The Phantom of the Opera 25th Anniversary

25 years royal

พงศ์พันธ์ ประภาศิริลักษณ์

(เผยแพร่ใน facebook เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554)

ข้อคิดเห็นในบทวิจารณ์นี้เป็นของผู้วิจารณ์ โครงการฯ ทำหน้าที่เป็นผู้เปิดพื้นที่ให้ได้มีการแสดงทัศนะวิจารณ์ และยินดีรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างออกไป

เมื่อได้ข่าวว่า จะมีการฉายบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 25 ปีของละครเพลง          The Phantom of the Opera  ถือได้ว่าเป็นข่าวดีในช่วงที่คนไทยได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ปีนี้ เนื่องจากในหลายประเทศทั่วโลกต่างเปิดแสดง The Phantom of the Opera ฉบับละครมาแล้ว ซึ่งถึงรวมถึงประเทศใกล้ๆ บ้านเราอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ ที่ต่างก็ได้ต้อนรับคณะทัวร์ละครเรื่องนี้ประเทศละครั้งสองครั้งไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อมีงานฉลองครบรอบละครเรื่องนี้ ในประเทศต่างๆ เหล่านี้ก็ได้รับชมบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตในโรงภาพยนตร์ด้วยระบบดิจิตอลไปเรียบร้อยเมื่อเดือนที่แล้ว ในประเทศไทยยังไม่ฉายและยังไม่เคยเปิดการแสดงละครสดเรื่องนี้  มีแต่ฉบับที่สร้างเป็นภาพยนตร์ ที่กำกับโดย Joel Schumacherg เข้าฉายในไทยถึงแม้จะได้ชมบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตในโรงแบบไม่สดและช้ากว่าประเทศอื่นๆ ถือยังดีกว่าไม่ได้ดู

เป็นสูตรที่ Cameron Macintosh ผู้อำนวยการสร้างละครเพลงชาวอังกฤษที่ประสบความสำเร็จจากการจัดคอนเสิร์ตฉลองละครเพลงที่ตนเป็นโปรดิวเซอร์ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ละครเพลง Les Miserables ที่เปิดแสดงต่อเนื่องครบรอบ 10 ปี ซึ่งได้มีการจัดคอนเสิร์ตครบรอบสิบปี คอนเสิร์ตครั้งนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่รวมสุดยอดนักแสดงจากทั่วโลกที่เคยแสดงละครเรื่องนี้มาร่วมแสดงบนเวทีเดียวกันเมื่อเดือนตุลาคม 1995  ตามมาด้วย Hey Mr. Producer! เมื่อปี 1998  ซึ่งเป็นการรวมสุดยอดศิลปินนักแสดงละครเพลงแห่งยุคมาอยู่บนเวทีเดียวกัน เป็นการแสดงรวมมิตรงานละครที่โดดเด่นซึ่งเป็นที่จดจำ และได้สร้างรายได้ราวๆ 30 เรื่อง (จริงๆ Cameron Macintosh สร้างละครมามากกว่านั้น) ทั้งสองคอนเสิร์ตเป็นการแสดงที่ยังถูกกล่าวขานในแง่บวกเรื่อยมา

จวบจนปีปัจจุบันละครเพลงที่ Sir Cameron Macintosh สร้างมายังเปิดการแสดงต่อเนื่องยาวนานที่สุดยังคงเป็น Les Miserables ที่เพิ่งจัดคอนเสิร์ตครบรอบ 25 ปี ที่ โดม O2 ตุลาคมปีที่แล้ว                The Phantom of the Opera ละครเพลงอีกเรื่องที่โด่งดังและเปิดแสดงต่อเนื่องตาม Les Miserables มาติดๆ ได้จัดคอนเสิร์ตฉลองครบรอบ 25 ปี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

royal albert hall

โดยปกติทุกปีที่ The Phantom of the Opera ครบรอบวันเกิดที่เปิดแสดงในช่วงเดือนเดือนตุลาคม ทั้งที่เวสต์เอนด์ และ บรอร์ดเวย์ ในท้ายการแสดงจะมีการตัดเค้กหรือร้องเพลงแถมเท่านั้น การฉลองปีที่ 25 จัดขึ้นนอกโรงละคร โดยใช้ The Royal Albert Hall เป็นที่จัดแสดงเพื่อรองรับคนดูที่มากกว่าโรงละครที่แสดงประจำ ย่อมจะมีความพิเศษโดยเฉพาะการกลับมาร่วมงานของเหล่านักแสดงคุณภาพที่เคยผ่านเวทีเรื่องนี้ในระยะเวลา 25 ปี  ซึ่งการปรากฏตัวของนักแสดงชุดแรก Michael Crawford และ Sarah Brightman นั้นเป็นความคาดหวังที่แฟนๆ ละครอยากจะได้เห็นบนเวทีแห่งนี้ เมื่อมีการเปิดขายบัตร บัตรขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว และมีการประกาศขายบัตรมือสอง มือสาม(ตั๋วผี) ในราคาสูงลิบลิ่วในเวลาต่อมา

