โคลงห้า…มรดกทางวรรณคดีไทย
โคลงห้า…มรดกทางวรรณคดีไทย
จิตร ภูมิศักดิ์
ในระยะสี่ห้าปีมานี้เอง งานวรรณกรรมทางด้านกาพย์กลอนของไทยเรารู้สึกว่าคึกคักและขยายตัวขึ้นมาก มี “นักกลอน“ ทั้งหนุ่มและสาวเกิดขึ้นมากมายทั้งที่เป็นเอกชน ทั้งที่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก และทั้งที่จัดตั้งกันขึ้นเป็นชมรมใหญ่ หนังสือรวมกลอนของนักกลอนกลุ่มต่างๆปรากฏออกสู่ตลาดอยู่เสมอ ปรากฏการณ์เหล่านี้กล่าวโดยทั่วไปแล้วก็เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ปลาบปลื้มยินดีและน่าจะได้รับการส่งเสริมให้ขยายตัวยิ่งๆขึ้นไป
รูปแบบของนักกาพย์กลอนที่นิยมเขียนกันมากในระยะนี้คือ “กลอนสุภาพ” หรือ “กลอนแปด” ซึ่งเขียนด้วยลีลาแบบสุนทรภู่บ้าง แบบใหม่ๆบ้าง การเขียน “กลอนแปด” กันมากนั้นก็ดีแน่เพราะเป็นรูปแบบที่ผู้อ่านเข้าใจง่าย (แต่มิใช่หมายความว่าเขียนได้ง่าย) แต่อย่างไรก็ดี เราก็น่าจะคิดเป็นห่วงกันบ้างว่า ถ้าเราระดมกันสนใจเขียนแต่กลอนแปดกันอยู่อย่างเดียว นานเข้าความรู้สึกซ้ำซากจำเจและเบื่อ ก็อาจเกิดขึ้นแก่วงผู้อ่านและอาจทำให้วงการกาพย์กลอนของไทยซึมเซาหรือล้มฟุบลงไปอีก ดังที่เคยเป็นมาแล้วระยะยาวภายหลังที่เกิดนวนิยายสมัยใหม่ขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก
ด้วยความรู้สึกหวาดหวั่นดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอเชิญชวนท่านนักกลอนทั้งหลายลองหันไปใช้รูปแบบคำประพันธ์อื่นดูบ้าง มรดกทางวรรณคดีด้านกาพย์กลอนของไทยเรานั้นมีรูปแบบคำประพันธ์ทั้งที่เป็นโคลง กาพย์ และแม้กลอนอื่นๆอยู่อย่างอุดมทีเดียว และบางอย่างก็อ่านเข้าใจได้ง่าย แสดงความรู้สึกนึกคิดได้กระชับกว่า “กลอนแปด” เสียด้วยซ้ำ
รูปแบบคำประพันธ์ที่มีอยู่มากมายหลายชนิดนี้ ก็เช่นเดียวกันจังหวะของเพลงซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ สมมติว่าถ้าเราจะเปรียบจังหวะเพลงประเภท 4/4 เท่ากับกลอนแปด การที่นักแต่งเพลงจะใช้จังหวะ 4/4 เพียงรูปแบบเดียว แสดงความรู้สึกและอารมณ์ทุกชนิดทั่วไปหมดนั้น จะเป็นที่ทำได้ดีเด่นสมบูรณ์จริงๆได้ยากนี้ฉันใด การที่นักกลอนจะใช้กลอนแปดเพียงรูปเดียวแสดงความรู้สึกและทุกอารมณ์ให้เห็นได้ดีเด่นชัดเจนจริงๆ ทุกความรู้สึกและทุกอารมณ์ทั่วไปหมด ก็ย่อมทำได้ยากและเป็นไปได้ยากฉันนั้น ด้วยเหตุนี้เราจึงสังเกตได้ว่า นักแต่งเพลงที่มีความเข้าใจในลักษณะเฉพาะเพลงแต่ละจังหวะ จึงใช้จังหวะแตกต่างกันในการแสดงอารมณ์ที่ต่างกัน เป็นต้นว่าใช้จังหวะวอลซ์ หรือ 3/4 เพื่อแสดงอารมณ์ร่าเริง ระริกรื่น กระจุ๋มกระจิ๋ม เพราะรูปแบบของวอลซ์มีลักษณะเฉพาะพิเศษประจำตัวของมันที่จะช่วยให้เนื้อหาทางอารมณ์ของเพลงเพิ่มความรื่นเริงชัดขึ้นอย่างสมบูรณ์โดยทำนองเดียวกันนี้ ถ้าเราสำรวจดู วรรณคดีที่แต่งด้วยกลอนแปดในอดีต เราจะพบว่าวรรณคดีนั้นๆไม่สามารถแสดงอารมณ์ได้ดีเด่นทุกอารมณ์เลย หากแสดงดีเด่นได้บางอารมณ์เท่านั้น ขอให้เราอ่านบทกลอนเรื่องพระอภัยมณีของท่านบรมครูกลอนแปด “สุนทรภู่” โดยอ่านด้วยทรรศนะวิจารณ์ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น เราจะพบว่าโดยทั่วไปแล้ว กลอนแปดของท่านไพเราะ มีสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสอักษรครบครัน กลอนแต่ละวรรคมีการวางจังหวะของน้ำหนักคำ ให้มีที่หนัก(ครุ)และเบา(ลหุ)เหมาะแก่การอ่านเป็นทำนองเสนาะ ฟังแล้วเบา หวาน ลื่นไหล เสียงของกลอนที่อ่านระรื่นหวานจับหูจับใจคน นี่คือลักษณะพิเศษของกลอนแปดแบบสุนทรภู่ซึ่งเป็นการริเริ่มขึ้นใหม่ในวงการกาพย์กลอนของไทยในสมัยยุครัตนโกสินทร์ แต่ถ้าพูดถึงด้านการแสดงอารมณ์อ่อนหวาน เช่น รัก ออดอ้อน คร่ำครวญ ประเภทนี้เท่านั้น การแสดงอารมณ์เคียดแค้น ดุดัน อาฆาต ป่าเถื่อน และอื่นๆ สุนทรภู่ไม่สามารถใช้รูปแบบกลอนแปดแสดงได้ดีเด่นชัดเจนเท่าเทียมกับการแสดงความรู้สึกออดอ้อน รำพัน ตัดพ้อเลย เช่น ตอนที่อุศเรนแค้นนางวาลีถึงกับรากเลือดตายนั้น ถ้อยคำในบทกลอนแต่ละคำ แต่ละวรรค และจังหวะเสียง หาได้แสดงให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์รู้สึกว่าเคียดแค้นอย่างแสนสาหัสแต่อย่างใดไม่
นี่ด้านหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะสุนทรภู่ถนัดแต่การเขียนอารมณ์หวาน แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งก็คือ กลอนลีลาอ่อนหวานระรื่นหูอย่างสุนทรภู่ ไม่สามารถที่จะสะท้อนแสดงอารมณ์ที่หยาบกร้านได้ดีเด่นเลยเด็ดขาด ข้าพเจ้าดูออกจะอาจหาญเกินไปสักหน่อยที่บังอาจวิจารณ์ท่านบรมครู ความประสงค์ของข้าพเจ้ามีเพียงต้องการจะชี้ว่า รูปแบบคำประพันธ์เพียงอย่างเดียวย่อมไม่สามารถแสดงอารมณ์ได้ทั่วทุกอย่าง ไม่ว่ากวีผู้นั้นจะเชี่ยวชาญในรูปแบบคำประพันธ์ชนิดนั้นเป็นพิเศษสักเพียงไรเท่านั้น
ด้วยความเป็นจริงดังกล่าวมานี้ เราในสมัยปัจจุบัน… สมัยที่มิได้มุ่งเขียนกลอนเพื่อเล่าเรื่องนิยายแบบในอดีต หากเขียนกลอนเพื่อแสดงอารมณ์รู้สึกต่างๆให้เด่นชัดและกระชับ… จึงน่าจะได้ลองย้อนไปศึกษามรดกทางกาพย์กลอนของไทยเราในอดีตและนำรูปแบบคำประพันธ์ที่มีอยู่มากมายมาใช้แสดงความรู้สึกและอารมณ์ที่แตกต่างกันดูบ้าง ซึ่งนี่ด้านหนึ่งอาจช่วยให้นักกลอนหรือกวีประสบความสำเร็จได้ตามที่ตนใฝ่ฝัน และอีกด้านหนึ่งก็จะช่วยกอบกู้วงการวรรณกรรมด้านกาพย์กลอนของไทยไว้ให้พ้นจากภาวะ “ซ้ำซากและมลืดชืด” ที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ (ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือไหวตัวใหม่) ได้อีกด้วย
อันที่จริงข้าพเจ้าไม่ใช่ “นักกลอน” หรือ “กวี” (ยกเว้นนามปากกาซึ่งออกจะคุยเขื่องไปหน่อย) แต่ในระยะไม่นานมานี้ข้าพเจ้าเกิดความรู้สึกอยากที่จะระบายความคิด ความรู้สึก และอารมณ์บางประการอันเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากสภาพของสังคมเมืองไทยยุคปัจจุบัน เมื่อจับปากกาขึ้นมาเขียนแล้วก็รู้สึกว่า ถ้าได้ใช้กาพย์กลอนเป็นสื่อที่จะแสดงดูจะเหมาะเจาะดีกว่าอย่างอื่น จึงได้เริ่มเขียนกาพย์กลอนกับเขาขึ้นบ้างสองสามชิ้น ดังที่ได้ลงพิมพ์ในหนังสือประชาธิปไตยนี้ไปแล้วสองสามครั้ง
ในการเขียนกาพย์กลอนเหล่านี้ ข้าพเจ้ามาติดอยู่ข้อหนึ่งตรงที่ว่าไม่รู้จะหารูปแบบคำประพันธ์ชนิดใดมาแสดงบรรยากาศที่เคร่งขรึม หนักแน่น เฉียบขาด สง่าและท้าทายได้ รูปแบบที่ข้าพเจ้าต้องการนั้น จะต้องกระชับ ไม่ยืดยาด ใช้คำน้อย ห้วนสั้น แต่กินความมาก เพื่อให้ดูทะมึนและโดดเด่นอย่างเยาะเย้ยท้าทาย กาพย์ยานีทำหน้าที่นี้ไม่ได้ เพราะมีสัมผัสหรือจังหวะเสียงหนักเบามากเกินไป ยานีทำได้อย่างมาก (ตามความสามารถของข้าพเจ้า) ก็เพียงความเคียดแค้นอาฆาต สร้างบรรยากาศเคร่งขรึมอย่างจริงจังขึ้นไม่ได้ โคลงสี่สุภาพก็เยิ่นเย้อและนิ่มนวลเกินไปสำหรับบรรยากาศอย่างนี้เช่นกัน ในที่สุดข้าพเจ้าก็นึกถึงโคลงชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในขุมทรัพย์ทางกาพย์กลอนอันอุดมของไทยเราขึ้นได้ นั่นก็คือ “โคลงห้า” และจากนี้เองบทกลอนเรื่อง “คาวกลางคืน” จึงได้ขึ้นต้นด้วย “โคลงห้า” เพื่อแสดงภาพของกรุงเทพฯที่คลุ้งไปด้วยคาวกาม ให้เด่นทะมึนอย่างเคร่งขรึมและเยาะเย้ยดังนี้
กรุงเทพฯคลุ้ง คาวหืน
ควันกามกลืน กลบไหม้
คาวกลางคืน คลุมทาบ
เมืองร้องไห้ เหือดขวัญ
น้ำฟ้าฟาด ฟองหาว
คือกามฉาว ชุ่มฟ้า
กลิ่นสาบสาว กำซาบ
กามย้อมหล้า แหล่งสยาม
โคลงทั้งสองบทนี้ ถ้าท่านอ่านแล้วไม่ได้บรรยากาศดังที่ข้าพเจ้าตั้งความปรารถนาไว้ ก็ขอให้โปรดเข้าใจว่านั่นเป็นเพราะข้าพเจ้ามือไม่ถึง หาใช่รูปคำประพันธ์ชนิดนี้ไม่เหมาะสมที่จะแสดงบรรยากาศเคร่งขรึม ท้าทาย และเย้ยหยันไม่
เมื่อ “โคลงห้า” ได้ปรากฏโฉมหน้าขึ้นในบทกลอนของข้าพเจ้าแล้วสองสามครั้ง ได้ยินเสียงถามไถ่มาบ่อยๆว่าข้าพเจ้าไปขุดโคลงห้ามาจากไหน ลักษณะและข้อบังคับเป็นอย่างไรข้าพเจ้าจึงคิดว่าน่าจะได้เขียนเฉลยคำถามเหล่านี้เสียสักครั้ง บางทีท่านนักกลอนหรือกวียุคนี้เห็นว่าน่าสนใจก็อาจลองนำไปใช้ ซึ่งก็อาจมีส่วนให้วงการกาพย์กลอนของไทยเราไม่จืดชืดซ้ำซากทางรูปแบบโทรมดังที่ได้หวั่นวิตกอยู่บ้างก็เป็นได้
ที่มีคำถามว่าข้าพเจ้าไป “ขุด” เอาโคลงห้ามาจากไหนนั้น ผู้ถามใช้คำว่าขุดได้ถูกต้องดีเหลือเกิน ข้าพเจ้าไปขุดเอามาจริงๆ โคลงห้านั้นตายสนิทและหมดจากบทบาทวงการกาพย์กลอนของไทยมานานประมาณ 400 – 500 ปีแล้ว และตอนที่ผ่านมานั้นก็เกือบจะหาตัวผู้ที่รู้จักลักษณะคณะ และข้อบังคับของโคลงห้าอย่างถูกต้องจริงๆไม่ได้ (ยกเว้นที่ชี้ตัวได้ไม่กี่คน ซึ่งจะมีกล่าวในข้างท้าย) ข้าพเจ้าได้ขุดเอามาแล้วและนำไป “พัฒนา” ขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับรสนิยมของหูคนไทยในยุดพัฒนา และนำมาใช้เป็นการทดลองในบทกลอนของข้าพเจ้าดังที่บางท่านได้เห็นผ่านตามาบ้างแล้ว แต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเรียนให้ทราบว่า 1) ข้าพเจ้าได้ไปขุดโคลงห้ามาจากไหน 2) ลักษณะโคลงห้าเดิมเป็นอย่างไร และ 3) ข้าพเจ้าได้ดัดแปลงขึ้นอย่างไร ข้าพเจ้าจะขอแสดงลักษณะคณะ และข้อบังคับของโคลงห้าที่ข้าพเจ้า “พัฒนา” แล้วนี้เสียก่อน เพราะจะช่วยทำให้เข้าใจเรื่องในประวัติง่ายขึ้น และผู้ที่ไม่สนใจประวัติแต่สนใจแบบแผนโคลงห้า (พัฒนา) ก็จะได้ไม่ต้องเสียเวลารอคอยและติดตามอ่าน
ลักษณะโคลงห้าพัฒนา
คณะ หนึ่งบทมีสี่บาท หนึ่งบาทมีห้าคำ แบ่งเป็นวรรคหน้าสามคำ วรรคหลังสองคำ
เอกโท หนึ่งบทมีเอกสี่ โทสี่ (ดูตำแหน่งตามแผนผังต่อไป)
สัมผัส เหมือนโคลงสี่สุภาพ
สร้อย เหมือนสร้อยโคลงดั้น
แผนผังโคลงห้าพัฒนา
O O่ O้ O O
O O O O่ O้
O O O O O่
O O้ O้ O่ O
หมายเหตุ
1) เอกและโทในบาทที่หนึ่งสับที่กันได้เหมือนโคลงอื่นๆทั่วไป
2) โทคู่ในบาทสี่ อาจอยู่แยกกันได้ดังนี้
O้ O O้ O่ O
เช่น “ ฟ้าโรจน์ร้อง ร่ำหา “
3) สร้อยของบาทที่หนึ่งและที่สาม เหมือนสร้อยโคลงทั่วไป แต่เฉพาะสร้อยของบาท ที่สี่ จะต้องเป็นสร้อยแบบโคลงดั้น กล่าวคือ เป็นคำสุภาพ (ไม่มีเอกโท, ไม่เป็นคำตาย) และต้องซ้ำพยัญชนะกับสองคำสุดท้ายของบาทที่สี่ โดยเฉพาะคำสุดท้ายจะต้องเป็นคำเดียวกัน ดังตัวอย่าง “ฟ้าโรจน์ร้อง ร่ำหา รนหา” หรือ “กามร้อนไล้ ลูบเมือง โลมเมือง”
อนึ่ง สำหรับท่านนักกลอนหรือกวีที่ไม่เห็นด้วยกับการแปลงพัฒนาแบบของข้าพเจ้า ก็ย่อมมีสิทธิคิดดัดแปลงใหม่ได้จากรูปแบบโคลงห้าดั้งเดิม ดังที่ข้าพเจ้าจะกล่าวถึงต่อไป
“โคลงห้า” ดูเหมือนจะปรากฏอยู่สักสามแห่งเท่านั้นในบรรดาหนังสือวรรณคดีของไทยสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ แห่งที่ใช้เป็นชิ้นเป็นอันหนึ่งจริงจังก็คือใน “โองการแช่งน้ำพระพัทธฯ” หรือ “ประกาศโองการแช่งน้ำโคลงห้า” ซึ่งในชั้นหลังๆนี้มาเปลี่ยนเรียกว่า “โองการแช่งน้ำพระพิพัฒนสัตยา” ดังที่ปรากฏอยู่ที่หนังสือเรียนประวัติวรรณคดีไทยทั่วไป
น้ำพระพัทธคือน้ำสาบาน สมัยราชาธิปไตยมีกฎหมายบังคับให้ข้าราชการต้องดื่มน้ำสาบาน เพื่อยืนยันความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ปีละสองครั้ง ผู้ขาดพิธีโดยไม่มีเหตุผลสมควรมีโทษฐานกบฎ คำว่า “พัทธ” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “ผูกมัด” แต่ในเขมรสมัยนครธมและไทยสมัยกรุงศรีอยุธยานำมาใช้แปลว่า คำสาบานหรือคำผูกมัด หรือเงื่อนไขผูกมัดในศิลาจารึกที่ปราสาทหินเขาพระวิหารก็มีคำ “พัทธ” ใช้ในความหมายว่า คำสาบาน เป็นต้น ราชสำนักเขมรยุคนครธมก็มีพิธีดื่มน้ำสาบานเช่นนี้เหมือนกัน ยังจารึกคำสาบานของพวกข้าราชการเขมรโบราณปรากฏเป็นตัวอย่างอยู่ที่ประตูปราสาทหินพิมานอากาศในบริเวณวังในเมืองนครธมจนบัดนี้ ในคำจารึกนั้นเรียกพิธีสาบานว่า “พัทธประติชญา” เรียกอย่างไทยๆซึ่งนิยมใช้ภาษาบาลีก็คือ “พัทธปฏิญญาน” นั่นคือปฏิญญานสาบานตนนั่นเอง ในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกน้ำสาบานย่อๆนี้ว่า น้ำพระพัทธฯ แต่มาภายหลังจะรังเกียจคำว่าพัทธซึ่งบอกโต้งๆเกินไปว่า ผูกมัด สาบาน หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง จึงคิดแปลงเสียใหม่เป็น “น้ำพระพิพัฒนสัตยา” ให้มีความหมายเป็นแง่ความสัตย์อันเจริญไป
ในพิธีดื่มน้ำสาบาน ซึ่งเรียกว่า “ถือน้ำ” นั้น พราหมณ์เป็นผู้โอมอ่านเวทย์มนต์คาถาที่สาปแช่งผู้ไม่ซื่อสัตย์จงรัก คำที่พราหมณ์สาธยายนั้นเป็นคาถาที่น่าสะพึงกลัวเพราะผู้ฟังไม่เข้าใจ นี่เป็นประการหนึ่ง เมื่อเสร็จจากคำสาปแช่งของพราหมณ์แล้ว อาลักษณ์ก็อ่านคำสาปแช่งของพราหมณ์เป็นภาษาไทยฟังเข้าใจง่ายอีกครั้งหนึ่ง แต่โองการแช่งน้ำโคลงห้าซึ่งเป็นภาษาไทยนี้จัดไว้ในประเภทที่ให้พราหมณ์อ่าน จึงเรียกว่า โองการ คือถือเป็นมนตร์ศักดิ์สิทธิ์ และเมื่อพราหมณ์อ่านนั้นก็ฟังเข้าใจยากจริงๆ เพราะถ้อยคำที่ใช้ในโคลงล้วนเป็นภาษาเก่าแก่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หรืออาจก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ อย่างน้อยโคลงนี้ก็ใช้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดเลย เพราะเหตุที่ข้อความในโคลงเป็นคำสาปแช่งน้ำสาบานที่จะดื่มนี้เอง จึงได้เรียกว่า โองการแช่งน้ำ และแต่งด้วยโคลงห้า จึงเรียกชื่อคำประพันธ์ห้อยท้ายไว้ด้วยว่า โองการแช่งน้ำโคลงห้า หรือประกาศแช่งน้ำโคลงห้า
แต่ถึงจะเรียกว่าโคลงห้า ก็หามีใครรู้จริงไม่ว่า โคลงห้าเป็นอย่างไรแน่ เพราะเก่าแก่สาบสูญไปเสียนานหลายร้อยปีแล้ว ตามสมุดที่พราหมณ์จดไว้สำหรับอ่าน ก็เขียนเรียงเป็นแถวติดกันไป ไม่มีลักษณะโคลง เช่นตัวอย่างดังนี้
นานาอเนกด้าวเดิมกัลป์ จักร่ำจักราพาฬเมื่อไหม้
กล่าวถึงตะวันเจ็ดอันพลุ่ง น้ำแล้งไข้ขอดหาย
เจ็ดปลามันพลุ่งหล้าเป็นไฟวาบ จัตุราบายแผ่นขว้ำ
ชักไตรตรึงษ์เป็นเผ้า แลบล้ำสีลอง
ด้วยเหตุที่เป็นโคลงลึกลับเช่นนี้เอง จึงได้มีผู้พยายามเดาลักษณะไปต่างๆนานา บ้างก็ว่าเป็นโคลงดั้นกลบท บ้างก็ว่าเป็นร่ายโดยต้องอ่านลงทีละแถว ฯลฯ ตำราฉันทลักษณ์ของกรมตำรา กระทรวงธรรมการ และ “ฉันทลักษณ์” ของพระยาอุปกิตศิลปสาร ยืนยันว่าเป็นโคลงห้า เรียกชื่ออีกอย่างว่า “มณฑกคติ” (แปลว่า กบเต้น) แต่ก็ไม่สามารถแสดงลักษณะของโคลงออกมาให้เห็นแจ่มชัดได้จริงจัง พูดง่ายๆก็คือผู้แต่งตำราฉันทลักษณ์ทั้งสองนั้นก็ยังคลำปมเงื่อนของโคลงห้าที่แท้จริงไม่พบ คำอธิบายที่ให้ไว้จึงดูยุ่งยากสับสน (ท่านที่สนใจจะเปิดดูได้จากหนังสือดังกล่าว และควรดูความเห็นของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 รวมทั้งของพ.ณ.ประมวลมารค ในวารสารศิลปากรรุ่นก่อนด้วย)
อันที่จริงแล้วโคลงห้าก็คือ โคลงดั้นชนิดหนึ่ง แต่เรียกชื่อตามคำที่มีบาทละห้าคำ ต่างกับโคลงสี่ซึ่งเรียกตามจำนวนบาทที่มีบทละสี่บาท โคลงชนิดนี้เป็นโคลงที่นิยมแต่งกันในอาณาจักรลาวล้านช้างยุคโบราณ เช่นที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีล้านช้างเรื่อง “ท้าวฮุ่ง” หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หนังสือเจืองซึ่งเป็นมหากาพย์สดุดีท้าวฮุ่งหรือขุนเจือง วีรกษัตริย์แห่งอาณาจักรเงินยวงในราวพ.ศ. 1650-1700 หนังสืออันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีเล่มนี้แต่งเป็นโคลงดั้นแบบล้านช้างราวห้าพันบท ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าวรรณคดีประเภทโคลงเรื่องใดๆของไทยเรา สำนวนที่ใช้เป็นสำนวนภาษารุ่น พ.ศ. 1800 – 1900 เป็นภาษาลาวระคนกับภาษาไตลื้อ หนังสือนี้หอสมุดแห่งชาติได้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2486 โดยมีนายศิลา วีรวงศ์ เป็นผู้ชำระ (ปัจจุบันนี้ท่านผู้นี้เป็นอธิบดีกรมศิลปากรแห่งราชอาณาจักรลาว) โดยปรกติวรรณคดีของไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือลาวรวมทั้งบทหมอลำที่ผสมแคนกันอยู่ทุกวันนี้ หามีใครได้ตระหนักว่าเป็น “โคลงดั้น” ไม่ ผู้ลำก็ลำไปตามความเคยชินแห่งเสียงสูงต่ำ และมีวิธีแบ่งวรรคต่างกันกับที่เรานิยมแบ่งกันในภาคกลาง นายศิลา วีรวงศ์ เป็นผู้หนึ่งในไม่กี่คนที่ตระหนักว่าวรรณคดีเหล่านั้นเป็นโคลง และได้จัดการชำระโดยวางรูปให้เห็นเป็นโคลงขึ้น ซึ่งล้วนเป็นโคลงดั้นแบบลาวทั้งสิ้น และในวรรณคดีเรื่องท้าวฮุ่งที่นายศิลา วีรวงศ์ ชำระนั้นเอง มีอยู่บทหนึ่งที่แต่งเป็นโคลงห้า ผลงานของนายศิลา วีรวงศ์ นี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าโคลงห้าคืออะไร และสามารถเข้าใจโคลงห้าแบบไทยของโองการแช่งน้ำที่เป็นสิ่งลึกลับมานานแล้วได้
ลักษณะของโคลงห้าของลาวล้านช้างโบราณนั้น ไม่ตรงกับของไทยทีเดียวนัก แต่ก็คล้ายคลึงกัน (เช่นเดียวกับโคลงดั้นอื่นๆของลาวซึ่งก็ไม่เหมือนกันของไทยทีเดียว แต่ก็คล้ายคลึงใกล้เคียงกันมาก) ต่อไปนี้คือตัวอย่างโคลงห้าของลาวในวรรณคดีเรื่องท้าวฮุ่ง
ยั่งยั่งฟ้า หัวปี
ฝนฮำดวง ดอกหญ้า
จักหนีหนี บ่ได้
เจ้าฟ้าวั่ง เวใจ
ต้นไม้ใหญ่ จอมผา
ปักษีเฮ ฮ่อยเต้า
บินไปจับ จอมผา ชมม่วน
เค้าเค้าอยู่ ออระแอ
ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึงลักษณะข้อบังคับของโคลงห้าลาวให้ยืดยาว และเป็นที่งุนงงกันโดยไม่จำเป็น แต่ขอชี้ให้สังเกตไว้ข้อหนึ่งว่า โคลงห้าแบบของลาวมีการเพิ่มคำลงข้างหน้าบาทได้ด้วยดังในตัวอย่างบทที่สอง ซึ่งนี่เป็นลักษณะทั่วไปของโคลงลาวทุกชนิด และลักษณะนี้มีอยู่ในโคลงห้าของไทยด้วย
โคลงห้าของลาวนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้าคลำปมเงื่อนของโคลงห้าไทยได้ออกแจ่มแจ้ง ข้าพเจ้าหันกลับมาดูโคลงห้าของโองการแช่งน้ำ ดังที่ตอนหนึ่งเขียนไว้ดังนี้
กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาดฟองหาว ดับเดโชฉ่ำหล้า
ปลาดินดาวเดือนแอ่น ลมกล้าป่วนไปมา
แลเป็นแผ่นเมืองอินทร์ เมืองธาดาแรกตั้ง
ขุนแผนแรกเอาดินดูที่ ทุกยั้งฟ้าก่อคืน
ฯ ล ฯ ฯ ล ฯ
บัดนี้ ข้าพเจ้าก็สามารถเข้าใจได้แล้วว่า คำประพันธ์นี้เป็นโคลงห้า และมีรูปเขียนให้เป็นโคลงอย่างถูกต้องได้ดังนี้
กล่าวถึง
น้ำฟ้าฟาด ฟองหาว
ดับเดโช ฉ่ำหล้า
ปลาดินดาว เดือนแอ่น
ลมกล้าป่วน ไปมา
แลเป็นแผ่น เมืองอินทร์
เมืองธาดา แรกตั้ง
ขุนแผน แรกเอาดิน ดูที่
ทุกยั้งฟ้า ก่อคืน
และเมื่อสำรวจดูโดยตลอดก็ปรากฏว่าเป็นโคลงห้าแบบนี้ทั้งสิ้น เป็นแต่ตามฉบับเดิมนั้นเขียนติดกันเป็นพืด (แบบเดียวกับการเขียนโคลงของลาวในใบลานโดยทั่วไป) บางบทก็มีคำเพิ่มหน้าเกือบทุกบาท บางบทก็มีสร้อย บางบทก็คัดลอกเอามาผิดๆ โดยแบ่งวรรคตอนเอาคำของวรรคหลังไปพ่วงไว้วรรคหน้า บางบทก็ขาดตกหายไปเสียบาทหนึ่งบ้าง สองบาทบ้าง จึงทำให้เรางุนงงกันมานาน แต่ส่วนใหญ่แล้วยังคงสมบูรณ์เป็นโคลงห้าชัดเจนอยู่และสามารถจัดเป็นลักษณะโคลงได้ตามข้างบนนั้น ข้าพเจ้าจะไม่นำมาจัดให้ดูทั้งหมด เพราะจะยืดยาวเกินจำเป็น ท่านผู้สนใจโปรดหามาศึกษาและลองจัดดูเอง คงจะได้ผลจริงดังที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้
เมื่อได้จัดรูปโคลงห้าดูแล้ว ก็จับลักษณะได้ว่าเป็นโคลงดั้นชนิดที่ใช้สัมผัสแบบโคลงดั้นบาทกุญชร นั่นคือบาทคี่ส่งสัมผัสให้บาทคี่ บาทคู่ส่งสัมผัสให้บาทคู่ เป็นเช่นนี้เกี่ยวเนื่องตลอดไปไม่ว่าจะมีสักกี่บท (บาทคี่กับบาทคู่จะไม่ส่งและรับสัมผัสกันเลย) ส่วนเอกโทนั้นเป็นแต่ แนวทางทั่วไปที่ส่อให้เห็นว่ามักจะนิยมใช้อย่างที่นำมาจัดให้ดูข้างบน แต่ก็ไม่บังคับตายตัว พบว่าทิ้งเอกหรือทิ้งโทบ่อยๆที่เป็นดังนี้เข้าใจว่าคงจะถือเสียงอ่านเป็นสำคัญมากกว่าจะถือรูปอักษร (แต่เสียงภาษาไทยนั้นในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้นจะเป็นอย่างไรก็เหลือที่จะเดาได้) บางแห่งใช้โทแทนเอกก็มี (แบบเดียวกับโคลงห้าของลาว) ท่านผู้ได้สนใจใคร่จะได้ทราบลักษณะโคลงห้าแบบกรุงศรีอยุธยาโดยละเอียด โปรดหาโองการแช่งน้ำมาศึกษาดูด้วยตนเอง ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะกล่าวถึงโดยพิสดาร ณ ที่นี้ เพราะจะทำให้บทความสั้นๆ อันจำกัดเนื้อที่นี้ กลายเป็นวิทยานิพนธ์ทางวรรณคดีไป
โคลงห้าดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ถ้าจะนำมาใช้ในยุคปัจจุบันเต็มตามเดิมทั้งดุ้น แน่นอน ย่อมจะไม่เหมาะแก่รสนิยมของหูคนไทยยุคปัจจุบัน เราจำเป็นต้องแก้ไขดัดแปลงบ้าง และลักษณะที่ไม่แน่นอนบางอย่าง (ซึ่งในสมัยโน้นอาจมีเหตุผลที่อธิบายได้ แต่ในปัจจุบันเราไม่เข้าใจ) ก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนากันให้เหมาะสม ซึ่งนี่ย่อมถือเป็นการสืบทอดมรดกของบรรพบุรุษ และพัฒนาแง่ที่ดีงามให้งอกงามยิ่งขึ้น เป็นการสืบทอดด้วยลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ ปัญหามีอยู่ว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม
ทรรศนะที่มีต่อมรดกเก่าแก่ของชาตินั้นมีอยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งเห็นว่ามรดกเหล่านี้เป็นของคร่ำคร่าล้าสมัย ไม่มีอะไรที่จะนำมาใช้ได้อีกแล้ว และควรทิ้งมันไปเสียโดยสิ้นเชิง เมื่อคิดดังนี้แล้วก็หันไปแสวงหาของใหม่จากต่างประเทศที่เห็นว่าทันสมัยและเลือกเฟ้นมาจากของชาติโน้นบ้าง ชาตินี้บ้าง ตามความพอใจส่วนตัวของตน ซึ่งที่จริงแล้วสิ่งที่เลือกมานั้นก็คือศิลปะหรือวัฒนธรรมของชาติมหาอำนาจเพียงไม่กี่ชาติที่มีอิทธิพลครอบคลุมเหนือยุคสมัย เมื่อเลือกมาได้แล้วก็ถือว่านั่นเป็นของ “สากล” และถือว่าตนเป็นผู้ไม่งมงายอยู่กับของเก่าอันคับแคบ ไม่ติดข้องอยู่กับเรื่องชาติ หากเป็นนัก “สากลนิยม” ตามที่เป็นจริงแล้วสิ่งที่เขาเลือกมาไม่ใช่ของสากล หากเป็นของชาติที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองเพียงสองสามชาติ ดังที่กล่าวมาแล้วเท่านั้นและความคิดเช่นนี้ก็หาใช่ “สากลนิยม” หากคือความคิดแบบ “สำส่อนชาติ” หรือ “สูญภาพแห่งชาติ” นั่นคือสละละทิ้งศิลปวัฒนธรรมอันมีลักษณะเฉพาะแห่งชาติของตน แล้วรับเอาลักษณะเฉพาะของชาติโน้นนิดชาตินี้หน่อย มาจับแพะชนแกะมะรุมมะตุ้มมาเป็นของตน ความคิดเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ๆที่เป็นแหล่งชุมทางแห่งการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ (ภาษาฝรั่งเรียกความคิดนี้ว่า Cosmopolitanism)
ทรรศนะต่อมรดกเก่าแก่ของชาติอีกอย่างหนึ่ง ก็คือมีความเห็นว่าจะต้องนำมาสืบทอด แต่ในความคิดที่จะนำมาสืบทอดนั้นเอง ก็ยังแบ่งออกได้เป็นสองพวก พวกหนึ่งเห็นว่ามรดกของเก่านั้นมีกรอบคับแคบน่าอึดอัด และจะต้องแหวกกรอบนั้นออกมาอย่างเป็นอิสระเสรี (แต่ยังไม่ทิ้งพื้นฐานเก่าแก่ดั้งเดิมแล้วไปรับเอาของชาติอื่นมา) พวกที่มีทรรศนะเช่นนี้ โดยทางปฏิบัติก็จะนำเอามรดกของเก่ามาบิดผันดัดแปลงเอาตามใจชอบอย่างเสรีและก็เป็นการกระทำที่เสรีจริงๆ คือที่เขาดัดแปลงแล้วนั้นเป็นสิ่งที่หากฎเกณฑ์หรือระเบียบแน่นอนไม่ได้เลย เป็นการดัดแปลงที่ทำไปตามอารมณ์ ตรงนี้นึกได้อย่างนี้ก็ทำไปอย่างนี้ ตรงนั้นนึกได้อย่างนั้น ก็ทำไปเช่นนั้น คือไม่ต้องให้มี“กฎเกณฑ์” เพราะรุงรังอึดอัด เป็นกรอบบีบบังคับและปิดกั้นการเคลื่อนไหวอันเสรีของอารมณ์ ความคิดเช่นนี้เป็นการแสดงออกขั้นสุดขั้วของ “ลัทธิเสรีนิยม” คือเสรีกันอย่างเตลิดเปิดเปิงและฟุ้งซ่าน การแสดงออกทางด้านกาพย์กลอนของผู้ที่มีความคิดเสรีประเภทนี้ก็คือ เขียนกลอนต่างๆ โดยไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ใดๆ วรรคไหนนึกจะใส่ลงไปกี่คำก็ใส่ลงไปเท่านั้น จะว่าเบื่อกฎเกณฑ์เก่าแล้วพัฒนาสิ่งใหม่ขึ้นก็ไม่ใช่ เพราะสิ่งใหม่ที่สร้างขึ้นนั้นไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอนที่อธิบายได้หรือพิสูจน์ได้ว่าดีกว่าสิ่งเก่าซึ่งจะได้นับว่าเป็นการ “พัฒนา” มรดกของชาติเดิม ฉะนั้นกาพย์กลอนที่เขียนขึ้นตามแนวความคิดเสรีสุดขั้ว จึงเป็นเรื่องเขียนตามอารมณ์ ถืออารมณ์เป็นโคมทองนำทาง ส่วนเนื้อความของกาพย์กลอนนั้นๆ ก็เป็นประเภทที่เขียนลงไปตามความรู้สึกบันดาลใจที่แล้วแต่มันจะพลุ่งขึ้นมา บางทีก็ได้ความติดต่อกัน บางทีก็มีไอ้โน่นนิดแล้วก็กระโดดข้ามไปที่ไอ้นี่หน่อย ต้นอย่าง กลางอย่าง ลงท้ายผ่าไปอีกอย่าง ผู้อ่านเชิญคิดเอาเอง และใครคิดก็จะพลอยบ้าไปด้วยเพราะเขาเขียนให้อ่านด้วยอารมณ์มิใช่จะให้อ่านด้วยความเข้าใจหรือเหตุผล
ความเรียงสั้นๆหรือนวนิยายสั้นและยาวในตลาดเมืองไทย ขณะนี้ก็มีที่เขียนในแนวทางนี้กันหนาตา ในวงการจิตรกรรมเราเรียกพวกที่เขียนภาพด้วยอารมณ์ตามแนวทางที่กล่าวนี้ว่า พวกสำนักคิด “อิมเพรสชั่นนิสม์” หรือ “คิวบิสม์” และในวงการกาพย์กลอนด้วยอารมณ์ตามรูปแบบและเนื้อหาดังกล่าว ก็คือการแสดงออกอย่างเสรีขั้นสุดขั้วของลัทธิเสรีนิยมอันเป็นแนวคิดที่ครอบงำสูงสุดแห่งยุดปัจจุบันโดยแน่แท้
ทรรศนะในการสืบทอดมรดกเก่าแก่ของชาติอีกแนวหนึ่งนั้น เริ่มต้นด้วยการศึกษากฎเกณฑ์ของเก่าให้เข้าใจถ่องแท้ เมื่อได้พบว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นมีตรงไหนไม่เหมาะสมกับชีวิตหรือรสนิยมแห่งชีวิตในปัจจุบันเพียงไร ก็คิดหาทางดัดแปลงแก้ไขด้วยเหตุผล มิใช่ด้วยอารมณ์เฉพาะตัว หากเป็นเหตุผลที่ประเมินและสรุปมาจากสภาพชีวิต ความรู้สึกนึกคิดและรสนิยมโดยทั่วไปของคนทั้งสังคม จากนี้เราก็จะสามารถสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ของสิ่งนั้นๆขึ้นได้ สิ่งที่เป็นมรดกเก่าแก่ของชาติจึงยังคงดำรงอยู่สืบต่อไป แต่ดำรงอยู่โดยมี “กฎเกณฑ์ใหม่” อันเหมาะสมกับยุคสมัย
กฎเกณฑ์ใหม่อันเหมาะสมนี้มันจะไม่เป็นสิ่งที่คับแคบอึดอัดเลย หากจะเปิดทางใหม่อันกว้างขวางเจิดจ้ายิ่งกว่ามรดกเก่าแก่ของชาตินั้นๆในอันที่จะพัฒนารุ่งเรืองสืบไป และเมื่อกาลเวลาผ่านไปจนถึงสมัยที่สภาพความจริงของชีวิตในสังคมได้พัฒนาล้ำหน้าไปอีกระดับหนึ่งแล้ว ในขณะนั้น กฎเกณฑ์ใหม่ที่ได้สร้างขึ้นดังกล่าวก็จะเริ่มไม่เพียงพอที่จะรับใช้ความต้องการของชีวิตได้ คนในยุคนั้นจะพบว่ามันคับแคบเกินไป เขาจึงจะคิดดัดแปลงพัฒนากฎเกณฑ์นั้นขึ้นใหม่อีก กระทำอย่างนี้ต่อไปเป็นทอดๆ เราก็สามารถสืบทอดมรดกเก่าแก่ของชาติไว้ได้โดยไม่สูญเสียลักษณะเฉพาะแห่งชนชาติเรา และขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้กฎเกณฑ์ของสิ่งที่เป็นมรดกนั้นเป็นอุปสรรคกีดกั้น หรือเป็นกรอบที่อึดอัด
ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อเราเห็นว่ามรดกเก่าๆนั้นมีกฎเกณฑ์ที่อึดอัด เราก็ต้องพัฒนาปรับปรุงกฎเกณฑ์นั้นขึ้นใหม่มิใช่โยนทิ้งไปหมดทั้งกระบิ แล้วก็ไม่ยอมถือระเบียบกฎเกณฑ์อีกเลยทั้งสิ้น ชีวิตนั้นจะอยู่อย่างเสรีสุดขั้ว โดยไม่ต้องมีระเบียบ กฎเกณฑ์อะไรเลยหาได้ไม่ โลกทุกวันนี้มันเป็น “โลกบ้าบ้าบอบอ” ก็เพราะโรคเสรี สุดขั้วขึ้นสมองนี้แหละ
ด้วยความคิดอย่างหลังที่ข้าพเจ้าเห็นว่าถูกนี้เอง ข้าพเจ้าจึงได้ทดลองพัฒนาโคลงห้าขึ้นโดยมีกฎเกณฑ์แน่นอน ด้านหนึ่งข้าพเจ้ารักษาลักษณะคณะแบบโคลงนั้นไว้ กำหนดเอกโทขึ้นให้แน่นอนโดยถือเอาโคลงดั้นอื่นๆเป็นแนวเทียบ แต่ในอีกด้านก็ได้เปลี่ยนแปลงระเบียบสัมผัสใหม่ เพราะการใช้สัมผัสแบบบาทกุญชรอย่างเดิมนั้น ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมกันเสียแล้ว สังเกตได้จากความจริงที่ว่า ในปัจจุบันคนไม่นิยมเขียนโคลงดั้น และผู้อ่านก็มักจะบ่นอยู่บ่อยๆว่า อ่านโคลงดั้นแล้วไม่เห็นว่าจะสัมผัสกันเลย ส่วนมากในยุคนี้มักนิยมเขียนและอ่านโคลงสี่สุภาพกันมากกว่า แสดงว่ากฎเกณฑ์ทางสัมผัสแบบโคลงดั้นออกจะไม่เหมาะแก่หูคนยุคนี้เสียแล้ว โดยเหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงได้นำเอาระเบียบสัมผัสแบบโคลงสี่สุภาพมาใช้กับโคลงห้าที่พัฒนาขึ้นใหม่แทนระเบียบเดิม และก็ได้สำเร็จเป็นโคลงห้าพัฒนาขึ้นดังที่ได้แสดงลักษณะโดยครบถ้วนไว้แล้ว ในตอนแรกของบทความชุดนี้
ข้าพเจ้ายังไม่มั่นใจว่า การพัฒนาโคลงห้าขึ้นใหม่นี้จะได้รูปแบบและกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้ว ข้าพเจ้ายังพอใจถือว่าเป็นเพียงขั้นทดลอง และขอเชิญชวนท่านนักกลอนและกวีทั้งหลายลองใช้ดูบ้าง ถ้าหากท่านเห็นว่ายังไม่เหมาะสมก็อาจจจะคิดดัดแปลงใหม่ที่ดีกว่าของข้าพเจ้า เพราะเป็นการช่วยพัฒนามรดกของวรรณคดีของชาติ และถ้าการคิดดัดแปลงใหม่นั้นเหมาะสมกว่า ข้าพเจ้าก็จะได้รับเอามาใช้บ้างด้วยความชื่นชม
ที่มา: จิตร ภูมิศักดิ์. บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ : ศตวรรษ, 2523. หน้า 135–158.
บทวิเคราะห์
จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นคนมีความสามารถหลากหลาย ไม่เพียงแต่เป็นนักคิด นักวิจารณ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นนักเขียน และกวีอีกด้วย ผลงานด้านกวีนิพนธ์ของเขาแสดงให้เห็นถึง”ฝีมือ”ที่โดดเด่นไม่เป็นรองใคร ทั้งยังแสดงให้ประจักษ์อีกด้วยว่า ความเป็นนักอักษรศาสตร์ที่เขาเรียนรู้และ สั่งสมมา ทั้งจากสถาบันการศึกษา และจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองนั้น เขาสามารถแสดงออกได้ทุกสายทาง และด้วยความเป็นกวีเองด้วยนี้เองที่ทำให้เขาวิจารณ์กวีนิพนธ์ในยุคปัจจุบันได้อย่างเข้าถึง และยังมองเห็นปัญหาที่ชัดเจนอีกด้วย การอธิบายและยกตัวอย่างเปรียบเทียบถึงเรื่องกลอนแปดและเพลงเป็นวิธีการที่ง่ายและงามยิ่ง ในการ “เชิญชวน” ให้นักอ่านหันไปสนใจโคลงห้า…มรดกของชาติอีกรูปแบบหนึ่ง
ในบท “โคลงห้า…มรดกทางวรรณคดีไทย” ในนามปากกา “กวี ศรีสยาม” เขาไม่เพียงแต่แสดงความลึกซึ้งจากสายตา “กวี” เท่านั้น หากแต่ยังใช้สายตาของนักอักษรศาสตร์ “เจาะค้น” และ “ด้นลึก” ลงไปในเรื่องของ “โคลงห้า” ในยุคสมัยนั้น วงการกวีนิพนธ์ยังแทบไม่รู้จักรูปแบบฉันทลักษณ์ของโคลงห้าที่ชัดเจน นอกจากเรียกตามที่ปรากฏชื่อ(ห้อยท้าย)ไว้ใน “โองการแช่งน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” แม้แต่ตำราฉันทลักษณ์ของกรมตำรา กระทรวงธรรมการและ “ฉันทลักษณ์” ของพระยาอุปกิตศิลปสารก็ไม่สามารถแสดงลักษณะของโคลงออกให้เห็นแจ่มชัดได้จริงจัง แต่จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ “อ่าน” และ “ตีแตก” ออกมาได้ โดยอาศัยการศึกษาเปรียบเทียบจากวรรณคดีล้านช้างเรื่อง “ท้าวฮุ่ง” ด้วยความสามารถมอง”ลึก”เข้าไปในมรดกของชาติตนเองได้อย่างภาคภูมิใจเช่นนี้เอง นักวิจารณ์เช่นจิตร ภูมิศักดิ์จึงเสนอความคิด “ชี้นำ” สำหรับกวี โดยให้ศึกษากฎเกณฑ์เก่าอย่างเข้าถึงและสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยขึ้นมาจากการศึกษานั้น เขาบอกว่า “สิ่งที่เป็นมรดกเก่าแก่ของชาติจึงยังดำรงอยู่สืบต่อไป แต่ดำรงอยู่โดยมี ‘กฎเกณฑ์ใหม่’ อันเหมาะสมกับยุคสมัย”
ความคิดเช่นนี้ของนักวิจารณ์เป็นความคิดสร้างสรรค์ยิ่ง เพราะส่วนใหญ่คนที่คิดสร้างสังคมใหม่ มักพร้อมที่จะทำลายของเก่าให้พินาศไป การที่จิตร ภูมิศักดิ์เสนอให้มีการสร้าง”กฎเกณฑ์ใหม่”ขึ้นมาโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานอันแน่นแฟ้นของกฎเกณฑ์เก่า พร้อมกับปฏิบัติให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยการเขียนบทกวีที่ใช้ฉันทลักษณ์ที่ปรับใหม่นี้ด้วยนั้น ต้องถือว่าเป็นการ”ชี้ชวน”ที่น่ารับฟังเพราะมีเหตุผลทางอักษรศาสตร์ที่มีน้ำหนัก ในขณะเดียวกันก็น่าทำตามเพราะสามารถปฏิบัติได้ และมีลักษณะ “ท้าทาย” ให้เกิดการ “ครุ่นคิดพินิจนึก” โยงไปถึงเรื่องอื่นๆในชีวิตที่น่าจะใช้กฎเกณฑ์ทำนองเดียวกันนี้ด้วย
ข้อน่าสังเกตก็คือ ในบทความชิ้นนี้ จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้ท่าทีที่อ่อนน้อมอย่างยิ่ง ผิดจากบทวิจารณ์อีกหลายชิ้นในยุคเดียวกันที่มีท่าทีก้าวร้าว1 เขาไม่เพียงแต่ยกบทประพันธ์ของตนเองอย่างถ่อมตนว่าอาจมือไม่ถึงเท่านั้น หากในตอนท้ายยังยืนยันด้วยว่า งานคิดค้นพัฒนาโคลงห้าขึ้นใหม่นี้เขาพอใจถือเป็นเพียงขั้นทดลอง และว่า “ถ้าหากท่านเห็นว่ายังไม่เหมาะสมก็อาจจะคิดดัดแปลงใหม่ที่ดีกว่าของข้าพเจ้า เพราะเป็นการช่วยพัฒนามรดกของวรรณคดีของชาติ และถ้าการคิดดัดแปลงใหม่นั้นเหมาะสมกว่า ข้าพเจ้าก็จะได้รับเอามาใช้บ้างด้วยความชื่นชม”
จิตร ภูมิศักดิ์ น่าจะเขียนเรื่องนี้ขึ้นในปี พ.ศ 2505 2 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่เขาถูกจับกุมคุมขัง แต่ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อีกครั้ง แนวความคิดเรื่อง “ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน” ของเขาจึงแพร่หลายออกไป รวมทั้งบทกวีโคลงห้าพัฒนาของเขาด้วย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีกวีรุ่นใหม่บางคนใช้ “โคลงห้าพัฒนา” ตามรอยของจิตร ภูมิศักดิ์3 ในขณะเดียวกัน กวีหลายคนก็ยึดแนวความคิดเช่นนี้ในการเขียนบทกวี กล่าวคือ ศึกษาและค้นคว้าของเก่าอย่างแนบแน่น ในขณะเดียวกันก็นำมาประยุกต์ใช้เพื่อถ่ายสะท้อนชีวิตปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อาทิ คมทวน คันธนู
อาจกล่าวได้ว่า นับจากวันที่ “กวี ศรีสยาม” เสนอความคิดเรื่อง”โคลงห้า..มรดกทางวรรณคดีไทย”มาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่าสามสิบปี คนรุ่นหลังยังสัมผัสได้ถึงการเป็นต้นแบบของการ “รู้ลึก” และ “ค้นจริง” ของจิตร ภูมิศักดิ์ นั่นหมายความว่า การเขียนบทวิจารณ์ชิ้นนี้ของเขาส่งผลสะเทือนยาวไกลพอสมควร และเชื่อได้ว่า ใครก็ตามที่ได้อ่านก็จะมีการ”ครุ่นคิดพินิจนึก”ต่อเนื่องกันไป และยังเป็นแนวทางสำหรับการปรับใช้กับงานศิลปะแขนงอื่นๆได้อีกด้วย
ชมัยภร แสงกระจ่าง : ผู้วิเคราะห์
1 จิตร ภูมิศักดิ์ ใช้นามปากกา “ทีปกร ” และ “กวี ศรีสยาม”วิจารณ์วรรณคดี นามปากกา”สมชาย ปรีชาเจริญ” วิจารณ์ ศิลปและดนตรี โดยยึดแนวศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน”ที่มีหลักข้อหนึ่งว่าจะต้องเปิดโปงต้นตอความเลวร้ายของชีวิตในสังคม การจะเดินตามแนวนี้ได้ก็ต้องเขียนอย่างหยาบหยามและแสดงท่าทีก้าวร้าวรุนแรงต่อสิ่งที่มีอยู่เดิมที่ขัดแย้งกับแนวคิด
2ไม่ปรากฏปี พ.ศ.ตีพิมพ์ครั้งแรกในต้นฉบับพิมพ์รวมเล่มที่นำมาใช้เป็นสรรนิพนธ์ครั้งนี้ แต่เทียบกับงาน”วรรณคดีวิเคราะห์ชุดโองการแช่งน้ำ”ซึ่งปรากฏในคำนำที่เขียนโดยคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ระบุว่า เขียนในปี พ.ศ. 2505
3 เท่าที่ยังตรวจสอบได้ มีคมทวน คันธนู เขียนบทกวีนิพนธ์ชุด “นิยายแผ่นดิน” มีโคลงสิบ(สุภาพ)ซึ่งเป็นโคลงคู่ผสมระหว่างโคลงห้าพัฒนากับโคลงสี่สุภาพ, สถาพร ศรีสัจจัง เขียน บทกวีบางชิ้น เช่น แด่ สนอง บัญชาญ ใช้โคลงห้าพัฒนา
บทวิจารณ์(และบทวิเคราะห์)นี้ เป็น 1 ในจำนวน 50 บท หากสนใจอ่านเพิ่มเติมในสรรนิพนธ์ของสาขาวรรณศิลป์