Throwing a stone towards the past

Throwing a stone towards the past

สมพงษ์ ทวี’.

 

ผลงานชุดนี้ของธเนศเป็นการเล่นกับตัวเอง ถามหาตัวเอง และพยายามที่จะแสวงหาคุณค่าความหมายในแง่มุมต่างๆของชีวิต ปรากฏการณ์ในจิตรกรรมได้มีสภาพเหมือนการต่อรอง เป็นภาวะระหว่างความจริงกับความลวง  ให้ความรู้สึกคลับคล้ายการเดินทางไปสู่ความฝัน แต่เป็นความฝันที่อัดแน่นด้วยอารมณ์อันไม่แจ่มชัด  มีเหตุผลและทั้งไร้เหตุผล

การนำเสนอของภาพวาดชุดนี้ใช้ขนาดค่อนข้างใหญ่  เมื่อผู้ชมยืนเฉพาะหน้ามันได้สร้างผลสะเทือนราวกับจะดึงเอาตัวผู้ชมนั้นเข้าไปด้วย  ความงุนงง ความพลุ่งพล่านที่ไหลหลั่งอยู่ในภาพประดุจจะมีชีวิต มีพลัง เร่งเร้าและเขย่าโลกภายในของความเป็นไปทั้งสิ้นทั้งปวงให้เกิดคำถาม  แน่นอนว่าในกระบวนการในการแสดงออกนั้น เราอาจจะเห็นว่าตัวศิลปินได้รับอิทธิพลทางปรัชญาตะวันตกมาไม่น้อย เลยดูห่างไกลจากจิตวิญญาณดั้งเดิมของพื้นภูมิชีวิตไปบ้าง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งผิดพลาดอันใด แม้ว่าเขาจะอ้างปรัชญาตะวันตก แต่โดยเนื้อแท้แล้วธเนศมิได้มุ่งจะวิเคราะห์ระบบวัฒนธรรมในการใช้ชีวิต  ตรงข้ามวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอาจจะเป็น “สิ่งอื่น” ที่ไม่มีความหมายต่อการกล่าวถึงในผลงานชุดนี้ โลกข้างในต่างหากคือประเด็นสำคัญที่เขาปรารถนาจะเอื้อนเอ่ยออกมา  เป็นการพยายามที่จะพูดถึง “ข้างใน”  ของตนเองด้วยการผ่านภาพเขียน  หากมีคำถามว่าจะมีประโยชน์อันใดต่อผู้ชมที่จะพบว่าผลงานภาพเขียนที่ตนกำลังเสพชมอยู่นั้น  คือการที่ตัวศิลปินใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงโลกภายในของเขาเอง คำตอบก็คือว่าชีวิตย่อมมีคุณค่าต่อชีวิต  ลมหายใจย่อมสะท้อนภาพของลมหายใจ  เราเรียนรู้จากกันและกัน ประสบการณ์จาก “ผู้อื่น”  ย่อมให้คุณค่าแก่เราเสมอ  ความจริงในการดำรงอยู่ก็คือการเรียนรู้และเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งเมื่อถึงที่สุดมันก็คือการทำความเข้าใจชีวิตทั้งมวลนั่นเอง

กล่าวเช่นนี้ก็มิได้หมายความว่าผลงานของธเนศจะเป็นการบอกเล่าชีวิตทั้งสิ้นทั้งปวง  แต่เป็นชีวิตเฉพาะ เป็นการถามหาตัวตนของเขาและผู้เสพชมก็จะได้ทำความเข้าใจในองค์ประกอบด้านต่างๆของอารมณ์ ความรู้สึก และความคิดของตัวศิลปิน เพื่อย้อนกลับมาพิจารณาดูตนเอง เมื่อศิลปินนำเอางานศิลปะเป็นการแสวงหาธาตุแท้ของตัว ผู้เสพชมก็น่าจะไตร่ตรองตนด้วยการพินิจใคร่ครวญผลงานศิลปะ