แน่นอนว่าการแสดงพิเศษคราวนี้แตกต่างไปจากการแสดงดั้งเดิมที่เกิดขึ้นในโรงละคร              Her Majesty’s Theatre  เนื่องจาก The Royal Albert Hallเป็นโรงแสดงดนตรีขนาดใหญ่มาก จึงมีการปรับเปลี่ยนออกแบบฉากให้เหมาะกับเวทีในโรงแสดงดนตรีแห่งนี้ ฉากบนเวทีเดิมที่ต้องเปลี่ยนเข้าออกซับซ้อนหลายฉากกว่า 20 ครั้ง คิวเทคนิคมากกว่า 100 คิว ถูกแทนที่ด้วยการใช้เทคนิคฉายภาพบนจอดิจิตอลยักษ์ที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างบรรยากาศในแต่ละฉากและให้ความรู้สึกอลังการ หลายๆ ช่วงการฉายจอภาพช่วยเติมเต็มจินตนาการ เช่น เพลง Notes ทีมงานโรงโอเปราอ่านจดหมายจากปีศาจ ภาพบนจอมีภาพลายมือของ Phantomให้เห็นอย่างประจักษ์โดยไม่ต้องใช้จินตนาการช่วย แม้คอนเสิร์ตครั้งนี้จะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีไฮเทคยุคดิจิตอลเพียงไร แต่การจัดการแสดงยังคงอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดการสร้างสรรค์จากโปรดักชั่นที่แสดงในโรงละครดั้งเดิมออกแบบโดย Maria Björnson

ส่วนผู้ที่ยังไม่มีโอกาสชมละครเรื่องนี้ในโรงละครจริงๆ ควรที่จะไปชมการแสดงในโรงละครสักครั้ง เพราะฉบับคอนเสิร์ตครั้งนี้ช่วยเติมเต็มที่ในส่วนของการเล่าเรื่องโดยมีจอดิจิตอลช่วยสร้าง  ในที่ฉบับละครที่เปิดแสดงอยู่ตอนนี้  มีฉากสวยงามมากไม่ว่าจะเป็นฉากโรงอุปรากรปารีส ฉากทะเลสาปใต้โรงอุปรากร ฉากรังใต้ดินของPhantom ฉากบันไดในโถงหน้าโรงอุปรากร (ในเวอร์ชั่นคอนเสิร์ตแม้ได้ทำสวยไม่เท่าฉบับโรงละคร แต่สวยกว่าฉบับภาพยนตร์) นอกจากนี้เทคนิคพิเศษ กลต่างๆ ที่ใส่เข้ามาในหลายๆ ตอน ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่ในเวอร์ชั่นคอนเสิร์ต นัยว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้จะเป็นตัวเรียกแขก สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ไปดูให้เกิดความอยากชมละครเรื่องนี้ และสำหรับคนที่เคยดูแล้ว คงไม่ปฏิเสธที่จะหวนกลับไปดู The Phantom of the Opera ในโรงละครจริงๆ อีกสักรอบ

note of phantom

บันทึกการคอนเสิร์ตที่ฉายในระบบดิจิตอลในโรงภาพยนตร์ ถ่ายทอดการแสดงคอนเสิร์ตได้เกือบครบถ้วนอารมณ์การแสดง แม้ว่าการแสดงจะดูใหญ่เพราะต้องส่งสารคนดูในโรงสดๆ เมื่อกล้องจับภาพนักแสดงในระยะใกล้ ก็ทำให้เชื่อในสิ่งที่นักแสดงกำลังแสดงอยู่อย่างสนิทใจ  นักแสดงนำ Ramin Karimloo นักแสดงชาวแคนาดาเชื้อสายอิหร่าน เป็นนักแสดงละครเพลงรุ่นใหม่ที่ผูกพันกับละครเพลงเรื่องนี้ ได้แสดงทั้งในบท ราอูล และแสดงบท Phantom มาหลายปี และมีแฟนคลับติดตามงานอย่างเหนียวแน่น และยังได้รับบท Phantom คนแรกในละครเพลง Love Never Dies ภาคต่อของ  The Phantom of the Opera เช่นเดียวกับ Sierra Boggess ที่ได้รับบทคริสตีน ใน Love Never Dies ซึ่งSierra Boggess เป็น คริสตีนที่เข้าตา Andrew Lloyd Webber เมื่อคราวแสดงใน Andrew Lloyd Webber’s Phantom — The Las Vegas Spectacular (The Phantom of the Opera เวอร์ชั่นองค์เดียวยาว 90 นาทีที่แสดงในคาสิโน The Venetian นครลาสเวกัส) ทั้งSierra Boggessและ Ramin Karimloo เป็นคู่ที่เคยแสดงร่วมกันในภาคสอง นี่เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่ได้แสดงร่วมกันในภาคหนึ่ง

Ramin Karimloo ดูจะตื่นเวทีและเกร็งไปหน่อยในช่วงครึ่งแรก พลังการแสดงที่ปล่อยออกมาเยอะล้นเกินไม่สมดุลย์กับการแสดงของ Sierra Boggess แต่ครึ่งหลัง Ramin Karimloo ดูจะปรับตัวเองคุมการแสดงได้ตีตื้นขึ้นมา รวมๆ แล้วการแสดงคราวนี้ คริสตีนของ Sierra Boggess โดดเด่นและเป็นตัวคุมโชว์ทั้งหมด  ต่างจากที่เคยดูเวอร์ชั่นในโรงละครที่ตัวละคร Phantom จะเด่นกว่าและคุมละครและควบคุมโรงละครไว้ทั้งเรื่อง  จุดพีคที่สุดของ Sierra Boggess ในโชว์นี้อยู่ที่เพลง Wishing You Were Here Somehow Again  ทำได้ยอดเยี่ยมมหัศจรรย์เหลือหลาย Liz Robertson ในบทของมาดาม จิรี่ นักแสดงคนนี้แสดงในบทนี้ทั้งภาคแรก และเป็นนักแสดงชุดแรกใน Love never dies  Liz อัดแน่นไปด้วยพลังทางการแสดงที่นิ่ง แต่มีความหมายต่อเรื่องอย่างฉูดฉาด แต่เป็นที่น่าเสียดายที่มุมกล้องทำตัวละครตัวนี้หลุดจากจอไปหลายฉาก เพราะตัวละครตัวนี้เน้นการแสดงที่ไม่ต้องพูด ซึ่งเป็นฉากที่ทีความสำคัญต่อเรื่อง แต่กล้องกลับเน้นจับภาพตัวละครอื่นๆ ที่มีบทร้องบทพูดแทน จึงพลาดดูนักแสดงท่านนี้แสดงในบทที่เยี่ยมยอดไปอย่างน่าเสียดายในหลายจังหวะหลายฉากในเรื่อง

สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ไปดูการแสดงเรื่องนี้ลอนดอนในห้วงเวลานี้ จะได้เจอ Wendy Ferguson ในบท คาร์ล็อตต้า ดีว่าจอมวีน (ดูเธอไปนึกถึง Minnie Driver ในบทเดียวกันในเวอร์ชั่นหนังที่แสดงความวีนไว้อย่างฮาและยอดเยี่ยม) ส่วนคู่หูผู้จัดการคณะโอเปร่า Monsieur Firmin และ Monsieur André รับบทโดย Barry James และ Gareth Snook (จอมขโมยซีน) สามนักแสดงหลักยังปักหลักแสดงในบทนี้ที่             Her Majesty Theatre ที่ลอนดอน ส่วนบทของ ราอูล แสดงโดย Hadley Fraser เวอร์ชั่นนี้มีส่วนผสมของความโรแมนติกและห้าวหาญกำลังดี ไม่วีนเย่อหยิ่งเยอะไปเหมือนราอูลครั้งหลังสุดทีได้ชม นอกจากนี้ยังมีนักแสดงสมบทหลายๆ คนที่แอบซุกเป็นไฮไลท์ อย่างเช่นผู้ดำเนินการประมูลตอนต้นเรื่องแสดงโดย      Earl Carpenter เป็นหนึ่งในนักแสดงที่รับบท Phantom ที่โดดเด่น มีแฟนๆละครติดตามมากมายเช่นกัน นักแสดงเฉพาะกิจที่มารวมกันครั้งนี้ ถือเป็นนักแสดงที่เด่นและทำหน้าที่ได้เต็มที่ในบทที่ได้รับ โดยเฉพาะตัวหลักสองตัว หากได้นักแสดงอายุมากมาแสดง อาจตายคาเวทียักษ์ได้ ช่วงท้ายเห็นได้ชัดว่าทั้ง Ramin Karimloo และ Sierra Boggess ออกอาการเหนื่อยอย่างเห็นได้ชัด เนื่องด้วยเวทีและขนาดโรงที่ใหญ่กว่าเวทีละครปกติ ต้องใช้สมาธิและพลังทางกายภาพในการแสดงมากขึ้นไปอีก

เมื่อการแสดงจบลง ก็มาถึงช่วงพิเศษที่ทุกคนรอคอย Andrew Lloyd Webber ผู้ประพันธ์ดนตรี ขึ้นบนเวทีเพื่อกล่าวขอบคุณทีมงานผู้สร้างสรรค์ละครเรื่องนี้  ในสารขอบคุณเขาได้กล่าวถึงการออกแบบฉากและเสื้อผ้าของ Maria Bjornson นับเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่เธอทิ้งไว้  Maria Bjornson  ออกแบบฉากเรื่องนี้ได้อย่างมหัศจรรย์และฉลาดทำฉลาดคิด

ต่อมาเป็นการปรากฏตัวของนักแสดงชุดดั้งเดิม เมื่อ Sarah Brightman และ Michael Crawford ขึ้นบนเวที เรียกเสียงโห่ร้องต้อนรับจากแฟนๆ ได้อย่างกึกก้อง แม้ว่า Michael Crawford จะไม่ได้ร้องเพลง แต่ดูเหมือนภาพของงานค่ำวันนั้นได้ถูกเติมเต็มอย่างสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว

ความอิ่มเอมกลายเป็นความอิ่มล้นปรี่เมื่อ Sarah Brightman ครีสตีนฉบับดั้งเดิม ได้ดวลเพลงกับนักแสดงบท Phantom เด่นๆ 4 คน ทั้งสี่มี Anthony Warlow เคยแสดงบท Phantom ที่ออสเตรเลียในช่วงปี 1990 และหวนกลับมารับบทนี้อีกครั้งในเมื่อกลับมาทำใหม่เมื่อสองปีก่อนที่ออสเตรเลีย  John Owen-Jones รับบท Phantomที่อังกฤษยาวนานต่อเนื่องมากที่สุด (กำลังรับบทนี้ที่ลอนดอนจนถึงต้นปีหน้า), Colm Wilkinson นักแสดงละครเพลงรุ่นใหญ่ที่โด่งดังจาก Les Miserables เคยแสดง Phantom ที่แคนาดา และPeter Joback นักแสดงละครเพลงชาวสวีเดน จะได้รับบทนี้ในปีหน้าต่อจาก John Owen-Jones  ปิดท้ายด้วย Music of the Night จาก Phantom ทั้ง 5 คน

การแสดงสดที่ถูกบันทึกภาพและเสียง ซึ่งถ่ายทอดด้วยระบบดิจิตอลที่คมชัด เก็บรายละเอียดการแสดงทุกรายละเอียด(บางจุดชัดเกินจำเป็น บางช่วงชัดจนได้ยินเสียงหายใจของนักแสดง) แม้ว่ามุมกล้องจะเป็นตัวจำกัดมุมเลือกภาพแทนคนดู จึงมีบางช็อตที่หลุดหรือพลาดไปบ้าง เช่นการแสดงของตัวละครประกอบบางตัว หรือภาพเหตุการณ์แอ็คชั่นบางช่วงที่กล้องบันทึกไม่ทัน รวมไปถึงการถ่ายโพกัสหลุด ภาพเบลอบ้างบาง ขณะ ข้อพลาดเหล่านี้ไม่ได้ทำลายความงามของดนตรี คำร้อง บทละครที่ประพันธ์ที่ทำได้อย่างลงตัว และการแสดงที่มีพลังเต็มที่สร้างความเชื่อได้ถึงใจคนดู (กว่าฉบับหนังหลายเท่า) ทำให้เป็นค่ำคืนแห่งความบันเทิงที่สร้างความอิ่มเอมให้กับแฟนๆ ละครเพลงเรื่องนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *