ผู้ดี
“ผู้ดี”
นิลวรรณ ปิ่นทอง
ตามความเข้าใจกันอย่างง่าย การวิจารณ์หนังสือเล่มใด ก็คือการติชมหนังสือเล่มนั้น และนักวิจารณ์คือผู้ตั้งตัวขึ้นพินิจงานของผู้อื่น ฟังเผินๆ นักวิจารณ์ออกจะเป็นคน “เขื่อง” อยู่สักหน่อย แท้ที่จริงความเป็นคนเขื่องของนักวิจารณ์อยู่ใกล้อันตรายมาก นักวิจารณ์คือคนที่ทั้งห้าวและทั้งหาญ เมื่ออ่านหนังสือเล่มใดแล้วก็ใคร่จะอวดให้ปรากฏว่าตนซึมทราบในหนังสือนั้น และในความประสงค์ของผู้แต่งเพียงใด ถ้าผู้วิจารณ์สามารถแยกแยะถ้อยประสงค์ของผู้แต่งได้ถี่ถ้วน ชมถูกตรงที่เหมาะควรชมและติตรงที่เหมาะควรติ ผู้วิจารณ์ก็เป็นอันว่ารักษาความเขื่องไว้ได้ด้วยดี แต่ถ้าการณ์กลับเป็นตรงกันข้าม ความ ”เขื่อง” ก็จะกลายเป็นความ “โข่ง” ไป
การที่ผู้วิจารณ์จะเข้าใจจุดประสงค์ของผู้แต่งได้ถูกต้องนั้น อาศัยที่มีความปรีชาสามารถอ่านดวงใจคนออก ในบางครั้งผู้วิจารณ์ “ปรีชา” เกินผู้แต่ง หาจุดประสงค์ให้แก่เรื่องทั้งๆที่ผู้แต่งยังนึกไปไม่ถึง หรือไม่ประสงค์ดังนั้น ผู้เขียนเคยอ่านพบเรื่องเล่าว่า เมื่อ กอลสเวอธี Galsworthy นำละครเรื่อง “Strife” ออกแสดง มีผู้เขียนบทวิจารณ์ว่าข้อใหญ่ใจความของละครคือ การขันสู้ระหว่าง Capital และ Labour และเสริมว่า Galsworthy ใช้ปัญหาเศรษฐกิจสมัยปัจจุบันเป็นโครงเรื่อง แต่แล้วตัวผู้แต่งบทละครกลับแถลงว่า มิได้นึกไปถึงปัญหาเศรษฐกิจเลย เป็นแต่ว่าในขณะที่ศึกษาอุปนิสสัยใจคอมนุษย์ พบคนจำพวกหนึ่งมีนิสสัยไม่ยอมลงหัวให้กับใครง่ายๆ ถ้าลงได้ปักใจทำอะไรแล้ว ก็มานะยึดจนถึงที่สุด ไม่ย่อท้อต่อภยันตรายใดๆ จึงทำให้เกิดความคิดต่อไปว่า ถ้าบุคคลจำพวกนี้ต้องเผชิญหน้ากันเข้าเมื่อใด จะต้องหักลงทั้งสองฝ่าย เพราะแข็งต่อแข็งเข้าหากัน ครั้นแล้วจึงสร้างตัวละครอุปนิสสัยเช่นนี้ขึ้นสองนาย ให้ต่อสู้กัน ในที่สุดก็กลายเป็นคน “หัก” ด้วยกันทั้งคู่
ฝ่ายผู้วิจารณ์ที่ปรีชาด้อยกว่าผู้แต่ง มักกลายเป็นตัวอย่างของสุภาษิตวานรได้แก้ว ขอยกให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านตัดสินว่า คนที่เขียนเรื่องนี้ควรจัดให้เข้าอยู่ในประเภทใด
เรื่อง ผู้ดี นี้นับเนื่องอยู่ในประเภทหนังสือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า โนเวล ชื่อในพากย์ไทยมีมากจนไม่รู้ที่จะเลือกเรียกตามชื่อไหน เรียกกันดาษๆว่า เรื่องอ่านเล่น แต่ชื่อนี้ชวนให้ฉงน โนเวลนั้นบางทีเขาแต่งให้อ่านจริงๆก็มี ดังโนเวลใหม่ๆ ของฝรั่งชั้นที่เขาถือกันว่าดี มักเป็นเรื่องแต่งให้อ่านจริงแทบทั้งสิ้น สำหรับเรื่อง ผู้ดี นี้จะสงเคราะห์เข้าในประเภทอ่านเล่นไม่ได้ เข้าใจว่าผู้แต่งมุ่งหมายให้อ่านจริง เพียงแต่ภาพที่หน้าปกก็พูดได้เป็นภาษาว่า “ลักษณะการเป็นผู้ดีอยู่ที่กรีดนิ้วกรุยกรายหรือ?” เมื่อเปิดอ่านข้างในจบ ก็จะได้คำตอบว่า “หามิได้” และหนังสือเล่มนี้ชี้แจงแก่เราอย่างละเอียว่า “ผู้ดี” แท้นั้นคืออย่างไร เมื่อเรื่องนี้เป็นไปในทางสั่งสอน ชื่อว่าเรื่องอ่านเล่นเป็นอันใช้ไม่ได้
ทำนองเดียวกับเรื่องอื่นของผู้แต่งคนเดียวกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องในวงสังคมของคนไทยชั้นสูงด้วยศักดิ์ ด้วยตระกูลและด้วยทรัพย์ เป็นพฤติการณ์ของครอบครัวที่หนักแน่นอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณี “ผู้ดีไทย” และในขณะเดียวกัน ก็ต้อนรับความเป็นอยู่เยี่ยงผู้ดีอัษฎงคตวิสัยเข้าไว้ด้วยตามแบบของ “แกงบวน” การบรรยายสภาพวงสังคมชั้นนี้ให้กระจ่างและละเอียดละออ ดูเหมือนไม่มีนักเขียนคนใดทำได้ดีเกิน “ดอกไม้สด” ในฐานะที่นักเขียนผู้นี้ในชีวิตจริงเป็น “คนหนึ่ง” ในวงสังคมชั้นนั้นจึงเห็นพฤติการณ์ได้อย่างใกล้ชิด ประกอบกับบัณฑิตของศิลปินอันมีอยู่ในตัว การบรรยายจึงชัดเจนแจ่มแจ้ง สามารถทำให้ผู้อ่านรู้สึกประหนึ่งว่าได้เข้าไปเห็นเหตุการณ์ด้วยตาเอง
ในเรื่องนี้ผู้ประพันธ์นำให้เรารู้จัก วิมล ธิดาคนใหญ่ของพระยาอมรรัตน์ฯ หญิงสาวผู้สมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติและคุณสมบัติ ความยุ่งยากในครอบครัวของท่านเจ้าคุณบิดาผู้มากภริยาสอนให้วิมลเป็นคนรู้คิดมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยสาวน้อย การมีภริยามากแต่ขาดความสามัคคีปรองดองทำให้เกิดการบ้านแตกสาแหรกขาดขึ้น แม้ในสมัยที่พระยาอมรรัตน์ฯ ยังมีชีวิตอยู่ เอกภริยาทั้งสอง คือ คุณวง มารดาบังเกิดเกล้าของวิมล และคุณแสมารดาเลี้ยงผู้รักวิมลดังดวงใจ ต่างก็ร้างบ้านไปหาความสงบอยู่ตามลำพัง ครั้นท่านบิดาสิ้นบุญลง วิมลก็ต้องรับภาระ “บ้าน” อันหนักและใหญ่หลวงไว้บนบ่าอันแบบบาง มรดกที่เจ้าคุณบิดาทิ้งไว้ให้น้อยแทบไม่น่าเชื่อ เมื่อเทียบกับความโอ่โถงขณะยังมีชีวิตอยู่ วิมลจะต้องดูแลและปกครองบ้านแทนพี่ชายผู้กำลังศึกษาวิชาอยู่ที่ต่างประเทศ ความจำเป็นทางการเงินทำให้วิมลหักหาญทำการเด็ดเดี่ยวเพื่อเห็นแก่อนาคตอันรุ่งเรืองของพี่ชาย และความมั่นคงของครอบครัว จัดการบรรจุศพบิดาในวันบำเพ็ญกุศล 7 วันหลัง ย้ายจากตึกหลังใหญ่ไปสู่เรือนน้อย เพื่อรับประโยชน์ที่จะได้จากการให้เช่าตึก ระบายคนใช้ออกจากความคุ้มครอง ตัดรายจ่ายที่เกินจำเป็นโดยสิ้นเชิง ทำงานบางสิ่งด้วยมือเอง จนที่สุดลดตัวลงรับจ้างทำงานฝีมือเล็กๆน้อยๆ
การกระทำอย่างหักหาญและเด็ดเดี่ยว อันไม่ต้องกับประเพณีนิยม ปราศจากการรอฟังคำทักท้วงติเตียนจากภายนอก ทำความขมขื่นและบาดหมางให้บุคคลที่ไม่สามารถเข้าใจและไม่ยอมเข้าใจการกระทำของวิมล มีคุณวง มารดาตัวเป็นอาทิ และยังมี พระบริบาลฯ ผู้เป็นอา นางพร้อม อนุภริยาของท่านบิดา มาลีน้องสาวต่างมารดา ตลอดจนถึงคุณหญิงบริหารฯ ผู้เคยมุ่งหมายจะได้วิมลไปเป็นศรีสะใภ้ เป็นปริโยสาน
แต่ยังมีบุคคลอีกหมู่หนึ่งแลเห็นความจำเป็นของวิมล และฝักใฝ่เข้าช่วยเหลือปลดเปลื้องความลำบากทั้งทางกายและทางใจให้ บุคคลหมู่นี้ได้แก่ คุณแส มารดาเลี้ยงผู้เปี่ยมด้วยคุณความดี มาณพน้องรองจากมาลี และอุดม หลานชายคุณแสผู้รักวิมลจนสุดใจ
โครงเรื่องแบ่งเป็น 2 ตอนอย่างจะแจ้ง จากความสมบูรณ์พูลสุขมาสู่ความวิปปโยคนี้จัดเป็นครึ่งแรก หลังจากการปั่นป่วนครั้งใหญ่นี้ไปจนจบเป็นครึ่งหลัง ในครึ่งหลังนี้เราต้องติดตามดูความสามารถของวิมล ผู้ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่สี่ประการ และเป็นภาระโดยตรงของวิมลที่จะต้องแก้ไข หนึ่งจะต้องออมทรัพย์ไว้เป็นกำลังให้พี่ชายได้เรียนจนสำเร็จ สองจะต้องปัดเป่าข้อครหาอันเกี่ยวกับมาลี และจัดการให้การสัมพันธ์ของมาลีและนายจรูญเป็นไปตามประเพณีนิยม สามจะต้องจูงมาณพออกจากบ่วงภัยอันเกิดแต่ความหนุ่มคะนอง และสี่จะต้องสู้ความกับนางพร้อมผู้ฟ้องร้องขอสิทธิปกครองลูกทั้งสองที่ยังเล็ก ในขณะที่ปัญหานอกตัวยังสับสนอลเวงอยู่นี้ วิมลยังได้รับความโทมนัสใจอีกอย่างสุดซึ้ง เนื่องจากการตายของอุดม ชายคู่หมั้นผู้แสนจงรักภักดี คอยช่วยเหลือในคราวยาก นอกจากคุณแสอีกผู้หนึ่ง วิมลก็เท่ากับตัวคนเดียว และลำพังตัวคนเดียวนี้ วิมลจะสามารถปัดเป่าความยุ่งยากทั้งหมดให้พ้นไปได้ละหรือ ?
ความจำเป็นที่จะต้องทำให้ปัญหาผ่านพ้นไปด้วยดีนั้นเอง ทำให้โครงเรื่องตอนหลังนี้อ่อนไป ในตอนต้นผู้แต่งสามารถดำเนินเค้าเรื่องเป็นอย่างดี จากกรณีย์แวดล้อมผูกปัญหาขึ้นรัดวิมลเป็นเปลาะๆไป แต่เมื่อรัดจนวิมลเกือบจะหายใจไม่ออก ชะรอยจะสงสารวิมลขึ้นมา จึงแทนที่จะค่อยๆ คลายปัญหาด้วยวิธีฉลาดดังเมื่อขมวดขึ้น กลับใช้มีดคมตัดทีเดียวขาดตลอด มีดคมที่ผู้แต่งนำมาใช้นี้คือ พระยาพลวัตฯ เจ้าคุณหนุ่มผู้ใจอารีย์ การกระทำของพระยาพลวัตฯ แม้จะไม่เกินจริง ก็กล่าวได้ว่าผู้บำเพ็ญกรณีย์นั้นเป็นคนดีจนแทบไม่น่าเชื่อ และความดีของพระยาพลวัตฯ นั้นเองที่ทำให้ความดีของเรื่องอ่อนไป
วิเคราะห์โครงเรื่องแล้ว ไม่เห็นสิ่งใดใหม่หรือปัญหาชวนคิดชวนขบ เป็นเรื่องพื้นบ้านธรรมดา แสดงชีวิตของครอบครัวแห่งหนึ่งซึ่งมีหญิงสาวผู้หนึ่งเป็นบุคคลสำคัญ เป็นตัวแบบของ “ผู้ดี” เป็นศูนย์กลางที่โยงบุคคลอื่นเข้ามา การลำดับขั้นเรื่องอยู่ที่ฐานะการเปลี่ยนแปลงของวิมล เค้าเรื่องให้ความรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ “ยังมีต่อ” พระยาพลวัตฯได้ลงแรงไปแล้วอย่างมาก ผลตอบแทนจะต้องมีมาข้างหน้า คุณหญิงพลวัตฯ กำลังรอความตายจะมารับไปทุกขณะจิตต์ วิมลก็ร้างคู่หมั้น ผู้วิจารณ์รักที่จะทายว่า เมื่อพายุฝนผ่านไปแล้ว ในท่ามกลางแสงสว่างที่จะฉายมาใหม่จะเห็นวิมลกับพระยาพลวัตฯเดินเกี่ยวก้อยกันมาบนทางอันราบรื่น
แม้จะมิใช่เรื่องโลดโผน หนังสือเรื่องนี้ชวนอ่านและให้ความเพลิดเพลินเป็นอย่างดี เหตุหนึ่งของคุณสมบัติอันนี้อยู่ที่การบรรยายลักษณะและอุปนิสสัยของบุคคลในท้องเรื่อง ซึ่งผู้แต่งทำได้อย่างงดงาม ตัวละครแทบทุกตัวมีลักษณะพิเศษประจำที่ทำให้ตัวเป็นตัวเอง เป็นบุคคลคนหนึ่งเหมือนหนึ่งดังในชีวิตจริง ถ้าเราปิดหนังสือ แล้วมองดูบุคคลในชีวิตจริง จะเห็นคนเช่น “นางพร้อม” “สุดใจ” “คุณวง” และ “คุณหญิงบริหารฯ” อยู่ทุกหนทุกแห่ง ถึงบุคคลที่ยกมา กล่าวจะไม่ใช่ตัวละครสำคัญ ความสามารถที่บรรยายให้เกิดความรู้สึกว่าตัวละครเหล่านี้คือ “คนจริงๆ” เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องของวิมล วิมลจึงเป็นบุคคลสำคัญที่สุด วิมลเป็นคนสวย สุภาพ สง่าในการวางตัว รู้รักษาตัว ไว้ตน สมศักดิ์สมตระกูล ฉลาดหลักแหลม ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ความรักของวิมลที่มีต่อบิดาและคุณแสนั้นอ่อนหวาน ซาบซึ้ง น่าปราณี การอบรมที่ดี ประกอบกับปัญญาความฉลาดในตนช่วยให้วิมลมีตาสว่างในสิ่งทั้งปวง ตามธรรมดาคนฉลาดมักไม่ใคร่ปราณีคนโง่ วิมลเป็นคนฉลาดที่ไม่สู้น่าชมในข้อนี้ และด้วยความฉลาดทำให้วิมลออกจะ “แข็ง” ไป กับคนเขลา หล่อนยิ้มอย่างเยาะ ไม่มีความปราณีเจือปนอยู่เลย คุณหญิงบริหาร ฯ นายจงรัก และ สุดใจ เป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในข้อนี้
คุณแสนั้นคือ แม่พิมพ์ของวิมล จะเพี้ยนกันก็ตรงที่วัยวุฒิได้ช่วยกล่อมเกลาอุปนิสสัยของคุณแสให้สุขุมลึกซึ้งกว่าวิมลผู้มีเลือดสาวเต็มตัวเท่านั้น
ตัวพระยาพลวัตฯสรุปลงได้ว่าเป็นคนดีแสนดี การที่ตัวละครผู้นี้แทรกเข้ามา ทำให้เกิดผลอย่างไรนั้น ได้กล่าวมาแต่ต้นแล้ว
อุดม เป็นชายหนุ่มเลือดร้อน ฉลาด รักจริง ทำจริง น่าเสียดายที่ผู้แต่งจงใจให้อายุสั้นไปสักหน่อย อันที่จริง อุดมยังไม่น่า “ถึงที่ตาย” เรารู้ไม่ได้ว่าการตายของอุดมจะมีผลในเล่มต่อไปอย่างใด ถ้าในตอนนั้น อุดมยังอยู่ ก็รังแต่จะเป็นเครื่องกีดขวางการดำเนินเรื่อง อุดมก็ควรตายเสียในเล่มนี้ถูกแล้ว เพื่อความสะดวกของผู้แต่งในภายหน้า
เรื่อง ผู้ดี นี้ กินหน้าหนังสือถึง 750 กว่าหน้า ทั้งๆ ที่ไม่มีเรื่องราวอะไรนัก ทั้งนี้เป็นด้วยความสามารถของผู้แต่งในเชิงบรรยายเกร็ดเล็กๆน้อยๆที่ชวนอ่านชวนเพลิน ดังคำบรรยายเรื่องความเป็นไปในครอบครัวของคุณมงคล (พระยาอมรรัตน์ฯ) เรื่องของเอกภริยาและอนุภริยา และเรื่องของข้าเก่าบ่าวเลี้ยง หรือคำบรรยายพิธีอาบน้ำศพอย่างละเอียด จริงอยู่สิ่งเหล่านี้ไม่มีส่วนเกี่ยวกับการดำเนินเรื่อง แต่ช่วยปรุงรสการแต่งให้ดีขึ้น และทำให้เรื่องเหมือนจริงมากขึ้น “เกร็ด” ต่างๆ ทำนองนี้เราพบเสมอในหนังสือเล่มอื่นของผู้แต่งคนเดียวกัน “เกร็ด” นี้เองที่ช่วยให้หนังสือของ “ดอกไม้สด” มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ และเป็นที่นิยมแพร่หลาย
สิ่งที่ชวนอ่านอีกอย่างหนึ่งคือบทพูดในท้องเรื่อง ซึ่งได้ลักษณะเหมาะสมกับอุปนิสัยของบุคคลผู้พูด เราจะรู้สึกเหมือนว่าผู้แต่งสร้างตัวละครขึ้นแล้วปล่อยให้พูดไปตามอุปนิสสัยจะชักนำไป หาใช่แต่ผู้แต่งพูดให้ตัวละครไม่ บทพูดของบุคคลที่มีปฏิภาณและอารมณ์เยี่ยงอย่างพระยาอมรรัตน์ฯ ก็เต็มไปด้วย ข้อขำ และคำคม หรือตัวละครอย่างสุดใจ ก็ย่อมพูดเหน็บแนมแกมกล ตามประสาผู้มีอารมณ์ขุ่นมัวเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา
ในเชิงการบรรยายความเป็นไปแห่งชีวิต การระบายความรู้สึกของบุคคลในเรื่อง จะเป็นเกี่ยวกับความรู้สึกทั่วไป หรือความรู้สึกอันละเอียดลึกซึ้งของหัวใจ หรือการวาดอุปนิสัยใจคอคนให้เห็นเด่นชัด นับว่า “ดอกไม้สด” ไม่แพ้นักเขียนอื่นๆที่สามารถในเชิงนี้ นักเขียนที่คิดอย่างไร หรือสังเกตการใดมาแล้ว ระบายความคิดและการสังเกตออกมาให้ผู้อื่นได้พลอยรู้พลอยเห็นด้วยได้ตรงตามความต้องการของตน ย่อมจัดว่าเป็นศิลปินในทางประพันธ์ ลักษณะอันนี้มีอยู่ในหนังสือทุกเล่มที่ “ดอกไม้สด” สร้างขึ้นไว้
ที่ว่าหนังสือ ผู้ดี เป็นเรื่องอ่านจริง เพราะผู้แต่งมุ่งสอนธรรม และจรรยาความประพฤติไว้อย่างเด่นชัด ในการสนทนากับผู้รู้คนหนึ่ง ผู้วิจารณ์ติดใจในคำพูดที่เขากล่าวว่า “ดอกไม้สด” คือนักเทศน์นอกธรรมาสน์เราดีๆนี่เอง ข้อนี้ตรงใจผู้วิจารณ์ที่สุด หนังสือทุกเล่มของ “ดอกไม้สด” มักมีอรรถาธิบายข้อธรรมในพระศาสนาเข้าแฝงฝังอยู่ด้วย แต่เรื่องที่นำมาประกอบอรรถาธิบายหาใช่เรื่องชาดกในสมุดใบลานหรือกระดาษข่อยไม่ หากเป็นชาดกสมัยใหม่ ตัวบุคคลในชาดกคือคนในสมัยเราท่าน ยิ่งใน ผู้ดี นี้ด้วยแล้ว ทุกขึ้นต้นบทใหม่ย่อมมีข้อธรรมประจำบท และเรื่องราวที่บรรยายในบทนั้นก็คือเรียงความกระทู้ธรรมกลาย ๆ เช่นบทที่หนึ่ง นรชนผู้มักโกรธและมีความลบหลู่อย่างบาป ฯลฯ ได้แก่นางสาวสุดใจ ในเรื่องต่างๆของ“ดอกไม้สด” บุคคลที่จะสำเร็จผลในปลายมือ ล้วนเป็นผู้อยู่ในธรรมและปฏิบัติธรรม ดังหลวงอรรถฯใน หนึ่งในร้อย หลวงนฤบาล ฯ ใน ชัยชะนะของหลวงนฤบาล และ นิจ เป็นตัวอย่าง กล่าวได้ว่าในหนังสือของ “ดอกไม้สด” ธรรม ชะนะ อธรรม เสมอไป ตัวละครเอกของ “ดอกไม้สด” คือ บุคคลในอุดมคติทางธรรมปฏิบัติของผู้แต่งนั่นเอง โดยมากคนดีของ “ดอกไม้สด” จึงเป็นคนดีเอามากๆ จนแทบไม่น่าเชื่อ “ดอกไม้สด” ต่างกับนักเทศน์บนธรรมาสน์ก็ตรงที่ ผู้ฟังไม่ต้องนั่งพนมมือฟัง และถวายดอกไม้ธูปเทียน หลังอาหารหรือยามว่างการงาน จะนอน นั่ง หรือเอกเขนก ก็ฟังได้ทั้งสิ้น ในที่นี้ผู้แต่งสอนถึงเรื่องการเป็นผู้ดีแท้ ผู้ที่เป็นตัวอย่างของผู้ดี ได้แก่ คุณแส วิมล พระยาพลวัตฯ เป็นต้น ตอนหนึ่งผู้เขียนกล่าวความเห็นเรื่องผู้ดีไว้ดังนี้
“การมีกำเนิดดีหนึ่ง การได้รับการอบรมและการศึกษาดีถึงขนาดหนึ่ง หาใช่สิ่งไร้ประโยชน์ดังบุคคลบางจำพวกชอบกล่าว แท้จริงการมีกำเนิดดีเป็นปัจจัยให้บุคคลเป็นผู้ดีได้ง่ายขึ้น และการศึกษาช่วยให้บุคคลรู้จักว่าการเป็นผู้ดีนั้นคืออย่างไร”
ในทางขนบธรรมเนียมประเพณี “ดอกไม้สด” ออกจะแบบจัดอยู่สักหน่อย สตรีผู้แต่งหน้าด้วยสีมากเกินไปในเวลากลางวัน บุรุษผู้สวมรองเท้าหุ้มส้นไม่สวมถุงหรือสตรีที่สวมรองเท้าส้นสูงเปลือยน่องสวมเสื้อ “น้อย” ไปงานศพ หรือตลอดจนเครื่องภาชนะในการบริโภคที่ไม่ต้องชุดกัน เหล่านี้ไม่รอดพ้นการตำหนิไปได้เลย
“ดอกไม้สด” เขียนหนังสือขึ้นหลายเล่ม สร้างตัวละครที่ผู้อ่านไม่ใคร่ลืมได้ง่ายๆขึ้นหลายคน แต่ทุกเล่มเล่าแต่เรื่องในวงสังคมที่อยู่อย่างใกล้ชิด บุคคลที่สร้างขึ้นก็ได้แบบจากตัวจริงที่คุ้นเคยหรือรู้จักฉะเพาะในวงสังคมนั้น ดูสยามทั้งประเทศแล้ว วงสังคมของ “ดอกไม้สด” เป็นเพียงมุมเล็กๆมุมหนึ่ง หรือไม่ก็วงแคบๆ บุคคลในที่นั้นเป็นเพียงหยิบมือหนึ่งของคนทั้งประเทศ การศึกษา มารยาท ตลอดจนความเป็นอยู่ดังได้จากการบรรยายเรื่องราวของเขาเหล่านี้เป็นเพียงความศิวิลัยซ์ผิวๆ บางๆ ที่ลอยอยู่เหนือความขรุขระของพื้นที่อันไพศาลภายนอกสังคมนั้น ถึงอย่างไรก็อดกล่าวมิได้ว่า ภายในวงแคบๆ นั้นเอง สมองอันเฟื่องของผู้ประพันธ์ทำหน้าที่ดุจนายช่างชำนาญทอของธรรมชาติ ปั่นสายใยทบทวนให้เป็นข่ายมีลวดลายอันละเอียด เบาบาง และซับซ้อนเป็นที่น่าอัศจรรย์
25 พฤษภา. 81
ที่มา: นิลวรรณ ปิ่นทอง. “ผู้ดี”. มหาวิทยาลัย. เล่มที่ 16 ฉบับที่ 1 (กันยายน 2481) : 227–234.
หมายเหตุ: สะกดการันต์ตามต้นฉบับเดิม
บทวิเคราะห์
การริเริ่มสอนวิชาวรรณคดีวิจารณ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในราว พ.ศ. 2480 เป็นการสร้างพื้นฐานความรู้แก่นิสิตในเรื่องทฤษฎีวรรณคดีและหลักเกณฑ์การวิจารณ์วรรณคดีตามแนวของตะวันตก ดังนั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2481 หนังสือ มหาวิทยาลัย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้ลงพิมพ์บทความวิจารณ์นวนิยายของนิสิตหลายบท อันแสดงให้เห็นว่าการวิจารณ์วรรณกรรมได้ก้าวหน้าจากแบบฝึกหัดในชั้นเรียนมาสู่งานเขียนที่เผยแพร่สู่สาธารณะมากขึ้น
นิลวรรณ ปิ่นทอง นิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ในระยะเวลาต่อมาได้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารสตรีสารรายปักษ์ อันเป็นนิตยสารที่มีคุณค่าสาระเป็นที่ยอมรับในหมู่นักอ่านทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับความรู้ ยาวนานกว่า 40 ปี ก่อนจะปิดตัวไป การอุทิศตนทำงานเพื่อประโยชน์แก่สังคมอย่างจริงจังในด้านภาษา วรรณกรรม และสื่อมวลชน ทำให้นิลวรรณ ปิ่นทอง ได้รับการยกย่องและได้รับรางวัลมากมาย เช่น ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า อันทำให้ได้รับคำหน้าชื่อว่า “คุณ” ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน และได้รับรางวัลพระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
ในฐานะบรรณาธิการ และผู้รอบรู้ทางภาษาไทยและวรรณกรรมทั้งไทยและเทศอย่างสูงคนหนึ่ง คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ได้แสดงทัศนะวิจารณ์เกี่ยวกับวรรณกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่เสมอ เป็นที่น่าเสียดายว่าส่วนใหญ่จะเป็นการวิจารณ์โดยวาจามากกว่าจะเป็นข้อเขียนที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ผู้มีโอกาสได้ฟังและได้อ่านทัศนะวิจารณ์ของคุณนิลวรรณ จะรู้สึกได้ชัดว่าเป็นทัศนะวิจารณ์ที่มีพลังแรง เฉียบคม มีประสบการณ์และความรอบรู้อย่างยิ่ง
บทวิจารณ์นวนิยายเรื่อง ผู้ดี ของ “ดอกไม้สด” อันเป็นนามปากกาของ ม.ล. บุปผา นิมมานเหมินทร์ เป็นบทวิจารณ์เมื่อคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ยังเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ ปี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ถึงแม้ว่าผู้วิจารณ์ยังอยู่ในวัยเยาว์ ผู้อ่านก็สามารถสัมผัสได้ถึงพลังความคิดอันหนักแน่น ชัดเจน เพราะผู้วิจารณ์ยึดมั่นในมโนทัศน์หลัก ๆ ที่ตั้งไว้ นั่นคือ พินิจพิเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ ของนวนิยายเรื่องนี้อย่างละเอียด ลึกซึ้ง มีเหตุผลและวิจารณญาณ อันชวนให้ผู้อ่านคนอื่นวิเคราะห์ตาม
ผู้วิจารณ์ชี้ให้เห็นว่านวนิยายเรื่อง ผู้ดี ซึ่งจัดอยู่ในประเภทหนังสือที่ฝรั่งเรียกว่า โนเวล มิใช่ “เรื่องอ่านเล่น” อย่างที่เรียกขานกัน หากแต่เป็น “หนังสืออ่านจริง” เพราะนอกเหนือจากความเพลินเพลินอ่านสนุกแล้ว นวนิยายเล่มนี้ยังให้ข้อคิดแก่ผู้อ่านในเรื่องชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นนวนิยายที่ “มุ่งสอนธรรมและจรรยาความประพฤติไว้อย่างเด่นชัด” เรื่อง ผู้ดี จะมีข้อธรรมประจำบทเมื่อขึ้นบทใหม่ทุกครั้ง และเนื้อหาในแต่ละบทจะสอดคล้องกับหัวข้อประจำบทราวกับเป็นการอธิบายกระทู้ธรรม นอกจากเรื่อง ผู้ดี แล้ว ผู้วิจารณ์ยังสรุปว่า “ดอกไม้สด” แฝงการอรรถาธิบายข้อธรรมไว้ในนวนิยายทุกเรื่อง จนมีผู้กล่าวว่า “ดอกไม้สด” เป็น “นักเทศน์นอกธรรมาสน์” นวนิยายของ “ดอกไม้สด” จึงมีแก่นความคิดว่า “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” และตัวละครฝ่ายดีของ “ดอกไม้สด” จะเป็นบุคคลอุดมคติทางธรรมอย่างชัดเจน การสรุปเช่นนี้เท่ากับว่าผู้วิจารณ์ประเมินคุณค่าโดดเด่นของนวนิยายของ “ดอกไม้สด” ในฐานะเป็นวรรณกรรมเชิงสั่งสอน (didactic literature)ข้อสรุปนี้ไม่ได้ผิดไปจากความจริงแต่อย่างใด เพราะการให้นวนิยายเป็นอุทาหรณ์สอนชีวิตด้วยหลักธรรมเป็นจุดประสงค์ของผู้แต่งที่แสดงไว้ชัดเจน
จุดเด่นอย่างยิ่งของบทวิจารณ์นี้อยู่ที่ความสามารถในการชี้ข้อบกพร่องหลายประการของนวนิยายเรื่องนี้ด้วยภาษาที่สละสลวย สุภาพ และมีพลัง แต่แฝงน้ำเสียงของการเสียดสีไว้อย่างแนบเนียน เช่น ผู้วิจารณ์มีความเห็นว่าการวางโครงเรื่อง “อ่อน” ไป ก็กล่าวโดยใช้ความเปรียบเทียบว่า “ในตอนต้นผู้แต่งสามารถดำเนินเค้าเรื่องเป็นอย่างดี จากกรณีย์แวดล้อมผูกปัญหาขึ้นรัดวิมลเป็นเปลาะๆ ไป แต่เมื่อรัดจนวิมลเกือบจะหายใจไม่ออก ชะรอยจะสงสารวิมลขึ้นมา จึงแทนที่จะค่อย ๆ คลายปัญหาด้วยวิธีฉลาดดังเมื่อขมวดขึ้น กลับใช้มีดคมตัดทีเดียวขาดตลอด มีดคมที่ผู้แต่งนำมาใช้คือ พระยาพลวัตฯ เจ้าคุณหนุ่มผู้ใจอารีย์” นอกจากนี้ยังวิจารณ์การสร้างตัวละครบางตัว เช่น “การกระทำของพระยาพลวัตฯ แม้จะไม่เกินจริง ก็กล่าวได้ว่าผู้บำเพ็ญกรณีย์เป็นคนดีจนแทบไม่น่าเชื่อ และความดีของพระยาพลวัตฯ นั้นเองทำให้ความดีของเรื่องอ่อนไป” และ “ธรรมดาคนฉลาดมักไม่ใคร่ปราณีคนโง่ วิมลเป็นคนฉลาดที่ไม่สู้น่าชมในข้อนี้ และด้วยความฉลาดทำให้วิมลออกจะ “แข็ง” ไป กับคนเขลา หล่อนยิ้มอย่างเยาะ ไม่มีความปราณีเจือปนอยู่เลย คุณหญิงบริหารฯ นายจงรัก และสุดใจ เป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในข้อนี้”
การแฝงน้ำเสียงเสียดสีเช่นนี้ ทำให้ผู้วิจารณ์มีจุดอ่อนเหมือนกัน เมื่อวิจารณ์เกินกว่าตัวบท และวิพากษ์สิ่งที่นักเขียนยังไม่ได้เขียน ดังเช่นที่กล่าวถึงอุดม คนรักของวิมลว่า “อุดมเป็นชายหนุ่มเลือดร้อน ฉลาด รักจริง ทำจริง น่าเสียดายที่ผู้แต่งจงใจให้อายุสั้นไปสักหน่อย อันที่จริง อุดมยังไม่น่า “ถึงที่ตาย” เรารู้ไม่ได้ว่าการตายของอุดมจะมีผลไปในเล่มต่อไปอย่างใด ถ้าในต่อไปนั้น อุดมยังอยู่ ก็รังแต่จะเป็นเครื่องกีดขวางการดำเนินเรื่อง อุดมควรตายเสียในเล่มนี้ถูกแล้ว เพื่อความสะดวกของผู้แต่งภายหน้า” อันที่จริง ผู้วิจารณ์และผู้อ่านทั่วไปก็คงคิดตรงกันว่า แม้อุดมจะเป็นคนดีมากอย่างไร อุดมก็จำเป็นต้องจบชีวิตลงด้วยประกาศิตของผู้ประพันธ์ เพราะอุดมไม่ใช่พระเอกของวิมล และผู้ประพันธ์อาจไม่มีแผนการเขียนภาค 2 ของ นวนิยายเรื่องนี้ดังที่ผู้วิจารณ์คาดการณ์ไว้
ผู้วิจารณ์มักใช้วิธีกล่าวติติงข้อด้อยของนวนิยายเรื่อง ผู้ดี ไปพร้อมกับกล่าวชมจุดเด่นของเรื่อง วิธีการเช่นนี้น่าจะทำให้ผู้เขียนปลาบปลื้มกับคำชมยืดยาวนั้นจนคลายความฉุนโกรธข้อตำหนิตรงไปตรงมาตอนเริ่มต้นประโยค เช่น ข้อความที่ว่า “เรื่อง “ผู้ดี” กินหน้าหนังสือถึง 750 หน้า ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเรื่องราวอะไรนัก ทั้งนี้เป็นด้วยความสามารถของผู้แต่งในเชิงบรรยายเกร็ดเล็ก ๆ น้อยๆ ที่ชวนอ่านชวนเพลิน …..“เกร็ด” เหล่านี้เองที่ช่วยให้หนังสือของ “ดอกไม้สด” มีลักษณะเด่นพิเศษ และเป็นที่นิยมแพร่หลาย” และอีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้วิจารณ์แสดงความเห็นว่า โครงเรื่องไม่มีสิ่งใดใหม่หรือมีปัญหาชวนขบคิด แต่ในย่อหน้าเดียวกัน ผู้วิจารณ์กล่าวว่า แม้เค้าเรื่องจะทิ้งค้างให้รู้สึกว่า “ยังมีต่อ” แต่ผู้อ่านสามารถคาดเดาได้ว่าชีวิตรักของตัวละครในนวนิยายเรื่องนี้จะลงเอยด้วยดีมีความสุข คำวิจารณ์เชิงประชดน้อย ๆ เช่นนี้ก็ยังเป็นการเลือกมุมมองแง่ดีว่านวนิยายเรื่องนี้ทิ้งความประทับใจที่ดีและมีความหวังไว้แก่ผู้อ่าน คำชมที่คมคายนี้น่าจะสร้างความรู้สึกที่ดีแก่นักเขียนไปพร้อมกัน ถ้าว่าถึงข้อดีของนวนิยายเรื่องนี้ ผู้วิจารณ์แสดงความเห็นไว้ไม่น้อยเช่นกัน โดยชี้ให้เห็นว่าคุณสมบัติดีเด่นของนวนิยายเรื่องนี้ และเรื่องอื่น ๆ ของ “ดอกไม้สด” คือ การสร้างตัวละคร ด้วยการบรรยายของผู้เขียน และด้วยการใช้บทสนทนาที่สอดคล้องกับบุคลิกอุปนิสัยของตัวละคร ผู้เขียนสามารถสร้างให้ตัวละครทุกตัวมีลักษณะพิเศษ มีความเป็นตัวของตัวเอง จนผู้อ่านรู้สึกว่าตัวละครเหล่านั้นเป็น “คนจริง ๆ”เป็นภาพจำลองของผู้คนที่เราพบเห็นได้ในชีวิตและในสังคมทั่วไป
ผู้วิจารณ์ไม่ถึงกับใช้ลักษณะวิจารณ์แบบ “ตบหัวแล้วลูบหลัง” เพราะเมื่อพินิจพิเคราะห์แล้วก็จะเห็นว่าผู้วิจารณ์สามารถวิพากษ์ทั้งจุดดีและจุดด้อยอย่างมีเหตุผล และจริงใจ มิใช่การป้อยอเพื่อลดพลังความคิดของนักวิจารณ์ที่ต้องการชี้ข้อบกพร่องอันพึงมีในงานเขียนให้อ่อนแรงลง และไม่ใช่การเสียดสีด่าว่าอย่างต้องการให้ผู้เขียนสะเทือนใจ การชื่นชมจุดดีเด่นในวรรณกรรมไปพร้อมกับการติเตียนจุดบกพร่อง เป็นการให้กำลังใจแก่นักเขียน จูงใจให้นักเขียนพอใจทัศนะของนักวิจารณ์จนไม่ปฏิเสธข้อติติงต่าง ๆ ที่นักวิจารณ์เสนอไว้
หลังจากวิเคราะห์วิจารณ์องค์ประกอบของนวนิยายเรื่อง ผู้ดี แล้ว ผู้วิจารณ์จบการวิจารณ์ด้วยการแสดงความเห็นว่านวนิยายเรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนของสังคมคนกลุ่มเล็ก ๆ ของประเทศ ที่ “เป็นเพียงความศิวิลัยซ์ผิวๆ บางๆ ที่ลอยอยู่เหนือความขรุขระของพื้นที่อันไพศาลภายนอกสังคม ถึงอย่างไรก็อดกล่าวไม่ได้ว่า ภายในวงแคบๆ นั้นเอง สมองอันเฟื่องของผู้ประพันธ์ทำหน้าที่ดุจนายช่างชำนาญทอของธรรมชาติ ปั่นสายใยทบทวนให้เป็นข่ายมีลวดลายอันละเอียดเบาบาง และซับซ้อนเป็นที่น่าอัศจรรย์” ข้อความวิจารณ์ด้วยโวหารภาษาที่ไพเราะเพราะพริ้งที่ยกมาข้างต้น รวมทั้งข้อความอื่น ๆ อีกบางตอนในบทวิจารณ์ แสดงจุดยืนทางความคิดของผู้วิจารณ์อย่างชัดเจนว่า แม้ผู้วิจารณ์จะชื่นชมในฝีมือทางวรรณศิลป์ของ “ดอกไม้สด” แต่ผู้วิจารณ์ก็เห็นว่าผู้เขียนทำได้เพียงสะท้อนภาพสังคมของคนชั้นสูงที่ตนเป็นสมาชิกอยู่เท่านั้น แต่ไม่อาจรู้เห็น เข้าใจ สังคมของคนส่วนใหญ่ที่กว้างขวางไปกว่านี้ได้มากนัก ในช่วง พ.ศ. 2480 กระแสความคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อชีวิต” ยังไม่แพร่หลายจนกระทั่งอีก 10 ปีต่อมา การวิจารณ์วรรณกรรมแนวสังคมเพิ่งจะปรากฏให้เห็นอย่างจริงจังในทศวรรษหลัง จึงน่าชื่มชมว่าทัศนะวิจารณ์ของคุณนิลวรรณล้ำหน้าเกินกว่ายุคสมัย สะท้อนว่านิสิตมหาวิทยาลัยในยุคนี้มีวุฒิภาวะสูงทีเดียว
เมื่ออ่านบทวิจารณ์นี้ จะเห็นได้ว่า คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง มิได้มุ่งเน้นเฉพาะการวิจารณ์ข้อดีข้อด้อยในด้านองค์ประกอบของนวนิยายเรื่องผู้ดี อันได้แก่ โครงเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา บริบททางสังคมและวัฒนธรรม คติข้อคิด และทัศนะของผู้แต่งเท่านั้น อันที่จริง บทวิจารณ์นี้เริ่มต้นด้วยการ “วิพากษ์วิจารณ์นักวิจารณ์” อันเป็นประเด็นที่ล่อแหลมรุนแรงไม่น้อย เพียงแค่ย่อหน้าแรกของบทวิจารณ์นี้ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าผู้วิจารณ์แสดงความเห็นอย่างเฉียบคมและเข้มข้น ว่าการที่นักวิจารณ์ใช้ “อัตตา” ของตนในการวิจารณ์เป็นอันตรายอย่างยิ่ง ความ “เขื่อง” หรือความ “โข่ง” ของนักวิจารณ์ล้วนไม่มีประโยชน์อันใดต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะ นอกเสียจากเป็นการอวดความโง่หรืออวดความฉลาดของนักวิจารณ์ นอกจากนี้ คุณนิลวรรณ ยังมีความเห็นว่านักวิจารณ์ที่ “คิดไกล” เกินกว่านักเขียน ก็อาจทำให้การวิจารณ์ “หลงทาง” ทำนองเดียวกันนักวิจารณ์ที่ “คิดน้อย” กว่านักเขียนก็สร้างวาทกรรมที่ไร้ประโยชน์
ข้อความในสองย่อหน้าแรกของบทวิจารณ์นี้มีพลังในการกระตุ้นให้ผู้อ่านครุ่นคิดพินิจนึกและตระหนักถึงคุณสมบัติและการกำหนดบทบาทหน้าที่และท่าทีของนักวิจารณ์ในขณะที่ทำงานวิจารณ์อย่างลึกซึ้งทีเดียว ประเด็นเรื่องอันตรายของนักวิจารณ์ที่อวด “ความเขื่อง” ด้วยความห้าวหาญ เป็นประเด็นนักวิจารณ์พึงรับฟังและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ส่วนประเด็นเรื่องนักวิจารณ์ไม่ควร “คิดเกิน” จุดประสงค์ของผู้แต่งนั้น เป็นเรื่องที่น่าถกเถียง เพราะ “วรรณกรรมนั้น เมื่อผู้แต่งได้ตัดสินใจที่จะให้เผยแพร่แล้ว ก็หาเป็นสมบัติของผู้แต่งต่อไปไม่ แต่ได้กลายเป็นสมบัติของผู้อ่านไป”[1] ดังนั้น ผู้อ่านจึงไม่จำเป็นต้องคิดอย่างเดียวกันกับผู้เขียน หากแต่มีสิทธิ์ที่จะตีความวรรณกรรมด้วยเสรีภาพทางปัญญาอย่างมีเหตุผลและวิจารณญาณ
ด้วยทัศนะวิจารณ์ที่ห้าวหาญ เข้มคม สื่อด้วยภาษาที่คมคาย มีพลัง และสร้างสรรค์ บทวิจารณ์ของนิลวรรณ ปิ่นทอง ที่เลือกสรรมานี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งของบทวิจารณ์ที่เป็นพลังทางปัญญาแก่สังคม
รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ : ผู้วิเคราะห์
[1] เจตนา นาควัชระ , ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี, (พระนคร : สำนักพิมพ์ดวงกมล, 2521), หน้า 14.
บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาวรรณศิลป์
No Comment, the critics is perfect….If this is shown to public as The Drama ( ละครหลังข่าว 8:oo News) , who will be chosen to be 'Wimol '?
No Comment, the critics is perfect….If this is shown to public as The Drama ( ละครหลังข่าว 8:oo News) , who will be chosen to be 'Wimol '?