โดยทั่วไปอาจเห็นว่าธเนศได้มุ่งเอาด้านมืดของชีวิตเป็นโจทย์ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่แน่ใจในชีวิตของเขาเองที่กำลังดำเนินไป  มันได้เสนอให้แลเห็นว่า สำหรับเขาแล้วโลกล้วนให้สาระอันไร้สาระ  เขาแสวงหาดวงประทีปอันเรืองรอง เพื่อนำทางไปสู่จุดหมายที่สูงส่ง  แต่ชีวิตของเขา โลกภายในของเขาคลุกเคล้าและอัดแน่นด้วยคำถาม ชีวิตในภาพเขียนคือ “ข้างใน” ของชีวิตผู้      สร้างสรรค์ คือปรากฏการณ์ทางจิตสำนึกของตัวศิลปิน ซึ่งแฝงไว้ด้วยความหม่นหมอง ความว้าเหว่ ความโดดเดี่ยว  ศิลปินมุ่งแนะตัวเองให้เกิดความสว่างด้วยข้อแม้ของการตั้งสมมติฐาน  แต่เขาเองก็ยังดิ้นขลุกขลักอยู่ในกรงขังของความแปลกแยกที่ไม่ได้มีใครสร้างขึ้นมา นอกเสียจากความปริวิตกของตนเอง

ผลงานชุดนี้เต็มไปด้วยปริศนาและความกังวลใจ ศิลปินได้ถ่ายทอดความเป็นไปของระบบทางความคิดออกมาสำหรับประกอบเข้ากับจิตรกรรมเพื่อสร้างเนื้อหา ภาพหนึ่งคือความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งและในระดับหนึ่งนั้นก็ซ้อนทับเข้าหากันเรื่อยๆ  นั่นก็คือความกดดันที่ค่อยๆเผยตัวอย่างช้าๆ  ปัญหาที่น่าขบคิดตามมาก็คือความกดดันที่ว่าคืออะไร  ตรงนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของศิลปินโดยแท้  เราในฐานะผู้เสพชมคงไม่จำเป็นต้องตามหาเรื่องส่วนตัวของศิลปิน  แต่ทำอย่างไรเล่าเราจึงจะเข้าถึงพลังของความกดดันที่เผยตัวออกมาและนำมาเป็นสาระที่พึงสดับในแง่ของปรัชญา

ถึงที่สุดศิลปะไม่ได้แสดงอารมณ์ความรู้สึก  แต่ศิลปะพยายามพูดถึงความหมาย  ศิลปะไม่ได้เป็นการตระหนักรู้ว่าสวยหรือไม่สวย ศิลปะไม่ใช่งานฝีมือ แต่ศิลปะคือเครื่องมือที่จะถ่ายทอดความคิดระหว่างผู้สร้างกับผู้รับ

ภาพวาดชุดนี้มิได้สวยงามและคงจะไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความงามในหนทางของภาพเขียนที่แลดูเพื่อสนองตอบว่างดงามหรือไม่ แท้จริงแล้วธเนศปรารถนาจะทำให้ศิลปะของเขายิ่งใหญ่ขึ้นมาด้วยตัวเนื้อหาและเขาได้ “พูด” ผ่านภาพเขียน โดยสำนึกว่ามันคือปัจจัยอันเกื้อกูลกันระหว่างความคิดกับจินตนาการ  ศิลปินได้ดุ่มด้นเข้าไปในจิตสำนึกและครุ่นคิดมากกว่าที่จะโวยวายและกู่ตะโกนอย่างบ้าคลั่ง

ภาพชุดนี้คือการเข้าภวังค์  คือความเงียบที่กึกก้องอยู่ภายใน  เป็นความคิดมากกว่าที่จะเป็นความรู้สึกและมีจุดประสงค์ที่มุ่งแสวงหาตัวเอง  เพื่อสนองต่อการตอบคำถามในปัญหาว่าด้วยชีวิตและการมีอยู่

ศิลปินได้สร้างสถานะหนึ่งของจิตรกรรมขึ้นมา ไม่ใช่เพราะความพลุ่งพล่านของอารมณ์แต่เป็นการแตกปะทุของความคิด  การแสวงหาเข้าไปในโลกทัศน์ใหม่ๆเพื่อทำความเข้าใจในการหลับและตื่น การเกิดและการตาย  พร้อมกันนั้นศิลปินต้องการจะหลุดพ้นออกไปจากความสงสัย  เขาปรารถนาจะรู้และแจ้งชัดกับการดำรงอยู่  ศิลปะได้ปรากฏขอบเขตอันไร้ที่สิ้นสุดด้วยการนำเสนอ “ความคิด”  ที่มากกว่าขนาดของชิ้นงาน  เมื่อสิ้นสุดขนาดคือ “ที่ว่าง” และความคิดก็คือที่ว่าง ศิลปะบรรจุโครงสร้างไว้ในปริมาณหนึ่งและนำไปสู่การไตร่ตรองอันกว้างไกล…

 

 

ที่มา:        สมพงษ์ ทวี’. “Throwing a stone towards the past.” Art4d ฉบับที่ 46 (กุมภาพันธ์ 2542), หน้า 43-44.


บทวิเคราะห์

 

บทวิจารณ์ขนาดสั้นที่เขียนโดย สมพงษ์ ทวี  ชิ้นนี้  มีวิธีการเขียนเชิงพรรณนาที่นำไปสู่ความกระจ่างชัดในเรื่องคุณค่าในการสร้างสรรค์ของศิลปินมากกว่าจะเป็นการบรรยายหรือรายงานแล้วตามด้วยความเห็นส่วนตัวอันเป็นข้อสรุป   บทวิจารณ์ชิ้นนี้จึงมีคุณค่าในด้านงานเขียนอันเป็นเอกเทศที่เกือบจะแยกออกจากงานของศิลปินก็ว่าได้  ยิ่งเมื่อเราตระหนักว่า ผู้เขียนมิได้บรรยายรูปและเรื่องที่ปรากฏในภาพของศิลปินเลยแม้แต่น้อย  หากภาพพจน์อันเป็นสาระสำคัญของภาพกลับถูกผู้เขียนพรรณนาออกมาอย่างลึกซึ้ง เมื่อพิจารณาในเรื่องนี้แล้ว  ผู้อ่านอาจตระหนักได้ว่า ความงามของบทวิจารณ์นี้ตั้งอยู่ที่ใด  และในแง่นี้ สมพงษ์ ทวี ในฐานะผู้มีความสามารถด้านการสร้างสรรค์ ทั้งทัศนศิลป์และวรรณศิลป์  ได้นำใจมาต่อใจกับศิลปินและได้นำวรรณศิลป์มาเชื่อมต่อกับทัศนศิลป์จนเป็นงานเขียนที่มีคุณค่าในตัว

ย่อหน้าแรกของบทวิจารณ์นี้ดูจะเป็นการสรุปรวมมโนทัศน์หลักของผู้เขียนที่มีต่องานของศิลปินไว้อย่างครบถ้วน  ด้วยคำกล่าวที่ว่าศิลปินเล่นกับตัวเองและกำลังค้นหาความหมายของชีวิต(ตัวเอง)ผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปะ  สมพงษ์ตอกย้ำประเด็นนี้ตลอดบทวิจารณ์และใช้ความสามารถทางวรรณศิลป์ชี้ชวนให้เราคล้อยตามได้ว่า กิจกรรมของมนุษย์ในทางศิลปะมีความสำคัญไม่ใช่เพียงแต่การแสดงออกตามความพึงใจของศิลปินผู้หนึ่ง  หากการแสดงออกด้วยวิถีทางของศิลปะนั้นอาจมีความหมายสูงถึงการค้นหาแก่นแท้ของชีวิต (อย่างน้อยที่สุดก็สำหรับคนๆหนึ่งในฐานะศิลปิน)  ประเด็นสำคัญของบทวิจารณ์อยู่ในจุดนี้เอง  เมื่อสมพงษ์ตั้งคำถามขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวราวกับจะถามคำถามที่คาดคั้นเอาคำตอบที่ยากที่สุดว่า คุณค่าอันแท้จริงของงานสร้างสรรค์นั้นอยู่ที่ใด  หากศิลปินใช้งานศิลปะของเขาเป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงโลกภายในของตัวเอง หากคำตอบก็ตามมาอย่างฉับพลัน  และเนื้อความนั้นก็ขยายความไปสู่งานศิลปะทั้งหลายทั้งปวง และราวกับจะตอบให้จี้เข้าไปถึงหัวใจของคำถามที่ว่า ศิลปะมีอยู่เพื่ออะไร?  “ชีวิตย่อมมีคุณค่าต่อชีวิต ลมหายใจย่อมสะท้อนภาพของลมหายใจ  เราเรียนรู้จากกันและกัน ประสบการณ์จาก ‘ผู้อื่น’ ย่อมให้คุณค่าแก่เราเสมอ  ความจริงในการดำรงอยู่ก็คือการเรียนรู้และเข้าใจระหว่างกัน  เมื่อถึงที่สุด มันก็คือ การทำความเข้าใจชีวิตทั้งมวลนั่นเอง” เราคงจะหาคำพูดเพียงไม่กี่ประโยคที่จะกินความว่า คุณค่าอันแท้จริงที่เราได้รับจากการชมงานศิลปะคืออะไร ดังเช่นความที่ยกมานี้ได้ไม่ง่ายนักกระมัง  ภาษาที่มีพลังเร้าใจในข้อเขียนของสมพงษ์ยังชวนให้เราเห็นคล้อยตามอีกว่า ประสบการณ์ด้านมืดของชีวิตไม่ใช่ส่วนน่ารังเกียจที่ผู้ชมควรจะเบือนหน้าหนี ตรงกันข้ามการเดินเข้าไปสู่โลกภายในที่ศิลปินเปิดต้อนรับนั้นช่างน่าตื่นเต้น  และนำพาเราไปพบกับอารมณ์อันหลากหลายที่มีคุณค่าต่อการไตร่ตรอง  และพาให้คิดไปได้ไกลถึงประสบการณ์ของตัวเราเองที่มองเทียบได้กับประสบการณ์ของศิลปิน

สำหรับผู้ชมหรือผู้อ่านที่อาจยังเข้าไม่ถึงแก่นของงานจิตรกรรม  บทวิจารณ์นี้อาจเป็นสะพานเชื่อมโยงที่ดี  แม้สมพงษ์จะไม่กล่าวบรรยายให้ผู้ชมจินตนาการเห็นภาพของศิลปิน  แต่ในด้านของพรรณนา ผลทางความคิดและจิตใจที่มีต่อภาพของศิลปิน ผู้เขียนก็ได้แนะทางให้ผู้ชมได้สัมผัสกับตัวงานของศิลปินด้วย ทั้งในแง่ของการสัมผัสกับแรงปะทะจากขนาดของงานที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งเป็นการเผชิญกับพลังและแรงที่สั่นไหวโลกภายในของผู้ชมเอง  นี่คือการบอกนัยแก่ผู้ชมว่า  การก้าวเข้าไปสู่โลกของจิตรกรรม  ผู้ชมจะต้องเปิดใจของตัวเองออกรับสารและเฝ้าสังเกตความรู้สึกที่ได้รับจากประสบการณ์ทางศิลปะนั้นด้วยตัวเอง  เช่นเดียวกับด้านเนื้อหา  ผู้เขียนไม่ได้เล่าเรื่องราวใดๆในภาพ หากให้ภาพรวมเชิงความคิดที่ว่า สิ่งที่ปรากฏขึ้นในจิตรกรรมก็คือความเป็นไปอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถจะซ้อนทับกับความเป็นไปอีกอย่างหนึ่ง และในการซ้อนกันของภาพนี้เองที่เผยให้เราเห็นโลกภายในของศิลปิน  ในภาวะการณ์ของวงการศิลปะปัจจุบันที่ศิลปินแต่ละคนแสดงปัจเจกลักษณะของตัวเองสูง  ดูเหมือนเป็นสิ่งยากต่อการทำความเข้าใจสำหรับผู้ชมทั่วไป  การวิจารณ์เช่นเดียวกับที่สมพงษ์ ทวี ได้เขียนนั้น คงมีความหมายและความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ  เพราะข้อเขียนนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ดีว่า การวิจารณ์เป็นสิ่งเติมเต็มและเปิดโลกทัศน์ให้แก่ผู้อ่าน และช่วยอธิบายแทนผู้ชมที่ไม่อาจสรรหาถ้อยคำมาบรรยายถึงงานของศิลปินได้ดั่งใจ  ในท้ายที่สุด เราคงต้องขอบคุณและชื่นชมต่อข้อเขียนของสมพงษ์ ที่ช่วยทำให้พื้นที่ว่างที่ถูกเติมเต็มแล้วในภาพเขียนได้เปิดออกสู่ที่ว่างอันไร้ขอบเขตในความคิดและการไตร่ตรองอันกว้างไกล

 

จักรพันธ์  วิลาสินีกุล : ผู้วิเคราะห์


บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท  หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาทัศนศิลป์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *