลีตอบตกลงและจะรับผิดชอบค่าตั๋วเครื่องบินให้

การแสดงที่เกาหลีเป็นงานเทศกาลละครใบ้ ชุนชอน ChunCheon International Mime Festival จัดมายี่สิบปี เป็นงานเทศกาลละครใบ้ที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย การไปร่วมงานนี้ทำให้เปิดโลกที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งแต่เดิมคิดว่าเห็นโลกที่เห็นนั้นใหญ่มากแล้ว แต่ที่เกาหลีนั้นใหญ่มากเพราะมีโรงละคร MIME เป็นของตัวเอง แสดงเฉพาะละครใบ้อย่างเดียว ซึ่งที่ญี่ปุ่นไม่มีโรงละครที่ใช้แสดงละครใบ้อย่างเดียวและที่ตั้งของโรงละครอยู่ติดถนนใหญ่ มีการจัดหมวดหมู่ของงานที่น่าสนใจมาก ซึ่งจากเดิมที่คิดว่าละครใบ้มีเฉพาะในแบบที่เราแสดง แต่ในงานนี้ยังรวมถึงการแสดงอื่นๆ ที่ไม่พูดก็ถือว่าเป็นละครใบ้ได้เหมือนกัน เรื่องละครใบ้ที่เกาหลีมีเรื่องให้พูดถึงเป็นจำนวนมาก แต่ที่สำคัญมีการเปิดการแสดงเที่ยงวันจนถึงเที่ยงคืนเป็นเหมือนคอนเสิร์ต และเวทีที่จัดในส่วนการแสดงมีตั้งแต่ห้าโมงเย็นจนถึงตีห้า เวทีมีขนาดใหญ่มาก และแสงสีเสียงนั้นยิ่งใหญ่อลังการมาก ความละเอียดในการจัดการแสดงที่ประทับใจคือ จะมีลำโพงที่เรียกว่าซับวูฟเฟอร์ โดยมีวางฐานรองรับลำโพง เพื่อไม่ให้บังนักแสดง และเป็นเช่นนี้ในทุกเวที สำหรับเรื่องที่คณะนำไปแสดง “เซปักตะกร้อ”

เรื่องที่ทางคณะเลือกที่จะไปแสดงต่างประเทศนั้นต้องเป็นเรื่องที่แสดงความเป็นไทย ซึ่งเป็นจุดแข็งของคณะ เมื่อญี่ปุ่นเห็นงานเราก็ไม่สามารถแสดงได้ เพราะว่าเป็นแบบของเรา เช่น sense ตลกของแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน เราแสดงให้คนไทยแล้วตลก แต่เกาหลีเป็นเกาหลีก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่งคือแบบที่อยากจะออกไปช่วยเต็มที่

สำหรับการแสดงที่มาเลเซียเก็บค่าเข้าชมเพื่อเป็นการกุศล เนื่องจากมีภิกษุณีรูปหนึ่งอยากระดมทุน เพื่อนำเงินไปบริจาค จึงชวนคณะแสดงละครเวที และมีการขายบัตร ซึ่งบัตรราคาสูงเป็นสองเท่าของราคาบัตรทั่วไป เนื่องจากเป็นการทำบุญ ถ้าขายบัตรในราคาปกติจะได้เงินเพียงเล็กน้อย จึงคิดราคาเพิ่มอีกเท่าหนึ่ง การแสดงที่นั้นสร้างความกังวลมาก เพราะว่าโรงละครที่มาเลเซียใหญ่มีที่นั่ง 1200 ที่นั่ง เป็นโรงละครใหญ่ที่สุดที่ Babymime เคยแสดง และมีเวลาในการเข้าซ้อมสถานที่จริงเพียงวันเดียว และในการแสดงมีการนำเรื่องไปแสดง 4-5 เรื่อง ซึ่งบัตรเข้าชมนั้นขายหมดไปแล้วแม้ว่าราคาเป็นสองเท่า เพราะว่าเป็นงานการกุศลจึงมีผู้เข้ามาช่วยมาก ผู้ที่มีเงินก็จะซื้อบัตรทีละมากๆ เพื่อเอาไปแจก ซึ่งเหมือนกับที่ประเทศไทย แต่ที่มาเลเซียมีผู้เข้ามาชมเป็นจำนวนมาก ความรู้สึกที่ดีที่ได้ไปแสดงเก็บเงินที่ต่างประเทศ ได้รับเสียงตอบรับที่ดี และทำให้ทราบว่าเรื่องตลกเป็นเรื่องที่สากล

9.   การจัดทำ workshop ของคณะ Babymime

ปีหน้าคณะ Babymime มีการทำ workshop ที่ให้คนมาร่วมฝึกละครใบ้ด้วยกันในช่วงหลังเดือนมีนาคม ให้ติดตามเรื่องนี้ ที่จัด workshop  เนื่องจากมีผู้สนใจสอบถามว่าอยากเรียนละครใบ้ เมื่อใดจะเปิดสอน จึงเปิด workshop มาทดลองร่วมกัน แม้ว่าทางคณะจะแนะนำให้ไปเรียนกับคนหน้าขาวแล้ว แต่ยังมีคนอยากที่จะเรียนกับเราอยู่ เพราะว่าวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน ในขณะที่มาเรียน workshop ก็เรียนรู้วิธีการทำงานของเราด้วย

10. การสร้างแฟนคลับและการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มคนที่ติดตามงานแสดงของคณะ Babymime

การสร้างกลุ่มแฟนคลับของคณะ babymime สิ่งแรกที่เราทำคือการส่ง sms เพราะจะมีเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใดจะส่งไปทุกอาทิตย์ บอกข่าวการแสดงของคณะ วิธีการนี้ใช้ได้ดีพอสมควรในช่วงเวลานั้น ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการใช้ Facebook แทน เนื่องจากสะดวกกว่าและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้ประโยชน์จากส่วนนี้มาก หลายคนมาชมการแสดงเพราะทราบข่าวมาจากเฟซบุ๊ก ขณะเดียวกันได้เรียนรู้พฤติกรรมบางอย่างของคนว่า เฟซบุ๊กต้องห้ามนิ่ง รวมถึงเว็บไซต์ที่ต้องเคลื่อนไหวทุกๆ เดือน เมื่อทางคณะเดินทางมากๆ ไปต่างประเทศบ่อยๆ ชาวต่างชาติต้องการให้มีข้อมูลที่เป็นภาษาต่างประเทศด้วย ทางคณะต้องขอขอบคุณหลายๆ ท่านที่ให้ความช่วยเหลือ การที่คณะประสบความสำเร็จไม่ได้เฉพาะตนเองเท่านั้น แต่ยังต้องกล่าวถึงในเรื่องมิตรภาพ นอกจาการทำงานภายในกลุ่มแล้วต้องรู้จักผู้คนรอบข้างเป็นกัลยาณมิตรที่ดี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมสนับสนุน ทั้งแฟนคลับ สื่อ พี่หลายคนที่มาแนะนำ เพื่อที่จะให้ฐานคนดูเพิ่มมากขึ้น

 

11.  การอภิปรายทั่วไป

อาจารย์อภิรักษ์กล่าวว่า ครูไพฑูรย์ ไหลสกุล ฝากถามว่าคณะ Babymime แสดงกันอยู่เรียกว่าละครใบ้หรือไม่

Babymime ตอบว่าใช้วิธีการเครื่องมือของละครใบ้ แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าทำละครใบ้อย่างเดียว แต่มีส่วนผสมของการแสดงอื่นๆ ด้วย ทั้งยังมั่นใจว่าผู้ชมรับรู้ว่าคณะเป็นละครใบ้ แต่ว่าในส่วนตัวไม่ได้สนใจว่าละครใบ้ต้องมีรูปแบบที่ตายตัว เรื่องแรกปรัชญาการทำงานที่คิดร่วมกันคือ ถ้าคณะทำละครใบ้แล้วไม่มีคนมาดู แต่การยอมที่จะลดตัวเองลงไปครึ่งหนึ่งแล้วมีผู้ชมมาดู เมื่อมีคนมาดูแล้วสามารถที่จะปรับตัวให้เป็นละครใบ้มากยิ่งขึ้นได้ ซึ่งมีประโยชน์และมีคุณค่ามากกว่า เพราะงานที่ดีควรจะให้ทุกคนได้ดู มากกว่าที่จะยึดตัวเองเป็นที่ตั้งและต้องเป็นอย่างนี้เท่านั้น อาจเรียกได้ว่ายอมลดทิฐิเพื่อที่เราจะได้อะไรบางอย่างเพิ่มมากขึ้น ละครใบ้ของคณะ Babymime เป็นอีกยุคสมัยหนึ่งซึ่งแตกต่างจากในสมัยครูอั๋น ไพฑูรย์ ก็มีผู้ชมในอีกแบบหนึ่ง ส่วนในปัจจุบันมีคนชอบดูละครใบ้ที่เป็นแบบนี้ แต่ว่ายุคหลังจากนี้ละครใบ้ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง จากการที่เราได้ชมงานที่ต่างประเทศ พบว่ายุคของละครใบ้มีการเปลี่ยนแปลง ละครใบ้เกิดจากการที่คนคิดงานศิลปะ เมื่อความคิดเปลี่ยนงานก็ต้องเปลี่ยนไป

อาจารย์อภิรักษ์กล่าวว่าสิ่งที่คณะ Babymime ทำอยู่เป็นละครใบ้ในสากล pantomime เป็นคำที่มีความหมายกว้างมาก เช่นเดียวกับคำว่า theatre กับ dance เพราะฉะนั้นจะมีแต่ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่จะมากำหนดตายตัวว่าต้องเป็นอย่างไร และประเทศของเรามักจะมีปัญหาเช่นนี้ อาจเป็นเพราะว่าเรื่องระบบอาวุโส ว่าครูเคยดูงานเหล่านี้ เรียนอย่างนี้มา และต้องการให้เราเป็นอย่างนี้ด้วย ในปัจจุบันไม่อาจเป็นเช่นนั้นแล้ว เนื่องจากการที่ได้เดินทางไปต่างประเทศ ได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่มีความเป็นไปได้ ขยายออกไป และมีการรวมกับศาสตร์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ซึ่งสิ่งที่ยังทำอยู่ก็เป็นละครใบ้ เพียงแต่ว่าคำจำกัดความไม่เหมือนกัน ซึ่งลักษณะเด่นของ Babymime คือสามารถที่จะประยุกต์ศิลปะที่เป็นคลาสสิกของตะวันตกให้มาเป็นศิลปะการแสดงของไทยร่วมสมัยที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม และคณะ Babymime ได้ทดลองผิดลองถูกทั้งในเทศกาลละครกรุงเทพและเทศกาลละครใบ้กรุงเทพ หรือการที่ไปแสดงในงานอีเว้นท์นั้นเป็นเอกลักษณ์ในตัวเองและได้ทดลองตลอดเวลา ได้เรียนรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา และการที่คณะจัดทำเวิร์คช็อบเป็นสิ่งที่ดี และผู้ชมเกือบทุกคนก็คิดเช่นนั้น เพราะจะเป็นการถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ต่างๆให้กับคนรุ่นหลังด้วย เราอยากได้ครูผู้สอนละครใบ้ทีมีความคิดใหม่ๆ

ผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่งถามแฟนคลับ Babymime ที่สร้างกลุ่มผู้ชม ซึ่งเป็นจุดเด่นของ Babymime อยากที่จะถามแฟนคลับว่าสนใจ Babymime ที่เป็นตัวงานหรือตัวบุคคล และเหตุใดถึงตามเป็นแฟนคลับ Babymime ผู้ที่เป็นแฟนคลับ Babymime           ตอบว่าเนื่องจากชอบละครเวที และเมื่อสองปีที่แล้วได้ชมการแสดงของ Babymime ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์หลังจากนั้นก็ติดตามในเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และเห็นว่าเป็นคณะที่อบอุ่น นอกจะติดตามงานแล้วยัง ชื่นชมตัวตนของนักแสดงที่น่าสนใจ ตอนเด็กๆ ดูละครใบ้แล้วรู้สึกว่าการแต่งหน้าทำให้น่ากลัว แต่ Babymime ทำให้ สนุกและน่ารัก

ผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่งถามว่าโดยปกติชื่อคณะละครจะสะท้อนแนวคิดการทำงาน ความเชื่อ และถ้าอีกยี่สิบปีข้างหน้า Babymime จะเปลี่ยนชื่อคณะหรือไม่ หรือจุดที่คิดว่าสูงสุดของละครใบ้อยู่ที่ใด Babymime ตอบว่าเคยมีคนถามว่าจะใช้ชื่อ Babymime ไปอีกนานเท่าใด ทางคณะเคยหารือกันว่าถ้าอายุมากขึ้นแล้วจะเปลี่ยนเป็น adult gentle mime หรือไม่ และเมื่อพี่น้องแฟนคลับของคณะบอกกับว่า การที่ได้มาชมการแสดงของคณะ babymime คือเมื่อเครียดแล้วมาชมการแสดงของคณะ Babymime ได้หัวเราะเสียงดัง ได้กลับกลายเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง และขอคณะอย่าเปลี่ยนชื่อเพราะว่าการที่มาชมการแสดง Babymime ได้กลับกลายเป็นเด็ก มีความสุข หัวเราะเสียงดัง ยิ้มเสียงดัง ลืมเรื่องเครียด ทางคณะคิดว่าจะใช้ชื่อนี้ต่อไป สำหรับคำถามว่า Babymime ถึงจุดอิ่มตัวหรือยัง ก็ต้องตอบว่าเรายังไปไม่ถึง เพราะมีเรื่องที่ไม่ได้ทดลอง ยังไม่ได้ทำอยู่อีก อาจารย์อภิรักษ์เห็นว่าชื่อ Babymime แสดงถึงความเป็นไทยอย่างสูง ซึ่งแสดงถึงความถ่อมตน เมื่อได้ยินครั้งแรกมีความรู้สึกว่าเป็นคณะละครใบ้ที่ยังเป็นเด็ก กำลังฝึกหัด ยังเล่นสนุก ความถ่อมตัวเป็นลักษณะคนไทยที่ถ่อมตัว  Babymime เองก็คิดเช่นเดียวกันว่าใช่ เพราะไม่อยากที่จะตั้งชื่อคณะเป็น Supermime

อาจารย์เจตนาแสดงความเห็นว่าชื่นชมที่สร้างตัวเองขึ้นมาจากการเรียนไปทำไปจนได้รับการยอมรับ จนกระทั่งปัจจุบันมีคนที่ตั้งให้เป็นครูขอให้ไปสอน ประเด็นคิดต่อไปคือศิลปะแขนงอื่นของไทยสร้างขึ้นมาด้วยรูปแบบอย่างคณะ Babymime หรือไม่ เพราะการสร้างของไทยมักจะสร้างจากความขลังว่าการแสดงนั้นมีรูปแบบที่ตายตัว ถ้าพูดถึงการสื่อด้วยเรือนร่างละครไทยจะต้องมาจากแม่บทแปลงไปอย่างอื่นไม่ได้ ซึ่งเป็นการสร้างเทพปกรณัมให้เกิดความขลังกับตัวเองมากกว่า ศิลปะทุกแขนงเกิดจากการคิดใหม่ คิดจากของเดิมแล้วสร้างใหม่ตลอดเวลาจนมาถึงสถานะที่เป็นครู แต่เมื่อมาถึงจุดนี้บางคนหยุด ไม่ได้มีการพัฒนาต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาของไทยทุกที่ และตั้งข้อสังเกตถึงพิเชษฐ กลั่นชื่น ที่ไม่มีแฟนติดตามการแสดงอย่างคณะ babymime เพราะว่าจุดเริ่มต้นของพิเชษฐอยู่ที่ของขลังก่อนแล้วค่อยๆ ปลดความขลังเหล่านั้นออกทีละน้อย เมื่อเปลื้องส่วนนั้นออก สิ่งที่อยู่ในนั้นขลังยิ่งกว่า และในที่สุดไม่มีใครในประเทศสนใจเรื่องนี้ พิเชษฐต้องออกไปแสดงที่ต่างประเทศ และคนต่างชาติกลับมองเห็นความสำคัญ ทำให้คิดว่าศิลปะในประเทศเมื่อใดที่จะได้เจอของจริง และพวกเขาเหล่านี้ก็เป็นของจริง สามารถที่จะสื่อความได้ทั้งนี้เห็นว่าในประเทศไทยนั้นต้องแยกออกเป็นของสูง ของราชสำนัก ของชาวบ้าน  ซึ่งราชสำนักก็มาจากชาวบ้านมาจากอัมพวา ราชสำนักพยายามทำให้ละครนอกไม่ตาย โดยที่ละครนอกมาเขียนเอาไว้ หรือลิเกนำเรื่องอิเหนาซึ่งเป็นของราชสำนักมาเล่น ไม่เห็นว่าราชสำนักจะว่าอะไร จึงเห็นว่าต้องมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้มากกว่านี้และอาจจะต้องเป็นหน้าที่ของสถาบันวิทยานิพนธ์ฉบับเดียวยังไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังอยากจะชี้ให้เห็นว่าประสบการณ์ของคณะ Babymime นั้นเหมือนกับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ซึ่งนักวิชาการมีหน้าที่ชี้ให้เห็นว่าความสัมพันธ์ที่อยู่ในบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร และสามารถที่จะเล่นละครเตือนสติได้ ศิลปะการแสดงมีความสำคัญมาก จึงขอแสดงความชื่นชมกับผู้แสดงทุกท่านที่ไม่เคยหยุดและพยายามที่จะหาทางออกและชี้ทางออกตลอดเวลา ในที่สุดก็มีความสัมพันธ์กับประชาคมนานาชาติได้โดยไม่ต้องมีการเซ็นสัญญาใดๆ

คำถามจากผู้เข้าร่วมว่า Babymime มีความฝันอย่างอื่นหรือไม่ และถ้ามีนำความฝันนั้นมาไว้ใน Babymime ได้หรือไม่ Babymime ตอบว่าทางคณะเคยมีความคิดเห็นร่วมกันว่าอยากไปแสดงที่เอดินเบอระ เมืองหลวงของประเทศสก็อตแลนด์  ในเดือนสิงหาคมของทุกปีจะมี Edinburgh Fringe Festival   เป็นงานเทศกาลละครที่ใหญ่ที่สุดในโลก เปรียบได้กับเทศกาลหนังที่เมืองคานส์ และทุกครั้งเมื่อมีการเริ่มหารือกันรวมถึงการเดินทางไปแสดงที่ต่างประเทศแต่ละครั้ง  การทำงานชิ้นใหม่และเป้าหมายของคณะก็เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลละครกรุงเทพ เทศกาลละครใบ้กรุงเทพ รวมถึงการเดินทางไปแสดงในต่างประเทศ เป้าหมายของคณะก็เปลี่ยนไปทุกครั้ง เอดินเบอระก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่ง ขณะที่เมื่อไปอำเภอแม่สอดกลับมาก็รู้สึกว่าช่วงเวลาที่แสดงให้กับเด็กที่อยู่บนดอย หรือคนที่ไม่เคยชมการแสดงเป็นช่วงเวลาที่ประทับใจมาก จึงมีความคิดที่จะเปิดการแสดงให้ครบทั้ง 78 จังหวัด

อาจารย์อภิรักษ์เล่าจากการที่ตนเองได้ไปร่วมงาน Fringe Festival ที่เมืองอาวียองประเทศฝรั่งเศส ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ประเทศไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น จีน รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนไปแสดงในต่างประเทศ แต่ในการแสดงไม่ไม่ได้เน้นเรื่องวัฒนธรรมของชาติตนเอง เช่นประเทศจีนที่ไม่ได้แสดงออกมาเป็นงิ้วเป็นมิวสิคัล แต่เป็นการแสดงเล็กๆ สามคน และคนดู 50 สิบคน เป็นภาพของจีนสมัยใหม่ที่รัฐบาลส่งมา ในการไปแสดงที่เทศกาลละครต่างประเทศต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง ต้องรอรัฐบาล หรือหน่วยงานใดที่จะเข้ามาสนับสนุน และเมื่อได้พูดคุยกับคณะละคร 8×8 ว่าเมื่อปีที่แล้วสำนักงานศิลปะร่วมสมัยให้เงินการสนับสนุนคณะละคร 8×8 ในเทศกาลละครที่ไคโร อียิปต์นั้นเป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่ในอีกแง่หนึ่งเทศกาลละครที่อียิปต์ไม่ได้มีนักแสดงละคร โปรดิวเซอร์ จากประเทศอื่นมาดูมากเท่าที่เอดินเบอระ และอาวียอง ประเทศไทยควรที่จะส่งคณะละครไปแสดงไปในเทศกาลที่อาวียอง หรือเอดินเบอระ แต่ในทางกลับกันในช่วงเวลาเดียวกัน สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่กรุงปารีส แจ้งมาว่ามีการเฉลิมฉลองในเทศกาลฤดูร้อน ททท. นำแดนเซอร์ของพัทยาไปหนึ่งร้อยคน เพื่อจะแต่งชุดไทยกางร่มและเดินพาเหรดในตอนบ่ายวันหนึ่งซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก เงินจำนวนนี้สามารถที่จะให้คณะ Babymime แสดงละครที่เอดินเบอระได้หนึ่งเดือน หน่วยงานราชการไทยยังมีความคิดในการที่จะนำเสนอตัวตนในประเทศไทยในต่างประเทศว่าต้องเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย

ผู้เข้าร่วมเสวนาท่านหนึ่งถามว่า Babymime ได้ออกห่างจากจากกามาโจบะคณะละครใบ้ญี่ปุ่น หรือไม่อย่างไรBabymime ตอบว่ากามาโจบะเป็นคณะละครที่แสดงสองคนทำทรงผมตั้งๆ ในช่วงแรกคณะได้อิทธิพลแรงบันดาลใจมาจากคณะเป็นแบบอย่าง ทั้งวิธีการทำงานง่าย การปิดประตูตีหัวเข้าบ้านก่อน เป็นวิธีที่น่าสนใจ จึงได้ศึกษาวิธีการทำงานของเขาค่อนข้างมาก การแสดงของคณะจึงมีแรงบันดาลใจบางอย่างซึ่งอาจจะติดอยู่ในเสื้อผ้า การแต่งตัว แต่ว่าคณะ babymime กับกามาโจบะในปัจจุบันแตกต่างกัน จนในทุกวันนี้รู้สึกว่า Babymime กับกามาโจบะไม่เหมือนกัน

กามาโจบะเป็นแบบคลาสสิค Hi-Class  แต่ Babymime เป็นแบบบ้านๆ local และคาเร็กเตอร์ส่วนตัวจะดูเป็นเด็ก ส่วนคณะกามาโจบะออกแนวพังค์ๆ  จากการทำงานทำให้ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นว่ามีการนำเรื่องราวของผู้อื่นมาแสดง ซึ่งไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องการนำรูปแบบของเขามา แต่เป็นการนำมาประยุกต์ใช้อย่างถูกที่ถูกเวลา อย่างเหมาะสมและเป็นของเรามากกว่า เพราะมีอยู่สองคณะที่แสดงวิธีการเดียวกัน เล่นเรื่องเดียวกัน อย่างเดียวกัน แต่ไม่เหมือนกัน และได้รับผลตอบรับไม่เท่ากัน เป็นเรื่องแรงบันดาลใจส่งต่อแรงบันดาลใจมากกว่า ในปัจจุบันคณะ Babymime ได้เดินทางมาคนละทางกับคณะกามาโจบะแล้ว

 

นางสาวกรรณิการ์  ถนอมปัญญารักษ์

ผู้สรุปการเสวนา

 

——————————

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *