อ่านบทกวีชิงซีไรต์ . . . ไปพร้อม ๆ กับกรรมการ (ปี ๒๕๕๖)
กลับมาอีกแล้วสำหรับการประกวดวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือ “ซีไรต์” ปี ๒๕๕๖ ในปีนี้เป็นการการประกวดหนังสือกวีนิพนธ์ ซึ่งมีหนังสือที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ๗ เล่มด้วยกัน และเช่นเคยก่อนที่จะมีการประกาศหนังสือกวีนิพนธ์ที่ได้รับรางวัลซีไรต์ในวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๖ ‘คุณกัลปพฤกษ์’ ได้ส่งบทวิจารณ์หนังสือกวีนิพนธ์ทั้ง ๗ เล่ม มาให้โครงการเผยแพร่แก่ผู้สนใจ
ข้อคิดเห็นในบทวิจารณ์นี้เป็นของผู้วิจารณ์ โครงการฯ ทำหน้าที่เป็นผู้เปิดพื้นที่ให้ได้มีการแสดงทัศนะวิจารณ์ และยินดีรับฟังข้อคิดเห็นที่แตกต่างออกไป
อ่านบทกวีชิงซีไรต์ . . . ไปพร้อม ๆ กับกรรมการ (ปี ๒๕๕๖)
โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com
สถิติใหม่สำหรับการประกวดวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือ ‘ซีไรต์’ ในรอบกวีนิพนธ์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ ก็คือจำนวนหนังสือที่ส่งเข้าประกวดสูงที่สุดเป็นปรากฏการณ์ถึง ๑๐๑ เล่ม ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกทั้ง ๗ ท่านต้องตะลุยอ่านให้เสร็จทันภายในระยะเวลา ๔ เดือนเพื่อคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นที่สุดจำนวน ๗–๑๐ เล่ม ส่งต่อให้คณะกรรมการตัดสินได้เลือกเล่มที่ยอดเยี่ยมที่สุดเพียงหนึ่งเดียวต่อไป และในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลซีไรต์ก็ได้จัดแถลงผลการกลั่นกรองอย่างเข้มข้นลงมติเป็นเอกฉันท์ให้หนังสือกวีนิพนธ์จำนวน ๗ เล่ม ต่อไปนี้มีโอกาสผ่านเข้ารอบสุดท้ายเพื่อช่วงชิงรางวัลใหญ่ (หลังจากเคยประกาศรายชื่อหนังสือที่เข้ารอบรองสุดท้ายหรือ Longlist จำนวน ๑๘ เล่ม มาก่อนหน้านี้แล้ว)
๑. ‘ของฝากจากแดนไกล’ โดย โชคชัย บัณฑิต’
๒. ‘ต่างต้องการความหมายของพื้นที่’ โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ
๓. ‘บ้านในหมอก’ โดย สุขุมพจน์ คำสุขุม
๔. ‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ โดย จเด็จ กำจรเดช
๕. ‘เมฆาจาริก’ โดย ธมกร
๖. ‘โลกใบเล็ก’ โดย พลัง เพียงพิรุฬห์
๗. ‘หัวใจห้องที่ห้า’ โดย อังคาร จันทาทิพย์
ซึ่งเมื่อดูจากรายชื่อของผู้ประพันธ์แล้วเกือบทั้งหมดก็เป็นนามที่เป็นที่คุ้นหูคุ้นตากับเวทีซีไรต์กันเป็นอย่างดี เพราะหลาย ๆ ท่านก็ล้วนเคยมีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายของเวทีนี้กันมาก่อนแล้ว แถมยังมีผลงานของมือซีไรต์เก่าอย่าง โชคชัย บัณฑิต’ กับ จเด็จ กำจรเดช ผ่านเข้ารอบมาให้ได้ลุ้นปรากฏการณ์ ‘ดับเบิ้ลซีไรต์’ ในปีนี้กันอีกครั้ง หลังจากที่ ชาติ กอบจิตติ กับ วินทร์ เลียววาริณ เคยทำได้มาก่อนแล้ว
และในขณะที่คณะกรรมการตัดสินกำลังละเลียดอ่านผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายทั้ง ๗ เล่มเพื่อเฟ้นหา ‘หนึ่งในตองอู’ จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ข้าพเจ้าก็ขอร่วมสนุกด้วยการรับหน้าที่เป็น ‘ผู้อ่าน’ หาหนังสือรวมบทกวีที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาร่วมสำรวจไปพร้อม ๆ กันว่าบทกวีไทยที่ได้ชื่อว่า ‘สร้างสรรค์’ และ ‘เป็นเลิศ’ ในยุคนี้ พ.ศ. นี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร และแต่ละเล่มมีความโดดเด่นเป็นประการไหนจึงสามารถเอาชนะอีก ๙๔ เล่มที่เหลือได้จนมาถึงในรอบนี้
๑. ‘ของฝากจากแดนไกล’ โดย โชคชัย บัณฑิต’
หลังจากที่สามารถคว้ารางวัลซีไรต์จากผลงานรวมกวีนิพนธ์ชื่อ ‘บ้านเก่า’ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ทั้งที่มีผลงานผ่านเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์เป็นครั้งแรก โชคชัย บัณฑิต’ ก็ทิ้งช่วงไปพอสมควร ก่อนจะมีผลงานรวมกวีนิพนธ์เล่มใหม่ชื่อ ‘รูปฉายลายชีพ’ ซึ่งสามารถเข้ารอบสุดท้ายอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ก่อนจะส่ง ‘ของฝากจากแดนไกล’ มาร่วมชิงชัยอีกครั้งในปีนี้ นับเป็นกวีนิพนธ์ที่ยังคงน้ำเสียงความซื่อใสละมุนละไมให้ภาพแห่งความประทับใจด้วยการใช้ฉันทลักษณ์อันเรียบง่ายในแบบฉบับของ โชคชัย บัณฑิต’ เอง ไม่ผิดกับที่เขาเคยถ่ายทอดไว้ในผลงานที่ผ่านมา
เนื้อหาของบทกวีใน ‘ของฝากจากแดนไกล’ เน้นการบอกเล่าประสบการณ์ที่ผ่านพบจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะดินแดนแถบเอเชียตะวันออก โดยมีการแบ่งหนังสือออกเป็นทวิภาคคือ ‘ภาคแรก: บ้านเรา’ กับ ‘ภาคสอง: บ้านเขา’ ซึ่งสถานที่ต่าง ๆ ที่ โชคชัย บัณฑิต’ ได้เก็บความประทับใจมาถ่ายทอดเป็นบทกวีในเล่มนี้ก็มีทั้ง โบสถ์วิหาร สถานีรถไฟฟ้า พิพิธภัณฑ์ผ้าทองที่ศรีสัชนาลัย สุโขทัย และตลาดร้อยปีในภาค ‘บ้านเรา’ กับ เขาพระวิหาร อังกอร์วัด เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ริมโขงฝั่งลาว เมืองลาในพม่า เชียงรุ่ง ดินแดนสิบสองปันนา ผาลายฮวาซานในเขตกวางสีประเทศจีน กระทั่งถึงเกาหลีใต้ ในภาค ‘บ้านเขา’ เรียกได้ว่าเข้ากับบรรยากาศประชาคมอาเซียน (and beyond…) สมเป็นงานวรรณกรรมเข้าชิงรางวัลสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนกันจริง ๆ แม้น้ำเสียงส่วนใหญ่ของ โชคชัย บัณฑิต’ จะเน้นการเล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์ที่ได้จากการเดินทางท่องเที่ยวคล้ายกับงานประเภทนิราศ (หากปราศจากบทครวญนาง) แต่บทกวีบางส่วนโดยเฉพาะในภาค ‘บ้านเรา’ ก็ยังมีลีลาของการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่าง ๆ ที่อาจขัดหูขัดตากวีจนต้องมีการแอบบ่น แต่ด้วยความเป็นคนที่อ่อนน้อมอยู่ในที การระบายสิ่งที่ขัดใจเหล่านี้จึงยังมีความนุ่มนวลสุภาพไร้ความหยาบกร้านและเกรี้ยวกราดอย่างที่เรามักจะเห็นในบทกวีวิพากษ์สังคมโดยทั่วไป ดังจะเห็นได้จากบางส่วนของบทกวีชื่อ ‘ตลาดกำมะลอ’ ซึ่งตัดพ้อการเอาวัฒนธรรมโบราณแบบปลอม ๆ มาเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์หลอกผู้บริโภค
….. “กระเพาะปลาบ๊ะจ่าง โอ…ช่างคิด นั่นใช้สิทธิ์อวดโอ่ชื่อโอสถ
ปัญญาไทยโอทอปหากชอบซด แต่ละหยดรสไวน์กระชายดำ
ทั้งว่านยาม้าช้างมีทั้งนั้น ทั้งพลาซ่าจัดสรรเช้าเย็นค่ำ
อ้างตลาดร้อยปีชื่อชี้นำ ยืมมาใช้ไม่ช้ำไม่ซ้ำรอย
เป็นตลาดติดแอร์บุญแผ่ผล เป็นสัปดาห์สัปดนคนใช้สอย
เป็นวิถีชีวิตประดิดประดอย เป็นความเก่าแสนกร่อยในรอยกาล” …..
นอกจากกลอน ๖ กลอน ๘ และกาพย์ยานี ๑๑ ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปแล้ว ใน ‘ของฝากจากแดนไกล’ โชคชัย บัณฑิต’ ก็ได้หันมาใช้ฉันทลักษณ์กลอน ๗ ควบคู่ไปในหลาย ๆ บท ซึ่งก็ให้จังหวะจะโคนในการอ่านที่แปลกไปจากกลอน ๘ ที่เรามักคุ้นได้อย่างมีสีสันดี ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในบท ‘เสียงเพรียกแห่งบรรพชน: จากเชียงรุ่งถึงเชียงราย’ ที่ถ่ายทอดเส้นทางการเดินทางไปยังประเทศจีนผ่านชายแดนพม่า
….. “จากท่าขี้เหล็กสู่เชียงรุ่ง เลาะผ่านเชียงตุงยามมุ่งหน้า
คดโค้งวงเขาเข้าเมืองลา ปลายแดนพม่าติดท่าล้อ
ท่าล้อล้อเกวียนแวะเวียนท่า เขตแดนพักม้าหยุดลาล่อ
บัดนี้มีด่านเพื่อผ่านรอ เชื่อมจีนติดต่อท่าล้อรถ”…..
ในส่วนของชั้นเชิงกวี โชคชัย บัณฑิต’ ก็มีอยู่พอตัวโดยไม่ต้องสงสัย จุดเด่นของเขาก็คือการเสาะหาและเฟ้นคำที่แสดงจินตภาพและให้สัมผัสตรงตามฉันทลักษณ์ดั้งเดิมได้อย่างลื่นไหลแถมส่วนใหญ่ยังเป็นคำง่าย ๆ ที่อ่านแล้วเข้าใจเห็นภาพตามได้ทันที อย่างไรก็ดีบทกวีของ โชคชัย บัณฑิต’ อาจมีข้อจำกัดในเรื่องความ ‘เข้ม’ ที่แม้ว่าจะโดยรวม ๆ แล้วขณะอ่านจะให้ความรู้สึกราบรื่นและเพลิดเพลินเพียงใด แต่เมื่อจบเล่มแล้วมันกลับไม่มีอะไรกระทบใจถึงระดับที่จะชวนให้จดจำมากนัก ‘ของฝากจากแดนไกล’ จึงเป็นกวีนิพนธ์ที่ให้ความรู้สึกคล้ายดั่งของฝากชิ้นเล็ก ๆ อันน่าพึงใจจากสหายผู้มีอัธยาศัยไมตรีอันดี ซึ่งอาจมีคุณค่าในเชิง ‘น้ำใจ’ มากกว่าความโดดเด่นและยิ่งใหญ่ในลักษณะของผลงาน ‘ชั้นเลิศ’
๒. ‘ต่างต้องการความหมายของพื้นที่’ โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ
หากจุดประสงค์หนึ่งของการจัดประกวดวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหรือรางวัลซีไรต์คือการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านงานประพันธ์ระหว่างกัน รวมบทกวีนิพนธ์ ‘ต่างต้องการความหมายของพื้นที่’ ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก็อาจกลายเป็นงานที่มีภาษีเหนือกว่าเล่มอื่น ๆ ที่เข้ารอบด้วยกัน เนื่องจากมันเป็นหนังสือรวมบทกวีสองภาษาซึ่งมีทั้งเนื้อหาส่วนที่เป็นภาษาไทยซึ่งประพันธ์โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ เอง และส่วนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย มานพ ประธรรมสาร อย่างพร้อมสรรพ เรียกได้ว่าหากเล่มนี้จะคว้ารางวัลซีไรต์ไปก็คงสามารถนำไปเผยแพร่ในประเทศสมาชิกต่าง ๆ ได้ในทันที
ศิวกานท์ ปทุมสูติ นับเป็นกวีที่เจนสนามซีไรต์มากที่สุดในบรรดานักเขียนรายอื่น ๆ ที่เข้ารอบมา เนื่องจากเขาเคยมีผลงานรวมบทกวีที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาแล้วเป็นจำนวนถึง ๓ เล่มด้วยกันคือ ‘กวีนิพนธ์ร่วมสมัย’ (๒๕๒๙) ‘สร้อยสันติภาพ’ (๒๕๓๒) และ ‘ครอบครัวดวงตะวัน’ (๒๕๔๗) โดยมี ‘ต่างต้องการความหมายของพื้นที่’ เป็นเล่มที่สี่ที่เข้าถึงรอบสุดท้าย
ความโดดเด่นของ ‘ต่างต้องการความหมายของพื้นที่’ คงอยู่ที่การใช้ฉันทลักษณ์การประพันธ์อันหลากหลายให้รสชาติในการอ่านที่ไม่ย่ำซ้ำจำเจ แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ผ่านช่วงเวลาของเส้นทางสายกวีมากว่าสามทศวรรษ ชนิดที่ต่อให้กำหนดโจทย์ฉันทลักษณ์มาแบบไหน ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก็คงสามารถรังสรรค์งานชั้นเอกออกมาให้ได้อย่างสบาย ๆ หนังสือรวมกวีนิพนธ์สองภาษาเล่มนี้จึงมีทั้ง กลอน ๗ กลอน ๘ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ โคลงสี่สุภาพ โคลงดั้น ไปจนถึงเพลงฉ่อย ในด้านถ้อยคำที่ใช้ก็สะท้อนให้เห็นถึงคลังคำอันมหาศาลและหลากหลาย ซึ่งก็จะเห็นได้ชัดตั้งแต่ชื่อบทกวีหลาย ๆ ชิ้นที่ตั้งออกมาได้อย่างสร้างสรรค์เสียเหลือเกิน อาทิ ‘ลิขิตอัคนี’ ‘สิง่าเงื้อเขาแหลมทระนง’ ‘สิ้นเสียงโพธิ์’ ‘นิมิตนรกานต์’ ‘พ้อปฏิมา’ ที่ชวนให้อยากอ่านอยากรู้ว่าเนื้อหาของแต่ละบทกล่าวถึงอะไร นอกเหนือจากศัพท์แสงบาลีสันสกฤตและการใช้ถ้อยคำโบราณที่ช่วยสร้างความอลังการให้ผลงานกวี ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก็ยังไม่ละเลยที่จะใช้ภาษาร่วมสมัยมาร้อยเรียงเคียงบทกันไปกับคำเก่า ๆ เหล่านั้นได้อย่างมีรสชาติ ดังที่อาจเห็นได้จากตัวอย่างบางส่วนของบทกวี ‘ผู้มีอุปการคุณ’
….. “ลูกตลาดลูกสลัมกรรมกร ล้วนลูกค้านาครต้อนจับจ่าย
ทั้งหิวโซไฮโซโก้กรีดกราย มิต้องสนตะพายก็พร้อมยอม
บ้างใช้เงินจากอดีตที่ออมอด บ้างใช้เงินอนาคตเครดิตหอม
ติดแร้วจนติดลบอยู่รายล้อม ติดสุขจนทุกข์ตรอมอยู่เต็มใจ”…..
ในส่วนเนื้อหาของบทกวีใน ‘ต่างต้องการความหมายของพื้นที่’ ก็มีลักษณะของการสะท้อนความคิดอ่านของผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกับความเป็นไปในโลกมาอย่างยาวนาน การวิพากษ์พาดพิงถึงสิ่งที่ต่าง ๆ จึงถึงพร้อมไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ ไม่ได้ส่งเสียงกราดเกรี้ยวโวยวายในลักษณะของคนหนุ่ม ดังจะเห็นได้จากบทกวีเด่นชื่อ ‘กบฏ’ ที่แสดงการปฏิเสธคุณค่าที่สังคมมักเชื่อถือศรัทธาด้วยอวิชชา ซึ่ง ศิวกานท์ ปทุมสูติ ก็ย้ำเตือนให้ผู้อ่านได้ตระหนักนึกว่า คุณค่าเหล่านั้นมันอาจมีแง่มุมแห่งความไม่เหมาะงามแฝงซ่อนอยู่
…..”ข้าพเจ้าปฏิเสธการศึกษา ที่ไขว่คว้าปริญญาติดฝาผนัง
ไม่รู้โลกลึกตื้นอย่างจริงจัง เป็นกบทั้งในกะลาและหม้อแกง
ปกครองง่ายสอนง่ายเสียนักหนา เชื่อครูเชื่อตำราไปทุกแห่ง
เป็นผู้ตามไม่กระดิกไม่พลิกแพลง เช่นนี้…ข้าพเจ้าแย้ง–ไม่ยอมรับ
ข้าพเจ้าปฏิเสธอาวุโส ที่มักโอ่อาบน้ำร้อนมาก่อนกัป
ที่มักอ้างประสบการณ์ที่ผ่านลับ แต่ปัญญาไม่ขยับอายุตาม
เป็นผู้ใหญ่แต่ไม่เห็นเป็นผู้หลัก เป็นไม้ปักขี้เลนระเนนหนาม
สักแต่ว่าสูงวัยไร้คุณงาม ข้าพเจ้าเหยียดหยาม–ไม่ศรัทธา”…..
แต่ถึงแม้ว่าภาพรวมของ ‘ต่างต้องการความหมายของพื้นที่’ จะมีความเข้มข้นทั้งทางด้านชั้นเชิงกวี ลีลาหลากหลายทางฉันทลักษณ์ และเนื้อหาที่หนักแน่นและแยบคายชวนให้ได้ใช้ปัญญาฉุกคิดกันอย่างไร หนังสือเล่มนี้ก็ยังมีจุดชวนให้เสียดายอันเป็นผลจากความไม่เข้มงวดในการบรรณาธิการ เนื่องจากเมื่อได้อ่านงานประพันธ์ชั้นเยี่ยมต่าง ๆ เหล่านี้ไปจนถึงค่อนเล่มแล้ว เนื้อหาในช่วงท้าย ๆ กลับออกจะ ‘ฟุ้ง’ และ ‘เวิ่นเว้อ’ จนไม่เจอความคมคายอย่างในช่วงค่อนแรกสักเท่าไหร่ ส่งผลให้ความประทับใจในการอ่านต้องสูญพลังไป ทั้งที่การเกลี่ยบทกวีที่อ่อนบางเหล่านี้ให้มีตำแหน่งที่กระจายไปทั่วทั้งเล่มก็อาจพอช่วยรักษาความหนักแน่นโดยรวมของหนังสือเอาไว้ได้ แต่ดูเหมือน ศิวกานท์ ปทุมสูติ เองก็อาจจะอยู่ในสถานะที่เลยพ้นไปจากการพิพากษ์ตัดสินจากคณะกรรมการไม่ว่าจะชุดใด ๆ ดังที่เขาได้ทิ้งท้ายเอาไว้ในบทกวีชื่อ ‘เกียรติยศแห่งทุ่งหญ้า’ ว่า
…..”ที่สุดงานประกวดควายหมายคุณค่า ตีราคาควายงามว่างามไฉน
ย่อมประกวดกรรมการพร้อมกันไป ว่างามใจงามปัญญาท้าเทียมควาย”
ซึ่งก็อาจกลายเป็นอุปมาที่สามารถทำให้คณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ทั้ง ๗ รายถึงกับต้องสะดุ้งหงายกันได้เลยทีเดียว!
๓. ‘บ้านในหมอก’ โดย สุขุมพจน์ คำสุขุม
แม้ว่ารางวัลซีไรต์จะได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นสุดยอดแห่งการประกวดรางวัลวรรณกรรมในประเทศไทยเหนือกว่าเวทีใด ๆ แต่ผลการตัดสินคัดเลือกบางครั้งก็อาจไม่ได้สอดคล้องไปกับความเห็นของคณะกรรมการจากเวทีประกวดที่อื่น ๆ สักเท่าใดนัก อย่างรวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ ‘ความน่าจะเป็น’ ของปราบดา หยุ่น ก็ได้รับเพียงรางวัลชมเชยจากเวทีประกวดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ ในขณะที่รวมกวีนิพนธ์สองเล่มล่าสุดของ สุขุมพจน์ คำสุขุม ‘บ้านในหมอก’ กับ ‘รากของเรา เงาของโลก’ ที่ส่งเข้าประกวดซีไรต์ในปีนี้ก็มีผลการคัดเลือกที่ย้อนแย้งกับเวทีการประกวดเซเว่นบุ๊คอวอร์ดอย่างสวนทาง เนื่องจากรวมกวี ‘บ้านในหมอก’ นั้นเคยได้รับเพียงรางวัลรองชนะเลิศสาขากวีนิพนธ์ เมื่อปีกลายในขณะที่ ‘รากของเรา เงาของโลก’ ก็เพิ่งคว้ารางวัลชนะเลิศจากสาขาเดียวกันในปีนี้ แต่เมื่อถึงเวทีซีไรต์ ‘บ้านในหมอก’ กลับเข้ามาถึงรอบสุดท้ายได้ ในขณะที่หนังสือรางวัลชนะเลิศจากรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดอย่าง ‘รากของเรา เงาของโลก’ กลับเข้าได้เพียงรอบ Longlist ๑๘ เล่มไป ท่ามกลางความประหลาดใจของใครหลาย ๆ คน
แต่เมื่อได้อ่านทั้งสองเล่มนี้เทียบกันจริง ๆ ผู้เขียนก็รู้สึกเห็นด้วยกับคณะกรรมการคัดเลือกว่าเล่ม ‘บ้านในหมอก’ มีความโดดเด่นมากกว่า ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นได้เหมือนกันว่าบางครั้งการประกวดผลงานอะไรเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของจังหวะเวลาและคณะกรรมการด้วยเหมือนกัน (แต่หลาย ๆ ครั้งกรรมการก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มเดียวกันที่วนเวียนกันไปตัดสินรางวัลเวทีต่าง ๆ) รวมถึงปัจจัยที่ว่า ณ รอบเวลาและเวทีนั้น ๆ มีผลงานของใครให้ได้เปรียบเทียบบ้าง ผลรางวัลจึงไม่สามารถมีความสัมบูรณ์ได้เสมอไปและมักจะมีความไม่สอดคล้องอะไรเหล่านี้ให้เห็นได้เสมอ ๆ
‘บ้านในหมอก’ ของ สุขุมพจน์ คำสุขุม เป็นหนังสือรวมบทกวีที่มีเนื้อหาสะท้อนถึงความฟอนเฟะทางสังคมยุคปัจจุบัน จากสถานการณ์ใกล้ตัวที่พวกเราอาจมักคุ้นผ่านน้ำเสียงครุ่นคิดเชิงกวีที่ถ่ายทอดเนื้อหาอันชวนหดหู่เหล่านี้ด้วยสำนวนโวหารอันงดงาม เนื้อหาของ ‘บ้านในหมอก’ ถูกแบ่งออกเป็นสองภาคคือ ‘ภาคแรก: บ้านในหมอก’ กับ ‘ภาคหลัง: หมอกในบ้าน’ โดยภาคแรกจะกล่าวถึงปัญหาสังคมของผู้คนกลุ่มใหญ่ ในขณะที่ภาคหลังจะนำพาผู้อ่านไปสัมผัสกับปัญหาและความสัมพันธ์ภายในระหว่างคนในครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่ลูก ซึ่งเนื้อหาในภาคแรกนั้น สุขุมพจน์ คำสุขุม ได้หยิบยกเอาเหตุการณ์คล้ายพาดหัวข่าวรายวันมานำเสนอด้วยฉันทลักษณ์ของบทกลอน คล้ายกำลังอ่านหนังสือพิมพ์หัวสีที่มีอัครกวีทำหน้าที่ร้อยเรียงเรื่องราวในฐานะบรรณาธิการ ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในบท ‘หัวข่าวเช้านี้: ข่าวชาวบ้าน’
…..”ล็อคตัวได้โดยละม่อม เขายอมรับ ทะเลาะกับมารดาคว้ามีดใส่
ปลิดชีพแม่ด่วนดับล้มพับไป ร่ำไห้ ขมารูป ฟุ้งธูปเทียน
หนังสือพิมพ์หน้าหนึ่ง อึ้งภาพข่าว เกินกล่าวถ้อยคำ คอลัมน์เขียน
หลายหน และอีกหน คล้ายวนเวียน บ้านเปลี่ยน เมืองเป็น โอ้ เวรกรรม!”
ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่ สุขุมพจน์ คำสุขุม วิพากษ์ถึง ก็มักเป็นปัญหาเกี่ยวกับการชิงสุกก่อนห่ามของเด็กและเยาวชนและพิษของชีวิตวัตถุนิยมของผู้ในยุคปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากบท ‘รักที่ล้นวัน’
….”ดูหน้าดูตา เพิ่งหย่านม เผ้าผมเนี้ยบงาม สิบสามสิบสี่
ลอยหน้าลอยตาควงสามี งามหน้ารัฐมนตรีสักกี่กระทรวง
ม.หนึ่ง ม.สอง โถน้องหนู เจ้าชู้! พ่อเห็น แม่เป็นห่วง
ยังด้อยเดียงสา ปัญญากลวง โถ! ควงภรรยามาโรงเรียน
ก.ไก่ ข.ไข่ ยังไม่คล่อง เอบียังต้องจับมือเขียน
เงินพ่อแม่หาแทบอาเจียน ลูกเปลี่ยนมือถือซื้อค่าโทร”…..
โดยผู้ประพันธ์ได้ยกเอา ‘กระแสข่าว’ ร่วมสมัยและประเด็นร้อนต่าง ๆ มาใช้เป็นวัตถุดิบอ้างอิงซึ่งก็ยิ่งทำให้บทกวีของเขามีความรู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้อ่านได้มากขึ้น ดังการนำเอาข่าวเรื่องการการเต้นรำเปลือยอกในงานสงกรานต์ที่ถนนสีลมมาเล่าในบทกวี ‘มโหรีจากสีลม’ ข่าวคลิปหลุดดาราใน ‘คราบคาวบนแผ่นฟิล์ม’ กระแสรายการ ‘เดอะสตาร์’ ในบท ‘โลกกลม ๆ ของชมพู่: นิยายรักซีรีส์เอ็กซ์’ ไปจนถึงการนำเอาเพลงลูกทุ่งสุดฮิต ‘คนบ้านเดียวกัน’ ขับร้องโดย ไผ่ พงศธร มาขยายความในบท ‘บนตึกระฟ้า: ทางที่(ไม่)รอด’ เป็นต้น
ในขณะที่ภาคหลัง สุขุมพจน์ คำสุขุม ก็ได้หันมานำเสนอปมความรักความผูกพันของคนในครอบครัวด้วยบทกวีที่ส่วนใหญ่จะเป็นจดหมายจากลูกถึงบิดามารดา ตัดพ้อต่อนานาความเป็นไปในชีวิตที่ไม่อาจควบคุม ดังตัวอย่างจากบท ‘โศกสามัญประจำบ้าน’
…..”แม่บอกว่า ‘พ่อรักเป็นนักสู้ หนูบอกแม่ ‘หนูไม่รู้ หนูใจหาย’
แม่บอก ‘รอข่าวดี’ ก่อนปีกลาย แต่หนูฟัง ‘ข่าวร้าย’ มาหลายปี
ใช่! หนูนับวันรอแต่ ป.สอง วันนี้ต้องรอพ่อ.. หนู ป.สี่
ทนเจ็บปวดรวดร้าว คอยข่าวดี จนหนูหลับหน้าทีวี ทุกทีไป
..แม่บอก ‘แม่ภูมิใจในตัวพ่อ’ แต่หนูก็แอบมอง.. แม่ร้องไห้!
อยากถามแม่ ‘พ่อหนูสู้กับใคร?’ ‘สู้ที่ไหน? ชนะไหม? ไยไม่มา?’”…..
ด้านฉันทลักษณ์การประพันธ์ สุขุมพจน์ คำสุขุม ก็ยึดคำกลอนเป็นหลัก โดยมีทั้งกลอน ๗ และกลอน ๘ ที่ไม่ได้เคร่งครัดกับจำนวนคำมากนักโดยเฉพาะในบาทแรกของบท โดยสิ่งที่กวีสนใจกลับอยู่ที่การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่เขามีต่อสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังเป็นกระแสสังคมอยู่ในขณะนี้ ทำให้หนังสือรวมกวีนิพนธ์ ‘บ้านในหมอก’ มีความโดดเด่นในแง่การสื่อสารที่สามารถส่งผ่านความคิดอ่านอันน่าสะดุ้งสะเทือนเหล่านี้สู่ผู้อ่านได้อย่างมีพลัง ทั้งจากการเลือกประเด็นที่เป็นที่สนใจและการใช้สำนวนภาษาที่ช่างสรรหาคำมาร้อยเรียงกันได้อย่างงดงามเหลือเกิน หลาย ๆ บทอ่านแล้วชวนให้รู้สึกเจ็บปวดไปกับความเป็นจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ จนกลายเป็นงาน ‘บันทึกร่วมสมัย’ เล่มสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม โดยไม่ต้องอาศัยความหลากหลายในเชิงฉันทลักษณ์มาเป็นตัวช่วยสนับสนุนเลย!
๔. ‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ โดย จเด็จ กำจรเดช
เกณฑ์หนึ่งซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลซีไรต์มักจะกล่าวอ้างใช้ในการพิจารณาเปรียบเทียบหนังสือเล่มต่าง ๆ ก็คือความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ที่จะนำพาวรรณกรรมไทยให้ก้าวต่อไปโดยไม่ย่ำอยู่กับที่ บทกวีที่แหวกกรอบฉันทลักษณ์เดิม ๆ ที่เป็นที่นิยมกันจึงมักจะมีให้เห็นเสมอ ๆ ในบรรดารวมกวีนิพนธ์ที่เข้ารอบสุดท้ายที่ผ่าน ๆ มาของเวทีนี้ โดยเฉพาะกวีนิพนธ์ไร้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่าที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อ คณะ วรรค สัมผัสนอก สัมผัสใน คำเป็น คำตาย ไม้เอก ไม้โท กระทั่งโผตำแหน่งครุ ลหุ ทั้งหลาย แล้วให้อิสระแก่กวีในการสร้างบทประพันธ์รูปแบบใหม่ที่อาจมีหน้าตาพ้องคล้ายกับงานเขียนแนวความเรียง ไม่ว่าจะเป็นรวมกวีนิพนธ์ ‘War เรามีพระเจ้าคนละองค์’ โดย พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ ‘เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก’ โดย ศิริวร แก้วกาญจน์ และเล่มที่ไปได้ไกลด้วยการคว้ารางวัลซีไรต์อย่าง ‘ไม่มีหญิงสาวในบทกวี’ โดย ซะการีย์ยา อมตยา เป็นต้น
สำหรับรวมกวีนิพนธ์ที่เข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้ก็มีผลงานที่ใช้รูปแบบบทกวีไร้ฉันทลักษณ์อยู่หนึ่งเล่มนั่นก็คือ ‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ โดยนักเขียนรางวัลซีไรต์ จเด็จ กำจรเดช ซึ่งก็มาในแนวประหลาดพิสดารนำเสนอจินตนาการที่พิลึกพิลั่นถึงขั้นติสต์แตกแปลกไปจากเล่มอื่น ๆ พอสมควร การเขียนกวีนิพนธ์ในรูปแบบกลอนเปล่านี้อาจจะแลดูเหมือนมีภาษีแต้มต่อจากบทกวีแนวฉันลักษณ์ที่มักมีระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ทางการประพันธ์มารัดรึง แต่เอาเข้าจริง ๆ การเขียนกลอนเปล่าให้กระทบถึงผู้อ่านอย่างมีพลังได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันต้องอาศัยความเฉียบขาดคมคายทั้งในส่วนของภาษาและเนื้อหาในการนำพาผู้อ่านไปสัมผัสกับจินตทัศน์ที่กวีต้องการ แต่สำหรับสารต่าง ๆ ที่ จเด็จ กำจรเดช มุ่งนำเสนอในรวมกวีนิพนธ์เล่มนี้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่ามันประหลาดอย่างธรรมดา ๆ ไปสักหน่อย และยังไม่ค่อยจะชวนให้ตื่นตะลึงไปกับกระแสความคิดแบบทแยงมุมเหล่านั้นเท่าใดนัก ท่าที่บทกวีหลาย ๆ บทให้ความรู้สึก ‘แปลก’ เพราะกวีต้องการให้ ‘แปลก’ แต่ยังไม่สามารถ ‘แหวก’ ถึงขนาดจะสร้างน้ำเสียงใหม่ ๆ จนให้บรรยากาศเฉพาะขึ้นมาได้ดังจะเห็นได้จากบท ‘เครื่องบันทึกความทรงจำโดยขโมย (หรือว่าไม่?)’
“แค่เครื่องบันทึกความทรงจำโดนขโมย
ฉันแจ้งความไว้แล้ว
(หรือว่ายัง?)
พยายามหาเครื่องใหม่
ไม่รู้วางบัตรกดเงินไว้ที่ไหน
ใบที่เหลือก็จำรหัสไม่ได้
คงหาได้แค่เครื่องมือสองที่ต้องทำงานแลกมา”…..
ซึ่งจเด็จ กำจรเดช เหมือนจะพยายามเล่นล้อไอเดียของการอาศัยเครื่องจักรกลเป็นสิ่งช่วยจำ แต่เมื่ออ่านจนจบบทแล้วกลับพบว่าบทกวีไม่ได้มีการพัฒนาประเด็นอะไรให้แยบคายขึ้นเลย หรือในบางช่วงก็มีการใช้ลีลาแบบ ‘เหนือจริง’ ที่อ่านแล้วกลับชวนให้รู้สึกเฉย ๆ อย่างในบท ‘กลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง’
“แมงกะพรุนแหวกว่ายในระดับหัวของเรา
บนถนนหลวง
จำได้ว่าเราเลี้ยวรถผิด
แวะร้านขายยาของชายอินเดียโพกผ้า
ร้านซึ่งมีเสือดาวเป็นพนักงานถูพื้น
แมวน้ำกำลังจัดขวดยาบนชั้น”….
ซึ่งก็ดูจะเป็นลีลาเหนือจริงในระดับงั้น ๆ ชนิดไม่ต้องถึงขั้นเป็นนักเขียนซีไรต์ก็คงจะคิดเขียนกันได้กับข้อความแผลง ๆ อะไรเทือกนี้ ต่อให้ตัวบทกวีจะพยายามมีแง่มุมเกี่ยวกับมิติความจริงกับจินตนาการแฝงไว้อย่างไรก็ตาม
ความประหลาดแบบบางเบาเหล่านี้ทำให้ภาพรวมของบทกวีใน ‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ ยังไม่สามารถสร้างความตะลึงพรึงเพริดอย่างที่มันควรจะเป็นได้ การแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองภาคคือ ‘ภาคแรก: บางครั้งปลาก็อยากว่ายเล่นบนฟ้า’ กับ ‘ภาคสอง: ในประเทศซึ่งต้องพูดอีกภาษา’ ก็ยังไม่เห็นตรรกะชัดเจนว่ามีกรอบเกณฑ์อันใด ส่วนบทกวีบางชิ้นที่พอจะจับใจความได้เช่น ‘ไม่ต้องกลัว’ ‘ไอ้เสือเก่า’ หรือ ‘ล่องลอยปะปนมากับบทสวดมนต์’ ก็แลดูคล้ายเรื่องสั้นขนาดสั้นหักมุมจบแบบดาดดาดขาดความเข้มข้นของการพลิกสถานการณ์ จนแลดูเป็นงานที่บางเบาไปเสียหมด ความน่าผิดหวังของกวีนิพนธ์เล่มนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าอดคิดไม่ได้ว่าคณะกรรมการคัดเลือกมีมติให้ ‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ เข้ารอบมาเพียงเพราะต้องการให้มีบทกวีไร้ฉันทลักษณ์เป็นหนึ่งในเจ็ดเล่มหรือไม่ เพราะถ้าจะวัดฝีไม้ลายมือในการสร้างสรรค์จินตกวีลีลาแบบ ‘เหนือจริง’ กันจริง ๆ ผลงานเล่มนี้ดูจะทิ้งช่วงตามหลังงานชั้นดีของ อุเทน มหามิตร หรือ อังคาร กัลยาณพงศ์ ชนิดไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว ยิ่งคณะกรรมการคัดเลือกได้นั่งยันยืนยันนอนยันว่าผลงานทั้งเจ็ดเล่มที่เข้ารอบในปีนี้โดดเด่นกว่าเล่มอื่น ๆ อย่างชัดเจนจนไม่สามารถฉุดดึงรวมกวีนิพนธ์ที่เข้ารอบ Longlist ที่เหลือให้เข้ารอบมาจนครบสิบเล่มตามที่กติกาอนุญาตไว้ได้ก็ยิ่งชวนให้เกิดข้อสงสัย เพราะถ้าเทียบกันจริง ๆ ‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ ก็ไม่เห็นจะมีอะไรที่ ‘ใช่’ กว่ารวมกวีนิพนธ์ที่ตกรอบไปเล่มอื่น ๆ เลย สุดท้ายก็ขอฝากไว้เป็นการบ้านให้คุณผู้อ่านได้ลองตัดสินด้วยตัวเองว่ามีความเป็นเลิศใน ‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ ตามที่คณะกรรมการพากันสรรเสริญไว้หรือไม่ ด้วยในสายตาของนักอ่านระดับตาสีตาสาอย่างข้าพเจ้าแล้วอยากจะอุทานออกมาเป็นภาษาวัยสะรุ่นว่า ‘มันคืออัลไล?’ และมันง่ายเกินไปไหมกับการเวิ่นเว้อคำโดยไร้ความคมคายแบบนี้?
๕. ‘เมฆาจาริก’ โดย ธมกร
‘ธมกร’ อาจเป็นนามปากกาที่หลาย ๆ คนยังไม่คุ้นหู แต่ถ้าถามคนที่รู้จริงแล้วก็คงจะได้ข้อมูลว่าแท้แล้วนามนี้ก็เป็นอีกหนึ่งนามปากกาของกวีที่มีผลงานอีกเล่มเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ด้วยเช่นกัน (แต่ขออนุญาตไม่บอกว่าเล่มไหน) เจ้าของนามปากกา ‘ธมกร’ ท่านนี้จึงมีหนังสือเข้ารอบสุดท้ายพร้อมกันถึงสองเล่มและคงต้องลองอ่านเทียบโวหารเชิงกวีกันดูว่าจะไปพ้องคล้ายกับบทกวีเล่มไหนและ ‘ธมกร’ คือใครระหว่าง โชคชัย บัณฑิต’ / ศิวกานท์ ปทุมสูติ / สุขุมพจน์ คำสุขุม / จเด็จ กำจรเดช / พลัง เพียงพิรุฬห์ หรือ อังคาร จันทาทิพย์?
‘เมฆาจาริก’ เป็นหนังสือรวมบทกวีเชิงปรัชญาที่มาในลีลากลอน ๘ เพียงฉันทลักษณ์เดียวตลอดทั้งเล่มจำนวน๖๐ ชิ้น (แต่อาจมีการใช้คำมากหรือน้อยกว่าแปดในบางวรรค) และจำนวนบทในแต่ละชิ้นก็มีเฉพาะ ๓ บท ๖ บท หรือ ๙ บท เท่านั้น นับเป็นการสร้างกรอบทางฉันทลักษณ์ให้ตัวเองเพื่อท้าทายพลังสร้างสรรค์ในการถ่ายทอดสื่อสารผ่านเงื่อนไขเหล่านี้ได้อย่างน่าสนใจ
แต่ถึงแม้ว่า ‘ธมกร’ จะวางโครงร่างของ ‘เมฆาจาริก’ เอาไว้อย่างเด่นชัดและรัดกุมเพียงใด ด้วยทักษะทางภาษาจากมหาสมุทรแห่งคลังคำที่เขาเลือกนำมาใช้ได้อย่างชำนิชำนาญก็ทำให้การถ่ายทอดความคิดของกวีผู้นี้ดำเนินไปได้โดยไร้อุปสรรคทางฉันทลักษณ์ บทกวีเกือบทุกบทสามารถอ่านได้อย่างลื่นไหลทั้งสัมผัสนอกและสัมผัสในที่ส่งรับอย่างได้ใจความ นำเสนอปรัชญาผ่านการใช้อุปมาและสัญลักษณ์ชวนให้คิดไขถึงความหมายซ่อนนัย ดังจะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างบทกวีลำดับที่ห้าที่ใช้ปมเชือกและการฟั่นเชือกมาเป็นสัญลักษณ์ของปัญหาและการดำเนินชีวิต
…..“ใครอาจไม่เข้าใจเธอเผลอกระทำ แต่เธอต้องไม่ซ้ำทำจิตหล่น
หากปมเชือกยังผูกด้วยทุกข์ทน อย่าเพิ่มปมผูกปนจนสุดปลาย
แม้บางปมที่ผูกมัดมิอาจแก้ ต้องตัดทิ้งจริงแท้ก็ไม่สาย
เชือกชีวิตยังฟั่นต่อได้สบาย ด้วยความหมายใจฟั่น… นั่นแหละทาง”
นอกจากนี้ความคิดอ่านในลักษณะของผู้ที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างยาวนานของ ‘ธมกร’ ก็ยังทำให้บทกวีบางบทในกวีนิพนธ์เล่มนี้มีความลึกซึ้งคมคายจนกลายเป็นวรรคทองที่น่าจดจำในหลาย ๆ บท อาทิ
….. “แม้จริงอาจจะมิจริงทุกสิ่งไป ใช่อาจจะมิใช่ในทั้งผอง
เห็นอาจจะมิเห็นเช่นที่มอง แต่ยังปองใจปรารถนาปรุง”…..
จากบทที่ ๒ และ
….. “ณ นาทีนี้เพียงจะบอกท่าน อีกมินานเราต่างจะหาไม่
ท่านจะผุฉันจะเปื่อยด้วยกันไป ธารน้ำไหลจะนำเรากลับเหย้าเรือน”…..
จากบทที่ ๔๓ ซึ่งก็นับเป็นอนุสติชวนพินิจสะกิดให้เราได้ย้อนมองถึงสารัตถะของความจริงและการมีตัวตน
อย่างไรก็ดีบทกวีหลาย ๆ บทใน ‘เมฆาจาริก’ ก็มีลักษณะการเขียนที่ใช้สัญญะอย่างนามธรรมจนทำให้ผู้อ่านไม่สามารถตีความได้โดยง่าย และเมื่อไม่สามารถเข้าใจถึงสารที่กวีต้องการนำเสนอได้ในทันใด พลังกระทบจึงต้องอ่อนพร่องลงไปโดยปริยาย ดังตัวอย่างที่ยกมาจากบทกวีลำดับที่ ๑๗ ต่อไปนี้
“เสียงเพรียกจากดินแดนไกลแสนไกล กำลังใจแห่งข้ายังแน่วแน่
โอกาสตัวละครผู้อ่อนแอ ก้าวข้ามคำว่าแต่–แม้กี่ครั้ง
เสียงตะโกนแห่งข้าเชิงผาใจ สะท้อนกลับก้องในจิตผนัง
ยังอ่อนเยาว์ก้าวรุดจงหยุดฟัง คำสั่งของสัจจะที่พบเจอ
สินิ่งดูดอกฝนต้นฤดู เป็นครูของดอกไม้ได้เสมอ
ฝุ่นกระจายทรายฉ่ำเพื่อบำเรอ เมล็ดพันธุ์ฝันละเมอมองเห็นทาง”
โดยสรุปแล้ว ‘เมฆาจาริก’ จึงเป็นกวีนิพนธ์เชิงปรัชญาที่แม้จะมาในลีลาฉันทลักษณ์ที่เรียบง่ายแต่ก็ยังโดดเด่นได้ด้วยการใช้ภาษาและความคิดอ่านที่แยบคาย เสียแต่บางครั้งความหมายในถ้อยคำต่าง ๆ อาจจะยังคลุมเครือและเป็นนามธรรมจนเกินไปจนยากที่จะเข้าถึงได้ ซึ่งก็ขึ้นกับผู้อ่านเองว่าจะมีความเพียรพยายามในการเค้นนัยจากถ้อยคำเหล่านั้นมากเพียงไหนในการค้นหาความงามภายในที่สุดท้ายก็อาจไม่ได้มีอะไรลึกซึ้งเกินกว่าความหมายทางตรงของมัน!
๖. ‘โลกใบเล็ก’ โดย พลัง เพียงพิรุฬห์
พลัง เพียงพิรุฬห์ นับเป็นนักเขียนหน้าใหม่เพียงรายเดียวที่มีผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เป็นครั้งแรกในปีนี้กับหนังสือรวมกวีนิพนธ์ ‘โลกใบเล็ก’ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงชีวิตในชนบทแบบดั้งเดิมที่กำลังถูกกระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกโลกาภิวัฒน์ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป บทกวีในเล่มมีการแบ่งหมวดหมู่ออกเป็นสี่กลุ่มภาวะ–อารมณ์ ‘รัก’ ‘เศร้า’ ‘เหงา’ และ ‘สู้’ เพื่อเสนอภาพชีวิตวิถีเกษตรกรรมในมิติที่แตกต่างกันออกไป โดยในหมวด ‘รัก’ นั้นก็จะเน้นบทกวีที่สะท้อนถึงความงดงามของชีวิตที่ยังคงใกล้ชิดกับธรรมชาติปราศจากมายาของความทันสมัยดังในบทกวี ‘สีนวลดอกกระถินกรุ่นกลิ่นฟอนฟาง’
…..“นาคำ น้ำล้อม ปุยเมฆฟ่อง ถิ่นทุ่ง คาวข้อง ท้องร่องใส
รั้วกระถินทอดยาวจรดราวไพร ผลิดอกคละใบครึ้มทองธาร
ควายปละละปลักด้วยรักคอก เสียงกระแหล่งกระทบบอกไม่ลืมบ้าน
หรีดหริ่งเรไรไม่ลืมงาน เซ็งแซ่ขับขานค่าแผ่นดิน”…..
ในขณะที่หมวด ‘เศร้า’ ก็จะนำผู้อ่านเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงอันชวนให้รู้สึกใจหายเมื่อความงดงามที่เคยมีมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายกำลังถูกสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาทำลายอย่างไม่อาจต้านทาน ดังจะเห็นได้จากบท ‘หมู่บ้านสารเคมี’
…..“ทั้งแหล่งน้ำ ไร่นา เรือกสวน อบอวลสารพิษฤทธิ์สยอง
แม้ตาเปล่าไม่เห็นเฝ้าเฟ้นมอง หากแต่ต้องเกลือกกลั้วอยู่ทั่วไป
เป็นหมู่บ้านเคลือบฉาบสารเคมี เป็นแหล่งที่ย่าปู่อยู่อาศัย
เป็นแห่งหนเด็กเด็กเชื่อมสายใย เป็นแหล่งรวมผองภัย หรือไม่จริง”
ส่วนหมวด ‘เหงา’ ก็เป็นบทกวีที่สะท้อนถึงสภาพบ้านเมืองชนบทหลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ต้องจ่อมจมอยู่กับความไร้ร้าง เคว้งคว้างไร้ทิศทางอยู่กลางกระแสกาล ดังตัวอย่างจากบท ‘การล่องลอยแห่งสวนอันรื่นรมย์’
”…..ไม่มีใครอาศัยอยู่แล้วหมู่บ้าน ความยากจนเกินต้านทานเข้ามาจ่อ
ไม่มีใครหรอกมัวรั้งรอ ต่างสะพายห่อผ้า…มุ่งหน้าไป
กี่ปีกันเล่า ข้าพเจ้าไม่อยู่ โยกย้ายหลายฤดูหาแหล่งใหม่
ทำกินดิ้นรนทนร่ำไร ไม่รู้เมื่อไรได้ลืมตา”…..
ปิดท้ายด้วยหมวด ‘สู้’ ที่ผู้คนดูจะต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้ชีวิตสามารถอยู่รอดต่อไปไม่ว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงจะเชี่ยวกรากเพียงไหน ดังในบทกวี ‘นารีมโนรมย์’
“ลูกสาวเพียงคนเดียวซึ่งหายหน้า พาฝรั่งมังค่ามายิ้มรื่น
โลกผู้เฒ่าพลิกขั้วชั่วเคี้ยวกลืน กลับกลายเป็นอื่นได้ฉับพลัน
แม่จ๋าฉันจะพาไปต่างแดน ไปจากความขาดแคลน คำหยามหยัน
ส่วนไอ้หนูฉันจะพาไปด้วยกัน อยากให้มันเล่าเรียนเขียน เอ บี”…..
การจัดบทกวีทั้งหมดออกเป็นหมวดหมู่ตามกลุ่มสารเช่นนี้ก็ทำให้ ‘โลกใบเล็ก’ มีความเด่นในแง่การให้ความหลากหลายอย่างมีเอกภาพในส่วนของเนื้อหา เพราะถึงแม้ว่าฉากและบรรยากาศของบทกวีชิ้นต่าง ๆ จะซ้ำเดิมอย่างไร แต่ พลัง เพียงพิรุฬห์ ก็สามารถมองในมุมที่ต่างอารมณ์ออกไปให้ภาพของ ‘โลกใบเล็ก’ ที่มีมิติและน่าสนใจยิ่งขึ้น
สำหรับลีลากวีของ พลัง เพียงพิรุฬห์ ก็นับว่าสามารถใช้ฉันทลักษณ์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลอน ๘ โคลง ๔ สุภาพ กาพย์ฉบัง ๑๖ ร่ายยาว ไปจนถึงกลอนเปล่า ซึ่งก็นำมาบอกเล่าถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กวีพานพบได้ในระดับพอใช้ พลังโวหารและการถ่ายทอดความคิดอาจยังไม่ถึงระดับลึกซึ้งคมคาย แต่จุดเด่นที่น่าประทับใจใน ‘โลกใบเล็ก’ ก็คือน้ำเสียงที่เรียบซื่อและจริงใจให้ความรู้สึกเหมือนได้ฟังเสียงร่ำระบายจากคนสนิทชิดใกล้ที่ต่อให้ปัญหาที่พานพบจะสามัญธรรมดาเพียงไหนแต่ผู้ฟังก็คงอดไม่ได้ที่จะเห็นใจและมีความรู้สึกร่วม เมื่อเทียบความโดดเด่นแล้ว ‘โลกใบเล็ก’ จึงอาจยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะต่อกรกับผลงานดี ๆ เล่มอื่น ๆ ที่เข้ารอบมาด้วยกัน แต่ก็นับว่ามีส่วนในการสร้างสีสันว่าบางครั้งบทกวีที่มุ่งนำเสนอความงดงามในมุมเล็ก ๆ และเรียบง่ายก็สามารถฝ่าด่านมาถึงรอบสุดท้ายของเวทีนี้ได้หากกวีจะมีน้ำเสียงที่เป็นตัวของตัวเองได้จริง ๆ
๗. ‘หัวใจห้องที่ห้า’ โดย อังคาร จันทาทิพย์
หลังจากรวมกวีนิพนธ์ ‘ที่ที่เรายืนอยู่’ เคยเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ อังคาร จันทาทิพย์ ก็กลับมามีโอกาสได้ชิงชัยอีกครั้งเมื่อ รวมกวีนิพนธ์เล่มใหม่ ‘หัวใจห้องที่ห้า’ ได้เข้ารอบสุดท้ายมาในปีนี้ด้วย ซึ่งกวีนิพนธ์ฉบับที่เข้ารอบนี้ก็เป็นฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติมเนื้อหา ครั้งที่ ๒ จากที่เคยตีพิมพ์ฉบับแรกออกมาเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เนื้อหาใน ‘หัวใจห้องที่ห้า’ ถูกแบ่งออกเป็นทวิภาคเช่นเดียวกับ ‘ของฝากจากแดนไกล’ ‘บ้านในหมอก’ และ ‘ผู้ออกแบบเส้นขอบฟ้า’ โดยภาคแรกใช้ชื่อว่า ‘หัวใจห้องที่ห้า’ เช่นเดียวกับชื่อหนังสือ ในขณะที่ภาคหลังใช้ชื่อว่า ‘นิทานนักเดินทาง’ ซึ่งเนื้อหาของบทกวีในแต่ละภาคก็มีการแบ่งแยกแนวทางกันอย่างชัดเจน
ในภาค ‘หัวใจห้องที่ห้า’ นั้นส่วนใหญ่จะกล่าวถึง สงคราม ความรุนแรง และความขัดแย้งของผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์สามารถจะบาดหมางกันในกรณีใดได้บ้าง และมันได้สร้างผลกระทบที่มีต่อผู้คนระดับปัจเจกกันอย่างไร บทกวีชิ้นเด่นในภาคนี้ก็มี ‘ไม่มีของขวัญจากสงคราม’ ซึ่งเล่าถึงชีวิตหลังเกษียณราชการของทหารรักษาการณ์ลาดตระเวนที่ได้หวนกลับมาใช้ชีวิตอย่างสงบที่บ้านเกิด
…..“เกษียณจากสงครามสนามรบ บ้านสวนสงบ เช้าแดดส่อง นกร้องส่ง
ควันฟืนไฟ น้ำในกา ชารอชง หอมร่ำคงกลิ่นรื่น ควันปืนเลือน!
ประคองแก้วละมุนมือเคยถือปืน รื่นรมย์รื่นจิบชานินทาเพื่อน
รั้งวงรอบเคยเร็วรี่เร่งปีเดือน ความตายเตือน สบตามาหลายครั้ง
สันติสุข – สืบและสร้างทางอีกเส้น ลาดตระเวน – เรื่องเก่า เล่าความหลัง
รักษาการณ์ – ลูกหลานพร้อมล้อมวงฟัง หวาดระแวง – ไม่ต้องระวังดั่งวานวัน”…..
ส่วนภาค ‘นิทานนักเดินทาง’ นั้นก็จะมีทั้งบทกวีถ่ายทอดความงดงามของธรรมชาติ เรื่องเล่าและตำนานท้องถิ่นอันหลากหลาย ความรู้สึกโหยหาอดีตที่กำลังจะผ่านพ้นไปและที่กำลังจะกลายเป็นอื่น ไปจนถึงมุมมองของสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นในโลกเทคโนโลยีร่วมสมัย ดังจะได้จากบท ‘ด้านทั้งสองของโลกเสมือน’
“Farm Ville กว้างใหญ่ ในห้องแคบ ซ่อนแอบโลกอีกใบใกล้เคียงบ้าน
‘บ้านไร่ในฝัน’ ใฝ่หามาเนิ่นนาน ชีวิตผ่านเส้นทางวัยกลางคน
Farm Ville Facebook เกมปลูกผัก ทำฟาร์ม ฟูมฟัก แบบฝึกฝน
เสมือนจริง เสมือนฝันอันแยบยล ตอบโจทย์เขา – ชายกลางคน ชนชั้นกลาง”…..
ซึ่งมีเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์โหยหาอันขันขื่นที่ผู้คนในปัจจุบันจะต้องมานั่งฝันทำฟาร์มปลูกผักกันบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
ฉันทลักษณ์หลักที่ อังคาร จันทาทิพย์ ใช้ในรวมกวีนิพนธ์ ‘หัวใจห้องที่ห้า’ นี้ก็มีทั้งบทกลอน โคลง ๔ สุภาพ และกาพย์ฉบัง ๑๖ ที่ดูเหมือนจะไม่ได้เคร่งครัดกับจำนวนคำและบังคับเอกโทมากนัก แต่เอกลักษณ์สำคัญในการประพันธ์ของ อังคาร จันทาทิพย์ ก็คือการใช้คำเดิมซ้ำ ๆ ในบทเดียวกัน ซึ่งบางครั้งก็ฟังดูคล้ายเป็นการเล่นสัมผัส แต่ในบางครั้งก็อาจเป็นการซ้ำคำแบบติด ๆ ขัด ๆ จนอาจทำให้บทกวีไม่ลื่นไหลได้เหมือนกัน น้ำเสียงโดยรวมของ อังคาร จันทาทิพย์ มักจะเป็นไปอย่างขึงขังเอาจริงเอาจัง แต่การเลือกคำและสำนวนของเขายังมองเห็นถึงจริตจงใจที่จะให้คำลงสัมผัสมากกว่าจะเคร่งครัดในส่วนของความหมาย การสื่อความในหลาย ๆ บทจึงไม่ใคร่จะราบรื่นสักเท่าไหร่ บางวรรคก็สั้นหรือยาวเกินไปแถมการเลือกคำที่ใช้บางครั้งก็ฟังแล้วไม่ลื่นหู สร้างความเหน็ดเหนื่อยในการอ่านแก่ผู้อ่านอยู่พอดูเหมือนกัน อย่างไรก็ดีในด้านจินตนาการกวี อังคาร จันทาทิพย์ ก็ยังคงมีไม่แพ้กวีรายอื่นไหน แต่แนวทางการเขียนที่เหมือนกำลังหาอัตลักษณ์ลายเซ็นเป็นของตัวเองก็ยังอาจต้องพัฒนาต่อไป เพื่อให้ลีลาการเล่นคำซ้ำและการลำดับความสามารถดำเนินไปได้อย่างไหลลื่นกว่าที่เป็นอยู่ในรวมบทกวีเล่มนี้
ใครสนใจอ่านบทวิจารณกวีซีไรต์ ปี 2556 นี้ เชิญได้นะค่ะ ตนเองก็สนใจ อยากรู้ว่า "หัวใจห้องที่ 5" คืออะไรเหรอ? ยังไม่ได้อ่านฉบับเต็ม ก็อ่านบทวิจารณ์ จากสุดยอดนักวิจารณ์วรรณกรรมไปก่อนนะค่ะ.
เรื่อง เมฆาจาริก ค่ะ
โดยส่วนตัว ชอบโลกใบเล็ก…):